หลอดเลือดเชื่อมกันผิดปกติในปอด (PAVM)

เรียน  คุณหมอสันต์   
ดิฉันรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอสักเรื่องนะคะ  ดิฉันอายุ 50 ปี รับราชการอยู่ต่างจังหวัด  จากการตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีความผิดปกติของเส้นเลือดที่ปอด ทำ ct scan 2 ครั้ง   มีกลุ่มเส้นเลือดปรากฎที่ปอดแยกทางออกมาจากทางปกติยาวประมาณ 2ซม.เศษ ไม่มีอาการอะไรเลยค่ะ ไม่ไอ แน่นอก เหนื่อยหอบ ไม่มีอาการทำนองนี้เลย  ควรจะทำอย่างไรต่อไป
          1. ถ้าจะผ่าตัดเอาเส้นเลือดนี้ออกไปขณะที่เราไม่มีอาการอะไรเลยนั้นเป็นวิธีที่สมควรเลือกมากแค่ไหน    ใช้เวลาผ่าประมาณกี่ชั่วโมง  จะต้องพักอยู่โรงพยาบาลนานแค่ไหนคะ  น่ากลัวมากๆ เลย ดูในการผ่าหัวใจหรือปอดในยูทูปแล้วยิ่งกลัวหนักขึ้นไปอีก
          2.ถ้าจะนำฟิล์มที่ x ray มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆในกทม. เช่น ศิริราช  รามาธิบดี เพื่อปรึกษาหาแนวทางการรักษา สามารถทำได้หรือไม่คะ
             3.การรักษาโดยวิธีสวนท่อตรงขาหนีบเพื่อไปอุดเส้นเลือดที่แยกออกมานี้   เป็นทางเลือกสมัยใหม่เพื่อเลี่ยงการผ่าตัดหรือคะ   การรักษาวิธีนี้อาจจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ หมายถึงอาจจะเกิดขณะที่ทำการรักษาอยู่ช่วงนี้เท่านั้น หรือว่าหลังจากรักษาวิธีนี้ไปแล้วจะต้องเสี่ยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันไปตลอดชีวิตคะ    วิธีนี้เสี่ยงน้อยกว่ากว่าผ่าตัดมากมั้ยคะแล้วรักษาได้ถาวรเลยหรือเปล่า
            4.ถ้าไม่ทำอะไรเลย แต่ตรวจสุขภาพไปทุกปีๆ ติดตามดูว่าเส้นเลือดนี้จะขยายออกไปอีกมั้ย  หรือถ้ามีอาการเมื่อไหร่ค่อยกลับมารักษาเป็นวิธีที่เหมาะมั้ยคะ   การทำ ct scan ทุกปีๆ จะทำให้มีผลเสียจากการรับอันตรายจากรังสีเกินไปหรือเปล่าคะ
           ดิฉันรู้สึกสับสน ลังเล  ยอมรับว่าเป็นคนขี้กลัวมากๆ  แค่อุดฟัน ถอนฟันยังน้ำตาร่วง กลัวจนจะหยุดหายใจ คิดเป็นปีๆถึงจะตัดใจไปทำได้  ในชีวิตก็ยังไม่เคยเป็นโรคอะไรที่ต้องนอนโรงพยาบาลเลย  พอมีเรื่องผ่าตัดมาเกี่ยวข้องทำให้เครียดมาก   อยู่กับแม่อายุ 77 ปีแล้ว  แม่อยากให้ผ่าหรือจะสอดท่อก็ได้ ไม่อยากให้รอมีอาการที่ไม่ทราบว่าจะมีในอีกกี่ปีกัน จะทำอะไรก็ทำตอนที่แม่ยังอยู่  ยังเฝ้าไข้ หรือดูแลได้บ้าง  ถ้าอีก 5-10 ปี มีอาการจนต้องผ่าตัด ดิฉันจะลำบากเพราะไม่มีใครอยู่ด้วย  แม่บอกว่าแม่คงอยู่ไม่นานขนาดนั้น  ก็เรามีกันสองคนแม่ลูกเท่านี้    รบกวนคุณหมอให้คำแนะนำด้วยนะคะ  คุณหมอจะตอบทาง mail ใช่มั้ยคะ  จะรอคำแนะนำ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูงค่ะ
(ชื่อ)
........................................................

ตอบครับ

โรคที่คุณเป็นอยู่ เรียกว่าภาวะมีหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำอย่างผิดปกติในปอด หรือ PAMV ซึ่งย่อมา pulmonary arterio-venous malformation  กล่าวคือปกติหลอดเลือดแดง (artery) จะค่อยๆลดขนาดจนถึงขนาดเล็กมาก (arteriole) แล้วไปปล่อยเลือดเข้าหลอดเลือดฝอย (capillary) เพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับถุงลมของปอด แล้วจึงไปต่อเข้ากับหลอดเลือดดำขนาดเล็ก (venule) แล้วจึงไปต่อเข้าหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ (vein) เพื่อพาเลือดไหลกลับไปหัวใจ แต่กรณีของคุณนี้ หลอดเลือดแดง (artery) สวมจุ๊บเข้ากับหลอดเลือดดำ (vein) ดื้อๆ ทำให้เลือดลัดปอดโดยไม่ได้เปลี่ยนออกซิเจน และเลือดไหลแรง ไหลเร็ว และไหลมั่ว (turbulent flow) ด้านหนึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน อีกด้านหนึ่งทำให้เกิดลิ่มเลือดหรือติดเชื้อที่ตรงจุดต่อผิดปกตินี้ได้ง่าย ถ้าเป็นน้อยอย่างคุณนี้ก็ไม่มีอาการอะไร แต่คนที่เป็นมากก็จะมีอาการเช่น  หอบเหนื่อยเพราะออกซิเจนไม่พอใช้  ไอเป็นเลือด  เกิดอัมพาต  เกิดฝีในสมอง เป็นต้น

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1.. ถามว่าจะผ่าตัดเอาเส้นเลือดนี้ออกไปขณะที่เราไม่มีอาการอะไรเลยนั้นดีไหม ผมแยกตอบเป็นสองประเด็นนะครับ

     ประเด็นแรก ถ้าจะรักษา จะเลือกวิธีผ่าตัดดีไหม ตอบว่าไม่ดีครับ สมัยนี้โรคนี้แทบไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัดกันแล้วนะครับ การรักษาหลักสมัยนี้คือการแทงเข็มทะลุผิวหนัง (ที่ขาหนีบหรือแขน) แล้วร่อนสายสวนเข้าไปปล่อยขดลวดหรือลูกกลมอะไรสักอย่างเข้าไปอุดหลอดเลือด (embolization) เป็นวิธีที่สมควรเลือกมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ถือได้ว่าไม่มีอัตราตาย โอกาสอุดได้สำเร็จสูง (98%) บรรเทาอาการหอบได้ดี (80%) แต่จะผลในระยะยาวในการป้องกันอัมพาตได้แค่ไหน ยังไม่มีใครทราบ ในรายงานการติดตามผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งติดตามนายอยู่ 5 ปี พบว่าอัตราการเกิดอัมพาตยังมีอยู่ระดับ 2% คือพูดง่ายๆว่าโอกาสเดี้ยงลดลง แต่ก็ยังมีอยู่ในระดับสูงกว่าคนทั่วไป ในแง่ของภาวะแทรกซ้อนก็มีบ้าง เช่น บางรายมีเจ็บเยื่อหุ้มปอด (pleurisy) บางรายมีความดันในปอดสูงขึ้น (PH) บางรายที่อุดไปแล้วกลับโล่งขึ้นอีกต้องมาอุดกันใหม่

ส่วนการผ่าตัดสงวนไว้ใช้กรณีที่รักษาด้วยวิธี embolization ไม่ได้หรือไม่สำเร็จเท่านั้น การผ่าตัดใช้เวลาราว 2 -4 ชั่วโมง นอนรพ.ประมาณ 5 – 7 วัน แต่ว่านั่นไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญ ข้อมูลสำคัญอยู่ที่โอกาสที่จะตายเพราะการผ่าตัดมีอยู่ 0.5 – 1% อนึ่งทั้งการทำ embolization ก็ดี การผ่าตัดก็ดี ล้วนไม่มีวิธีไหนป้องกันการเกิดอัมพาตระยะยาวได้ชะงัดทั้งคู่
    โดยสรุป ชั่งประโยชน์และความเสี่ยงแล้ว การรักษาด้วยวิธี embolization เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการผ่าตัด และควรเลือกทำวิธีนี้ก่อนเสมอ

   ประเด็นที่สอง ขณะไม่มีอาการอะไรเลยอย่างนี้ ควรจะรักษาไหม ตอบว่า แหะ..แหะ ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าควรรักษาหรือไม่ควรรักษา เพราะไม่มีหลักฐานข้อมูลใดๆมาบอกได้ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโรคอย่างคุณนี้ (PAMV) ถ้าไม่ผ่าตัดรักษา จะมีอัตราตายในอนาคตต่างจากคนธรรมดามากน้อยเพียงใด อนาคตของคนเป็นโรคนี้หากไม่รักษา พวกหมอผ่าตัดที่เมโยคลินิก (เมโยที่อเมริกานะ ไม่ใช่ที่ลาดพร้าว) เป็นพวกที่เก็บข้อมูลไว้มากที่สุด ซึ่งการวิเคราะห์รวมผลวิจัยติดตามซึ่งมีระยะติดตามตั้งแต่ 1 – 13 ปี พบว่าคนเป็นโรคนี้โอกาสเกิดอัมพาตมี 13% ในจำนวนนี้เกิดฝีในสมอง 11 % ถ้ารวมโอกาสตายและทุพลภาพเข้าด้วยกันก็มีโอกาส 22 % เรียกว่ามีโอกาสตายและเดี้ยงสูงกว่าคนธรรมดามากพอสมควร ในอีกด้านหนึ่ง การรักษาก็ไม่ได้ป้องกันการเกิดอัมพาตได้ทั้งหมด กล่าวคือการติดตามผู้ที่รักษาแล้วไปนาน 5 ปีก็ยังมีเป็นอัมพาตประมาณ 2% คือพูดง่ายๆว่ารักษาอาจลดโอกาสเดี้ยงลง แต่ก็ยังมีโอกาสเดี้ยงสูงกว่าคนทั่วไป ข้อมูลทั้งหมดนี้ต่างคนต่างเก็บ ไม่ใช่งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ จึงไม่ใช่หลักฐานที่หนักแน่นถึงขั้นเอามาเปรียบเทียบกันแบบลุ่นๆแล้วตัดสินใจได้

     เมื่อไม่มีข้อมูลหลักฐานให้อ้างอิง การตัดสินใจทุกวันนี้จึงทำกันไปตามขี้ปากของหมอที่คิดว่าตัวเองรู้ดี (expert’s opinion) ซึ่งพวกเขาแนะนำว่าควรรักษาถ้าเป็น PAMV ชนิดที่มีอาการ หรือไม่มีอาการแต่มีขนาดของเส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงใหญ่กว่า  2 – 3 มม. คุณจะเชื่อเขาหรือไม่ก็แล้วแต่ ถ้าคุณเชื่อเขาก็กลับไปดู CT (คุณไม่ได้ส่งมาด้วย) ว่าหลอดเลือดมันใหญ่กี่มม. ถ้าใหญ่กว่า 2-3 มม.ก็ไปรักษา ส่วนตัวของผมนั้นผมไม่เชื่อ expert เพราะผมก็เป็น expert เหมือนกัน ผมจึงรู้น้ำยาของ expert ด้วยกันดี ถ้าตัวผมเป็นคนไข้ ผมจะไม่รักษาหากตัวผมไม่มีอาการผิดปกติอะไร 
          
     2. ถามว่าจะนำฟิล์มที่ x ray มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆในกทม. เช่น ศิริราช  รามาธิบดี ดีไหม ตอบว่าคุณต้องกลับไปดูหรือถามหมอที่ทำ CT ก่อนว่าหลอดเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยง PAVM มันขนาดใหญ่กว่า 2-3 มม.หรือไม่ ถ้ามันขนาดเล็กกว่า 2-3 มม. ก็จบเลย ไม่ต้องไปหาใครที่ไหนอีก กลับบ้านไปดูดนมแม่ได้เลย แต่ถ้าขนาดมันใหญ่กว่า 2-3 มม. คุณก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวคุณเองก่อนว่าจะทำการรักษาหรือไม่ ข้อมูลประกอบก็มีเท่าที่ผมให้คุณไปแล้วนะแหละ ไปหาหมอที่ไหนคุณก็จะไม่ได้ข้อมูลอะไรมากกว่านี้ เพราะงานวิจัยโรคนี้ที่ทั่วโลกทำกันไว้มันมีอยู่เท่านี้ ถ้าคุณตัดสินรักษา ค่อยมาชั่งใจว่าจะมา กท. ดีหรือไม่ ถ้าเป็นผม เนื่องจากการรักษาวิธีนี้ (embulotherapy) มันมีการทำกันน้อย มีคนทำเป็นไม่กี่คน และเกือบทั้งหมดปักหลักอยู่ในกรุงเทพ ถ้าผมเป็นคนไข้ผมก็จะมากรุงเทพ ส่วนจะไปหาใครที่รพ.ไหน อันนี้เป็นเรื่องของคุณแล้วครับ ผมแนะนำไม่ได้เพราะแพทยสภาเขาห้ามแพทย์ปากโป้งอวดอ้างว่าเพื่อนของตัวเองคนนั้นเก่งคนนี้เก่ง

3. ถามว่าถ้าทำ CT ติดตามดูทุกปี จะได้รับอันตรายจากรังสีมากไหม ตอบว่าปริมาณรังสีที่ได้จาก CT แต่ละครั้งประมาณเท่ากับการถ่ายเอ็กซเรย์ธรรมดา 600 ครั้ง คือพูดง่ายๆว่าได้รังสีมากแน่นอน ถามว่าได้ปริมาณรังสีมากมายอย่างนี้อันตรายไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ที่ทำ CT บ่อยจะมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆมากกว่าคนที่ไม่ทำ CT แต่อย่างใด

4.. ถามว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย ขอทำแค่ไปตรวจติดตามดูว่าเส้นเลือดนี้จะขยายออกไปอีกมั้ยทุกปีๆ เป็นวิธีที่เข้าท่าไหม ตอบว่าไม่เข้าท่าหรอกครับ เพราะงานวิจัยพบว่าการขยายตัวของหลอดเลือด PAMV ไม่สัมพันธ์กับการเกิดอัมพาตหรือการตายหรือทุพลภาพจากเหตุใดๆ ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงไม่อยู่ที่การตรวจติดตาม แต่อยู่ที่หากหลอดเลือดโตกว่า 2-3 มม. คุณจะตัดสินใจรักษาหรือไม่รักษา หากคุณตัดสินใจไม่รักษา ก็ไม่ต้องทำอะไร นอนเกาสะดืออยู่ที่บ้านดีกว่า รอจนกว่ามีอาการผิดปกติให้เห็นแล้วก็ค่อยไปรักษา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี