ปอดแตกโดยไม่ทราบเหตุ แล้วทำยังไงปอดก็ไม่ขยาย

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

         ขณะนี้ ดิฉันนอนโรงพยาบาลโดยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น spontaneous pneumothorax right lung สืบเนื่องมาจากเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556 ดิฉันไอแบบเสียงดังก้องๆ เมื่อใครได้ยินจะแปลกใจและถามเสมอว่าเจ็บคอรึเปล่า แต่แปลกมาก ไอดังจริง แต่ไม่เจ็บคอเลย เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ หยุดไอ แต่เจ็บแปล๊บๆ มากๆ ชายโครงด้านซ้ายเวลาไอแม้เบาๆ หรือถ้าจามเจ็บจนน้ำตาไหล ผ่านไป 2 สัปดาห์ ไม่เจ็บชายโครงซ้าย แต่เจ็บชายโครงขวาแบบเดิมแทน แต่เจ็บมากไม่สามารถหาวได้เพราะเจ็บมากจริงๆ ไม่มีไอ ดิฉันยังคงทำงานทุกอย่างเป็นปกติแต่เหนื่อยง่าย หอบ ต้องพักเรื่อยๆ คิดว่าคงหายได้เอง จนวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ดิฉันตั้งใจว่าต้องพบแพทย์ให้ได้ เนื่องจากนอนราบไม่ได้ เหนื่อยหอบมาก เหมือนไปวิ่งมาตลอดเวลา ในตอนบ่ายพบแพทย์ เมื่อแพทย์ฟังเสียงหายใจ คุณหมอบอกว่า ด้ายขวาเสียงเบา ให้เอ๊กซเรย์ ผลคือ คุณหมอแจ้งว่า เป็น spontaneous pneumothorax 90% แต่เนื่องจากคุณหมอไม่กล้าใส่ ICD เนื่องจากประสบการณ์น้อยและดิฉันเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่เป็นคนรู้จักจึงเห็นควรว่าควรส่งต่อโรงพยาบาลทั่วไปให้แพทย์อายุรกรรม จึงได้ส่งตัวดิฉันมาพร้อมกับให้ ออกซิเจน พอมาถึงได้ใส่ ICD 28-4 ด้านขวาที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อเจาะทะลุเข้าไปในช่องปอดครั้งแรกมีลมพุ่งออกมาจนได้ยินเสียงเลยค่ะ หลังจากนั้นก็ต่อ ขวด ICD 2 ขวด 3 วันถัดมา เอกซเรย์ซ้ำพบปอดขยาย 90% คุณหมอสั่ง clamp สายตอน 20.00น. พอ07.00น.วันถัดไปเอกซเรย์ซ้ำ ผลปรากฏว่าปอดแฟบลงจาก 90% เป็น 50% ก็ปล่อยสายต่อผ่านไป 4 วัน เอ็กซเรย์ซ้ำก็ขยายและเอกซเรย์บ่อยมากแต่ได้รับคำตอบว่าปอดไม่ขยายเพิ่มขึ้นซะที่อยู่ที่ประมาณ 80% ต่อมาได้เปลี่ยนการต่อขวดเป็น 3 ขวด with suction แต่เมื่อนอนราบจะแน่นหน้าอกมาก จึงต้องปิดเครื่องตอนกลางคืนเสมอ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อปรึกษาหมอ CVT พอมาถึงได้มีการเปลี่ยนการต่อขวด ICD ใหม่ เป็น 1 ขวด with low suction ปอดขยายได้ไม่เต็มจนได้มีการผ่าตัดทำ Thoracotomy, pleurectomy, pleurodesis ได้ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ผลเป็น chronic inflammation และใส่ ICD 28-4  เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 หลังจากทำ 24 ชม. เอกซเรย์พบว่า ปอดขยายมากขึ้นแต่ไม่เต็ม จนวันที่ 7 เปลี่ยนเป็น ICD เป็นเบอร์ 24-8  1 ขวด with high suction ผลการเอกซเร์ ปอดเหี่ยวลงค่ะและมีน้ำในปอดด้วย แพทย์นัดทำ bronchoscope วันที่ 15 มกราคม ตอนเช้าและตอนบ่ายผ่าตัดแบบเดิม

ดิฉันกังวลใจมาก เพราะตลอดระยะเวลาความเจ็บป่วยนี้ ดิฉันพยายามทำกายภาพตลอดเวลา และไม่มั่นใจการผ่าตัดในครั้งที่ 2 เลย ดิฉันส่ง CT และภาพเอ็กซเรย์ทั้งหมดมาพร้อมนี้

ดิฉันขอคำแนะนำจากคุณหมอสันต์ด้วยค่ะ ว่ามีวิธีทางไหนบ้างที่ควรทำหรือที่ดิฉันยังไม่ได้ทำ หรือการรักษาอื่นๆ

ประวัติเพิ่มเติมค่ะ ดิฉันสูง 160 cm. หนัก 50 kg. ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
การผ
ขอขอบคุณคุณหมอ มา ณ โอกาสนี้ค่ะ

(ชื่อ)..........................................


ตอบครับ

ความจริงบล็อกของผมไม่ใช่ที่รับปรึกษาโรคแบบเจาะลึกให้เฉพาะบุคคลนะครับ เพียงแต่อาศัยคำถามของชาวบ้านมาเป็นจั่วหัวเพื่อเขียนบทความให้ความรู้แก่คนทั่วไป เพราะการรักษาโรคของคนๆใดคนหนึ่งนั้นมันเป็นเรื่องลึกซึ้ง จะรักษากันทางไปรษณีย์ไม่ได้ดอก มันต้องเจอหน้ากัน ได้ทำการตรวจร่างกายด้วย มันจึงจะชัวร์ แต่เอาเถอะในกรณีของคุณนี้ คุณเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งผมมีความผูกพันทางใจด้วยมากเป็นพิเศษ ผมจึงจะตอบคุณแบบให้ second opinion ทางอากาศ บนข้อมูลเท่าที่ผมมีอยู่ในมือ หวังว่าคุณคงพอจะเอาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้บ้างนะครับ

ก่อนตอบคำถามขออธิบายศัพท์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปตามทันก่อนนะ

spontaneous pneumothorax แปลว่าโรคปอดแตกเองโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทำให้ลมรั่วเข้าช่องอก
ICD ย่อมาจาก intercostal chest drain แปลว่าสายระบายลมหรือเลือดหรือหนองจากปอด
suction แปลว่าดูด หมายถึงดูดลมออกจากปอด
CVT ย่อมาจาก cardiovascular and thoracic หมายถึงหมอเฉพาะทางด้านผ่าตัดหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
Thoracotomy แปลว่าการผ่าตัดเข้าไปในช่องอกแบบลงมีดระหว่างซี่โครงยาวหนึ่งคืบแล้วแหกซี่โครงให้อ้าออกจากกันจนเห็นในช่องอก
pleurectomy แปลว่าการเลาะเอาเยื่อหุ้มปอดด้านที่ติดกับผนังช่องอกด้านในออก เพื่อให้เกิดการอักเสบแล้วเกิดพังผืด จะได้ยึดปอดไว้กับผนังทรวงอก เป็นการป้องกันลมรั่วเข้าผนังทรวงอกซ้ำในอนาคต
pleurodesis แปลว่าการทำให้เยื่อหุ้มปอดทางด้านผนังทรวงอกกับทางด้านผิวปอดมาเชื่อมติดกัน โดยใช้สารเคมีหรือใช้วิธีทำให้เกิดการถลอกเพื่อให้มีการอักเสบ
chronic inflammation แปลว่าอักเสบเรื้อรัง
bronchoscope แปลว่าการส่องตรวจหลอดลม
     

เรื่องราวที่คุณเล่ามานั้น ในมุมมองของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย (พยาธิกำเนิด) และการดำเนินของโรคที่ผ่านมา และที่จะดำเนินต่อไป มันเป็นดังนี้

1.. เมื่อเริ่มแรกที่คุณไอมีเสียงดังก้องนั้น แสดงว่าได้เกิดภาวะปอดฉีกและมีลมรั่วออกจากปอดมาอยู่ในช่องอกข้างขวามากพอควรแล้ว เสียงก้องมันเป็นเสียงกำธรของช่องออกที่มีลมอยู่ข้างใน

2.. ระยะต่อมาเมื่อคุณไอเบาลงแต่เจ็บชายโครงมากแม้จะหาวก็ไม่ได้ แสดงว่าเกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleuritis) ขึ้นตามหลังการที่มีลมรั่วแล้วมีเสมหะในหลอดลมรั่วออกมาระคายเคืองเยื่อหุ้มปอดด้วย

3.. ระยะต่อมาเมื่อคุณมีอาการหอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ แสดงว่าตอนนั้นคุณเกิดหัวใจล้มเหลวจากการที่ลมสะสมในช่องอกข้างขวามีมากจนดันหัวใจให้โย้ไปอีกข้างหนึ่งจนหัวใจทำงานได้ไม่ดีเป็นปกติ เรียกว่าเกิด tension pneumothorax ณ จุดนี้เป็นจุดที่อันตรายอย่างยิ่ง ถึงตายได้ แต่ก็โชคดีที่คุณผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว

4.. พอไปที่รพ.ทั่วไป (รพ.จังหวัด) หมอเจาะใส่สายระบาย (ICD) แล้วลมออกมาฟ้าว..ว ปอดขยายออกมาเต็มที่ โชคดีครั้งที่สองที่คุณไม่ช็อกตายคาสายไปในตอนนั้น เพราะสมัยผมเป็นหมอน้อย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก คือเมื่อรีบระบายลมหรือหนองออกจากช่องอกเร็วเกินไป โดยเฉพาะในเด็ก หัวใจเหวี่ยงกลับ ปอดขยายตัวทันที แต่เลือดทั่วร่างกายปรับตัวส่งเข้าปอดไม่ทัน คนไข้ช็อก ทุกคนตกอกตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น กว่าจะตั้งหลักได้ คนไข้ไปสวรรค์เสียแล้ว แต่คุณผ่านมาได้ แสดงว่าคุณเป็นคนดวงแข็ง

5. เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นนิยายเรื่องสาละวันเตี้ยลงที่ศัลยแพทย์ทรวงอกทุกคนคุ้นเคยดี คือปอดมีแต่แฟบ กับแฟบกว่า และแฟบที่สุด ไม่มีขยายเลย แม้ว่าจะได้ทำผ่าตัดไปแล้ว ทั้งนี้เป็นผลจากการประชุมแห่งเหตุ อันได้แก่

5.1 ถ้าความก้าวร้าวของแพทย์ที่จะทำทุกอย่างให้ปอดกลับมาขยายให้ได้ในเวลาอันสั้นไม่ก้าวร้าวมากพอ ปอดก็อาจประท้วงไม่ยอมขยาย คือยิ่งแพทย์ขาดความก้าวร้าว โอกาสล้มเหลวยิ่งมาก และแพทย์สมัยใหม่นี้ไม่มีใครก้าวร้าวกันแล้ว เพราะคนที่ก้าวร้าวถูกฟ้องหรือถูกคนไข้ด่าสูญพันธ์ไปหมดแล้ว ความก้าวร้าวนี้หมายความรวมถึงการใช้แรงดูดขนาดสูงโดยยอมให้คนไข้เจ็บ การบังคับข่มขู่ ตบ (หมายถึงตบหลังนะครับ) ให้คนไข้ฝืนออกแรงไอ และฝืนหายใจให้เต็มปอดด้วย

5.2 ความอดทนและเอาจริงเอาจังของคนไข้ในการทำกายภาพปอดตนเอง หมายถึงการขยันเป่าขยันดูดอุปกรณ์ออกกำลังปอดที่เขามีให้ ถ้าเขาไม่มีอุปกรณ์อะไรให้เลยก็ต้องขยันหายใจเข้าออกลึกๆ ให้ทรวงอกขยายและหุบเต็มที่ และขยันไอแรงๆชั่วโมงละหลายๆครั้ง หากไม่ทำอย่างนี้ปอดก็ไม่ขยาย แต่กลับจะหดลงๆเพราะการอักเสบในบริเวณนั้นจะทำให้เนื้อปอดบวมน้ำ

5.3 ยิ่งเวลาผ่านไป รูเสียบสายระบาย ICD ที่ผิวหนังจะยิ่งหลวมทำให้อากาศข้างนอกแทรกเข้าไปในช่องอกเมื่อใช้แรงดูด ยิ่งทำให้ปอดไม่ขยาย ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ ปอดก็จะแฟบอยู่นั่นแหละ

5.4 สภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่นภาวะโภชนาการที่ไม่ดี ยิ่งทำให้รูเสียบสายระบายหลวมและลมเข้าออกได้มากขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรงจะหายใจและจะไอ ยิ่งทำให้ปอดขยายไม่ได้

6.  การที่คุณหมอจะส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) หลังจากปอดไม่ขยาย เป็นขั้นตอนที่แพทย์ต้องทำตามปกติเพื่อวินิจฉัยแยกสิ่งอุดกั้นหลอดลมซึ่งเป็นเหตุให้ปอดข้างนั้นไม่ขยาย หมายความว่าอย่างไรเสียก็ต้องส่อง แม้ว่าภาพ CT ที่คุณส่งมาจะไม่ได้แสดงเบาะแสว่าจะมีอะไรไปอุดกั้นหลอดลมก็ตาม ผมเห็นด้วยว่าขั้นตอนนี้อย่างไรเสียก็ควรทำ แต่อย่าไปหวังว่าการส่องหลอดลมจะช่วยทำให้ปอดขยายขึ้นได้ เพราะถ้าไม่พบมีอะไรอุดกั้นหลอดลม การส่องหลอดลมก็จะไม่ก่อความเปลี่ยนแปลงอะไร

7. อนาคตหากไม่แทรกแซงให้ก้าวร้าวกว่านี้ภายในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้านี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือประมาณ 50% ของคนไข้แบบนี้จะเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ช่องอกข้างขวาซึ่งเลือดเข้าไปเลี้ยงไม่ถึง และปอดก็ไม่ขยายไปคลุม จะมีหนองขังอยู่ข้างในช่องอกซึ่งทำยังไงก็เอาออกได้ไม่หมดเพราะเป็นการติดเชื้อเรื้อรังและหนองที่ขังอยู่ในนั้นมันอยู่แยกกันเป็นหย่อมๆมีพังผืดกั้น เพราะช่องอกที่โดนผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มปอดไปแล้ว (pleurectomy) หากปอดไม่ขยาย อย่างไรก็จะต้องเกิดพังผืดแน่นอน เนื่องจากการผ่าตัดชนิดนี้ออกแบบมาให้เกิดพังผืดไว้ยึดปอดกับผนังหน้าอก ถ้าปอดไม่ขยายมาชนผนังหน้าอกก็..เรียบร้อย พังผืดนั้นจะขึงเปะปะไปทั่ว จะรัดรอบปอดด้วย จะนำไปสู่การผ่าตัดเลาะพังผืดออกจากผิวปอด (decortication) อีกสองสามครั้ง หรือหลายครั้ง แล้วคนไข้จำนวนหนึ่ง (36%) จะจบลงด้วยการตัดปอดข้างนั้นซึ่งหดแฟบอยู่นานเกินไปออกไปทั้งข้าง (pneumonectomy) แต่ว่าเรื่องจะยังไม่จบ เพราะการผ่าตัดชนิดนี้จะก่อให้เกิดโพรงว่างที่ช่องอกข้างขวา ซึ่งประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อเรื้อรังในช่องนั้น มีหนองไหลๆหยุดๆ เป็นวิบากกรรมที่ไม่รู้จบรู้สิ้นตลอดกาล แพทย์บางคนที่ก้าวร้าว (รวมทั้งตัวผมเองสมัยหนุ่มๆด้วย) จะเอาคนไข้ไปผ่าตัดยุบทรวงอก (thoracoplasty) ชนิดที่ว่าทำให้หน้าอกเขาหายไปทั้งข้างเพื่อหวังให้โพรงนั้นแฟบหายไป เป็นการผ่าตัดที่ก้าวร้าวสุดๆที่มนุษย์จะคิดทำต่อกันได้ แต่เกือบร้อยทั้งร้อยแม้โพรงนั้นจะแฟบลงได้จริงแต่จะยังเหลือหลืบเล็กๆอยู่ไม่ยอมหายไปไหน และการติดเชื้อเรื้อรังมีหนองไหลตลอดชาติก็จะเกิดจากหลืบตรงนั้น เอวังก็จะมีด้วยประการฉะนี้

มองดูอนาคตแล้วท่าทางดวงของคุณคงจะแข็งไปได้อีกไม่นานใช่ไหมครับ

8. ถามว่ามีอะไรบ้างที่ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ ตอบว่าคุณควรทำต่อไปนี้ คือ

8.1 คุณต้องฟื้นฟูตัวเองอย่างก้าวร้าว การทำกายภาพตัวเองไม่ได้หมายถึงว่าให้เขานั่งรถเข็นไปที่แผนกกายภาพ ให้พนักงานกายภาพ ตบหลังและดึงมือยกขึ้นยกลง ไอคอกๆแค่กๆแล้วกลับมานอนดูทีวีในห้องคนไข้ แต่การทำกายภาพตัวเองหมายถึงการที่คุณจะต้องฝืนสังขารลุกจากเตียงด้วยตัวเองไม่หวังพึ่งนักกายภาพ ทั้งๆที่มีสายระโยงรยางค์และไม่มีเรี่ยวแรงนั่นแหละ ฝืนเดินตลอดเวลาที่เดินไหว ต้องฝืนหายใจเข้าออกลึกๆทุกนาทีที่นึกได้ ต้องหายใจเข้าเต็มปอดแล้วไอออกมาแรงๆโดยยอมเจ็บ ทำเช่นนี้บ่อยๆทุกชั่วโมงที่ตื่นอยู่จนหมดแรงหลับไป ตื่นขึ้นมาก็ทำใหม่ ถ้าเขามีอุปกรณ์ให้บริหารปอด ให้คุณขยันใช้ทุกเวลานาที่ที่ตื่นอยู่ใช้อุปกรณ์นั้นอย่างตั้งใจและเต็มแรง ขยันทำกายบริหารยกแข้งยกขากางมือกางไม้ที่ข้างเตียงด้วย ควรจะห้ามคนมาเยี่ยม หยุดรับแขกทุกชนิด เพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับการทำกายภาพตัวเอง

8.2 คุณต้องปรับปรุงโภชนาการของคุณขนาดใหญ่ กินอาหารโปรตีนอย่างน้อยให้ได้วันละ 80 – 100 กรัมของโปรตีน กินผักผลไม้มากๆ อย่าหวังจะได้โปรตีนที่เพียงพอจากอาหารของโรงพยาบาล ให้ไปซื้ออาหารตัวเองมากินเสริม เช่นให้คุณกินไข่วันละ 6 ฟอง เป็นต้น กินมากแล้วออกกำลังกายเดินไปเดินมาให้มากด้วย อย่ากล้วอ้วนตอนนี้ ผมยังไม่เคยเห็นคนไข้ที่มีปัญหาปอดเรื้อรังแบบคุณนี้อ้วนขึ้นมาในระหว่างรักษาสักคน มีแต่ผมแห้งบักโกรกจนวันออกโรงพยาบาลส่องกระจกแล้วจำตัวเองแทบไม่ได้

8.3 คุณต้องสนับสนุนแพทย์ของคุณให้ตัดสินใจรักษาคุณอย่างก้าวร้าว อย่าพูดอะไรที่ทำให้หมอเขาไม่กล้าตัดสินใจ ควรพูดให้ท้ายให้เขามีกำลังใจฮึกเหิมที่จะคิดการใหญ่ไปข้างหน้าโดยไม่กลัวคุณฟ้องเอา หากการผ่าตัดครั้งก่อนหน้านั้นไม่ประสบความสำเร็จ เช่นหยุดลมรั่วไม่ได้ หรือทำให้ปอดขยายตัวไม่ได้ ให้หารือกับหมอถึงความเป็นไปได้ที่จะทำผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขความล้มเหลวของการผ่าตัดครั้งก่อนทันที คุณต้องเข้าทีมกับหมอ สนับสนุนเขาให้ลุย บอกให้หมอรู้ว่าคุณยินดีรับความเสี่ยง คุณเข้าใจว่าการผ่าตัดครั้งก่อนอาจจะไม่สมบูรณ์ และคุณเข้าใจว่ามันเป็นความยากเชิงเทคนิค ไม่มีวันที่คนอย่างคุณจะจ้องจับผิดและโทษหมอ อย่านั่งมองอยู่ข้างเวทีแล้วให้หมอเขาร่ายรำอยู่คนเดียว วิธีนั้นหมอเขาจะออมมือ แล้วคุณก็จะเดี้ยง โรคของคุณนี้ต้องการหมอที่ก้าวร้าวจึงจะดี แต่ถ้าคุณไม่ให้ท้ายเขา เขาจะไม่กล้า เมื่อใดก็ตามที่หมอกลัว เมื่อนั้นคนไข้ก็รับกรรม แล้วสมัยนี้คนไข้ก็ขยันทำให้หมอกลัวหัวหด ทั้งขู่ว่าจะฟ้อง สาระพัด เออ.. ตัวใครตัวมันแล้ววุ้ย

8.4 คุณต้องเกาะติดสถานการณ์ ขอดูภาพเอ็กซเรย์ร่วมกับหมอทุกครั้ง ขออ่านรายงานผลของหมอเอ็กซเรย์ทุกครั้ง และตั้งคำถามหรือชวนคุณหมอเขยิบมาตรการต่อไปทันที ถ้าปอดมันไม่ขยายอย่างที่หวังไว้ หรือถ้าลมที่รั่วมันไม่ลดลงอย่างที่หวัง อย่าร้องเพลงรอเป็นอันขาด ต้องตั้งประเด็นแล้วตอบคำถามนั้นให้ได้ เช่น เพราะยังมีลมรั่วจากตัวปอดที่การผ่าตัดครั้งก่อนยังไม่ได้แก้หรือเปล่า เพราะลมจากอากาศภายนอกถูกดูดผ่านแผลข้างท่อระบายเข้าไปในช่องอกหรือเปล่า เพราะแรงดูดมันเบาไปหรือเปล่า เพราะวิธีบริหารปอดที่ทำอยู่มันเบาไปหรือเปล่า บอกให้หมอรู้ว่าคุณยินดีที่จะทนความเจ็บปวดจากการใช้แรงดูดสูงๆ เนื่องจากตอนนี้ปอดของคุณชักจะบวมน้ำมากแล้ว ด้านหนึ่งต้องกายภาพเช่นไออย่างก้าวร้าว อีกด้านหนึ่งต้องดูดลมออกจากช่องอกอย่างแรง ที่ว่าแรงก็คือใช้แรงดูดสูงถึง – 75 ซม.น้ำทีเดียว (ปกติใช้แค่ -10 ถึง -15 ซม.น้ำก็พอ) ตอนนี้สถานการณ์ของคุณกำลังแย่ การผนึกกำลังกับหมอเป็นทางรอดทางเดียวของคุณ

8.5 ถ้าภายในสองสัปดาห์นี้ปอดคุณยังขยายออกมาชนผนังทรวงอกไม่ได้ ผมแนะนำให้คุณบอกคุณหมอของคุณอย่างสุภาพว่าคุณต้องการไปเสาะหาความเห็นที่สองจากหมอผู้เชี่ยวชาญสาขานี้คนอื่น ที่สถาบันอื่น คุณอาจจะถามหมอของคุณนั่นแหละว่าท่านมีใครจะแนะนำไหม ซึ่งถ้าเป็นผมคนไข้โรคยากๆมาพูดกับผมอย่างนี้ผมจะรีบทูนหัวแนะนำว่าโอ้..ต้องหาหมอคนนี้เลยครับ เรื่องนี้ท่านเก่งกว่าผมแยะ คือผมถือว่าเป็นบุญของหมอที่คนไข้รักษายากจะขอไปรักษาที่อื่น แต่ถ้าคุณหมอท่านแสดงท่าทีโมโหฟึดฟัดหาว่าคุณลบเหลี่ยมเขา คุณก็ขอโทษท่านอย่างสุภาพและยืนยันที่จะไปเสาะหาความเห็นที่สองอยู่ดี ไม่ใช่ว่าเพราะมันเป็นสิทธิของคุณ ตรงนั้นไม่สำคัญ แต่เพราะโอกาสทองของคุณเหลืออยู่อีกไม่เกิน 2 สัปดาห์แล้ว คุณรอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พ้นจากนี้ไปแล้วหากปอดยังไม่ขยาย คุณจะต้องผจญกับหนังชีวิตเศร้าเรื่องยาวเลยทีเดียวนะ จะบอกให้

ทำตามที่ว่านี้แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไรเขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

............................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันขอขอบพระคุณคุณหมอสันต์อย่างยิ่งค่ะ ทำให้ดิฉันมั่นใจในการผ่าตัดมากขึ้น ดิฉันจะทำกายภาพอย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อทำเตรียมความพร้อมก่อน-หลังการผ่าตัด ดิฉันต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้งวันที่ 16 มกราคม 2557 ค่ะ และทำbronchoscope 15 มกราคม ดิฉันสู้ค่ะ ยิ่งคุณหมอให้เกียรติตอบเมลล์ของดิฉัน ข้อมูลที่คุณหมอวิเคราะห์และประมวลมาทั้งหมดนั้น มีประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติต่อตนเองอย่างยิ่ง ขอขอบพระคุณจากใจจริง

ด้วยความเคารพ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี