ไม่กล้าดื่มนมเพราะกลัวกระดูกหักง่าย
เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ
ผมอายุ 64 ปี
ดื่มนมเป็นประจำทุกวัน เพราะอยากให้กระดูกแข็งแรง แต่เพิ่งได้ทราบจากอินเตอร์เน็ทและข่าวที่เพื่อนๆส่งมาให้
ว่างานวิจัยพบว่าแท้จริงแล้วแคลเซียมและวิตามินดี.ไม่ได้ป้องกันกระดูกหัก แต่จะทำให้เป็นนิ่วในไตมากขึ้น
และคำแนะนำมาตรฐานก็แนะนำใหม่ว่าไม่ให้กินแคลเซี่ยมและวิตามินดีแล้ว ผมจึงอยากถามคุณหมอว่าผมควรจะเลิกดื่มนมทุกเช้าหรือไม่
การดื่มนมทุกเช้าจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้นหรือเปล่า
........................................................
ตอบครับ
สมัยนี้ข่าวสารมารวดเร็วทันใจ คือมาทางอินเตอร์เน็ท ข่าวสารงานวิจัยทางการแพทย์ก็ไม่เว้น
ในกรณีข่าวงานวิจัยทางการแพทย์ยังมีสำนักข่าวคอยใส่สีตีไข่เพื่อให้ขายข่าวได้ง่ายขึ้น
แนวโน้มแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยผมอยู่เมืองนอกแล้ว พวกเราที่เป็นหมอตอนนั้นเรียกมันว่าเป็นการแพทย์แบบสมัยนิยม
(Pop medicine) ดังนั้นการคอยแนะนำวิธีตีความข่าวดูจะกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งของแพทย์ประจำครอบครัวสมัยนี้ไปเสียแล้ว
ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะการแพทย์แผนปัจจุบันวางพื้นฐานอยู่บนข้อมูลและผลวิจัย
เมื่อข้อมูลและผลวิจัยเปลี่ยนไป วิธีการรักษาของแพทย์ก็ต้องเปลี่ยนตาม สำคัญที่แพทย์จะต้องช่วยให้ประชาชนตีความผลวิจัยได้ถูกต้องเท่านั้น
มิฉะนั้นประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อของสำนักข่าวและพวกที่ชอบหาประเด็นไปผลิตสินค่าสมัยนิยมแบบไฟไหม้ฟาง
(fad product) ขายกันจนรวยสะดือปลิ้น
ที่มาของข่าวที่ท่านเขียนมานี้
ผมเข้าใจว่ามาจากสองแหล่ง
แหล่งที่ 1. คือคำประกาศของคณะทำงานพิเศษป้องกันโรคของรัฐบาลอเมริกัน (USPSTF) ซึ่งอยู่ท่านก็ประกาศพลั้วะออกมาว่า แถ่น..แทน..
แท้น คณะทำงานได้ทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกินแคลเซียมบวกวิตามินเป็นอาหารเสริมแล้ว
ขอประกาศว่าหญิงในวัยหมดประจำเดือนไม่ควรกินแคลเซียม (วันละ 1 - 1000 มก.)และวิตามินดี.เสริม (วันละ 1 - 400 IU) เพื่อป้องกันกระดูกหัก
เพราะไม่มีหลักฐานว่าการกินเสริมดังกล่าวจะป้องกันกระดูกหักได้แต่อย่างใด
แหล่งที่ 2. คืองานวิจัยเกี่ยวกับว่าวิตามินดี.ทำให้ระดับแคลเซี่ยมในปัสสาวะสูงขึ้น
ฉบับที่โดดเด่นและถูกอ้างอิงมากที่สุดคืองานวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมประจำปีครั้งที่
94 ของสมาคมต่อมไร้ท่อสหรัฐ ที่เมืองฮิวสตัน
ซึ่งมีสาระว่าได้เอาหญิงหมดประจำเดือนแล้วมา 163 คน
จับฉลากแบ่งเป็นห้ากลุ่ม แล้วให้กินแคลเซียมกับวิตามินดี.ขนาดต่างๆกันแล้วตามเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะดูนาน
4 ปี
แล้วสรุปผลได้ว่ายิ่งกินแคลเซียมและวิตามินดี.มากยิ่งมีระดับแคลเซียมในปัสสาวะสูง แต่อุบัติการณ์เกิดนิ่วในไตไม่ต่างกัน
ในการนำเสนอข้อมูลนั้นได้ “วิพากย์” แถมด้วยว่าการที่คนกินแคลเซียมบวกวิตามินดีมีระดับแคลเซียมในปัสสาวะสูง
อาจเป็นช่องทางให้เกิดนิ่วได้มากกว่าคนที่ไม่กิน
ทั้งหมดนั่นเป็นข่าวนะครับ เอาละ คราวนี้เรามาวิเคราะห์ข่าวนะ
ประเด็นที่ 1. การที่ท่านมีความกังวลว่าแคลเซี่ยมในนมจะทำให้กระดูกหักง่ายนั้น
เป็นการตีความงานวิจัยแบบหลายทอดหลายต่อมากเลยนะเนี่ย
เขียนถึงตรงนี้ผมขอนอกเรื่องหน่อยนะ ตอนที่ลูกชายผมยังเด็กๆ
ผมได้ยินเขาทายอะไรเอ่ยกันว่า
“อะไรเอ่ย หมุนคอได้”
คนตอบพยายามตอบอะไรก็ไม่ถูกสักที
ในที่สุดก็ขอฟังเฉลย คนเฉลยเฉลยว่า
“หมูยอ”
ซึ่งคนถูกถามก็แย้งว่าอะไรกันไม่เข้าใจ
คนถามก็อธิบายคำเฉลยว่า
“..หมูยอ ก็คือ หมอยู
หมอยู ก็คือ หมอคุณ
หมอคุณ ก็คือ หมุนคอ”
คุณตีความงานวิจัยซับซ้อนแบบนี้เปี๊ยะเลย
คือ
“..งานวิจัยบอกว่าแคลเซียมในรูปของอาหารเสริม
ไม่ป้องกันกระดูกหัก
ถ้างั้นแคลเซียมในรูปอาหารเสริมมันคงจะทำให้กระดูกหัก
แล้วเนื่องจากแคลเซียมในอาหารเสริมกับในนมมันเป็นแคลเซียมเหมือนกัน
ถ้างั้นแคลเซียมในนมก็คงจะทำให้กระดูกหักด้วย
ดังนั้น
อย่าดื่มนมซะเลยเรา..”
ประเด็นที่ 2. ความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์มันเป็นดังนี้ครับท่าน
1.. แคลเซี่ยมในรูปของอาหารเสริม ไม่ป้องกันกระดูกหัก
แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระดูกหักง่าย
2. แคลเซี่ยมในอาหารปกติ ไม่ได้มีฤทธิ์เหมือนแคลเซียมเม็ดที่เรากินเป็นอาหารเสริม
ร่างกายมนุษย์มันทำงานซับซ้อนกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในงานวิจัยสุขภาพหญิงพบว่าแคลเซี่ยมในรูปอาหารเสริมทำให้เป็นนิ่วมากขึ้นเล็กน้อย
แต่การวิเคราะห์คนเป็นนิ่วทั่วไปกลับพบว่าคนที่กินอาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูง
จะมีอัตราการเป็นนิ่วต่ำ
เพราะแคลเซียมในมื้ออาหารช่วยลดการดูดซึมออกซาเลทในอาหารเข้าสู่ร่างกาย ตัวออกซาเลทนี้แหละที่เป็นตัวทำให้เกิดนิ่วในไต
คนที่กินแคลเซียมในอาหารธรรมชาติมาก จึงเป็นนิ่วน้อย
อันนี้เป็นสัจธรรมที่ทราบกันแล้วโดยทั่วไป
3. ในงานวิจัยที่สองซึ่งผลวิจัยพบว่าคนกินแคลเซี่ยมและวิตามินดี.เสริม
มีระดับแคลเซี่ยมในปัสสาวะสูงขึ้น แต่มาสรุปผลว่าแคลเซี่ยมและวิตามินดี.เสริมอาจทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น
แบบนี้เป็นการสรุปผลแบบมั่วนิ่ม
ความจริงถ้าอ่านผลวิจัยให้ดีเขาก็รายงานว่าอัตราการเป็นนิ่วไม่ได้แตกต่างกัน
แต่ผู้วิจัยสรุปผลโดยอ้างความสัมพันธ์เชิงทฤษฏีว่าการเกิดนิ่วเริ่มจากระดับแคลเซียมในปัสสาวะสูง
ซึ่งทฤษฏีดังกล่าวเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่ความจริงที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ สาระของผลวิจัยอันที่สองที่ว่ากินแคลเซี่ยมบวกวิตามินดี.แล้วทำให้ระดับแคลเซี่ยมในปัสสาวะสูงขึ้นนี้
เรายังเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้
4. เกี่ยวกับวิตามินดีเสริมกับการเกิดนิ่วในไตนี้
หลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่มีตอนนี้คืองานวิจัยที่สุ่มเอาผู้ถูกสำรวจโภชนาการและสุขภาพแห่งชาติอเมริกัน (NHANES III) หลายหมื่นคน เลือกเอาคนเป็นนิ่วมา แล้วดูระดับวิตามินดีในเลือด
พบว่าการมีระดับวิตามินดีในเลือดสูง
ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการมีนิ่วในไตแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุป ท่านดื่มนมของท่านไปเถอะครับ แล้วจบกันแค่นี้ก็แล้วกัน
แต่ เดี๋ยวนะ ผมเห็นว่าท่านเป็นผู้สูงอายุที่สนใจอ่านงานวิจัยจากอินเตอร์เน็ท ถ้าท่านมีเวลา
ผมจะพูดถึงการจัดชั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ตามลำดับความเชื่อถือได้ให้ฟัง ถ้าท่านไม่มีเวลาก็ไม่ต้องอ่านก็ได้นะครับ
เพราะมันหนักหัวอยู่เหมือนกัน
คือ การวิจัยในทางการแพทย์เองถูกแบ่งเป็นหลายเกรด
ตั้งแต่เกรดที่เชื่อถือไม่ได้เลย ไปจนถึงหลักฐานชั้นดีที่เชื่อถือได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะปักใจเชื่อคำแนะนำใด
ๆ ในเรื่องสุขภาพ คนทั่วไปจึงจำเป็นต้องรู้วิธีประเมินหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์ และต้องประเมินหลักฐานที่ถูกกล่าวอ้างถึงก่อนเสมอ
ซึ่งองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการประเมินจะมี 2 ส่วนใหญ่
ๆ คือ (1) ระดับชั้นของงานวิจัยตามความน่าเชื่อถือ (2) ความน่าเชื่อของวารสารการแพทย์ที่ตีพิมพ์งานวิจัยนั้น
ชนิดของหลักฐานทางการแพทย์
งานวิจัยทางการแพทย์
แบ่งลำดับของความเชื่อถือได้ จากเชื่อถือได้มากที่สุดลงไปหาน้อยตามลำดับดังนี้
1.. งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (Randomized controlled trial -RCT)
คืองานวิจัยที่มุ่งเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วย
2 กลุ่ม โดยการเลือกสมาชิกเข้าแต่ละกลุ่มด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างเลือก (random) ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ใช้ควบคุมผล (control) เช่น ถ้าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับยาก็คือให้กินเพียงแค่ยาหลอก
(placebo) ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่จะถูกทดลองจริง
ๆ ได้กินยาจริง ทั้งนี้การที่ใครจะได้กินยาจริง ใครจะได้กินยาหลอก จะถูกปิดบังไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง
2 ข้างรู้ (double blind) คือหมอที่เป็นผู้ให้ยาก็ไม่รู้
เพราะยาจะถูกนักวิจัยอีกคนหนึ่งเตรียมมาให้ในขวด โดยที่จะมีทั้งสี และขนาด
ที่เหมือนกัน แต่มีหมายเลขโค้ดกำกับไว้ ซึ่งผู้เตรียมรู้อยู่คนเดียว ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองก็ไม่รู้เช่นกันว่า
ตนจะได้กินยาจริงหรือยาหลอก ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลลัพธ์อันเกิดจากจิตวิทยา งานวิจัยแบบ
RCT เป็นหลักฐานทางการแพทย์ระดับสูงที่เชื่อถือได้
แต่เนื่องจากการทำวิจัยแบนี้ทำได้ยาก จึงมีผลงานวิจัยระดับนี้ไม่มาก และแต่ละงานวิจัยก็มักมีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างไม่มากนัก
กรณีที่งานวิจัยสรุปผลได้ว่ากลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลองได้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(positive RCT) ก็ถือว่าผลสรุปนั้นเชื่อถือได้แน่นอน จัดเป็นหลักฐานระดับเชื่อถือได้มากที่สุด
แต่หากผลสรุปได้ว่าทั้ง 2 กลุ่มได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(negative RCT) หากกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยมีขนาดเล็ก ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า
หากหากลุ่มตัวอย่างมาเพิ่มแล้วผลลัพธ์อาจเปลี่ยนเป็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้
ดังนั้นงานวิจัยที่เป็น negative RCT จึงมีความน่าเชื่อถือต่ำกว่า
positive RCT เล็กน้อย
2.. งานวิจัยที่รวมเอาผลวิจัยหลายอันมาวิเคราะห์ (Meta analysis)
อันนี้ไม่ใช่การทำวิจัยจริง ๆ
แต่เป็นการเอาข้อมูลของงานวิจัยแบบ RCT หลาย ๆ อันที่วิจัยเรื่องเดียวกัน
และมีกระบวนการวิจัยเหมือนกัน มายำรวมกัน แล้ววิเคราะห์ผลใหม่ เท่ากับว่าเป็นการทำวิจัยแบบ
RCT เดิมนั่นแหละ แต่มีกลุ่มตัวอย่างใหญ่ขึ้น ดังนั้นการทำวิจัยโดยเอาผลวิจัยหลายอันมาวิเคราะห์นี้จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพของงานวิจัย
RCT ขนาดเล็กหลายอัน ให้มีผลเหมือนงานวิจัยขนาดใหญ่
และหากวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ผลที่ได้ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่างานวิจัย RCT
ขนาดเล็ก ๆ เสียอีก จึงถือว่า meta analysis เป็นหลักฐานทางการแพทย์ระดับสูงเช่นกัน
ซึ่งเว็บไซต์ของโค้กเรน (www.cochrane.org)
เป็นแหล่งเก็บผลวิเคราะห์แบบ meta analysis ของการแพทย์ทุกสาขาไว้มากที่สุด
3.. งานวิจัยเชิงระบาดวิทยา
บางทีก็เรียกว่าเป็นงานวิจัยสังเกตเชิงวิเคราะห์ (observational analytical study) ซึ่งเป็นการวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนไปข้างหน้า หรือย้อนหลังไปดูกลุ่มคน ซึ่งเขากินยา หรือได้รับการรักษา หรือใช้ชีวิตของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว การตามดูนี้อาจตามดูคนกลุ่มหนึ่งแล้วเอาข้อมูลไปเปรียบเทียบกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ได้ แต่ย้ำว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่างก็ทำของเขา หรือเป็นของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ได้เอาประชากรทุกคนมาจับฉลากสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบงานวิจัย RCT
งานวิจัยเชิงระบาดวิทยามีความผิดพลาดได้มาก
เพราะแต่ละกลุ่มที่นักวิจัยไปตามดู อาจจะมีปัจจัยกวนที่ผู้วิจัยควบคุมไม่ได้ซ่อนอยู่
ตัวอย่างเช่นในรอบแรก ผู้วิจัยไปตามดูกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งดื่มกาแฟมาก
แล้วเอาข้อมูลไปเทียบกับกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ดื่มกาแฟ แล้วพบว่าคนกลุ่มที่ดื่มกาแฟเป็นโรคหัวใจมาก
จึงสรุปผลวิจัยว่ากาแฟทำให้เป็นโรคหัวใจ แต่ในรอบ 2 เมื่อสำรวจเพิ่มเติมถึงการสูบบุหรี่ของคนทั้ง
2 กลุ่ม จึงได้พบว่าคนดื่มกาแฟชอบสูบบุหรี่ด้วย ขณะที่คนไม่ดื่มกาแฟสูบบุหรี่น้อย
เมื่อแยกเอาพวกที่สูบบุหรี่ออกไปเสียทั้งหมด แล้ววิคราะห์แต่คนดื่มกาแฟกับไม่ดื่มกาแฟโดยไม่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่
จึงได้พบว่า อัตราการเป็นโรคหัวใจของคนดื่มกับไม่ดื่มกาแฟไม่ต่างกัน
หมายความว่ากาแฟไม่ได้ทำให้เป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่แตกต่างจากการวิจัยรอบแรกอย่างตรงกันข้าม
ที่เป็นเช่นนี้เพราะการที่คน 2 กลุ่มแยกกันเป็นกลุ่มเองตามธรรมชาติ
มักจะมีปัจจัยกวนอื่น ๆ ที่ทำให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันซ่อนอยู่แล้วโดยที่ผู้วิจัยไม่ทราบ
ซึ่งการจะทำให้ปัจจัยกวนเหล่านี้ กระจายไปในทั้ง 2 กลุ่มมากพอ
ๆ กัน ก็ต้องใช้วิธีเอาประชากรรวมทั้งหมดมาสุ่มจับฉลากแบ่งกลุ่มเท่านั้น
ซึ่งก็หมายถึงต้องทำวิจัยแบบ RCT นั่นเอง
งานวิจัยเชิงระบาดวิทยายังแยกย่อยได้เป็น
2 อย่าง อย่างแรกคือการตามดูคนที่ยังไม่ป่วย
ว่ากลุ่มไหนจะป่วยมากกว่ากัน (cohort study) ระหว่างกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงกับกลุ่มที่ไม่มี
เช่น การวิจัยตามดูกลุ่มคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กับกลุ่มคนที่ไม่ออกกำลังกาย
แล้วดูว่าท้ายที่สุดแล้วกลุ่มใดเป็นโรคหัวใจมากกว่ากัน หรือเช่น ตามดูกลุ่มคนที่กินวิตามินซีวันละ
1 เม็ดทุกวัน กับกลุ่มคนที่ไม่กินวิตามินซีเลย
ว่าใครจะเป็นมะเร็งมากกว่ากัน เป็นต้น ผลวิจัยแบบนี้จะรายงานออกมาเป็น
“สัดส่วนของอุบัติการณ์เป็นโรคของกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงกับกลุ่มที่ไม่มี
(relative risk RR)” เช่นในตัวอย่างแรก สมมุติว่าหลังจากตามดูไป
5 ปีแล้วพบว่ากลุ่มที่ออกกำลังกาย 100 คน
ป่วยเป็นโรคหัวใจ 5 คน (5% หรือ 0.05
ส่วน) ส่วนกลุ่มไม่ออกกำลังกาย 100 คน
ป่วยเป็นโรคหัวใจ 10 คน (10% หรือ 0.1
ส่วน) อย่างนี้ก็เรียกว่าคนไม่ออกกำลังกาย (มีปัจจัยเสี่ยง)
มีอัตราการเป็นโรคมากกว่าคนออกกำลังกาย (ไม่มีปัจจัยเสี่ยง) = 0.1 / 0.05 =
2 หมายความว่า คนไม่ออกกำลังกายมี relative risk มากกว่าคนออกกำลังกาย 2 เท่า
อย่างที่ 2
คือการวิจัยหาว่าคนที่ป่วยแล้ว
มีปัจจัยเสี่ยงมากหรือน้อยกว่าคนที่ไม่ป่วย (case control study) วิธีการก็คือ เอาคนที่ป่วยแล้ว
มาเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่มีลักษณะประชากรคล้าย ๆ กันแต่ยังไม่ป่วย
แล้ววิเคราะห์ดูว่า กลุ่มไหนมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่ากัน เช่น เอาผู้หญิงที่เป็นเบาหวานมา
100 คน
แล้วก็ไปหาผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นเบาหวานที่มีอายุและลักษณะการใช้ชีวิตคล้าย ๆ กันมาอีก
100 คน แล้วชั่งน้ำหนักดูทั้ง 2 กลุ่มว่า
กลุ่มไหนจะมีน้ำหนักตัวมากกว่ากัน เพื่อจะพิสูจน์ว่า การมีน้ำหนักตัวมากสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานหรือไม่
รายงานผลการวิจัยชนิดนี้ จะรายงานเป็นสัดส่วนของแต้มต่อของการมีปัจจัยเสี่ยง (odd
ratio) เช่น สมมุติว่าในกลุ่มที่เป็นเบาหวานชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าอ้วน
40 คน (40% หรือ 0.4 ส่วน) ขณะที่กลุ่มคนที่ไม่เป็นเบาหวานอ้วนเพียง 10 คน
(10% หรือ 0.1 ส่วน) หมายความว่าแต้มต่อ
(odd) ที่จะอ้วนของกลุ่มเป็นเบาหวาน = 0.4/0.6 = 0.66
ขณะที่แต้มต่อที่จะอ้วนของกลุ่มไม่เป็นเบาหวาน = 0.1/0.9 = 0.11
ดังนั้นงานวิจัยนี้ก็จะรายงานว่าคนเป็นเบาหวานมีแต้มต่อที่จะอ้วนมากกว่าคนไม่เป็นเบาหวาน
(odd ratio) = 0.66/0.11 = 6 เท่า
แม้ว่างานวิจัยเชิงระบาดวิทยาจะไม่ดีเท่างานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ
แต่ก็ใช้เป็นหลักฐานสำคัญทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ เพราะการวิจัยในคนบางอย่างไม่สามารถสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มได้
เช่น ถ้าจะวิจัยเปรียบเทียบการออกกำลังกายกับไม่ออก แล้วสุ่มตัวอย่างแบ่งคนเป็น 2
กลุ่ม โดยคนที่จับได้เบอร์ดำต้องออกกำลังกายทุกวัน
คนที่จับได้เบอร์แดงห้ามออกกำลังกาย อาจจะทำให้บางคนที่จับได้เบอร์แดงไม่ยอมร่วมมือ
เพราะเขาชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาจึงยังมีความสำคัญอยู่
4.. รายงานผู้ป่วย (Case series)
เป็นการศึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งแบบสังเกตแล้วบันทึกไว้
(observational study) แล้วเล่าให้ฟังว่า ทำอย่างนี้แล้วได้ผลเป็นอย่างไร
โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่มีกลุ่มควบคุม เช่น รายงานว่าพบเด็กที่กินยาถ่ายมะเกลือมาแล้วตาบอด
2 คน อย่างนี้เป็นต้น รายงานผู้ป่วยถือว่าเป็นหลักฐานการแพทย์ชั้นต่ำเท่าที่พึงจะหาได้จากการศึกษาในคนจริง
ๆ ถ้าต่ำกว่านี้ก็จะเป็นหลักฐานการวิจัยในสัตว์และในห้องทดลอง
เหตุที่ถูกจัดเป็นหลักฐานขั้นต่ำเพราะมันบอกเพียงแต่สิ่งที่พบเห็นตรงหน้า
เช่น กรณีรายงานพบเด็กกินมะเกลือแล้วตาบอด 2 คน
ก็ยังไม่ใช่หลักฐานว่ามะเกลือทำให้ตาบอดจริงหรือไม่ เพราะอาจจะมีปัจจัยกวนอื่น ๆ ได้อีกมากที่ทำให้เด็ก
2 คนนั้นตาบอด ซึ่งในรายงานนี้ไม่ได้ตรวจสอบและบันทึกไว้
นอกจากนี้ยังไม่มีแง่มุมเชิงเปรียบเทียบ
ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบเด็กที่กินมะเกลือกับเด็กที่ไม่ได้กิน
ว่ากลุ่มไหนจะมีโอกาสเกิดตาบอดมากกว่ากัน หรือการเปรียบเทียบเด็กที่ตาบอดไปแล้ว
กับเด็กที่ตาไม่บอดว่า กลุ่มไหนมีแต้มต่อของการกินมะเกลือมากกว่ากัน เป็นต้น
5.. งานวิจัยในสัตว์หรือในห้องทดลอง (Animal or lab studies)
การวิจัยในสัตว์
หรือการวิจัยในห้องทดลอง ไม่ว่าจะมีกระบวนการวิจัยดีเพียงใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นหลักฐานที่ไม่เพียงพอที่จะเอามาสรุปใช้กับคน
และเชื่อถือได้น้อย ถือเป็นหลักฐานทางการแพทย์ขั้นต่ำที่สุด
6.. เรื่องเล่าจากประสบการณ์ (Anecdotal)
เรื่องเล่าไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นเพียงคำบอกเล่าของคนบางคน
ที่อาจบอกเล่าเรื่องที่เล่าต่อกันมา หรือบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง ไม่มีการสังเกตอย่างเป็นระบบ
ไม่มีการบันทึกผล ในทางการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์
แหล่งเก็บหลักฐานทางการแพทย์
นอกจากหอสมุดโค้กเรน ซึ่งเป็นที่เก็บผลวิเคราะห์รวมงานวิจัยอื่น ๆ แบบ meta analysis แล้ว หอสมุดการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US National Library of Medicine) ก็ถือเป็นแหล่งเก็บผลงานวิจัยทางการแพทย์ทั้งหมดที่ใหญ่ที่สุด โดยผู้ใช้ทั่วโลกสามารถค้นหาผ่านเว็บไซต์ www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed ได้ นอกจากนี้ บรรดาวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ก็เป็นแหล่งเก็บหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์เช่นกัน การที่เจาะจงว่าต้องเป็นวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ก็เพราะในวงการแพทย์มีวารสารเป็นจำนวนมาก บางวารสารทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นวารสารที่เชื่อถือได้ จะต้องมีระบบการกลั่นกรองเนื้อหาโดยบุคคลที่สาม (Peer review journal) ซึ่งวารสารเหล่านี้จะเป็นวารสารที่มีชื่ออยู่ในดัชนีวารสารการแพทย์สากล (Index Medicus) ตัวอย่างของวารสารที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้เช่น New England Journal of Medicine, JAMA, Lancet, Circulation เป็นต้น
นอกจากหอสมุดโค้กเรน ซึ่งเป็นที่เก็บผลวิเคราะห์รวมงานวิจัยอื่น ๆ แบบ meta analysis แล้ว หอสมุดการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US National Library of Medicine) ก็ถือเป็นแหล่งเก็บผลงานวิจัยทางการแพทย์ทั้งหมดที่ใหญ่ที่สุด โดยผู้ใช้ทั่วโลกสามารถค้นหาผ่านเว็บไซต์ www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed ได้ นอกจากนี้ บรรดาวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ก็เป็นแหล่งเก็บหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์เช่นกัน การที่เจาะจงว่าต้องเป็นวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ก็เพราะในวงการแพทย์มีวารสารเป็นจำนวนมาก บางวารสารทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นวารสารที่เชื่อถือได้ จะต้องมีระบบการกลั่นกรองเนื้อหาโดยบุคคลที่สาม (Peer review journal) ซึ่งวารสารเหล่านี้จะเป็นวารสารที่มีชื่ออยู่ในดัชนีวารสารการแพทย์สากล (Index Medicus) ตัวอย่างของวารสารที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้เช่น New England Journal of Medicine, JAMA, Lancet, Circulation เป็นต้น
................................
บรรณานุกรม
1. U.S.
Preventive Services Task Force. Vitamin
D and Calcium Supplementation to Prevent Fractures, Topic Page. Accessed
on Apr 1, 2013 at http://www.uspreventiveservicestaskforce.org/uspstf/uspsvitd.htm
2.
Rattue, Petra. "Kidney Stone Risk
Associated With Long-Term Vitamin D And Calcium Intake."Medical News Today. MediLexicon, Intl., 29 Jun. 2012. Web.
1 Apr. 2013. http://www.medicalnewstoday.com/articles/247284.php
1 Apr. 2013. http://www.medicalnewstoday.com/articles/247284.php
3.
Tang J, McFann KK, Chonchol MB. Association between serum 25-hydroxyvitamin D and nephrolithiasis: the
National Health and Nutrition Examination Survey III, 1988-94. Nephrol Dial Transplant. 2012
Dec;27(12):4385-9. doi: 10.1093/ndt/gfs297. Epub 2012 Jul 9.
4. International
Liaison Committee on Resuscitation. 2005 International Consensus on
Cardiopulmonary Resuscitation and Emergency Cardiovascular Care Science With
Treatment Recommendations. Circulation.
2005; 112: III-1–III-136.