อยากเป็นคนสู้ชีวิต



 1. อยากให้คุณหมอแนะนำแนวทางปฎิบัติตัว (แบบวิธีทำ ที่ไม่ใช่แนวคิดค่ะ) ที่จะมีผลให้เซี่ยวหว่างหายจากการเป็นเซี่ยวหว่างค่ะ อยากมีโหมดสู้ชีวิตบ้าง แต่ก็ถูกเลี้ยงมาในคอมฟอร์ทโซนตลอดคะ (ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ค่ะ) จากการสังเกตคนที่สู้ชีวิต เค้าจะมีความคิดว่า ชีวิตต้องรอด แต่ถ้าเป็นหนูจะคิดว่า จะรอดหรือว๊า

2. อยากให้คุณหมอแนะนำวิธีแบ่งเวลาค่ะ อย่างเช่น ถ้าทำงานประจำไปด้วย แต่ก็อยากสอบผ่านประกาศนียบัตรเฉพาะทางไปด้วย (ซึ่งสาขาที่เรียนต้องอ่านเยอะมาก อยากอธิบายให้เห็นภาพว่า อ่านเยอะกว่าเรียนป.โทค่ะ)
และยังอยากเตรียมเรื่องขอทุนเรียนต่อที่มีเดดไลน์ประมาณเดือนเมษานี้ด้วย (ใจจริงๆ คือ อยากตัดงานประจำที่เพิ่งเข้ามาทำได้ 2 เดือน แต่ก็กลัวโดนสังคมประณามว่าเป็นเสี่ยวหว่างไม่สู้งานค่ะ แต่ใจจริงก็ยังคิดแบบในข้อ 1. คือ ทำสองสามอย่าง แล้วจะรอดหรือว๊า เพราะก็เคยสอบแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้ทำงาน แถมยังได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ยังไม่ผ่านเลยค่ะ )

อยากฟังคำแนะนำสั่งสอน
สวัสดีปีใหม่ ขอให้คุณหมอและครอบครัวสุขภาพแข็งแรง
ด้วยรักและเคารพ
From......

…………………

ตอบครับ

หายศีรษะไปนานเพราะมัวสะสางงานส่งท้ายปีเก่า กลับมาอีกทีก็เป็นวันสุดท้ายของปีพอดี จดหมายฉบับนี้จึงจะเป็นฉบับสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งมีจดหมายค้างตอบอยู่ประมาณสี่ร้อยกว่าฉบับ บ้างก็ถามคำถามที่ดีๆ หนักๆ น่าสนใจ มีประโยชน์ และน่าจะตอบทั้งนั้น แต่ก็สุดปัญญาเพราะเวลาไม่มี จะเก็บเอาไว้ก่อนก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำพรื้อ เพราะลำพังเปิดอ่านจดหมายใหม่ที่เข้ามาก็หมดเวลาแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปคุ้ยจดหมายเก่ามาตอบ วิธีที่อาจจะไม่ดีที่สุดแต่เป็นไปได้ในชีวิตจริงคือ ให้ผมร้องเพลงของสุเทพ วงศ์กำแหงให้ฟังดีกว่า

“...อโหสิกรรมให้ผมเถิดคุณ
อย่ามัวไปคิดเคืองขุ่น
เอาบุญโปรดนึกเมตตา
ผมมาสารภาพ ทำบาปชั่วช้า
คุณอย่าด่วนตัดเยื่อใย

อโหสิกรรมให้ผมสักครั้ง
บาปกรรมที่ผมเคยสร้าง
จงลืมเสียเถิดดวงใจ....”

    หิ..หิ แปลไทยให้เป็นไทยก็ครือว่า... จดหมายที่ค้างคาอยู่ทั้งหมดสี่ร้อยกว่าฉบับ ข้อยสามารถตอบได้เพียงฉบับเดียววันนี้ ที่เหลือจะถูกดีลีทให้หายจ้อยสวีวี่วีไปในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ดังนั้นถ้าแม่จำเนียรเคยเขียนถามอะไรมาแล้วยังไม่เห็นคำตอบ ก็...ปลงซะเถอะนะ

     เอาละ มาตอบจดหมายฉบับนี้กันดีกว่า

1.. ก่อนตอบคำถามขอนิยามให้เข้าใจตรงกันก่อน คือคำว่า “เซี่ยวหว่าง” แปลว่าเด็กจักรพรรดิ หมายถึงเด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูมาแบบลูกบังเกิดเกล้า ประคบประหงมกันสุดฤทธิ์จนเสียคน กลายเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เขียนมาถึงตรงนี้ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ในภาษาไทยมีศัพท์ที่ใช้อธิบายการเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออยู่อีกสองคำ คือคำว่า “หยิบโหย่ง” กับ “จับจด” ซึ่งใช้อธิบายอาการของคนที่ออกแนวสมาธิสั้น ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ให้เห็นภาพได้ดีที่สุดคือพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 6 ซึ่งผมขอคัดลอกบทพระราชนิพนธ์เรื่องหลักราชการมาให้อ่านท่อนหนึ่ง ดังนี้

“...แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอยู่บางคน ซึ่งไม่สามารถจะปฏิบัติเช่นนี้ได้ โดยมากมักเป็นเพราะเหตุที่ตีราคาตนแพงกว่าที่ผู้อื่นเขาตี เช่นเขามอบให้กวาดเฉลียง ถ้าจะตั้งใจกวาดไปให้ได้ดีจริง ๆ ก็จะได้ดี แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเห็นไปเสียว่า ถ้าแม้ได้เลี้ยงชะมดก็จะดี แล้วก็เลยไปคิดฟุ้งซ่านแต่ในการเลี้ยงชะมดซึ่งมิใช่หน้าที่ ละทิ้งการกวาดเฉลียงซึ่งเป็นหน้าที่ของตนแท้ ๆ นั้นเสีย คราวนี้ต่างว่าย้ายให้ไปทำหน้าที่เลี้ยงชะมดตามปรารถนา พอใจหรือ ๆ เปล่าเลยไพล่ไปคิดถึงการรดต้นไม้ ถ้าเปลี่ยนให้ไปทำการรดต้นไม้ ก็ไพล่ไปคิดถึงการกวาดกระไดไชรูท่ออะไรไปอีก....”

จะเห็นว่าบทพระราชนิพนธ์นี้บอกองค์ประกอบของนิสัยหยิบโหย่งอยู่สองอย่าง คือการตีค่าของตนว่าสูงเกินงานที่ทำหนึ่ง กับการเป็นคนสติแตกฟุ้งสร้านอีกหนึ่ง หากเปลี่ยนความคิดตัวเองให้เป็นคน “ถ่อมตน” และฝึกตัวเองให้มีสติไม่เลื่อนลอยฟุ้งสร้านได้เมื่อไร ก็จะหายหยิบโหย่งจับจดเมื่อนั้น

วิธีส่วนตัวของผมที่ผมใช้แก้นิสัยหยิบโหย่งของตัวเองคือการใส่ใจเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้า คืองานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานกระจอกแค่ไหนก็ล้วนมีประเด็นศึกษาอยู่ในตัวมันทั้งสิ้น ผมจะจับประเด็นที่จะเรียนรู้ได้ออกมาก่อน แล้วการทำงานของผมก็กลายเป็นการเรียนรู้หรือการวิจัยที่น่าสนใจติดตามไปเสียทุกครั้ง แม้จะเป็นงานกระจอก แต่ตราบใดที่เรายังมีประเด็นวิจัยในงานนั้นอยู่ ตราบนั้นการทำงานนั้นก็ยังสนุก ส่วนเรื่องจะสำเร็จจะล้มเหลวเป็นเรื่องจิ๊บ การได้เรียนรู้เรื่องหนึ่งๆให้ลึกซึ้งเป็นเรื่องมันกว่าแยะ

ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าคุณได้รับมอบหมายให้ทำงานเป็นขี้ข้าเขา ฟังดูแล้วเป็นงานที่ไม่สร้างสรรค์และไม่น่าทำเลยถูกแมะ แต่สมมุติว่าคุณตั้งประเด็นว่าการจะเป็นขี้ข้าเขาแล้วให้เป็นชีวิตที่สร้างสรรค์ด้วยและมีความสุขด้วยจะทำแบบไหนได้บ้าง สมมุติว่าคุณตั้งตุ๊กตามาหลายแบบ มีแบบหนึ่งคุณตั้งว่างานขี้ข้าคืองานพัฒนาทักษะเพื่อความสุขของเราเองในสามประเด็น คือ (1) ฝึกเมตตาธรรมต่อคนอื่น (2) ฝึกลดความยึดถือว่าตัวตนของตัวเองนั้นใหญ่และสำคัญ (3) ฝึกสติจดจ่อกับงานที่ทำทีละชิ้น พอตั้งลำได้อย่างนี้คุณก็หิ้วกระเป๋าไปเป็นขี้ข้าเขา แล้วคุณก็ค่อยๆเรียนรู้ไปทุกวันบนประเด็นที่คุณตั้งไว้ เช่นในการฝึกเมตตาคน เมื่อเจ้านายด่า คุณก็ค่อยๆมองหาที่มาที่ไป คุณค่อยๆเรียนรู้ว่าการจะเมตตาคนได้นั้นเราต้องมองให้เห็นด้านดีของเขาก่อน แล้วคุณก็เรียนรู้ว่าเจ้านายมีด้านดีอะไรบ้าง อะไรอย่างนี้เป็นต้น คืองานเป็นขี้ข้าเขา สำหรับคุณคือการเรียนรู้และวิจัยพัฒนาตัวเอง โดยวิธีนี้งานเป็นขี้ข้าก็จะมีความคืบหน้าในการพัฒนาตนเองให้คุณสรุปประเมินทุกวัน กลายเป็นงานที่สร้างสรรค์และสนุกไม่น่าเบื่อ

ในมุมมองของฝรั่งมันยังมีอีกประเด็นหนึ่ง คือฝรั่งมองว่าคนเรานี้สามารถหาความสุขได้จาก “ลูกอึด” หมายความว่าการตื๊อทำอะไรสักอย่างแบบถูลู่ถูกังไปไม่ว่าจะยากลำบากสักแค่ไหน จะนำความสุขมาให้ได้ หมายความว่าความสุขจากการเป็นคนตื๊อนะ คนละอันกับความสุขเมื่องานสำเร็จ คอนเซ็พท์นี้ฝรั่งนำมาตั้งเป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง เรียกว่า sense of duty หรือ sense of responsibility ซึ่งแทบจะกลายเป็นลักษณะประจำพันธ์ของพวกฝรั่งไปแล้วก็ว่าได้ แต่ผมเดาเอาตามความรู้สึกว่าสำหรับพันธ์ไทยคุณลักษณะนี้มีแบบกะบ่อนกะแบ่นไม่ค่อยต่อเนื่อง คนไทยอิสานอาจมีแคแรคเตอร์นี้มากหน่อย แต่คนไทยเหนืออย่างตัวผมนี้มีน้อยที่สุดในบรรดาพันธ์ไทยด้วยกัน แต่ว่าแคแรคเตอร์เป็นเรื่องที่เราสร้างขึ้นได้แม้ว่าพันธุกรรมเดิมจะไม่มี และผมก็เห็นพ้องกับฝรั่งว่าการมีลูกอึดเป็นแคแรคเตอร์ที่ดีที่เราควรปลูกฝังสร้างขึ้นให้กับตัวเอง   

โดยสรุป คุณถามว่าการจะหายจากความเป็นเซี่ยวหว่างมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ผมตอบว่าให้คุณทำสี่อย่างดังนี้คือ

(1) ถ่อมตน ตื่นเช้าทุกวันมองหน้าตัวเองที่กระจกแล้วท่องว่าเราไม่ใช่เทวดากลับชาติมาแต่ไหน เป็นแค่หญิงสาวเซ่อซ่าไร้ปัญญาและความสามารถแต่กำลังเรียนรู้ชีวิตคนหนึ่งเท่านั้น

(2) ฝึกสติ ทุกวันทุกขณะที่คิดได้ให้หัดนึกย้อน (recall) ว่าเมื่อตะกี้ใจคิดอะไรอยู่ และหัดรู้ตัว (self awareness) ว่าขณะนี้ตัวเองอยู่ในอารมณ์ไหน

(3) เปลี่ยนงานให้เป็นการเรียนรู้วิจัย ฝรั่งเรียกว่า routine to research ผมไม่รู้ว่าคุณเป็นเด็กสายวิทย์หรือสายศิลป์ ถ้าเป็นเด็กศิลป์อาจไม่ค่อยคุ้น แต่ก็ต้องทำ คือเปลี่ยนงานให้เป็นประเด็นการเรียนรู้ที่ชักจูงให้เราติดตามประเมินอย่างตื่นเต้นทุกวัน

(4) หัดลูกอึด ไม่ว่าตั้งใจจะทำอะไร ให้ลากตัวเองทำไปให้จบ แม้ในเรื่องเล็กน้อย อย่าเปลี่ยนใจอะไรง่ายๆแบบซี้ซั้ว เช่นจะไปดูหนัง เจอรถติด เปลี่ยนใจ เลี้ยวกลับ ไม่ไปละ อย่างนี้ไม่เอา เมื่อตั้งใจแล้วทำให้สำเร็จ จะไปเยี่ยมเพื่อน รถเสีย จอดรถไว้ข้างทาง ขึ้นรถเมล์ไป รถเมล์ไม่ผ่าน ลงป้ายใกล้สุดแล้วเดินไปต่อ ยากลำบากแค่ไหนก็ทำให้สำเร็จอย่างน้อยก็ในครั้งนี้ที่ได้ตั้งใจไว้แล้วนี้ แล้วมาเรียนรู้จากมัน ว่าครั้งหน้าจะทำแบบนี้อีกหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

     2.. ถามว่าทำอะไรหลายอย่างจะแบ่งเวลาอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะว่าผมไม่ต่อต้านการที่เด็กวัยรุ่น (เข้าใจว่าคุณเป็นวัยรุ่น) จะทำอะไรหลายอย่าง ความจริงผมสนับสนุนให้ใช้ชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอ (portfolio life) คือทำอะไร (role) หลายๆอย่างไปพร้อมๆกัน ผิดหวังจากเรื่องหนึ่งก็ไปสมหวังอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ชีวิตจมไปพร้อมกับความล้มเหลวเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว  ประเด็นการแบ่งเวลา ผมแนะนำให้ทำตาม Stephen R. Covey ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People อย่างเป็นขั้นตอนว่า

ขั้นที่ 1. คุณวาดภาพในอนาคต (vision) ของคุณขึ้นมาก่อน ว่าเมื่อชั่วชีวิตนี้ผ่านไปแล้ว ในวันเกิดครบรอบ 80 ปีของคุณ คุณคาดหมายว่าจะได้ทำ (mission) อะไร หรือฝากรอยจารึกอะไรให้ลูกหลานพูดถึงในวันเกิดของคุณบ้าง หรือง่ายยิ่งกว่านั้นคือจินตนาการว่าที่หลุมฝังศพของคุณ คุณจะให้คนรุ่นหลังเขาสลักเป็นคำพูดสั้นๆสองสามประโยคเพื่อพูดถึงตัวตนของคุณว่าอย่างไร

ขั้นที่ 2. คุณเขียนบทบาท (role) ของคุณในวันนี้ ว่าหนังชีวิตเรื่องนี้ คุณอยากจะเล่นอยู่กี่บทบาท เช่น บทบาทที่ 1. ทำงานเป็นขี้ข้าเขา บทบาทที่ 2. เรียนหนังสือหลักสูตรที่ยากกว่าปริญญาโท บทบาทที่ 3. ปลดแอกจากความเป็นเด็กง่อยเซี่ยวหว่าง เป็นต้น เขียนลงไปในไดอารี่ หนึ่งบทบาทเตรียมหน้ากระดาษไว้ให้หนึ่งหน้า บทบาทที่สำคัญที่สุดเอาไว้หน้าแรก แล้วไล่เรียงกันไป การกำหนดบทบาทให้ตัวเองนี้ไม่มีกฎหมายจำกัดว่าคนหนึ่งจะเล่นได้กี่บทบาท แต่มันก็ไม่ควรจะมากเกินไป ความเห็นของผมคนหนึ่งควรเล่นไม่เกิน 7 บทบาท ไม่งั้นชีวิตมันจะวิ่งรอกหน้าตั้งเป็นสุนัขหอบแสงอาทิตย์จนเอาดีไม่ได้สักบทบาทเดียว

ขั้นที่ 3. คือการวางแผนงานประจำเดือน คือทุกๆสิ้นเดือนคุณต้องหาเวลาสักหนึ่งชั่วโมง หามุมสงบ ปิดโทรศัพท์ ตั้งสมาธิทำเรื่องนี้ วิธีทำคือในแต่ละบทบาท คุณเขียนเรื่องที่จะต้องทำในเดือนใหม่เรียงลำดับลงไปในหน้านั้น โดยการเรียงลำดับคุณต้องเรียงอย่างนี้คือ

          เรื่องสำคัญ และด่วน เอาขึ้นก่อน เป็นลำดับความสำคัญที่ 1
          เรื่องสำคัญ แต่ไม่ด่วน เอาขึ้นเป็นลำดับความสำคัญที่ 2
          เรื่องไม่สำคัญ แต่ด่วน เอาขึ้นเป็นลำดับความสำคัญที่ 3
          เรื่องไม่สำคัญ และไม่ด่วน ตัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องทำ

     ประเด็นสำคัญที่ต้องย้ำคือเรื่องไม่สำคัญแต่ด่วน เช่น ตอบอีเมลหรือไลน์ขี้หมาของเพื่อนที่ดังปิ๊บๆแสบหูอยู่ หรือปัญหาเล็กน้อยๆของคนอื่นแบบว่าจะเป็นจะตายแล้วถ้าไม่ยอมเม้าท์ด้วย เรื่องพวกนี้ ถึงจะด่วนคอขาดอย่างไร ก็ต้องไปอยู่ลำดับที่สาม ไม่ใช่เอาขึ้นมาเป็นลำดับที่สองเพราะอ้างความด่วน นี่คือจุดล้มเหลวของการบริหารเวลาของคนทั่วไป คนล้มเหลวก็เพราะอ้างความด่วนเอาเรื่องขี้หมาขึ้นมาตัดหน้าเรื่องที่สำคัญแต่ไม่ด่วน เช่นการออกกำลังกาย การนอนหลับให้พอ การทบทวนแผนการใช้เวลา จนไม่มีโอกาสได้ทำเรื่องสำคัญเหล่านี้ แล้วชีวิตก็พัง

ขั้นที่ 4. ก็คือการวางแผนงานประจำสัปดาห์ คือทุกเย็นวันอาทิตย์ คุณต้องจัดเวลา 30 นาทีทำเรื่องนี้ วิธีทำก็คือคุณทำตารางเวลาวันจันทร์ถึงศุกร์แบบตารางเรียนของเด็กประถม ให้มองเห็นช่วงเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืน ของทุกวันทั้งเจ็ดวันแยกจากกันชัดเจน แล้วทยอยเอาเรื่องที่จะต้องทำหยอดลงไปในช่องเวลาที่ว่าง โดยเอาเรื่องลำดับความสำคัญที่ 1 หยอดก่อน แล้วหยอดเรื่องลำดับความสำคัญที่ 2 ถึงตอนนี้ช่องทำท่าจะเต็มเสียแล้ว เรื่องลำดับความสำคัญที่ 3 คือเรื่องไม่สำคัญแต่ด่วนอาจจะหยอดได้ไม่หมด ชั่งมัน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ที่เหลือตัดทิ้ง หรือเอาไปกองรอไว้ในฐานะเรื่องที่จะทำถ้ามีเวลาเหลือ ถ้าไม่มีเวลาเหลือก็ไม่ต้องทำ

ขั้นที่ 5. ก็เป็นการลงมือใช้เวลาตามแผน ซึ่งเป็นเรื่องของการมี “สติ” และการมี “ลูกอึด” อย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว ใหม่ๆก็อาจจะยังทำได้ไม่ดี ก็ให้ตั้งใจฝึกสติ ฝึกลูกอึดต่อไป ปรับวิธีทำตารางเวลาไปให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ในที่สุดก็จะทำได้ อย่าลืมว่าในขั้นตอนลงมือทำนี้ ทุกเดือนคุณต้องนั่งทบทวนบทบาทและกำหนดเรื่องที่จะต้องทำสักหนึ่งชั่วโมง และทุกวันอาทิตย์คุณต้องจัดเวลานั่งหยอดเรื่องที่จะต้องทำลงตารางสักครึ่งชั่วโมง สมัยนี้ง่ายเพราะมีแอ๊บช่วยแยะและใช้โทรศัพท์แทนสมุดจดได้ แถมยังส่งเสียงเตือนได้อีกด้วย เวลาที่ใช้ไปกับการวางแผนรวมเดือนละประมาณ 3 ชั่วโมงนี้ คุ้มแสนคุ้มเมื่อเทียบกับการใช้เวลาแบบไร้แผนแล้วไปเสียเวลามากมายไม่รู้เท่าไหร่กับเรื่องขี้หมาในชีวิต จนชีวิตเป๋ไปเมื่อไรไม่รู้ตัว

     3.. ที่คุณขอคำแนะนำสั่งสอนนั้น ผมคงไม่มีให้หรอกครับ เพราะผมไม่ใช่คนทรงภูมิระดับที่จะสั่งสอนใครได้ เป็นเพียงแค่หมาน้อยธรรมดา เอ๊ย..ไม่ใช่ หมอน้อยธรรมดา คนหนึ่งเท่านั้น จึงได้แต่ฝากความปรารถนาดีในวันปีใหม่ 2556 มาให้คุณและท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะในปีนี้ขอส่งความปรารถนาดีเป็นการเฉพาะถึงท่านผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นซึ่งบล็อกนี้ไม่ค่อยได้นับว่าเป็นคนนัก ว่าที่ปากผมค่อนแคะคนวันรุ่นจนเป็นรูทีนนั้น จริงๆแล้วใจผมฝากความหวังไว้กับพวกคุณ เพราะผมเป็นคนเชื่อมันศรัทธาในความคิดสร้าง (creativity) หรือจินตนาการ (imagination) ว่าเป็นเครื่องมือเดียวที่จะพาชาติรอดพ้นจากวงจรงี่เง่าที่กำลังหมุนเป็นลูกข่างจากบนลงข้างล่างแบบสาละวันเตี้ยลงอย่างทุกวันนี้ ลำพังพวกผู้ใหญ่เหนียงยานที่เต้นแร้งเต้นกาอยู่บนจอโทรทัศน์ทุกวันนี้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ผมประเมินน้ำยาแล้วเห็นมีแต่พันธุ์บ้อลัด แปลว่าคนเสมือนไร้ความสามารถมีแต่ปากและเสียง เหลือแต่พวกคุณวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยไฟและฝันเท่านั้น จึงจะพาชาติรอด

“..อนาคตของชาติ อยู่ในมือท่านแล้ว..”

(จงก้มลงดูเถอะครับ.. ขอโทษ ทะลึ่ง)      

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี