โรคกลัวคน (Social Anxiety Disorder)
สวัสดีค่ะคุณหมอ
รบกวนเรียนถามคุณหมอเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของตัวเองหน่อยนะค่ะ เนื่องจากไม่ทราบจะไปปรึกษาใครดี และไม่กล้าที่จะปรึกษาใครจริงจังสักที คือว่าหนูเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเอง จะสั่นและเหมือนจะตกใจทุกครั้งที่ต้องพูดคุยกับคนที่รู้สึกไม่สนิท คนที่ไม่สนิทในความหมายของหนู คือ แม้กระทั่งคนหัวหน้าที่เจอหน้ากันทุกวัน แต่ก็ไม่สนิทกันสักที หนูมักจะมีอาการไม่ดีคือจะสั่นๆ ไม่กล้าสบตาด้วยตลอด ไม่ทราบว่าอาการอย่างนี้ เรียกว่าเป็นโรคไหมค่ะ หมอพอจะมีวิธีแนะนำให้หายจากอาการแบบที่กล่าวไว้ไหมค่ะ
อีกอย่างหนูจะสึกว่าตัวเองเป็นคนขี้ตื่นเต้นมาก เวลาอยู่ต่อหน้าคน แม้เพียงแค่สองสามคนหนูก็จะมีอาการตื่นเต้นตลอด สติไม่อยู่กันเนื้อกับตัว บางทีพูดอะไรก็จะพูดวกไปวนมา แต่อาการแบบนี้ไม่เกิดเวลาอยู่กับคนในครอบครัว หรือคนที่เราสนิทกันมาก
หนูอยากจะหายจากอาการแบบนี้ค่ะ เพราะหนูรู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคกับการเข้าสังคมของหนู และเป็นอุปสรรคกับการทำงานของหนูด้วย เพราะต้องเจอลูกค้าทุกวันค่ะ หนูอยากเสนอความเป็นตัวของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดง เสนอความคิดของตัวเองเหมือนคนอื่นๆเขาบ้าง
และหนูหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีจากคุณหมอค่ะ
รบกวนเรียนถามคุณหมอเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของตัวเองหน่อยนะค่ะ เนื่องจากไม่ทราบจะไปปรึกษาใครดี และไม่กล้าที่จะปรึกษาใครจริงจังสักที คือว่าหนูเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเอง จะสั่นและเหมือนจะตกใจทุกครั้งที่ต้องพูดคุยกับคนที่รู้สึกไม่สนิท คนที่ไม่สนิทในความหมายของหนู คือ แม้กระทั่งคนหัวหน้าที่เจอหน้ากันทุกวัน แต่ก็ไม่สนิทกันสักที หนูมักจะมีอาการไม่ดีคือจะสั่นๆ ไม่กล้าสบตาด้วยตลอด ไม่ทราบว่าอาการอย่างนี้ เรียกว่าเป็นโรคไหมค่ะ หมอพอจะมีวิธีแนะนำให้หายจากอาการแบบที่กล่าวไว้ไหมค่ะ
อีกอย่างหนูจะสึกว่าตัวเองเป็นคนขี้ตื่นเต้นมาก เวลาอยู่ต่อหน้าคน แม้เพียงแค่สองสามคนหนูก็จะมีอาการตื่นเต้นตลอด สติไม่อยู่กันเนื้อกับตัว บางทีพูดอะไรก็จะพูดวกไปวนมา แต่อาการแบบนี้ไม่เกิดเวลาอยู่กับคนในครอบครัว หรือคนที่เราสนิทกันมาก
หนูอยากจะหายจากอาการแบบนี้ค่ะ เพราะหนูรู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคกับการเข้าสังคมของหนู และเป็นอุปสรรคกับการทำงานของหนูด้วย เพราะต้องเจอลูกค้าทุกวันค่ะ หนูอยากเสนอความเป็นตัวของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดง เสนอความคิดของตัวเองเหมือนคนอื่นๆเขาบ้าง
และหนูหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีจากคุณหมอค่ะ
ขอบคุณคุณหมอล่วงหน้าค่ะ
……………………………………..
ตอบครับ
อาการที่คุณเป็นอยู่
ทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคโรคหนึ่งชื่อ Social Anxiety Disorder เรียกย่อว่า SAD นิยามว่าคือความกลัวสถานการณ์ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กลัวตัวเองจะทำเปิ่นทำเขลา
หรือพูดอีกอย่างว่ากลัวคนอื่นเขาประเมินหรือตัดสินตัวเองว่าไม่เข้าท่าโง่เง่าเต่าตุ่น ความกลัวนี้มีมากจนมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตปกติของตน คนที่มีความผิดปกติแบบคุณนี้มักเป็นคนขี้อาย
เงียบ หลบ เก็บกด ไม่เป็นมิตร ปสด. ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้
ทั้งๆที่เจ้าตัวใจจริงแล้วอยากจะคบหาเป็นเพื่อนกับใครต่อใคร อยากมีส่วนร่วม อยากมีปฏิสัมพันธ์
แต่ใจมันไม่กล้า เพราะว่าใจมันกลัว...กลัวคน โรคนี้จัดเป็นหนึ่งในห้าของโรคกลัวแบบขี้ขึ้นสมองที่ระบุไว้ในตารางจำแนกโรคจิตเวช (DSM-IV) โรคแบบคุณนี้ต่างจากโรคกลัวจนมีอาการป่วยทางกาย (panic disorder) ซึ่งพวกนั้นจะเข้าๆออกๆห้องฉุกเฉินบ่อยๆ เพราะนึกว่าตัวเองป่วยทางกาย
แต่พวกกลัวสังคมแบบคุณนี้รู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ได้ป่วยทางกายและมีน้อยมากที่จะไปโรงพยาบาล
โรคนี้เป็นโรคของเด็กและวัยรุ่น
พอเข้าวัยผู้ใหญ่ก็มักหาย แต่ก็ไม่แน่ บางรายเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่หาย จะเล่าเรื่องจริงเรื่องหนึ่งให้ฟัง
นานมาแล้วสมัยที่ผมยังเป็นครูสอนนักเรียนแพทย์อยู่ ครั้งหนึ่งมหาลัยเขาเอาพวกอาจารย์แพทย์ไปอบรมวิธีสอน
ไปสัมนากินนอนกันที่โรงแรมริมทะเล ตกค่ำพวกอาจารย์ซึ่งเกือบทั้งหมดก็อาวุโสระดับสี่สิบอัพกันทั้งนั้นแล้วก็กินอาหารเย็นด้วยกันและผลัดกันขึ้นร้องเพลงบนเวที
แบบว่า..ถ้อยทีถ้อยทนฟังกันไป แล้วก็ถึงตาอาจารย์หญิงท่านหนึ่งขึ้นร้องเพลง
ผมสังเกตเห็นแต่แรกแล้วว่ามือที่ท่านถือไมโครโฟนนั้นสั่นอยู่ ซึ่งผมก็คิดว่าคงเป็นเพราะท่านชรา
แต่พอร้องไปได้ยังไม่ทันครบท่อน ท่านก็ค่อยๆ รูดแบบสาละวันเตี้ยลงๆ สู่พื้นเวที โดยที่ปากก็ยังร้องเพลงได้และมือยังถือไมค์อยู่
ผมซึ่งนั่งใกล้เวทีรีบกระโดดขึ้นไปบนเวทีเพราะคิดว่าวัยนี้แล้วมาฟอร์มนี้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแหงๆ
แต่ก็ผิดคาด ท่านไม่ได้หมดสติ พอปฐมพยาบาลสักครูท่านก็สารภาพว่าท่านกลัวคน ผมนึกในใจว่า
“..โธ่ อาจารย์ ปูนนี้เนี่ยนะ”
นึกเฉยๆนะ แต่ไม่ได้พูดออกไปหรอก
เพราะตอนนั้นท่านเริ่มฟื้นและแข็งแรงเป็นปกติดีแล้วขืนพูดออกไปผมอาจได้รับบาดเจ็บได้
พูดถึงเรื่องกลัวคน ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่งนะ ประมาณปีพ.ศ. 2541 ผมขับรถพาลูกเมียเที่ยวไปในชนบทของนิวซีแลนด์
วันหนึ่งขณะขับรถเลียบชายฝั่งตะวันตกของเกาะใต้ ได้แวะไปที่ตำบลหนึ่งซึ่งเล็กมากชื่อเมืองฮาส
มีบ้านเรือนอยู่ไม่เกินสิบหลังคา แต่มีร้านเหล้าแบบ tavern อยู่ด้วย ตกกลางคืนผมส่งลูกเมียเข้านอนแล้วตัวเองก็เดินฝ่าลมหนาวไปเยี่ยมร้านเหล้า
พอเข้าไปแล้วมีพวกชาวไร่กีวี่ผู้ชายมาดื่มเบียร์กันคับคั่ง คงขับรถมาจากฟาร์มนอกเมือง
คุยกันโขมงโฉงเฉง พอได้ดื่มสักหน่อยผมก็เข้าไปคลุกวงในด้วยได้
กีวี่คนหนึ่งปากยังคาบบุหรี่อยู่ถามผมว่า
“คุณว่าคุณมาจากไหนนะ กรุงเทพเหรอ” ผมตอบว่า
“ใช่” อีกคนหนึ่งว่า
“โอ้ เมืองใหญ่นี่
ใหญ่มากเลยใช่ไหม” ผมตอบว่า
“มีคนตั้งสิบล้านคน คุณไปเที่ยวสิ” อีกคนว่า
“ผมอยากไปนะ สักวันหนึ่ง สักวันหนึ่ง ผมจะไป”
อีกคนตะโกนมาจากมุมห้องแต่ไกลว่า
“ผมไม่ไปหรอก.. ผมกลัวคน”
ทั้งห้องหัวเราะกันครืน
กลับมาที่โรคกลัวสังคมของคุณดีกว่า
คนเป็นโรคแบบคุณนี้มักจะออกอาการมากเมื่อถูกแนะนำให้รู้จักคนใหม่ หรือถูกล้อเลียน
ถูกวิจารณ์ หรือไปอยู่ในสถานะการณ์ที่มีคนมาสนใจตัวเองมากๆ หรือต้องไปทำอะไรขณะที่มีสายตาอื่นจ้องดู
หรือต้องพูดต่อหน้าคนมากๆ ต้องพบกับคนสำคัญ เอะอะก็เขินอาย ไม่กล้าสบตาคน
เอาแต่กลืนน้ำลายเอื๊อกๆ หรือไม่ก็ก้มหน้าจิ้มไอโฟน หรือเขียนอะไรยิกๆไม่จบไม่สิ้น ที่มักเป็นควบกันมาก็คือความกังวล
ความกลัว ประสาทเสีย อารมณ์ซึมเศร้า เซ็กซ์ดร็อพ ติดยา
และมีบุคลิกต้องพึ่งพิงคนอื่นร่ำไป
ถามว่าโรคนี้เป็นแล้วหายไหม ตอบว่าหายสิครับ
วิธีรักษาที่เป็นมาตรฐานในทางการแพทย์คือใช้วิธีให้กินยา ควบกับการทำจิตบำบัดแบบที่เรียกว่าสอนให้คิดใหม่ทำใหม่
หรือ cognitive behavior
therapy หรือ CBT เรื่องยากินคุณหาไม่ยาก
ไปหาจิตแพทย์ก็ได้ยามาแล้ว แต่เรื่องหาที่ทำ CBT ในเมืองไทยนี้อาจจะยากหน่อย
ถ้าหาไม่ได้ คุณมีทางเลือกสองวิธีคือ
วิธีที่ 1. ไปหาเกมคอมพิวเตอร์หลอกเด็กที่เข้าใช้รักษาเด็กเป็นโรคนี้ในโรงเรียนฝรั่งมาเล่น
เช่นเกม “แมวเหมียวจอมรับมือ”(Coping
Cat) เกมนี้เข้าท่ามากนะครับ
ความจริงเกมหลอกเด็กพวกนี้ไม่ใช่ของขี้ไก่นะ เป็นผลจากงานวิจัยมานาน หมอจิตเวชฝรั่งเรียกเกมพวกนี้ว่าเป็นวิธีรักษาแบบ
computerized CBT ฟังดูศักดิ์สิทธิ์แมะ
วิธีที่ 2. คุณทำ CBT ให้ตัวเองโดยอาศัยคนใกล้ชิดที่เขายอมช่วยคุณ
ผมจะแนะนำให้ใช้เทคนิค CBT บางเทคนิคเช่น
2.1 เทคนิคเข้าหา (exposure therapy) เริ่มด้วยการจินตนาการสมมุติเอาก่อน
สมมุติว่าเราเดินผ่านหัวหน้าคนที่ไม่สนิทคนนั้นอีกแระ จินตนาการให้เห็นตัวเราว่าเจ๊าะแจ๊ะอย่างนั้นอย่างนี้
ใหม่ๆแม้จะเป็นเพียงจินตนาการเราก็ยังรู้สึกกลัว บ่อยๆเข้าก็ชักจะคุ้นและทำได้
พอมั่นใจระดับหนึ่งก็ทำการบ้านโดยหาคนพาออกงาน เช่นไปนั่งกินข้าวในที่คนตัวเป็นๆจริงๆแยะๆ
แล้วเข้าไปพูดคุยกับเขา ทำแบบนี้บ่อยๆจนเลิกกล้วและกล้าพบหน้าพูดคุยกับผู้คน
2.2 เทคนิคฝึกทักษะทางสังคม (social skill training)
ก็คือการซ้อมนั่นเอง ใหม่ๆก็ซ้อมพูด ซ้อมมองตาคนในกระจก แล้วก็ไปซ้อมกับคนใกล้ชิดที่เราไม่กลัวอยู่แล้ว
แล้วก็ไปซ้อมกับเพื่อนๆที่ห่างออกไป
จนกล้าพอก็ไปซ้อมกับหัวหน้ารูปหล่อคนนั้น...อีกแระ (แหะ แหะ
พูดเล่นนะ)
2.3 เทคนิดคิดใหม่ (cognitive restructuring) เรียนรู้ที่จะจับว่าความคิดอันไหนชักนำให้เกิดความกลัว
แล้วมองลงไปในความคิดนั้นให้เห็นว่าประเด็นนั้นไม่จริง ประเด็นนี้งี่เง่า
แล้วฟอร์มความคิดใหม่ที่เป็นบวกและเข้าท่ากว่าขึ้นมาแทน คิดถึงความคิดบวกนี้บ่อยๆ
ในเชิงหลักฐานวิทยาศาสตร์ ทั้งสามเทคนิคข้างต้น และเกมคอมพิวเตอร์แมวเหมียว เป็นอะไรที่มีงานวิจัยรองรับว่าได้ผลจริง
คำแนะนำเพิ่มเติมของผมที่ไม่เกี่ยวกับผลวิจัยเหล่านี้ก็คือพื้นฐานที่จะทำให้เทคนิคทั้งสามอย่างนั้นสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ความสามารถที่จะตามรู้ (recall) อย่างกระชั้นชิดว่าเมื่อตะกี้เราเผลอคิดหรือรู้สึกหรือทำอะไรไป
และอยู่ที่ความรู้ตัว (awareness) ว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ที่ไหนทำอะไร
เราต้องตามเมื่อตะกี้ให้ทันก่อน เราจึงจะรู้ว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ตรงไหน
คือการตามรู้เมื่อตะกี้ นำเรากลับมาสู่ ณ ขณะนี้ งงแมะ ทริกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือถ้าเราตามรู้ว่าเมื่อตะกี้เรากลัวขี้ขึ้นสมอง
เราก็ตามดูความกลัวนั้น พอถูกตามดู ความกลัวมันจะหายไป ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ พอมันหายไป
เราก็จะหล่นกลับมาอยู่กับตัวเรา ณ ขณะนี้ ที่นี่ ตรงนี้ และเมื่อใดที่เรารู้ตัวว่า
ณ ขณะนี้เราอยู่ที่นี่ เมื่อนั้นเราเป็นนายเรา การที่เราลนลาน หลุกหลิก ลุกลี้ลุกลน
วนไปวนมา นั่นคือโมเมนต์ที่เราเผลอไผลใจลอยอย่างสิ้นเชิงจนไม่สามารถ recall
ได้ว่าเมื่อตะกี้เราอยู่ที่ไหน ในสภาพนั้นเราไม่ได้เป็นนายเรา เพราะเราอยู่ที่ไหนไม่รู้
มีแต่ความคิดหรือความกลัวซึ่งโผล่มาจากห้วงความจำในอดีตกำลังครอบและทำตัวเป็นนายเราอยู่
เทคนิคสำคัญที่ผมชอบใช้เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มก็คือ “สโลว์โมชั่น” เหมือนกับหนังตอนนางเอกกับพระเอกมาพบกันแล้ววิ่งเข้าหากันกลางทุ่งหญ้า
กล้องจับภาพมุมกว้างตัดแสงตะวันยามเย็น แล้วอยู่ๆ ปุ๊บ.. เขาก็ดึงภาพให้สโลโมชั่น
พูดถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง ผมเรียนรู้เทคนิคนี้สมัยเป็นหมออยู่เมืองนอก
ผมเป็นหมอหัวใจต้องมีหน้าที่ตามดูคนไข้หัวใจทั้งโรงพยาบาลไม่ว่าจะอยู่ที่วอร์ดไหน
และความที่เวลามีน้อยแต่เรื่องที่ต้องทำมีมากผมต้องเดินฉับๆทำอะไรหลายอย่างในคราวเดียวกัน
ในโรงพยาบาลที่ผมทำงานนั้นมีอยู่วอร์ดหนึ่งเขามีไว้เก็บคนไข้แก่ๆโดยเฉพาะ เรียกว่า
Geriatric ward เวลามีโทรศัพท์ตามให้ไปดูคนไข้วอร์ดนี้
สไตล์ผมก็จะเปิดประตูพรวดเข้าไปแล้วจ้ำพรวดๆๆ สามก้าวไปถึงกลางห้องทำงานพยาบาลเลย ผมจำได้ครั้งแรกที่ผมเข้าไปในวอร์ดนี้หลังจากก้าวที่สาม
ผมต้องชะงัก เพราะผมรู้สึกว่ามีผมเคลื่อนไหวอยู่คนเดียวในโลกใบนั้น
ต่อเมื่อผมสะกดตัวเองให้นิ่ง
ผมถึงเริ่มรับรู้ได้ว่ามีการเคลื่อนไหวนอกตัวผมอย่างช้าๆ พยาบาลแก่ๆกำลังพาคนไข้แก่ๆเดินไปตามทางเดินในวอร์ดด้วยวอล์เกอร์เก่าๆ อย่างช้าๆ เนิบๆ
ค่อยๆ ย่างก้าวทีละเซ็นต์ๆ อีกคนหนึ่งกำลังป้อนข้าวคนไข้หญิงชราอย่างช้าๆ
อีกด้านหนึ่งชายชราอีกคนหนึ่งกำลังเคี้ยวอาหารในปากอย่างช้าๆ
ชนิดที่ว่าผมกวาดตาผ่านแกไปสองรอบ ปากที่อยู่ในจังหวะอ้ายังขยับไม่ทันถึงจังหวะหุบเลย
ประเด็นก็คือ ทันทีที่ผมสะกดตัวเองให้นิ่งหรือปรับตัวเองเข้าโหมดสโลว์โมชั่น
ผมเพิ่งรู้ตัวเป็นครั้งแรกของวันนั้นว่า ณ ขณะนั้นผมอยู่ที่ไหน อยู่ในท่าไหน
กำลังคิดอะไร และกำลังจะทำอะไร
แตกต่างจากในโหมดที่เร่งรีบที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นทั้งวันผมแทบไม่รู้ตัวเลยว่าในแต่ละขณะผมอยู่ที่ไหนทำอะไร
เพราะชีวิตผมถูกครอบโดยสิ่งกระตุ้นและการสนองตอบแบบอัตโนมัติเกือบตลอดเวลา
จากวันนั้นผมเรียนรู้ว่าหากจะฝึกการตามความคิดเมื่อตะกี้ให้ทัน
ผมต้องปรับชีวิตให้เข้าไปอยู่ในโหมดสโลว์โมชั่น
เออ..แล้วมันเกี่ยวกับโรคกลัวคนขี้ขึ้นสมองของคุณตรงไหนนะ เออ เหอ เหอ ผมก็ลืมไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกัน ขอโทษ ดึกแล้วคุณขา คงต้องขอลาไปก่อนโดยไม่สรุป อ้อ นึกออกละ มันเกี่ยวตรงที่ถ้าคุณหัดใช้โหมดสโลว์โมชั่น
มันจะทำให้คุณตั้งสติได้ง่าย และการฝึกเทคนิค CBT
ทั้งสามอย่างข้างต้นนั้นด้วยตนเอง ก็จะสำเร็จ... แฮ้ จบบริบูรณ์แล้วคราวนี้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จม.จากผู้อ่าน 25 พย. 55
ขอบคุณมากเลยค่ะอาจารย์สำหรับคำตอบ เป็นประโยชน์กับหนูมากจริงๆค่ะ สบายใจค่ะกับคำตอบที่ได้รับเพราะอย่างน้อยๆก็รู้สึกว่ามีทางแก้ไขได้ แม้จะดูเหมือนไม่ง่าย ต้องใช้เวลาและการฝึกฝนตัวเอง แต่ก็สารภาพค่ะว่าแอบเครียดเล็กน้อยตอนอ่านวรรคแรกๆค่ะ ไม่คิดว่าเราจะเป็นโรคอย่างที่ว่า เพราะมีแผนว่าจะเรียนต่อสาขาหนึ่งซึ่งมีระบุว่าต้องไม่มีปัญหาทางจิตเวชขั้นรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง และหรือผู้อื่น แต่พออ่านจบก็หายเครียดค่ะ เพราะว่าอย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นมากเหมือนท่านอาจารย์หมอผู้หญิงคนนั้น แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะไม่ไปไหนเพราะความที่กลัวคน เพียงแต่มีปัญหาเวลาต้องเผชิญหน้ากับคน เพียงลำพัง เพราะมีเหงื่อตกผิดปกติเล็กน้อย แต่ตอนนี้ดีขึ้นหน่อยแล้วค่ะอาจารย์เพราะงานที่ทำอยู่ต้องมีการฟังลูกค้าอธิบาย ต้องมองตา มองหน้าผู้ป่วย เพื่อให้มีสมาธิในการฟัง เพื่อจะได้คอยอธิบายวิธีการปฏิบัติให้ลูกค้าฟังได้อย่างถูกต้อง สมาธิต้องมีเวลาทำงาน พยายามรู้ในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ณ ปัจจุบันมากขึ้น เรื่องปัญหาในการทำงานกับลูกค้าเริ่มน้อยลง แต่ยังติดเรื่องเวลาต้องพบปะพูดคุยกับคนอื่น
(แก้ตัวนิดนึงค่ะอาจารย์ หัวหน้าเป็นผู้หญิงค่ะ อิอิ)
แอบถามอีกนิดได้ไหมค่ะอาจารย์ อาการแบบนี้ มีสิทธิจะเรียนหมอได้ป่าวค่ะ แล้วก็อยากรู้ว่าจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาไหม ใช้เวลาในการรักษานานไหม ยาที่ใช้รักษามีผลข้างเคียงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไหม เช่น ทำให้ซึม ง่วงเป็นต้น
..................................
1. เป็นโรคปสด.ทุกชนิด รวมทั้งโรค SAD ถ้าอาการไม่รุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตปกติก็เรียนหมอได้ครับไม่มีกฎห้าม เพราะธรรมดาคนเป็นหมอก็ออกแนวปสด.อ่อนๆกันอยู่แล้ว (พูดเล่น) กรณีของคุณถ้าขยันฝึกตัวเอง หรือไปหาหมอแล้วขยันทำตัวตามที่หมอแนะนำก็หายและเรียนหมอได้แน่นอนครับ
2. เรื่องจะไปหาหมอดีไหม เมื่อไร ผมแนะนำให้คุณลองรักษาตัวเองดูก่อน ถ้าหายก็ไม่ต้องไปหาหมอ ถ้าไม่หายในเวลาอันควร เช่น 3 - 6 เดือน ก็ควรไปหาหมอจิตแพทย์
3. ยารักษาที่จิตแพทย์ใช้รักษาโรคนี้มีผลข้างเคียงบ้างเป็นธรรมดา แต่ประโยชน์ที่จะได้จากยาก็ยังคุ้มที่จะใช้ครับ
4. ระยะเวลาที่ใช้รักษาโรคนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนรักษาไม่ถึงเดือนก็หาย บางคนต้องรักษากันไปถึงต้องรักษากันตลอดชีวิต บางคนรักษาจนมีผัว เอ๊ย..ขอโทษ แต่งงานกับหมอคนรักษาไปก็มี (นี่พูดถึงคนไข้ฝรั่งนะ ไม่ใช่คนไข้ไทย)
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จม.จากผู้อ่าน 25 พย. 55
ขอบคุณมากเลยค่ะอาจารย์สำหรับคำตอบ เป็นประโยชน์กับหนูมากจริงๆค่ะ สบายใจค่ะกับคำตอบที่ได้รับเพราะอย่างน้อยๆก็รู้สึกว่ามีทางแก้ไขได้ แม้จะดูเหมือนไม่ง่าย ต้องใช้เวลาและการฝึกฝนตัวเอง แต่ก็สารภาพค่ะว่าแอบเครียดเล็กน้อยตอนอ่านวรรคแรกๆค่ะ ไม่คิดว่าเราจะเป็นโรคอย่างที่ว่า เพราะมีแผนว่าจะเรียนต่อสาขาหนึ่งซึ่งมีระบุว่าต้องไม่มีปัญหาทางจิตเวชขั้นรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง และหรือผู้อื่น แต่พออ่านจบก็หายเครียดค่ะ เพราะว่าอย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นมากเหมือนท่านอาจารย์หมอผู้หญิงคนนั้น แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะไม่ไปไหนเพราะความที่กลัวคน เพียงแต่มีปัญหาเวลาต้องเผชิญหน้ากับคน เพียงลำพัง เพราะมีเหงื่อตกผิดปกติเล็กน้อย แต่ตอนนี้ดีขึ้นหน่อยแล้วค่ะอาจารย์เพราะงานที่ทำอยู่ต้องมีการฟังลูกค้าอธิบาย ต้องมองตา มองหน้าผู้ป่วย เพื่อให้มีสมาธิในการฟัง เพื่อจะได้คอยอธิบายวิธีการปฏิบัติให้ลูกค้าฟังได้อย่างถูกต้อง สมาธิต้องมีเวลาทำงาน พยายามรู้ในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ณ ปัจจุบันมากขึ้น เรื่องปัญหาในการทำงานกับลูกค้าเริ่มน้อยลง แต่ยังติดเรื่องเวลาต้องพบปะพูดคุยกับคนอื่น
(แก้ตัวนิดนึงค่ะอาจารย์ หัวหน้าเป็นผู้หญิงค่ะ อิอิ)
แอบถามอีกนิดได้ไหมค่ะอาจารย์ อาการแบบนี้ มีสิทธิจะเรียนหมอได้ป่าวค่ะ แล้วก็อยากรู้ว่าจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาไหม ใช้เวลาในการรักษานานไหม ยาที่ใช้รักษามีผลข้างเคียงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไหม เช่น ทำให้ซึม ง่วงเป็นต้น
..................................
ตอบครับ (ครั้งที่ 2)
1. เป็นโรคปสด.ทุกชนิด รวมทั้งโรค SAD ถ้าอาการไม่รุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตปกติก็เรียนหมอได้ครับไม่มีกฎห้าม เพราะธรรมดาคนเป็นหมอก็ออกแนวปสด.อ่อนๆกันอยู่แล้ว (พูดเล่น) กรณีของคุณถ้าขยันฝึกตัวเอง หรือไปหาหมอแล้วขยันทำตัวตามที่หมอแนะนำก็หายและเรียนหมอได้แน่นอนครับ
2. เรื่องจะไปหาหมอดีไหม เมื่อไร ผมแนะนำให้คุณลองรักษาตัวเองดูก่อน ถ้าหายก็ไม่ต้องไปหาหมอ ถ้าไม่หายในเวลาอันควร เช่น 3 - 6 เดือน ก็ควรไปหาหมอจิตแพทย์
3. ยารักษาที่จิตแพทย์ใช้รักษาโรคนี้มีผลข้างเคียงบ้างเป็นธรรมดา แต่ประโยชน์ที่จะได้จากยาก็ยังคุ้มที่จะใช้ครับ
4. ระยะเวลาที่ใช้รักษาโรคนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนรักษาไม่ถึงเดือนก็หาย บางคนต้องรักษากันไปถึงต้องรักษากันตลอดชีวิต บางคนรักษาจนมีผัว เอ๊ย..ขอโทษ แต่งงานกับหมอคนรักษาไปก็มี (นี่พูดถึงคนไข้ฝรั่งนะ ไม่ใช่คนไข้ไทย)
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์