ความดันเลือดสูงในคนอายุน้อย (29 ปี)
ผมอายุ
29 ปีครับ
เพิ่งตรวจพบว่าเป็นความดันสูงวันที่15 ตุลาคม
ครับแล้วหมอนัดให้ไปรับยาวันที่ 22ตุลาครับ
จนถึงวันนี้ผมทานยาทุกวันครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารก็จะมีอาการมึนหัว
จนตอนนี้ทานไป 21 วันก็ยังมึนหัวอยู่ครับ ไม่รู้สาเหตุมาจากอะไรครับ
เคยโทรไปถามห้องยาของโรงพยาบาล เค้าบอกว่าห้ามหยุดยาเองครับ แล้วผมมีอาการใจเต้นเร็วไม่ทราบว่าเป็นเพราะเครียดหรือเปล่าครับ
น้ำหนัก
99 กิโลครับ สูง176 เซนติเมตร ทำงานเป็นพนักงานขายของหน้าร้านครับ
ช่วงหลังไม่ค่อยได้ออกกำลังกายครับ แต่ช่วงที่เป็นใหม่ตอนนั้นหนัก 108 กิโลครับ
ก่อนที่จะตรวจเจอความดันผมเป็นไข้เจ็บคอคุณหมอให้ยาแก้อักเสบมาทานก็หาย
แล้วถัดมาอีกหนึ่งวันผมมีอาการร้อนวาบๆในตัวเหงื่อแตกมากรู้สึกหายใจไม่เต็มปอดเหมือนจะหยุดหายใจแล้วรู้สึกใจสั่นๆ
พอไปหาคุณหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นความดันครับให้ยามา 40 เม็ดแล้วนัดอีกที
30 พ.ย. นี้ครับ
อาหารก็จะทานพวกก๋วยเตี๋ยวกับข้าวเหนียวเนื้อย่างครับ
............................................
ตอบครับ
1.. ทานยาลดความดันแล้วมึนหัว
ถามว่าเกิดจากอะไร ตอบว่าก็เกิดจากยาลดความดันนั่นแหละครับ
เป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการใช้ยาลดความดัน
ขณะเดียวกันก็อาจบ่งบอกว่ายาทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเวียนในร่างกายลดลงมากเกินไป
พูดง่ายๆว่ายาอาจจะมากไปก็ได้ ซึ่งจะพิสูจน์ได้โดยการวัดความดันบ่อยๆ
หากความดันออกไปทางต่ำมากเกินไป ก็ต้องปรับลดยา
2.. น้ำหนัก 99 กก. สูง 176 กก. เท่ากับมีดัชนีมวลกาย 31.9 ซึ่งมากเกินเกณฑ์คนน้ำหนักเกิน (25-29.9) เข้าไปอยู่ในเขตของคนเป็น
“โรคอ้วน” ไปแล้ว การเป็นโรคอ้วนเพียงอย่างเดียว
ก็เป็นสาเหตุทั้งหมดของความดันเลือดสูงได้แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องทำอะไรมากเลย
ลดน้ำหนักลงมาสัก 20 กก. รับประกันความดันเลือดสูงหายเป็นปลิดทิ้ง
เพราะข้อมูลจากการลดความดันด้วยวิธีลดน้ำหนักพบว่าหากลดน้ำหนักได้ 10 กก. ความดันตัวบนจะลดลงมาได้มากถึง 20 มม. ดังนั้นก่อนที่จะวินิจฉัยหรือรักษาต่อให้วุ่นวาย คุณลดน้ำหนักก่อนเลยครับ ไม่มีอะไรเสีย
มีแต่ได้
3.. การวินิจฉัยความดันเลือดสูงเป็นเรื่องที่ต้องพิถีพิถันพอสมควร
เพราะคนไข้ไปโรงพยาบาลเห็นหน้าหมอแล้วความดันขึ้นทุกคนไม่ว่าหมอจะหล่อจะสวยหรือพูดเพราะอย่างไรก็ตาม
ไปรพ.เอกชนความดันขึ้นเพราะเสียเงินแพง ไปรพ.ของรัฐความดันขึ้นเพราะรอนาน (แหะ..แหะ พูดเล่นนะครับ
เรื่องความดันขึ้นเพราะเห็นหน้าหมอนี้จริงๆแล้ววงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ
ได้แต่เหมาโหลเรียกว่า “โรคความดันสูงเพราะเสื้อกาวน์ (white coat
hypertension)" ดังนั้นการที่หมอกับคนไข้เจอหน้ากันครั้งเดียวแล้ววินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันสูงเลยอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
สำหรับท่านที่ถูกหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง ก่อนจะเริ่มยากิน
ผมแนะนำให้ควักกระเป๋าซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติราคาไม่กี่พันบาทไปวัดตัวเองที่บ้าน
วัดวันละหลายๆครั้ง สัปดาห์ละหลายๆวัน นานสักสองสัปดาห์ จดเป็นตารางลงกระดาษไว้
ถ้าความดันส่วนใหญ่มันโผล่ไปทางสูง (เกิน 140/90) จึงค่อยกลับไปหาหมอแล้วเอาที่จดไว้นี้ให้หมอดู
แต่ถ้าวัดทีไรก็ต่ำกว่า 140/90 ทุกที อย่างนี้ไม่ต้องไปหาหมอหรอกครับ
แล้วไม่ต้องกลัวว่าเครื่องที่ว่านี้จะหลอกเอาด้วย เพราะที่โรงพยาบาลสมัยนี้ก็ใช้เครื่องแบบเดียวกันนี้แหละ ยี่ห้อที่ใช้กันมากและเชื่อถือได้คือยี่ห้อ OMRON (โฆษณาให้ซะเลย)
4.. การเป็นความดันเลือดสูงตั้งแต่อายุยังน้อย
เป็นเรื่องซีเรียส เพราะมันบ่งบอกว่าท้ายที่สุดแล้วมักไม่ใช่ความดันสูงแบบทั่วไป (primary
hypertension) แต่มักจะเป็นความดันสูงชนิดที่เกิดตามหลังโรคที่ซีเรียสอื่นๆ
(secondary hypertension) เช่น
4.1 เป็นโรคของเนื้อไต
เช่นไตอักเสบ (glomerulonephritis)
4.2 หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ
(renal artery stenosis)
4.3 หลอดเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจคอด
(coarctation of aorta)
4.4 เนื้องอกต่อมหมวกไตปล่อยฮอร์โมนบีบหลอดเลือด
(pheochromocytoma)
ซึ่งแต่ละโรคถ้าทิ้งไว้ก็ล้วนแรงๆระดับทำให้ไม่ได้ตายดีทั้งสิ้น
คนอายุน้อยที่มีความดันสูงจึงต้องสืบค้นจนแน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคทั้งสี่โรคดังกล่าวก่อน
ก่อนที่จะเอ้อระเหยลอยชายกินแต่ยาลดความดันเหมือนคนสูงอายุทั่วไป การจะนับว่าเมื่อไรเป็นคนอายุน้อย
อันนี้ก็เป็นอะไรที่ดิ้นได้ไม่มีมาตรฐานชัดเจน ถ้าจะถือคอนเซ็พท์คลาสสิกเลยก็คือมีความดันสูงเมื่ออายุต่ำกว่า
40
ปีถือว่าเป็นความดันสูงตั้งแต่อายุน้อย แต่ปัจจุบันนี้เด็กวัยรุ่นทั่วโลกแข่งกันอ้วนเอาๆและความดันก็สูงขึ้นๆโดยที่ไม่มีสาเหตุซีเรียสทั้งหลายทั้งแหล่ที่ผมลิสต์ไว้ข้างบน
บางสถาบันจึงร่นอายุที่จะสืบค้นหาสาเหตุลงไปเรื่อยๆๆ
จนเดี๋ยวนี้บางแห่งเช่นที่คลิฟแลนด์คลินิกร่นอายุลงไปถึง 25 ปี
เรียกว่ามาตรฐานเรื่องอายุแค่ไหนคือน้อยนี้ไม่มีอายุที่ตกลงได้เป็นสากล หมอคนไหนจะยึดอายุเท่าไหร่ก็ตัวใครตัวมัน
สำหรับตัวผมเองใช้หลักปลอดภัยไว้ก่อนคือถ้าอายุน้อยกว่า 40 ปีแล้วมีความดันสูง
ก็จะเกลี้ยกล่อมให้คนไข้ยอมให้สืบค้นสาเหตุให้ละเอียดทุกราย วิธีสืบค้นก็คือต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อน
ตรวจร่างกายแล้วหมอที่ใจเย็นนิยมใช้วิธีเจาะเลือดดูการทำงานของไตและดูฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องเช่น
(1) rennin (บอกว่ามีหลอดเลือดที่ไตตีบ)
(2) aldosterone (บอกว่าเป็นโรคความดันสูงจากต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนนี้มาก
หรือโรค hyperaldosteronism) (3) catecholamine (บอกว่ามีเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด pheochromocytoma) เจาะแล้วถ้าหากพบว่ามีตัวไหนผิดปกติให้ชวนสงสัยก็ค่อยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กชนิดมองเห็นหลอดเลือด (CTA หรือ MRA) เพื่อวินิจฉัยว่าเป็น รอยคอดของหลอดเลือดใหญ่ (coarctation) หรือรอยตีบของหลอดเลือดที่ไต (renal
artery) หรือเนื้องอกต่อหมวกไต หรือโรคของเนื้อได (ทราบจากขนาดของไตว่าเล็กลงกว่าปกติ) แต่ถ้าเป็นหมอที่ใจร้อนหรือชอบของแพงก็จะให้ตรวจเอ็กซเรย์ CTA หรือ MRA
ไปก่อน
หากพบอะไรผิดปกติก็ค่อยมาเจาะเลือดดูฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทีหลัง
สุดแล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มัน
5. เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นความดันเลือดสูงจริง
และสืบค้นแล้วไม่ได้เป็นโรคทั้งสี่ข้างต้นด้วย ก่อนที่จะลงมือทานยาลดความดัน
ควรจะใช้เวลาสัก 3-6 เดือนลดความดันเลือดด้วยวิธีไม่ใช้ยาดูก่อน
ดังนี้
5.1 ถ้าอ้วนให้ลดน้ำหนัก
อย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าลดน้ำหนักได้ 10 กก. จะลดความดันตัวบนลงได้ถึง 20 มม. ผมเคยเขียนเรื่องการลดความอ้วนไปแล้วหลายครั้งในบล็อกนี้ ลองหาอ่านดู
5.2 ปรับโภชนาการ ทานอาหารที่มีไขมันต่ำมีแคลอรี่ต่ำและมีผักและผลไม้มากๆ ทานมังสะวิรัติเลยได้ยิ่งดี จะลดความดันได้ถึง 15 มม. สูตรอาหารที่ลดความดันได้ดีเรียกว่า
DASH diet ซึ่งก็คือมังสะวิรัติ (ที่เน้นถั่วกับผลเปลือกแข็ง หรือ nuts และเมล็ดหรือ seeds) บวกปลาและอาหารทะเล บวกนมไร้ไขมัน
สูตรอาหารของคุณที่ว่าทานพวกก๋วยเตี๋ยวกับข้าวเหนียวหมูปิ้งนั้น เป็นสูตรพิมพ์นิยมของคนไทยวัยทำงาน ผมตั้งชื่อว่าเป็นสูตร "Thai High Carb" คือสาระพัดอาหารจานเดียวรวมทั้งก๋วยเตี๋ยวและผัดราดข้าวแบบเอาง่ายเข้าว่าที่ให้พลังงานสูงมากโดยที่พลังงานมาจากคาร์โบไฮเดรตและน้ำมันที่ใช้ผัดทอดเป็นพื้น เป็นสูตรอาหารที่เห่ยและมีแต่จะก่อโรคให้คุณไม่สิ้นสุด คุณควรจะเปลี่ยนเสีย ผมแนะนำให้ไปทานแบบ DASH ดีที่สุด
5.3 ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน
คือออกจนเหนื่อยหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้อยู่นาน 30 นาทีสัปดาห์ละ
5 ครั้ง จะลดความดันได้ถึง 9 มม.
5.4 ลดเกลือในอาหารลงให้เหลือระดับจืดสนิทจะลดความดันลงได้ถึง
8 มม.
5.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่มากกว่าวันละสองดริ๊งค์
ให้ลดหรือเลิกจะลดความดันลงได้ถึง 4 มม.
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์