MBCT รักษาโรคซึมเศร้าชนิดกลับเป็นซ้ำ
เรียน คุณหมอสันต์ครับ
ผมแอบติดตามอ่านบล็อกของคุณหมอมานานมาก
แรกๆก็อ่านเพราะชอบใจที่คุณหมออัดพวกการแพทย์ทางเลือกเอาตรงๆอย่างไม่เกรงใจเช่นพวกสวนทวารล้างพิษเป็นต้น
แต่ต่อมาก็อ่านเพราะชอบความลึกของเนื้อหาในทุกเรื่องที่คุณหมอตอบ ที่เขียนมาครั้งนี้เพราะเพิ่งกลับจากพบกับจิตแพทย์แล้วมีความรู้สึกข้องใจ
คือผมเป็นโรค Major depression รักษามานานหลายปี
หยุดยาไปได้เป็นบางช่วงแล้วก็กลับเป็นอีก ผมเคยเอาไอเดียที่คุณหมอเคยเขียนแนะนำคนอื่นที่ซึมเศร้าให้ไปเสาะหาการรักษาแบบ
cognitive behavior therapy หรือ CBT ผมได้เอาเรื่องนี้ไปปรึกษาจิตแพทย์ที่รักษาผมอยู่
แต่ก็ได้รับคำตอบจากจิตแพทย์ว่าการที่ท่านคุยกับผมแต่ละครั้งนั้นเป็น CBT อยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันเหมือนการคุยกันธรรมดาๆ
ไปไหนมาสามวาสองศอกมากกว่า มีหยอกล้อกันแก้เครียดบ้าง ช่วงไหนที่ผมบ่นหนัก
หมอก็จะจ่ายยามากขึ้นหรือหนักขึ้น ผมอยากรบกวนถามคุณหมอสันต์ว่า CBT จริงๆนั้นมันมีหลักการอย่างไร เขาทำกันอย่างไร เราจะทำเองได้หรือเปล่า และในคนที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบเป็นแล้วเป็นอีกอย่างผมนี้
มันมีวิธีรักษาอย่างอื่นอะไรอีกบ้าง หรือว่าต้องกินยาแก้ซึมเศร้าไปตลอดชีวิตเท่านั้น
เพราะผมกินยามาตอนนี้ได้ห้าปีแล้ว (ตอนนี้ผมกินยาอยู่ทั้งหมดสี่ตัว ทุกตัวได้มาจากจิตแพทย์ทั้งหมด)
........................................
ตอบครับ
ก่อนจะอ่านคำตอบผม โปรดอย่าลืมว่าผมไม่ได้เป็นจิตแพทย์นะครับ
ไม่ได้มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตเวชเลย คำตอบของผมเป็นเพียงคำตอบของแพทย์ประจำครอบครัว (family
physician) ซึ่งมีความรู้จำกัดอยู่เฉพาะหลักจิตเวชเบื้องต้นพอให้แยกแยะได้ว่าคนไข้คนไหนต้องไปพบจิตแพทย์เมื่อใด
ดังนั้นอย่าเอาคำตอบผิวๆของผมไปคัดง้างกับความเห็นของจิตแพทย์ซึ่งเกิดจากการได้สัมภาษณ์ซักประวัติคุณและได้ติดตามดูแลรักษาคุณมานานหลายปี
มันเทียบกันไม่ได้ประหนึ่งจะเทียบไก่กับหมานั่นเทียว
พูดมาถึงตรงนี้อยากเล่าอะไรให้ฟัง ประสบการณ์ครั้งสุดท้ายที่ผมมีกับคนไข้จิตเวชคือสมัยที่ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่รพ.สมเด็จเจ้าพระยา
ซึ่งสมัยโน้นรู้จักกันดีในนามรพ.ปากคลองสานหรือรพ.หลังคาแดง คือเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2523
วันแรกที่หมุนเวียนไปถึงกว่าจะไปรายงานตัวได้ก็เกือบเย็นเพราะงานเก่าที่รพ.ราชวิถีมีลูกติดพันต้องช่วยผ่าตัดมะรุมมะตุ้มโต้รุ่งกันอุตลุต
พอรายงานตัวเสร็จก็เข้าหอนอนแล้วหลับปุ๋ยไปยาวจนถึงรุ่งเช้าวันใหม่
ตื่นขึ้นมาจะไปออกโอพีดี.ตามที่อาจารย์ท่านนัดหมายไว้ แต่หารองเท้าไม่เจอ เพื่อนหมออินเทอร์นคนอื่นก็มีปัญหาเดียวกันคือหารองเท้าไม่เจอ
แต่ก็ต้องรีบไปกินข้าวเพราะถ้าไม่รีบกินที่นั่นเขาจะเก็บข้าวกลับก่อนแปดโมงซึ่งเป็นเวลาที่แม่บ้านเวรดึกจะลงเวร
พอไปถึงห้องกินข้าวเพื่อนคนหนึ่งไปเปิดตู้เย็น
จึงพบว่ารองเท้าของพวกเราเป็นสิบคู่อัดกันอยู่ในตู้เย็นนั่นเอง การรับน้องใหม่ของคนไข้หลังคาแดงครั้งนั้น
ผมยังประทับใจจำได้ไม่เคยลืม
ไหนๆเล่าถึงชีวิตในช่วงนี้แล้วขอเล่าต่ออีกหน่อย สมัยโน้นการรักษาคนไข้ด้วยการช็อกสมองด้วยไฟฟ้าให้คนไข้ชักแด๊กๆ (electroconvulsion
therapy - ECT) เป็นมาตรฐานการรักษาโรคจิตเภทที่อาการกำเริบ
มีคนไข้รอช็อกไฟฟ้าแยะแต่มีเครื่องช็อกเครื่องเดียว ก่อนที่ผมจะไปอินเทอร์นที่ปากคลองสานมีอินเทอร์นรุ่นพี่คนหนึ่งได้ประดิษฐ์เครื่องช็อกสมองด้วยไฟฟ้าแบบไทยทำขึ้น เป็นกล่องเล็กๆเท่าแบตเตอรี่รถยนต์
แล้วเอาทดลองช็อกกับแมว ปรากฏว่าได้ผลดีแฮะ คือแมวร้องฟ้าววว..ว แล้วชักแด๊กๆ แล้วฟื้นขึ้นมา แปลว่าไม่ตาย
(แต่ไม่ได้ประเมินว่าแมวหายบ้าหรือบ้ามากขึ้น หิ หิ.. พูดเล่น) แล้วอาจารย์ก็อนุญาตให้เอาทดลองใช้กับคนไข้ได้
เพราะว่าสมัยโน้นไม่มีธรรมเนียมว่าต้องมีกรรมการวิจัยอะไรให้ยุ่งยาก
เมื่อมีเครื่องช็อกสมองมากขึ้น กิจกรรมช็อกสมองก็เป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น
ช็อกกันทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ใครบ้าจับช็อก ใครซ่าจับช็อก (พูดเล่นนะครับ
เกณฑ์ที่จะช็อกคืออาการทางจิตเลวลงโดยไม่สนองตอบต่อยาและการรักษาแบบอื่น) คนไข้ของผมคนหนึ่งแกออกอาการอยู่ไม่สุขเอามากๆ
อยู่ๆตื่นเช้าแกก็ขึ้นไปปราศรัยกับฝูงชนเสียงดังก้องอยู่บนยอดต้นไม้สูงลิบ เดือนร้อนต้องติดต่อกทม.เอารถกระเช้าดับเพลิงมารับท่านลงมา
ขณะอยู่ในกระเช้าดับเพลิงท่านก็ยังกางมือกางไม้ตะโกนปราศัยกับฝูงชน พอลงถึงพื้นแกดิ้นไม่หยุด
อาจารย์พยักหน้าว่าคงต้องช็อกไฟฟ้า ผมกับบุรุษพยาบาลก็ช่วยกันปล้ำเพื่อจับแกฉีดยาเพื่อให้สงบพอที่จะช็อกไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย
พอรุ่งเช้าผมไปเยี่ยมแกที่เตียง แกเล่าให้ฟังว่า
“...คณะทหาร จับผมไปประหารด้วยไฟฟ้า”
ขอโทษครับ นอกเรื่องไปยาวแล้ว กลับมาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1.. ถามว่าการสอนให้คิดใหม่ทำใหม่ (CBT) เขาทำกันอย่างไร
ตอบว่าคุณต้องเข้าใจพัฒนาการของ CBT ซึ่งมีรากมาจากการรักษาสองแบบเอามารวมกัน
คือ
1.1 พฤติกรรมบำบัด (behavior therapy) หมายความว่าสอนให้เปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนเราฝึกหมายังไงยังงั้น โดยวิธีสร้างเงื่อนไขสองอย่างให้ผูกด้วยกันเพื่อให้เรียนรู้ความเชื่อมโยง
เช่นจะฝึกหมาให้รู้ว่าเราเรียกมากินข้าวก็สั่นกระดิ่งก่อนให้ข้าวทุกครั้ง
หลังจากนั้นไม่นานพอได้ยินเสียงกระดิ่งหมาก็วิ่งมาน้ำลายสอรออยู่แล้วเพราะเรียนรู้แล้วว่าเสียงแบบนี้งานนี้ได้กินแน่
ควบกับวิธีให้รางวัลและลงโทษ ในการนำมาใช้ในคนก็ต้องวิเคราะห์ว่าจะลบพฤติกรรมอะไร
สร้างพฤติกรรมอะไรแทน จะผูกเงื่อนไขเอาอะไร (ที่คนไข้ไม่ชอบ) ให้มาเกิดพร้อมกับพฤติกรรมที่อยากจะลบทิ้ง เช่นเอาบรเพ็ดทามือเด็กที่ชอบดูดนิ้ว
และจะผูกเงื่อนไขอะไร (ที่คนไข้ชอบ) ให้มาเกิดพร้อมกันหรือไล่ๆกับพฤติกรรมที่อยากให้เกิดใหม่
1.2 การสอนให้คิดใหม่ (cognitive therapy) เป็นการสอนแบบประกบพูดคุยให้หัดเลิกคิดลบมาคิดบวกแทน
โดยวิธีให้ผู้รักษาพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ เช่น
ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อที่มีมาแต่เดิมนั้นไม่จริง หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อหรือสมมุติฐานเดิมในใจของคนไข้นั้นผิด
เมื่อความเชื่อสั่นคลอน คนไข้ก็โน้มเอียงจะเปลี่ยนความคิดได้
เมื่อเอาทั้งสองวิธีมารวมกันก็กลายเป็น CBT ตามทฤษฏีแบบคลาสสิกเลยต้องทำ 6 ขั้นตอน คือ
(1) ประเมิน (2) ตั้งกรอบความคิดใหม่ หรือ re-conceptualization
(3) สร้างทักษะ (4) ฝึกทักษะซ้ำจนมั่นคง (5)
ติดตามดู (6) ประเมินผล ซึ่งในความเป็นจริงเทคนิคที่ใช้มีสารพัดตั้งแต่หัดให้สอนตัวเอง
เช่นฝึกหันเหความสนใจ (เพื่อไม่ให้กลัว) ฝึกจินตนาการ (ว่าเราไม่กลัวมัน) ให้ทำการบ้าน (เช่นกลัวคนแปลกหน้าก็ให้ไปพูดกับคนแปลกหน้าหนึ่งคนก่อนมาพบหมอ) ไปจนถึงใช้เครื่องวัดการทำงานของร่างกายช่วยบอกให้รู้ตัวว่ากำลังเครียดหรือกำลังกลัวหรือกำลังผ่อนคลาย (biofeedback) เป็นต้น
2.. ถามว่า CBT ทำเองได้หรือเปล่า ตอบว่าได้สิครับ
ความจริงเขาออกแบบมาให้คนไข้ทำเอง
เพียงแต่ผู้รักษาเป็นผู้ช่วยอยู่ห่างๆแบบไม่แอคทีฟ
ถ้าผู้รักษาเข้ามาบงการนั่นก็ไม่ใช่ CBT แล้ว
3.. ถามว่าโรคซึมเศร้าแบบกลับเป็นอีก มีวิธีรักษาอย่างอื่นอะไรอีกบ้าง ตอบว่างานวิจัยใหม่ๆเรื่องการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ของโรคซึมเศร้า วิธีที่มาแรงที่สุดคือการรักษาแบบสอนให้คิดใหม่ที่มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ตัว (mindfulness-based cognitive therapy หรือ MBCT) คือจาก CBT เดิมแต่ตัดเรื่องพฤติกรรมบำบัดออกทิ้งไป
แล้วเพิ่มเทคนิคการตามรู้ความคิดและความรู้สึก (recall) และการมีความรู้ตัวอยู่
ณ ปัจจุบัน (self awareness) ด้วยวิธีนั่งสมาธิหลับตา (meditation) เข้ามาช่วยการยุติความคิดเก่าที่ไม่ดี งานวิจัยใหม่ๆ ที่ทะยอยตีพิมพ์ในระยะสามสี่ปีมานี้พิสูจน์ได้ว่า
MBCT ป้องกันการกลับซึมเศร้าได้ดีอย่างน้อยเท่ากับการกินยาต้านซึมเศร้าแบบต่อเนื่อง แต่มีความคุ้มค่า (cost effective) มากกว่าการใช้ยาในระยะยาว
เรื่องนี้ส่วนใหญ่ทั้งหมอและทั้งคนไข้ฝรั่งจะเป็นว้าว ตื่นเต้น อยากลอง แต่กับคนไข้ไทยไม่ค่อยได้ผล
เพราะพอผมอ้าปากพูดนิดเดียวคนไข้ก็จะขัดคอว่า
“หมอจะให้อิฉันไปเดินจงกรมหรือคะ ไม่เอาอะ ขอกินยาดีกว่า”
ทั้งหมดนี้ผมก็ทำได้แค่เล่าผลวิจัยทางการแพทย์ให้ฟัง
ส่วนคุณจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไหนก็คงจะสุดแล้วแต่บุญกรรมละมังครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Kuyken W, Byford S, Taylor RS, Watkins E, Holden E, White K, Barrett B, Byng R, Evans A, Mullan E, Teasdale JD.
Mindfulness-based cognitive therapy to
prevent relapse in recurrent depression. J Consult Clin
Psychol. 2008 Dec;76(6):966-78.
2.
Kuyken W, Byford S, Byng R, Dalgleish T, Lewis G, Taylor R,
Watkins ER, Hayes R, Lanham P, Kessler D, et al. Study protocol for a
randomized controlled trial comparing mindfulness-based cognitive therapy with
maintenance anti-depressant treatment in the prevention of depressive
relapse/recurrence: the PREVENT trial. Trials. 2010 Oct 20; 11:99. Epub 2010 Oct 20.
3.
Piet J, Hougaard E.The effect of mindfulness-based cognitive
therapy for prevention of relapse in recurrent major depressive disorder: a
systematic review and meta-analysis.
Clin Psychol Rev. 2011 Aug; 31(6):1032-40. Epub
2011 May 15.
4.
Sipe WE, Eisendrath SJ.
Mindfulness-based cognitive therapy:
theory and practice. Can J
Psychiatry. 2012 Feb;57(2):63-9.