นักรังสีการแพทย์เป็นมะเร็งไทรอยด์
เรียนท่านอาจารย์สันต์
ใจยอดศิลป์ ที่เคารพ
ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนนะครับ...ผมชื่อนาย ....ทำงานเป็นนักรังสีการแพทย์ ที่สาขารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์..... ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ...
ขณะนี้รุ่นพี่ที่ทำงานที่เดียวกัน ป่วยเป็น CA Thyroid ชนิด papillary และตอนนี้รุ่นพี่ผมเครียดมาก กล้วไม่หาย ซึ่งพี่เค้ามีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงานและภาระทางบ้าน ผมเองก้อไม่มีความรู้อะไรเลย วันนี้เลยเปิดเวปไซต์ดู เห็นข้อความของอาจารย์น่าสนใจและเป็นความรู้ที่ดีมาก ผมเลยส่งจดหมายนี้มาขอความรู้เพิ่มเติมอีกสักนิดหนึ่ง จะได้คุยให้พี่เขาได้สบายใจน่ะครับ
ข้อมูลส่วนตัวของพี่เขานะครับ พี่เขาชื่อ.... อายุ 33 ปี เป็นคนรูปร่างอ้วนประมาณเจ้าเนื้อน่ะครับ ตอนแรกพี่เขาคลำได้ก้อนที่คอ แต่เนื่องจากพี่เขาเจ้าเนื้ออยู่แล้ว จึงเพิ่งรู้สึกถึงความแตกต่าง ไปทำ biopsy ได้เป็น carcinoma ครับ ตัวผมเองก็ไม่ได้สนิทกับพี่เขาเลยไม่ได้ถามละเอียดนะครับ แต่สนิทกับแฟนพี่เขาซึ่งก็ทำงานที่เดียวกันครับ ตอนนี้ผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ เท่าที่คุยกันเหมือนว่าหมอเขาตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งไปข้างเดียวครับ และขณะที่ผมพิมพ์อยู่นี้ พี่ที่เป็นแฟนเขาบอกว่าพรุ่งนี้ หมอจะให้ไปกลืนแร่นะครับ ซึ่งพี่สาวที่เป็นแฟนก็ไม่รู้รายละเอียดมาก แต่ผมเดาว่าน่าจะเป็นกลืนไอโอดีน 131 เพื่อตรวจหาเชื้อของ CA Thyroid ที่เหลืออยู่หรือเปล่า อะไรทำนองนี้นะครับ
ที่ผมอยากรบกวนอาจารย์ก็คือ
1 โอกาสพี่เค้าจะหายมีมากประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ครับจะได้แนะนำพี่เขาถูก
2 ในฐานะที่ผมเป็นน้องที่ทำงาน และเหมือนเป็นกึ่งๆญาติคนไข้ อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยนะครับว่า ผมควรพูดแนะนำอะไรพี่เขาได้บ้าง เผื่อเรื่องไหนที่ไม่ควรพูดจะได้บอกผ่านพี่แฟนเขาแทนนะครับ
3 อยากขอความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ขั้นตอนการรักษาโดยทั่วไป การแนะนำการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง
4 สุดท้ายขอคำแนะนำที่เหมาะสมที่อาจารย์เห็นควรเพิ่มเติมด้วยนะครับ
ขอขอบคุณอาจารย์สันต์เป็นอย่างสูงไว้นะที่นี้ด้วยนะครับ
ขอให้อาจารย์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยนะครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนนะครับ...ผมชื่อนาย ....ทำงานเป็นนักรังสีการแพทย์ ที่สาขารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์..... ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ...
ขณะนี้รุ่นพี่ที่ทำงานที่เดียวกัน ป่วยเป็น CA Thyroid ชนิด papillary และตอนนี้รุ่นพี่ผมเครียดมาก กล้วไม่หาย ซึ่งพี่เค้ามีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงานและภาระทางบ้าน ผมเองก้อไม่มีความรู้อะไรเลย วันนี้เลยเปิดเวปไซต์ดู เห็นข้อความของอาจารย์น่าสนใจและเป็นความรู้ที่ดีมาก ผมเลยส่งจดหมายนี้มาขอความรู้เพิ่มเติมอีกสักนิดหนึ่ง จะได้คุยให้พี่เขาได้สบายใจน่ะครับ
ข้อมูลส่วนตัวของพี่เขานะครับ พี่เขาชื่อ.... อายุ 33 ปี เป็นคนรูปร่างอ้วนประมาณเจ้าเนื้อน่ะครับ ตอนแรกพี่เขาคลำได้ก้อนที่คอ แต่เนื่องจากพี่เขาเจ้าเนื้ออยู่แล้ว จึงเพิ่งรู้สึกถึงความแตกต่าง ไปทำ biopsy ได้เป็น carcinoma ครับ ตัวผมเองก็ไม่ได้สนิทกับพี่เขาเลยไม่ได้ถามละเอียดนะครับ แต่สนิทกับแฟนพี่เขาซึ่งก็ทำงานที่เดียวกันครับ ตอนนี้ผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ เท่าที่คุยกันเหมือนว่าหมอเขาตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งไปข้างเดียวครับ และขณะที่ผมพิมพ์อยู่นี้ พี่ที่เป็นแฟนเขาบอกว่าพรุ่งนี้ หมอจะให้ไปกลืนแร่นะครับ ซึ่งพี่สาวที่เป็นแฟนก็ไม่รู้รายละเอียดมาก แต่ผมเดาว่าน่าจะเป็นกลืนไอโอดีน 131 เพื่อตรวจหาเชื้อของ CA Thyroid ที่เหลืออยู่หรือเปล่า อะไรทำนองนี้นะครับ
ที่ผมอยากรบกวนอาจารย์ก็คือ
1 โอกาสพี่เค้าจะหายมีมากประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ครับจะได้แนะนำพี่เขาถูก
2 ในฐานะที่ผมเป็นน้องที่ทำงาน และเหมือนเป็นกึ่งๆญาติคนไข้ อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยนะครับว่า ผมควรพูดแนะนำอะไรพี่เขาได้บ้าง เผื่อเรื่องไหนที่ไม่ควรพูดจะได้บอกผ่านพี่แฟนเขาแทนนะครับ
3 อยากขอความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ขั้นตอนการรักษาโดยทั่วไป การแนะนำการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง
4 สุดท้ายขอคำแนะนำที่เหมาะสมที่อาจารย์เห็นควรเพิ่มเติมด้วยนะครับ
ขอขอบคุณอาจารย์สันต์เป็นอย่างสูงไว้นะที่นี้ด้วยนะครับ
ขอให้อาจารย์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยนะครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
...............................................
ตอบครับ
จดหมายของคุณมันช่างเต็มไปด้วยความเคารพมากเสียจริงๆ
จนผมงงตัวเองว่านี่ตูเป็นใครกันวะเนี่ย ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ครับ เดี๋ยวผมจะเผลอนึกว่าตัวผมเป็นนักการเมือง
เอาแบบกันเองดีกว่า ผมชอบแบบกันเองแม้กับคนไข้ทุกคน
อย่าว่าแต่กับคนทำงานสายวิชาชีพเดียวกันอย่างคุณเลย ด้วยความเคารพนะครับท่านประธาน อ้าว..ผมชักจะติดเคารพของคุณเสียแล้วเนี่ย เห็นแมะ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1.. ถามว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด papillary Ca มีโอกาสโอกาสหายกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าประมาณ 90-100% ครับ
ยิ่งอายุน้อยอย่างพี่เลิฟของคุณนี้ ยิ่งมีอากาสหายใกล้ไปทาง 100%
2.. ถามว่าน้องเลิฟควรจะพูดกับพี่ที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างไรดี
ตอบว่าหลักการสื่อสารกับผู้ป่วยมะเร็งที่ดี ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดมีดังนี้
2.1 ธำรงรักษากิจกรรมที่เคยทำด้วยกัน
สนุกด้วยกันไว้ เคยทำอะไรด้วยกันอย่างไร
ก็ทำอย่างนั้นต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าพูดถึงการเจ็บป่วยเมื่อผู้ป่วยไม่ได้ชวนให้พูดถึง
การเปิดช่องให้ผู้ป่วยมะเร็งได้มีโอกาสสัมพันธ์กับคนอื่นแบบปกติและใช้ชีวิตเยี่ยงคนทั่วไป
เป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาโรคนี้
ถ้าเป็นมะเร็งชนิดเบาที่มีการพยากรณ์โรคดีเช่นมะเร็งต่อมไทรอยด์นี้
ก็บอกอัตราการหายหรืออัตราการรอดชีวิตเป็นตัวเลขของจริงไปเลย
ถ้าเป็นมะเร็งชนิดหนัก
เช่นมะเร็งตับมะเร็งปอด ก็พูดถึงธรรมชาติของโรคมะเร็ง ว่าแท้จริงแล้วก็คือโรคที่ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ถ้าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง ก็เก็บเซลมะเร็งได้หมด ก็หายได้ (มะเร็งทุกชนิดหายได้จริงๆ
จะหายเป็นเปอร์เซ็นต์มากบ้างน้อยบ้างก็สุดแล้วแต่ดวง
แต่ไม่มีมะเร็งชนิดไหนที่มีอัตราตายเที่ยงแท้แน่นอน 100%) ดังนั้นจึงควรพุ่งความสนใจไปที่การฟูมฟักระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ด้วยอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด
2.3 ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี
ให้เขาได้พูดถึงความความรู้สึก (feeling) และความห่วงกังวล (concern) รับฟังและพยายามเข้าใจว่าทำไมรู้สึกอย่างนั้น ทำไมกังวลเรื่องนั้น
รับฟังและพยายามเข้าใจโดยไม่ต้องต่อยอดหรือตอบสนองใดๆ ยกเว้นกรณีที่การตอบสนองจะมีผลลดความกังวลลง
เช่นในจังหวะที่ควรให้ข้อมูลความจริงว่าอัตราตายไม่ได้มากอย่างที่คิด ก็ให้
เป็นต้น
2.4 เป็นคนประสานงานกับทีมงานแพทย์ผู้รักษา
ช่วยหาข้อมูลที่เชื่อถือได้มาให้ ช่วยทำรายการลิสต์เรื่องที่ต้องพูดกับหมอหรือถามหมอในการพบกันครั้งต่อไป
เขียนรายการลิสต์เรื่องที่ผู้ป่วยกังวลแล้วไปหาคำตอบมาให้
2.5 ให้อภัยผู้ป่วยกับพฤติกรรมของคนป่วยที่เกิดจากความเครียด
เช่น สับสัน กลัวเกินเหตุ โกรธง่าย หงุดหงิด ผิดนัด ทำงานไม่ทัน พูดไม่ดีกับคนที่เขาหวังดี
เป็นต้น หากเรายังโกรธผู้ป่วยมะเร็งที่เขาพูดไม่ดีกับเรา แสดงว่าคนที่เราแคร์จริงๆนั้นคือตัวเรา
คืออีโก้ของเรา ไม่ใช่แคร์เขาซึ่งกำลังป่วย
2.6 ปวารณาตัวเองว่าพร้อมช่วย
เปิดสายทิ้งไว้ให้ติดต่อกันได้ทุกเวลา เปิดประเด็นทิ้งไว้ เช่น “ถ้าพี่อยากให้ผมทำเรื่องนี้ให้เมื่อไหร่ก็บอกเลยนะ..”
เป็นต้น
3. คุณถามครอบจักรวาลเรื่องความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
ในเวลาที่ผมต้องรีบไปนอนเพื่อเอาแรงไปทำไร่ในช่วงวันหยุดยาวนี้ ผมขอตอบให้เฉพาะประเด็นสำคัญของโรคนี้
ดังนี้
3.1 ที่เราเรียกรวมๆว่ามะเร็งไทรอยด์นั้น
จริงๆแล้วมันมีหลายชนิด (cell type) ชนิดที่พบบ่อยที่สุด (80%) เป็นชนิดกระหม่อมบางที่สุดมีชื่อเรียกว่า papaillary Ca ส่วนชนิดที่ร้ายแรงที่สุดมีไม่มาก
(1-2%) เรียกว่า anaplastic Ca ซึ่งมีเพียง 1-2% ของคนเป็นมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด
3.2 การได้รับรังสีเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งชนิด papillary Ca โดยเฉพาะการใช้รังสีเพื่อการรักษา
แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยก่อให้เกิดมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม
เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนคุณและเพื่อนๆที่ทำงานด้านรังสีควรป้องกันต่อมไทรอยด์ของตัวเองให้ดีโดยใช้
thyroid shield ทุกครั้งที่ทำการตรวจวินิจฉัยที่มีโอกาสที่จะโดนรังสีเด้งใส่คอหอยทีละมากๆ เช่นการตรวจสวนหัวใจ การทำ fluoroscopy เป็นต้น
3.3 การวินิจฉัยโรคนี้มีหลักอยู่ว่าใครก็ตามที่คลำได้ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เมื่อใดก็ตาม
ควรรับการตรวจด้วยวิธีเอาเข็มเจาะดูด (fine needle aspiration biopsy - FNAB) เมื่อนั้น เพื่อเอาชิ้นเนื้อมาพิสูจน์ว่ามีเซลมะเร็งหรือไม่
3.4 โรคนี้เป็นโรคศัลยกรรม
หมายความว่าการผ่าตัดเป็นทางเลือกแรกในการรักษา หลักการผ่าตัดโรคนี้มีว่าต้องผ่าตัดออกให้เกลี้ยงมากที่สุด
โดยยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทเลี้ยงกล่องเสียง (recurrent laryngeal
nerve) ซึ่งจะทำให้เสียงแหบอย่างถาวร และความเสี่ยงที่จะตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ
ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหากับการควบคุมระดับแคลเซียมของร่างกาย
ต้องตามแก้ด้วยการกินแคลเซียมและวิตามินดีตลอดชีวิต ทางเลือกการผ่าตัดมี 3 แบบ คือ
ทางเลือกที่ 1. ตัดต่อมไทรอยด์ออกข้างเดียว
และตัดส่วนเชื่อมตรงกลางออกไปด้วย (lobectomy with isthmusectomy) ใช้เฉพาะในคนอายุน้อยที่ตัวมะเร็งมีขนาดเล็กและไม่ลุกลาม
มีข้อดีที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสี่ยงน้อย
(อย่างมากก็ข้างเดียว) และไม่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียต่อมพาราไทรอยด์
(เหลือข้างเดียวก็พอใช้)
ทางเลือกที่ 2. ตัดต่อมไทรอยด์ออกเกือบหมด
(subtotal thyroidectomy) คือทำเหมือนแบบแรก
แต่ตามตัดเนื้อไทรอยด์ของอีกข้างหนึ่งเกือบหมด
เหลือเฉพาะด้านหลังซึ่งใกล้กับเส้นประสาทกล่องเสียงและต่อมพาราไทรอยด์
เป็นการลดความเสี่ยงที่จะก่อความเสียหายต่อเส้นประสาทและต่อมพาราไทรอยด์
ทางเลือกที่ 3. ตัดต่อมไทรอยด์ออกหมดเกลี้ยง
(total thyroidectomy) วิธีนี้ดีตรงที่มีโอกาสกลับเป็นต่ำ
และเมื่อใช้ไอโอดีนอาบรังสีตามเก็บมะเร็งที่แพร่กระจายไปจะเก็บได้หมด
เพราะไม่มีเนื้อของต่อมไทรอยด์แย่งจับไอโอดีนอาบรังสี
แต่ก็มีข้อเสียที่มีโอกาสเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทและต่อมพาราไทรอยด์ การลดความเสียหายจากการเสียต่อมพาราไทรอยด์อาจใช้วิธีฝังต่อมพาราไทรอยด์ที่ตัดติดก้อนไทรอยด์ออกมา
กลับเข้าไปไว้ที่ใต้ผิวหนังที่แขนหรือที่คอ (autotransplantation)
ในกรณีที่ตัดต่อมออกหมด หลังผ่าตัดต้องกินฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ทดแทน
แต่ในระยะแรกหลังผ่าตัดได้หนึ่งเดือน แพทย์จะหยุดฮอร์โมนไทรอยด์ก่อน
เพื่อให้ร่างกายเกิดภาวะไฮโปไทรอยด์
ทราบได้จากการเจาะเลือดจะพบว่าฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ขึ้นไปสูงมากกว่า 30-50
จากนั้นจึงให้กินไอโอดีชนิดเปล่งกัมมันตรังสี (radioactive
iodine)ในขนาดที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยเพื่อให้เซลมะเร็งจับเอาไอโอดีนนี้ไว้
แล้วสะแกนดูทั่วร่างกายว่ามีมะเร็งนี้กระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้ามีมันจะจับ (uptake)
ไอโอดีนเปล่งรังสีไว้ หากพบว่ามีมะเร็งอยู่ที่ไหนก็ตาม
ก็จะให้ไอโอดีนชนิดเปล่งรังสีกินในขนาดเพื่อการรักษา
เพื่อให้ไปทำลายมะเร็งที่เหลืออยู่ให้หมด
แล้วจำกัดไม่ให้ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไฮโปไทรอยด์ต่อไปอีก
6 เดือน เพื่อทำสะแกนดูอีกครั้งว่ามะเร็งหมดหรือยัง
ถ้ายังไม่หมดก็ให้กินไอโอดีนเปล่งรังสีในขนาดเพื่อการรักษาอีก ทำเช่นนี้จนหมด เมื่อจบการรักษาแล้ว
ผู้ป่วยต้องกินฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต เพื่อกด (suppress) ไม่ให้มะเร็งที่อาจจะมีอยู่โตขึ้นมาได้อีก
โรคนี้ในภาพรวมมีการพยากรณ์โรคดีมาก หมายความว่าเกือบทั้งหมด คือเกิน
90% หายได้
ยิ่งในคนอายุน้อย โอกาสหายและมีความยืนยาวของชีวิตเท่าคนปกติมีเกือบ 100%.
4. คุณบอกให้ผมแนะนำอะไรก็ได้
ผมจึงขอใช้โอกาสนี้พูดกับคุณซึ่งเป็นนักรังสี
อย่าหาว่าผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนเลยนะครับ คือผมจะพูดถึงประเด็นสำนึกในความปลอดภัยในการทำงาน
คือผมเห็นน้องๆนักรังสีทำกันแล้วมันขัดตาหนะครับ แต่ไม่มีโอกาสได้พูด วันนี้ได้โอกาสจึงขอ
ส. ใส่เกือก หน่อยนะ ว่า
4.1 พวกเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการติดตามระดับรังสีที่ตัวเองโดน (radiation monitoring) คุณอาจจะไม่ตระหนักก็ได้ว่าระดับรังสีที่ยอมรับกันว่าปลอดภัยสำหรับคุณในฐานะนักรังสี (20 มิลลิซีเวอร์ท ต่อปี) นั้นมากกว่าระดับรังสีที่ยอมรับว่าปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป (1 มิลลิซีเวอร์ท) ถึงยี่สิบเท่า หมายความว่าเขาให้เราเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง
20 เท่า ดังนั้นทุกไมโครซีเวอร์ดที่เพิ่มเข้ามาล้วนมีนัยสำคัญ
ควรคิดหาสาเหตุและลงมือปรับวิธีการทำงานทันทีถ้าตัวเลขมันขยับขึ้นมากกว่าปกติแม้จะยังไม่เกินมาตรฐานก็ตาม
ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือบางคนไม่ห้อยมอนิเตอร์ บางคนที่อยู่ในหน่วยที่ถูกรังสีมากๆเช่นหน่วยสวนหัวใจ
เขาให้แขวนมอนิเตอร์ใกล้ตำแหน่งไทรอยด์ก็ไม่แขวน โดยให้เหตุผลง่ายๆว่า “เกะกะ”
4.2 พวกเราไม่ค่อยใส่ใจการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
(personal protective equipment - PPE) เรียกว่าถ้าไม่บังคับก็ไม่ใช้ เมื่อใช้ก็ใช้อย่างเสียไม่ได้ ไม่ได้ใช้เพราะใจที่เข้มงวดในสำนึกเรื่องความปลอดภัย
แม้แต่ญาติผู้ป่วยที่มองดูพวกเราที่ขึ้นไปเอ็กซเรย์คนไข้บนวอร์ดยังคอมเมนท์ในประเด็นนี้ให้ผมฟังเลย
ว่าดูไปแล้วก็เหมือนคนรำละครแก้บน คือรำๆให้มันผ่านๆไปโดยไม่มีใจที่ละเมียดถึงศิลปะการฟ้อนรำ
ในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือความบ้องตื้นของผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งมักเป็นเหมือนกันทั้งรพ.ของรัฐและรพ.เอกชน คือไม่ยอมซื้อให้เพราะกลัวเปลืองเงิน
ยกตัวอย่างเช่นหน่วยสวนหัวใจหลายแห่งในเมืองไทยนี้ไม่มี thyroid shield ใช้ โดยที่น้องๆที่ทำงานในนั้นก็ไม่เดือดร้อนโวยวายอะไร
เออ.. ช่างสมกันดีจริงๆ ยังกับผีกับโลง
4.3 พวกเราไม่รู้จักและไม่ตระหนักถึงอันตรายของเครื่องตรวจต่างๆที่ปล่อยรังสีออกมา
พวกเราหลายคนเล่นกับเครื่องซีที.เหมือนเล่นกับเครื่องเอ็กซเรย์ปอด ทั้งๆที่เครื่องซีที.ปล่อยรังสีทีหนึ่งมากกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ปอดถึง
600 เท่า และเครื่องซีที.ที่ไม่ได้รับการตรวจปริมาณรังสีอย่างสม่ำเสมอ
บางครั้งจะปล่อยรังสีออกมาแบบมาก..ก..ก..กว่าที่เราตั้งตัวเลขไว้มาก คือการเล่นกับเครื่องมืออันตรายของพวกเรานี้
บางทีดูไปไม่ต่างจากสามล้อที่เก็บกล่องโคบอลท์จากกองขยะได้ คือใช้เครื่องมือไปแบบไม่รู้จักอันตรายของเครื่องมืออย่างลึกซึ้ง
ที่เขียนมานี่ไม่ได้มีเจตนาอื่น แต่ด้วยความรักและเป็นห่วงคนกันเองในโรงพยาบาลที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำอดหลับอดนอนเพื่อคนไข้
แต่ตัวเองกลับได้รับพิษภัยจากการทำงานเพราะเรื่องหญ้าปากคอก คือเรื่องจิตสำนึกถึงความปลอดภัย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. AACE/AAES medical/surgical
guidelines for clinical practice: management of thyroid carcinoma.
American Association of Clinical Endocrinologists. American College of
Endocrinology. Endocr Pract. May-Jun 2001;7(3):202-20.
2. Al-Brahim N, Asa
SL. Papillary thyroid carcinoma: an overview. Arch Pathol Lab
Med. Jul 2006;130(7):1057-62.