ภาวะปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder)
คุณหมอสันต์ครับ
ผมขอปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับบุตรชายอายุ
12 ปี
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเดือนพย.
54 ตอนที่น้ำท่วม ผมกับภรรยามีปัญหากัน
ต้องแยกกันอยู่ ผมพาลูกชายกลับมาอยู่ต่างจังหวัด ส่วนลูกสาวไปอยู่กับภรรยาที่บ้านยายอีกจังหวัดหนึ่ง
ตอนสองเดือนแรกเขาไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ตั้งแต่เดือนมีค.มานี้เขาเริ่มกลายเป็นเด็กก้าวร้าว
ครูบอกว่าเขาก่อเรื่องชกต่อยเป็นประจำทั้งๆที่ตัวเล็กกว่าเขาเพื่อน
สองวันก่อนเขาหนีเรียน ซึ่งเขาไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน
เมื่อผมพยายามพูดกับเขาดีเขาก็ว่าเขามีอาการปวดท้องทุกวันจนเรียนไม่ได้ ผมกลุ้มใจมากไม่รู้จะทำอย่างไรดี
รู้อยู่อย่างเดียวว่าการกลับไปอยู่กับแม่เขาผมรับพฤติกรรมของอดีตภรรยาไม่ได้
และมันจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้นอย่างแน่นอน ขอคำแนะนำด้วยครับ
ขอคำแนะนำแบบว่าไม่ใช่ให้ไปหาจิตแพทย์นะครับ เพราะผมเป็นคนไม่เชื่อจิตแพทย์
จริงๆก็คือผมเป็นคนไม่เชื่อเรื่องพระเรื่องเจ้าอะไรทั้งนั้น
ผมเชื่อในความตั้งใจและความพยายามแก้ปัญหาของตัวเราเอง
ขอให้คุณหมอแนะนำอะไรที่ผมเอาไปทำเองได้ด้วยนะครับ
........................................
ตอบครับ
1. การเจ็บป่วยของลูกชายคุณนั้นทางการแพทย์เรียกว่าภาวะปรับตัวผิดปกติ (adjustment
disorder) ซึ่งมีนิยามว่า คือปฏิกิริยาปรับตัวอย่างผิดปกติต่อความเครียด
(psychosocial stressor) ที่เกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากมีความเครียด และคงอยู่นานไม่เกิน 6 เดือน คนที่อยู่ในภาวะนี้มีอาการได้หลายแบบ อาจมีอารมณ์ซึมเศร้า ร้องไห้ หรือความรู้สึกสิ้นหวัง เป็นอาการเด่น
หรืออาจมีอาการกระสับกระส่าย วิตกกังวล สั่น เป็นอาการเด่น โดยเฉพาะในเด็ก หรืออาจมีอาการพฤติกรรมขบถเป็นอาการเด่น
เช่น ขับรถเร็ว หนีโรงเรียน ทำสิ่งผิดกฎหมาย หรืออาจมีอาการถดถอย
เช่นบ่นเรื่องการเจ็บป่วยทางกาย แยกตัว ทำงานได้น้อยลง เรียนแย่ลง เป็นอาการเด่น หรืออาจมีอาการหลายแบบปนกัน
2. ผมขออธิบายหลักการรักษาภาวะนี้ในทางการแพทย์ก่อนนะ คือทางแพทย์มีหลักอยู่สี่อย่าง
คือ
2.1 ทำจิตวิทยาบำบัดเฉพาะคน (individual psychotherapy) โดยค้นหาความหมายของเหตุที่ทำให้เครียด ว่ามีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในวัยเด็กอย่างไร ผู้ป่วยใช้กลไกการปรับตัวและแก้ไขปัญหาอย่างไร
ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอยากทำตัวเป็นคนป่วยนานเพื่อรับประโยชน์
(secondary gain) จากการไม่ต้องรับผิดชอบบางอย่างบางเรื่อง
2.2 ทำจิตบำบัดแบบสั้น (crisis intervention) โดยใช้เทคนิคพยุงทางใจ ให้ข้อเสนอแนะ ช่วยสร้างความมั่นใจ (reassurance)
ปรับสภาพแวดล้อมที่จำเป็น
2.3.
ใช้วิธีกลุ่มบำบัด (group psychotherapy)
เอาผู้ป่วยที่มีความเครียดเหมือน ๆ กัน เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ล้างไตเหมือนกัน กลุ่มผู้ป่วยที่เกษียณอายุราชการเหมือน ๆ
กัน ทำให้มีการระบายความเครียด
ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
2.4
ให้ยาตามอาการ เช่น
ยาลดความวิตกกังวล ยาลดความซึมเศร้าในช่วงสั้น ๆ
ทั้งหมดนี้คือหลักการรักษาที่แพทย์ใช้ ซึ่งสามข้อแรกคุณสามารถนำไปประยุกต์ทำเองได้
3. คำแนะนำส่วนตัวของผมซึ่งอาจจะอยู่นอกตำราแพทย์
มีอยู่สองประเด็นเท่านั้นคือ
หนึ่ง คุณตีค่าลูกชายของคุณว่ามีค่าสำหรับคุณมากแค่ไหนละครับ
ถ้าเขาไม่มีค่ามากเท่าตัวคุณก็แล้วไป
แต่ถ้าเขามีค่าเหนือทุกอย่างที่คุณมีรวมทั้งตัวคุณเองด้วย
แผนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็จะต้องเปลี่ยนไปใช่ไหมครับ
สอง คือ ในการเกิดมามีชีวิตร่วมกันนี้
ไม่มีใครทำอะไรเข้าท่าไปเสียหมดหรอกครับ ทุกคนต้องมีทำอะไรผิดพลาด
บางทีก็พลาดจนน่าตบ บางทีก็พลาดจนสมควรฆ่า
แต่ว่าไม่ใครจะผิดพลาดยิ่งใหญ่ทำให้เราทุกข์ใจมากแค่ไหน ถ้าเราให้ “อภัยทาน” ได้
รับรองว่ารับได้และเอาอยู่หมดครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์