ทำแมมโมแกรมแล้วโดนผ่าตัดเจ็บตัวฟรี
คุณหมอสันต์ คะ
ดิฉันชื่อ.... อายุ 33 ปี
เมื่อสองปีก่อนดิฉันคลำตัวเองได้ก้อนแข็งที่หน้าอกซ้าย จึงไปตรวจที่โรงพยาบาล.... หมอบอกว่าเป็นกระดูกซี่โครง
ไม่เป็นไร และได้แนะนำให้ดิฉันทำแมมโมแกรมปีละครั้งทุกปี ดิฉันทำแมมโมแกรมครั้งแรก
มีรายละเอียดมากมายทั้งซิสต์ทั้งจุดแคลเซียมแต่สรุปว่าเป็น BIRAD 3 และแนะนำให้ดิฉันทำแมมโมแกรมซ้ำทุก 6 เดือน
ทำครั้งที่สองก็อ่านเป็น BIRAD 3 อีก หมอนัดทำซ้ำอีก 6
เดือนแต่ดิฉันเป็นทุกข์มาก และบอกหมอว่าอยากให้ทำอะไรสักอย่าง หมอจึงเอาเข็มเจาะดูดเนื้อมาตรวจ
ซึ่งทำแล้วได้ผลว่ามีเซลที่ไม่แน่ว่าจะเป็นมะเร็งอยู่หรือเปล่า หมอให้ดิฉันตัดสินใจเองว่าจะตัดเอาเนื้อบริเวณนั้นออกมาตรวจไหม
ดิฉันเครียดมากอยู่แล้วจึงตัดสินใจทำผ่าตัด หมอเขาตัดเอาเนื้อส่วนนั้นออกมา
ผลการตรวจไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไปสองปีกว่า เสียเงินไม่ว่า แต่เสียสุขภาพจิตนี่สิ
ที่ดิฉันข้องใจคือว่าถ้าดิฉันไม่ทำแมมโมแกรม จะดีกว่านี้ไหม แมมโมแกรมมันช่วยป้องกันมะเร็งได้จริงหรือเปล่า
หรือเพียงแค่ทำให้เราเสียเงินและเจ็บตัวฟรีมากขึ้น
...........................................
ตอบครับ
1. จดหมายของคุณทำให้ผมคิดถึงแม่ไก่
ที่ชอบกระต๊ากเวลาเธอออกไข่ คนรุ่นคุณอาจเกิดไม่ทันเห็นแม่ไก่ออกไข่อยู่ในกระบุง
และไม่เคยเห็นแม่ไก่กระต๊าก ผมจะเล่าให้ฟัง เพราะผมเนี่ยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไก่นะ
ผมเลี้ยงไก่และทำวิจัยเรื่องไก่มาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม ซึ่งสมัยนั้นบริษัทซี.พี.ยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป
คือสมัยก่อนซี.พี.เกิด ไก่เขาเลี้ยงกันแบบปล่อยเปะปะ แล้วแขวนกระบุงไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อให้มันออกไข่
เมื่อปวดท้องไข่เธอจะเข้าไปไข่ในกระบุง เบ่งไปพลาง ลุกขึ้นมองพลาง
ถ้าเห็นมีไข่ออกมาเธอก็จะลุกขึ้นทำหน้าแดงๆ แล้วร้องกระต๊าก กระต๊าก
กระต๊ากเสียงดังลั่น เป็นการบอกให้โลกรู้ว่า
“..เฮ้ย ฉันออกไข่ได้แล้วนะโว้ย นี่ไง กลมๆเหน่งๆขาวจั๊วะเลย”
ประมาณนั้น
ผมเคยหลอกไก่สาวตัวหนึ่งซึ่งเข้าไปเบ่งไข่ในกระบุง
โดยเอาก้อนหินขาวๆกลมๆคล้ายไข่เข้าไปซุกที่ใต้ท้องของเธอ
พอเธอลุกขึ้นมองเห็นก้อนหินเธอก็ดีใจกระต๊ากเป็นการใหญ่เหมือนกัน
ทั้งๆที่ไข่จริงๆยังไม่ได้ออกมาเลย
แมมโมแกรมก็เหมือนแม่ไก่ ที่เห็นอะไรคล้ายๆมะเร็งเต้านมเป็นร้องกระต๊ากหมด งานวิจัยขนาดใหญ่ซึ่งทำที่นอร์เวย์ซึ่งติดตามผู้หญิงทั้งประเทศที่ทำแมมโมแกรมเป็นเวลานาน 9 ปี พบว่าผู้หญิงทุก 2,500 คนที่ทำแมมโมแกรม จะมี 6-10 คนที่ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นเนื้องอกและต้องผ่าตัดเจ็บตัวฟรีเหมือนคุณเดี๊ยะเลย ขณะที่อีก 20 คนแมมโมแกรมตรวจพบมะเร็งจริงๆที่ได้ประโยชน์จากการรักษา คือแมมโมแกรมมันเพิ่มโอกาสพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเก่งเสียจนไม่มีวิธีอื่นทำได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีคลำ คลึง เค้น อย่างไรก็ตาม แต่ขณะเดียวกันแมมโมแกรมมันก็กระต๊ากแม้สิ่งที่มันเห็นจะเป็นเพียงเนื้องอกชนิดเงียบ (non clinical significant tumor) ซึ่งไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย การกระต๊ากแบบนี้ทำให้เราเจ็บตัวฟรี เพราะเนื้องอกเงียบแบบนั้นจนตายมันก็ไม่ก่อปัญหาอะไร แต่พอแมมโมแกรมกระต๊ากขึ้นมา เราก็กลัวหน้าตั้งต้องรีบเอาออก อัตราการร้องกระต๊ากผิดที่แบบนี้มากน้อยแค่ไหนไม่มีใครรู้จริง ข้อมูลบอกว่ามีกันได้ตั้งแต่ 0-54%เป็นตัวเลขที่ไม่บอกอะไรเลยใช่ไหมครับ แต่ข้อมูลทางการแพทย์มันก็มีข้อจำกัดงี้แหละ การที่หมอเขาเอาตัวรอดโดยโยนให้คุณตัดสินใจเองนั้นผมก็เห็นว่าหมอเขาฉลาดและทำได้ดีแล้ว ส่วนการที่คุณต้องเจ็บตัวฟรีมันก็ทำไงได้ละครับ ทุกอย่างมีบวกก็มีลบ ไม่คัดกรองก็ตายจากมะเร็ง คัดกรองก็เจ็บตัวฟรีบ้าง เป็นธรรมดา สำหรับคุณผู้หญิงทุกท่านผมแนะนำว่าเมื่อแมมโมแกรมตรวจพบอะไรที่มันยังไม่ชัด ไม่เจ๋ง ขอให้ใช้ยุทธศาสตร์สังเกตการณ์ดูมันไปก่อน จะนานกี่เดือนกี่ปีก็สังเกตไปก่อน อย่าไปฟังคำขู่หรือคิดมาก ให้โฟกัสที่ความชัดเจนของรายงานแมมโมแกรมอย่างเดียว โดยวิธีนี้โอกาสเจ็บตัวฟรีก็จะน้อยลง
พูดถึงความชัดเจนของรายงานแมมโมแกรม เกิดเป็นผู้หญิงก็สมควรเข้าใจวิธีอ่านผลแมมโมแกรมไว้ให้ดี
คือรังสีแพทย์ใช้มาตรฐานการอ่านผลแมมโมแกรมแบบสากลเหมือนกันทั่วโลกที่เรียกว่า
Breast Imaging Reporting
And Database System หรือเรียกย่อว่า ไบแร็ดส์ (BIRADS) โดยแพทย์จะอ่านค่าไบแรดส์ออกมาเป็นตัวเลข
ซึ่งมีความหมายตามความหนักเบาของการตรวจพบ ดังนี้
คำอ่านไบแร็ดส์
|
ความหมายของคำอ่าน
|
BIRADS 0
|
มีความคลาดเคลื่อนทางเทคนิคในการตรวจหรือการอ่าน
ไม่สามารถแปลผลได้ ควรทำแมมโมแกรมซ้ำใหม่อีกครั้ง
|
BIRADS 1
|
ไม่พบสิ่งปกติใดๆ
|
BIRADS 2
|
ตรวจพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติ
แต่ไม่ใช่มะเร็ง (benign)
|
BIRADS 3
|
ตรวจพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติ
ซึ่งอาจจะไม่ใช่มะเร็ง (probably benign)
|
BIRADS 4
|
ตรวจพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติ
ซึ่งสงสัย (suspicious) ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง
|
BIRADS 5
|
ตรวจพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติ
ซึ่งสงสัยอย่างมาก (highly suspicious) ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง
|
เมื่อได้ผลแมมโมแกรมแล้ว ควรจะทำอย่างไรต่อไปกับผลที่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับผลไบแรดส์ว่ามีความหนักเบาเพียงใด
ซึ่งหลักทางการแพทย์มีดังนี้
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 1-2 แปลว่าปกติ อาจจะเพียงแต่นัดตรวจติดตามครั้งต่อไปตามรอบปกติ จะถี่แค่ไหนก็แล้วแต่รสนิยม ซึ่งคณะทำงานป้องกันโรคอเมริกันแนะนำให้ตรวจถี่ปีเว้นปี
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 3 แปลว่า “อาจจะปกติ” ความหมายว่าเจออะไรที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะนัดตรวจติดตามและทำแมมโมแกรมซ้ำในเวลา 6 เดือน ไปนานอย่างน้อยสักสองครั้ง จนกว่าจะแน่ใจว่าสิ่งตรวจพบนั้นนิ่งไม่โตขึ้นหรือเปลี่ยนไปทางเป็นเนื้อร้าย จึงค่อยเปลี่ยนมานัดตรวจติดตามปีละครั้งหรือปีเว้นปีเช่นกรณีทั่วไป
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 4 แปลว่า “สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง” หรืองานเข้าแล้วละคุณ น่าจะต้องไปตัดชิ้นเนื้อดู
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 1-2 แปลว่าปกติ อาจจะเพียงแต่นัดตรวจติดตามครั้งต่อไปตามรอบปกติ จะถี่แค่ไหนก็แล้วแต่รสนิยม ซึ่งคณะทำงานป้องกันโรคอเมริกันแนะนำให้ตรวจถี่ปีเว้นปี
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 3 แปลว่า “อาจจะปกติ” ความหมายว่าเจออะไรที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะนัดตรวจติดตามและทำแมมโมแกรมซ้ำในเวลา 6 เดือน ไปนานอย่างน้อยสักสองครั้ง จนกว่าจะแน่ใจว่าสิ่งตรวจพบนั้นนิ่งไม่โตขึ้นหรือเปลี่ยนไปทางเป็นเนื้อร้าย จึงค่อยเปลี่ยนมานัดตรวจติดตามปีละครั้งหรือปีเว้นปีเช่นกรณีทั่วไป
- ถ้าเป็นไบแร็ดส์ 4 แปลว่า “สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง” หรืองานเข้าแล้วละคุณ น่าจะต้องไปตัดชิ้นเนื้อดู
- ถ้าเป็นไบแรดส์ 5 แปลว่า “หน้าตายังงี้คงเป็นมะเร็งแหงๆ” รีบไปตัดชิ้นเนื้อดูเลยเชียวนะ
2.. การที่คุณทราบผลแมมโมแกรมว่าไม่ปกติแล้วตื่นเต้ลเป็นทุกข์
อันนี้เป็นปัญหาของคุณไม่ใช่ปัญหาของหมอเขา จะไปว่าหมอเขาไม่ได้
คุณต้องไปฝึกจิตทำสมาธิวิปัสนาสงบสติอารมณ์เอาเองจึงจะถูก
ไม่ใช่ไปบีบหมอให้เขาทำอะไรสักอย่าง พอเขาทำให้แล้วคุณก็เดือดร้อน เห็นไหมละ
คือกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์นี้มันมีธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์น้ำตก หรือ “cascade
phenomenon” คือหากอยู่ดีไม่ว่าดีคุณทะลึ่งไปตรวจอะไรสักอย่างหนึ่งโดยไม่จำเป็น
คุณก็จะได้ข้อมูลมา ซึ่งข้อมูลนั้นอาจบีบให้คุณต้องทำอะไรอีกอย่างหนึ่งที่รุกล้ำมากขึ้นเพื่อเคลียร์ข้อสงสัย
พอคุณตามไปทำก็จะได้ข้อมูลมาอีก
ซึ่งจะบีบให้คุณทำอะไรอีกอย่างที่รุกล้ำมากขึ้นไปอีกๆๆๆ เหมือนน้ำตกเจ็ดสาวน้อยที่ลดหลั่นกันไปเป็นชั้นๆๆ จากชั้นเล็กไปเป็นชั้นที่ใหญ่ขึ้นๆ มีคนจำนวนมากตกเข้าไปในกระแสนี้แล้วถึงกับคางเหลืองหรือตายฟรีก็มีมาแล้ว
ดังนั้นหากคุณคิดจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้ท่องคาถาไว้ว่า
“อย่าทะลึ่งทำอะไรที่ไม่มีข้อบ่งชี้”
3. การที่ผลแมมโมแกรมรายงานว่ามีซีสต์บ้าง มีแคลเซียมบ้าง นี่เป็นเรื่องปกตินะครับ เพราะเต้านมก็คือที่รวมของถุงน้ำนม ซึ่งเป็นซีสต์แบบหนึ่ง แล้วน้ำนมก็มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก ดังนั้นเมื่อเห็นผลว่ามีซีสต์ มีแคลเซียมไม่ต้องกระต๊าก ให้สนใจว่ามันเป็นไบแรดส์ระดับใด
4.. ไหนๆก็พูดถึงมะเร็งเต้านมแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเสียหน่อยนะครับ
เพราะบางปัจจัยนั้นป้องกันได้ ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดเท่าที่มีหลักฐานทางการแพทย์ ได้แก่
• พันธุกรรม โดยเฉพาะถ้าญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาวหรือน้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม
• มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55 ปี)
• ไม่มีบุตร หรือหลังคลอดไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตัวเอง หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมาก (มากกว่า 30 ปี)
• รับประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานเกินกว่า 5-10 ปี
• มียีนมะเร็ง BRCA I, BRCA II อยู่ในร่างกาย
• มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาแล้ว หรือเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก รังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
• มีอายุมาก
• ผู้นิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันและเนื้อสัตว์ในปริมาณที่สูง
• ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม