เป็นหมอ..แต่ไม่มีความสุข
เรียน อาจารย์ที่เคารพ
ผมรู้จักอาจารย์มา 3 ปี จากจดหมายส่งตัวคนไข้กล้บตจว.ที่แนบไว้ใน OPD card ของรพ.ที่ผมทำงานใช้ทุน ซึ่งผมประทับใจในเนื้อหาสาระและวิธีการเขียนมาก และได้ติดตามอาจารย์เรื่อยมาตั้งแต่ The Symptom มาจนถึง Visitdrsant.blogspot.com
ตอนนี้ผมเป็นพชท.3 เมื่อปีกลายเพื่อนเขากลับไปเรียนกันหมดแล้ว แต่ผมยังอยู่ และนี่ก็จะถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเรื่องเรียนต่ออีกแล้ว แต่ผมยังสรุปไม่ได้ว่าจะเอาไงดี ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข และอยากจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น
อยากฟังคำแนะนำของอาจารย์เรื่องการเลิกหรือไม่เลิกอาชีพ หากไม่เลิก จะเลือกเรียนต่อในสาขาอะไรดีจึงจะมีความสุขในชีวิตมากกว่านี้
(...................... อยู่ที่ รพ. ......................)
ตอบครับ
2.. ถามว่าแพทย์คนที่เขามีความสุขกันนั้นเขาเป็นคนอย่างไรกัน งานวิจัย Medscape's Physician Lifestyle Report: 2012 ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาไม่นานนี้น่าจะตอบคำถามคุณได้ เขาถามแพทย์กว่า 29,000 คน แล้วพบว่า
2.1 แพทย์กลุ่มที่มีความสุขเฉลี่ยมากที่สุด มีลักษณะดังนี้
- มีอายุเกิน 60 ปี
- มีเงิน
- ไม่มีหนี้
- น้ำหนักแรกคลอดปกติ (เกี่ยวกันไหมเนี่ย)
- มีสุขภาพดี
- ออกกำลังกายเฉลี่ย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป
- ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยวันละ 1-2 ดริ๊งค์
- ไม่สูบบุหรี่
- แต่งงานแล้วและยังแต่งงานอยู่
- เชื่อในศาสนาและทำงานจิตอาสาให้องค์กรศาสนา
2.2 ส่วนแพทย์กลุ่มที่มีความสุขเฉลี่ยน้อยที่สุด มีลักษณะดังนี้
- มีสุขภาพไม่ดี
- ไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- อ้วน
- อายุ 50 เศษๆ
- เงินไม่พอใช้
- ไม่มีเงินเก็บ
- มีหนี้สินตุงนัง
- หย่าร้าง
- เชื่อในศาสนาแต่ไม่ทำงานจิตอาสา
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
คุณลองเอาผลวิจัยนี้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลส่วนตัวของคุณเองดูนะครับ อาจพบสาเหตุที่ทำให้คุณไม่มีความสุขแล้วแก้ไขสำเร็จก็ได้ เพราะบางสาเหตุนั้นแก้ไขได้ง่ายๆโดยไม่ต้องไปพึ่งใครเลย เช่นการออกกำลังกายเป็นต้น
3. ถามว่าจะเข้าฝึกอบรมในสาขาใดจึงจะมีความสุขมากที่สุด อันนี้มันคงจะมีปัจจัยส่วนบุคคลมาประกอบมากมายนะครับ แต่ในภาพรวม งานวิจัยเดียวกันเขาก็วิเคราะห์ในประเด็นนี้ ได้ผลดังนี้
3.1 Top five สาขาที่มีความสุขมากที่สุด เรียงตามลำดับคะแนนความสุข ซึ่งมีคะแนนเต็ม 5
ลำดับที่ 1. แพทย์โรคผิวหนัง (4.23),
ลำดับที่ 2. ศัลยแพทย์ตกแต่ง (4.22),
ลำดับที่ 3. แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ (4.20),
ลำดับที่ 4. ศัลยแพทย์กระดูก (4.19),
ลำดับที่ 5. อายุรแพทย์โรคหัวใจ (4.17).
3.2 สาขาที่มีความสุขน้อยที่สุด เรียงจากคะแนนน้อยไปหามาก
ลำดับที่ 1. แพทย์เวชบำบัดวิกฤติ (intensivists) (3.98)
ลำดับที่ 2. กุมารแพทย์และสูตินรีแพทย์ (4.01)
ลำดับที่ 3. พยาธิแพทย์, จิตแพทย์, และศัลยแพทย์ทั่วไป (4.04)
ลำดับที่ 4. อายุรแพทย์, แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว, แพทย์ห้องฉุกเฉิน (4.06)
4. ถามว่าเลิกอาชีพแพทย์แล้วไปทำอะไรอย่างอื่นเสียจะดีไหม อันนี้ไม่มีงานวิจัยรองรับแฮะ ว่าแพทย์ที่หนีอาชีพนี้ไปแล้วเขาไปทำอะไรกันบ้าง และอาชีพอะไรที่เขาไปทำกันแล้วแฮปปี้ แต่ผมตอบจากประสบการณ์ว่าจะทำอาชีพอะไรไม่สำคัญหรอกครับ สำคัญที่ให้รู้ว่าใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะมีความสุข ยิ่งถ้ามีความสุขด้วยและมีคุณค่าต่อผู้อื่นด้วยก็ยิ่งดี ถ้ายังไม่รู้ ยังไม่เจนจบตรงนี้ ไปทำอาชีพอะไรก็ไล้ฟ์บอย ผมเองก็ไม่เคยคิดจะเป็นแพทย์มาก่อน ไม่ใช่สามอันดับแรกของอาชีพในฝันของผมด้วยซ้ำไป แต่ชีวิตพาผมพลัดหลงเข้ามา เมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ผมก็ปรับตัวให้ตัวเองมีความสุขและทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นบ้างเท่าที่พอจะทำได้ ตลอดเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา มันก็ลุ่มๆดอนๆ หวิดๆจะเลิกอาชีพนี้ไปเสียก็หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกการผ่าตัดหัวใจซึ่งเป็นงานที่มีความเครียดสูงมากและไม่เข้ากับนิสัยผมเลย แต่มันติดอยู่แค่มันตัดใจไม่ขาด เพราะรู้สึกว่าตัวเองเรียนมามากเหลือเกิน ฝึกอบรมมามากเหลือเกิน เหนื่อยยากมามากเหลือเกินกว่าจะมาผ่าตัดหัวใจให้คนไข้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อตัดใจไม่ขาด ก็ต้องทู่ซี้ทำเรื่อยมาตั้งยี่สิบกว่าปี คือคนเรามันปรับตัวง่าย พอบอกตัวเองว่าทำไปก่อนเถอะ มันก็ทำได้กันทุกคนแหละ แต่หากเทียบกับการจะได้เกษียณในอีกสิบสองเดือน (กับอีกสี่วัน) ข้างหน้า ก็ต้องยอมรับว่าตื่นเต้นมากที่จะได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง...เสียที ความอยากที่จะไปทำอะไรอย่างอื่นเสียทีนี้มีมากจริงๆ แบบว่า...เอาสะเต๊กมาแลกก็ไม่ยอม
5. อันนี้ผมแถมให้นะครับ ผมฟังน้ำเสียงแล้วคุณก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ผมแนะนำให้คุณทู่ซี้อยู่ในอาชีพแพทย์นี้ไปก่อนสิครับ ผมแนะนำให้คุณหัดใช้ชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio life) คุณชอบอ่านหนังสือหรือเปล่าละครับ ลองหาหนังสือของชารล์ส แฮนดี้ (Charles Handy) มาอ่านหน่อยสิ ผมแนะนำสองเล่ม คือ Beyond Certainty: The Changing World of Organizations. และ The Hungry spirit: Beyond Capitalism, A Quest for Purpose in Modern World. ถ้าเผื่อคุณไม่มีอารมณ์จะไปหาหนังสือมาอ่าน ผมสรุปให้ฟังตรงนี้ก็ได้
คือชาร์ล แฮนดี้มองชีวิตการทำงานในปัจจุบันว่าองค์กรที่เป็นนายจ้างหรือต้นสังกัดของผู้คนนั้นล้วนอยู่ในสภาพสามวันดีสี่วันไข้เพราะข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจนั้นไม่ใช่ความลับอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นใครก็ตั้งบริษัทมาแข่งกับใครได้ อีกทั้งบริษัทและสถาบันต่างๆก็ล้วนบริหารด้วยคนเดินดินธรรมดา ซึ่งไม่มีคนธรรมดาคนไหนจะล่วงรู้อนาคตได้ การล่มสลายและเกิดใหม่ของบริษัทจึงไม่ใช่เหตุการณ์ชั่วคราว แต่จะเป็นวิถีชีวิตของอนาคต รังอันอบอุ่นที่จะเลี้ยงดูเราไปจนเกษียณไม่มีอีกต่อไปแล้ว เขาจึงเสนอชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอ คำว่าพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) ไม่ได้หมายถึงพอร์ตหุ้นหรือแฟ้มงาน แต่หมายถึงการทำงานแบบที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่นตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตร เขาต้องดูแลทั้งงานป่าไม้ ประมง การวิจัย และที่ดิน ชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอก็คือชีวิตที่เป็นชุดของกิจกรรมที่อาจจะไม่เกี่ยวกันเลย แทนที่จะมีอาชีพเดียวแบบดั้งเดิม เช่นด้านหนึ่งคุณทำงานฟูลไทม์อยู่กับบริษัทหนึ่ง แล้วทำพาร์ทไทม์อีกที่หนึ่งซึ่งลักษณะงานอาจไม่เกี่ยวกันเลย แต่ก็ยังจัดเวลาไปเข้าชั้นเรียน ไปเป็นกรรมการมูลนิธิ และไปทำกิจกรรมเพ้นท์กระเบื้องอีกด้วย เป็นต้น แฮนดี้เชื่อว่าชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอจะเป็นวิถีชีวิตของคนในศตวรรษนี้ คนที่จะใช้ชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอ จะด้วยความสมัครใจหรือด้วยความจำใจเพราะบริษัทลดขนาดลงก็ตาม จะต้องเรียนรู้ในการจัดการชีวิตอิสระที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ ต้องหัดทำงานหลายอย่างโดยไม่ให้งานหนึ่งครอบงำอีกงานหนึ่ง ต้องวางแผนอนาคตให้ตนเองแทนที่จะปล่อยไปตามยถากรรม และที่สำคัญที่สุดคือต้องค้นหาว่าเป้าหมายในชีวิตนั้นคืออะไร เพราะว่าวันนี้ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตคุณอีกต่อไปแล้ว
นอกจากการเสนอชีวิตแบบพอร์ตโฟลิโอแล้ว แฮนดี้ยังเสนอให้ค้นหาความหมายของชีวิต แทนที่จะคิดว่าเราเป็นเพียงสิ่งเล็กๆในห้วงกาลเวลาและมหาสมุทรของโลก ดั่งนกกระจอกที่บินสู่ห้องโถงอันมืดมิด ทำให้คิดไปว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ช่างน่าเบื่อ มีอะไรอีกไหม นอกจากแต่งงาน มีลูก ทำงานเพื่อหาเงินยาไส้เท่านั้น ช่างไร้ค่าจัง แฮนดี้ให้เปลี่ยนความคิดมาหาความหมายของชีวิต ให้มองว่าแม้ตัวเราจะเล็กกระจิ๊ดริด แต่ในโลกที่แม้เพียงผีเสื้อตัวเดียวขยับปีกก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ระดับหนึ่งนี้ เรายังทำอะไรให้ได้บ้างพอควร แล้วทำไมไม่ทำสิ่งต่างๆให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ล่ะ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไรได้ระดับหนึ่ง เราก็มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายได้ แฮนดี้เชื่อว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าพอใจมากที่สุดในชีวิต คือการมีเป้าหมายที่ไกลออกไปจากตัวเอง นั่นคือเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เป็นต้น
ลองเอาความคิดของแฮนดี้มาประยุกต์ใช้กับตัวเองดูนะครับ ในที่สุดอาจค้นพบวิธีใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขด้วยตัวเองก็ได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Medscape's Physician Lifestyle Report: 2012. Access on March 28 2012 at http://www.medscape.com/sites/public/lifestyle/2012/
2. Charles Handy. Beyond Certainty: The Changing Worlds of Organizations (Hutchinson, 1995)
3. Charles Handy. The Hungry Spitrit: Beyond Capitalism: A Quest for Purpose in the Modern World. (Hutchinson, 1977)
2. Charles Handy. Beyond Certainty: The Changing Worlds of Organizations (Hutchinson, 1995)
3. Charles Handy. The Hungry Spitrit: Beyond Capitalism: A Quest for Purpose in the Modern World. (Hutchinson, 1977)