Climb every mountain, search high and low.
คุณหมอสันต์ครับ
ผมได้อ่านบทความจากบล็อกของคุณหมอทุกบทเกี่ยวกับ เส้นเลือดหัวใจตีบ เพื่อศึกษากับตนเอง (ตามไฟล์ที่แนบมาด้วย ลำดับ 1) ในกรณีของผม
ที่ปรากฏผลเลือดตามแนบ และยาที่รับประทาน 7 ตัว + ยาอมไต้ลิ้น 1
ตัว (ตามไฟล์ที่แนบ ลำดับ 2-6) ผมมีกำหนดเข้าทำการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ
วันเข้าโรงพยาบาล 22 มีนาคม ผ่าตัดจันทร์ที่
26 มีนาคม ศกนี้ ผมอยากใช้วิธีปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
ด้วยการรับประทานอาหารมังสะวิรัติ แบบไขมันต่ำ เลิกสูบบุหรี่ (ที่สูบมากว่า 30 ปีแล้ว) ออกกำลังกายระดับปานกลางแต่สม่ำเสมอ
และจัดการความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฝึกสมาธิ โยคะ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการรักษาปกติของหมอ จะสามารถปฏิบัติได้ไหม ครับ ใคร่ขอคำแนะนำจากคุณหมอสันต์
ด้วยครับ
ขอบคุณครับ
.................
8 มีนาคม 2555
ใบสรุปข้อมูลผู้ป่วยจำหน่าย
Dx: 3 vv disease
Echo 5/1/55: CAD with preserve LV
& RV function EF 74%
Plan: CABG มีนาคม 2555
Advice หากอาการแย่
ให้มาก่อนนัด งดออกแรงหนักๆ
Problem 2# frozen shoulder
Consult rehab – plan continue home
exercise
F/U next week
Home medication:
Anapril 5 mg ½ tab BID
Aspent-M 81 mg OD
Bestatin 20 mg OD
Ezetrol 10 mg OD
Hartsorb sublingual 5 mg PRN
Nextium 20 mg OD
Plavix 75 mg OD
Prenolol 50 mg OD
Transfer to: –
Further treatment plan:
Plan: CABG มีนาคม 2555 นัด admit
CVT 22/3/55 for CABG 26/3/55
of ASA 18/3/55
off plavix 20/3/55
Follow up: 1 mo OPD MED Cardio, OPD 20 วันจันทร์
แพทย์ผู้รักษา:
(ผู้บันทึกในระบบคอมพิวเตอร์)....................
................................................
ตอบครับ
ทุกวันนี้ตามสถิติที่กูเกิ้ลบอก
มีคนอ่านบล็อกนี้เดือนละ 49,232 คน
แต่จดหมายของคุณเพิ่งทำให้ผมทราบว่ามีท่านผู้อ่านบางท่านอ่านที่ผมเขียนอย่างละเอียดชนิดอ่านเอาเรื่องจริงๆ
จากบทความเก่าที่คุณเอามาเรียงต่อๆ กันแล้วส่งกลับมาให้ผมอ่านนี้ทำให้ผมรู้ว่าคนที่จับทุกประเด็นที่ผมเขียนมีอยู่ด้วยจริงๆ
แฮะ ซึ่งผมสารภาพว่าที่เขียนๆไปไม่เคยตั้งความหวังไว้ขนาดนี้เลย แม้ขนาดสอนนักเรียนแพทย์ผมก็ยังไม่เคยหวังสูงขนาดนี้
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งนอกเรื่อง แต่ผมก็อดพูดถึงไม่ได้
คือใบสรุปจำหน่ายผู้ป่วยที่คุณส่งมาให้ผมดูนั้น ทำให้ผมทราบว่าโรงพยาบาลที่รักษาคุณอยู่นั้นแม้จะเป็นรพ.รัฐบาลอยู่ที่ต่างจังหวัดแต่ก็มีความก้าวหน้าทางระบบการเก็บและใช้งานข้อมูลผู้ป่วยอย่างมากชนิดที่ล้ำหน้ารพ.ระดับนำๆและบิ๊กๆในกรุงเทพฯไปแล้วหลายช่วงตัว
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายๆตัวอย่างที่การเกิดขึ้นของสิ่งดีๆ ต้องไปเริ่มที่นอกกรุงเทพ
เอาละ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
1. ถามว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
ผ่าตัดหัวใจแล้ว จะรักษาตามปกติแบบของหมอไปด้วย
และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงด้วยการออกกำลังกาย ปรับโภชนาการ
และเลิกบุหรี่ไปด้วย จะได้ใหม่ ตอบว่าได้สิครับ และเป็นวิธีที่ดีที่สุดด้วย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเรื่องการออกกำลังกายก็ดี
การโภชนาการก็ดี การจัดการความเครียดก็ดี เป็นเรื่องการแพทย์ทางเลือก คงจะเอามาปะปนกับการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัดกินยาไม่ได้ จะเอาอย่างไหนก็ต้องเลือกเอาสักอย่าง นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความเป็นจริงก็คือแนวคิดเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงหรือ
total lifestyle modification เป็นผลสรุปจากงานวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และเป็นมาตรการร่วมที่สำคัญในการรักษาโรคของแพทย์แผนปัจจุบัน
เรียกว่าการป้องกันโรคแม้ในระยะเป็นโรคแล้ว (secondary prevention) เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด
ไม่ใช่เรื่องที่ต้องผลัดกันทำคนละทีหรือแยกกันทำ ทั้งสองวิธีจะเกื้อหนุนกันและกัน และเมื่อคุณได้ทำคู่ขนานกันไปสักระยะหนึ่ง
ก็จะพบว่าความจำเป็นต้องใช้ยามันจะค่อยๆลดลงไปเอง
เ
2. เมื่อเราตั้งใจว่าจะ
“ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง”
สิ่งที่รอเราอยู่แล้วก็คือแรงเฉื่อยจากความกลัวการเปลี่ยนแปลง
มันไม่ใช่ไปดักรอเราที่หลังการผ่าตัด แต่มันอยู่กับเราแล้วตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ดังนั้นเมื่อคุณคิดจะเปลี่ยนแปลง อย่าไปรอหลังผ่าตัด
แต่ให้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดี๋ยวนี้ พออ่านจดหมายแล้วก็เอาไฟแช้คกับบุหรี่ไปทิ้งเลย
คือหักดิบ ฝรั่งเขาเรียกว่า cold
turkey ซึ่งงานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าเป็นวิธีเลิกบุหรี่ที่ได้ผลดีที่สุด
แต่ว่าแน่นอน บนถนนของการเปลี่ยนแปลงตนเอง เป็นธรรมดาว่าย่อมจะมีล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง
ประเด็นสำคัญคือล้มแล้วต้องลุกขึ้นอีก อีก อีก ปีนเขาทุกลูก ข้ามห้วยทุกสาย เสาะหาไปทุกเส้นทางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สำเร็จ
เหมือนเพลงที่ว่า
“...Climb every mountain,
search high and low.
Follow every byway,
ford every stream.
Follow every rainbow,
til you find your dream….”
โชคดีนะครับ
นพ.สันต์
ใจยอดศิลป์