การช่วยตัวเอง กับการเป็นมะเร็ง

ทำไมในบางเว็บบอกว่าการช่วยตัวเองในตอนเด็กอาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกคะ. ช่วยตอบหน่อยนะคะ. แล้วถ้าเผื่อไม่เป็นจะแน่ใจได้หรือเปล่าคะ. แล้วการช่วยตัวเองในตอนเด็กมีผลเสียไหมคะ.


(.................)

ส่งจาก iPhone


.......................................

ตอบครับ

1. ถามว่าการช่วยตัวเอง (masturbation) ของเด็กผู้หญิง จะทำให้ให้เป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ตอบว่าไม่ทำให้เป็นครับ หมายความว่าไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นใดแม้แต่ชิ้นเดียวที่บอกว่าการทำมาสเตอร์เบชั่นในวัยเด็กเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งปากมดลูก

2. ถามว่าการช่วยตัวเองตอนเด็กมีผลเสียไหม ตอบว่าไม่มีผลเสียอะไรหรอกครับ ถ้าไม่เอาของแหลมหรือของมีคมใส่เข้าไปจนลึกเกินเหตุ (ที่เยอรมันเคยรายงานว่ามีดินสอเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเด็กผู้หญิงสองแท่ง เพราะเธอใส่มันเข้าไปทางท่อปัสสาวะขณะช่วยตัวเอง)

2. ถามว่าทำไมบางเว็บบอกว่าการช่วยตัวเองในตอนเด็กอาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก ตอบว่าถ้าคุณจะหาว่าเว็บพูดอะไรแบบไหนบ้าง คุณหาได้ทุกแบบ เพราะข้อมูลในเว็บมันมีสาระพัดตั้งแต่การตีพิมพ์ผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์จริงๆก็มี การ “จุ๊เอาสะตังค์คนสึ่ง” (แปลว่าหลอกเอาเงินคนโง่) ก็มี การกุข่าวขึ้นเพื่อขายของก็มี จนถึงเด็กนักเรียนประถมลองเขียนอะไรแปลกๆเล่นก็มี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนอ่านเว็บเพื่อหาข้อมูล จะต้องรู้วิธีกลั่นกรองว่าอะไรเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ อะไรเป็นหลักฐานที่เชื่อถือไม่ได้ อย่างในเรื่องการทำมาสเตอร์เบชั่นกับการเป็นมะเร็งนี้ ผมยกตัวอย่างข้อมูลในเว็บให้ดูสองตัวอย่างนะ ให้คุณลองหัดกลั่นกรองตามผมไป จะได้เอาวิธีนี้ไปใช้เองเป็น

ตัวอย่างที่ 1. เว็บนี้เป็นเว็บภาษาอังกฤษระดับโนเนม พาดหัวตัวเบ้งว่า “การช่วยตัวเองอาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้” แล้วให้รายละเอียดข้างในว่า “พญ.ไลลา นูรันนา จากโรงพยาบาลเมงกุนคูซูโม ซิปโต กล่าวว่าสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อเอ็ชพีวี. มันติดต่ออย่างไรนะหรือ มันเป็นเพราะพฤติกรรมทางเพศ เรื่องนี้ต้องระวังกันให้มาก ไม่แต่ฟรีเซ็กซ์กันเท่านั้น การช่วยตัวเองที่ตัวเองทำให้ตัวเองหรือเพื่อนคนอื่นช่วยทำให้ตัวเองก็ล้วนอาจนำเชื้อเอ็ชพีวี.เข้าสู่ช่องคลอดได้ เพราะเชื้อที่อ้อยอิ่งอยู่บนผิวหนังอยู่แล้วพอมีมือสกปรกมาช่วยตัวเองก็พาเชื้อเข้าไปได้ พญ.ไลลากล่าว..”

สำหรับตัวอย่างที่ 1. นี้ เป็นตัวอย่างของหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) ไม่ใช่งานวิจัย คือเรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ มีแต่คนๆหนึ่งเล่าขึ้นมาสู่กันฟังเป็นตุเป็นตะ โดยใช้ตรรกกะหรือสามัญสำนึกของตัวเองคิดขึ้นมา ไม่มีงานวิจัยอะไรเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน วิธีวินิจฉัยว่าเรื่องแบบนี้เชื่อได้หรือไม่ได้นั้นง่ายมากเลย เพราะหลักวิทยาศาสตร์ไม่นับว่าเรื่องเล่าเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเล่าโดยใคร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ตกม้าไปตั้งแต่ยังไม่ทันวิเคราะห์รายละเอียดใดๆด้วยซ้ำ คือ..เชื่อถือไม่ได้

ตัวอย่างที่ 2. เว็บนี้เป็นเว็บภาษาอังกฤษเหมือนกัน เป็นเว็บที่ถ่ายทอดวารสารศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะอังกฤษ (The British Journal of Urology) พาดหัวเรื่องว่า “ กิจกรรมทางเพศและความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก” โดยเล่าบทสรุปข้างในว่า “เป็นงานวิจัยย้อนหลังแบบเอากลุ่มคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 431 คน ไปเทียบกับคนไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 409 คนที่อายุไล่เลี่ยกัน (ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็นงานวิจัยแบบ match case control study) เพื่อจะดูว่าระหว่างกลุ่มที่เป็นมะเร็ง กับกลุ่มที่ไม่เป็นมะเร็ง จะมีพฤติกรรมทางเพศอะไร (การร่วมเพศปกติและการช่วยตัวเอง) ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งได้ไหม แล้วก็สรุปว่ามีข้อมูลอยู่ 3 ประเด็น คือ (1) เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมทุกอายุพบว่าการมีเซ็กซ์ทุกรูปแบบรวมกันไม่สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (/) เมื่อวิเคราะห์เฉพาะคนอายุน้อยระดับ 20ปี  พบว่าพวกที่มีเซ็กซ์มาก (ทั้งร่วมเพศจริงและช่วยตัวเอง) เป็นมะเร็งมากกว่าคนอายุเท่ากันที่มีเซ็กซ์น้อย ขณะที่พอเข้าช่วงอายุมากกว่า 50 ปี พวกที่มีเซ็กซ์มาก เป็นมะเร็งต่ำกว่าพวกมีเซ็กซ์น้อย (3) เมื่อวิเคราะห์เฉพาะการช่วยตัวเองพบว่าคนที่ช่วยตัวเองมากเมื่ออายุระดับ 20 และ 30 ปี เป็นมะเร็งมากกว่าคนอายุเดียวกันที่ช่วยตัวเองน้อยกว่า ผู้วิจัยจึงสรุปว่า งานวิจัยนี้อาจจะ ส่อว่า วิธีมีเซ็กซ์แบบร่วมเพศกับวิธีช่วยตัวเองอาจจะมีกลไกแตกต่างกันในการเป็นสาเหตุให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และมีความเป็นไปได้ว่าพออายุเลย 50 ปีไปแล้วกลไกนี้จะกลับเป็นตรงข้ามกับเมื่อตอนอายุน้อย..”

เอาละทีนี้ลองมาวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทีละประเด็นนะ

ประเด็นที่ 1. หลักฐานนี้เป็นผลการวิจัย ไม่ใช่เรื่องเล่า ย่อมจะต้องมีศักดิ์ศรีน่าเชื่อถือมากกว่าเรื่องเล่า

ประเด็นที่ 2. งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ยิ่งน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก

ประเด็นที่ 3. งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเปรียบเทียบด้วยการหาข้อมูลย้อนหลัง (retrospective) แบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม (non randomized) ซึ่งทางวิทยาศาสตร์จัดเป็นหลักฐานวิจัยระดับมีความเชื่อถือได้ต่ำเป็นอันดับสามรองลงไปจากงานวิจัยที่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม (randomized) และงานวิจัยที่ทำแบบตามไปเก็บข้อมูลข้างหน้า (prospective) เมื่อเป็นหลักฐานวิจัยระดับต่ำเช่นนี้ ก็ไม่น่าเชื่อถือ การประเมินค่าต้องทำอย่างผู้มีความรู้และทำอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง จึงจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้ มิฉะนั้นจะถูกงานวิจัยหลอกเอา

ประเด็นที่ 4. เมื่อมองลึกเข้าไปในวิธีการวิจัย (methodology) จะเห็นว่าเขาเอากลุ่มคนที่เป็นมะเร็ง ไปเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นการเอาหมาไปเทียบกับไก่ โอกาสที่จะเห็นความแตกต่างมีมาก แต่โอกาสที่จะสรุปนัยสำคัญของความแตกต่างได้เป็นตุเป็นตะนั้นแทบไม่มี จึงไม่น่าเชื่อถือ นั่นเป็นเหตุผลว่างานวิจัยที่เชื่อถือได้ปัจจุบันนี้จึงหันไปใช้วิธีสุ่มตัวอย่างไก่เปรียบกับไก่ หรือหมาเปรียบกับหมากันหมดแล้ว

ประเด็นที่ 5 งานวิจัยนี้เป็นการใช้แบบสอบถามกับคนเพียงสี่ร้อยกว่าคน ซอยไปเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่มเหลือกลุ่มละไม่ถึงร้อยคน เรียกว่าเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ผลได้อาจแกว่งได้มาก

ประเด็นที่ 6. เจตนาของผู้วิจัยต้องการจะตอบคำถามอะไร เขาต้องการจะตอบคำถามที่ว่า "มีความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางเพศ(ทุกชนิด) กับการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่" เพราะวงการแพทย์สงสัยมานานแล้วว่าฮอร์โมนเพศอาจสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นงานวิจัยนี้ก็จะช่วยตอบคำถามนั้นได้ส่วนหนึ่ง

ประเด็นที่ 7. แล้วข้อสรุปของผู้วิจัย ได้ตอบคำถามของเขาเองหรือเปล่า ความจริงผลวิจัยในภาพรวมออกมาแล้วว่าการมีเซ็กซ์โดยรวมทุกอายุไม่สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก นี่ควรจะเป็นผลสรุปของการวิจัย แต่ผู้วิจัยไพล่ไปหยิบประเด็นย่อยซึ่งไม่ได้เป็นสาระหลักของคำถามของการวิจัยขึ้นมาสรุป แถมสรุปแบบค่อนข้างจะดื้อๆเสียด้วยทั้งๆที่ข้อมูลจะยังไม่เอื้อให้สรุปอะไรได้ ดังนั้นในคำสรุปจึงมีแต่คำว่า “ส่อว่า” บ้าง “อาจจะ” บ้าง “มีความเป็นไปได้” บ้าง ซึ่งล้วนมีความหมายเดียวกันคือ แปลเชิงวิทยาศาสตร์ว่าสรุปอะไรไม่ได้ แต่คนอ่านแตกตื่นว่าช่วยตัวเองแล้วจะเป็นมะเร็ง

ประเด็นที่ 8. ถ้าเราเอาความรู้สถิติพื้นฐานเข้าไปช่วยตีค่าของงานวิจัย ก็จะเห็นว่าข้อมูลไม่สอดคล้องต้องกันให้สรุปอะไรได้ เช่นถ้าจะสรุปว่าการช่วยตัวเองทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นอย่างที่ผู้วิจัยพยายามสรุปให้เข้าใจเช่นนั้น แล้วทำไมคนที่ช่วยตัวเองมากไม่เป็นมะเร็งมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุละ บางกลุ่มอายุเป็นมาก บางกลุ่มอายุกลับเป็นมะเร็งน้อยลง คือไม่มีความสัมพันธ์เชิงเส้นให้เห็นชัดจนสรุปเป็นความสัมพันธ์ได้เลย ที่ผลมันแกว่งไปแกว่งมาก็อาจเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างมันเล็ก แต่ผู้วิจัยกลับเลือกไฮไลท์เฉพาะกลุ่มเล็กที่ให้ผลไปในทางที่ตัวเองอยากได้ ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้ง่ายหากรู้ไม่เท่าทัน

ที่ยกทั้งสองตัวอย่างนี้มาให้ดูก็เพื่อจะให้คุณเข้าใจว่าการจะเอาประโยชน์จากข้อมูลในเว็บนั้น มันก็ต้องมีกึ๋นเป็นทุนอยู่ระดับหนึ่งบ้างเหมือนกัน มันจึงจะเอาประโยชน์ได้ มิฉะนั้นข้อมูลในเว็บก็จะกลายเป็นโทษไปเสียฉิบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Dimitropoulou P, Lophatananon A, Easton D, Pocock R, David P, Guy M, Edwards S, O'Brien L, Hall A, Wilkinson R, Eeles R,Kenneth R. Sexual activity and prostate cancer risk in men diagnosed at a younger age. British Journal of Urology.2009 ; 103:178-185(8)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67