ไขมันทรานส์ (trans fat) จะเล่นถึงยุบ อย.เชียวหรือ
เรียนนายแพทย์สันต์
ขอขอบคุณคุณหมอสันต์ที่เขียนและตอบคำถามให้ความรู้มากมาย หนูเป็นแฟนประจำที่ไม่เคยใช้สิทธิถาม เพราะกลัวคิวยาวถามแล้วคุณหมอไม่ตอบ หนูใส่ชื่อเป็นผู้ติดตามในบล็อกด้วย และได้เอาความรู้เรื่องไขมันทรานส์ที่คุณหมอแนะนำไปใช้ในการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูป หนูไปซื้ออาหารธัญพืชแบบโฮลเกรนอัดเป็นแท่ง เป็นของทำในเมืองไทย ใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วต่างๆ ข้าวกล้อง เป็นต้น แต่ที่ฉลากไม่ได้ระบุว่ามีไขมันทรานส์หรือเปล่า หนูจึงโทรศัพท์ไปถามบริษัทเจ้าของ เขายืนยันว่าของเขาไม่มีไขมันทรานส์ หนูก็บอกว่าถ้าไม่มีไขมันทรานส์จริงทำไมไม่เขียนว่า trans fat = 0 เขาตอบว่าตอนแรกเขาขอทำฉลากอย่างนั้น แต่เจ้าหน้าที่อย.ไม่ยอม โดยบอกว่ากฎหมายไทยไม่ระบุเรื่องไขมันทรานส์ เขาจึงห้ามไม่ให้พูดถึงไขมันทรานส์ในฉลาก จะเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน คนที่จะเอาของผ่านอย.เขาก็ต้องยอมเพราะอยากให้สินค้าผ่านอย.ออกมาขายได้เร็วๆ ที่หนูเขียนมาถึงคุณหมอนี่ก็เพราะอยากถามว่าจริงหรือที่อย.กลัวอาหารที่ดีไม่มีไขมันทรานส์จะได้เปรียบอาหารที่ทำจากไขมันทรานส์จึงไม่ยอมให้บอกในฉลากว่าใครมีไขมันทรานส์หรือไม่ ถ้าจริงหนูว่าเราจะมีอย.ไว้ทำไมกันคะ ยุบไปเสียไม่ดีกว่าหรือ เพราะแทนที่จะช่วยผู้บริโภคกลับกลายเป็นช่วยผู้ผลิตอาหารเลวๆโดยยอมให้ผู้บริโภคเสียหาย
.....................................................
ตอบครับ
มาอีกละ จดหมายเสี้ยมให้ผมทะเลาะกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชอบนักคือเขียนมายุให้ผมด่าหน่วยงานรัฐบาล แล้วผมเองก็มีนิสัยเสีย ขอโทษ พูดใหม่ มีปากเสีย เป็นทุนเดิมอยู่เสียด้วย บางทีจึงเผลอสมยอมไปกับท่านผู้อ่านไปเหมือนกัน แต่วันนี้เล่นกับอย. ซึ่งคนเป็นเลขาธิการก็คือพี่ซี้กากี่นั้งของผมเอง (ไม่รู้ว่าป่านนี้ท่านพ้นหน้าที่ไปหรือยัง) ดังนั้นสำหรับคำถามของคุณ ผมขอตั้งสติตอบแบบกลางๆที่สุดดังนี้นะครับ
1. ประเด็นไขมันทรานส์คืออะไร ก่อนตอบคำถาม ผมขอพูดถึงไขมันทรานส์สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้จักนิดหนึ่งก่อนนะ ไขมันทรานส์ (trans fat) คือน้ำมันพืชเช่นน้ำมันถั่วเหลือง ที่เอาไปผ่านกระบวนการใส่ไฮโดรเจนจนมันแข็งเป็นไขหรือเป็นผง บางทีวงการโภชนาการฝรั่งเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าไขมันแข็ง (solid fat) ไขมันทรานส์ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสำเร็จรูปมากมาย เช่นเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ครีมเทียมใส่กาแฟ เนยเทียม เป็นต้น ประเด็นคือไขมันทรานส์เป็นไขมันก่อโรค ทำให้ระดับไขมันเลว (LDL)ในร่างกายสูงขึ้น ทำให้ตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น จัดเป็นไขมันที่ชั่วร้ายที่สุดในบรรดาไขมันทั้งหลาย ชั่วร้ายกว่าไขมันอิ่มตัวเช่นน้ำมันหมูที่คนทั่วไปกลัวกันนักกลัวกันหนา หลักฐานมีมากจนกฎหมายในยุโรปและอเมริกาบังคับให้อาหารสำเร็จรูปทุกรายการต้องระบุในฉลากว่ามีไขมันทรานส์อยู่เท่าใด
2. ประเด็นตัวบท หรือตัวกฎหมายของไทย เป็นความจริงว่ากฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้อาหารต้องระบุในฉลากว่ามี trans fat หรือไม่ มีบังคับให้ระบุเฉพาะว่ามีไขมันทั้งหมดเท่าใด มีไขมันอิ่มตัวเท่าใด โคเลสเตอรอลเท่าใด โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล โซเดียม และวิตามินตัวเอ้ๆ เท่าใด ดังนั้นอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์ก็จะทำตัวให้ถูกกฎหมายโดยไปซ่อนปริมาณไขมันทรานส์ไว้ที่สัดส่วนของไขมันทั้งหมด อนึ่งเนื่องจากไขมันทรานส์ทำจากน้ำมันพืชซึ่งไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ผลิตที่ใช้ไขมันทรานส์ก็จะฉวยโอกาสแซงหน้าผู้ผลิตรายอื่นที่ใช้ไขมันจากสัตว์เช่นใช้นมใช้เนยโดยการเขียนตัวเบ้งว่า No Cholesterol แค่นี้ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าดีต่อสุขภาพและเฮโลซื้อกินได้แล้ว ทั้งๆความเป็นจริงแล้วถ้าจะกินไขมันทรานส์ไปกินนมกินเนยแท้ๆเสียยังจะดีกว่า เหตุที่กฎหมายไทยไม่ได้บังคับให้บอกจำนวนไขมันทรานส์เนี่ยไม่มีอะไรในกอไผ่หรอกครับ มันมีเหตุผลเดียวเท่านั้น คือกฎหมายนี้ (พรบ.อาหารและยา) ออกมาเมื่อปีพศ. 2522 ซึ่งสมัยนั้นคนยังไม่รู้จักไขมันทรานส์เสียด้วยซ้ำ หลักฐานว่าไขมันทรานส์ไม่ดีต่อสุขภาพเริ่มโผล่มาในงานวิจัยของฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ผมเข้าใจว่าอย.ก็กำลังจะหาทางแก้กฎหมายอยู่ แต่การแก้กฎหมายในเมืองไทยนี้คุณคงเข้าใจนะครับว่าพิธีมันแยะเหลือเกิน ต้องผ่านสภาล่างสภาบน สภาสูงสภาเตี้ย บางฉบับต้องไปผ่านสภาแบน หมายถึงสภาท้องสนามหลวงหรือสภาลานพระรูป พอผ่านเกือบจะครบสภาแล้วก็ปฏิวัติ ต้องไปตั้งต้นที่สนามหลวงใหม่ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นกฎหมายฉบับแก้ไขให้ระบุไขมันทรานส์ผมว่าจะต้องได้เห็นกันแน่ ผมประมาณว่าไม่น่าจะเกินรุ่นหลานของเรา (ขอโทษ ผมปากเสียอีกละ)
3. ประเด็นเจ้าหน้าที่เบี้ยวหรือเปล่า ที่ไม่ยอมให้พูดถึงไขมันทรานส์เพราะไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับกฎหมาย ก็ในเมื่อกฎหมายไม่บังคับให้ระบุในฉลาก แต่คนที่อยากจะระบุในฉลากก็น่าจะทำได้ ที่ไปห้ามเพราะไปรับทรัพย์ธุรกิจที่ใช้ไขมันทรานส์มาหรือเปล่า แหม.. เนี่ย คนเราบทจะคิดมากก็คิดมากไปได้เยอะแยะอย่างเนี้ยแหละครับ ผมตอบตามความเข้าใจของผมนะ ผมไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่เบี้ยวหรอก เพราะแนวทางการทำงานของอย.นั้นมีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่าห้ามอาหารทุกชนิดอวดอ้างสรรพคุณว่าทำให้สุขภาพดี เรียกว่าห้ามอ้าง health claim เพราะฉะนั้นที่เจ้าหน้าที่เขาห้ามไม่ให้พูดอะไรอื่นทั้งนั้นนอกเหนือจากที่กฎหมายบังคับให้พูด ก็อาจเป็นได้ว่าเขากลัวว่าจะไปเข้าข่ายอ้าง health claim จึงห้ามแบบรูดมหาราชเสียเลย ง่ายดี
4. ประเด็นที่ว่าถ้าอย.ตามไม่ทันโลก ก็ยุบอย.ซะเลยดีแมะ แหม ถ้าเล่นกันอย่างนี้ก็ไม่มีหน่วยงานอะไรเหลือเลยนะครับ เพราะโดนคุณสั่งยุบหมด ผมมีความเห็นว่าอย.เป็นเครื่องมือที่ดีมากในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะผู้ผลิตที่ดีๆก็มี ที่ไม่มีจริยธรรมทางการค้าก็มาก มักหลอกลูกค้าเอาตังค์เป็นว่าเล่น มีอย.จึงย่อมดีกว่าไม่มี แม้ว่าจะอืดอาด ไม่ปรู๊ดปร๊าดทันอกทันใจ แต่ผู้บริโภคสามารถช่วยให้อย.ทำงานได้เร็วขึ้นและดีขึ้นได้ อย่างเช่นถ้าคุณสละเวลาเขียนจดหมายเรื่องไขมันทรานส์นี่ไปหาเลขาธิการอย.ก็จะช่วยปรับปรุงการทำงานของอย.ได้มาก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย.ก็จะดีขึ้นเองแหละครับ อย่าไปยุบเขาเลย หิ..หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Hu FB et al. Dietary fat intake and the risk of coronary heart disease in women. New England Journal of Medicine, 1997, 337:1491--1499.
ขอขอบคุณคุณหมอสันต์ที่เขียนและตอบคำถามให้ความรู้มากมาย หนูเป็นแฟนประจำที่ไม่เคยใช้สิทธิถาม เพราะกลัวคิวยาวถามแล้วคุณหมอไม่ตอบ หนูใส่ชื่อเป็นผู้ติดตามในบล็อกด้วย และได้เอาความรู้เรื่องไขมันทรานส์ที่คุณหมอแนะนำไปใช้ในการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูป หนูไปซื้ออาหารธัญพืชแบบโฮลเกรนอัดเป็นแท่ง เป็นของทำในเมืองไทย ใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วต่างๆ ข้าวกล้อง เป็นต้น แต่ที่ฉลากไม่ได้ระบุว่ามีไขมันทรานส์หรือเปล่า หนูจึงโทรศัพท์ไปถามบริษัทเจ้าของ เขายืนยันว่าของเขาไม่มีไขมันทรานส์ หนูก็บอกว่าถ้าไม่มีไขมันทรานส์จริงทำไมไม่เขียนว่า trans fat = 0 เขาตอบว่าตอนแรกเขาขอทำฉลากอย่างนั้น แต่เจ้าหน้าที่อย.ไม่ยอม โดยบอกว่ากฎหมายไทยไม่ระบุเรื่องไขมันทรานส์ เขาจึงห้ามไม่ให้พูดถึงไขมันทรานส์ในฉลาก จะเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน คนที่จะเอาของผ่านอย.เขาก็ต้องยอมเพราะอยากให้สินค้าผ่านอย.ออกมาขายได้เร็วๆ ที่หนูเขียนมาถึงคุณหมอนี่ก็เพราะอยากถามว่าจริงหรือที่อย.กลัวอาหารที่ดีไม่มีไขมันทรานส์จะได้เปรียบอาหารที่ทำจากไขมันทรานส์จึงไม่ยอมให้บอกในฉลากว่าใครมีไขมันทรานส์หรือไม่ ถ้าจริงหนูว่าเราจะมีอย.ไว้ทำไมกันคะ ยุบไปเสียไม่ดีกว่าหรือ เพราะแทนที่จะช่วยผู้บริโภคกลับกลายเป็นช่วยผู้ผลิตอาหารเลวๆโดยยอมให้ผู้บริโภคเสียหาย
.....................................................
ตอบครับ
มาอีกละ จดหมายเสี้ยมให้ผมทะเลาะกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชอบนักคือเขียนมายุให้ผมด่าหน่วยงานรัฐบาล แล้วผมเองก็มีนิสัยเสีย ขอโทษ พูดใหม่ มีปากเสีย เป็นทุนเดิมอยู่เสียด้วย บางทีจึงเผลอสมยอมไปกับท่านผู้อ่านไปเหมือนกัน แต่วันนี้เล่นกับอย. ซึ่งคนเป็นเลขาธิการก็คือพี่ซี้กากี่นั้งของผมเอง (ไม่รู้ว่าป่านนี้ท่านพ้นหน้าที่ไปหรือยัง) ดังนั้นสำหรับคำถามของคุณ ผมขอตั้งสติตอบแบบกลางๆที่สุดดังนี้นะครับ
1. ประเด็นไขมันทรานส์คืออะไร ก่อนตอบคำถาม ผมขอพูดถึงไขมันทรานส์สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้จักนิดหนึ่งก่อนนะ ไขมันทรานส์ (trans fat) คือน้ำมันพืชเช่นน้ำมันถั่วเหลือง ที่เอาไปผ่านกระบวนการใส่ไฮโดรเจนจนมันแข็งเป็นไขหรือเป็นผง บางทีวงการโภชนาการฝรั่งเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าไขมันแข็ง (solid fat) ไขมันทรานส์ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสำเร็จรูปมากมาย เช่นเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ครีมเทียมใส่กาแฟ เนยเทียม เป็นต้น ประเด็นคือไขมันทรานส์เป็นไขมันก่อโรค ทำให้ระดับไขมันเลว (LDL)ในร่างกายสูงขึ้น ทำให้ตายจากโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น จัดเป็นไขมันที่ชั่วร้ายที่สุดในบรรดาไขมันทั้งหลาย ชั่วร้ายกว่าไขมันอิ่มตัวเช่นน้ำมันหมูที่คนทั่วไปกลัวกันนักกลัวกันหนา หลักฐานมีมากจนกฎหมายในยุโรปและอเมริกาบังคับให้อาหารสำเร็จรูปทุกรายการต้องระบุในฉลากว่ามีไขมันทรานส์อยู่เท่าใด
2. ประเด็นตัวบท หรือตัวกฎหมายของไทย เป็นความจริงว่ากฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้อาหารต้องระบุในฉลากว่ามี trans fat หรือไม่ มีบังคับให้ระบุเฉพาะว่ามีไขมันทั้งหมดเท่าใด มีไขมันอิ่มตัวเท่าใด โคเลสเตอรอลเท่าใด โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล โซเดียม และวิตามินตัวเอ้ๆ เท่าใด ดังนั้นอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์ก็จะทำตัวให้ถูกกฎหมายโดยไปซ่อนปริมาณไขมันทรานส์ไว้ที่สัดส่วนของไขมันทั้งหมด อนึ่งเนื่องจากไขมันทรานส์ทำจากน้ำมันพืชซึ่งไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ผลิตที่ใช้ไขมันทรานส์ก็จะฉวยโอกาสแซงหน้าผู้ผลิตรายอื่นที่ใช้ไขมันจากสัตว์เช่นใช้นมใช้เนยโดยการเขียนตัวเบ้งว่า No Cholesterol แค่นี้ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าดีต่อสุขภาพและเฮโลซื้อกินได้แล้ว ทั้งๆความเป็นจริงแล้วถ้าจะกินไขมันทรานส์ไปกินนมกินเนยแท้ๆเสียยังจะดีกว่า เหตุที่กฎหมายไทยไม่ได้บังคับให้บอกจำนวนไขมันทรานส์เนี่ยไม่มีอะไรในกอไผ่หรอกครับ มันมีเหตุผลเดียวเท่านั้น คือกฎหมายนี้ (พรบ.อาหารและยา) ออกมาเมื่อปีพศ. 2522 ซึ่งสมัยนั้นคนยังไม่รู้จักไขมันทรานส์เสียด้วยซ้ำ หลักฐานว่าไขมันทรานส์ไม่ดีต่อสุขภาพเริ่มโผล่มาในงานวิจัยของฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ผมเข้าใจว่าอย.ก็กำลังจะหาทางแก้กฎหมายอยู่ แต่การแก้กฎหมายในเมืองไทยนี้คุณคงเข้าใจนะครับว่าพิธีมันแยะเหลือเกิน ต้องผ่านสภาล่างสภาบน สภาสูงสภาเตี้ย บางฉบับต้องไปผ่านสภาแบน หมายถึงสภาท้องสนามหลวงหรือสภาลานพระรูป พอผ่านเกือบจะครบสภาแล้วก็ปฏิวัติ ต้องไปตั้งต้นที่สนามหลวงใหม่ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นกฎหมายฉบับแก้ไขให้ระบุไขมันทรานส์ผมว่าจะต้องได้เห็นกันแน่ ผมประมาณว่าไม่น่าจะเกินรุ่นหลานของเรา (ขอโทษ ผมปากเสียอีกละ)
3. ประเด็นเจ้าหน้าที่เบี้ยวหรือเปล่า ที่ไม่ยอมให้พูดถึงไขมันทรานส์เพราะไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับกฎหมาย ก็ในเมื่อกฎหมายไม่บังคับให้ระบุในฉลาก แต่คนที่อยากจะระบุในฉลากก็น่าจะทำได้ ที่ไปห้ามเพราะไปรับทรัพย์ธุรกิจที่ใช้ไขมันทรานส์มาหรือเปล่า แหม.. เนี่ย คนเราบทจะคิดมากก็คิดมากไปได้เยอะแยะอย่างเนี้ยแหละครับ ผมตอบตามความเข้าใจของผมนะ ผมไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่เบี้ยวหรอก เพราะแนวทางการทำงานของอย.นั้นมีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่าห้ามอาหารทุกชนิดอวดอ้างสรรพคุณว่าทำให้สุขภาพดี เรียกว่าห้ามอ้าง health claim เพราะฉะนั้นที่เจ้าหน้าที่เขาห้ามไม่ให้พูดอะไรอื่นทั้งนั้นนอกเหนือจากที่กฎหมายบังคับให้พูด ก็อาจเป็นได้ว่าเขากลัวว่าจะไปเข้าข่ายอ้าง health claim จึงห้ามแบบรูดมหาราชเสียเลย ง่ายดี
4. ประเด็นที่ว่าถ้าอย.ตามไม่ทันโลก ก็ยุบอย.ซะเลยดีแมะ แหม ถ้าเล่นกันอย่างนี้ก็ไม่มีหน่วยงานอะไรเหลือเลยนะครับ เพราะโดนคุณสั่งยุบหมด ผมมีความเห็นว่าอย.เป็นเครื่องมือที่ดีมากในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะผู้ผลิตที่ดีๆก็มี ที่ไม่มีจริยธรรมทางการค้าก็มาก มักหลอกลูกค้าเอาตังค์เป็นว่าเล่น มีอย.จึงย่อมดีกว่าไม่มี แม้ว่าจะอืดอาด ไม่ปรู๊ดปร๊าดทันอกทันใจ แต่ผู้บริโภคสามารถช่วยให้อย.ทำงานได้เร็วขึ้นและดีขึ้นได้ อย่างเช่นถ้าคุณสละเวลาเขียนจดหมายเรื่องไขมันทรานส์นี่ไปหาเลขาธิการอย.ก็จะช่วยปรับปรุงการทำงานของอย.ได้มาก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย.ก็จะดีขึ้นเองแหละครับ อย่าไปยุบเขาเลย หิ..หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Hu FB et al. Dietary fat intake and the risk of coronary heart disease in women. New England Journal of Medicine, 1997, 337:1491--1499.