ผมเป็นผู้หญิงคร๊าบ

คุณหมอสันต์ครับ

ใช้ฮอร์โมน,Testosterone,อยู่ครับ,คือผมเกิดมาในร่างผู้หญิง,แต่มีความต้องการจะเป็นผู้ชายมาก,จึงใช้ฮอร์โมนตัวนี้ละครับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ,ทุกๆ2,อาทิตย์,ผลทีได้คือ,สภาพร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงเหมือนผู้ชายมากขึ้น,เสียงเป็นเสียงผู้ชายและ,เริ่มมีหนวดเครา,คือเรียกว่าดูภายนอกจะไม่ทราบเลยว่าผมมีอวัยวะเพศหญิง,เพราะจากรูปร่างภายนอกแล้วผมต้องเข้าห้องน้ำชายครับ,

สิ่งที่อยากจะถามคุณหมอ,คือ,มีอันตรายหรือไม่จากการใช้ฮอร์โมนตัวนี้ไปนานๆ,เพราะเมื่อใช้แล้วประจำเดือนมาน้อยลง,จนถึงไม่มาเลย,และเคยมีเพื่อนบางคนที่ใช้ฮอร์โมนนี้เช่นกันไปปรึกษาแพทย์,ว่าเมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลา,4,ปีขึ้นไป,ต้องทำการตัดมดลูกทิ้ง,อยากรู้ว่าจริงแค่ไหนครับ

ขอบคุณมากครับ

...................................

ตอบครับ

การที่คุณซึ่งเกิดมามีอวัยวะเพศเป็นหญิง แต่ปักใจว่าเพศของตนเองเป็นมันไม่สอดคล้องกับกายวิภาคของตนเอง คืออวัยวะมันเป็นหญิง แต่ใจมันเป็นชาย ก็ย่อมจะมีความทุกข์ใจในเรื่องเพศของตัวเอง (gender dysphoria) ในการจำแนกโรคทางจิต (DSM-IV-TR) ถือว่าความทุกข์นี้เป็นโรคหนึ่ง ชื่อว่า “โรคความผิดปกติในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศใด (gender identity disorder หรือ transexualism)" ความทุกข์นี้เป็นตัวนำไปสู่การเสาะหาการใช้ฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ และการเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนในสังคม การรักษาคนเป็นโรคนี้มุ่งไปที่การรับฟังความเชื่อและเจตคติของเขาแล้วนำมากำหนดแนวทางช่วยเขาลดความทุกข์ (suffering) และช่วยให้เขาอยู่ในสังคมได้โดยยังปล่อยให้เขาสามารถธำรงความเชื่อ ความชื่นชอบ และความฝักใฝ่ในเรื่องเพศของเขาไว้ ดังนั้น การจะช่วยแก้ปัญหาให้เขา ตัวผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น หมอ ครู หรือพ่อแม่ ต้องไม่มีความกลัวเรื่องรักร่วมเพศฝังอยู่ในใจตัวเอง (homophobia) ถ้ามีอยู่ก็ต้องเคลียร์ออกให้หมดก่อน เช่นเดียวกัน ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่อ่านบล็อกนี้ก็ต้อง make your heart หรือ “ทำใจ” ตัวเองไปด้วย มิฉะนั้นก็จะเข้าใจผิดไปว่าทำไมหมอสันต์เป็นตุ๊ดเป็นเกย์เป็นกระเทยด้วยหรือเปล่าจึงเออออห่อหมกไปกับคนเป็นแบบนี้ด้วย

อนึ่ง พึงเข้าใจก่อนนะว่าโรค transexualism หรือความผิดปกติในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศใดนี้ เป็นคนละเรื่องกับการที่ใครสักคนมีความรู้สึกชอบหรือจะ “อิน” หรือจะ “ซึ้ง” หรืออยากจะมีเซ็กซ์กับใคร ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นประเด็น gender orientation และเป็นที่มาของคำเรียกเกย์ (ชายชอบชาย) เลสเบี้ยน (หญิงชอบหญิง) ไบเซ็กช่วล เป็นต้น ไม่เกี่ยวกับ transexualism ดังนั้นคนเป็นเกย์ไม่ได้หมายความว่าต้องมีปัญหาอยากจะใช้ฮอร์โมน อยากจะเปลี่ยนเพศหรือแปลงเพศ มันเป็นคนละเรื่องกัน และการเป็นเกย์เป็นเลสเบี้ยนเป็นไบนี้วงการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรค จุึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. ถามว่าเทสโทสเตอโรนเมื่อใช้ไปนานๆจะมีอันตรายอย่างไรไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียว แต่วงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบ เพราะไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยที่เชื่อถือได้ตีพิมพ์เรื่องนี้ไว้เลย ยิ่งการใช้ในขนาดเกิดความต้องการทางสรีรวิทยาปกติ (over physiologic dose) อย่างที่คุณใช้อยู่นี้ ยิ่งไม่มีใครทราบเลย อันที่จริงการใช้เทสโทสเตอโรนในผู้หญิงทำกันมานานแล้วแต่ใช้ในรูปของยารักษาอาการวูบวาบหลังประจำเดือนหมดในอเมริกาชื่อยา Estratest ซึ่งมีส่วนผสมของเอสโตรเจนกับเมทิลเทสโทสเตอโรน ใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แต่ว่าหลักฐานเรื่องประโยชน์และโทษของยานี้ก็ยังไม่มีเพราะการใช้ต้องแอบใช้เนื่องจาก FDA ไม่อนุญาต ข้อมูลที่มีเท่าที่พอสรุปได้บ้างคือเทสโทสเตอโรนหากใช้ร่วมกับเอสโตรเจนในผู้หญิงจะช่วยทำให้กระดูกแน่นขึ้น ความจำดีขึ้น ความรู้สึกทั่วไปดีขึ้น ความอยากทางเพศมากขึ้น หายซึมเศร้า ขณะเดียวกันข้อเสียที่พอสรุปได้คือทำให้หัวล้านแบบชาย สิวขึ้น ขนดก เสียงห้าว ปุ่มคลิทอริสโตขึ้น ผิวชุ่มน้ำมัน หน้าอกแห้งลง ไขมันดีในร่างกายลดลง (แต่ไม่ทราบว่ามีผลต่อโรคหัวใจหรือไม่) ส่วนผลต่อการเกิดมะเร็งต่างๆรวมทั้งมะเร็งเต้านมยังไม่ชัดว่ามีผลหรือไม่มีผล กรณีใช้ชนิดกินอาจมีพิษต่อตับได้ แต่ถ้าใช้ชนิดฉีดไม่มีพิษต่อตับ แต่ก็ต้องฉีดทุก 10 - 14 วัน

โดยสรุปว่ายังไม่เห็นว่าการฉีดเทสโทสเตอโรนมีพิษชัดเจนอะไรในระยะยาว อยากใช้ก็ใช้ไปเถอะครับ แต่ก็ควรติดตามดูการทำงานของตับและดูระดับไขมันในเลือด เป็นระยะๆไว้บ้างเผื่อเหนียว

2. ถามว่าใช้เทสโทสเตอโรนไปสี่ปีแล้วต้องตัดมดลูกทิ้งจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ ก็ผลของเทสโทสเตอโรนในระยะยาววงการแพทย์ยังไม่รู้กันเลยว่ามีอะไรบ้าง จะไปสรุปเป็นตุเป็นตะว่าถ้าใช้นานต้องตัดโน่นตัดนี่ได้อย่างไร

3. อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมขอพูดกับคุณเองนะครับ คือคุณอยากจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายผมไม่ว่าหรอก แต่อยากจะให้มองการมีชีวิตอยู่ในแง่ของการเป็นคนคนหนึ่งด้วย ไม่เกี่ยวกับการเป็นหญิงเป็นชาย ชีวิตนี้จะกินยังไง จะอยู่ยังไง ที่ไหน ทำงานกับใคร เวลามีทุกข์ จะทำชีวิตให้มีความสุขได้ยังไง จะอาศัยตัวเอง หรือรออาศัยคนอื่น ถ้าอาศัยตัวเองจะฝึกตัวเองเตรียมตัวเองอย่างไร ถ้าจะอาศัยคนอื่น จะอาศัยใคร แล้วจะทำตัวอย่างไรให้เขาเป็นที่อาศัยของเราได้ คือว่าคนที่เป็นโรคความผิดปกติในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศใด (gender identity disorder หรือ transexualism)" อย่างคุณนี้ ท้ายที่สุดแล้วตัวกำหนดว่าชีวิตจะไปดีหรือไม่อยู่ที่ตัวเอง ถ้าไปแขวนชีวิตไว้กับสายตาของคนรอบข้างมาก ก็จะจบลงด้วยโรคซึมเศร้าไปจนถึงคิดฆ่าตัวตาย แต่ถ้ามีความเป็นตัวของตัวเอง มีสติ สามารถสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่คนอื่นยัดเยียดเข้ามาได้อย่างทันท่วงทีและสร้างสรรค์ ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จและมีความสุข



นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



บรรณานุกรม



1. Cabaj RP, Stein TS, eds. Textbook of Homosexuality and Mental Health. Washington, DC:. American Psychiatric Press;1996.

2. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision (DSM-IV-TR). 4th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association; 2000.

3. Watts NB, Notelovitz M, Timmons MC, Addison WA, Wiita B, Downey LJ. Comparison of oral estrogens and estrogens plus androgen on bone mineral density menopausal symptoms and lipid-lipoprotein profiles in surgical menopause. Obstet Gynecol1995;85:529–37.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67