แพทย์ใช้ทุน ถามข้อเสียของการเป็นแพทย์เอกชน

อาจารย์คะ 
หนูเป็นแพทย์ใช้ทุนนะคะ ในมุมมองอาจารย์คิดว่าการเป็นแพทย์เอกชนมีข้อเสียอย่างไรบ้างคะ เทียบกับแพทย์รัฐบาลค่ะ คิดว่าคนส่วนใหญ่คงมองเห็นข้อดีของแพทย์เอกชนมากกว่ารัฐบาลอยู่แล้ว

..........................................

ตอบครับ

     นี่คุณเจาะถามเฉพาะ "ข้อเสีย" ของการเป็นแพทย์เอกชนนะ ผมก็จะตอบแต่ข้อเสียนะ ข้อดีคุณบอกว่าคนเขารู้กันอยู่แล้ว ผมก็จะไม่พูดถึง 

     1. เป็นแพทย์เอกชนมีโอกาสได้พบเห็นผู้ป่วยที่หลากหลายน้อยกว่า จึงไม่เหมาะสำหรับแพทย์จบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ห้องฉุกเฉิน แพทย์ทั่วไป แพทย์จบบอร์ดหรือซับบอร์ดก็ตาม เพราะจบมาใหม่ยังไม่มีความเจนจัดในสาขาของตน รพ.เอกชนส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยไม่หนัก ถ้าเป็นผู้ป่วยหนักต้องรักษากันนานก็จะอยู่ได้แค่ระยะสั้นๆแล้วมักต้องย้ายไปรพ.ของรัฐเพราะเงินหมด ทำให้แพทย์ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ความต่อเนื่องของการรักษา การจบมาอยู่ภาคเอกชนตั้งแต่อายุน้อยจึงมีโอกาสที่จะบรรลุสุดยอดวิชาของตัวเอง (professionalism) ได้น้อยกว่าผู้ที่จบมาแล้วทำงานอยู่ภาครัฐนานๆจนเข้าฝักดีก่อน

     2.การรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นการรักษาที่เหมือนการเล่นพนันเดิมพันสูง เพราะผู้ป่วยจ่ายเงินมากก็คาดหวังมาก จึงมีกรณีฟ้องแพทย์เกิดขึ้นมาก เกิดขึ้นแต่ละรายก็เรียกค่าเสียหายกันแพงระดับขนหัวลุกเกินวงเงินประกันถูกฟ้องที่แพทย์เอาประกันไว้มาก แพทย์จึงต้องทำเวชปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง แม้บางครั้งตั้งใจดีแต่ผลการรักษาไม่ดี ผู้ป่วยไม่เข้าใจก็ขึ้นเสียงทำท่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เรื่องแบบนี้ด้านหนี่งทำให้แพทย์ท้อใจและเป็นทุกข์ อีกด้านหนึ่งทำให้แพทย์ต้องทำเวชปฏิบัติแบบป้องกันตนเอง สั่งตรวจวินิจฉัยมาก ส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางมาก นัดผู้ป่วยมาตามดูบ่อย ทั้งๆที่รู้ว่าผู้ป่วยจะเสียเงินมาก แต่ก็ต้องทำเพื่อป้องกันตัวเอง ทั้งๆที่ไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ

     ในประเด็นความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้องนี้ แพทย์ภาครัฐก็มีความเสี่ยงเหมือนกันในแง่ต้องรักษาผู้ป่วยคราวละมากๆในเวลาอันสั้นทำให้ผิดพลาดง่าย ซึ่งแพทย์เอกชนไม่มีปัญหานี้เพราะมีปริมาณผู้ป่วยน้อยกว่าดูแลได้ทั่วถึงกว่า แต่แพทย์ภาครัฐก็ยังดีกว่าตรงที่วงเงินความเสียหายที่ร้องเรียนกันทางภาครัฐมีวงเงินที่ต่ำกว่ามาก และหากเป็นความเสียหายทางแพ่งก็มีรัฐเป็นผู้จ่ายให้เป็นส่วนใหญ่  

    3. การเป็นแพทย์เอกชนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรักษาคนไข้เท่าน้้น ถ้าไม่รักษาคนไข้ก็ไม่ได้เงินเพราะเป็นระบบได้เงินจากค่าวิชาชีพ (DF) ทำให้ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นซึี่งเป็นความบันเทิงในวิชาชีพที่สนุกและมีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าการรักษา เช่น การวิจัย การสอนแพทย์ สอนพยาบาล การเผยแพร่ความรู้ แม้การจิบกาแฟนั่งประชุมกันในเรื่องมีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง แพทย์เอกชนก็แทบไม่มีโอกาสได้ทำเลย ขณะที่แพทย์ภาครัฐจะปลีกตัวจากงานรักษาไปทำเรื่องพวกนี้ได้มากกว่าหากชอบที่จะทำ โดยที่รายได้ก็ยังเท่าเดิมเพราะเป็นระบบกินเงินเดือน

   4. แพทย์เอกชนมีโอกาสได้ทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้น้อย เพราะปลายทางของการส่งเสริมสุขภาพคือหาทางให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตัวเองโดยลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นลง ลดการมาโรงพยาบาล ลดการมาพบแพทย์ให้น้อยลง แนวทางอย่างนั้นขัดกับความอยู่รอดของระบบเอกชนในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการขายสินค้า คือยา การตรวจวินิจฉัย การทำหัตถการ การผ่าตัดต่างๆ และการรับผู้ป่วยไว้นอนในโรงพยาบาล 

     แพทย์ภาครัฐแม้จะมีความผูกมัดเรื่องเวลามากจนผลสุดท้ายก็ได้ทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคน้อยพอๆกัน แต่โอกาสนั้นเปิดให้สำหรับคนอยากทำอยู่เสมอ ในระดับนโยบายของรัฐก็เน้นการส่งเสริมสุขภาพ มีการเปิดแผนกใหม่ๆ มีนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตลอดเวลา หากแพทย์คนไหนมีความสนใจจะทำเรื่องนี้ก็แทรกตัวเองเข้าไปร่วมทำได้โดยง่ายทุกเมื่อ

     อย่างไรก็ตาม ทั้งการทำการสอนก็ดี การวิจัยก็ดี การทำงานส่งเสริมสุขภาพก็ดี ไม่ใช่ว่ามาอยู่เอกชนแล้วจะถูกห้ามทำหรือทำไม่ได้เสียเลยทีเดียว เพียงแต่กระแสหรือบรรยากาศมันไม่เอื้อและไม่สอดคล้องกับระบบค่าตอบแทนเท่านั้น แพทย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ห่วงเรื่องค่าตอบแทนมากและมีความชอบที่จะทำเรื่องพวกนี้ก็ยังสามารถฝืนกระแสทำได้อยู่แม้จะอยู่ในภาคเอกชน อย่าลืมว่าตัวผมเองสิบปีให้หลังมาจนถึงวันนี้ผมก็เป็นแพทย์เอกชนแบบเพียวๆมาตลอดเลยนะ แต่ผมก็ยังทำงานวิจัย ตีพิมพ์งานวิจัย เปิดคอร์สสอนพยาบาลในโรงพยาบาล ทำงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และเผยแพร่ความรู้ได้ 

     ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ของ "หมอแก่" กับคุณหมอซึ่งกำลังอยู่ในวัยต้นๆของอาชีพนี้ก็คือ การจะอยู่ทำงานภาครัฐต่อ หรือเลือกไปทำงานภาคเอกชนนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ทิศทางหรือ direction ในการใช้ชีวิต สมัยที่ผมยังอยู่ในวัยของคุณหมอ ความคิดของผมก็คงคล้ายของคุณหมอตอนนี้ คือคิดถึงการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว คือเป็นความคิดใน survival mode ผมหมายถึงคิดแบบมนุษย์ถ้ำว่าวันๆจะรอดชีวิตได้อย่างไร วันๆมีแต่การดิ้นรนแถกเหงือกเพื่อให้อยู่รอด ได้กิน ได้ขับถ่าย ได้สืบพันธ์ ได้หลบลี้เข้ามุมนอนหลับโดยไม่ถูกใครมาจับกิน แต่พอไปตั้งต้นอย่างนั้น ชีวิตทั้งชีวิตก็จะเดินไปทางนั้นแบบอัตโนมัติ คือต้องมุ่งหน้าหาเงินจนแก่ตาย โดยมีตัวชี้วัดคือ เงินในบัญชีธนาคาร ถาวรวัตถุต่างๆที่สะสมไว้ได้ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โฉนดที่ดิน หุ้น กรมธรรมประกันชีวิต และการได้ครอบครองสมบัติบ้าต่างๆ  

     แต่ว่า ณ วันนี้ ในวัยนี้ วัยที่มีความเจนจัดในชีวิตมากพอแล้ว มองย้อนกลับไป หากผมมีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ ผมจะไม่ใช้ชีวิตอยู่ใน survival mode อย่างแน่นอน ผมจะใช้ชีวิตอยู่ใน living mode คือใช้ชีวิตอยู่อย่างเต็มอิ่มกับความรู้ตัวที่สงบเย็นให้ได้มากที่สุดทุกวัน กล่าวคือผมจะใช้ชีวิตแบบเบาๆ ทำเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง มีเวลาให้ตัวเองในแง่ของการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการจัดการความเครียด ใช้ชีวิตแบบมองเห็นตัวเองกระโดดโลดเต้นไปตามหน้าที่แต่ว่าทิ้งระยะห่างเล็กน้อย ไม่อินมาก ด้วยความ "รู้" ว่าชีวิตมันเป็นเพียงละครที่ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน พวกเพื่อนแพทย์ด้วยกันหรือรุ่นพี่ๆเขาจะมีวีรกรรมเก่งกาจอย่างไรหรือหาเงินหาทองได้มากอย่างไรผมไม่สน เพราะนั่นเรืื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของผม ผมจะไม่เปรียบเทียบ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้ผมเสียความเป็นตัวของตัวเองและหลงทางตามเขาไป เวลาทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ผมจะไม่ไปคาดหวังให้คนอื่นทำอะไรให้ได้อย่างที่ใจผมอยากให้มันเป็น ไม่ไปพยายามเป็นนายใคร เวลามีเหตุการณ์ใหญ่ความเป็นความตายอะไรผมก็จะรับมือกับมันด้วยวิธีสงบนิ่งปล่อยให้เหตุการณ์คลี่คลายตัวมันเองทีละช็อต ทีละช็อต ไม่ไปกะเกณฑ์วางแผนอะไร ถ้ามีลูกผมก็จะเลี้ยงดูเขาให้เติบโตไปตามสภาพของเขา แต่จะไม่ไปตีตราว่าเป็นลูกผมแล้วต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเข้าเรียนที่นั่นที่นี่ จบที่นั่นที่นี่ เวลาทำงานผมก็จะลงมือทำโดยไม่คาดหวังผลอะไร ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินหรือกล่อง ได้แค่ไหนก็แค่นั้น และจะทำทีละอย่างด้วย ไม่วางแผนเยอะแยะมากมาย เสร็จอย่างหนึ่งแล้วค่อยไปทำอีกอย่างหนึ่ง และจะไม่สนใจอะไรไกลๆยาวๆด้วย บ้านไม่มีก็อยู่บ้านหลวง อยู่กรุงเทพไม่มีเงินซื้อบ้านก็หาทางย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ทรัพย์สมบัติอะไรผมก็จะไม่วิ่งตามไปซื้อหามาครอบครองแบบคนอื่น มีแต่สิ่งที่จำเป็นต้องมี และพอใจกับสิ่งที่มีและที่เป็น ไม่ไปขวานขวายหาสิ่งที่ไม่มีและไม่ได้เป็น ด้วยความรู้ว่าทั้งหมดนั้นมันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของการใช้ชีวิต ในแง่ของการเลือกงาน ผมก็เลือกทำสิ่งที่ผมชอบและสนุกกับมัน ความที่ผมชอบงานส่งเสริมสุขภาพ ผมก็จะสมัครไปอยู่รพช. (โรงพยาบาลชุมชน) หรือขอเจ้านายออกไปอยู่รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) แบบถาวรติดที่ถ้าเจ้านายเขายอมให้ไป ประมาณนี้ คือด้วยความเจนจัดชีวิตเท่าที่ผมมีอยู่ ณ วันนี้ ผมประเมินว่าชีวิตใน living mode อย่างนี้คุ้มค่ากว่าการใช้ชีวิตใน survival mode อย่างที่ผมได้ดำเนินชีวิตตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.............................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1.
สวัสดีครับอาจารย์
ขออนุญาตกราบคำตอบของอาจารย์
เป็นคำตอบที่สุดยอดของมนุษย์ทางโลกแล้วครับ ส่วนใครจะเจริญต่อไปในทางใดก็สุดแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไปในอดีตและอนาคต
ผม ... อายุรแพทย์โรคไตบ้านนอก โรงพยาบาล ... ไม่ไกลจากไร่อาจารย์ อายุ 50 ปี เป็นขรก.มาตลอดตั้งแต่เรียนจบ ได้บทเรียน ได้มุมมองจากการติดตามอ่านมากมาย เพิ่งตัดสินใจเขียนแนะนำตัวคร้ังแรกก็เพราะคำแนะนำนี่ล่ะครับ
ด้วยความเคารพ
..............................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2.
กราบคุณหมองาม ๆ ด้วยความขอบพระคุณในการแบ่งประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าเช่นนี้ ไม่จำเพาะแต่อาชีพหมอเท่านั้น ที่ถ้าเริ่มต้นด้วย survival mode แล้วก็จะต้องเป็นเช่นนั้นจนตาย (ในคนส่วนใหญ่) โชคดีที่เทวดาเมตตาให้หนูเริ่มต้นด้วยโหมดดังกล่าวมาจนถึงอายุ ห้าสิบปลาย แล้ว เกิดการตระหนักรู้ แล้วยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้างในชีวิตที่จะทำชีวิตให้อยู่ในโหมดใหม่ ที่คุณหมอเรียก "living mode" ซึ่งเป็นโหมดที่สำคัญ เป็นโหมด "ทำสุข" แก่ตนเองและผู้อื่น
.........................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3.
ขอบคุณคุณหมอมากๆ ลูกสาวจะจบแพทย์ปีหน้า ทางที่คุณหมอเดิน คิดว่าลูกคงเดินตามได้โดยไม่หลงทางแน่ๆ อ่านแล้วเห็นทะลุเลยว่าจะอยู่อย่างไรให้ได้กำไรชีวิต สุขภาพแข็งแรง พอเพียง คุ้มค่า คงต้องอ่านกันจนเมื่อยลูกอ่านไทยไม่ออก ถ้าคุณหมอมีภาคภาษาอังกฤษด้วยจะเป็นประโยชยน์มากมายจริงๆ กับคำถามตอบใน page คุณหมอ very very thank you
.......................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 4.
หมอบางคนออกไปอยู่เอกชน เพราะได้เงินพอเลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องโดนบังคับขึ้นเวรเหมือน รพ รัฐ ( ไม่ต้องอยู่เวรบ่าย ดึก ) ทำให้มีเวลาเหลือๆ ไปทำอย่างอื่นบ้าง ในขณะที่ หมอ รพ. รัฐบาล เงินเดือนน้อย ส่วนนึงจะเข้าสู่ survival mode กันแทบทุกคน ตอนเย็นเปิดคลินิก เสาร์ อาทิตย์ขึ้นเวรเอกชน จนไม่มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น ยกเว้น อยู่แบบข้าราชการทั่วไป

........................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 5.
ส่วนใหญ่เป็นอย่างที่คุณ ... comment จริง ส่วนน้อยทำวิจัย เพื่อได้ตำแหน่งวิชาการและเงินสนับสนุน และน้อยที่สุดคือทุ่มเทให้กับการสอนนักศึกษาแพทย์

.......................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 6.
สวัสดีครับ ผมได้อ่านบทความอาจารย์ในเพจ แล้วได้คิดอะไรเยอะขึ้นเลยครับ ขอบคุณนะครับสำหรับแนวคิด living mode คือผมเพิ่งอายุ 30 แล้วกำลังคิดว่า..หรือเราจะคิดอะไรผิดไป เพราะเพื่อนส่วนมากไม่ชอบ mode นี่อ่าครับ แต่พอได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้นครับ 

......................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 7.

Survival​ mode = Struggle for a better life ต่อสู้​ดิ้นรน​เพื่อ​ชีวิต​ที่(คิดว่าน่าจะ)​ดีกว่า
Living mode = Life settle-down in a peace-of-mind state ชีวิต​อยู่​ในสถานะ​เพียงพอ​มีความสงบ​ของ​จิตใจ

..........................................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี