ออกซิเจนไม่ใช่ยาผีบอกที่จะลดการตายจากโรคหัวใจได้

คุณพ่ออายุ 64 เป็นโรคหัวใจ เข้ารพ.กลางดึก หมอว่าเป็น heart attack ต้องทำบอลลูนสามเส้นฉุกเฉิน ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านแล้วแต่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่บ้าง หนูให้ย้ายมานอนชั้นล่าง หนูพยายามจะเตรียมความพร้อมที่บ้าน ตัวหนูเองได้ฝึกทำ CPR ตามที่คุณหมอสันต์สอนในยูทูป จนมั่นใจแล้วว่าทำได้ หนูว่ากำลังจะไปหาซื้อออกซิเจนมาเผื่อเวลาฉุกเฉิน ขณะนำส่งรพ.จะได้มีออกซิเจนให้ท่านได้ นอกจากนี้แล้วหนูควรจะเตรียมอะไรอีกไหมคะ

...........................................

ตอบครับ

      พูดถึงออกซิเจน คนทั่วไปมองออกซิเจนว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางการแพทย์ ชนิดที่ถ้าไม่มีก็จะถือเอาเป็นเหตุฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาจากแพทย์หรือรพ.ได้ สมัยก่อนผมทำงานให้ฝรั่ง มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อริชาร์ดเป็นหมอเหมือนกันเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ก่อนมามีอาชีพหมอริชาร์ดมีอาชีพเป็นสัปปะเหร่อหากินอยู่แถวเมืองดัลลัส เขาเล่าว่าตอนนั้นมันประมาณปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นยุคที่สำนักงานสัปปะเหร่อ (funeral house) ยังประกอบธุรกิจวิ่งรถฉุกเฉินส่งผู้ป่วยหนักอยู่ แต่ก็กำลังเสียพื้นที่ให้ระบบรถฉุกเฉินของเทศบาลซึ่งออกรถมาทำธุรกิจเดียวกันทำให้ธุรกิจนี้สาละวันเตี้ยลงๆ ริชาร์ดเล่าว่า ณ จุดที่ก่อนจะเจ๊ง ไม่มีเงินซื้อแม้แต่ออกซิเจนที่ใช้นำส่งคนไข้ เวลานำส่งผู้ป่วยหนักต้องเอาหน้ากากออกซิเจนทำทีครอบจมูกผู้ป่วยไว้ ตั้งถังออกซิเจน ต่อสาย แล้วให้พนักงานคนหนึ่งนั่งเฝ้าผู้ป่วยอยู่ข้างหลัง แล้วชวนญาติผู้ป่วยมานั่งข้างหน้าข้างคนขับ แล้วให้พนักงานที่นั่งข้างหลังทำเสียง ซื่อ..อ...อ ทำทีเป็นว่ามีออกซิเจนไหลอยู่พอให้ญาติได้ยิน เพราะที่จริงแล้วมีแต่ถังเปล่า จะไม่หลอกว่ามีออกซิเจนก็ไม่ได้ เพราะญาติผู้ป่วยถือว่าออกซิเจนสำคัญเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย ความเชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่ตอนโน้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วออกซิเจนมันไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับการที่ผู้ป่วยหนักโรคห้วใจจะรอดหรือไม่รอดเลย เว้นเสียแต่จะเป็นผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนเป็นทุนเช่นเป็นโรคทางเดินลมหายใจอุดกั้นอยู่ก่อนเท่านั้น

      ไม่มานมานี้มีการทำวิจัยขนาดใหญ่งานหนึ่งที่สวีเดน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ในงานวิจัยนี้เขาทำกับผู้ป่วยที่หัวใจวาย (heart attack) ที่เข้ามาในระบบรพ. 35 แห่งที่สวีเดน จำนวน 6243 คน นับตั้งแต่เคลื่อนย้ายจากบ้านมาเลย โดยวัดออกซิเจนที่ปลายเล็บแล้วเลือกเอาคนที่ได้ออกซิเจนปลายเล็บ (O2Sat)สูงกว่า 90% (ซึ่งก็คือคนไข้เกือบทั้งหมด) มาจับฉลากแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ใช้ออกซิเจนผ่านหน้ากากครอบปากและจมูกตลอดแบบมาตรฐานทุกวันนี้ กลุ่มที่สองไม่ให้ออกซิเจนเลยไม่ว่าจะอาการหนักหรือพะงาบหรือหัวใจหยุดเต้นก็ไม่ให้ออกซิเจน แล้วดูผลว่ากลุ่มไหนจะตายมากกว่ากัน ปรากฎว่าตายเท่ากัน แม้แต่ผลเลือดเช่นความเป็นกรดด่างของเลือดก็ไม่ต่างกัน และเมื่อตามดูไปนานหนึ่งปีผลต่างๆก็ยังไม่ต่างกันอยู่นั่นเอง จึงสรุปจากงานวิจัยนี้ได้ว่าสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีโรคอื่นที่ทำให้ขาดออกซิเจนอยู่ก่อนแล้ว ออกซิเจนเป็นเพียงประเพณีนิยมในการรักษาเท่านั้น หามีประโยชน์อะไรมากไปว่าการอยู่เปล่าๆไม่

     ถามว่าการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินทางด้านหัวใจมีอะไรบ้าง ตอบว่านอกจากการให้คนใกล้ชิดไปเรียน CPR อย่างที่คุณทำไปแล้ว สิ่งที่ควรทำนอกจากนั้นคือ

1. การมีแผนปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งเป็นกระดาษครึ่งแผ่นห้อยฝาบ้านไว้ ในนั้นเขียนสั้นๆ
1.1 เบอร์โทรศัพท์หมอเจ้าประจำ
1.2 เบอร์โทรศัพท์รพ.
1.3 จะใช้รถของใคร ถ้าเอารถรพ.มารับ เขารู้วิธีมาหรือยัง เขามีระบบแผนที่นำทางที่ลงบ้านเราไว้ในแผนที่เขาแล้วไหม ถ้าไม่มีก็ประสานงานกับรพ.เสียก่อน ถ้าจะเอารถจากบ้านไปส่ง จะใช้รถคันไหน ใครเป็นคนขับ คนขับรู้เส้นทางหรือยัง
1.4 รายการยาที่ท่านกินอยู่ประจำ เขียนไว้หน้าแรกให้ชัด ให้หมออ่านเห็นง่ายๆ

2. การใช้ชีวิตที่บ้านให้
2.1 ออกกำล้งกายจนถึงระดับเหนื่อยแฮ่กๆทุกวัน ไม่ต้องย้ายมานอนชั้นล่าง ให้เดินขึ้นบันไดไปนอนชั้นบนนั่นแหละ เพียงแต่ขึ้นลงช้าๆ หยุดกลางบันไดถ้าจำเป็น
2.2 กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ
2.3 จัดการความเครียดให้ดี
2.4 ถ้ายังทำงานให้กลับไปทำงานตามปกติ ถ้าเกษียณแล้ว ให้ออกไปสมาคมนอกบ้านบ้าง อย่าปล่อยให้ซึมเศร้าอยู่ในบ้านคนเดียว

3. เฉพาะกรณีที่เงินเหลือใช้และลูกหลานมีความพร้อมในการใช้งาน อาจซื้อเครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (automatic external defibrillator - AED) มาห้อยฝาบ้านเหมือนห้อยเครื่องดับเพลิงไว้และซ้อมการใช้งานปีละครั้งสองครั้ง การได้ช็อกไฟฟ้าเร็วเป็นปัจจัยแรกสุดที่จะทำให้ผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันมีอัตรารอดชีวิตสูงสุด เครื่องนี้ราคาเครื่องละหลายหมื่นอยู่ แต่ราคาเครื่องยังไม่สำคัญเท่ามีคนที่พร้อมจะใช้เครื่องนี้หรือเปล่า

4. ส่วนออกซิเจนนั้นผมไม่นับเป็นสิ่งจำเป็น คุณซื้อมาแล้วจะเก็บไว้ใช้ตามประเพณีนิยมก็ได้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hofmann R, James SK, Jernberg T, et al. Oxygen therapy in suspected acute myocardial infarction. N Engl J Med. DOI: 10.1056/NEJMoa1706222

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี