นักศึกษาแพทย์ สมองไวแต่ผลงานแย่

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
ผมเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับการเจริญสติที่อาจารย์ได้ลงบทความไว้เรื่อยมา อยากจะขอคำปรึกษาอาจารย์ซักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้
ถ้าเปรียบเป็นลักษณะการเรียนแพทย์ ก็เหมือนกับสอบ OSCE ที่เรารู้ทฤษฏีรู้ขั้นตอนการตรวจร่างกายเป็นอย่างดี ฝึกซ้อมกับผู้ป่วยในวอร์ดมานับไม่ถ้วน ......แต่เมื่ออยู่ในห้องสอบ  มือไม้มันก็พาลจะสั่นเสียอย่างงั้น ลืมวิธีตรวจร่างกายไปซะอย่างงั้น ความรู้ที่เข้าใจ ก็หายไปตามความร้อนรน Performance ที่แสดงออกมันก็ไม่ได้ดังที่ตั้งใจไว้
การปล่อยวางความคิด มันก็เข้าใจทฤษฏีดี เข้าใจจุดประสงค์ เข้าใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ฝึกเลิกสนใจมัน ฝึกแยกมันก็พอทำได้ แต่พอเจอสถานการณ์ที่กดดันมากๆเข้า เราก็ลืมวิธีวางความคิดไปเสียอย่างงั้น กลืนไปกับมันแบบไม่รู้ตัว อารมณ์โกรธก็ลืมวิธีแก้ อารมณ์เศร้าก็แยกออกมาไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวมีสติ มันก็สายไปเสียแล้ว
บางครั้งความคิดที่ว่าปล่อยได้ไปแล้ว มันก็วนกลับมาให้คิดอีก พยายามกลับมาซ้ำๆเรื่อยๆ ให้เสียเวลาเสียอารมณ์ พาลจะหงุดหงิดใจตัวเองเสียเปล่าๆด้วย
จึงอยากจะขอคำแนะนำและเทคนิคจากอาจารย์ ในเรื่องนี้เพื่อจะได้นำไปใช้ให้มีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ได้จริง ไม่ต้องทำเป็นใจเย็นทั้งๆที่ข้างในยังไม่พอใจยังยึดมั่นอยู่กับความคิดทั้งเรื่องความโกรธ ความกลัว และความเศร้า
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
นศพ ตัวเล็กๆคนหนึ่ง

..............................................................

ตอบครับ

     ผมจั่วหัวเรื่องจดหมายคุณหมอไว้เพราะคิดขึ้นได้ว่าจะเล่าถึงคนบางคนที่อยู่เฉยๆก็ดูสงบดีแต่เวลามีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นแล้วจะกลายเป็นคนลนลานขี้ตื่นพูดอะไรออกมาแบบพร่างพรูไม่มีหูรูด หรือไม่ก็เผลอทำอะไรเกือบสิบอย่างในได้เวลาสองสามวินาที เรื่องที่จะเล่านี้เป็นโจ๊ก เรื่องมีอยู่ว่าสมัยก่อนหลายสิบปีมาแล้วมีรายการทีวี.ยอดฮิตในกรุงเทพรายการหนึ่งเรียกว่ารายการ "แม่บ้านสมองไว" คือเอาผู้หญิงที่ทำงานครัวมาแข่งกันตอบคำถามประลองความรู้เรื่องการทำอาหารและงานบ้านงานครัว โดยให้แย่งกันกดกริ่ง คนที่กดกริ่งได้ก่อนก็จะได้ตอบก่อน และต้องรีบตอบเพราะมีเวลาให้จำกัด แล้วก็มาถึงคำถามหนึ่งซึ่งพิธีกรถามว่า

     "อะไรที่คุณเอาโรยใส่ไข่ให้คุณผู้ชายตอนเช้า" 

     แล้วเหล่าแม่บ้านก็รีบแย่งกันกดกริ่ง คนที่กดได้ก่อนรีบชิงเพื่อนตอบว่า

     "แป้งฝุ่นค่ะ"

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     คุณก็เหมือนแม่บ้านสมองไวคนที่ปล่อยไก่นั่นแหละ พอมีอะไรกระตุ้นหน่อยก็ลนลานพร่างพรูออกไปอย่างอัตโนมัติ กลไกการเกิดมันเป็นอย่างไรคุณก็รู้อยู่แล้ว เพราะคุณบอกเองว่าคุณอ่านบทความผมมาพักใหญ่แล้ว แต่เพื่อจะตอบคำถามคุณว่าจะแก้ปัญหานี้ของคุณได้อย่างไร ผมทบทวนกลไกการเกิดความคิดสนองตอบต่อสิ่งเร้าให้คุณฟังอีกทีนะ กลไกมันเป็นอย่างนี้

     (1) เริ่มจากเมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา มันจะถูกแปลงเป็นภาษาหรือภาพขึ้นในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

     (2) แล้วภาษาหรือภาพนั้นจะตกกระทบบนร่างกายเกิดเป็นอาการบนร่างกาย (body symptom)

     (3) แล้วตกกระทบใจเกิดเป็นความรู้สึกในใจ (mental feeling)

     (4) ต่อจากนั้นจึงความคิดสนองตอบ (thought) จึงจะก่อตัวขึ้น โดยเอาความจำเก่าๆขึ้นมาชงเป็นความคิดสนองตอบใหม่โดยอัตโนมัติ เป็นการสนองตอบแบบวงจรสะท้อนกลับทันที (reflex) โดยเป็นวงจรชนิดที่รวมเอาความจำในอดีตไว้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วย (conditioned reflex) เหมือนกับสุนัขที่ถูกฝึกให้น้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง เพราะมันจำได้ว่าเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วต่อไปก็จะได้กินอาหาร

     ดูจากกลไกการเกิดแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปลงมือแก้ไขที่ตรงไหนใช่ไหม เพราะมันเป็นอัตโนมัติของมันไปหมดแล้ว แต่ความจริงแล้วมันแก้ได้ เพราะทั้งหมดที่เป็นขั้นๆนี้มันเป็นไฟฟ้าแบบกระแสประสาท (impulse) เกิดขึ้นแว้บเดียวแล้วก็ดับไป ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน หากคุณเสียบความสนใจ (attention) ของคุณเข้าไปขัดที่ขั้นตอนไหนก็ตาม กลไกการก่อความคิดจะหยุดกึกที่ตรงนั้นทันที

     การฝึกในทางปฏิบัติ ผมแนะนำให้คุณเริ่มเสียบความสนใจเข้าไปที่ขณะเกิดอาการบนร่างกาย เมื่อคุณมีเรื่องตื่นเต้นมากระตุ้นหรือกระตุกต่อมโมโหหรือต่อมกลัวจนขี้ขึ้นสมอง ให้คุณหันความสนใจไปดูร่างกายคุณทันที ดูลมหายใจของคุณว่ามันเร็วขึ้นฟืดฟาดอย่างไรหรือเปล่า ดูใจของคุณว่ามันเต้นเร็วขึ้นตักๆๆๆหรือเปล่า ดูความรู้สึกบนผิวหนังของคุณว่ามันร้อนผ่าวๆๆหรือเย็นเฉียบอย่างไรหรือเปล่า ถ้าพบว่ามีความรู้สึกใดๆเกิดขึ้นบนร่างกาย ให้คุณหยุดดูมันอยู่ตรงนั้น ดูเฉยๆงั้นแหละ เฝ้าดูมัน ไม่ต้องไปรีบร้อนลนลานว่าจะต้องรีบทำข้อสอบ จะต้องรีบตอบครูหรือจะต้องอะไรทั้งนั้น เชื่อผม คุณทิ้งความสนใจเรื่องอื่นมาเฝ้าดูร่างกายคุณส่วนที่มันมีอาการผิดเพี้ยนไป เฝ้าดูมัน แล้วคุณจะเห็นว่าเมื่อถูกเฝ้าดูมันจะค่อยๆสงบลง พอร่างกายสงบแล้วคุณจะประหลาดใจว่าที่มันเคยวิ่งต่อไปเป็นความรู้สึกในใจก็ไม่รู้หายเกลี้ยงไปไหน แน่นอนว่าเมื่อไม่มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นในใจ อะไรที่จะวิ่งต่อไปเป็นความคิดต่อยอดก็ไม่มี แค่นี้คุณก็คุมความขี้ตื่นของคุณได้แล้ว

     ถ้าเสียบความสนใจลงไปในขั้นตอนเกิดอาการบนร่างกายไม่ทัน ความรู้สึกชอบไม่ชอบได้เกิดขึ้นในใจแล้ว ก็ไม่เป็นไร ให้คุณเสียบความสนใจเข้าไปจดจ่อที่ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบที่เกิดขึ้นในใจแล้วนั้น จดจ่อเฝ้าดูอยู่อย่างนั้นแหละ ยังไม่ต้องไปสนองตอบต่อคนอื่นที่ข้างนอก ปล่อยให้เขารอไป รอจนอาการบนร่างกายหรือความรู้สึกในใจของคุณสงบลง ไม่มีใครเขาว่าคุณหรอกหากคุณจะสนองตอบต่อเขาช้าไปสักหลายๆวินาทีหรือเป็นนาทีก็ยังได้ ขอแค่ให้การสนองตอบนั้นเป็นไปอย่างสุขุมคัมภีรภาพก็แล้วกัน ไม่ใช่ช้าก็ช้า แถมยังตื่นตระหนกจนทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่อีกต่างหาก

     เขียนมาถึงตรงนี้นึกขึ้นได้ ขอเล่าเรื่องครูที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่งท่านเล่าให้ผมฟังว่าสมัยท่านไปทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่เมืองนอกใหม่ๆ ได้เข้าช่วยเจ้านายฝรั่งทำผ่าตัด ทั้งประหม่า ทั้งกลัวจะทำอะไรผิด ทั้งภาษาก็ยังไม่แข็งแรง จึงทำอะไรเงอะๆงะๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะกำลังผ่าตัดหัวใจเข้าด้ายเข้าเข็ม สถานะการณ์กำลังยุ่งยาก ครูของผมเล่าว่าท่านกำลังใช้มือประคองท่อส่งเลือดดำใหญ่ (venous canula) อยู่ นายฝรั่งซึ่งกำลังจดจ่ออยู่กับการแก้ปัญหาที่ตรงหน้าเหลือบขึ้นมาเห็นเข้าแล้วคงจะนึกเดาในใจว่าครูของผมจะดึงท่อออกจึงร้องห้ามเสียงหลง แต่เจ้านายผมได้ยินชัดหูว่า

     "Pull it out. Pull it out"

     "ดึงออก ดึงออก"

     ครูของผมซึ่งกำลังตื่นตระหนกได้ที่อยู่แล้วก็เลยดึงท่อออก เลือดพรูออกมาท่วมจอผ่าตัด เจ้านายร้องด่าครูของผมลั่นไม่มีชิ้นดีว่าข้าสั่งว่าอย่าดึงออก อย่าดึงออก เอ็งไปดึงออกทำไมวะ ร้อนถึงพยาบาลใหญ่ต้องมาช่วยห้ามทัพโดยให้การเข้าข้างครูของผมว่า

     "Sir. You did say pull it out"

     "ท่านสั่งเองนะว่าให้ดึงออก"

     สรุปว่าฝ่ายหมอน้อยหน้าใหม่นั้นกลัวตื่นเต้นขาดสติได้ที่อยู่แล้ว ได้ยินคำสั่งก็ดึงพรวดโดยไม่ทันยั้งคิด แต่เจ้านายเองก็สาละวนอยู่กับการผ่าตัดจนเผลอพูดผิดๆถูกๆ เมื่อขาดสติทั้งคู่ เลือดจึงท่วมจอไปตามระเบียบ

     กลับมาคุยกันเรื่องของเราต่อ ในการเริ่มต้นฝึกวางความคิดยามหน้าสิ่วหน้าขวาน คุณหมอต้องฝึกวางความคิดในยามสงบให้เชี่ยวชาญก่อน เลือกเวลาที่ชีวิตกำลังเรียบๆสบายๆ เช่นกำลังกินข้าว กำลังอาบน้ำ กำลังเดิน กำลังโหนรถไฟฟ้า ใช้เวลานั้นฝึกเป็นขั้นๆดังนี้

     ขั้นที่หนึ่ง ฝึกถอยความสนใจออกมาจากความคิดหรือสิ่งภายนอกใดๆมาอยู่ที่อาการของร่างกาย ดูการหายใจซิว่ากำลังหายใจเข้าหรือกำลังหายใจออก ดูความรู้สึกบนผิวกายซิว่ามีความรู้สึกวูบวาบสะดุ้งสะเทือนไหวตรงไหนไหม ดูใจซิว่ามันเต้นเร็วผิดปกติหรือเปล่า ถ้าตรงไหนมันมีอาการผิดปกติก็เฝ้าดูมันจนมันสงบลง แล้วบอกให้ร่างกายผ่อนคลาย ยิ้มที่มุมปากเสียหน่อยก็ได้ เป็นสัญญาณว่าความคิดหมดแล้ว ร่างกายผ่อนคลายได้แล้ว

     ขั้นที่สอง เมื่อร่างกายสงบและผ่อนคลายแล้วก็ฝึกถอยความสนใจจากอาการบนร่างกายมาดูความรู้สึกในใจ เป็นการย้อนดูนะ ว่าเมื่อตะกี้ใจมีความรู้สึกอะไรอยู่หรือเปล่า ชอบไม่ชอบอะไรอยู่หรือเปล่า ถ้ามีความรู้สึกก็เฝ้าดู เฝ้าดูจนความรู้สึกนั้นมันฝ่อหายไป

     ขั้นที่สาม เมื่อร่างกายก็สงบแล้ว ความรู้สึกในใจก็สงบลงแล้ว คราวนี้ให้ถอยความสนใจเข้ามาอยู่กับความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ซึ่งเป็นชั้นในสุดของความเป็นเรา โดยการกวาดดูขยะที่หุ้มห่อความรู้ตัวอันได้แก่ความง่วงและความคิดแสนเลวสี่เหล่า (อยาก หงุดหงิด ฟุ้งสร้าน สงสัย) ถ้ามีก็เฝ้าดูมัน เฝ้าดูเฉยๆ แล้วมันจะฝ่อหายไปเอง ท้ายที่สุดก็จะเหลือแต่ความสนใจจอดนิ่งอยู่ในอู่ของมันคือที่ความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้นั่นเอง พยายามจอดอยู่ตรงนี้ให้นานที่สุด ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำใด้

     ให้คุณหมอขยันทุ่มเทฝึกฝนไป ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลาที่ว่างจากการเรียนและการทำงาน โดยจ้องฝึกเอาเวลายืน เวลาเดิน เวลากิน เวลานั่งหรือโหนรถ เป็นเวลาเหมาะที่จะฝึกดีนัก ปัจจัยเดียวที่จะกำหนดว่าใครจะหลุดพ้นจะไม่หลุดพ้นก็คือความเอาจริงเอาจังในการฝึก ปัจจัยอื่นล้วนจิ๊บจ๊อย ขอให้มอบกายถวายชีวิตกับเรื่องนี้ เอาจริงเอาจัง ฝึกฝนมันไม่หยุดหย่อน แล้วผมพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียว ว่าในที่สุดแม้ยามหน้าสิ่วหน้าขวานคุณหมอก็จะมีสติและสนองตอบต่อสิ่งเร้าได้อย่างสงบเย็นและเป็นบวก

     จำไว้ว่าเฉพาะผู้เอาจริงเอาจังขยันฝึกฝนอย่างไม่หยุดหย่อนเท่านั้น ที่จะหลุดพ้นจากกรงของความคิดของตัวเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี