ทำไมยักคิ้วหลิ่วตาเหมือนคนเป็นโรคจิต (Meige syndrome)
เรียนคุณหมอสันต์
หนูเป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ .... ขอรบกวนถามอ.เรื่องคุณแม่ซึ่งมีปัญหาขยิบตาซ้ายและหนังตาซ้ายหรุบ ค่อยๆเป็นมาสี่ห้าปีแล้วแต่มาปีนี้เป็นมากจนมองอะไรไม่ค่อยเห็นเพราะหนังตามันหรุบลงมาบัง และกระพริบตาถี่ขึ้น แถมยักคิ้วหลิ่วตาประหล้บประเหลือก เหมือนคนเป็นโรคจิต หนูเคยพาไปหาจิตแพทย์แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าจิตปกติดี หนูสังเกตว่าคิ้วข้างซ้ายของคุณแม่หล่นลงมาต่ำกว่าเดิม หนูถ่ายรูปมาให้ดู พาไปหาหมอตาบอกว่าน่าจะเป็น MG แนะนำให้พาไปรักษากับหมออายุรกรรมประสาท ซึ่งตรวจแล้วก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรค MG และแนะนำให้กลับไปรักษากับหมอตา พาไปรักษากับหมอตาที่ ... และที่ ... ก็พูดเหมือนกันว่าเป็นหนังตาย่นในคนสูงอายุควรจะผ่าตัดทำตาสองชั้น ได้นัดทำตาสองชั้นแล้วแต่ยังไม่ถึงวันนัด หนูสงสัยอยางเดียวว่าแล้วอาการขยิบตาถี่ๆมันเกิดจากอะไรหรือคะ
ขอบพระคุณอ.นะคะ
.........................................................
ตอบครับ
ผมเก็บจดหมายคุณไว้นานมากจนเกือบลืมไปแล้ว เพราะตอนโน้นรู้สึกว่าผมไม่มีอะไรจะตอบคุณ จนกระทั้งไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พบผู้ป่วยท่านหนึ่งซึ่งอาการคล้ายๆคุณแม่ของคุณ ผู้ป่วยท่านนั้นก็ตระเวณไปหาหมอมาแล้วสี่แห่งในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา แต่แห่งสุดท้ายได้วินิจฉัยว่าท่านเป็นโรคหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า เมฮ์ซินโดรม (Meige syndrome) ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์และตบเข่าตัวเองฉาดหนึ่งเลยว่าคุณแม่ของคุณก็อาจจะเป็นแบบเดียวกัน น่าจะต้องพิสูจน์กันว่าใช่หรือไม่ใช่ จึงไปคุ้ยจดหมายของคุณขึ้นมาตอบ
เมฮ์ซินโดรม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Benign Essential Blepharospasm แปลว่าการกระตุกของกล้ามเนื้อกระพริบตาแบบไม่ทราบเหตุ เชื่อกันว่าเป็นเพราะกลไกอัตโนมัติในการกระพริบตาเสียไป กลไกนี้มีอยู่สองส่วนคือส่วนรับความรู้สึก (sensory) กับส่วนสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว (motor) ในโรคนี้ ส่วนรับความรู้สึกซึ่งมีกลไกสั่งให้กระพริบและห้ามกระพริบทำงานควบคู่กันอย่างพอดีๆนั้นเสียไป การทำงานจึงหนักไปทางการสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวแบบไร้สาระ (dystonia) มีอะไรกระตุ้นนิดๆหน่อยๆกล้ามเนื้อกระพริบตา (orbicularis) ก็หดตัว เจอแสงก็กระพริบตา เคืองตาก็กระพริบตา เคืองใจก็กระพริบตา เอะอะอะไรก็กระพริบตาหมด แล้วเมื่อกลไกข้างกระพริบนี้ได้ทำงานอยู่ข้างเดียวโดยที่อีกข้างซึ่งมีหน้าที่ห้ามกระพริบเดี้ยงไปซะแล้ว ข้างที่ทำอยู่ข้างเดียวนี้ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นๆ ทำงานมากขึ้นๆ ทำให้อาการมีแต่แย่ลงกับแย่ลง
อาการหลักๆของโรคนี้ก็คือหนังตากระตุก ตากระพริบถี่ หรือตาขยิก ยิก ยิก ยิก และหนังตาหรุบปิดโดยไม่ได้ตั้งใจ มักแพ้แสง ตาแห้ง และมักมีการหดตัว (spasm) ของกล้ามเนื้อกลางใบหน้าหรือหัวคิ้วซีกเดียวกัน บางคราวก็ลามไปถึงกรามและลิ้น ถ้านอนหลับหรือผ่อนคลายก็จะค่อยยังชั่วขึ้น โรคนี้มักเป็นในหญิงอายุมากแล้ว โดยมีอุบัติการณ์เกิด 5 คน ใน 100,000 คน
สาเหตุของโรคนี้ผมได้บอกไปแล้ว คือ..ไม่มีใครทราบ
วิธีรักษาโรคนี้ก็ไม่มี เพราะไม่รู้สาเหตุก็เลยไม่รู้วิธีรักษา ได้แต่บรรเทาอาการกันไป เท่าที่ทำกันอยู่ก็คือลดสิ่งที่ไปแหย่ไม่ให้มีการกระตุ้นการกระพริบตาด้วยเหตุใดๆ เช่น สวมแว่นกันแดดที่บล็อกแสงยูวี.ได้ เพราะแสงทำให้อาการโรคนี้แรงขึ้น หยอดน้ำตาเทียมและล้างตาบ่อยๆเพื่อลดการระคายเคืองและป้องกันตาแห้ง ส่วนยากินสำหรับรักษาโรคนี้ไม่มีครับ ไม่ว่าจะยากันชักหรือยาต้านซึมเศร้าก็ล้วนรักษาโรคนี้ไม่ได้ผลทั้งนั้น
การบรรเทาอาการที่ได้ผลดีถึง 95% และถือเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ในปัจจุบันคือการฉีดพิษของบักเตรีที่เรียกว่าโบท็อกซ์ (BOTOX) เพื่อให้เส้นประสาทส่วนที่สั่งให้กล้ามเนื้อกระตุกนั้นเป็นอัมพาตไปซะเลย งานนี้มีเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกี่ยวข้องโดยตรง และบางรายก็มีคู่ที่ 5 เกี่ยวข้องด้วย แต่ผลการฉีดโบท็อกซ์นี้มันจะดีอยู่แค่ชั่วคราวนะ คือประมาณสามเดือน แล้วก็ต้องฉีดกันใหม่ ทั้งนี้ต้องยอมรับผลข้างเคียงของโบทอกซ์อันได้แก่ หนังตาอาจตกมากยิ่งขึ้นเพราะยาอาจลามไปโดนกล้ามเนื้อยกหนังตา (7-11%), แก้วตาอาจถูกแสงและฝุ่นมากขึ้น (5-12%) เพราะตาจะเปลี่ยนจากกระพริบเป็นตาถ่างแทน, ตาอาจจะแห้งมากขึ้น (7.5%), แพ้แสงมากขึ้น (2.5%), นอกจากนี้ยังอาจมีการเห็นภาพซ้อน และกล้ามเนื้อใบหน้าใต้ตาเป็นอัมพาตชั่วคราวได้
เมื่อชั่งน้ำหนักได้เสียและคิดสะระตะว่ายอมรับการฉีดโบท็อกซ์ได้แล้ว ผมแนะนำให้คุณกลับไปหาหมอตาท่านเดิมที่เคยดูแลคุณแม่อยู่ ถามท่านว่าคุณแม่จะมีโอกาสเป็นเมฮ์ซินโดรมได้ไหม ซึ่งเพื่อที่จะตอบคำถามของคุณคุณหมอเขาก็จะตรวจซ้ำเพื่อความแน่ใจ ใช่ไม่ใช่ก็สุดแล้วแต่สิ่งที่คุณหมอจะตรวจพบ ในกรณีที่ใช่เมฮ์ซินโดรมจริงจึงค่อยหารือถึงการฉีดโบทอกซ์
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณนุกรม
1. Simpson DM, Hallett M, Ashman EJ, Comella CL, Green MW, Gronseth GS, et al. Practice guideline update summary: Botulinum neurotoxin for the treatment of blepharospasm, cervical dystonia, adult spasticity, and headache: Report of the Guideline Development Subcommittee of the American Academy of Neurology. Neurology. 2016 May 10. 86 (19):1818-26.
2. Truong D, Comella C, Fernandez HH, Ondo WG. Efficacy and safety of purified botulinum toxin type A (Dysport) for the treatment of benign essential blepharospasm: a randomized, placebo-controlled, phase II trial. Parkinsonism Relat Disord. 2008. 14(5):407-14.
3. Cote TR, Mohan AK, Polder JA. Botulinum toxin type A injections: adverse events reported to the US Food and Drug Administration in therapeutic and cosmetic cases. J Am Acad Dermatol. 2005 Sep. 53(3):407-15.
........................................