หมอสันต์ให้สัมภาษณ์เรื่องการุณฆาต (Mercy Kiling)

หลายเดือนมาแล้ว ผมได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในหัวข้อเรื่อง "การุณฆาต" เนื้อหาสาระอาจเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านบางท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่อยู่ในวงการกฎหมายและวงการแพทย์

หนังสือพิมพ์....

     "คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไรกับการทำการุณยฆาตเชิงรุก และเหตุผลว่าเจ้าของชีวิตควรมีสิทธิเลือกอยู่หรือตายก็ได้ "

หมอสันต์

     "ใช้คำว่าการุณฆาตฟังดูน่ากลัวมากนะ ผมขอเรียกเสียใหม่ว่า "การยุติความทุกข์ทรมานด้วยการช่วยยุติชีวิต" ก็แล้วกัน ที่ถามว่าผมมีความเห็นอย่างไรเนี่ยเข้าใจว่าคุณหมายถึงว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยใช่ไหม

ตอบว่า ผมไม่มีความเห็นครับ

     เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของแพทย์ อีกอย่างหนึ่งมันเป็นเรื่องที่ความรู้แพทย์แผนปัจจุบันยังครอบคลุมไปไม่ถึง ที่ว่าครอบคลุมไปไม่ถึงเนี่ยหมายความว่าเราในฐานะแพทย์ยังไม่รู้เลยว่ายุติชีวิตแล้วจะยุติความทุกข์ทรมานได้จริงหรือเปล่า เมื่อเราตัดสินใจช่วยทำให้ร่างกายหยุดทำงานไปด้วยความรู้ของเราเอง แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น จิตสำนึกรับรู้หรือ consciousness ของคนไข้จะหยุดไปจริงหรือเปล่า เรายังไม่รู้เลย ไม่มีหมอคนไหนในโลกนี้รู้เลยจริงๆ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีหมอบางคนที่ลุโมกขธรรมไปแล้วที่อาจจะรู้ แต่ว่าหมอแบบนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถึงถ้ามีอยู่จริงความรู้ของเขาเราก็เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยตีพิมพ์ความรู้ของเขาไว้ในวารสารการแพทย์เลย หึ หึ ผมพูดเล่นนะครับ

    เมื่อยังไม่รู้ เราก็จึงยังไม่ควรตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เพราะการตัดสินใจเช่นน้้้นจะกลายเป็นเป็นการตัดสินใจบนความเชื่อไปทันที ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ที่โลกเรายุ่งขิงอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะคนเราทุ่มเทลงทุนลงแรงทำตามความเชื่อของตัวเองนะ ยิ่งเชื่อแรงยิ่งอันตราย จะให้ทำสงครามล้างเผ่าพันธ์ล้างโลก คนเรานี้ก็จะทำ ขอให้มันสอดคล้องกับความเชื่อของตนเท่านั้นแหละ

    อนึ่ง ตัวผมเป็นแพทย์ ผมยิ่งต้องระวัง เพราะถ้าผมพูดหรือทำอะไรไปโดยที่ผมไม่รู้ คนจะเข้าใจผิดว่าผมพูดหรือทำไปเพราะผมรู้ ซึ่งก็จะเป็นผลเสียทั้งต่อผู้คนทั่วไปและทั้งต่อหมู่คณะของแพทย์ด้วยกัน"

หนังสือพิมพ์...

    "หากเมืองไทยจะผ่านกฎหมายเรื่องนี้ คุณหมอคิดว่าจะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร"

หมอสันต์

    "ข้อดีก็คือคนไข้ที่กลัวความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายของชีวิตน่าจะกลัวน้อยลง เพราะมีทางออกที่จะช่วยบรรเทาความกลัวได้ หมายความว่าถ้าชีวิตระยะสุดท้ายมันเลวร้ายนักก็ยังมีก๊อกสำรองให้เลือก ชีวิตระยะสุดท้ายจึงไม่น่ากลัวเกินไป อาจช่วยทำให้ชีวิตระยะสุดท้ายด้วยเหตุการเจ็บป่วยที่หมดทางรักษาแล้วเป็นไปแบบมีคุณภาพชีวิตมากขึ้น เพราะมีงานวิจัยคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการเปิดทางเลือกให้ตัดสินใจยุติชีวิตตัวเองได้อยู่บ้างสองสามงานวิจัย ซึ่งมีผลสรุปว่าการได้รับการเปิดทางเลือกให้ยุติชีวิตตัวเองได้ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายดีขึ้น

     ข้อเสียก็คือใครจะรู้ว่าการตายแบบไหนเป็นการตายที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ ระหว่างตายด้วยยาในขณะที่ความคิดยังหวาดกลัวกระเจิดกระเจิง กับตายเองอย่างมีสติตามธรรมชาติโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของยา ถ้าการตายอย่างหลังเป็นการตายที่ดีกว่า การไปยุติชีวิตก็กลายเป็นการเปลี่ยนของเดิมที่ดีของมันอยู่แล้วไปสู่ของใหม่ที่ไม่ดี"

หนังสือพิมพ์...

     "ในการร่างกฎหมาย คุณหมอคิดว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ต้องพิจารณาและระบุให้รัดกุมที่สุด"

นพ.สันต์ 

     เมืองไทยนี้ แม้กระทั่งการแยกแยะระหว่างความพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาด้วยความหวังดี กับการจงใจทำฆาตกรรม ยังไม่มีวิจารณญาณพอที่จะแยกแยะได้เลย นี่ผมพูดถึงวิจารณญาณของคนที่สวมเสื้อตุลาการบางคนนะ ไม่ใช่วิจารณญาณของชาวบ้านระดับรากหญ้า อย่าลืมว่าบ้านเรานี้แพทย์บ้านนอกทำผ่าตัดไส้ติ่งแล้วคนไข้ตาย ตุลาการยังสั่งให้จำคุกแพทย์อยู่นะ หากในการรักษาไข้ปกติแล้วแพทย์ยังถูกคนไข้ฟ้องอาญาว่าทำให้เขาตายโดยเจตนาได้ การมีกฎหมายใหม่ที่เอื้อให้ทำการุณฆาตอย่างที่คุณว่า จะไม่มีการฟ้องร้องกันเละหรือว่าแพทย์หาเรื่องฆ่าคนไข้ให้ตายเพื่อแลกกับโน่นนี่นั่น แล้วถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมบางคนยังเป็นประมาณนี้..ขอโทษที่่ผมพูดแบบปากเสีย  มันจะมีผลให้ผมติดคุกติดตะรางก็ช่างเถอะ ไม่เป็นไรหรอก ประเด็นสำคัญก็คือคุณคิดหรือว่าประเทศที่มีโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมประมาณนี้จะมีความพร้อมที่จะมีกฏหมายเอื้อให้มนุษย์ยุติชีวิตให้กันด้วยความหวังดีได้ คุณตอบคำถามของผมให้ได้ก่อน แล้วผมจะตอบคำถามคุณ"

หนังสือพิมพ์...

     "เอาเป็นว่าหนูยอมแพ้ ติ๊งต่างว่ามีกฎหมายออกมาแล้ว ในฐานะที่เป็นหมอ หากคนไข้ขอให้คุณหมอช่วยทำการุณยฆาตให้ คุณหมอจะทำให้ไหม เพราะเหตุใด"

หมอสันต์

    " ไม่ทำแน่นอนครับ เพราะในฐานะหมออาชีพ ผมก็เป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาจากโรงงานแล้ว ที่จะต้องประกอบวิชาชีพไปตามหลักวิชาที่โรงเรียนแพทย์สอนผมมา ถ้าผมคิดจะทำอะไรนอกเหนือจากนั้น ผมต้องเลิกอาชีพนี้ ลาออกจากหมู่คณะนี้ไปก่อน ผมเป็นแพทย์ที่เป็นผลผลิตของหลักสูตรแพทย์เก่าซึ่งสอนว่าพันธกิจหลักคือช่วยเหลือคนไข้ให้รอดพ้นจากความเจ็บป่วยและความตายถ้าทำได้ กิจของแพทย์มีแค่นั้น การทำให้คนตายไม่ใช่กิจของแพทย์ ถึงมีกฎหมายบังคับให้ทำผมก็ไม่ทำ ถ้าหากจะให้มันเป็นกิจของแพทย์ คุณต้องตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่ขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนหลักสูตรการสอนแพทย์เสียใหม่

     อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมจะไม่ทำก็เพราะว่าผมไม่รู้ว่าการตายตามธรรมชาติอาจจะมีสิ่งดีๆอยู่ก็ได้ แทบทุกศาสนาสอนให้ใช้โอกาสที่กำลังจะตายพาตัวเองไปสู่ "ชีวิตนิรันดร์” หรือ "ความหลุดพ้น" แต่นี่แพทย์เราจะไปเลิกโอกาสเช่นนั้นของคนไข้ด้วยความไม่รู้อิโหน่อิเหน่ของแพทย์ซะเอง มันจะดีหรือครับ"

หนังสือพิมพ์...

    "คุณหมอเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้หรือใกล้เคียงไหม โปรดเล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อยค่ะ"

หมอสันต์

     "เคยสิครับ บ่อยมากด้วย เพราะผมเป็นหมอในสาขาที่มีคนใกล้ตายมากที่สุด คนไข้หลักที่ผมรักษาคือโรคหัวใจและโรคมะเร็งปอด มีบ่อยมากที่คนไข้เจ็บปวดทรมานบ้าง ตกเป็นทาสของเครื่องช่วยชีวิตต่างๆของการแพทย์สมัยใหม่บ้าง ซึมเศร้าบ้าง โกรธเกลียดชีวิตถึงขนาดบ้าง ได้ร้องขอให้ผมช่วยให้ชีวิตจบสิ้นลงเสียเพื่อเขาหรือเธอจะได้ "จาก" ไปพ้นๆความทุกข์ตรงนี้เสียที

     คนไข้เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รอดกลับมาจากภาวะใกล้ตายหรือภาวะทรมานนั้น แล้วกลับมาดำรงชีวิตใกล้เคียงปกติต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง บางคนประสบการณ์ทุกข์ทรมานตอนใกล้ตายได้เปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตไปทำให้เขาหรือเธอได้มีโอกาสใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ดีงามซึ่งเขาหรือเธอไม่เคยทำมากก่อน

     สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือการจะตายดี (ตายแบบสงบ) หรือตายร้าย (ทุรนทุรายทรมาน) เป็นผลจากการฝึกสติของแต่ละคนมาก่อน ถ้ามีสติแข็งแรงสามารถแยกจิตสำนึกรับรู้ออกมามองความคิดและร่างกายของตัวเองได้ ก็จะตายแบบดี แต่หากขาดสติปล่อยให้จิตสำนึกรับรู้พัวพันยุ่งตุงนังอยู่กับความคิดหรือความรู้สึกหรืออาการของร่างกาย ก็จะตายแบบร้าย"

หนังสือพิมพ์...

    "ในกรณีที่คนไข้เขาทุกข์ทรมาน แล้วเขาร้องขอ หมออยู่ในฐานะจะช่วยได้ แต่ไม่ช่วย มันไม่ขัดเจตนาของอาชีพหมอหรือคะ"

หมอสันต์

     "มันก็ขัดแน่นอนแหละครับ แต่คุณต้องเข้าใจว่าเป้าหมายงานอาชีพหรือที่คุณเรียกว่าเจตนานี้ มันก็มีหลายเจตนา เจตนาเล็ก เจตนาใหญ่ หลักจรรยาแพทย์ข้อแรกคือ อย่าทำร้ายคนไข้ (Do no harm) คุณอยากทำอะไรให้คนไข้ก็ทำไป แต่ห้ามทำอะไรที่ขัดกับกฎข้อแรกนี้"

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67