เป็นพาร์คินสันจะไปเที่ยวขี่จักรยานได้หรือ
กราบเรียนคุณหมอสันต์
ขอกราบขอบพระคุณที่คุณหมอสันต์เผยแพร่เรื่องวิธีออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคพาร์คินสัน (
http://visitdrsant.blogspot.com/2012/08/blog-post_21.html) คุณพ่อซึ่งเป็นพาร์คินสันมาสิบกว่าปีจนกินยา Sinomet และ Carbidopa มากจนด้านยาเรียบร้อยไปแล้ว หนูให้พ่ออ่านบทความของคุณหมอสันต์และชวนให้ออกกำลังกายตามวิธีที่หมอสันต์แนะนำทุกวันแล้วอาการของท่านดีขึ้นในเวลาไม่กี่เดือน ปัญหาคือตอนนี้คุณพ่อต้องการขี่จักรยานโดยไม่ยอมฟังคำทัดทานของคุณแม่ละลูกๆ ทุกคนเป็นห่วงว่าคุณพ่อแม้จะดีขึ้นแล้วแต่ตัวก็ยังแข็งทื่อและเกร็งๆ มือสั่นอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเดินหากไม่ระวังก็ยังจะคะมำอยู่ เห็นชัดว่าหากไปแข็งทื่อเอาตอนขี้จักรยานตอนจะเลี้ยวจะต้องถูกรถยนต์เหยียบเอาอย่างแน่นอน แต่ว่าคุณพ่อเป็นคนเชื่อมั่นตัวเองสูงเสมอต้นเสมอปลาย อย่าว่าแต่ลูกๆเลย แม้แต่คุณแม่ย้งไม่มีปัญญา ตอนนี้จะไปเข้าก๊วนขี่ แต่ว่าเพื่อนๆของท่านไม่มีใครเป็นพาร์คินสันสักคน แถมบางคนยังถามคุณแม่ให้แน่ใจอีกด้วยว่าหมอเขาให้ขี่จักรยานได้แน่นะ ตอนนี้นัดหมายเพื่อนๆไปซื้อจักรยานแพงๆกันแล้ว หนูอยากขอความกรุณาคุณหมอสันต์ช่วยตอบจดหมายหนูเพื่อยืนยันให้คุณพ่อออกกำลังกายตามวิธีที่คุณหมอสันต์สอนก็พอแล้วอย่าไปขี้จักรยานเลย
กราบขอบพระคุณในความกรุณาของคุณหมอค่ะ
....................................................
ตอบครับ
มาอีกละ ประเภทไม่สามารถควบคุมคนแก่ที่เฮี้ยว ต้องมาขออาศัยหมอสันต์ให้ช่วยปรามให้ แสดงว่าหมอสันต์นี้มีฤทธิ์ปรามคนแก่ด้วยกันได้ระดับหนึ่งแน่เชียว พวกลูกๆชอบจึงมาใช้บริการกันอยู่เรื่อง
ก่อนจะตอบคำถามของคุณขอพูดถึงโรคพาร์คินสัน (Parkinson Disease) ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆได้ทราบเป็นไอเดียไว้สักหน่อยนะครับ โดยนิยามโรคนี้คือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra) มีสาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% ไม่ทราบสาเหตุ มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ (1) มือสั่น (2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง (3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ (4) ทรงตัวลำบาก (5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน การนอนผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
โรคนี้วินิจฉัยจากการดูโหงวเฮ้ง หมายความว่าวินิจฉัยจากอาการเท่านั้น การตรวจยืนยันทางแล็บทำได้เฉพาะตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว คือนำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาก็จะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลด (Lewy body)
โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้เซลประสาทหายเสื่อม ได้แต่บรรเทาอาการด้วยยาซึ่งหากใช้นานไปสักห้าปีก็จะด้านยาอย่างคุณพ่อของคุณนั่นแหละ ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด หมายถึงการออกกำลังกายนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีงานวิจัยสนับสนุนในโรคพาร์คินสันมากเป็นพิเศษก็เช่นการรำมวยจีน การเต้นแทงโก้ เป็นต้น
เอาละ ทีนี้มาตอบคำถามของคุณ
ถามว่าการขี่จักรยานเป็นวิธีออกกำลังกายที่อันตรายสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคพาร์คินสันใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ นั่นเป็นการคิดคาดเดาเอาเอาจากสามัญสำนึก ความเป็นจริงคือว่ายังไม่เคยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์หรือสถิติว่าการขี่จักรยานจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยพาร์คินสันเมื่อเทียบกับคนทั่วไปนะครับ ในทางตรงกันข้ามบางสถาบันในยุโรป กลับใช้จักรยานเป็นเครื่องมือหลักในการฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์คินสันซะด้วยซ้ำ แม้ว่าจะยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นผลชัดเจนว่าจักรยานจะฟื้นฟูโรคพาร์คินสันได้ดีกว่าการออกกำลังกายวิธีอื่นหรือไม่ก็ตาม
เมื่อประมาณห้าหกปีก่อน ผมเคยอ่านในวารสารนิวอิงแลนด์เจอร์นาลมีหมอคู่หนึ่งรู้สึกจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เขียนมาเล่าให้ฟังว่าพวกเขารักษาคนไข้พาร์คินสันของเขาด้วยการบังคับให้ขี่จักรยาน พร้อมทั้งส่งคลิปวิดิโอมาให้ดูว่าคนไข้ของเธอตอนเริ่มต้นทั้งมือทั้งแขนสั่นงักๆแถมเดินสะดุดอะไรหน่อยก็ล้มลงอีกต่างหาก ตอนหัดจักรยานต้องมีคนจับอานจักรยานวิ่งตามหลัง หัดไปหัดมาในที่สุดคนไข้สามารถขี่จักรยานไปในถนนได้คล่อง รู้สึกมีคนเอาคลิปนี้มาเผยแพร่ในยูทูปด้วย ถ้าคุณสนใจลองเปิดดูที่ https://www.youtube.com/watch?v=aaY3gz5tJSk&t=14s
โดยสรุป ผมแนะนำว่าหากคุณพ่อของคุณซึ่งเป็นโรคพาร์คินสันอยากจะไปขี่จักรยานก็เชียร์ท่านให้ขี่เลยครับ ถ้าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยก็เลือกสถานที่ขี่หน่อย อย่างเช่นขี่ในสวนสาธารณะก็ย่อมจะปลอดภัยดีกว่าขี่บนถนนหลวง แต่งตัวให้เท่ รัดกุม สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เรียบร้อย แล้วก็..เอาเลยพ่อ ลุยเลยพ่อ อย่าไปคิดถึงแต่เรื่องอันตราย คนไทยเนี่ยไม่รู้เป็นอะไรเมื่อพูดถึงการออกกำลังกายแบบนั้นก็จะพูดถึงว่ามันมีอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ค่อยเห็นพูดถึงประโยชน์อันเอนกอนันต์ของการออกกำลังกายบ้างเลย อนึ่ง ในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุนี้คุณอย่าไปใช้หลักแบบว่านั่นก็อันตราย นี่ก็ไม่ดี โน่นก็ไม่ดี ให้นั่งจุมปุ๊กเล่นไลน์อยู่กับที่ วิธีนั้นไม่ใช่นะ มันจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้อยลงและทำให้ผู้สุงอายุป่วยง่ายยิ่งขึ้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Snijders AH, Bloem BR. Cycling for Freezing of Gait. N Engl J Med 2010; 362:e46April 1, 2010DOI: 10.1056/NEJMicm0810287
2. Goodwin, V. A., Richards, S. H., Taylor, R. S., Taylor, A. H. and Campbell, J. L. (2008), The effectiveness of exercise interventions for people with Parkinson's disease: A systematic review and meta-analysis. Mov. Disord., 23: 631–640. doi:10.1002/mds.21922
3. National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson's disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.
4. Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288
5. Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.
6. Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.