ลาก่อน..ไส้กรอก เบคอน แฮม แหนม (WHO และ USDA Guideline 2015)
เย็นวันนี้ผมกลับมาจากมวกเหล็ก เห็นหนังสือไทม์ แมกกาซีน เล่มล่าสุดที่วางอยู่บนโต๊ะกินข้าวขึ้นปกเป็นรูปเบคอน (หมูสามชั้น) สองชิ้นไขว้กันเป็นเครื่องหมายผิด จึงหยิบมาอ่านด้วยความอยากรู้ว่ามันเรื่องอะไรกัน
ผมอ่านไทม์ แมกกาซีน (TIME) มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ คืออ่านมาได้สี่สิบปีแล้ว เรียกว่าเป็นแฟนประจำกันเหนียวแน่น ช่วงไปทำงานใช้ทุนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สมัยนั้นทั้งจังหวัดหาหนังสือไทม์แมกกาซีนไม่ได้เลย ผมต้องให้ญาติที่กรุงเทพส่งไปรษณีย์ไปให้ เวลาย้ายไปทำงานเมืองนอกก็ให้ไทม์ย้ายที่ส่งตามไป เวลาเดินทางจากบ้านไปไหนนานๆก็ซื้ออ่านเอาตามสนามบิน อ่านมามากจนจับไต๋ได้ว่าวิธีหากินกับข่าวของไทม์แมกกาซีนเขาทำกันอย่างไร ตรงไหนที่เป็นการ “เต้า” เกินจริงให้ข่าวน่าสนใจ ตรงไหนที่เป็นการ “กั๊ก” หรือ “อำ” ไม่ยอมบอกข้อมูลอีกส่วนหนึ่งเพื่อดึงให้คนอ่านคิดต่อเอาเองไปทางที่ผิดความจริง เพื่อให้เกิดความสะใจในการบริโภคข่าว และนานๆพอคนอ่านเผลอ เช่นทุกสิบห้าหรือยี่สิบปี ก็จะขุดเอาเรื่องเก่ามุขเก่าขึ้นมาเล่นใหม่ซ้ำอีก แต่ถึงจะเห็นไส้เห็นพุงกันอย่างไรผมก็ยังจะอ่านไทม์ต่อไป จะอ่านกันจนตายกันไปข้างหนึ่ง ผมสังหรณ์ว่าไทม์จะตายก่อนผม เพราะหนังสือแมกกาซีนทุกวันนี้สู้ข่าวทางจอไม่ไหว ตอนนี้ก็เริ่มออกอาการแทบจะตื๊อขายสมาชิกล่วงหน้าไปถึงตลอดชีพกันซะแล้ว เพราะอย่างของผมจ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วจำได้ว่าอีกตั้งสามปีกว่าจะหมด นี่ฝ่ายการตลาด(อยู่ที่ฮ่องกง)จดหมายมาชวนขยายจำนวนฉบับล่วงหน้ายิกๆอีกละ
มาเข้าเรื่องหมูสามชั้นไขว้กากะบาดดีกว่า จั่วหัวเรื่องบอกว่า “สงครามบนความอร่อย” (The War on Delicious) แต่ภายในเป็นข่าวเรื่องที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งคณะกรรมการนานาชาติเพื่อวิจัยมะเร็ง (IARC) ขึ้นมาศึกษาเรื่องเนื้อแดง (red meat หมายถึงเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นหมู วัว) และเนื้อที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมอาหาร (processed meat) เช่นไส้กรอก เบคอน หมูแฮม และแหนม ว่ามีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งแค่ไหนเพียงใด แล้วคณะทำงานชุดนี้ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเมื่อปลายเดือนตค. 58 ซึ่งมีสาระสำคัญสองประเด็นคือ
(1) processed meat เช่นไส้กรอก เบคอน หมูแฮม เป็นสารก่อมะเร็งชั้นที่ 1A. ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับเดียวกับบุหรี่นั่นเชียว โดยที่หลักฐานวิทยาศาสตร์แสดงความเป็นสาเหตุแน่ชัด และสามารถอธิบายกลไกการเกิดได้ชัดเจน อย่างน้อยก็ก่อมะเร็งแน่ๆหนึ่งชนิดคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ
(2) red meat เช่นเนื้อหมูเนื้อวัว เป็นสารก่อมะเร็งชั้นที่ 2A. คือเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในคนได้
โอ้โฮ นี่ WHO เขาเกิดของขึ้นอะไรขึ้นมาเนี่ย จึงโซ้ยบรรดาสัตว์กินเนื้อทั้งหลายเข้าแบบเหน่งๆไม่มียั้งมือเลย ด้วยความสนใจใคร่รู้ผมจึงตามไปดูนิพนธ์ต้นฉบับซึ่งคณะทำงานเขาตีพิมพ์ใว้ในวารสาร Lancet Oncology จึงได้ทราบว่าคณะทำงานนี้มี 22 คน มาจาก 10 ประเทศ ดูชื่อแล้วมีอยู่สองคนที่ผมคุ้นชื่อและเป็นแพทย์นักโภชนาการที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ เมื่อตามไปดูผลงานวิจัยที่คณะทำงานเอามาทำการศึกษาก็พบว่าอ้างงานวิจัยถึง 800 กว่ารายการสุดปัญญาที่ผมจะตามอ่านได้หมด แต่พลิกรายชื่องานวิจัยดูคร่าวๆพอให้ผ่านตาก็เห็นชื่อของงานวิจัยทางโภชนาการใหญ่ๆดังๆที่คุ้นๆอยู่หลายรายการ และเมื่ออ่านดูวิธีการทบทวนงานวิจัยก็เห็นว่าหนักแน่นดีไม่มีที่ติ ผมขอสรุปประเด็นของงานวิจัยนี้ดังนี้
1.. ถามว่า Red meat หรือ เนื้อแดง หมายถึงอะไร เขาหมายถึงเนื้อทุกชนิดที่มีโมเลกุลตัวพาออกซิเจนซึ่งมีเหล็กเป็นส่วนประกอบ (haem iron) โมเลกุลตัวนี้มีสีแดง มีอยู่ในเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งหมู วัว แพะ แกะ และเก้งเอ๋ง (หิ หิ ตัวสุดท้ายเนี่ยหมอสันต์แถมมาให้สำหรับผู้อ่านจังหวัดแถบชายแดนตะวันออก)
2.. Processed meat แปลว่าเนื้อที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการรมควัน ทำไส้กรอก หมัก ดองเค็ม ใส่สารกันบูด คือทำอะไรที่ทำให้มันเก็บได้นานขึ้นนับหมด รวมถึงไส้กรอก เบคอน หมูแฮม และแหนมของแฟนๆบล็อกหมอสันต์ก็เข้าข่ายนี้ด้วย ตัวการหลักตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในกระบวนการถนอมเนื้อคือสารกันบูดซึ่งใส่ส่วนประกอบของไนไตรท์เข้าไป ทำให้เนื้อชนิดที่ปลอดภัยแต่เอาไปถนอมเช่นชิกเก้นนักเก็ต หรือแฮมไก่งวง ก็พลอยติดร่างแหสารก่อมะเร็งเข้าไปด้วย
3. ถามว่าอยู่ดีๆ WHO ทำไมทะลึ่งมาวิจัยเกี่ยวกับเนื้อแดงและไส้กรอกเบคอนแฮมแหนม ตอบว่าเพราะข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างอาหารสองกลุ่มนี้กับการเป็นมะเร็งโผล่ออกมามากขึ้นๆจน WHO ทนไม่ไหวจำต้องทบทวนงานวิจัยให้ทราบแน่ชัดจะได้บอกให้ประชาชนชาวโลกทราบข้อเท็จจริงไว้ เท่านั้นเอง ไม่ได้รับจ้างพวกขายอาหารมังสะวิรัติมาทำการตลาดด้วยวิธีบ้อมบ์พวกขายเนื้อแต่อย่างใด
4. ถามว่าที่ว่าเนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็งระด้บ 2A เนี่ย สารอะไรในเนื้อแดงที่ก่อมะเร็ง ตอบว่าเขาพบว่ามีหลายตัว บางตัวเป็นของเนื้อแดงแท้ๆต้นกำเนิดเช่นโมเลกุล haem iron ก็มีข้อมูลว่าสามารถก่อมะเร็งได้ผ่านกลไกใช้ให้บักเตรีในลำไส้สร้างเป็นสารก่อมะเร็งขึ้น บางส่วนเป็นโมเลกุลที่เกิดจากการปรุงหรือเก็บถนอม เช่น N-nitroso compound และสารพวก polycyclic aromatic carbons ที่เกิดจากการปรุงเนื้อด้วยความร้อนมากๆอย่างเช่น รมควัน ย่างโดนเปลวไฟ หรือโดนเหล็กร้อนนาบอย่างเช่นการทอดหรือย่างบนกระทะแบน การถนอมด้วยสารกันบูดซึ่งมีไนไตรท์ เป็นต้น โดยมีหลักฐานว่าเพิ่มอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก และมีกลไกการเกิดที่อธิบายได้ แต่ที่ยังไม่ชัวร์ป๊าดก็ตรงที่ยังไม่สามารถขจัดปัจจัยกวนได้ในงานวิจัยได้จึงจัดชั้นไว้แค่ 2A
5. ถามว่าการจัดให้ processed meat อย่างไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 1A ซึ่งเป็นระดับเดียวกับบุหรี่ หมายความว่าไส้กรอกอันตรายเท่าบุหรี่เลยเชียวหรือ หิ หิ อันนี้หมอสันต์ตอบแทน WHO นะ การที่ได้ขึ้นชั้นมาเป็นชั้น 1A เนี่ยเป็นเพราะเขามีหลักฐานการเป็นสาเหตุของมะเร็งแน่นอน มีกลไกการก่อมะเร็งที่ทราบและอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ได้ชัด จึงได้เป็นสารก่อมะเร็งชั้น 1A แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชั่วร้ายต่อสุขภาพเท่ากับบุหรี่นะครับ เพราะหากจะเปรียบเทียบความอันตรายแล้วต้องไปดูอัตราการตายจากมะเร็งที่เกิดจากเนื้อไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมว่าแต่ละปี (ทั้งโลก) ที่ WHO เองประมาณการไว้มีปีละ 34,000 รายเท่านั้นเอง เทียบกับการตายจากมะเร็งที่เกิดจากบุหรี่ซึ่ง WHO ประมาณการว่ามีถึงปีละ 1 ล้านคน เรียกว่าระดับความเสี่ยงยังห่างกันไกล แต่อย่างไรก็ตาม เขามีหลักฐานว่าความเสี่ยงนี้เป็นไปตามปริมาณที่กิน ยิ่งกินปริมาณมาก ความเสี่ยงมะเร็งยิ่งมากขึ้น คือทุก 50 กรัมของไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมที่กินต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงตายจากมะเร็งขึ้นมากกว่าคนไม่กิน 18%
ส่วนการอนุมาณความเสี่ยงของเนื้อแดง WHO ยังไม่ได้แจ้งผลประเมิน เพราะหลักฐานที่ว่าเนื้อแดงทำให้เกิดมะเร็งยังแน่ไม่ชัดเจ๋งเป้งอย่างไส้กรอกแฮมและแหนม เนื่องจากยังขจัดปัจจัยกวนในงานวิจัยไม่ได้ ถ้าหลักฐานตรงนี้เป็นที่ยอมรับ ความเสี่ยงของการกินเนื้อแดงก็จะเพิ่มขึ้น 17% ต่อทุก 100 กรัมของเนื้อแดงที่กินในแต่ละวัน
6. ถามว่าย่างไฟก็ไม่ได้ ทอดกระทะแบนก็ไม่ได้ วิธีไหนที่โดนความร้อนสูงๆไม่ได้หมด แล้วจะให้ปรุงเนื้อแดงกินอย่างไรละพ่อคู้น..น ตอบว่า คณะทำงานรับจ๊อบมาประเมินการก่อมะเร็งของอาหารเฉยๆ ไม่ได้ร้บจ๊อบมาแนะนำวิธีปรุงอาหารเจ้าค่ะ
7.. ถามว่าคนเป็นมะเร็งแล้ว ถ้าหยุดกินไส้กรอก เบคอน แฮม แหนม และเนื้อแดง จะหายจากมะเร็งไหม ตอบว่าแหม.. หึ หึ ขนาดหมอหยองยังไม่รู้เลย แล้ว WHO จะรู้ไหมเนี่ย (นี่หมอสันต์ตอบแทนนะ)
คณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ USDA Guideline 2015
เผอิญตอนไปอเมริกาเมื่อเดือนก่อนเพื่อนหมอฝรั่งที่นั่นเขาไปได้รายงานคณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ที่ทำเสนอให้กระทรวงเกษตรเพื่อทำออกมาเป็นคำแนะนำโภชนาการของรัฐบาลอเมริกันฉบับใหม่ (USDA guideline 2015) ซึ่งจะมีกำหนดออกประมาณเดือนมค.59 โน่น แต่เพื่อนเขาได้เอกสารนี้มาก่อน อันว่า USDA นี้มักถูกโจมตีจากพวกฮาร์คอร์ด้านสุขภาพว่ามักเอียงเข้าหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ พอเห็นหนังสือพิมพ์ไทม์ฉบับนี้ ผมจึงไปคุ้ยเอกสารที่เพื่อนให้มากลับขึ้นมาอ่าน เพราะอยากรู้ว่าเรื่องเนื้อแดงและไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมนี้กรรมการวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาการออกคำแนะนำของ USDA Guideline 2015 จะว่าอย่างไร ก็พบว่ามีสาระคล้ายกันมากอย่างน่าสนใจ ผมขอแปลบทสรุปสำหรับผู้บริหาร (executive summary) ของคณะที่ปรึกษาการออกคำแนะนำนี้มาให้อ่าน ดังนี้
"...คณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาการออกคำแนะนำ USDA Guideline 2015 ทำงานภายใต้ข้อมูลชี้นำสองประการ คือ
(1) ประมาณครึ่งหนึ่งของคนผู้ใหญ่อเมริกัน (117 ล้านคน) ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งป้องกันได้คนละหนึ่งหรือหลายโรค และประมาณสองในสามของคนผู้ใหญ่อเมริกันมีน้ำหนักมากเกินหรือไม่ก็เป็นโรคอ้วน โดยที่มีต้นเหตุหลักสามอย่างคือ (1.1) กินไม่อาหารไม่ถูกชนิด (1.2)บริโภคแคลอรี่มากเกินไป และ (1.3) ไม่ได้ออกกำลังกาย
(2) พฤติกรรมการกินการออกกำลังกายและพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆของผู้คนนั้น มันถูกครอบอย่างแรงด้วยบริบทส่วนตัว ผู้คนรอบข้าง องค์กร สิ่งแวดล้อม และระบบต่างๆของสังคม
คณะทำงานพบว่าสารอาหารที่มีการบริโภคต่ำกว่าที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (IOM) กำหนดได้แก่ วิตามินเอ. วิตามินดี. วิตามินอี. วิตามินซี. โฟเลท แคลเซียม แมกนีเซียม กาก และโปตัสเซียม (ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ในผักผลไม้) สำหรับหญิงวัยรุ่นและหญิงก่อนหมอประจำเดือนต้องนับเหล็กว่าเป็นสารอาหารที่ขาดด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่าสารอาหารที่มีการบริโภคมากเกินไปคือแคลอรี่ โซเดียม (เกลือ) และไขมันอิ่มตัว (ในปี 2015 ไขมันทรานส์ได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายและห้ามไปเรียบร้อยแล้ว)
มองในมุมของหมู่อาหาร หมู่ที่มีการบริโภคกันน้อยเกินไปคือผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และนมไร้ไขมัน ขณะที่หมู่ที่บริโภคกันมากเกินไปคือธัญพืชที่ขัดสีและน้ำตาลเพิ่มในเครื่องดื่ม
อาหารยอดนิยมเช่นเบอร์เกอร์ แซนด์วิช ขนม เครื่องดื่ม สามารถปรับปรุงโดยเพิ่มสัดส่วนของผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารอื่นที่ขาดเข้าไป ขณะเดียวกันก็สามารถลดเกลือและแคลอรี่ลงได้
ประชาชนซื้ออาหารจากแหล่งที่หลากหลายเช่นซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ โรงเรียน และที่ทำงาน แต่คณะทำงานพบว่าไม่ว่าจะซื้ออาหารจากแหล่งไหน ความครบถ้วนและพอดีของสารอาหารก็ยังไม่ได้ตามมาตรฐานอยู่ดีคือได้ผัก ผลไม้ นมไร้ไขมัน และธัญพืชไม่ขัดสี น้อยเกินไป ขณะเดียวกันก็ได้ เกลือ ไขมันทรานส์ น้ำตาล และธัญพืชขัดสี มากเกินไป
คณะทำงานพบว่าอาหารแบบเมดิเตอเรเนียนและอาหารแบบมังสะวิรัติมีแบบแผนอาหารที่ดีและให้สารอาหารที่ขาดครบถ้วนและป้องกันไม่ให้ได้สารอาหารมีมากเกินแล้วเพิ่มขึ้น
ถ้ามองจากตัวชี้วัดผลลัพธ์ต่อสุขภาพพบว่าผักและผลไม้ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพในทุกตัวชี้วัด ขณะที่ธัญพืชไม่ขัดสี นมไร้ไขมัน อาหารทะเล ถั่ว นัท และแอลกอฮอล์ ก่อผลดีต่อสุขภาพในตัวชี้วัดบางตัวแต่ไม่ทุกตัวชี้วัด
อนึ่ง มีหลักฐานชัดปานกลางถึงชัดมากชี้ว่า
- คนกินเนื้อที่ผ่านการปรับหรือถนอม ( processed meat เช่น ไส้กรอก เบคอน หมูแฮม แหนม) เป็นมะเร็งมากกว่าคนไม่กิน
- การกินน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าไม่กิน
คณะทำงานเสนอให้ออกคำแนะนำใหม่ว่า
(1) อาหารที่แนะนำให้กินมากๆ คือ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท อาหารทะเล
(2) อาหารที่แนะนำให้กินแต่พอควรคือ
2.1 นมไร้ไขมัน
2.2 กาแฟดำ (ไม่เกิน 3-5 แก้วหรือ 400 มก. ต่อวัน) และ
2.3 แอลกอฮอล (ไม่เกิน 1-2 ดริ๊งค์ต่อวัน เฉพาะผู้ใหญ่) แต่ไม่แนะนำให้คนที่ไม่เคยดื่มหันมาดื่ม
(3) อาหารที่แนะนำให้ลดเหลือน้อยที่สุดคือ
3.1 Processed meat (ไส้กรอก เบคอน แฮม แหนม)
3.2 Red meat (เนื้อแดงหรือ เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) เช่น หมู วัว
3.3 น้ำตาล
3.4 ธัญพืชที่ขัดสี
(4) ในแง่ของพฤติกรรมการใช้ชีวิต แนะนำให้ปรับดังนี้
(4.1) ลดเวลาหน้าจอ (โทรทัศน์ โทรศัพท์)
(4.2) ลดการกินนอกบ้าน โดยเฉพาะ fast food
(4.3) เพิ่มเวลากินอาหารพร้อมหน้าในครอบครัว
(4.4) เฝ้าระวังสังเกตบันทึกการกินของตัวเอง (self monitoring)
(4.5) ทำฉลากอาหารให้เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
(4.6) ช่วยไม่ให้ผู้อพยพสูญเสียรูปแบบอาหารที่ดีอยู่แล้วในวัฒนธรรมเดิมของตนเมื่อมาอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกา
(4.7) มีบริการแนะนำโภชนาการเชิงป้องกันโรคอ้วน หัวใจหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม
(5) ประเด็น Food environment (ประเด็นหาของดีกินไม่ได้) คณะทำงานแนะนำว่าเพื่อจะให้ได้อาหารที่มีผักผลไม้ธัญพืชไม่ขัดสีถั่วนัทแยะๆ มีเนื้อสัตว์น้อยๆ คณะทำงานแนะนำรูปแบบอาหารที่ดี สามรูปแบบคือ
5.1. อาหารสุขภาพอเมริกัน (คิดขึ้นใหม่)
5.2. อาหารเมดิเตอเรเนียน
5.3. อาหารมังสะวิรัติ
ทุกสูตรควรมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่่า 10% น้ำตาลน้อยกว่า 10% เกลือโซเดียมน้อยกว่า 2300 มก.
(6) ในส่วนของน้ำตาลเทียม (Aspartem) คณะทำงานพบว่ายังมีความปลอดภัย แต่มีความไม่แน่นอนเรื่องการก่อมะเร็งเม็ดเลือด ต้องรอผลวิจัยเพิ่ม จึงแนะนำให้ลดน้ำตาลลงโดยไม่ทดแทนด้วยน้ำตาลเทียม เช่นหันไปใช้น้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาล
(7) การเปลี่ยนรูปแบบอาหารและการออกกำลังกายไปสู่สุขภาพดี ต้องใช้ความกล้าหาญ ต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (paradigm shift) และต้องผสานการปฏิบัติของระดับบุคคลเข้ากับระดับสังคมและสถาบันบริษัทห้างร้านชุมชนเข้าด้วยกัน ในส่วนของแพทย์จะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการปรับวิถีชีวิต.."
เห็นไหมครับ ถ้าไม่มีการล็อบบี้กันขาขวิดเสียก่อน USDA Guideline 2015 ที่กำลังจะออกมา ก็ตีสัตว์กินเนื้อหนักไม่น้อยไปกว่า WHO เลย คือบอกโต้งๆเลยว่าไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมเป็นสารก่อมะเร็ง และว่าควรลดการกินทั้งไส้กรอกเบคอนแฮมแหนมและเนื้อแดงลงเหลือน้อยที่สุด แถมสูตรอาหารที่จะแนะนำใหม่สามสูตรนั้น สำหรับสูตรอาหารสุขภาพอเมริกันนั้นผมยังไม่ทราบว่าจะมีหน้าตาอย่างไร แต่สูตรเมดิเตอเรเนียนและสูตรมังสะวิรัตินั้นแทบไม่มีหรือไม่มีเนื้อหมูเนื้อวัวเลย...แป่ว
ท่าทางหมอสันต์จะได้ฤกษ์ เลิกกินเนื้อสัตว์ซะจริงๆก็ปีนี้แหละ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. The war on delicious. TIME 2015;186 (19): 22-28.
2. Bouvard V, Loomis D, Guyton KZ, Grosse Y, Ghissassi FE, Benbrahim-Tallaa L, Guha N, Mattock H, Straif K, on behalf of WHO’s the International Agency for Research on Cancer Monograph Working Group. Carcinogenicity of consumption of red and processed meat. Lancet Oncology Published Online: 26 October 2015 DOI: http://dx.doi.org/10.1016/S1470-2045(15)00444-1.
3. USDA Scientific Report of the 2015 Dietary Guideline Advisory Committee. Accessed on November 7,2015 at http://health.gov/dietaryguidelines/2015-scientific-report/PDFs/Scientific-Report-of-the-2015-Dietary-Guidelines-Advisory-Committee.pdf