ทำอย่างไรจะไม่แก่ (Anti-aging กับ telomere)
สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์ ดิฉันเป็นคนเกษียณแล้วเหมือนกันค่ะ
ได้ดูคุณหมอสันต์ในรายการโทรทัศน์วันอาทิตย์ที่แนชั่นแชนแนล เห็นว่าคุณหมอสันต์แม้จะเกษียณแล้วแต่ก็ยังดูหนุ่ม
ยังเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ตัวดิฉันเองตั้งแต่เกษียณมาแล้วเห็นชัดว่าตัวเองแก่ลงมาก
ช้าลงมาก ขี้หลงขี้ลืมเป็นที่หนึ่ง วันไหนไม่ได้แต่งหน้าไม่อยากมองหน้าตัวเองในกระจกเพราะเหมือนแก่ล่วงหน้าไปแล้วสักสิบปี
วันๆมันรู้สึกไม่อยากออกไปไหน แต่ก็ต้องพยายามออก เพราะเบื่อคุณสามีที่ชอบบังคับให้อยู่เป็นเพื่อนและเอ่ยปากขอให้หาโน่นหานี่ให้ทานเหมือนสมัยที่เขายังทำงานอยู่
ทั้งๆที่ตอนนี้เกษียณแล้วน่าจะหัดทำอะไรเองบ้าง แต่ว่าออกจากบ้านแล้วก็ไม่ค่อยมีที่ไป
เพราะเพื่อนๆก็ห่างหายกันไปหมดเพราะเราเอาแต่ดูแลลูกและสามีอยู่หลายสิบปีไม่ได้ติดต่อกับใครจึงไม่ได้ข่าวคราวของคนอื่น
อยากให้คุณหมอสันต์แนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะไม่แก่อย่างคุณหมอสันต์บ้าง คุณหมอทานอย่างไร
อยู่อย่างไร ทานวิตามินหรืออาหารเสริมอะไรอยู่บ้าง คุณหมอสันต์ฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า
คืออยากรู้ว่าในเรื่อง anti-aging นี้ อะไรเป็นจริง
อะไรหลอก ขอบคุณค่ะ (ชื่อ..) ดิฉันต้องขอโทษด้วยที่เขียนติดกันหมดเพราะทำย่อหน้าไม่เป็น เพิ่งหัดส่งอีเมล ยังไม่ถนัด
.....................................
ตอบครับ
ผมหายศีรษะไปหลายวัน เพราะไปทำแค้มป์สุขภาพให้กับคณะผู้เกษียณอายุจำนวนราว
50
คน ขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ผมพาท่านเหล่านั้นไปกินไปนอนอยู่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่นครนายกสามสี่วัน
เพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้เกษียณ เพิ่งกลับมาวันนี้
จึงหยิบจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาตอบเพราะยังอยู่ในอารมณ์ของ “ผู้เกษียณ” อุ่นๆอยู่เลย
1.. ประเด็นอะไรจริงอะไรหลอก
ตัวหมอสันต์ในทีวีที่ดูหนุ่มเป็นของหลอก แต่ตัวจริงที่แก่เหลาเหย่แล้วเป็นของจริง หิ..หิ
2.. ประเด็นส่องกระจกแล้วไม่อยากมองหน้าตัวเอง
ผมว่าทางแก้ที่ชะงัดที่สุดน่าจะเป็นศัลยกรรมตกแต่งนะครับ (อะจ๊าก..ก พูดเล่น)
3.. ถามว่าทุกวันนี้ผมกินวิตามินอาหารเสริมอะไรบ้าง
ตอบว่ากินแต่น้ำมันปลาวันละ 1 เม็ด (1 กรัม)
ครับ อย่างอื่นไม่ได้กินอะไร
เคยพยายามจะกินเบบี้แอสไพรินวันละเม็ดเพื่อลดการเป็นมะเร็งกับเขาบ้าง แต่ก็ไปไม่รอดเพราะกินแล้วปวดท้อง ส่วนวิตามินรวมซิลเวอร์เซ็นทรัม แต่ก่อนก็เคยกินวันละเม็ด แต่พอหลักฐานวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) ได้ผลออกมาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ผมก็เลิกกิน
4. ถามว่าผมเคยฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า
ตอบว่า ไม่เคยครับ โธ่ ผมจะหาเรื่องเจ็บตัวไปทำพรื้อ..อ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลยแม้แต่น้อยนิด ยกเว้นกรณีสำหรับคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง หุ..หุ.. คุณรู้จัก ผบ. ทบ. ของผมน้อยไปเสียแล้ว เธอไม่มีวันอนุมัติงบประมาณให้กับเรื่องเหลวไหลอย่างนั้นหรอก
5. ถามว่าในเรื่อง anti-aging
นี้มีอะไรได้ผลจริงจังบ้าง ตอบว่า คือหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่อง anti-aging (ในคน) ทุกวันนี้มีน้อย เพราะตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ไม่มี
หากจะเอาความยืนยาวของชีวิตเป็นตัวชี้วัด งานวิจัยก็ต้องทำกันนานถึง 20 - 40
ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีใครทำงานวิจัยแบบนี้สักชิ้นเดียว
ในบรรดาตัวชี้วัด anti-aging ที่พอใช้ได้ทุกวันนี้
วงการแพทย์ดูจะยอมรับการยืดหรือหดตัวของทีลอเมียร์ (telomere)
ว่าเป็นอะไรที่มีความสัมพันธ์กับการแก่ช้าหรือเร็วมากที่สุด ทีลอเมียร์ก็คือส่วนปลายของเส้นโมเลกุลของโครโมโซม ซึ่งเป็นแหล่งรวมระหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า "ยีน (gene)" ตัวยีนเป็นระหัสพันธุกรรมที่ควบคุมหรือบ่งชี้ว่าเซลลูกที่เกิดจากการแบ่งตัวจากเซลแม่จะมีหน้าตาและความสามารถในการทำงานอย่างไร
พูดง่ายว่ายีนคือผู้บงการชะตาชีวิตของเซลร่างกายเรา ส่วนเทลอเมียร์มีหน้าที่คุ้มกันยีนไม่ให้หลุดลุ่ยเสียหายจากการแบ่งตัวของเซลซ้ำๆซากๆ
เปรียบเหมือนตรงปลายของเชือกผูกรองเท้าจะมีปลอกพลาสติกหรือปลอกเหล็กเล็กๆรัดไว้ไม่ให้ปลายเชือกผูกรองเท้าลุ่ย
ทีลอเมียร์ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน ประเด็นก็คือเมื่อเซลแบ่งตัวรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ทีลอเมียร์จะหดสั้นลงจนหมดเกลี้ยงในที่สุด เมื่อทีลอเมียร์หมดเกลี้ยง ยีนจะเริ่มหลุดลุ่ยเสียหาย
ทำให้เซลรุ่นต่อไปจะออกอาการผิดเพี้ยน เหลาเหย่ เป็นมะเร็ง หรือหมดอายุ พูดง่ายๆว่าความแก่มาเยือน
บรรทัดนี้ผมขอหยุดหนึ่งนาทีเพื่อคารวะต่อนักศึกษาป.โทสาวชาวออสซี่คนหนึ่งชื่อ
แครอล กรีเดอร์ (Carol
W. Greider) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเอ็นไซม์ทีลอเมียเรส (telormerase) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหดสั้นของทีลอเมียร์ ขณะทำวิทยานิพนธ์ป.โทของเธอ
และผลงานนี้ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลร่วมในสาขาชีวะโมเลกุล
มีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าความเครียดเรื้อรังทำให้ความแอคทีฟของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสลดลง
ทำให้ทีลอเมียร์หดสั้นเร็วกว่าปกติ จึงอาจมีผลให้อายุสั้นลงด้วย
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคืองานวิจัยที่แคลิฟอร์เนีย ทำโดยกลุ่มคนที่เชื่อถือได้รวมทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลในเรื่องทีลอเมียร์ด้วย ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนอายุมากตัวเป็นๆมา 30 คน มาวัดกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ไว้หมด
แล้วให้เข้าโปรแกรมปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลานาน 3 เดือน
โดยไปเริ่มต้นกันที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ซึ่งในโปรแกรมนี้ทุกคนจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้
คือ
1.. เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน
ไปกินอาหารแคลอรี่ต่ำ ไขมันต่ำ (มีแคลอรี่จากไขมันไม่เกิน 10%) เป็นอาหารออกแนวมังสะวิรัติ (plant based) มีผักผลไม้มากๆ
ถั่วต่างๆมาก กินธัญพืชไม่ขัดสีแทนแป้งและคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชขัดสี และบังคับให้กินเต้าหู้และน้ำมันปลาทุกวันทุกคน
โดยมีนักโภชนาการคอยจัดอาหารและคุมอาหารให้
2.. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยวิธีเดินเร็วจนถึงระดับหนักพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) อยู่นานอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 6
ครั้ง
3.. จัดการความเครียดโดยใช้เวลาวันละ
1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน
ด้วยวิธีต่างๆเช่น โยคะแบบผ่อนคลาย หรือฝึกสติตามดูลมหายใจ (breathing
meditation) หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
4.. เข้าพบปะกันในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทุกสัปดาห์
ทำอยู่อย่างนี้นาน
3
เดือน แล้ววัดดูตัวชี้วัดต่างๆรวมทั้งกิจกรรมของทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์
พบว่าทุกคน นอกจากจะได้รับผลดีที่ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นฐานดีขึ้น เช่นดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติลดลง ไขมันเลวในเลือดที่สูงลดลง
ความดันเลือดที่สูงลดลง น้ำตาลในเลือดและการใช้ยาเบาหวานลดลงแล้ว ยังพบว่าทุกคนมีกิจกรรมของทีลอเมียเรสเพิ่มขึ้น
และความยาวของทีลอเมียร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
แม้ว่าความรู้เรื่องทีลอเมียร์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีประเด็นถกเถียงค้างคากันอยู่บ้าง
แต่งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าอย่างน้อยก็มีอยู่หนึ่งสิ่ง ที่สัมพันธ์กับการเพิ่มกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ซึ่งเป็นสภาวะของยีนที่พบร่วมกับการมีอายุยืนหรือการแก่ช้า
สิ่งนั้นก็คือการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงในสี่ประเด็นข้างต้นนั่นเอง
ดังนั้น ถ้าคุณเชื่อหลักฐานวิทยาศาสตร์หนึ่งเดียวที่มีอยู่ในเรื่องนี้
ทางเลือกสำหรับคุณนอกจากศัลยกรรมตกแต่งแล้ว ก็คือ “การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง”
ไงครับ แบบว่า 1, 2, 3, 4 ข้างต้นนั่นแหละ
5.. ถามว่าตัวผมเองใช้ชีวิตอย่างไรทุกวันนี้
ตอบว่าผมก็พยายามทำตามหลักการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงทั้ง 1, 2, 3, 4 เหย็งๆอยู่นี่ไงครับ ตอนนี้ข้อ 1, 2 ทำได้แล้วพอควร
แต่ข้อ 3, 4 ยังทำไม่ได้ แต่ก็กำลังพยายามอยู่ ความยากอยู่ที่เวลาไม่พอใช้ จะให้จัดเวลาโยคะหรือนั่งสมาธิตามดูลมวันละหนึ่งชั่วโมง โห.. จะตัดกิจกรรมในชีวิตตรงไหนออกไปดีละ ทุกเรื่องก็ต้องทำหมด จึงยังตัดไม่ขาด แหะ..แหะ แบบว่าป่วยเป็นโรคคลาสสิก "กลุ่มอาการเวลาไม่พอใช้" หรือ "Not Enough Time Syndrome" เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องตัดใจโช้ะ จึงจะรักษาให้หายได้ แต่ตอนนี้ยังตัดใจไม่ขาด เอาไว้รอให้รายการทีวี.หมดซีซั่นก่อนนะ คราวนี้จะ..โช้ะ ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง เอาให้หายขาดแน่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม