เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับยาต้านซึมเศร้า (antidepressant)

คุณหมอสันต์คะ
อายุ 55 ปี เป็นแฟนบล็อกของคุณหมอแบบแอบอ่านมาสองปี ขอบคุณคุณหมอที่ช่วยให้อินเตอร์เน็ทมีคุณค่ามากขึ้นสำหรับดิฉัน ตอนนี้มีปัญหา อับจนปัญญาจะไปต่อด้วยตัวเอง เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อห้าปีก่อน ตอนนั้นยังอยู่ที่อเมริกา มีปัญหาครอบครัว หมอได้ให้การรักษาด้วยยา Prosac และกินเรื่อยมา บางครั้งก็ต้องกิน Xanax เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ทำจิตบำบัดอยู่สองคอร์สแล้วต้องเลิกไปเพราะสู้ราคาไม่ไหว สามปีต่อมารู้สึกว่ายามันไม่ค่อยได้ผล เพราะอาการมันกลับเป็นอีก แบบว่าหงุดหงิด นอนไม่หลับ เบื่อชีวิต ไม่อยากทำอะไร ไม่มีพลัง ไม่อยากพบหน้าสนทนากับใคร บางครั้งก็เกิดความคิดขึ้นมาง่ายๆว่าตายๆไปเสียก็คงดีเหมือนกันนะ แต่ก็เป็นความคิดเพียงแว่บเดียว แล้วก็กลับมาเป็นความตั้งใจจะแก้ปัญหาให้ตัวเองให้สำเร็จ ทางด้านหมอเขาเปลี่ยนยาเป็น Zoloft ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็เหมือนเดิมอีก ตอนนี้เกษียณแล้ว ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยได้สองปีแล้ว เปลี่ยนจิตแพทย์ไปแล้วสองครั้ง คือครั้งแรกไปหาคุณหมอ .... ที่รพ. .... แล้วก็ไปหาคุณหมอ .... ที่รพ. ……. ห้าเดือนที่ผ่านมาคุณหมอเปลี่ยนยาเป็น Lexapro อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย อาการนอนไม่หลับเป็นมากขึ้น แม้จะทาน  Xanax ช่วยทุกคืนก็ไม่ค่อยได้ผล ได้เขียน email คุยกับเพื่อนทางอเมริกา เขาก็แนะนำให้หยุดยา antidepressant และได้ส่งข่าว CBS มาให้ว่าวงการแพทย์เพิ่งค้นพบความจริงว่ายา antidepressant แท้จริงมันไม่ได้ผลแต่แรกแล้ว แต่บริษัทยาใช้ลูกเล่นเอาออกมาขายจนขายดิบขายดี คุณหมอดูรายละเอียดได้ที่ http://www.cbsnews.com/8301-505269_162-57380096/inside-60-minutes-placebo-story/ อ่านข่าวแล้วยิ่งรู้สึกไม่ดีกับชีวิตตัวเอง ว่าจะเดินหน้าต่อไปทางไหนดี ยาพึ่งไม่ได้จริงหรือเปล่า ทำไมมันเคยพึ่งได้ ถ้ายาพึ่งไม่ได้ แล้วมีอะไรเหลือให้พึ่งได้อีกบ้างคะ เพื่อนเขาแนะนำว่าให้กลับไปอเมริกาเพื่อตรวจ SPECT scan เพื่อดูการทำงานของเนื้อสมองแบบแยกส่วน ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้แพทย์แยกได้ว่ากรณีของดิฉันจะเป็นโรคซึมเศร้าแบบสนองตอบต่อยาหรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่าควรทำตามเพื่อนบอกหรือเปล่า อยากให้คุณหมอแนะนำ และบอกทางเลือกให้ดิฉันให้หมดเกลี้ยงเลยนะคะ ขอบคุณมากๆเป็นพิเศษอีกครั้งค่ะ

………………………………………………………..

ตอบครับ

     1.. เอาเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับยาต้านซึมเศร้า ก่อนนะครับ เรื่องนี้เกิดตั้งแต่ปีกลายแล้ว แต่ผมไม่เคยพูดถึงในบล็อกนี้เพราะไม่แน่ใจว่าพูดมากไปแล้วจะเกิดผลเสียหรือผลดีมากกว่ากัน คราวนี้คุณพูดขึ้นมาก่อน ก็จำเป็นต้องพูดกันให้เคลียร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นตามทัน ผมขอเล่าปูมหลังให้ฟังก่อนนะครับ คือยาต้านซึมเศร้ายอดนิยมในโลกนี้ปัจจุบันเป็นยาในกลุ่ม SSRI ซึ่งออกฤทธิ์เพิ่มสารซีโรโทนินในสมอง การที่ยานี้ใช้ต้านภาวะซึมเศร้าได้ผล เป็นเหตุให้เกิด “ทฤษฎี” ในทางการแพทย์ขึ้นว่าโรคซึมเศร้ามีปฐมเหตุจากระดับสารซีโรโทนินในสมองลดลง ซึ่งทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับกันทั่ว่ไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ต่อมา หลังจากมีการใช้ยาต้านซึมเศร้ากันอย่างเอิกเกริกทั่วโลกแล้ว สถิติที่เก็บตามหลังพบว่าในคนส่วนใหญ่ ยานี้มันไม่ค่อยได้ผล ได้ผลก็ไม่นาน แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนกินยา จนกระทั่งกลุ่มนักวิจัยซึ่งทำวิจัยเรื่องผลของยาหลอก (placebo effect) ที่ฮาวาร์ดมานานและมีผลงานเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์มานาน หัวหน้ากลุ่มชื่อ Dr. Kirsch ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยทบทวนการใช้ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งตอนนั้นคือยา Prosac และสรุปผลว่าแท้จริงแล้วยา Prosac ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก คนไข้กินยาแล้วดีขึ้นเป็นเพราะผลจากการถูกหลอก (placebo effect) แค่นั้นแหละ ก็เกิดศึกสามเส้าโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างบริษัทยาผู้กำลังหามหมู นักวิจัยผู้เอาคานเข้ามาสอด และจิตแพทย์ผู้ซึ่ง..พูดง่ายๆว่าทำงานง่ายขึ้นถ้ามียาต้านซึมเศร้าเป็นเครื่องมือ การโต้แย้งนี้ราดน้ำมันโดยสื่อมวลชนซึ่งถือว่าการทะเลาะกันของชาวบ้าน เป็นข่าวหรือ “สินค้า” ที่สื่อมวลชนใช้ทำมาหารับประทาน เมื่อประชาชนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น จึงเกิดเป็นพลังกดดัน จนศาลต้องสั่งให้องค์การอาหารและยาหรือ FDA  เปิดเผยผลวิจัยทั้งหมดทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์ให้กับทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดเพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมให้เห็นดำเห็นแดงว่าความจริงเป็นอย่างไร

     เขียนมาถึงตรงนี้ผมต้องเล่าแบ๊คกราวด์ทางกฎหมายประกอบเล็กน้อย คือกฎหมายอเมริกันบังคับว่าผู้ผลิตยาที่จะขอนำยาออกใช้ ต้องส่งข้อมูลวิจัยทุกรายการ ทั้งที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ และที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ที่เกี่ยวกับยาตัวนั้น ให้ FDA ดูเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเสมอ ข้อมูลที่ตีพิมพ์แล้วนั้นไม่มีปัญหา เพราะใครๆก็อ่านเอาได้จากวารสารการแพทย์ แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์นั่นแหละ ที่ทีมวิจัยอยากได้มาดูภาพใหญ่ว่าจริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร และศาลสั่งให้ FDA ปล่อยข้อมูลนี้ให้กับทีมวิจัย

     ทีมวิจัยจึงได้ทราบจากข้อมูลที่ FDA จำใจเปิดเผยให้ว่าบริษัทยาได้ส่งผลวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ให้กับ FDA จำนวนมากมายหลายรายการ และทุกรายการล้วนสรุปผลได้ว่ายาต้านซึมเศร้าไม่ได้ผล คือได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็น negative randomized clinical trial หรือ negative RCT แต่บริษัทยาใช้วิธี “ซุกกิ้ง” คือจับข้อมูลพวกนี้ยัดลิ้นชักโดยไม่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ คงตีพิมพ์เฉพาะงานวิจัยที่มีผลสรุปว่าได้ผล (positive RCT)  และเมื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมายำรวมกันแล้ววิเคราะห์ใหม่แบบเมตาอานาลัยซีสก็ยืนยันว่ายาต้านซึมเศร้า ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอกในผู้ป่วยที่กินยาส่วนใหญ่ มีเฉพาะผู้ป่วยจำนวนน้อยที่มีอาการซึมเศร้ามากๆเท่านั้น ที่ยาต้านซึมเศร้าให้ผลดีกว่ายาหลอกเพียงเล็กน้อย

     เมื่อทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดตีพิมพ์ผลนี้ออกมา พวกสื่อมวลชนก็ตามจี้ถึงบริษัทยา ว่าเฮ้..ยูทำแบบนี้มันไม่ถูกต้องด้วยจริยธรรมหรือเปล่า ทำไมยูไม่ตีพิมพ์ผลวิจัยส่วนที่บอกว่ายาไม่ได้ผลละ พวกบริษัทยาก็พากันปิดปากเงียบ แต่ก็มีบางคนที่ให้สัมภาษณ์ว่า

     “...สิ่งที่บริษัททำไปนั้นชอบด้วยศีลธรรมและกฎหมายทุกประการ การที่บริษัทไม่ตีพิมพ์ผลวิจัยที่เป็น negative RCT นั้นเพราะว่างานวิจัยเหล่านั้นมีข้อบกพร่องในกระบวนการวิจัย..”

     (แหม..เล่าถึงตรงนี้ผมอดคันปากไม่ได้ ขอแจมนิดหนึ่งในฐานะที่เป็นคนทำวิจัยเองอยู่เหมือนกันนะครับแม้ว่าผมจะเป็นแค่นักวิจัยระดับหางแถวหรือระดับซังกะบ๊วยก็ตาม คือกระบวนการวิจัยหรือ research methodology นี้เป็นอะไรที่นักวิจัยถือว่าสำคัญสูงสุด เพราะหากออกแบบไม่ดีงานที่ทำมาแทบตายก็จะไร้ค่า แล้วบริษัทยาที่ลงทุนทำวิจัยที่หนึ่งเป็นร้อยๆล้านบาทเนี่ย เขาจะปล่อยให้นักวิจัยระดับต่ำกว่าซังกะบ๊วยมาออกแบบ methodology สั่วๆจนตีพิมพ์ไม่ได้ ทำให้เงินที่ลงไปเป็นร้อยๆล้านต้องสูญเปล่าหรือไม่... แหะ แหะ ผมไม่ทราบครับศาลที่เคารพ)

     ทางด้าน FDA นั้นก็ไม่พ้น ถูกนักข่าวตามเอาไมโครโฟนยัดปากเหมือนกัน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชการ พนันร้อยเอาหนึ่งว่าสื่อมวลชนกินเขาไม่ลงหรอก ตัวแทนของ FDA ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า

     “...ตามกฎหมาย การจะอนุมัติให้นำยาใดออกใช้ ต้องมีงานวิจัยว่าได้ผล (positive RCT) อย่างน้อยสองงานขึ้นไป ก็อนุมัติได้ ทาง FDA อนุมัติใช้ไปตามตัวบทกฎหมาย ส่วนที่ข้อมูลที่ส่งมามี negative RCT จำนวนมากนั้น FDA ไม่ได้ใช้ประกอบการพิจารณา เพราะตัวบทกฎหมายไม่ได้บังคับให้ใช้ข้อมูล negative RCT มาประกอบการพิจารณา”

     เห็นไหมครับ ว่าพวกข้าราชการมืออาชีพเขามีวิธีชิ่งที่สวยงามเพียงใด แต่ช่างเถอะ นั่นเรื่องชาวบ้านทะเลาะกัน เราอย่าไปสนใจมากเลย เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ มาสนใจเรื่องของเราดีกว่า กล่าวโดยสรุปในเรื่องข่าวอื้อฉาวของยาต้านซึมเศร้าก็คือ ข้อมูลหลักฐานที่มีถึงปัจจุบันสรุปได้ว่ายาต้านซึมเศร้าได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอกในคนส่วนใหญ่ มีข้อยกเว้นเฉพาะคนเป็นโรคซึมเศร้าระดับหนักมากจำนวนนิดเดียวเท่านั้น ที่ยาต้านซึมเศร้าให้ผลดีกว่ายาหลอกเพียงเล็กน้อย ย้ำ.. เพียงเล็กน้อย ที่ผมเกริ่นแต่ต้นว่าผมไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ในบล็อกเพราะความจริงบางอย่างพูดไปมันอาจมีประเด็นไม่สร้างสรรค์แทรกอยู่ด้วย ไม่ได้หมายความว่าผมกลัวบริษัทยาเจ๊งนะครับ แต่ผมหมายความว่าทุกวันนี้มีคนไข้โรคซึมเศร้าจำนวนมากซึ่งมีชีวิตปกติอยู่ได้ด้วยผลของการหลอกหรือ placebo effect ของยา ถ้าเราไปพูดอะไรแล้วผลอันนี้ลดลง คนที่เสียหายก็คือคนไข้นะครับ 

     2.. ถามว่าเพื่อนเขาชวนไปตราจ SPECT scan สมองเพื่อแยกแยะว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าแบบไหน เหมาะกับการใช้ยาหรือไม่ จะไปตามเขาว่าดีไหม ตอบว่า ณ ขณะนี้ผมยังไม่มีใครมีข้อมูลที่จะตอบตรงนี้ได้ครับ แต่ว่าผมให้ความรู้พื้นฐานคุณแล้วไปใช้ดุลพินิจเอาเองได้ เพราะในการรักษาโรค เมื่อข้อมูลที่แพทย์จะใช้ตัดสินใจมีไม่พอ แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลทั้งหมดแก่คนไข้ บอกประโยชน์ และความเสี่ยง แล้วให้คนไข้ตัดสินใจเอง ดังนั้นวิธีที่ผมทำกับคุณนี้ไม่ใช่การโบ้ยนะ แต่เป็นการทำงานตามหลักวิชานะ

    ความรู้พื้นฐานในเรื่องการตรวจสมองเพื่อดูว่าบ้า เอ๊ย.. ขอโทษ ว่าเป็นโรคจิตโรคประสาทแบบไหนนี้ เป็นความพยายามของวงการแพทย์ที่จะเปลี่ยนวิธีตรวจสมองที่แต่เดิมๆตรวจกันแต่ภาพ เช่นการทำ CT หรือ MRI คือเหมือนถ่ายรูปแชะเดียว มาเป็นการตรวจสมองเพื่อดูการทำงานของเซลในเนื้อสมอง ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น

     1.. ตรวจการทำงานสมองด้วยการใส่คลื่นแม่เหล็กเข้าไป (Functional MRI หรือ fMRI) ตรวจการทำงานนะ ไม่ใช่ตรวจภาพ คือถ้าตรวจ MRI ธรรมดาเนี่ยเป็นการเอาสนามแม่เหล็กไปเปลี่ยนทิศทางการหมุนรอบตัวเองของอะตอมไฮโดรเจนในเนื้อเยื่อต่างๆ พอหยุดคลื่นแม่เหล็ก อะตอมเหล่านั้นหันกลับมาหมุนในทิศทางเดิมพร้อมกับปล่อยพลังงานออกมา คอมพิวเตอร์จะจับพลังงานเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพของสมอง นั่นคือ MRI แบบธรรมดาที่ใช้กันทั่วไป แต่ fMRI นี้ใช้หลักการจับภาพตัวพาออกซิเจนในเม็ดเลือด (hemoglobin) โดยจับมาเป็นสองแบบ แบบกำลังขนออกซิเจนอยู่ กับแบบปล่อยออกซิเจนไปแล้ว แล้วให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพขึ้นมาว่าเนื้อสมองส่วนไหนมีการขนออกซิเจนไปปล่อยมาก ก็แสดงว่าเนื้อสมองส่วนนั้นกำลังทำงานมาก เพราะเมื่อทำงานเซลต้องใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญเอาพลังงาน

     2.. ตรวจคลื่นแม่เหล็กที่เซลสมองก่อขึ้น (Magnetoencephalography - MEG) คล้ายๆกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) แต่ MEG เจาะจงตรวจคลื่นแม่เหล็กที่เกิดจากกิจกรรมไฟฟ้าของเซลสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งหลบการบดบังของกระโหลกศรีษะและเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ดีกว่า แต่ผลบั้นปลายก็คือข้อมูลที่ว่าเนื้อสมองตรงไหนมีกิจกรรมไฟฟ้ามาก (ก็น่าจะทำงานมาก

     3.. ตรวจการทำงานเนื้อเยื่อโดยฉีดโมเลกุลติดฉีดสารเปล่งรังสี (Positron emission tomography – PET) วิธีการคือเอาโมเลกุลที่เซลใช้เป็นวัตถุดิบเวลาทำงานอยู่เป็นประจำ เช่นกลูกโคส มาแปะสารเปล่งรังสีเข้าไปกับตัวโมเลกุล แล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วตามไปวัดดูว่าสารเปล่งรังสีเหล่านี้ไปออกันอยู่ที่ตรงไหนมาก ก็แสดงว่าเนื้อเยือตรงนั้นมีการทำงานใช้กลูโคสมาก

     4.. ตรวจการทำงานของเนื้อเยื่อโดยฉีดสารเปล่งรีงสีแกมม่า (Single photon emission computed tomography - SPECT) อันนี้คือฉีดสารเปล่งรังสีแกมม่าเขาไปในกระแสเลือด แล้วตามวัดรังสีแกมม่าว่าสารที่ฉีดเข้าไปออกันอยู่ที่ตรงไหนมาก ซึ่งก็แสดงว่ามีเลือดไปเลี้ยงตรงนั้นมาก แสดงว่าเซลกำลังทำงานมาก

     จะเห็นว่าการตรวจการทำงานของสมองทุกวิธี รวมทั้ง SPECT scan ด้วย บอกได้เพียงแต่ว่าเนื้อสมองส่วนไหนกำลังทำงานมาก เนื้อสมองส่วนไหนทำงานน้อย หรือไม่ทำงานเลย แต่ความรู้แพทย์ปัจจุบันนี้ยังไม่รู้หรอกว่าเนื้อสมองส่วนที่เห็นทำงานอยู่มากๆนั้น มันกำลังทำอะไรบ้าง หรือมันก่อโรคอะไรบ้าง มันกำลังทำความดีหรือทำความชั่ว เรามิอาจรู้ได้ เพราะสมองนี้ประกอบขึ้นจากเซลประสาทรูปร่างเหมือนต้นไม้จำนวนนับร้อยล้านต้น บางต้นมีความยาวจากหัวจรดเท้าของเจ้าตัว แต่ละต้นมีจุดปล่อยไฟฟ้าออกสีข้างหรือ synapse อีกเป็นร้อยจุด แล้วความรู้แพทย์ยังไม่รู้แม้แต่น้อยว่าเซลสมองเซลไหนเวลามันทำงานหรือไม่ทำงานแล้วมันจะทำให้เกิดโรคอะไร ไม่รู้แม้แต่เซลเดียว จากจำนวนเป็นร้อยล้านเซล ความรู้เกี่ยวกับสมองที่วงการแพทย์มีอยู่ตอนนี้มันน้อยยิ่งกว่าความรู้ที่คนตาบอดได้จากการคลำช้างเสียอีก ดังนั้นการที่คลินิกจิตแพทย์ในอเมริกาบางแห่งซื้อเครื่อง SPEC มาแล้วโฆษณาว่าตรวจแล้วบอกได้ว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าชนิดไหน ต้องใช้ยาดีหรือไม่ต้องใช้ดี แหะ..แหะ ผมว่าอย่างนี้มันเป็นการแพทย์ทางเลือกชนิดหนึ่งนะครับ คำว่าการแพทย์ทางเลือกของผมหมายถึงว่าการแพทย์ที่ว่ากันไปตามความเชื่อหรือความชอบโดยไม่ต้องรอหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆ คุณจะเอาด้วยหรือไม่เอาด้วยก็สุดแต่ตัวคุณแล้วละครับ ส่วนตัวผมนั้นไม่เอาด้วยแน่นอน ปู้โธ่ เพียงแค่ทฤษฎีที่ว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารซีโรโทนินในสมองต่ำลง เรายังไม่รู้เลยว่ามันจริงหรือไม่จริง งานวิจัยของ ดร. เคิร์ชข้างบนนี้บอกอยู่โต้งๆ ว่ามันอาจจะไม่จริงซะแล้ว เอาแค่ตรงนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปีกว่าจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือไม่จริง อย่าเพิ่งไปไกลถึงตรวจการทำงานของเนื้อสมองแล้วบอกได้ว่าใครเป็นโรคจิตชนิดไหนเลยครับ ต้องใช้ยาอะไรเลยครับ ตรงนั้นยังอีกนาน.. อีกนาน.. อีกนาน

     3.. ถามว่าทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้านอกเหนือจากยาต้านซึมเศร้ามีอะไรบ้าง เอาเฉพาะที่มีหลักฐานวิจัยรองรับว่าดีแท้แน่นอน ก็ได้แก่

          3.1 การออกกำลังกาย อันนี้ดีแน่นอน ขอให้ทำเท่านั้นแหละ ฉลาดไม่กลัว แต่กลัวไม่ทำ.. จริ๊ง..ง
          3.2 การทำจิตบำบัดแบบฝึกความรู้ตัวประกอบกับการสอนให้คิดใหม่ทำใหม่ (mindfulness based cognitive therapy - MBCT) พูดง่ายๆก็อะไรในแนวสติสมาธิวิปัสสนาเนี่ยแหละ มีงานวิจัยไว้แยะ และพบว่าใช้รักษาโรคซึมเศร้าชนิดกลับเป็นซ้ำได้ดีเท่า หรืออาจจะดีกว่ายา
3.3 การกินน้ำมันปลา (โอเมก้า 3) หรือกินปลา คุณอาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ เกี่ยวอะไรกันด้วย วงการแพทย์เองก็ทราบโดยบังเอิญเหมือนกัน คือมีแพทย์คนหนึ่งไปทำวิจัยเม็ดเลือดแดงของคนไข้ซึมเศร้าด้วยจุดประสงค์อื่น แล้วก็พบโดยบังเอิญว่าผนังเซลเม็ดเลือดของคนไข้ซึมเศร้ามีสารโอเมก้า 3 น้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า จึงนำไปสู่การวิจัยเปรียบเทียบ ทดลองใช้น้ำมันปลา หรือปลา รักษาคนเป็นโรคซึมเศร้า เทียบกับยาต้านซึมเศร้า แล้วก็ได้ผลดีจริงๆเสียด้วย คือเทียบกับยาต้านซึมเศร้าแล้วได้ผลเท่ากันในระยะ 12 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นน้ำมันปลาดีกว่ายาต้านซึมเศร้าเล็กน้อย

การรักษาแบบอื่นๆที่คนเขาว่าดี แต่หลักฐานสนับสนุนยังไม่ถึงกับชัดเจนมากนักก็เช่น

(1)    การรักษาด้วยการหัวเราะ หมายถึงไปเข้ากลุ่มหัวเราะกันเอาเป็นเอาตายน้ำหูน้ำตาไหล แบบว่า ไม่มีมูลอะไรก็หัวเราะกันลั่น

โอ๋.. โฮ่ โฮ่ โอ่
อ๋า.. ฮ่า ฮ่า ฮ่า
อี๋.. ฮี่ ฮี่ ฮี่
อู๋.. หุ หุ หุ
ฯลฯ
  
(2)    การตากแดด หรืออบแสงแดดเทียมจากหลอดไฟ

ทั้งสองวิธีหลังนี่แม้หลักฐานสนับสนุนจะไม่ชัดนัก แต่คุณจะลองดูผมว่าก็ไม่เสียหลายนะครับ

     4.. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้นะ คือผมเห็นคุณเปิดฉากมาก็ซึมเศร้า เศร้า เศร้า จิตบำบัด จิตแพทย์ จิตแพทย์ ไม่มีซักคำที่จะพูดถึงโรคทางร่างกาย ผมจึงไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้เลย ประเด็นของผมก็คืออาการซึมเศร้ามีจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากโรคทางกาย เช่น โลหิตจางนี่ก็ซึมเศร้าได้แล้ว หรือวัยของคุณหมดประจำเดือน กลุ่มอาการหมดประจำเดือน (PMS) อันเนื่องมาจากฮอร์โมนดร็อพ นี่ก็ซึมเศร้ายืดเยื้อเรื้อรังได้แล้ว แล้วยังมีโรคทางกายอีกเยอะแยะแป๊ะตราไก่ที่ทำให้ซึมเศร้าได้ เช่นโรคไฮโปไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดต่างๆ แล้วสุดท้าย ยาที่คุณกินอยู่ก็ทำให้คุณซึมเศร้าได้ ไม่ว่าจะเป็นยาหัวใจ ยาความดัน ยาลดไขมัน ทำให้ซึมเศร้าได้ทั้งนั้น อันนี้ใช้ได้กับท่านผู้อ่านท่านอื่นด้วยนะครับ ที่พูดมานี่เพียงแต่อยากจะแนะนำว่าเมื่อมีปัญหาทางใจ อย่าเพิ่งรี่ตรงแน่วไปหาจิตแพทย์ ไปหาแพทย์ทั่วไปให้เขาคัดกรองโรคทางกายก่อนดีกว่า ถ้าไม่มีโรคทางกาย ค่อยไปหาจิตแพทย์ เพราะเมื่อคุณเข้ามือจิตแพทย์แล้ว มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคทางกายอีก เพราะจิตแพทย์เขาถือว่าคุณผ่านด่านโรคทางกายมาแล้ว เขาก็จะเดินหน้าสู่เรื่องจิตเวชเรื่องเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม  
1.     Kirsch I, Sapirstein G. Listening to Prozac but hearing placebo: A meta-analysis of antidepressant medication. Prevention and Treatment. Prevention and Treatment 1 (2): Article 0002a. doi:10.1037/1522-3736.1.1.12a. Archived from the original on 1998-08-15.
2.     Kirsch I, Deacon BJ, Huedo-Medina TB, Scoboria A, Moore TJ, Johnson BT. "Initial severity and antidepressant benefits: A meta-analysis of data submitted to the Food and Drug Administration"PLoS Medicine 5 (2):e45. doi:10.1371/journal.pmed.0050045PMC 2253608PMID 18303940.
3.     Kirsch, Irving (2010). The Emperor's New Drugs: Exploding the Antidepressant Myth. Basic Books. ISBN 978-0-465-02016-4.
4.     Vilhelmsson A, Svensson T, and Meeuwisse A. A Pill for the Ill? Patients’ Reports of Their Experience of the Medical Encounter in the Treatment of Depression. PLoS ONE. 2013;8(6)e66338
5.     Blumenthal JASmith PJHoffman BM. ACSMs Health Fit J. 2012 Jul;16(4):14-21. Is Exercise a Viable Treatment for Depression?
6.      Edwards, R. et al. Omega-3 polyunsaturated fatty acid levels in the diet and in red blood cell membranes of depressed patients, Journal of Affective Disorders, 1998; 48: 149-55.
7.      Stoll, A.E., et al. Omega-3 fatty acids in bipolar disorder: A preliminary double-blind, placebo-controlled trial, Archives of General Psychiatry 1999; 56: 407-12.
8.      Lin, PY, Su, KP. A meta-analytic review of double-blind, placebo-controlled trials of antidepressant efficacy of omega-3 fatty acids. Journal of Clinical Psychiatry, July 2007; 68 (7): 1056-1061.
9.      Kuyken WByford STaylor RSWatkins EHolden EWhite KBarrett BByng REvans AMullan ETeasdale JD. Mindfulness-based cognitive therapy to prevent relapse in recurrent depression. J Consult Clin Psychol. 2008 Dec;76(6):966-78.
10.  Kuyken W, Byford S, Byng R, Dalgleish T, Lewis G, Taylor R, Watkins ER, Hayes R, Lanham P, Kessler D, et al. Study protocol for a randomized controlled trial comparing mindfulness-based cognitive therapy with maintenance anti-depressant treatment in the prevention of depressive relapse/recurrence: the PREVENT trial. Trials. 2010 Oct 20; 11:99. Epub 2010 Oct 20.
11.  Piet J, Hougaard E.The effect of mindfulness-based cognitive therapy for prevention of relapse in recurrent major depressive disorder: a systematic review and meta-analysis. Clin Psychol Rev. 2011 Aug; 31(6):1032-40. Epub 2011 May 15.
12.  Sipe WEEisendrath SJ. Mindfulness-based cognitive therapy: theory and practice. Can J Psychiatry. 2012 Feb;57(2):63-9.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67