เจาะใจ คุณดู๋ (สัญญา คุณากร) คุยกับนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


รายการเจาะใจ 19 กค. 55 คุณดู๋ (สัญญา คุณากร) คุยกับนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ถอดเทป คำต่อคำ
คุณสัญญา: เรื่องราวของแขกรับเชิญนะครับ เป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ ท่านได้ลงมีดผ่าตัดรักษาคนไข้โรคหัวใจมามากกว่า 2,000 ราย แต่คุณหมอเองก็เป็นโรคหัวใจด้วย ฟังดูก็ไม่น่าแปลกนะครับ เพราะคนเราเป็นคุณหมอได้ และก็เป็นคนไข้ได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือวิธีคิดของคุณหมอที่มีต่อโรค วิธีคิดของคุณหมอที่มีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ รายการเจาะใจขอต้อนรับนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ครับ

(เสียงปรบมือ)


คุณสัญญา: สวัสดีครับคุณหมอครับ
นพ.สันต์: สวัสดีครับ
คุณสัญญา: เรียนท่านผู้ชมว่าคุณหมอเป็นบุคคลที่ผมคุ้นเคย เป็นพิธีกรร่วมกับผมในอีกรายการหนึ่งชื่อว่า The Symptom เกมหมอยอดนักสืบ ขออนุญาตเอ่ยถึงนึดหนึ่งนะครับ ถ้าท่านเคยติดตามรายการนั้นละก็ แหม คุณหมอสันต์เป็นขวัญใจนะฮะ เป็นพิธีกรที่ทำงานหนัก ทั้งข้อมูล ทั้งแสดงด้วย ผมยังทำงานน้อยกว่านะฮะ
 กลับมาถึงเรื่องของคุณหมอ คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายอย่าง แต่ข้อมูลที่ผมมีอยู่ในมือคือคุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ของเครือโรงพยาบาลพญาไท
นพ.สันต์: ครับ
คุณสัญญา: อันนี้เป็นอันล่าสุดใช่ไหมฮะ หลังจากเชี่ยวชาญมาหลายเรื่อง
นพ.สันต์: หึ..หึ ไม่ได้หลายเรื่องนะครับ คือผมเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดหัวใจ พอเลิกอาชีพผ่าตัดหัวใจ ผมก็ไปฝึกอบรมเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว
คุณสัญญา: ถ้าพูดกันง่ายๆ เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไรครับคุณหมอ
นพ.สันต์: ก็เป็นวิธีส่งเสริมสุขภาพ
คุณสัญญา: อือ..ฮึ
นพ.สันต์:  เนื่องจากการมองสุขภาพของคนเนี่ย มันต้องมองว่าคนอยู่ในครอบครัว มันจะเกี่ยวพันกันไปหมด คำว่าเวชศาสตร์ครอบครัวนี่มันก็เลยดูจะมีความครอบคลุมดีกว่า แต่จริงๆก็คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
คุณสัญญา: แปลว่าบทบาทของคุณหมอเนี่ย ถ้าเราจะนึกถึงหมอเรามักจะนึกว่าหมอจะเข้ามาตอนหลังเมื่อเราเป็นโรคแล้ว แล้วจึงค่อยเจอหมอ แต่จริงๆแล้วก่อนเราเป็นโรคเนี่ย มันน่าจะได้เจอหมอ หรือได้เจอความรู้ ที่จะทำให้เราไม่เป็น
นพ.สันต์: ถูกต้อง
คุณสัญญา:  ถ้าจะย้อนกลับไปนะคุณหมอ เอาตอนคุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ แล้วคุณหมอไปเป็นโรคหัวใจได้ไงนะ ผมยังงงเลย หมอเชี่ยวชาญโรคนี้ แล้วคุณหมอก็เป็นโรคนี้เอง ฮะ..ฮะ..ฮะ มันมายังไงฮะ
นพ.สันต์: คือ..เรื่องรู้แล้วไม่ทำเนี่ย มันธรรมดาใช่ไหมครับ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แต่หมอเนี่ย เป็นอาชีพพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือถูกสอนให้รู้เรื่องโรค แต่ไม่ได้ถูกสอนให้ดูแลตัวเองเป็น ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกกีดกันไม่ให้ส่งเสริมสุขภาพของตัวเองด้วย
คุณสัญญา: ใครจะไปกีดกันด้าย..ย
นพ.สันต์: ก็หลักสูตรการเรียนการสอนไง คือ ยัด ยัด ยัด ยัด
คุณสัญญา: หมอปกติเรียนหกปี ถูกไหมฮะ
นพ.สันต์: หกปี แต่ต้องอ่านหนังสือสิบสองปี คือต้องอ่านทั้งกลางคืนด้วย กลางวันด้วย หึ..หึ..หึ
คุณสัญญา: หกปีที่คุณเรียนเป็นหมอเนี่ย ปริมาณหนังสือที่ต้องอ่านคือสิบสองปี
นพ.สันต์: ช่าย..ย
คุณสัญญา: คุณต้องยัดมันลงไปในหกปีให้ได้
นพ.สันต์: ช่าย..ย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปส่งเสริมสุขภาพตัวเอง ถ้าคุณออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง คือสมัยหนึ่งช่วงผมฝึกอบรม (แพทย์ประจำบ้าน) ที่โรงพยาบาลจุฬา สวนสาธารณะก็อยู่ข้างๆ
คุณสัญญา: สวนลุมอยู่ข้างๆนั่นแหละ
นพ.สันต์: ฮะ มองลงไปจากหน้าต่างตึกก็เห็นสีเขียวๆ เห็นเขารำมวยจีนกันอยู่ที่นั่น แต่เราไม่สามารถ ถ้าเราไปวิ่งชั่วโมงหนึ่ง เพื่อนเขาไปไหนต่อไหนแล้วใช่ไหมฮะ ไม่ทัน
คุณสัญญา: โหย..จริงเอ๋อ
นพ.สันต์: จริง...ง หึ..หึ
คุณสัญญา: แล้วอย่างนี้หมอมีข้อมูลไหมว่าหมอในประเทศเราเนี่ย ท่านมีโอกาสได้ดูแลสุขภาพของตัวเองไหม ท่านป่วยกันหนักไหม หรืออย่างไร
นพ.สันต์: ในประเทศเราเนี่ยผมมีแต่ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการนะฮะ คือเป็นการศึกษาในหมู่กันเอง ว่าแพทย์มีอัตราการออกกำลังกายประมาณห้าเปอร์เซ็นต์กว่าๆ ซึ่งต่ำกว่าคนทั่วไปนะฮะ คนทั่วไปมีอัตราการออกกำลังกายประมาณเจ็ดเปอร์เซ็นต์กว่าๆ
คุณสัญญา:  แปลว่าหมอร้อยคน มีคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำห้าคน
นพ.สันต์: ถูกต้องครับ
คุณสัญญา: คราวนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คุณหมอไปรู้ตัวตอนไหนครับ
นพ.สันต์: ก็มาถึงจุดหนึ่ง เมื่ออายุมาก ก็ต้องตรวจสุขภาพประจำปี ใช่ไหมฮะ อาการผิดปกติมันก็มีนิดๆหน่อยๆแต่เราก็ปฏิเสธมันไป แต่พอตรวจสุขภาพประจำปี ดัชนีสุขภาพต่างๆเริ่มโผล่มาละ ไขมันในเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา อันนี้ตามเกณฑ์ของหมอโรคหัวใจ เกณฑ์นี้ สำหรับคนที่มีความเสี่ยงขนาดนี้ ต้องใช้ยา ของผมเจาะปุ๊บ..ปุ้ง ต้องใช้ยาลดไขมันละ
คุณสัญญา: มีไขมันในเลือดสูง
นพ.สันต์: อ้า.. ความดันเลือดสูง เรารู้ว่าถ้าต่อไปอีกสักหน่อยก็ต้องใช้ยาละ ตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจมีแคลเซียมพอกที่หลอดเลือดหัวใจ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: แสดงว่ามีการหนาตัวของหลอดเลือด เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วแหละ พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ครบถ้วน มีหลักฐานว่าเป็นโรคแล้ว อนาคต...เดาได้
คุณสัญญา: ขึ้นเขียง
นพ.สันต์: ฮึ..ฮึ.. ขึ้นเขียง ใช่
คุณสัญญา: โรคหัวใจเนี่ย เดี๋ยว.. เอาภาษาชาวบ้านนะ มีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มันมีการจะอุดตันอยู่ละ
นพ.สันต์: ฮะ มันมีการตีบ
คุณสัญญา: เพราะมีไขมันพอก มีแคลเซียมเกาะ
นพ.สันต์: ใช่
คุณสัญญา: ปกติเขาจะรักษายังไงครับ คุณหมอครับ
นพ.สันต์: ก็ต้องใช้ยา
คุณสัญญา: หนึ่งใช้ยา
นพ.สันต์: แล้วก็ไปทำบอลลูน
คุณสัญญา: อันดับสอง ทำบอลลูน ส่งลูกโป่งเข้าไป ไปขยายปู๊ด แล้วเอาลวดค้ำไว้
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไปผ่าตัดบายพาส
คุณสัญญา: บายพาสคือ?
นพ.สันต์: เอาหลอดเลือดต่อ พาเลือดข้ามไป
คุณสัญญา: ไอ้ตรงที่ตีบ ตัดมันทิ้งไป แล้วต่อใหม่ แบบนี้หรือเปล่าฮะ
นพ.สันต์: อ้า..ไม่ใช่หงะ เอาหลอดเลือดจากที่แขน หรือที่ขา หรือที่หน้าอก มาต่อเชื่อมจากต้นทาง ข้ามไปปลายทาง ข้ามจุดตีบไป เหมือนเป็นทางเบี่ยง
คุณสัญญา: อ๋อ..อ ทำทางเบียง ไอ้เส้นที่มันตีบ เอาเส้นเลือดจากตรงอื่น ไปทำถนนให้มันใหม่
นพ.สันต์: ใช่ ถูกต้อง
คุณสัญญา: สามละ แล้วถ้ายังมีปัญหาอีก
นพ.สันต์: ส่วนใหญ่มันก็จะสงบไปสักสิบปี แล้วก็มาบายพาส...อีกละ
คุณสัญญา: ไอ้เส้นนี้ตีบอีกละ
นพ.สันต์: หึ..หึ บางทีเส้นอื่น
คุณสัญญา: แปลว่าคุณหมอรู้เส้นทางตัวเองละ พอตรวจเจอ ก็จะเป็นอย่างงี้แหละ กินยา บอลลูน บายพาส
นพ.สันต์: ประเด็นก็คือ เราไม่อยากจะมานอนบน...เขียง ซึ่งเรา...
คุณสัญญา: เราเคยเป็น..
นพ.สันต์: เรามองเขียงนั้นอยู่ประจำ หึ..หึ เราไม่อยากเป็นลูกค้า ฮะ..ฮะ..ฮะ พูดง่ายๆก็แล้วกัน
คุณสัญญา: คงไม่มีใครอยากหรอก
นพ.สันต์: ฮะ..ฮะ...ฮะ ใช่ ใช่..ใช่
คุณสัญญา: แล้วยังไงต่อครับ แล้วคุณหมอทำยังไง เพราะมันเป็นไปแล้ว
นพ.สันต์: เออ..ใหม่ๆเราก็ปฏิเสธก่อน ไม่เป็นไรหรอก แล้วก็ทำงานไป แต่ทีนี้มันก็มีเหตุการณ์ประกอบหลายอย่างนะฮะ คือ.. ความเครียด
คุณสัญญา: นี่คือเหตุการณ์เมื่อไหร่ฮะ คุณหมอตรวจเจอเมื่อไหร่
นพ.สันต์: อายุ..สัก 51 ปี ตอนนี้ 60
คุณสัญญา: ตอนอายุ 51 ตอนนี้ 60 เก้าปีที่แล้ว
นพ.สันต์: ครับ อ้า.. งานมันมาก ไม่มีเวลานอนหลับ มีความเครียด พูดง่ายๆ เบื่อ..อ..อ
คุณสัญญา: ไม่มีความสุขกับทุกวันของชีวิต
นพ.สันต์: ใช่ ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำยังไงกับชีวิต เพราะว่าชีวิตยังอยู่อีกยาว ถ้าเราจะถูลู่ถูกังไปอย่างนี้
คุณสัญญา: คุณหมอเครียดแล้วคุณหมอไปหาจิตแพทย์บ้างไหมฮะ ในฐานะอยู่ในแวดวงนี้
นพ.สันต์: เราก็ถามน้องๆ ถามน้องๆที่เขาเก่งทางด้านนี้ ถามว่าเอ.. ยังงั้นยังงี้ เขาก็มีคำแนะนำตามหลักวิชาเค้าหงะ แนะนำให้กินยา
คุณสัญญา: กินยา
นพ.สันต์: ยาแก้เซ็ง..พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ยาคลายเครียดเงี้ยเหรอ
นพ.สันต์: ทำนองนั้น
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: มันไม่เวอร์ค ก็เลยต้องถอยกลับมาศึกษาหลักวิชาของเราใหม่
คุณสัญญา: เพราะไม่อยากขึ้นเขียง
นพ.สันต์: เฮอะ..เฮอะ ใช่ คือผมจบแพทย์มาตอนนั้นก็ร่วมสามสิบปี บางอย่างที่เรียนเมื่อสามสิบปีก่อนมันเปลี่ยนไปเยอะละ กลับมาเรียนใหม่ กลับมาอ่านหนังสือใหม่ เราก็เลยได้ความรู้ว่าบางอย่างที่เราคิดว่าเรารู้แล้วนั้น มันไม่ใช่ เมื่อมาทบทวนงานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับการออกกำลังกายแล้ว ก็ได้ความรู้ว่าการออกกำลังกายเนี่ยมีผลต่อโรคมากกว่ายา อย่างเช่น โรคหัวใจหลอดเลือดเนี่ย ทำให้โรคถอยกลับได้
คุณสัญญา: ฮ้า
นพ.สันต์: ทำให้หลอดเลือดหัวใจที่ตีบไปแล้วเนี่ย ถอยกลับได้ อันนี้พิสูจน์ได้จากการสวนหัวใจซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: รักษาโรคบางโรค อย่างเช่นเบาหวานเนี่ย ได้ดีกว่ายา
คุณสัญญา: หมายความว่าถ้าปริมาณน้ำตาลผมสูง ผมออกกำลังกายสามารถแก้อาการนี้ได้
นพ.สันต์: ใช่ โภชนาการก็มีผลต่อความดันเลือด ผลต่อโรคเนี่ย ดีกว่ายา อันนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ซึ่งสมัยก่อนเรา
คุณสัญญา: เราไม่มีความรู้
นพ.สันต์: คือความจริงตอนนั้นมันยังไม่มีหลักฐานพวกนี้
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แล้วเราก็เข้าไปอยู่ในสาขาลึกๆจนเราไม่มีเวลามาดูมัน เมื่อเราถอยกลับมาศึกษาแล้วเราถึง..เอ๊อะ ตรงนี้น่าจะหยิบมาใช้ได้ ก็เลยถอยมาตั้งตรงนี้ มาเริ่มต้นปรับชีวิตของตัวเองใหม่ บังเอิญในช่วงนั้นเนี่ย คือเมื่อสิบปีที่แล้วเนี่ย วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังคิดคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่ง ว่า Total Lifestyle Modification คือปฏิวัติพฤติกรรมเพื่อต้านโรคเรื้อรัง สาระของมันก็คือว่า หนึ่งออกกำลังกายละ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ให้ได้ระดับมาตรฐาน สอง ปรับโภชนาการ สาม จัดการเรื่องความเครียดและการพักผ่อน
คุณสัญญา: สามเรื่อง เอาทีละเรื่องนะฮะ ท่านผู้ชมอาจจะได้ประโยชน์จากอันนี้เอาไปทำนะฮะ หนึ่ง คุณหมอปฏิวัติเรื่องออกกำลังกายยังไงครับ
นพ.สันต์: การออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐานที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิกเนี่ย มันมีสามประเด็น อันที่หนึ่ง ต้องออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร
คุณสัญญา: คือ?
นพ.สันต์: นิยามคำว่าหนักพอควรก็คือต้องให้หอบแฮ่ก แฮ่ก จนร้องเพลงไม่ได้ ถ้ายังร้องเพลงได้ ก็ยังไม่หนักพอควร
คุณสัญญา: (ทำท่าหอบ) ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ต้องประมาณนี้
นพ.สันต์: อ้า..นั่นแหละ
คุณสัญญา: ประมาณนี้อยู่นานแค่ไหนฮะ
นพ.สันต์: สามสิบนาที อย่างน้อย อย่างน้อยสามสิบนาที
คุณสัญญา: สามสิบนาที
นพ.สันต์: ครับ อ้า แล้วก็สม่ำเสมอ นิยามสม่ำเสมอก็คืออย่างน้อย อาทิตย์ละ 5 วัน
คุณสัญญา: สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
นพ.สันต์: อ้า แฮ่ก แฮ่ก นะ
คุณสัญญา: หอบแฮ่ก แฮ่ก ร้องเพลงไม่ได้
นพ.สันต์: ครับ บวกการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ ก็เล่นกล้ามหงะ พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ยกเวท ยกน้ำหนัก
นพ.สันต์: ฮ่ะ ยกเวท ทำท่ากายบริหาร อะไรแบบนี้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
คุณสัญญา: ครั้งละ?
นพ.สันต์: ครั้งหนึ่งก็ต้องเล่นไปทุกกลุ่มกล้ามเนื้อ คือกล้ามเนื้อกลุ่มหลักมันมีอยู่เก้ากลุ่ม ก็ต้องเล่นไปทุกกลุ่ม ก็ใช้เวลา ร่วมๆชั่วโมง
คุณสัญญา: ร่วมชั่วโมง
นพ.สันต์: ครับ
คุณสัญญา: ได้ระดับนี้ ความถี่อย่างงี้ จะเป็นยาวิเศษของจริง
นพ.สันต์: ช่าย..ย ใช่
คุณสัญญา: อันที่สอง โภชนาการ
นพ.สันต์: มีหลักง่ายๆว่า อันที่หนึ่ง ต้องลดแคลอรี่ลง นะฮะ ลดอาหารให้พลังงานลง พวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล ที่สำคัญที่สุดไขมันในอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ พวกนี้เขาเรียกไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ก็คือไขมันที่เป็นผงหงะ
คุณสัญญา: มันเป็นยังไงต่อร่างกาย
นพ.สันต์: มันเป็นไขมันที่ก่อโรค ถ้าเรียงลำดับความชั่วร้ายของไขมัน ไขมันทรานส์นี่แย่ที่สุด
คุณสัญญา: หัวหน้าใหญ่เลย
นพ.สันต์: ไอ้พวกน้ำมันหมู ที่เราเรียกไขมันอิ่มตัวที่คนกลัวกัน ไอ้นี้ยังสู้ไขมันทรานส์ไม่ได้ เบบี้เลย
คุณสัญญา: อ๋อ
นพ.สันต์: น้ำตาลในเครื่องดื่ม มีแต่แคลอรี่ ไม่มีอย่างอื่นเลย อันนี้ก็ต้องหยุด แล้วก็มาเพิ่มผักและผลไม้เยอะๆ เยอะๆนี่ นิยามเค้าก็คือว่าห้าเสริฟวิ่งต่อวัน เสริฟหนึ่งเนี่ย สมมุติว่าผลไม้หั่นจานเล็กๆนี่คือหนึ่งเสริฟ ประมาณเท่าแอปเปิ้ลหนึ่งลูก
คุณสัญญา: ลูกหนึ่ง เรียกว่าหนึ่งเสริฟ วันหนึ่งให้ได้ห้าเสริฟ โอ้ เยอะเหมือนกัน
นพ.สันต์: ถ้าเป็นผักก็ ผักสลัดหนึ่งจาน นี่คือหนึ่งเสริฟ
คุณสัญญา: อู้ ฮู มันจะไปกินยังไงหมด อาจารย์
นพ.สันต์: อะ ฮ้า วิธีของผมก็คือใส่โถปั่นความเร็วสูง ปั่น ปรู๊ด กลายเป็นน้ำ หนึ่งลิตร แล้วก็ดื่ม
คุณสัญญา: รวมห้าเสริฟปั่นทีเดียวยังงี้เลยหรือ ได้น้ำลิตรหนึ่ง
นพ.สันต์: ฮะ แล้วก็ใช้เวลาดื่มประมาณสองสามชั่วโมงก็หมด
คุณสัญญา: อันนี้ทั้งผัก ทั้งผลไม้ ใส่เข้าไปปั่นรวมกันเลยงี้เหรอ
นพ.สันต์: ใส่รวมกันในนั้นแหละ อยากจะปรุงรส อยากจะ..
คุณสัญญา: ไม่ได้แยกกาก?
นพ.สันต์: ไม่แยก ไม่แยก เครื่องปั่นความเร็วสูงนะ ความเร็วสามหมื่นรอบต่อนาทีขึ้นไป ปั่นแล้วมันจะ เม็ดน้อยหน่านี่กลายเป็นน้ำเลย เรียกว่ารักษาโรคท้องผูกหายเป็นปลิดทิ้งเลย
คุณสัญญา: เดี๋ยวๆ  ถามแบบ คนที่เขาบอกว่า โอ้ย มันไม่อยู่ท้อง คือเดี๋ยวมันก็หิวอีก หิวอีก เงี้ย
นพ.สันต์: หิวก็กินผลไม้สิ ผลไม้ก็เป็นแหล่งแคลอรี่ ไอ้คำว่าไม่อยู่ท้องคือแคลอรี่ไม่พอใช้ ใช่ไหม แต่จริงๆแล้วแคลอรี่มันเกินแล้วนะ มันอยู่ที่พุง แต่ถ้ามันโหยๆ ก็ผลไม้ไง อย่างกล้วยงี้ ผลไม้อะไรก็ตามถึงจะมีรสหวานก็ตามนะ
คุณสัญญา: แต่มันก็ยังเป็นผลไม้
นพ.สันต์: มันก็ยังแคลอรี่ต่ำกว่าข้าว ต่ำกว่ากันเยอะเลย
คุณสัญญา: เอ้า ถามแทนคนที่ชอบติดใจในรสอาหาร ใช้ชีวิตแบบนี้มันกลายเป็นความทุกข์ไหม อาจารย์
นพ.สันต์: ไม่ทุก.ก...กข์ อยู่ที่ฝืมือของเมียด้วยนะ คือเมียต้องมีฝีมือปรุงรสบ้างเล็กน้อย ใส่มะนาวใส่อะไร
คุณสัญญา: ใส่เกลือบ้างได้ไหม
นพ.สันต์: ก็ได้บ้าง ให้มันมีรสนิดหน่อย
คุณสัญญา: ออกกำลังกาย โภชนาการ อันที่สาม
นพ.สันต์: อันที่สามก็เป็นเรื่องการจัดการความเครียด
คุณสัญญา: เรื่องใหญ่
นพ.สันต์: อ้า ฮะ ก็ไม่ใหญ่นะ จริงๆเรื่องความเครียดเนี่ย อย่างเดียว ขอให้นอนให้พอก่อน ผมเองบังเอิญมีบุญเก่าที่เป็นเด็กวัด
คุณสัญญา: คือ
นพ.สันต์: ก็อยู่กับพระ พระสอนญาติโยมเรื่อง ญาติโยมมีความทุกข์มา หลวงพ่อก็สอนว่าปล่อยวางเสียบ้างลูกเอ๋ย หัดสติ อะไรเงี้ย เราก็
คุณสัญญา: ซึมซับมา
นพ.สันต์: เราถูพื้นล้างกระโถนอยู่เราได้ยินเราก็เก็ท พอมาเจอปัญหาจริง เราก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้  คือการฝึกสติในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก เมื่อเอามาประกอบกับการมีเวลานอนพอ การจัดการความเครียดมันก็ได้ผล
คุณสัญญา: เดี๋ยวนี้อาจารย์นอนกี่โมง
นพ.สันต์: เดี๋ยวนี้นอนสามทุ่มครึ่ง
คุณสัญญา: ตื่น
นพ.สันต์: ตื่นตีห้า ตื่นมาออกกำลังกาย
คุณสัญญา: ตื่นมาแล้วออกกำลังกายก่อน
นพ.สันต์: ตื่นมาแล้วออกกำลังกาย คือ พอทำอย่างนี้แล้ว ตัวชี้วัดต่างๆ
คุณสัญญา: อ๊ะ..โอเค. ที่จะถามเนี่ย ท่านผู้ชมครับ เมื่อเราปฏิวัติพฤติกรรมไปแล้ว เราเปลี่ยนชีวิตไปเลย เราจะได้อะไรกลับมา จากคนที่จะต้องกินยา แล้วต่อไปจะต้องไปบอลลูน แล้วก็บายพาส เคยทำคนอื่นมาแล้วด้วย ยังไงครับ
นพ.สันต์: ตัวที่หนึ่ง ก็ไขมันในเลือด ตอนแรกต้องใช้ยาใช่ไหมฮะ ก็กลับมาสู่ระดับปกติ
คุณสัญญา: ไม่ต้องกินยาด้วย
นพ.สันต์: ไม่ต้องกินแล้ว ความดันเลือดที่ขึ้นไประดับใกล้เป็นความดันเลือดสูง pre hypertension ก็กลับมาสู่ระดับ
คุณสัญญา: ปกติ
นพ.สันต์: ปกติ น้ำหนักซึ่งสูงเนี่ย ดัชนีมวลกายที่สูงผิดปกติก็กลับมาสู่ระดับปกติ ก็ต้องเปลี่ยนกางเกงตาม เปลี่ยนกางเกงตามแทบไม่ทัน แล้ว อานิสงจากการเล่นกล้าม มันก็ทำให้มีหน้าอกมีอะไรขึ้นมาหน่อย สมัยก่อนยังกับไอ้เท่งหนังตะลุงใช่ไหมฮะ มีแต่พุง
คุณสัญญา: พุงนำนม                                                                                                                                  
นพ.สันต์: อ้า ฮะ..ฮะ เดี๋ยวนี้มันก็ค่อนข้างจะมีรูปมีร่างขึ้นมาหน่อย ก็ดี เป็นข้อดีของมัน
คุณสัญญา: แปลว่าผ่านมาแปดปี อาจารย์ไม่อยู่ในหมวดของคนไข้โรคหัวใจแล้ว
นพ.สันต์: อ๋อ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแล้ว
คุณสัญญา: โอ้โฮ
นพ.สันต์: แต่ว่าไม่ได้ไปตรวจแคลเซียมนะ  คือ
คุณสัญญา: แต่ตรวจอย่างอื่นไม่เจออะไร ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย
นพ.สันต์: ตัวชี้วัดดีหมด แล้วชีวิตทุกวันนี้ออกกำลังกายเต็มสตีม แล้วชีวิตมันไปได้ดีเราก็ไม่อยากจะไปตรวจ ฮะ..ฮะ..ฮะ
คุณสัญญา: มีแอบไว้ให้สบายใจนิดหนึ่ง แต่อย่างน้อยเท่าที่ตรวจมาก็ไม่เจออะไร
นพ.สันต์: แต่ แต่มีคนไข้ของผมนะ ซึ่งเขาตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดห่างกันห้าปี เขาทำตัวแบบเนี้ยนะ ไอ้แคลเซียมที่เคยเป็นครั้งแรกนะหายไปเลยนะ
คุณสัญญา: ออ
นพ.สันต์: เพราะฉะนั้นโรคนี้เนี่ยหายได้ แล้วเมื่อเราพูดถึงโรคหลอดเลือด มันไม่ได้หมายความแค่หัวใจนะ มันหมายความรวมไปถึงที่สมองด้วย อัมพาต อัมพฤกษ์
คุณสัญญา: เออ. คือพวกที่ตู้ม.ม..ม แล้วไปเลย
นพ.สันต์: เออ มันหมายถึงที่ไตด้วย โรคไตเรื้อรัง คือโรคหลอดเลือดเนี่ยมันกินความไปถึงโรคเรื้อรังเกือบทั้งหมด
คุณสัญญา: เบาหวานอะไรนี้ก็เกี่ยวด้วยใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: เบาหวานก็เกี่ยว เบาหวานยิ่งเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการปฏิวัติพฤติกรรมนี่แหละ
คุณสัญญา: มีตัวอย่างไหมครับ
นพ.สันต์: ผมมีคนไข้คนหนึ่ง เป็นวิศวกรใหญ่นะครับ อายุอานามก็ใกล้ๆกับคุณดู๋นี่แหละ ประมาณนี้แหละ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัวก็มาตรวจสุขภาพประจำปี สมัยก่อนเนี่ยไม่เคยตรวจ ได้แต่ให้ลูกน้องตรวจ เพราะโรงงานกฎหมายเขาบังคับต้องเอาหมอไปตรวจ แต่นายใหญ่ไม่ตรวจหรอก เพราะถือว่าตัวเองสุขสบายดีแล้ว มาตรวจ พลั้วะ ครั้งแรก น้ำตาลออกมาสามร้อยเก้าสิบกว่า
คุณสัญญา: ปกติต้องเท่าไหร่
นพ.สันต์: ปกติมันไม่เกินหนึ่งร้อย ผมก็บอกว่าต้องพบหมอเบาหวานแล้ว ไม่มีทางแล้ว เพราะมันไปไกลเกินไปแล้ว
คุณสัญญา: อ้อ
นพ.สันต์: แต่เขาก็บอกว่าขอเวลาผมสักหน่อยก่อน คือคนมีความรู้เนี่ย
คุณสัญญา: ทำใจไม่ได้
นพ.สันต์: คนมีความรู้เนี่ย มักจะเข้าใจว่าการกินยาเนี่ยมันเหมือนกับจะกู่ไม่กลับแล้ว ถ้าไม่กินยาไว้ก่อนจะดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะ ความจริง แต่ผมก็บอกว่าโอเค. ถ้าคุณจะไม่กินยาคุณต้องปฏิวัติพฤติกรรมตัวเองใหม่นะ หนึ่ง สอง สามเนี่ย
คุณสัญญา: สามเรื่องแบบที่คุณหมอทำเนี่ย
นพ.สันต์: สามเรื่อง เขาก็บอกเอา.า..า  ขอให้
คุณสัญญา: ไม่กินยา
นพ.สันต์: ใช่ เขาอยู่ระยอง ตื่นเช้าก็ออกไปวิ่งที่ชายหาดทุกวัน อาหารก็ให้หน้าห้องเปลี่ยนหมด มื้อเช้าก็เปลี่ยน มื้อกลางวันก็เปลี่ยน เดือนครึ่งแค่นั้นแหละ ผมนัดเขาสามเดือนนะ แต่เขาใจร้อน
คุณสัญญา: เดือนครึ่งมาขอตรวจเลย
นพ.สันต์: ขอเจาะเลือด ก็น้ำตาลจากสามร้อยกว่าเหลือร้อยสามสิบ
คุณสัญญา: โอ้โฮ
นพ.สันต์: ใกล้ๆจะปกติแล้ว รูปร่างเนี่ยดีขึ้นชัดเจน คือเขาเนี่ยเป็นคนที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว แล้วก็ต้องใส่ครีมเทียม นะครับ
คุณสัญญา: ทีมงาน ทีมงาน (ชี้ไปที่ทีมงานของตัวเอง) ดูไว้ มีแบบนี้เยอะเลยฮะในนี้
นพ.สันต์: ผมก็สอนว่าครีมเทียมเนี่ยมันเป็นไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันชั่วร้ายอย่างที่เราว่าเมื่อกี้หงะ แล้วน้ำตาลนี่ก็ให้แต่แคลอรี่โดยที่
คุณสัญญา: ไม่ให้คุณค่า
นพ.สันต์: ไม่ให้คุณค่าอย่างอื่นเลย ผมก็แนะนำว่าถ้าจะดื่มกาแฟ ถ้าติดรสมัน ให้ใช้นมไร้ไขมันแทน และถ้าติดรสหวานก็เอาสารทดแทนความหวานใส่แทน แต่เขาเป็นนายช่างใหญ่นี่ เขาตัดหมดเลย เหลือแต่กาแฟ
คุณสัญญา: กาแฟกับน้ำเลย
นพ.สันต์: เออ  แล้วผมก็ถามว่าแล้วเปลี่ยนตัวเองได้หรือ เพราะตอนแรกๆก็ติดรสหวานรสมัน เขาบอกว่าตอนแรกๆก็รู้สึกแย่ แต่พอไปได้สองสามวันเท่านั้นแหละคุณดู๋
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ไอ้กาแฟใหม่ๆที่ขมปี๋เนี่ย กลายเป็นของอร่อยไปเลย นี่เขาพูดเองนะ
คุณสัญญา: มนุษย์มันเปลี่ยนได้ ใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: อ้า.า..า คือรสชาตินี่มันเป็นของที่มาเรียนรู้เอาตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันไม่ได้ติดมาตั้งแต่
คุณสัญญา: มันไม่ได้เกิดมาแล้วก็ชอบรสนี้ ใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: ใช่
คุณสัญญา: ผลของคุณนายช่างคนนั้นเนี่ย เดือนครึ่งกลับมาเกือบปกติ แปลว่าป่านนี้ปกติแล้วสิฮะ
นพ.สันต์: ป่านนี้ปกติแล้ว แล้วก็กลายเป็นคนที่อบรมสั่งสอนลูกน้องในเรื่องสุขภาพ ถามลูกน้องว่า เฮ้ยเอ็งนี่ออกกำลังกายบ้างหรือเปล่า กลายเป็นยังงั้นไป
คุณสัญญา: ฮะ นี่คือเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงของคุณหมอเองและของคนไข้อีกหลายคน
นพ.สันต์: ฮะ
คุณสัญญา: เอามาฝากท่านผู้ชมว่าเพียงแค่นี้ เพียงแค่สามเรื่องนี้ท่านเปลี่ยนชีวิตของท่านเองได้ ไม่ต้องโดนขึ้นเขียง โดนแหวะอก เอาหัวใจออกมาแก้ไขกัน อย่างนั้น
นพ.สันต์: คือคำว่าเพียงแค่นี้เนี่ย หัวใจมันอยู่ที่เวลา ตัดเวลาออกมาให้ได้ก่อน
คุณสัญญา: วันละชั่วโมง
นพ.สันต์: วันละชั่วโมง
คุณสัญญา: จากเวลา 24 ชั่วโมง ขอชั่วโมงเดียว
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าตัดเวลาออกมาได้ อะไรอะไรมันจะเป็นไปได้
คุณสัญญา: อ้า นี่คือเรื่องสุขภาพนะ ผมจะกลับไปเรื่องความคิดต่อชีวิต ผมได้ยินมาว่าคุณหมอสันต์เนี่ย ไม่ได้อยากเป็นคุณหมอ
นพ.สันต์: ไม่ใช่อาชีพในฝัน ผมมีอาชีพในฝันอยู่สามอย่าง 
อันที่หนี่งก็ อยากจะเป็นจิตรกรวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ 
อันที่สองก็อยากจะเป็นเกษตรกรคนทำไร่ทำสวน เกษตรกรรม 
อันที่สามก็อยากเป็นทหาร สามอันนี้เป็นอาชีพในฝัน
คุณสัญญา: อือ.อ..ม ไม่ใช่หมอสักอัน
นพ.สันต์: ถ้าได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอันนี้รุ่งแน่
คุณสัญญา: เพราะชอบ
นพ.สันต์: เพราะชอบ
คุณสัญญา: ชอบมาจากอะไร เอ้า เอาแบบสั้นๆ จิตรกรนี่มาจากอะไรฮะ
นพ.สันต์: จิตรกรก็ ที่หน้าวัดที่ผมอยู่เนี่ย มีจิตรกรท้องถิ่นเปิดสตูดิโอ โอ้โฮ เกิดมาไม่เคยเห็น สมัยโน้นจะไปหาสตูดิโอที่ไหน แล้วไม่ใช่จบอะไรมานะ ไม่เลย เป็นช่างชาวบ้านเนี่ยแหละ เปิดสตูดิโอ
คุณสัญญา: เขาวาดอะไร
นพ.สันต์: วาดป้ายติดรถสิบล้อ
คุณสัญญา: เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ค่อยเห็นละ
นพ.สันต์: ใช่ หลายคนเกิดไม่ทัน คุณดู๋เกิดทันหรือเปล่า
คุณสัญญา: ทันฮะ ทัน
นพ.สันต์: ที่มีวิว มีกระท่อม
คุณสัญญา: เป็นวิว มีกระท่อม มีต้นไม้ เป็นแผ่นไม้ติดรถสิบล้อ
นพ.สันต์: ฮะ
คุณสัญญา: แล้วคุณหมอฝีมือใช้ได้ไหมฮะ
นพ.สันต์: ผม สมัยโน้น ผมก็วาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบนะ (กางมือบอกขนาด)
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: แล้วผมใช้สองมือนะคุณดู๋
คุณสัญญา: ทำไมฮะ
นพ.สันต์: เพราะว่าผมเนี่ยเกิดมาถนัดซ้าย แต่ครูบังคับให้เขียนหนังสือมือขวา
คุณสัญญา: อ้า ผมก็โดน
นพ.สันต์: ฮ้า โดนเหมือนกันเหรอ
คุณสัญญา: รุ่นเก่าก็มักจะโดนบังคับแบบนี้ คุณหมอก็เลยเขียนได้สองมือ
นพ.สันต์: คือผมเขียนมือขวา แต่เวลาวาดภาพต้องวาดมือซ้าย คือถ้าต้องการความเที่ยง
คุณสัญญา: ต้องมือซ้าย เวลาถือมีดผ่าตัดถือมือไหนฮะ
นพ.สันต์: มือซ้ายดิ เพราะกำเนิดของเรา คุณดู๋เข้าใจนี่  
คุณสัญญา: ฮ่า ใช่ ใช่
นพ.สันต์: ผ่าตัดมือซ้าย ตีเทนนิสมือซ้าย ถือพู่กันมือซ้าย แต่เขียนหนังสือมือขวา
คุณสัญญา: อันนี้คือจิตรกร เกษตรกรมาจากไหนฮะ
นพ.สันต์: เกษตรกรมันฝังอยู่ในสายเลือดแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำนา แล้วผมทำเกษตรสมัยใหม่ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนแล้ว เลี้ยงไก่ ผมซื้อไก่ ไก่ไฮบริดจ์ จากยุทธนา สมัยก่อนซี.พี.เขาชื่อยุทธนา
คุณสัญญา: กี่ปีก่อน
นพ.สันต์: สี่สิบปีแล้วมั้ง
คุณสัญญา: อ๋อเคยทำฟาร์มตัวเองแล้วด้วย
นพ.สันต์: ใช่ผมซื้อไก่ใส่กล่องมา เปิดออกมาไก่ขาวไปทั้งเล้า ชาวบ้านมาดูกันทั้งหมู่บ้านเลย ไก่อะไรวะขาวเหมือนกันหมด
คุณสัญญา: เท่มากสมัยนั้น เพราะไก่ชาวบ้านมันจะลายอุตลุต
นพ.สันต์: เท่มาก แล้วสมัยนั้นไม่มีความรู้ว่าไก่พันธ์ผสมเนี่ย มันต้องเลี้ยงถึงแค่อายุประมาณแปดเดือน เอ๊ย ไม่ใช่ แปดอาทิตย์แล้วก็ขาย ไอ้เราไม่รู้เราก็เลี้ยงจนโตเป็นผู้ใหญ่เอามาผสมกัน ปรากฏว่ามันทยอยตาย เราก็ผ่ามันดู ผ่าศพไก่
คุณสัญญา: มีแววเป็นหมอ
นพ.สันต์: ฮะ ฮะ ชาวบ้านมาดูกันใหญ่ ผ่าศพไก่ สมัยโน้นไม่มีใครเขามาพิสูจน์กันหรอกว่าไก่ตายเพราะอะไร เขาไม่สนใจกันหรอก
คุณสัญญา: อ๋อ แล้วทหารละครับ
นพ.สันต์: ทหารนี่มันเป็นเพราะครู ครูสอนลูกเสือ ปิ๊ด..ปี้..ปิ๊ด เนี่ย แหม มันชอบ
คุณสัญญา: มันดูมีระเบียบวินัย
นพ.สันต์: ฮื่อ แล้วครูเขาให้เราเป็นหัวหน้าใช่ไหม ซ้าย... หั้น
คุณสัญญา: อ๋อ ได้สั่งคนอื่นด้วย
นพ.สันต์: เออ.. มัน มัน ฮะ..ฮะ แล้วก็นัดแนะเพื่อนไว้นะ คนหนึ่งจะไปสอบเตรียมทหาร โอเค.นัดไว้ อีกคนชวนไปแม่โจ้ โอเค.นัดไว้ อีกคนจะไปเพาะช่างก็นัดไว้
คุณสัญญา: แล้วเดี๋ยวมาเจอกัน เจอกันเพื่อ
นพ.สันต์: ไอ้คนไปแม่โจ้มาก่อน มาหาที่บ้าน แล้วก็ไปเชียงใหม่กัน ก็เลยได้ไปเรียนที่แม่โจ้
คุณสัญญา: ตกลงคุณหมอได้เรียนเกษตรด้วย
นพ.สันต์: ใช่ เกษตรแม่โจ้
คุณสัญญา: จบไหมฮะ
นพ.สันต์: จบซิครับ ผมเนี่ยมีคุณวุฒินะ ปวช. เกษตร อ้า
คุณสัญญา: แล้วมันมาเป็นหมอได้ตอนไหนอะครับ
นพ.สันต์: คือตอนมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยเกษตรได้ปีหนึ่ง น้องสาวที่อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมเขาไม่สบาย ไอ้เราเห็นหมอรักษาน้องสาวแล้วก็รู้สึกว่าหมอเกาไม่ถูกที่คัน ก็เลยลาออก ผมเนี่ยลาออกจากมหาลัยนะ เขาเรียกดร๊อพ
คุณสัญญา: ดร๊อพ
นพ.สันต์: ฮะ แล้วก็เอาน้องสาวไปรักษาที่บ้าน ความที่รักน้องไง รู้สึกว่าถ้าให้หมอรักษาน้องเราสงสัยจะเดี้ยง ฮะ..ฮะ เพราะวิธีของหมอจะใช้ยาเป็นหลัก
คุณสัญญา: แต่เรารักษาด้วยอะไร
นพ.สันต์: เราก็รักษาด้วยการ คือดูว่าเขาขาดเหลืออะไร เราก็ช่วยเหลือเขา
คุณสัญญา: อ๋อ ปลอบโยน พูดคุย ดูแล           
นพ.สันต์: ทำนองนั้น พอน้องหายกลับมาเรียนได้ ผมก็ต้องกลับมาเรียน ตอนนี้มันเกิดความรู้สึกอยากเป็นหมอขึ้นมาแว้บ.บ..บ..บ หนึ่ง ไม่รู้มันมาจากไหน ก็เลยไปสอบเข้าแพทย์
คุณสัญญา: กลับไปเอ็นทร้านซ์ใหม่อีก
นพ.สันต์:  ใช่
คุณสัญญา: อือม.. นี่คือที่มาของการเป็นหมอ
นพ.สันต์: ก็เลยกลายเป็นหมอ
คุณสัญญา: แปลว่าจากอายุยี่สิบถึงหกสิบนี้ไม่ได้ตามความฝันของตัวเองเลย
นพ.สันต์: ไม่ได้ตามเลย
คุณสัญญา: ใช้ชีวิตเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญ
นพ.สันต์: จะเลิกอาชีพหมอตั้งหลายครั้งนะ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แต่ว่ามันเลิกไม่ลง เพราะว่าการเรียนผ่าตัดหัวใจนี่มันเรียนมาก โดนโขกโดนสับมาแยะ กว่าผมจะจบมาผ่าหัวใจคนได้ผมอายุสี่สิบแล้ว คุณดู๋คิดดู ผมเข้าโรงเรียน..
คุณสัญญา: หึ หึ ลองคิดภาพเราเข้าเรียนตั้งแต่ประถม มัธยม จนอายุสี่สิบก็ยังเรียนอยู่เลยหงะ
นพ.สันต์: แล้วพอได้ทำงานไปแค่สิบกว่าปีจะเลิกเนี่ยมันเลิกไม่ลง เพราะมันเรียนมาแยะ
คุณสัญญา: ลงทุนไปเยอะ
นพ.สันต์: ก็เลยปักหมุด ตอนแรกก็ปักหมุดที่อายุห้าสิบ ก็เลื่อนหมุดมาเรื่อย มาถึงหกสิบเนี่ย มันคล้ายๆเป็นมาตรฐานสากลใช่ไหมละ
คุณสัญญา: เกษียณ
นพ.สันต์: ฮะ หกสิบนี้คราวนี้หมุดนี้ก็ปึ๊กละ ไม่เลื่อนอีกละ หกสิบนี้ต้องเกษียณแน่
คุณสัญญา: กลายเป็นว่าสิ่งที่เป็นความฝันของคุณหมอเนี่ยนะฮะ เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ หลายคนมีความทุกข์ว่าเกษียณแล้วต่อไปจะทำอะไร จะไม่มีอะไรทำ จิตใจจะแย่ลง ร่างกายแย่ลง แต่คุณหมอบอกว่าไม่ใช่
นพ.สันต์: การเกษียณเนี่ยไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย มองย้อนไปในอดีตว่าสมัยเด็กๆเราใฝ่ฝันอยากจะทำอะไรเหลือเกิน แล้วก็กลับไปทำมัน แค่นั้นแหละ
คุณสัญญา: คุณหมอจะไปทำอะไรครับ ทหารคงไม่ใช่แล้วละ
นพ.สันต์: ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า ผมไปเดินเล่นที่ค่ายทหารหน้าโรงพยาบาล ทหารเล็กทหารน้อยเห็นผมตะเบ๊ะกันใหญ่นึกว่าผมเป็นนายพล ฮะ..ฮะ แสดงว่าหุ่นให้นะ
คุณสัญญา: ภูมิฐาน  ภูมิฐาน                             
นพ.สันต์: สิ่งที่ผมจะไปทำเหรอ อันที่หนึ่งก็ผมต้องไปปลูกผัก ทำไร่ อันนี้แน่นอน ทำวิจัยเกี่ยวกับพืชผัก ในแนวที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์หงะ         
คุณสัญญา: ฮะ ฮะ
นพ.สันต์: ความจริงผมทำมาแล้วบ้างละ ภรรยาก็บ่น บ๊น บ่น บ่น เพราะมีแต่เสียเงิน แต่คราวนี้ภรรยาจะไม่บ่นเพราะผมไปทำเอง ไม่ต้องใช้เงิน
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: อันที่สองผมก็จะเขียนรูป
คุณสัญญา: เอ้อ
นพ.สันต์: อ้า เขียนรูปสีน้ำมันบนผ้าใบ Oil On Canvas เขียนสองมือ (ทำท่า)
คุณสัญญา: อ้อ ถนัดทั้งซ้ายทั้งขวา
นพ.สันต์: นี่คือความฝัน พูดถึงเกษียณนะคุณดู๋
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ตัวเลขเร็วๆนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่ามาจากไหน ว่าอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่มีอายุ 50 ปี ณ ปัจจุบัน นับเฉพาะคนที่มาถึงอายุห้าสิบปีแล้วนะ คุณดู๋ถึงหรือยัง ขอโทษ
คุณสัญญา: ยังครับ
นพ.สันต์: โอเค. ณ จุดที่อายุห้าสิบ ผู้หญิงจะอยู่ไปจนถึง 84 ปี
คุณสัญญา: หลังอายุห้าสิบ ผู้หญิงคาดเฉลี่ยว่าจะอยู่ไปจนถึงอายุ 84 ปีจึงจะเสียชีวิต
นพ.สันต์: ครับ ผู้ชายจะอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี ดังนั้นหลังเกษียณแล้วมีเวลาเหลือ 20-25 ปี โดยประมาณ     
คุณสัญญา: เออ ถ้าเอาตามค่าเฉลี่ย
นพ.สันต์: ยาวมากนะ
คุณสัญญา: ทำอะไรได้เยอะเหมือนกันนะ
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าช่วงนี้เป็นเวลาที่ไม่มีคุณภาพ เป็นโรคเรื้อรัง สะง็อกสะแง็ก
คุณสัญญา: อ๋อ
นพ.สันต์: ตั้งยี่สิบกว่าปีคิดดูสิ มันจะ
คุณสัญญา: จะใช้เวลายี่สิบกว่าปีอยู่บนเตียงต่อสายไว้ หรือจะอยู่แบบได้ขุดดินได้วาดรูป
นพ.สันต์: ไม่ได้อยู่บนเตียงนะ แต่เดี้ยงโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว คนไข้ผมมีอยู่คนหนึ่งเลี้ยงหลานใช่ไหม
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: อยู่ไปอยู่มาวันหนึ่งพบว่าแขนข้างที่ไม่ได้อุ้มหลานนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้วเพราะยกไม่ขึ้น คนไข้ผมอีกคนหนึ่ง ตอนแรกก็ขับรถได้นะ ต่อมาขับไม่ได้ ถามว่าทำไม ตอบว่าจ่ายค่าทางด่วนไม่ได้เพราะ
คุณสัญญา: อ๋อ มือมันยกไม่ขึ้น
นพ.สันต์: ยกไม่ขึ้น ความที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว อันนี้เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ นี้ขนาดยังไม่ได้เป็นโรคนะ ถ้าเป็นโรคเรื้อรังแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง
คุณสัญญา: หนักกว่านี้อีก
นพ.สันต์: หนักกว่านี้ แล้วตั้งยี่สิบปี ยี่สิบกว่าปี ใช่ไหมฮะ เพราะฉะนั้น
คุณสัญญา: จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรก็ต้องคิดเตรียมการตั้งแต่บัดนี้
นพ.สันต์: ช่าย..ย
คุณสัญญา: สุดท้ายคุณหมอจะฝากอะไรให้กับท่านผู้ชมครับ ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และได้ลองปฏิบัติกับตัวเอง
นพ.สันต์: คือคนไทยเราทุกวันนี้ ที่เราเห็นเดินถนนเนี่ย เป็นคนละพันธ์กับคนไทยสมัยก่อนนะ คนละพันธ์กับรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา
คุณสัญญา: ทำไมฮะ ก็พันธ์เดียวกันนี่แหละ          
นพ.สันต์: แต่ว่าถ้าเราดูองค์ประกอบของสารเคมีในเลือด เป็นคนละชุด
คุณสัญญา: เหรอฮะ
นพ.สันต์: อย่างโคเลสเตอรอลเนี่ย สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ โรคโคเลสเตอรอลสูงไม่มี มีอยู่คนหนึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือด คนเดียวนะ ต้องเรียกมาดูทั้งโรงเรียน มาดู มาดู
คุณสัญญา: เพิ่งเจอหนึ่งคน
นพ.สันต์: โคเลสเตอรอลสูง ต่อไปจนจบอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว มาดูไว้ซะ
คุณสัญญา: อันนั้นคือสมัยก่อน
นพ.สันต์: พันธ์ไทยสมัยก่อนไม่รู้จักคนโคเลสเตอรอลสูง
คุณสัญญา: แล้วสมัยนี้ละครับ
นพ.สันต์: สมัยนี้ถ้าเราไปหยิบคนผู้ใหญ่ที่เดินตามถนนเนี่ยมา 100 คน เกิน 50 คน จะเป็นโคเลสเตอรอลสูงถึงระดับที่ต้องใช้ยา
คุณสัญญา: เอาง่ายๆน้องๆที่อยู่ในนี้ ครึ่งหนึ่งมีโอกาสจะไปสู่การใช้ยา
นพ.สันต์: ใช่ครับ คือผมทำวิจัยที่โรงพยาบาล
คุณสัญญา: อ๋อผมรู้ละ อย่าไปชี้น้องๆในนี้ ทีมงานเจาะใจครับที่มีโอกาสสูงมาก
นพ.สันต์: คนดีๆนี่นะครับท่านผู้ชม มาตรวจสุขภาพประจำปี คนที่อายุเกินสี่สิบแล้วเนี่ย สามพันกว่าคน เราเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ดูเนี่ย เกินครึ่งไขมันในเลือดสูงถึงระดับต้องใช้ยา
คุณสัญญา: โอ้โฮ จากสมัยก่อนนานๆเจอคน
นพ.สันต์: ฮะ เกินครึ่ง อีกหนึ่งในสามเป็นความดันเลือดสูงถึงระดับต้องรักษา อีกหนึ่งในสามใกล้จะเป็นเบาหวาน แล้วดัชนีมวลกายเฉลี่ยสูงเกินค่าปกติ ปัจจัยเสี่ยงดาหน้ามาแบบนี้ อนาคต...ชัวร์
คุณสัญญา: ขึ้นเขียง
นพ.สันต์: ฮึ..ฮึ คือชีวิตต้องสะง็อกสะแง็กเป็นโรคเรื้อรัง แล้วชีวิตเกษียณตั้งยี่สิบกว่าปี
คุณสัญญา: ต้องเข้าออกโรงพยาบาล
นพ.สันต์: มันมีทางออกนะครับท่านผู้ชมครับ ถ้าเราจะเตรียมตัวนะครับ ก็การปฏิวัติพฤติกรรมเพื่อต้านโรคเรื้อรังเนี่ยแหละครับ หนึ่ง การออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน สองปรับโภชนาการให้แคลอรี่ต่ำ ผักผลไม้เยอะๆ สาม พักผ่อนให้พอและจัดการความเครียดให้ดี อันนี้พิสูจน์ได้จากงานวิจัยทางการแพทย์ คือเป็นสัจจะธรรมไปแล้ว ว่าสามารถทำให้โรคเรื้อรังเนี่ยถอยกลับได้
คุณสัญญา: ผมจะแถมให้อีกอันหนึ่งครับ ว่าถ้าคุณทำวันนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณจะดูดี เหมือนที่คนอายุหกสิบแล้วดูดีอย่างงี้ (ผายมือไปที่นพ.สันต์) ก็ไม่ค่อยเห็นบ่อยๆนะครับ
นพ.สันต์: ขอบคุณมาก ฮะ..ฮะ...ฮ่า
คุณสัญญา: ขอบคุณคุณหมอครับ ท่านผู้ชมครับ วันนี้ผมเอาเรื่องดีๆมาฝาก ทั้งวิธีคิดที่เราได้จากคุณหมอ ทั้งวิธีการดูแลร่างกายตัวเราเอง เหมือนที่บอกแล้วอะครับ ถ้าเราจะไปรอให้หมอทำให้ร่างกายเราดี ก็ผมป่วยแล้วคุณหมอมีหน้าที่ทำให้ผมดีอะ แล้วเราไม่ทำอะไรอย่างงั้นหรือ หรือเราจะทำอะไรเองจะได้ไม่ต้องเจอหมอ
นพ.สันต์: ผมแทรกตรงนี้นิดหนึ่งได้ไหมฮะ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: ไอ้ที่ว่าไม่สบายแล้วไปโรงหมอ หมอว่าอะไรก็จะทำตามเนี่ย มีงานวิจัยนะครับ ทำในยุโรป ใช้คน 17,000 คน ตามดู 12 ปี
คุณสัญญา: 17,000 คน ตามดู 12 ปี
นพ.สันต์: ครับ เป็นคนไข้ดีๆทั้งนั้นเลย ว่านอนสอนง่าย
คุณสัญญา: หมอสั่งกินยาผมก็กินยา แต่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม
นพ.สันต์: อ้า แล้วตามไปสิบสองปี ปรากฏว่ามีแต่แย่กับแย่นะครับ ทุกสี่ปีเขาเช็คทีหนึ่ง ดัชนีสุขภาพต่างๆแย่ลงหมด เพราะฉะนั้นเส้นทางนั้นไม่ใช่
คุณสัญญา: โอ้
นพ.สันต์: ต้องปฏิวัติพฤติกรรมสุขภาพ ถึงจะเอาตัวรอดได้
คุณสัญญา: ขอบคุณมากครับ ตอนนี้เป็นประโยชน์กับทุกคน รวมทั้งผมด้วย เราต้องปฏิวัติ เราจะอยู่เฉยๆไม่ได้ และเส้นทางกินยาไปเรื่อยๆก็ไม่มีดีขึ้น มีแต่ลงกับลงอย่างเดียว ขอบพระคุณคุณหมอสันต์มากครับ
นพ.สันต์: ครับ สวัสดีครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


..........................................................
28 กค. 55 (จากผู้อ่าน)


เป็นสัจธรรมจริงๆค่ะ อาหาร ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เครียด ช่วยได้จริงๆคะ 
ดิฉันชื่นชมคุณหมอมากคะ ภาพวาดสวยจัง
ไม่ทราบว่าคุณหมอได้เคยพบ Dr. Dean Ornish ด้วยไหมคะ อีกคนที่ดิฉันชื่นชอบมากเลย 
ดิฉันกำลังรอย้ายหนีน้ำท่วมไปเกษียณที่หมู่บ้านสุขภาพของคุณหมอนะคะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025