ง่วงนอนตอนกลางวันมาก วูบ สับปะหงกในเวลาทำงาน

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มาทำงาน โดยในระหว่างวัน จะมีอาการ ง่วงนอน มาก โดย จะมีอาการวูบ หรือ สัปงก ในเวลาทำงาน ทั้งที่ ไม่ได้อดนอน โดยก่อนหน้านี้ นอนดึก ยังไม่มีความรู้สึก นี้ จึงขอเรียนปรึกษา ว่าการเกิดอาการประเภทนี้ ผมควรจัดการอย่างไรหรือควรหาหมอ คลีนิคไหน เพื่อ ช่วยกำจัด อาการประเภทนี้ (เวลานอน 23.00 - 06.00 ประมาณวันละ 7 ชั่วโมงเป็นอย่าง น้อย อายุผม 32 ปี คิดว่า น่าจะนอนเพียงพอครับ )

..................................

ตอบครับ

ถ้าผมได้ทราบอายุ น้ำหนักตัว ส่วนสูง อาชีพและลักษณะงานที่คุณทำ (ต้องทำงานเป็นกะหรือเปล่า) ก็จะช่วยการวินิจฉัยได้มากนะครับ

กรณีที่ไม่มีข้อมูล ผมก็ต้องใช้วิธีเดาเอา ว่าปัญหาของคุณอาจเกิดจาก

1. เวลานอนไม่พอ แต่ละคนต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน บางคน 6 ชั่วโมงพอ บางคน 8 ชั่วโมงถึงจะพอ ยิ่งไปกว่านั้น ในคนคนเดียวกัน แต่ต่างเวลาต่างสภาพการณ์ ก็ต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน คนที่เคยอยู่วัยหนุ่มฟิตๆ พอเข้าวัยกลางคนความฟิตน้อยลงจะต้องการเวลานอนมากขึ้น คนที่อดนอนมาหลายวัน จะขาดการนอนสะสม ต้องนอนชดใช้ย้อนหลังให้มากกว่าเวลาที่อดนอนไป คนไม่เคยออกกำลังกาย พอมาออกกำลังกาย ก็ต้องนอนมากขึ้น การจะรู้ว่าเวลานอนเราพอหรือไม่มีวิธีเดียว คือจัดเวลานอนเพิ่มให้ชัวร์ๆว่าได้นอนเต็มที่วันละ 8 ชั่วโมงอย่างน้อยสักเจ็ดวัน ถ้าอาการง่วงยังไม่หายไป แสดงว่าง่วงจากสาเหตุอื่น ไม่ใช้เพราะเวลานอนไม่พอ

2. ลักษณะการทำงานเป็นกะ จะทำให้มีอาการง่วงนอนทั้งๆที่ได้จัดเวลานอนพอแล้ว เพราะการนอนกลางวันมักชดเชยการนอนกลางคืนตามธรรมชาติไม่ได้

3. เป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) นอนตาค้าง ฟุ้งสร้าน สติแตก พลิกไปพลิกมา

4. เป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) หรือเรียกแบบชาวบ้านว่าโรคนอนกรน ตามนิยามของวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา (AASM) โรคนี้คือภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจไปเลย (apnea) นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไปแล้วสะดุ้งตื่น (arousal) ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง หรือมี “ดัชนีการรบกวนการหายใจ (Respiratory Distress Index, RDI)” ซึ่งเป็นตัวเลขบอกว่าคนคนนั้นต้องสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจแบบใดๆ (respiratory event–related arousals, RERA) มากกว่าชั่วโมงละ 15 ครั้งขึ้นไป ทั้งหมดนี้ต้องร่วมกับการมีอาการง่วงตอนกลางวัน โดยที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาใดๆช่วย คนเป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับนี้มักเกิดหยุดหายใจไปเลยคืนละหลายครั้งหรือเป็นร้อยๆครั้ง ทำให้มีเสียงกรนดังในจังหวะทางเดินลมหายใจเปิดและลมที่ค้างอยู่ในปอดถูกพ่นออกมา
คนเป็นโรคนี้จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (EDS, excessive daytime sleepiness) มึนงงตั้งแต่เช้า ความจำเสื่อม สมองไม่แล่น ไม่ว่องไว บุคลิกอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า กังวล หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นโรคกรดไหลย้อน โรคนี้มักเป็นกับคนอายุ 40-65 ปี อ้วน ลงพุง คอใหญ่ วัดรอบคอได้เกิน 17 นิ้ว หรือมีโครงสร้างของกระดูกกระโหลกศีรษะและหน้าเอื้อให้เป็น เช่นกรามเล็ก เพดานปากสูง กระดูกแบ่งครึ่งจมูกคด มีโพลิพในจมูก หรือมีกายวิภาคของทางเดินลมหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น เป็นไฮโปไทรอยด์ ลิ้นใหญ่ ถ้าเป็นหญิงก็มักหมดประจำเดือนแล้ว กรรมพันธ์ สิ่งแวดล้อมเช่น สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ OSA มักเกิดในท่านอนหงาย

แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมแนะนำให้ทำเป็นขั้นตอนดังนี้

1. ประเมินตัวเองว่าคุณเป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) หรือเปล่า ถ้านอนตาค้างคิดโน่นคิดนี่ นั่นแหละคือเป็นโรคนอนไม่หลับ ถ้าเป็นก็ต้องแก้ปัญหาการนอนไม่หลับด้วยวิธี (1) ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานทุกวัน (2) เข้านอนให้ตรงเวลาเดิมทุกวัน (3) อย่าทำอะไรตื่นเต้นก่อนนอน แม้กระทั่งการดูทีวีหรืออ่านหนังสือตื่นเต้น (4) ทำบรรยากาศห้องนอนให้เงียบและมืด (5) ฝึกสติสมาธิไม่ให้ฟุ้งสร้าน (6) ถ้ายังไม่หายก็ไปหาหมอที่คลินิกจิตเวชเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ

2. ถ้าไม่ได้เป็นโรคนอนไม่หลับ ให้ทดลองจัดเวลานอนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8 ชม.ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน แล้วดูว่าอาการหายไปไหม

3. ถ้าอาการยังไม่หาย ให้ไปที่คลินิกอายุรกรรมโรคปอด หรือคลินิกนอนกรน ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคนอนกรน (OSA) ให้เตรียมใจไว้เลยว่าหมออาจให้เข้าไปนอนในห้อง sleep lab เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องทดลองใช้มาตรการทั่วไปดู คือ การลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) การเลิกบุหรี่ เลิกแอลกอฮอล์ เลิกยากล่อมประสาท-ยานอนหลับ และหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย ถ้ายังไม่หายก็ต้องเลือกวิธีรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธี คือ (1) ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องเพื่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (nasal CPAP) หรือ (2) การผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี ส่วนใหญ่มีความสำเร็จ เพียงประมาณ 50% ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้น (ความสำเร็จนี้วัดจากการลดจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจลงได้อย่างน้อย 50%) และมีเหมือนกันประมาณ 31% ที่ทำผ่าตัดชนิดนี้แล้วอาการกลับแย่ลง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Academy of Sleep Medicine. International Classification of Sleep Disorders: Diagnostic and Coding Manual, Second Edition. Westchester, Ill: American Academy of Sleep Medicine; 2005.
2. Young T, Palta M, Dempsey J, Skatrud J, Weber S, Badr S. The occurrence of sleep-disordered breathing among middle-aged adults. N Engl J Med. Apr 1993;328(17):1230-5.
3. Tonelli de Oliveira AC, Martinez D, Vasconcelos LF, et al. Diagnosis of obstructive sleep apnea syndrome and its outcomes with home portable monitoring. Chest. Feb 2009;135(2):330-6.
4. Antic NA, Buchan C, Esterman A, et al. A randomized controlled trial of nurse-led care for symptomatic moderate-severe obstructive sleep apnea. Am J Respir Crit Care Med. Mar 15 2009;179(6):501-8.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี