ไฮโปไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์

เรียน นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ดิฉันอยากทราบข้อมูลเรื่อง Hypothyriod ที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์
การเกิดภาวะนี้มีผลอย่างไรกับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์บ้าง
เช่น กลไกของรกลอกตัวก่อนกำหนด และ
การเกิดกลไกการคลอดก่อนกำหนดที่เกิดในหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคนี้

ขอแสดงความนับถือ

อารีรักษ์

.......................................

ตอบครับ

ไฮโปไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์มีได้สองแบบ คือ เป็นป่วยไฮโปไทรอยด์อยู่ก่อนแล้ว แล้วค่อยมาตั้งครรภ์ กับแบบที่ต่อมไทรอยด์ทำงานปกติมาก่อน พอมาตั้งครรภ์แล้วจึงมาเป็นไฮโปไทรอยด์ แบบหลังนี้อาจเกิดจาก (1) การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoantibody) มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งไปทำลายต่อมไทรอยด์ (2) การมีเอสโตรเจนมีปริมาณมากในขณะตั้งครรภ์ ไปรบกวนตัวรับ (receptor) ฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้คนตั้งครรภ์เป็นไฮโปไทรอยด์ง่าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ภาวะไฮโปไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์มีประเด็นสำคัญดังนี้

1. ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการแท้งบุตรง่าย คลอดก่อนกำหนดได้ง่ายๆ บุตรที่คลอดออกมาปัญญาอ่อน หรือมีความพิการแต่กำเนิดอื่นๆได้ง่าย กลไกการเกิดสิ่งเหล่านี้ รวมถึงกลไกการเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดในภาวะไฮโปไทรอยด์ ยังไม่มีใครรู้ว่ามันมีกลไกการเกิดขั้นละเอียดอย่างไร

2. ปัญหาจะเกิดกับแม่และลูกเฉพาะกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น แต่หากได้รับการรักษา ปัญหาก็จะไม่มี ตัวอย่างเช่นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์เจอนาลเมื่อปี 1999 พบว่าถ้าแม่ที่เป็นไฮโปไทรอยด์ไม่ได้รับการรักษา บุตรมีโอกาสปัญญาอ่อนมากกว่าบุตรของแม่ที่ปกติถึง 4 เท่า แต่ถ้าแม่ได้รับการรักษา สติปัญญาของบุตรที่เกิดจะเท่ากับบุตรของแม่ปกติทั่วไป ดังนั้นการรักษาไฮโปไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

3. การตรวจพบโรคเสียตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์มีความสำคัญ เพราะในระยะ 12 สปด.แรกของครรภ์ ทารกต่อมไทรอยด์ของทารกยังผลิตฮอร์โมนใช้เองไม่ได้ ต้องอาศัยฮอร์โมนจากแม่อย่างเดียว ถ้าแม่เป็นไฮโปไทรอยด์และหมอพลาดโอกาสทองที่จะให้ฮอร์โมนทดแทนเสียตั้งแต่ระยะนี้ ก็เปิดช่องว่างให้เกิดปัญหาแท้งและเกิดความผิดปกติกับทารกได้ง่าย

4. การขยันติดตามเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมน FT4, FT3 และ TSH อย่างใกล้ชิด แล้วปรับยารักษาตามอย่างจดจ่อ มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนไทรอยด์ตัวที่ออกฤทธิ์หรือ FT4 เป็นตัวสำคัญมาก เพราะในบางงานวิจัยแม้ระดับฮอร์โมนต่ำเพียงแค่ระดับ 10% ล่างสุดของกลุ่มปกติ ยังไม่ทันต่ำถึงระดับหลุดเกณฑ์ปกติเลย ก็พบว่าบุตรมีโอกาสเกิดภาวะปัญญาอ่อนได้มากกว่าคนทั่วไปแล้ว

5. วิตามินและธาตุเหล็กบำรุงครรภ์ มีผลรบกวนการดูดซึมฮอร์โมนไทรอยด์ที่แม่ทาน ดังนั้นต้องต้องทานวิตามินและเหล็กคนละเวลากับฮอร์โมนไทรอยด์ อย่าทานพร้อมกัน

6. อย่ากลัวการทานฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะฮอร์โมนไทรอยด์เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงมากสำหรับแม่และทารก ทางการ
แพทย์จัดเป็นยา category A สำหรับคนตั้งครรภ์ คือเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยมากสูงสุด ดังนั้นอย่าลดหรือเลี่ยงยาด้วยความกลัวว่าจะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ การขาดยาต่างหาก ที่เป็นผลเสีย ไม่ใช่การทานยา

7. ในแง่การเลี้ยงนมบุตร ปัจจุบันนี้ คำแนะนำมาตรฐานของแพทย์คือคุณแม่ที่เป็นไฮโปไทรอยด์และทานฮอร์โมนไทรอยด์สามารถเลี้ยงนมบุตรได้เช่นคุณแม่ปกติทั่วไป เพราะฮอร์โมนไทรอยด์ที่ออกมาในน้ำนมมีน้อยมาก แต่ต้องระวังว่าน้ำนมจะไม่พอ เพราะคนเป็นไฮโปไทรอยด์มักมีน้ำนมน้อยกว่าคุณแม่ปกติ ทั้งนี้อย่าสับสนกับยาต้านไทรอยด์ที่ใช้ในคนไข้ไฮเปอร์ไทรอยด์ เช่นยา tapazol นะ เพราะยาเหล่านั้นออกมาในน้ำนมมากและมีผลเสียต่อทารก จึงเป็นยาที่ห้ามใช้สตรีที่ให้นมบุตร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี