Dysthymia ความเศร้าเรื้อรัง
เรียน คุณหมอสันต์ ที่นับถือ
ผมอายุ 49 ปี นานปีกว่ามาแล้วที่ผมเริ่มมีความรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต
เศร้า ท้อ รู้สึกว่าชีวิตผิดไปหมด หลังตีสองแล้วนอนไม่หลับ มีความคิดถึงความตาย
ไม่ใช่คิดกลัวตาย แต่คิดอยากตาย เพียงแต่ว่ามันคิดไปไม่ตลอดเพราะยังมีลูกเมียต้องดูแล
ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองจะเก็บมาคิดวนเวียนซ้ำซากไม่รู้จบ เช่น ผู้รับเหมาสร้างบ้านแล้วไปมีปัญหากับเพื่อนบ้าน
ตัวเองได้บอกผู้รับเหมาว่าให้ทำความตกลงโดยนุ่มนวลโดยตัวเองจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าเสียหายให้
แต่เพื่อนบ้านโทรมาใช้คำพูดที่ไม่ดี ก็เก็บมาคิดว่าทำไมพูดอย่างนั้นกับเราได้ ภรรยาป่วย
จะต้องรักษากันนาน ก็เก็บมาคิดซ้ำซากและเป็นทุกข์มากกว่าตัวภรรยาเสียอีก
ลูกสาวเรียนหนังสือเก่งได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งแต่ยังหางานทำไม่ได้ก็รู้สึกว่าตัวเองผิดที่ลุ้นให้ลูกสาวมาเรียนทางนี้แล้วพาเขามาเจอทางตัน
เป็นต้น การตัดสินใจในหน้าที่การงานก็มีความเสียหายบ่อย เพราะประสิทธิภาพการคิดลดลง
ผมได้พยายามหาทางออกหลายอย่าง
เช่น ได้พยายามเลิกธุรกิจ เพราะมีเงินมากแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะชีวิตยิ่งแย่ลง
ธุรกิจของผมคือการซื้อขาย พอรับทราบข่าวราคาสินค้าขึ้นลงแล้วตัวเองไม่ได้ตัดสินใจซื้อขายก็มีความรู้สึกผิด
รู้สึกว่าชีวิตที่ไม่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงินเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ตัวผมเป็นคนที่ได้ศึกษาธรรมะมาบ้างพอควร
เพราะวัยเด็กเพิ่งแตกหนุ่มก็ต้องช่วยพ่อแม่ค้าขายทำเงินและเครียด ได้ไปที่วัด
หัดนั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่ามันทำให้ตัวเองดีขึ้น จึงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณวัด
ทุกวันนี้ยังบริจาคเงินให้วัดนั้นอยู่ปีละมากๆ ทุกปี
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปเข้าแค้มป์วิปัสสนาครั้งละหลายๆวันบ่อย ของอาจารย์โกเอนก้าก็เคยไป
เคยบวชอย่างเป็นกิจจะลักษณะจริงจังมาแล้วด้วย
แต่สิ่งเหล่านั้นช่วยอะไรไม่ได้เลยตอนนี้ ผมมีเพื่อนน้อย เพื่อนที่ทำธุรกิจค้าขายกันเป็นสังคมของคนโลภมาก ผมป่วยอย่างนี้จะให้ใครรู้ไม่ได้เลย
มีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่นอกวงการค้าขายและคุ้นเคยกันมานาน ผมระบายให้เขาฟัง แต่พอระบายแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองแย่กว่าเดิม ตั้งแต่มีอาการเซ็งชีวิตมานี้ ผมได้พยายามใช้ชีวิตให้ง่ายๆแบบเพื่อนๆคนอื่นเขาบ้าง เช่นไปกินดื่มและเที่ยวผู้หญิง แต่ก็ไม่เวอร์ค
เพราะรู้สึกผิดว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งซึ่งไม่เคยทำและไม่เข้าท่า ได้เคยพบกับจิตแพทย์มาแล้ว
แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องใช้ยา
ผมขอโทษที่เขียนยาวมาก
แต่ต้องการให้คุณหมอทราบเรื่องของผมให้มากที่สุด เพื่อจะได้แนะนำให้ตรงกับปัญหาของผม
..............................................
ตอบครับ
จดหมายของคุณ ทำให้ผมนึกถึงบทกลอนของจีรนันท์ พิตรปรีชา นานหลายสิบปีมาแล้ว
ซึ่งเธอเขียนในอารมณ์เศร้า เขียนได้ไพเราะเสียไม่มี ผมจำได้เลาๆว่าเธอเขียนว่า
“...ตัวฉันเหมือนกรวดเม็ดร้าว
แตกแล้วด้วยความเศร้า
หมองหม่น
ปรารถนาเป็นธุลี
ทุรน
ดีกว่าทนอึดอัดใจ
อยู่ใต้น้ำ..”
เข้าเรื่อง..ตอบจดหมายของคุณดีกว่า
1.. อาการของคุณนี้อย่างเบาะๆแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ
Dysthymia ซึ่งนิยามว่าคือภาวะซึมเศร้าเรื้อรังที่ไม่ทำให้ตาย
แต่ก็ไม่หายไปไหนสักที หรือถ้าไปเจอแพทย์ที่ห้าวหน่อยอย่างผมนี้
ก็จะวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าขนานแท้ (major depression) แต่ไม่ว่าจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอะไร การรักษาของแพทย์ยุคจรวดนี้มันก็แปะเอี้ยเหมือนกันหมด
คืออัดยาแก้ซึมเศร้าลูกเดียว ผมถึงแปลกใจเล็กน้อยที่คุณบอกว่าไปหาจิตแพทย์แล้วหมอบอกยังไม่ถึงขั้นต้องใช้ยาอะไร
ที่แปลกใจเพราะขึ้นชื่อว่าจิตแพทย์ในโลกนี้ไม่ว่าชาติภาษาไหน
เห็นคนไข้หน้าเศร้าๆมายังไม่ทันอ้าปากดูลิ้นไก่เลยก็สั่งยาแก้ซึมเศร้าให้แล้วเรียบร้อย
โดยเฉพาะหมอญี่ปุ่นเป็นมากที่สุด
คนญี่ปุ่นจึงเป็นชาติที่บริโภคยาแก้ซึมเศร้ามากที่สุดตอนนี้ ขอโทษ..นอกเรื่องแล้ว
กลับเข้าเรื่องดีกว่า
2.. คำแนะนำแรกเลยคือ
แนะนำให้คุณไปหาจิตแพทย์อีกที หาคนเดิมแล้วถามถึงยาแก้ซึมเศร้าก็ได้ หรือหาอีกคนหนึ่งก็ได้
คือถึงแม้ผมจะชอบค่อนแคะจิตแพทย์ แต่กรณีของคุณนี้ผมเองกลับเห็นว่ามันน่าใช้ยาจริงๆ
เพราะยาต้านซึมเศร้าสมัยนี้มันเวอร์คมากนะครับ
เพียงแต่ว่าคุณต้องใจเย็นๆเพราะกว่าจะเห็นผมมันจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
ดังนั้นหากจะลองยาแก้ซึมเศร้าคุณต้องทำใจลองอย่างน้อยสัก 2 เดือน
ซึ่งผมเชื่อว่าคุณจะได้ประโยชน์จากมัน และนี่เป็นคำแนะนำที่อยู่บนมาตรฐานของหลักวิชาแพทย์สากล
3.. การรักษาร่วมที่ได้ผลอีกอย่างหนึ่งคือการทำพฤติกรรมบำบัดแบบสอนให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavior therapy) ซึ่งก็ต้องไปหาจิตแพทย์อีกนะแหละ
เขาจะจัดให้คุณได้พบกับนักจิตบำบัดแล้วไปรักษากันเป็นคอร์สๆไป
งานวิจัยบอกว่าการรักษาแบบนี้ช่วยได้ เพียงแต่เมืองไทยไม่เป็นที่นิยม
ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าทำไม อย่างไรก็ตามผมแนะนำให้คุณไปเสาะหาการรักษาแบบนี้ด้วย
4.. คำแนะนำส่วนตัวของผม อันนี้ส่วนตัวนะ
ไม่เกี่ยวกับหลักวิชาแพทย์ ผมแยกคำแนะนำของผมออกเป็นสามส่วน คือ
ส่วนที่ 1.
เอาคอนเซ็พท์ใหญ่ก่อน คุณมีปัญหาจากความคิดที่ผูกพันกับอีโก้หรือความยึดถือตัวตนของคุณ
เช่นเพื่อนบ้านโทรศัพท์มาด่าคุณก็รับไม่ได้ว่าเอ๊ะเราเป็นคนดีขนาดนี้มาด่าเราอย่างนี้ได้ยังไง
ลูกสาวตกงานอีโก้ของคุณก็รับไม่ได้ว่าเราเป็นพ่อที่เก่งขนาดนี้ผลิตลูกสาวออกมาตกงานได้ไง
ประมาณนี้ การจะคิดแก้ปัญหาไปข้างหน้าต้องไปในทิศทางลดอีโก้ลง
ไม่ใช่เพิ่มอีโก้ขึ้น
ส่วนที่ 2.
ตอนนี้ใจคุณเหมือนม้าป่าที่แร่ดไปไหนต่อไหนจนคุณเอาไม่อยู่
ที่คิดจะเอาอานไปใส่เอาบังเหียนไปสวมขี่เล่นเท่ๆนั้นลืมไปได้เลย
ขั้นต้นนี้คุณสร้างคอกขังมันไว้ให้ได้ก่อนก็บุญแล้ว
คอกที่ว่านี้ก็คือวินัยต่อตนเองในรูปของการแบ่งเวลา
ที่คุณเคยคิดจะเลิกทำมาหากินนั่นลองไหม่ไหมละ เลิกครึ่งเดียวก็พอ แบ่งเวลาทำงานครึ่งหนึ่ง และเวลาว่างอีกครึ่งหนึ่ง คอกที่ว่าก็คือแค่เนี้ยะแหละ
เอาแค่เวลาว่างอย่าทำงาน แค่นี้พอ
ถ้าทำได้แค่นี้ก็เท่ากับว่าเริ่มจับม้าเข้าคอกได้แล้ว
ส่วนที่ 3.
ผมมองโรคของคุณว่าเป็นโรคทางใจ
การจะแก้ปัญหาคุณต้องมีเครื่องมือแก้ปัญหาทางใจที่ดี
ซึ่งผมมีเครื่องมือที่ดีที่ผมใช้กับตัวเองอยู่ประจำ เครื่องมือนี้มี 7 อย่าง ผมจะเล่าให้ฟัง คุณลอกเลียนไปใช้ได้
ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์
เครื่องมือที่ 1. การรู้จักเลือกเครื่องมือ (Choosing) ไม่ได้กวนโอ๊ยนะครับ
ก็เครื่องมือผมมีตั้งเจ็ดอย่าง
ตอนไหนจะหยิบอะไรมาใช้ถ้าคุณหยิบไม่ถูกนี่ก็เจ๊งแล้ว ดังนั้นคุณต้องเฟ้นเครื่องมือเป็น
หยิบฉวยให้ถูกอันถูกเวลา ตอนท้ายผมจะบอกเคล็ดให้ว่าเวลาไหนจะหยิบเครื่องมือใด
เครื่องมือที่ 2. ความรู้สึกปลื้ม (Fulfillment)
คือ คุณต้องหัดสร้างความรู้สึกปลื้มในตัวเองขึ้นในใจ
วิธีการก็คืออย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งหรือยิ่งวันละหลายครั้งก็ดี
ให้คุณคิดย้อนหลังถึงเหตุการณ์ที่คุณได้ทำอะไรลงไปในลักษณะของการให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน
อาจเป็นเรื่องง่ายๆก็ได้ เช่นคุณปลูกต้นไม้แล้วรดน้ำหนึ่งต้น คุณก็ให้กับโลกแล้ว หรือคุณเอ่ยปากขอโทษเพื่อนบ้านแล้วทำให้เขามีความสุขว่าโอ้โหฉันนี่ขนาดเจ้าเศรษฐีข้างบ้านมันต้องมาขอโทษเลยนะ
นี่ก็เป็นการให้เขาโดยที่คุณไม่ได้อะไรตอบแทนมีแต่จะเสียอีโก้ของคุณไป
หรืออาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ความเป็นคนดีโดยเนื้อในของคุณดลใจให้คุณทำไปแล้วเช่นการบริจาคทานเงินทีละมากๆ
คุณคิดถึงสิ่งเหล่านี้ เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ไม่สำคัญ ขอให้คิดถึงมัน
มันจะก่อความรู้สึกปลื้ม หัวใจมันจะพองนิดๆ แล้วใจของคุณมันจะสงบลงไม่ซัดส่ายมาก
เพราะใจของคนเรานี้มันจะซัดส่ายดิ้นรนมากถ้ามันรู้สึกไม่ปลื้มหรือไม่ fulfill ถ้ามันมี fulfillment มันก็จะสงบ พอใจมันสงบไม่ซัดส่ายแล้วการจะทำขั้นต่อไปมันก็ง่ายขึ้น
เครื่องมือที่ 3. ความรู้ตัว (Awareness) อันนี้ก็คือสตินั่นแหละ
คุณต้องฝึกให้รู้ตัวเองบ่อยๆว่า เมื่อตะกี้นี้คุณมีความคิด (though) อะไร
มีอารมณ์ (mood) อย่างไร การรู้ตัวนี้เอาแค่รู้ตัวเฉยๆ
ไม่ต้องไปแทรกแซงหรือทำอะไรต่อยอดจากความคิดหรืออารมณ์เดิมทั้งสิ้น
เศร้าก็บอกตัวเองให้รู้ตัวว่าเรากำลังเศร้า ตามดูความเศร้าไป แค่นั้น
เครื่องมือที่ 4. ที่นี่เดี๋ยวนี้ (Hear and Now) คือพอเรารู้ตัวว่าคิดอะไร
ความคิดนั้นจะฝ่อลง เราต้องหาที่จอดให้ใจเรา ไม่งั้นใจมันก็จะฟุ้งไปเรื่องใหม่อีก
ที่จอดของใจที่ดีที่สุดก็คือ "ที่นี่ เดี๋ยวนี้" มีสองมิตินะ คือสถานที่ และเวลา ถ้าที่นี่เดี๋ยวนี้ยังมีอะไรมากมายจนจอดไม่ได้อีกก็ลมหายใจของคุณนั่นแหละ
เอาใจไปจอดที่ลมหายใจแบบที่เขาเรียกว่า breathing meditation นั่นแหละ
หายใจเข้ารู้ตัวว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ตัวว่าหายใจออก
ใจมันจะได้ไม่ฟุ้งไปไกลหรือคิดอะไรซ้ำซากจนกู่ไม่กลับ
เครื่องมือที่ 5. ความกล้าหาญ (Courage) คือบางจังหวะต้องใช้ความกล้า
แปลว่าความไม่กลัว สุดยอดของความกลัวก็คือกลัวตาย คุณคิดเสียว่าอย่างมากก็แค่ตาย
การตัดสินใจเปลี่ยนวิธีคิดก็ดี เปลี่ยนการกระทำก็ดี การเอาชนะความซึมเศร้าหดหู่ก็ดี
หลายครั้งมันต้องใช้ความกล้า คุณต้องฝึกหัดบ่มเพาะเครื่องมือนี้
เครื่องมือที่ 6. การผ่อนคลาย (Relax) บ่อยครั้งความพยายามที่จะหนีมากเกินไปทำให้เราอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง
ถ้าเรารู้จักหย่อนสายป่าน ถอยเข้ามุม หรือปล่อยวาง ในบางจังหวะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
กลับพบว่าเราหลบหลีกสิ่งร้ายๆได้พ้นไปแบบง่ายๆ
เครื่องมือที่ 7. การเพิกเฉย (Ignore) เป็นเครื่องมือที่มองเผินๆคนดีเขาไม่ใช้กัน
แต่ถ้ารู้จังหวะใช้มันมีประโยชน์มาก
เพราะในบรรดาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเรานี้ หลายๆอย่างอยู่ในเขตอำนาจของเราที่เราควบคุมบังคับได้
เช่นการที่เราจะเลือกคิดอะไรไม่คิดอะไรตัวเราบังคับได้
อันนี้เราควรใช้ความกล้าเข้าไปทำไปจัดการ แต่หลายๆอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือเขตอำนาจควบคุมบังคับของเรา
เช่นเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองตั้งท่าจะตีกันให้ตายในเดือนสิงหาคมนี้
ถ้าเราไปกังวลหมกมุ่นครุ่นคิดเราก็บ้าตายเพราะเราไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ กรณีเช่นนี้การเพิกเฉยกลับเป็นเครื่องมือที่ดี
เอาละ คุณได้รู้จักเครื่องมือทั้งเจ็ดของผมแล้ว
ทีนี้มาประเด็นสำคัญ คือเมื่อใดจะหยิบเครื่องมือใด หลักมีอยู่ว่า "ความรู้ตัว" และ "ที่นี่เดี๋ยวนี้" นั้นเป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ตลอดเวลาไม่ว่าเวลาจิตตกหรือจิตเฟื่องฟู
แต่ในยามที่จิตตก คุณต้องเฟ้นเครื่องมืออีกสองตัวมาช่วย นั่นคือ "ความรู้สึกปลื้ม" และ "ความกล้าหาญ" คือยามจิตตกต้องภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำมา และปลุกปลอบจิตใจให้สู้ต่อไปอย่างกล้าแข็ง
ไม่ใช่ไปหยิบเครื่องมือ "ถอยเข้ามุม" หรือ "เพิกเฉย" ขึ้นมาใช้ก็จบเห่กันพอดี การเฟ้นเครื่องมือที่เหมาะขึ้นมาใช้
คือไฮไลท์ของการใช้เครื่องมือแก้ปัญหาทางใจของผม คุณเอาไปลองดูนะครับ
ก่อนจบขอแถมอีกเรื่องหนึ่ง คือการจะเอาชนะความกลัว คุณต้องหัดเอาชนะความกลัวตายก่อน กลเม็ดที่ผมใช้อยู่ผมเลียนแบบมาจากพระท่านหนึ่ง เป็นเทคนิคที่เรียกว่า "ซ้อมตาย" ผมไม่รู้ว่าคุณนับถือศาสนาอะไร แต่นั่นไม่สำคัญ ผมแค่จะเล่าที่มาของเทคนิคนี้ว่ามันมาจากความเชื่อของชาวพุทธที่ว่าคนเราตายแล้วจะไปเกิดใหม่ และความคิดที่อยู่กับเราในโมเมนต์ที่เราตาย จะเป็นตัวพาเราไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน ถ้าตอนจะตายเราใจลอยฟุ้งสร้านไปไหนต่อไหนไม่รู้ โอกาสจะไปเกิดเป็นหมูหมากาไก่ก็สูง แต่ถ้าโมเมนต์ที่เราตายเรามีสติรู้ตัวดีอยู่ เราก็จะไปสู่สุขคติ นี่เป็นความเชื่อของชาวพุทธซึ่งนำมาสู่เทคนิคซ้อมตายนี้ วิธีการก็คือก่อนนอนเราเข้านอนด้วยการบอกตัวเองว่าการนอนหลับครั้งนี้จะเป็นการตายของเรา เราจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีกแล้ว วันพรุ่งนี้ไม่มีความหมายเพราะมันจะไม่มีแล้ว มีแต่ว่าคืนนี้ตายแล้วใครจะพาเราไปไหน จะเป็นความคิดฟุ้งสร้าน หรือจะเป็นสติความรู้ตัวของเราที่จะเป็นตัวพาเราฝ่าความมืดของปรโลกไป นั่นอยู่ที่เราจะเดินทางเข้าไปสู่ความตายในคืนนี้อย่างไร ความที่เรากลัวจะไปเกิดเป็นหมูหมากาไก่เราก็จะเข้านอนด้วยการตั้งสติให้ดี รู้ตัวให้ตลอดว่าไม่คิดฟุ้งสร้านอะไรจนหลับไป ทำเทคนิคนี้บ่อยๆเราจะไม่กลัวตาย และใช้รักษาอาการนอนไม่หลับคิดโน่นคิดนี่ได้ด้วย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
.......................................................
25 มิย. 55
Cool Visa
คุณหมอค่ะ ได้อ่านแล้ว สำหรับหนูขอบคุณค่ะสำหรับแน วคิดดี ๆ ทั้งหมดมันเยี่ยมมากเลย.. ขออนุญาตินำเรื่องนี้ไปเผยแ พร่ได้มั๊ยค่ะ เพราะว่าแนวคิดของคุณหมอนั้ นดีมากเลยค่ะ อยากนำไปให้คนที่เค้าไม่ได้ ใช้ Internet อ่านค่ะ เผื่อว่าสำหรับคนที่เค้ากำลังมีปัญหาอยู่ในตอนนี้หรือใ นภายหน้าอาจช่วยเค้าได้ อนุญาติหรือไม่แล้วแต่คุณหม อจะกรุณาค่ะ
ตอบครับ
บทความของผมทุกบทความเอาไปเผยแพร่ต่อได้ครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่อย่าเอาไปเซ็งลี้เอาตังค์ก็แล้วกัน
สันต์
.......................................................
25 มิย. 55
Cool Visa
คุณหมอค่ะ ได้อ่านแล้ว สำหรับหนูขอบคุณค่ะสำหรับแน
ตอบครับ
บทความของผมทุกบทความเอาไปเผยแพร่ต่อได้ครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่อย่าเอาไปเซ็งลี้เอาตังค์ก็แล้วกัน
สันต์