ยารักษาความดันสูงในคนเป็นโรคไตเรื้อรัง


เรียนคุณหมอสันต์

หนูเคยอ่านบทความตอบคำถามของคุณหมอ เห็นคุณหมอเขียนละเอียดอ่านเข้าใจดี จะขอรบกวนถามคุณหมอเรื่องยาลดความดันค่ะ หนูเป็นโรคไต ตรวจพบว่าค่าไตสูงกว่าค่าปกติ คือ Cr 2.2 ตั้งแต่ปี 2547 
จนตอนนี้ Cr 5.97 คุณหมอให้ยาลดความดัน  Atenolol 50 mg ทาน 1 เม็ด หลังอาหารเช้ามานานหลายปี จนประมาณปีที่แล้ว คุณหมอเปลี่ยนยาความดันเป็น Amlodipine 5 mg  1 เม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น (หนูวัดความดันตลอดเช้า-เย็นค่ะ) แต่หนูรู้สึกว่ากินยาตัวใหม่ความดันไม่ค่อยลดและมีอาการหัวใจเต้นถี่มาก เคยขึ้นเป็นร้อยบ่อยๆ เคยปรึกษาคุณหมอๆบอกว่าตัวใหม่ดีกว่าตัวเก่า ทำไมความดันไม่ลง เลยให้หนูกินยา เพิ่มเป็น 2 เม็ด แต่หนูเคยกิน 2 เม็ดครั้งหนึ่งตอนวัดความดัน แล้วความดันสูง ปรากฏว่า หัวใจเต้นถี่ บ่อยกว่าเดิม หนูเลยลองกลับไปกินยาตัวเก่าไม่มีอาการหัวใจเต้นถี่ และความดันก็ลดดี จึงอยากถามคุณหมอว่า ยาตัวใหม่ดีกว่าตัวเก่าจริงหรือไม่ แล้วถ้าหนูจะกินยาตัวเก่าบ้างในกรณีที่เกิดอาการ หัวใจเต้นถี่และความดันสูงมาก หนูจะทำได้หรือไม่อย่างไรค่ะ

ขอความกรุณาคุณหมอด้วยค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ


ตอบครับ

ทีหลังเขียนจดหมายมาหา ช่วยบอกอายุ น้ำหนัก และส่วนสูงมาด้วยนะ การวินิจฉัยมันจะได้ง่ายขึ้น คุณไม่บอกอะไรมาเลยผมต้องอาศัยเดาอายุคุณเอาจากคำว่า หนู ว่าอายุน่าจะอยู่ประมาณไม่เกิน 30 ปี แต่อายุแค่นี้คุณเป็นโรคอะไรนักหนาไตถึงได้เสียการทำงานไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว และอะไรเป็นเหตุให้ไตเสื่อมไปอย่างรวดเร็วในชั่วเวลาแค่ 8 ปี เมื่อปี 47 คุณมี creatinine = 2.2 ซึ่งเทียบกับ eGFR = 31 หรือเป็นโรคไตเรื้อรังปลายๆของ stage 3 แต่มาปีนี้ Cr ขึ้นเป็น 5.95 หรือเทียบเท่ากับ eGFR = 10 ซึ่งเข้า stage 5 อันเป็นระยะสุดท้ายที่จวนเจียนจะต้องล้างไตอยู่รอมร่อแล้ว การวินิจฉัยให้ได้ว่าคุณเป็นโรคไตชนิดไหน วินิจฉัยจากหลักฐานอะไร เช่นมีการตัดเนื้อไตออกมาตรวจหรือเปล่า ได้รับการรักษาอะไรไปบ้าง เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากในการคิดอ่านแก้ไขไม่ให้ไตเสื่อมลงรวดเร็วเกินไป และในการวางแผนเลือกยาลดความดันให้คุณ เพราะกลไกการเกิดความดันเลือดสูงในโรคไตแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน กล่าวคือ
1. ถ้าเป็นโรคไตชนิดที่เกิดที่กระจุกหลอดเลือดฝอย (glomerulus) เช่นโรคไตอักเสบ (glomerulonephritis) โรคไตรั่ว (nephrotic syndrome) กลไกการเกิดความดันเลือดสูงคือการที่ปริมาตรเลือดมากขึ้นจากการคั่งของโซเดียม และการผลิตแองจิโอเทนซินจากสารแองจิโอเทนซิโนเจนเพิ่มขึ้น เป็นกรณีที่ควรใช้ยาขับปัสสาวะควบกับยาต้านเอ็นไซม์ผลิตแองจิโอเทนซิน (ACEI) ในกรณีที่ทนฤทธิ์ข้างเคียงของยาใน ACEI ไม่ไหวก็อาจจะใช้ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (ARB) แทน ซึ่งในชื่อยาที่คุณให้มาไม่เห็นมียาใดๆในสามกลุ่มนี้สักตัวเดียว
2. ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังชนิดที่เกิดจากหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) กลไกการเกิดความดันเลือดสูงเกิดจากการที่เนื้อไตขาดออกซิเจนจึงไปกระตุ้นระบบผลิตแองจิโอเทนซินมากขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับปริมาตรเลือด ยาที่เลือกใช้จึงเป็นยาในกลุ่ม ACEI โดยไม่ใช้ยาขับปัสสาวะ
3. ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังชนิดที่เกิดตามหลังโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) หรือโรคหัวใจขาดเลือด หมายความว่าหลอดเลือดแดงแข็งหรือโรคหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้นก่อนเหมือนที่เกิดในคนสูงอายุทั้งหลาย แล้วทำให้เกิดความดันเลือดสูง แล้วไปทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง การแก้ไขความดันเลือดสูงในพวกนี้จะมุ่งใช้ยาขยายหลอดเลือดเช่นยาต้านแคลเซียม (เช่นยา amlodipine ที่คุณได้มาใหม่) และยากั้นเบต้า (เช่นยา atenolol ที่คุณเคยได้) แต่ผมเดาเอาว่าคุณไม่ได้เป็นโรคไตชนิดเกิดตามหลังความดันเลือดสูง ดังนั้นยาทั้งสองตัวที่ได้มาจึงไม่ใช่ยาที่เหมาะเจาะเจ๋งเป้งกับโรคไตเรื้อรังของคุณนัก จึงไม่สำคัญนักว่าคุณจะได้ตัวไหน ตัวใหม่หรือตัวเก่า คือตัวไหนก็แปะเอี้ย ตัวเก่า (atenolol) นั้นมีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย หากคุณมีปัญหาหัวใจเต้นเร็ว การกลับไปใช้ตัวเก่าก็จะแก้ปัญหานี้ได้
    
ในภาพรวม ไม่ว่าจากคำแนะนำของมูลนิธิโรคไตแห่งชาติ (NKF guideline) ก็ดี งานวิจัยใหญ่ๆที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปก็ดี ล้วนสนับสนุนให้ใช้ยาสองกลุ่มต่อไปนี้ในการรักษาความดันเลือดสูงในคนเป็นโรคไตเรื้อรัง คือ
กลุ่มที่ 1. ยาต้านเอ็นไซม์ผลิตแองจิโอเทนซิน (angiotensin converting enzyme inhibitor - ACEI) ได้แก่ยาแซ่ริ่ลต่างๆ เช่น captopril, elanapril เป็นต้น
กลุ่มที่ 2. ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (angiotensin receptor blocker - ARB) ได้แก่ยาในกลุ่มซาตานทั้งหลาย เช่น losartan (Cozaar), Valsartan (Diovan), telmisartan (Micardis) เป็นต้น

จะเห็นว่าถ้าผมไม่รู้ว่าคุณเป็นโรคไตเรื้อรังชนิดไหน ผมเลือกยาให้คุณไม่ได้ และบอกคุณไม่ได้ด้วยว่าสำหรับคุณแล้วยาตัวไหนดีกว่าตัวไหน ถ้าคุณจะเอาคำตอบชนิดที่เอาไปใช้ได้ คุณต้องบอกข้อมูลโรคไตเพิ่มเติมมาให้ผมก่อนว่าเป็นโรคไตชนิดไหน วินิจฉัยจากหลักฐานอะไร เคยตัดชิ้นเนื้อไตออกมาตรวจหรือเปล่า ได้รับการรักษาโรคไตอะไรไปแล้วบ้าง พูดง่ายๆว่ามีข้อมูลอะไรส่งมาให้หมด แล้วผมสัญญาว่าจะตอบให้ใหม่ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
     

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี