เลิกมองหน้าสามีแล้ว แต่ทำไมยังเครียด
กราบเรียนคุณหมอสันต์
หนูมีความเครียดเมื่ออยู่ใกล้สามีซึ่งเป็นคนเครียดตลอดศก เคยได้อ่านที่คุณหมอเขียนเล่างานวิจัย emotional contagion ว่าเรารับความเครียดจากคนอื่นมาโดยเรามองดูสีหน้าเขาแล้วเราเลียนแบบสีหน้าเขาโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วความเครียดของเขาก็จะมาอยู่ในตัวเรา หนูก็เอาคำสอนนี้มาใช้ โดยเมื่อสามีเข้าบ้านมาหนูพยายามไม่มองหน้าเขา พูดอะไรกันก็พูดแบบแกล้งกำลังทำอะไรอื่นอยู่หรือมองไปคนละทาง ใหม่ๆก็ดูจะได้ผลดี แต่จนทุกวันนี้หนูก็ยังรู้สึกว่าเมื่อสามีไปทำงานหนูอยู่บ้านคนเดียวหนูชิลๆโล่งๆสบายๆ แต่พอสามีเข้าบ้านมาเท่านั้น ยังไม่ทันพูดอะไรกัน ยังไม่ทันเห็นสีหน้ากันเลย แค่เข้ามาอยู่ในห้องเดียวกันเท่านั้นแหละ หนูจะเครียดทันที คุณภาพชีวิตหายไปทันที ความเครียดจากเขายังมาถึงหนูได้อีกหรือ หนูควรจะแก้ไขอย่างไร
ขอบพระคุณคะ
………………………………………………………….
ตอบครับ
1.. ผมไม่รู้ว่าคุณอายุเท่าไหร่ เดาเอาว่าคงเป็นวัยที่เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องบันเทิงอีกต่อไปแล้ว เพราะอาการที่คุณเล่ามามันเป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มอาการหน่ายสามี” ซึ่งมักจะเกิดในวัยที่เริ่มหน่ายเซ็กซ์
เรารู้ว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ นั่นเป็นของแน่แท้และพิสูจน์ได้ เช่นงานวิจัยเจาะเลือดดูฮอร์โมนเครียดพบว่าห้องเรียนที่สอนโดยครูขี้เครียดนักเรียนก็พลอยเครียดเหมือนไปกันหมดทั้งห้อง กลไกที่ความเครียดแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยยังไม่ได้ทันพูดอะไรกันนั้นกลไกหนึ่งก็คือกลไกเลียนสีหน้าหรือ facial mimicry คือคนเครียดจะมีสีหน้าเครียด คนใกล้ชิดเห็นสีหน้าเครียดก็เผลอเลียนสีหน้านั้นเพราะมนุษย์เรานี้เป็นสัตว์สังคมเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามอย่างเป็นอัตโนมัติ พอเผลอเลียนสีหน้าเขาไปอารมณ์ในใจของตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสีหน้านั้นอย่างอัตโนมัติ นั่นเป็นกลไกหนึ่ง
ทีนี้คุณถามว่ามันมีกลไกอื่นอีกไหม่ เพราะหลบไม่มองหน้าคนเครียดแล้วทำไมเราก็ยังเครียดตามเขาอยู่ ตอบว่าตามหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันยังมีอีกกลไกหนึ่งคือกลไกการปล่อยความเครียดให้ล่องลอยไปตามสายลม คือไปในอากาศ ในรูปของโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นและปล่อยออกมาทางรูขุมขนหรือพร้อมกับเหงื่อ โมเลกุลเหล่านี้เอาไปให้ใครดมก็ไม่เห็นจะมีกลิ่นอะไร แต่ดมแล้วเครียดทันที
งานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทำที่มหาลัย Stony Brook ที่รัฐนิวยอร์ค ทำโดยซับเอาเหงื่อของนักโดดร่มดิ่งพสุธาหน้าใหม่ขณะดิ่งพสุธาครั้งแรก (ขณะเครียด) เปรียบเทียบกับเหงื่อของคนคนเดียวกันตอนวิ่งสายพานออกกำลังกายธรรมดาๆ (ไม่เครียด) แล้วแยกเอาโมเลกุลกลิ่นที่เกิดจากทั้งสองกรณีใส่ถุงไปให้คนอื่นดม
รอบแรกให้คนดมเปรียบเทียบว่าดมแล้วได้กลิ่นอะไรไหม แตกต่างกันหรือเปล่า คนดมบอกว่าไม่ได้กลิ่นอะไรและบอกความแตกต่างของกลิ่นทั้งสองด้วยจมูกไม่ได้
รอบที่สอง ใช้เครื่อง fMRI ตรวจสมองขณะดมกลิ่น พบว่าขณะดมกลิ่นเหงื่อที่เกิดขณะเครียด สมองผู้ดมแสดงกิจกรรมบนเนื้อสมองส่วนอามิกดาลาและไฮโปทาลามัส(ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำงานมากเมื่อเครียดหรือกลัว) สูงขึ้นแบบทันที ขณะที่การดมกลิ่นเหงื่อที่เกิดขณะไม่เครียดสมองผู้ดมไม่แสดงอะไรผิดปกติ นี่เป็นหลักฐานว่าทางที่ความเครียดแผ่มาหาเรามาได้อีกทางหนึ่ง คือ..ทางอากาศ
เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย นานหลายปีมาแล้วผมขับรถเที่ยวไปทางตอนเหนือของอเมริกากับเพื่อนๆคนแก่ด้วยกันสี่ห้าคน ขับไปจนถึงเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในรัฐเวอร์มอนต์ชื่อเมือง Stowe บังเอิญเป็นวันหยุดอีสเตอร์คนเยอะมากจนหาที่กินข้าวเย็นไม่ได้เพราะร้านอาหารดีๆคนจองที่นั่งเต็มหมดและที่นั่งรอคิวกันอยู่นอกร้านอีกเป็นกระตั๊ก ในที่สุดพวกเราต้องไปเข้าคิวซื้ออาหารคนจนแบบเบอริโตเม็กซิกัน เข้าคิวกระดึ๊บๆไปจนได้เข้าไปอยู่ในร้านห้องแถวเล็กๆซึ่งมีลูกค้าเป็นคนจนแน่นร้าน บรรยากาศเคร่งเครียดมาก ในที่สุดเพื่อนคนหนึ่งซึ่งผมชอบเรียกว่าป้าก็ออกอาการทนไม่ไหวจะเป็นลม ผมเข้าใจว่าเธอคงเกิดความเครียดหนักหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เธอส่ายหัวแล้วพูดเบาๆว่า
“ฉันเหม็นขี้เต่าจนทนไม่ไหวแล้ว”
นี่ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าความเครียดมาทางอากาศ
(ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
2.. ถามว่าแล้วจะปกป้องตัวเองไม่ให้เครียดตามสามีซึ่งเป็นคนขี้เครียดได้อย่างไร ตอบว่าให้ทำสองด้านพร้อมกันดีกว่าอย่าทำด้านเดียว
ด้านที่หนึ่ง คือเมื่อคุณรู้ว่าอารมณ์ลบแพร่ไปมาหากันได้ อารมณ์บวกมันก็แพร่ไปมาหากันได้โดยวิธีเดียวกัน ดังนั้นแทนที่คุณจะตั้งหน้าตั้งตาหนีสามีขี้เครียด ทำไม่คุณไม่แพร่อารมณ์บวกไปให้เขาแทนละครับ คือยิ้มเยอะๆ หัวเราะเยอะเมื่ออยู่ใกล้สามี ก่อนจะคุยอะไรกับเขาก็บิวด์หรือยกระดับอารมณ์ของตัวเองให้ขึ้นมาเป็นบวกก่อน ระวังท่าร่างของตัวเองที่เป็นลบ เช่นกอดอก จ้องเขม็ง บึนปากใส่ (หมายถึงทำริมฝีปากล่างยื่นพ้นริมฝีปากบน) ปรับสีหน้าให้เป็นยิ้มก่อน เปิดเผย ยินดีต้อนรับให้ได้ก่อนคุยกับเขา ถ้าทำยังไม่ได้ก็ยังไม่ต้องคุย แกล้งทำเป็นกล่องเสียงอักเสบพูดไม่มีเสียงเสียก็ได้ เมื่อคุยกับสามีแล้วก็ให้เริ่มด้วยการฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจรับ มองให้เห็นทั้งด้านบวกและลบของ “ของ” ที่เขาปล่อยออกมา เปิดใจรับทั้งด้านบวกด้านลบ แล้วจงใจเลือกเข้าหาแต่ด้านบวก สนองตอบแต่เชิงบวก เสริมคำพูดหรืออารมณ์บวกของเขาด้วยการสบตา ใส่อารมณ์ ใช้คำพูดบันดาลใจ เอ่ยปากชม เป็นต้น แล้วก็วางแผน ตั้งใจ จงใจ ทำให้เขาประหลาดใจทุกวันด้วยการกระทำที่เมตตาของเรา คนจะมีเมตตาธรรมต้องเป็นคนไม่มีฟอร์ม เพราะฟอร์มหรือ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ก็คืือ “อีโก้” หรือ “อัตตา” หรือ “ตัวกูของกู” ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเมตตาธรรม เมตตาคือการให้โดยไม่คาดหวังว่าเขาจะมองเห็นแล้วจะดีกับเราตอบนะ เมตตาคือให้โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรกลับมา แม้คำขอบคุณหรือรอยยิ้มตอบก็ไม่หวัง ให้โดยไม่เลือกว่าเขาจะดีหรือไม่ดีกับเรา
ด้านที่สอง คุณอย่าเอาแต่โทษสามีว่าเป็นคนขี้เครียดวันๆเอาแต่ขนขี้มาปล่อยให้คุณ ความจริงแล้วความเครียดที่เกิดขึ้นในใจของคุณเกิดจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของคุณผ่านการคิดของคุณนั่นเอง สามีเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งเร้านอกตัวคุณ ในการจัดการความเครียดคุณอย่าไปมุ่งจัดการสิ่งเร้านอกตัวคุณ เพราะคุณไม่มีอำนาจจะทำอย่างนั้นได้ดอก คุณต้องจัดการที่การสนองตอบของใจคุณต่อแต่ละสิ่งเร้าที่เข้ามา คือคุณต้องมีสติขณะรับรู้สิ่งเร้า มีสติขณะเลือกวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้า และมีสติขณะบรรจงสนองตอบด้วยวิธีที่คุณเลือกแล้วออกไป คีย์เวิร์ดคือ “อย่าเผลอ” เพราะคุณจะไม่ติดเชื้อทางอารมณ์ตราบใดที่คุณมีสติและไม่เผลอ การสนองตอบด้วยวิธีที่คุณได้ตั้งสติเลือกแล้ว มันจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการสนองตอบอัตโนมัติแบบโทษสิ่งเร้าภายนอกตะพึดเสมอ
ดังนั้น อย่าไปรังเกียจสามีคุณ นี่เป็นโอกาสที่คุณจะปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาไปวัดแล้วนะ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Chartrand, T. L., & Lakin, J. L. (2013). The antecedents and consequences of human behavioral mimicry. Annual Review of Psychology, 64, 285-308. doi:10.1146/annurev-psych-113011-143754
2. Mujica-Parodi LR, Strey HH, Frederick B, Savoy R, Cox D, Botanov Y, Tolkunov D, Rubin D, Weber J. Chemosensory cues to conspecific emotional stress activate amygdala in humans. PLoS One. 2009 Jul 29;4(7):e6415.