แม้จะสูงวัย แต่ก็อย่าหยุดขับรถ
กลับมาเมืองไทยแล้วครับ ขอเริ่มด้วยการตอบจดหมายฉบับเบาๆก่อนนะ
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ขอรายงานว่านับตั้งแต่คุณพ่อกลับมาจากพบคุณหมอท่านสบายดี แต่มีปัญหาว่าท่านต้องคว้ากุญแจขับรถออกจากบ้านทุกวัน ทั้งๆที่ท่านเลิกขับไปนานแล้วเพราะตาไม่ดีและสมองช้า พวกลูกห้ามไม่ให้ขับก็ไม่ฟัง อ้างว่าหมอสันต์บอกให้ขับรถ คุณหมอคะ คุณพ่อ 68 แล้วนะ ความจำของท่านก็มาๆขาดๆ ดุลพินิจและการตัดสินใจของท่านก็ไม่ค่อยดี ลูกๆอยากให้ท่านเลิกขับรถ คุณหมอช่วยพูดกับท่านได้ไหมคะ
กราบขอบพระคุณ
.........................................................
ตอบครับ
เป็นความจริงที่ว่าหมอสันต์เชียร์ให้ผู้สูงอายุทุกคนที่เคยขับรถ ให้ขับรถต่อไป ที่กลัวโน่นกลัวนี่จนไม่กล้าขับหรือเลิกไปแล้ว หมอสันต์ก็ลุ้นให้กลับมาขับรถใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำตามหลักฐานวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ได้แนะนำซี้ซั้ว กล่าวคือ
ในแง่ของสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ไม่ยอมเลิกขับรถจะมีสุขภาพดีกว่าผู้ที่เลิกขับรถ หลักฐานทำนองนี้มีการตีพิมพ์กันเป็นระยะๆเรื่อยมา แม้เมื่อเดือนมค.ปีนี้เองก็ได้มีผู้ทบทวนงานวิจัยถึงสุขภาพของคนสูงอายุกับการขับรถรวม 16 งานวิจัยและตีพิมพ์ผลไว้ในวารสารสมาคมชราวิทยาอเมริกา (AGS) ซึ่งสรุปได้ว่าการหยุดขับรถทำให้ผู้สูงอายุซึมเศร้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวและสุขภาพกายถดถอยมากกว่าเมื่อเทียบกับคนเพศและวัยเดียวกันที่มีสุขภาพดีเท่ากันแต่ยังไม่ยอมเลิกขับรถ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าคนที่เลิกขับรถมีโอกาสตายใน 3-5 ปีหลังจากเลิกขับมากกว่าคนเพศและวัยเดียวกันสุขภาพเท่ากันที่ไม่ยอมเลิกขับ
การเลิกขับรถเนี่ยมันเป็นวงจรสาละวันเตี้ยลงนะครับ คือผู้สูงอายุพอรู้สึกว่าตาตัวเองชักไม่ค่อยดี เชื่องช้า ความจำเสื่อม ก็มักจะคิดว่าอย่ากระนั้นเลย เลิกขับรถดีกว่า แต่ผลก็คือพอเลิกขับรถ สมองยิ่งช้าลง ยิ่งเสื่อมมาก แถมได้โรคซึมเศร้าเพิ่มมาอีกโรคหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเลิกขับรถเป็นการแยกตัวออกจากสังคมนอกบ้าน หันมาเจ่าอยู่แต่กับหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอไอแพด ดังนั้นก่อนจะเลิกขับรถต้องชั่งน้ำหนักให้ดี การขับรถมันมีมนต์ขลังของมันเองเหมือนกันนะ มันเป็นการบริหารจัดการ เป็นขั้นตอนปฏิบัติการ เป็นการควบคุมบังคับบัญชาซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกตัวตนแก่ผู้ขับว่าเออ ข้านี้ก็แน่เหมือนกันนะโว้ย การยอมรับว่าตัวเองขับรถไม่ได้แล้วมันเป็นการสูญเสียตัวตนหรือกำพืด (identity) ของผู้สูงอายุไปมากพอควร
คุณอาจจะแย้งว่า
“แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ คุณหมอสันต์ การจะให้คนสูงอายุขับรถเพื่อสุขภาพของตัวเอง แล้วให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นรับความเสี่ยงกับความเชื่องช้าฝ้าฟางของผู้สูงอายุ มันจะยุติธรรมไหมคะ”
น้าน ว่าเข้าไปน่าน..น ไปเอาที่ไหนมาพูดว่าคนแก่ อุ๊บ ขอโทษ ผู้สูงอายุ ขับรถแล้วจะไปชนชาวบ้านเขาเละเทะ สถิติที่ดีที่สุดคือขององค์การความปลอดภัยยวดยานทางหลวงแห่งชาติอเมริกัน (NHTSA) และสถาบันความปลอดภัยทางหลวง (IHS) รายงานปีแล้วปีเล่าก็ยังให้ผลเหมือนเดิม คือช่วงอายุของคนขับที่เกิดอุบัติเหตุทั้งแก่ตนแก่ท่านน้อยที่สุดคือช่วงอายุ 64-69 ปีนะครับ ขณะที่ช่วงอายุที่อันตรายที่สุดคือ 15-20 ปี สถิติในยุโรปและเอเชียก็เหมือนกัน คือยิ่งอายุน้อย ยิ่งอันตราย คือกลุ่มคนอายุ 15-20 ปีนี้ในอเมริกามี 8.5% แต่อุบัติเหตุถึงตายเป็นฝีมือของคนวัยนี้ตั้ง 12% ขณะที่ผู้สูงอายุ 65 – 69 มีจำนวน 3.7% แต่อุบัติเหตุถึงตายบนทางหลวงเป็นฝีมือคนกลุ่มนี้เพียง 3.2% ความจริงเรื่องที่ว่าคนอายุน้อยอันตรายกว่านี้บริษัทรถเช่าเขารู้มานานแล้ว วิธีที่จะทำธุรกิจของเขาโดยไม่เจ๊งก็คือบังคับให้ลูกค้ายอมรับโดยติ๊กในใบสมัครก่อนว่าอายุเกิน 25 ปีแล้ว ถ้ายังไม่เกินเขาก็จะโยกโย้อ้างว่ารถหมดบ้าง รถสะเป็คที่คุณอยากได้ไม่มีบ้าง เพราะการให้คนอายุน้อยเช่ารถดีๆของเขามันมีโอกาสเสียมากกว่าได้ ถ้าเขายอมให้เช่าก็เป็นการยอมแบบขึ้นเบี้ยประกันไปให้สูงล่วงหน้าไว้รอก่อนแล้ว
ดังนั้นปล่อยคุณพ่อเขาไปเถอะ สิ่งที่คุณลูกๆจะช่วยได้ก็คือถ้าเห็นว่าท่านจะห้าวเกินไปก็แค่คอยดึงๆไม่ให้ไปขับในภาวะวิสัยที่เสี่ยงมากๆ เช่นไม่ขับกลางคืนกรณีที่ตาไม่ดีแล้ว หรือไม่ขับในถนนที่ยวดยานมากคับขันฉวัดเฉวียน เป็นต้น ถ้ามีข้อจำกัดจากสภาพร่างกายเช่นคอเคล็ดคอแข็ง ก็ควรจะถือเป็นโอกาสยุให้ท่านไปออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้อคอเสียก่อน หรือจะเปิดดูการบริหารคอในบล็อกของหมอสันต์แล้วให้ท่านทำตามก็ได้
ที่ผมเป็นห่วงกลับเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขับรถได้แล้วจริงๆเสียมากกว่า แบบใจสู้แต่สังขารไปไม่ไหวแล้ว ในกรณีเช่นนั้นลูกหลานต้องหาทางชดเชยให้ท่านไม่สูญเสียการสังคมและพบปะผู้คนนอกบ้านทุกวิถีทาง จะด้วยการผลัดเวรกันพาออก หรือเช่าแท็กซี่เจ้าประจำ หรือจ้างผู้ดูแลพาขึ้นรถเมล์ก็แล้วแต่ ขออย่างเดียว อย่าปล่อยให้ท่านเหงาเศร้าซึมอยู่กับหน้าจอในบ้านเท่านั้นแหละ เพราะความซึมเศร้าสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม และเมื่อคุณพ่อคุณแม่สมองเสื่อม คุณลูกคุณหลานทั้งหลายก็จะแจ๊คพอตเสียยิ่งกว่าถูกหวยซะอีก เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่เคยว่าง่ายเจี๋ยมเจี้ยมมีสิทธิเท่ากับศูนย์นั้น ได้กลายเป็นพญาอะไรก็ไม่รู้ที่มีฤทธิเดชชนิดคุณลูกจะต้องตำหนิตัวเองว่า..รู้งี้ตอนนั้นเชื่อหมอสันต์ซะก็ดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Chihuri S, Meilenz TJ. Et al. Driving Cessation and Health Outcomes in Older Adults. The Journal of the American Geriatrics Society published online Feb 2016, DOI: 10.1111/jgs.13931 accessed on March 4th 2016 at http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jgs.13931/full
2. National Highway Traffic Safety Administration. (2013, December). Traffic safety for older people — 5-year plan (Report No. DOT HS 811 837). Washington, DC: Author. Available at www.nhtsa.gov/staticfiles/nti/older_drivers/pdf/Older_People_811873.pdf
3. Dugan, E., Varton, K. N., Coyle, C., & Lee, C. M. (2013). U.S. policies to enhance older driver safety: a systematic review of the literature. Journal of Aging & Social Policy, 25, 335–352.
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ขอรายงานว่านับตั้งแต่คุณพ่อกลับมาจากพบคุณหมอท่านสบายดี แต่มีปัญหาว่าท่านต้องคว้ากุญแจขับรถออกจากบ้านทุกวัน ทั้งๆที่ท่านเลิกขับไปนานแล้วเพราะตาไม่ดีและสมองช้า พวกลูกห้ามไม่ให้ขับก็ไม่ฟัง อ้างว่าหมอสันต์บอกให้ขับรถ คุณหมอคะ คุณพ่อ 68 แล้วนะ ความจำของท่านก็มาๆขาดๆ ดุลพินิจและการตัดสินใจของท่านก็ไม่ค่อยดี ลูกๆอยากให้ท่านเลิกขับรถ คุณหมอช่วยพูดกับท่านได้ไหมคะ
กราบขอบพระคุณ
.........................................................
ตอบครับ
เป็นความจริงที่ว่าหมอสันต์เชียร์ให้ผู้สูงอายุทุกคนที่เคยขับรถ ให้ขับรถต่อไป ที่กลัวโน่นกลัวนี่จนไม่กล้าขับหรือเลิกไปแล้ว หมอสันต์ก็ลุ้นให้กลับมาขับรถใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำตามหลักฐานวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ได้แนะนำซี้ซั้ว กล่าวคือ
คุณจรูญ นายอำเภอวัดโบสถ์คนแรก อายุ 100 ปี..ยังขับรถอยู่ (ขอบคุณภาพจาก S! News) |
ในแง่ของสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ไม่ยอมเลิกขับรถจะมีสุขภาพดีกว่าผู้ที่เลิกขับรถ หลักฐานทำนองนี้มีการตีพิมพ์กันเป็นระยะๆเรื่อยมา แม้เมื่อเดือนมค.ปีนี้เองก็ได้มีผู้ทบทวนงานวิจัยถึงสุขภาพของคนสูงอายุกับการขับรถรวม 16 งานวิจัยและตีพิมพ์ผลไว้ในวารสารสมาคมชราวิทยาอเมริกา (AGS) ซึ่งสรุปได้ว่าการหยุดขับรถทำให้ผู้สูงอายุซึมเศร้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวและสุขภาพกายถดถอยมากกว่าเมื่อเทียบกับคนเพศและวัยเดียวกันที่มีสุขภาพดีเท่ากันแต่ยังไม่ยอมเลิกขับรถ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าคนที่เลิกขับรถมีโอกาสตายใน 3-5 ปีหลังจากเลิกขับมากกว่าคนเพศและวัยเดียวกันสุขภาพเท่ากันที่ไม่ยอมเลิกขับ
การเลิกขับรถเนี่ยมันเป็นวงจรสาละวันเตี้ยลงนะครับ คือผู้สูงอายุพอรู้สึกว่าตาตัวเองชักไม่ค่อยดี เชื่องช้า ความจำเสื่อม ก็มักจะคิดว่าอย่ากระนั้นเลย เลิกขับรถดีกว่า แต่ผลก็คือพอเลิกขับรถ สมองยิ่งช้าลง ยิ่งเสื่อมมาก แถมได้โรคซึมเศร้าเพิ่มมาอีกโรคหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเลิกขับรถเป็นการแยกตัวออกจากสังคมนอกบ้าน หันมาเจ่าอยู่แต่กับหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอไอแพด ดังนั้นก่อนจะเลิกขับรถต้องชั่งน้ำหนักให้ดี การขับรถมันมีมนต์ขลังของมันเองเหมือนกันนะ มันเป็นการบริหารจัดการ เป็นขั้นตอนปฏิบัติการ เป็นการควบคุมบังคับบัญชาซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกตัวตนแก่ผู้ขับว่าเออ ข้านี้ก็แน่เหมือนกันนะโว้ย การยอมรับว่าตัวเองขับรถไม่ได้แล้วมันเป็นการสูญเสียตัวตนหรือกำพืด (identity) ของผู้สูงอายุไปมากพอควร
คุณอาจจะแย้งว่า
“แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ คุณหมอสันต์ การจะให้คนสูงอายุขับรถเพื่อสุขภาพของตัวเอง แล้วให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นรับความเสี่ยงกับความเชื่องช้าฝ้าฟางของผู้สูงอายุ มันจะยุติธรรมไหมคะ”
น้าน ว่าเข้าไปน่าน..น ไปเอาที่ไหนมาพูดว่าคนแก่ อุ๊บ ขอโทษ ผู้สูงอายุ ขับรถแล้วจะไปชนชาวบ้านเขาเละเทะ สถิติที่ดีที่สุดคือขององค์การความปลอดภัยยวดยานทางหลวงแห่งชาติอเมริกัน (NHTSA) และสถาบันความปลอดภัยทางหลวง (IHS) รายงานปีแล้วปีเล่าก็ยังให้ผลเหมือนเดิม คือช่วงอายุของคนขับที่เกิดอุบัติเหตุทั้งแก่ตนแก่ท่านน้อยที่สุดคือช่วงอายุ 64-69 ปีนะครับ ขณะที่ช่วงอายุที่อันตรายที่สุดคือ 15-20 ปี สถิติในยุโรปและเอเชียก็เหมือนกัน คือยิ่งอายุน้อย ยิ่งอันตราย คือกลุ่มคนอายุ 15-20 ปีนี้ในอเมริกามี 8.5% แต่อุบัติเหตุถึงตายเป็นฝีมือของคนวัยนี้ตั้ง 12% ขณะที่ผู้สูงอายุ 65 – 69 มีจำนวน 3.7% แต่อุบัติเหตุถึงตายบนทางหลวงเป็นฝีมือคนกลุ่มนี้เพียง 3.2% ความจริงเรื่องที่ว่าคนอายุน้อยอันตรายกว่านี้บริษัทรถเช่าเขารู้มานานแล้ว วิธีที่จะทำธุรกิจของเขาโดยไม่เจ๊งก็คือบังคับให้ลูกค้ายอมรับโดยติ๊กในใบสมัครก่อนว่าอายุเกิน 25 ปีแล้ว ถ้ายังไม่เกินเขาก็จะโยกโย้อ้างว่ารถหมดบ้าง รถสะเป็คที่คุณอยากได้ไม่มีบ้าง เพราะการให้คนอายุน้อยเช่ารถดีๆของเขามันมีโอกาสเสียมากกว่าได้ ถ้าเขายอมให้เช่าก็เป็นการยอมแบบขึ้นเบี้ยประกันไปให้สูงล่วงหน้าไว้รอก่อนแล้ว
ดังนั้นปล่อยคุณพ่อเขาไปเถอะ สิ่งที่คุณลูกๆจะช่วยได้ก็คือถ้าเห็นว่าท่านจะห้าวเกินไปก็แค่คอยดึงๆไม่ให้ไปขับในภาวะวิสัยที่เสี่ยงมากๆ เช่นไม่ขับกลางคืนกรณีที่ตาไม่ดีแล้ว หรือไม่ขับในถนนที่ยวดยานมากคับขันฉวัดเฉวียน เป็นต้น ถ้ามีข้อจำกัดจากสภาพร่างกายเช่นคอเคล็ดคอแข็ง ก็ควรจะถือเป็นโอกาสยุให้ท่านไปออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้อคอเสียก่อน หรือจะเปิดดูการบริหารคอในบล็อกของหมอสันต์แล้วให้ท่านทำตามก็ได้
ที่ผมเป็นห่วงกลับเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขับรถได้แล้วจริงๆเสียมากกว่า แบบใจสู้แต่สังขารไปไม่ไหวแล้ว ในกรณีเช่นนั้นลูกหลานต้องหาทางชดเชยให้ท่านไม่สูญเสียการสังคมและพบปะผู้คนนอกบ้านทุกวิถีทาง จะด้วยการผลัดเวรกันพาออก หรือเช่าแท็กซี่เจ้าประจำ หรือจ้างผู้ดูแลพาขึ้นรถเมล์ก็แล้วแต่ ขออย่างเดียว อย่าปล่อยให้ท่านเหงาเศร้าซึมอยู่กับหน้าจอในบ้านเท่านั้นแหละ เพราะความซึมเศร้าสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม และเมื่อคุณพ่อคุณแม่สมองเสื่อม คุณลูกคุณหลานทั้งหลายก็จะแจ๊คพอตเสียยิ่งกว่าถูกหวยซะอีก เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่เคยว่าง่ายเจี๋ยมเจี้ยมมีสิทธิเท่ากับศูนย์นั้น ได้กลายเป็นพญาอะไรก็ไม่รู้ที่มีฤทธิเดชชนิดคุณลูกจะต้องตำหนิตัวเองว่า..รู้งี้ตอนนั้นเชื่อหมอสันต์ซะก็ดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Chihuri S, Meilenz TJ. Et al. Driving Cessation and Health Outcomes in Older Adults. The Journal of the American Geriatrics Society published online Feb 2016, DOI: 10.1111/jgs.13931 accessed on March 4th 2016 at http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jgs.13931/full
2. National Highway Traffic Safety Administration. (2013, December). Traffic safety for older people — 5-year plan (Report No. DOT HS 811 837). Washington, DC: Author. Available at www.nhtsa.gov/staticfiles/nti/older_drivers/pdf/Older_People_811873.pdf
3. Dugan, E., Varton, K. N., Coyle, C., & Lee, C. M. (2013). U.S. policies to enhance older driver safety: a systematic review of the literature. Journal of Aging & Social Policy, 25, 335–352.