จัดการความเครียด.. เกาให้ถูกที่คัน
เรียนคุณหมอสันต์
ผมเป็นแฟนคุณหมอแบบแอบอ่านมาหลายปี ตั้งแต่ปีแรกที่คุณหมอเริ่มเขียนบล็อก ตั้งแต่ยังอยู่อเมริกา ผมอยู่ที่นั่น 15 ปี กลับมาอยู่บ้านเราได้ 2 ปีแล้ว คุณหมอเป็นความบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมอยากกลับเมืองไทย ตอนนี้ผมอายุ 48 ครับ พอมีเงินเก็บบ้าง ประกอบกับไม่ชอบกรุงเทพ ก็เลยไปตั้งหลักอยู่บ้านนอก ที่ตำบล.. อำเภอ.. จังหวัด... ไปอยู่แบบชาวบ้านทำไร่ทำสวน แนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่หวังรวย แต่หวังชีวิตที่เป็นสุขแบบพอเพียง แต่พออยู่ชนบทได้ไม่ถึงปี ผมก็สรุปได้ด้วยความประหลาดใจว่าทำไม คนไทยเราในชนบทจึงเป็นคนขี้โลภ เห็นแก่ได้ มีความคดในข้องอในกระดูก โกงได้เป็นโกง หลอกได้เป็นหลอก แบบว่าหน้าไหว้หลังหลอก ขี้เกียจ ตัวเองไม่ทำ พอคนอื่นเขาทำ ก็ไปขโมยเขา เอาประโยชน์เข้าตัวเข้าว่า นิดเดียวก็เอา ส่วนรวมจะฉิบหายไม่เป็นไร สังคมก็ตกต่ำ เอาแต่แข่งขันอวดร่ำอวดรวยและเอาหน้ากันอย่างไร้สาระ ผมเสียเงินไปมากมายกับคนไม่ดี ผมไม่เสียดายเงินหรอกครับเพราะอย่างที่บอกแล้วผมพอมีเงินเก็บ แบ่งปันให้ทานไปบ้างผมไม่เดือดร้อน แต่มันเสียความรู้สึกว่าคนไทยเราเป็นมนุษย์พันธุ์อย่างนี้เองหรือ ที่ผมพูดนี่คุณหมอสันต์เชื่อไหมครับ ผมนึกปลงคิดๆอยู่ว่าหรือผมจะกลับไปอยู่กรุงเทพ อยู่หมู่บ้านจัดสรรแบบต่างคนต่างอยู่ ผมเพิ่งเข้าใจว่าทำไมคนกรุงเทพเขาจึงอยู่กันอย่างนั้น ก็เพราะคนไทยเราถ้าไม่รู้จักกันท่าทางมันจะดีกว่า เพราะรู้จักกันแล้วมันมีแต่เสียกับเสียอย่างนี้นี่เอง
เมื่อเข้าพรรษาที่ผ่านมาผมไปอยู่วัด ... จังหวัด... ตลอดสามเดือน ไม่ถึงกับบวชหรอกครับ เพราะยังไม่แน่ใจ แต่ไปอยู่แบบผ้าขาว เพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม ก็เอาอีกแล้ว คุณหมอสันต์ครับ ผมคิดไม่ถึงจริงๆว่าคนที่มาเป็นนักปฏิบัติธรรมกัน ผมเพิ่งมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนหาเรื่อง เรื่องมาก อยู่ไม่สุข แบบว่ายุแยงตะแคงรั่ว เอาชนะคะคาน มีแต่ความยึดถือรุนแรง แค่วิจารณ์พระที่เขาเคารพนิดเดียวก็ทะเลาะไม่มองหน้ากันแล้ว แล้วก็แน่นอน ขี้ขโมย หรือจะเรียกให้เบาหน่อยก็คือมักง่ายไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น ผมผิดหวัง แต่ก็ไม่มาก แต่ว่าเป็นงงมากกว่า นึกว่าเข้าวัดจะพบกัลยาณมิตรที่ช่วยพากันไปสู่ความหลุดพ้น และพบความสงบของจิตใจ ที่ไหนได้ พอออกพรรษากลับมาอยู่คนเดียวที่ไร่ได้ ผมกลับโล่งใจกว่าอยู่ในวัดเสียอีก แต่คราวนี้ผมทำรั้วรอบไร่ เลี้ยงหมาอัลเซเซี่ยน ไม่ต้อนรับใครง่ายๆอีกแล้ว ผมรู้ว่าอยู่บ้านนอกตัวคนเดียวโดดๆไม่สื่อสัมพันธ์กับใครแบบนี้ก็ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเองครับ
ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าคนไทยเรามีพันธุกรรมเป็นแบบนี้หรือเปล่าครับ มันเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของเราใช่ไหม ถ้าใช่เราจะแก้ไขมันอย่างไร แล้วแนวคิดของผมที่จะหาที่อยู่บ้านจัดสรรชานเมืองกรุงเทพอยู่แบบว่าตัวคนเดียวไม่ยุ่งกับใครเหมือนชาวบ้านจัดสรรคนอื่นๆ คุณหมอสันต์ว่าเข้าท่าดีไหมครับ
................................................................
ตอบครับ
พูดภาษาแบบบ้านๆก็คือว่า คุณเนี่ยใกล้บ้าแล้วนะเนี่ย แต่ผมเข้าใจคุณนะ จดหมายของคุณทำให้ผมนึกถึงเพลงที่แต่งให้กับจิตรกรบ้าคนหนึ่งซึ่งจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายว่า
“...Shadows on the hills.
Sketch the trees and the daffodils.
Catch the breeze and the winter chills.
In colors on the snowy linen land.
Now I understand,
What you tried to say to me.
And how you suffered for your sanity.
And how you tried to set them free
But they would not listen..”
ซึ่งขอแปลแบบลุ่นๆว่า
“..เห็นเงาทาบลงที่ไหล่เขา
เอาดินสอร่างเป็นภาพต้นไม้และดอกแดฟโฟดิลขึ้นมาก่อน
จับเอาสายลมเอื่อยและความหนาวเหน็บของหน้าหนาวมาเป็นอารมณ์ของภาพ
แล้วใช้สีสันแสดงมันลงไปบนพื้นที่ขาวดุจปุยหิมะของผ้าใบ
ตอนนี้ผมเข้าใจละ
ว่า..คุณพยายามบอกอะไรแก่ผม
และว่า..คุณทุกข์ทนหม่นไหม้กับความคิดที่คุณคุมมันไม่ได้อย่างไร
และว่า..คุณพยายามปลดแอกใจของคุณจากการกลุ้มรุมของความคิดเหล่านั้นอย่างไร..
แต่ว่า..มันไม่ฟังคุณ..”
นั่นเป็นแค่เพลงที่ผมคิดถึงแค่นั้นเอง ไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากมาย มาตอบคำถามของคุณกันดีกว่า
1.. ถามว่าความขี้โกงและขี้เกียจเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของคนไทยใช่ไหม ตอบว่า “ไม่ใช่หรอกครับ” เพราะลักษณะประจำพันธ์จะพบได้ก็แต่ในพันธุ์แท้ (pure breed) เท่านั้น อย่างหมาอัลเซเชียนที่คุณเลี้ยงเนี่ยเป็นพันธุ์แท้ มันจะฉลาดประมาณนี้เสมอ มีจิตประสาทที่คมและนิ่งประมาณนี้เสมอ เมื่อบอกให้มันนั่งมันก็นั่งอยู่นิ่งๆแม้จะได้ยินเสียงปืนปึงปังมันก็ยังนั่งนิ่งๆ นี่เป็นลักษณะประจำพันธ์ คือเป็นเหมือนกันทุกตัว ขณะที่หมาบางแก้วที่หน่วยตำรวจ K-9 พยายามปรับปรุงพันธ์ขึ้นมาก็เป็นพันธ์แท้ แต่ลักษณะประจำพันธ์ของมันก็คือมันไม่ฉลาด และจิตประสาทมันไม่นิ่ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ได้ยินเสียงปืนปังบางตัวเฉยได้แต่บางตัววิ่งหนีหางจุกตูด บางแก้วจึงไม่มีวันเป็นหมาตำรวจได้เว้นเสียแต่ต้องลงทุนผสมปรับปรุงพันธ์ต่อไปอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยชั่วอายุ แต่มนุษย์หรือคนเนี่ยไม่มีพันธุ์แท้ คือทุกคนเป็น “พันธ์ทาง” คือผสมปนเปกันมามั่ว ไม่มีการคัดหรือปรับปรุงบำรุงพันธุ์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองพวกนาซีพยายามเพาะพันธ์มนุษย์พันธุ์แท้ขึ้นมา แต่ก็ไปไม่รอด เพราะคนเพาะโดนเก็บเสียก่อน ดังนั้นมนุษย์จึงไม่มีลักษณะประจำพันธุ์ เพราะไม่มีมนุษย์พันธุ์แท้ครับ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาจึงล้วนมีชั่วดีถี่ห่างปะปนกันไป บางสังคมอาจมีวัตรปฏิบัติบางอย่างที่ทำตามกันมาจนกลายเป็นสิ่งพบเห็นได้บ่อยๆ แต่ไม่ใช่ลักษณะประจำพันธุ์ครับ
2.. ถามว่าที่คุณเล่าว่าอยู่ชนบทมันแย่มากอย่างโน้นอย่างนี้ ผมเชื่อคุณไหม ตอบว่า “เชื่อสิครับ” เพราะโคตรเหง้าศักราชของผมก็มาจากชนบททำไมผมจะไม่ทราบ ผมยอมรับว่าในด้านหนึ่ง ชนบทมันอยู่ยาก โดยเฉพาะผู้หญิงเขาจะไม่อยากอยู่กันเลย ในฝรั่งเศสและญี่ปุ่นซึ่งรัฐบาลออกเงินอุ้มชูชาวนาชาวไร่ มีคนยังยึดอาชีพทำนาทำไร่กันอยู่มากพอควร แต่ปัญหาก็คือเขาหาเมียไม่ได้ครับ ต้องประกาศหาเมียทางหนังสือพิมพ์กันทุกวัน บางคนได้เมียมาดีใจ แต่เมียอยู่ได้สามวันก็เผ่นแน่บ
เขียนถึงตอนนี้ขอเล่าโจ๊กเรื่องจริงให้ฟังเรื่องหนึ่งนะ หลายปีมาแล้วคุณแม่ของเพื่อนผมท่านอายุตอนนั้นประมาณ 65 ปี ท่านเกษียณจากการเป็นนักวิชาชีพเนี่ยแหละ ท่านก็ไปซื้อที่ทำไร่ทำสวนยี่สิบกว่าไร่อยู่ที่เพชรบูรณ์ ซื้อแทรกเตอร์ จ้างคนเฝ้าสวน ตัวท่านเองไปอบรมที่มหาลัยเกษตร เรียนวิชาเลี้ยงห่าน แล้วท่านก็ซื้อลูกห่านจำนวนมากไปสอนให้คนเฝ้าไร่เลี้ยง ซื้ออาหารไว้ให้ ตัวเองก็วิ่งรอก อยู่กรุงเทพบ้าน ไปเยี่ยมหลานที่เมืองนอกบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านไปเยี่ยมไร่ ก่อนถึงไร่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ป่านฉะนี้พวกลูกห่านคงจะโตกันเต็มที่แล้วและคงจะร้องกันระงม แต่พอขับรถเข้าไปในไร่ก็แปลกใจที่เงียบเชียบ ไม่มีเสียงหรือวี่แววการเคลื่อนไหวใดๆ บ้านคนเฝ้าก็ปิดเงียบ เห็นรถแทรกเตอร์จอดอยู่กลางลาน แต่แปลกใจอยู่ครามครันว่าทำไมคราวนี้รถแทรกเตอร์มันดูเตี้ยกว่าปกติเหมือนจมอยู่ในกอหญ้า จึงเปิดประตูรถลงไปดู จึงพบว่า ไอ้หยา.. ล้อทั้งสี่ของแทรกเตอร์ถูกถอดออกไปเกลี้ยงเสียแล้ว เหลือแต่ตัวรถและบ้านร้างไว้ให้เจ้าของดูต่างหน้า
(แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนมีสองด้าน ชนบทมีด้านที่ไม่น่าอยู่ แต่ก็มีด้านที่น่าอยู่ ซึ่งผมจะไม่พูดถึงวันนี้นะ เพราะไม่อยากทะเลาะกับคุณ
3. การที่คุณไปวัด ไปเจอญาติธรรมที่ทำตัวเป็นญาติสนิทมากไปหน่อยจนคุณรับไม่ได้ อันนี้คุณต้องเข้าใจชีวิตให้ถูกต้องนะครับ เวลาคุณไปโรงพยาบาลคุณคงไม่คาดหมายว่าจะได้เห็นนางงามหรือชายงามเดินกันขวักไขว่โรงพยาบาลนะครับ เพราะจะมีก็แต่คนแก่ไอโขลกๆหรือคนป่วยเท่านั้นที่เขาไปโรงพยาบาลกัน คนสุขภาพดีๆใครเขาจะไปโรงพยาบาลกันละครับ ฉันใดก็ฉันเพล คนไปวัดก็เพราะเขาไม่มีความสุขทางใจ เขาไปหาวิธีทำใจให้สงบ หรือพูดง่ายๆว่าเขาไปวัดก็เพราะเขายังไม่บรรลุธรรม แต่คุณมาโวยวายว่าทำไมในวัดมีแต่คนไม่บรรลุธรรมวะ โธ่.. ถ้าเขาบรรลุธรรมแล้วเขาจะมาวัดกันทำไม ถูกแมะ
4. ถามว่าวิธีแก้ปัญหาคนไทยขี้ฉ้อทำอย่างไร แหะ แหะ แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย ผมรู้แต่วิธีรักษาโรค ความขี้ฉ้อไม่ใช่โรค ดังนั้นผมไม่รู้วิธีรักษาครับ ผมรู้แต่ว่านิสัยที่คล้ายๆกันของผู้คนในสังคมใด เป็นสิ่งที่ผู้คนเขาปฏิบัติแบบนั้นกันมานานจนกลายเป็นประเพณีไป เวลาเราอยู่ในสังคมนั้นเราอาจไม่เห็น แต่คนที่มาจากสังคมอื่นมาสัมผัสเข้าเขาจะมองเห็นโดยทันที พูดถึงพฤติกรรมขี้ฉ้อของคนไทยนี้ ในอดีตอันไกลโพ้นก็มีบันทึกไว้แล้วนะครับ ยกตัวอย่างเช่น.
คู่มือค้าขายที่ตีพิมพ์ใน Phylosophical Magazine ในอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1805 ได้ออกคำแนะนำวิธีเดินเรือค้าขายในทะเลจีนและคาบสมุทรอินเดีย และมีอยู่บทหนึ่งบอกวิธีติดสินบนเจ้าหน้าที่สยามเพื่อให้ได้ใบอนุญาตค้าขายด้วย แสดงว่าการรับสินบนของเจ้าหน้าที่สยามนี้ เป็นเรื่องโดดเด่นมากใช่ไหมครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในบันทึกของจอร์จ ฟินเลย์สัน (George Finlayson) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดตามจอหน์ ครอว์ฟอร์ดเข้ามาทำสัญญาค้าขายไทยอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1822 (สมัยร.2) ได้บันทึกบอกเหตุความล้มเหลวที่ไม่สามารถเจรจาทำสัญญากันได้ไว้สองอย่าง คือ
(1) ความล้าหลังไม่ศิวิไลซ์ของสยาม
(2) ความงก (cupidity) ของเจ้าหน้าที่สยาม
ซึ่งเขาได้พรรณนาไว้ว่า
“..อีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากความไม่ศิวิไลซ์ของสยามก็คือความงก หรือความตะกละ (greed) เจ้าหน้าที่สยามนั้นจดจ่อเฝ้ารอเหลือเกินกับของกำนัลมีค่าจากอินเดียและคอยจ้องเอาของกำนัลจากคณะครอว์ฟอร์ดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในวังเองก็เรียกร้องเอาแต่ของขวัญมีค่าบ่อยๆและไม่หยุดหย่อน ความตะกละทำให้รัฐบาลสยามตาบอดมองไม่เห็นว่าการค้าเสรีจะนำรายได้มาสู่รัฐบาลอย่างไร....”
พูดถึงสิ่งที่เตะตาฝรั่งยุคโบราณเมื่อแรกเห็นสังคมไทย ยังมีอีกสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง คือนิสัยสอดรู้สอดเห็น อังรี มูโอต์ (Henry Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาสำรวจป่าเมืองไทยและลาวเมื่อปี ค.ศ. 1858 (สมัยร.4) ได้เขียนบันทึกเล่าไว้เมื่อเขาไปขึ้นฝั่งที่เมืองจันทรบุรีว่า
“... คนไทยเป็นคนชอบสอดรู้สอดเห็น เพียงผมออกเดินไปตามถนนเพื่อไปบ้านผู้ใหญ่บ้านได้ไม่นาน ข่าวฝรั่งตัวขาวๆใหญ่ๆกับหมาตัวเล็กก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว มีผู้คนมาเดินสองข้างทางบ้าง เตินตามบ้างจนคับคั่งถนนเหมือนมีขบวนแห่ บ้างก็มาจ้องหน้าพลางวิ่งถอยพลาง เมื่อไปถึงบ้านผู้ใหญ่ เขาชวนให้ขึ้นไปนั่งบนบ้าน พวกคนไทยอยากรู้เหล่านั้นก็ตามมามุงโผล่หน้าดูทางหน้าต่างสลอนไปหมด บ้างก็ปีนขึ้นไปบนหลังคา แหวกหญ้าคาที่ใช้มุงหลังคาดูผมคุยกับผู้ใหญ่บ้าน มีคนขึ้นไปบนหลังคามากหลายคน จนขื่อไม้ไผ่ทานน้ำหนักไม่ได้พังครืนลงมาขณะที่เรานั่งคุยกัน มีคนร่วงลงมาจากหลังคาราวยี่สิบคน ในจำนวนนั้นเป็นพระสงฆ์เสียสามรูป..”
เรื่องที่สอง คือนิสัยหัวหมอ วาริงตัน สมิธ (Herbert Warington Smyth) ซึงเดินทางสำรวจทั่วเมืองไทยช่วงปีค.ศ. 1891-1896 (สมัยร.5) ได้เล่าถึงการเดินทางผ่านป่าดงพญาเย็น แวะพักที่หัวงานก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพโคราชช่วงผ่านป่าดงพญาเย็น และการสนทนากับ รอบ รอย วิศวกรใหญ่ชาวสก๊อตผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เขาบันทึกคำบอกเล่าของรอบ รอย ว่า
“คนงานที่นี่มีสามกลุ่มใหญ่คือคนไทย คนลาว (หมายถึงคนที่อยู่ตั้งแต่แก่งคอยขึ้นไปทางอิสาน) และกุลีจีน ในบรรดาทั้งสามกลุ่มนี้ ผมชอบคนลาวมากที่สุด คนจีนนั้นทำงานแบบบ่าวสองนาย คือต้องรออั้งยี่ที่กรุงเทพคอยวินิจฉัยสั่งการซ้ำอีกครั้งหนึ่งจึงจะลงมือทำงานได้ ส่วนคนไทยชอบถือว่าวิธีที่ตัวเองรู้จักเท่านั้นจึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง จะสอนจะสั่งวิธีการใหม่ๆอย่างไรก็ไม่เชื่อ หรือเต็มไปด้วยข้อวิจารณ์เชิงเคลือบแคลงสงสัย ต่างจากคนลาวที่รับรู้และรับคำสั่งอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ความขยันขันแข็งในการทำงานนั้น ไม่ได้แตกต่างกัน..”
5.. ทั้งหลายทั้งปวงที่เราคุยกันไปแล้วข้างต้นนั้น ตอบคำถามของคุณได้แล้วก็จริง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่อง สาระสำคัญคือคุณหงุดหงิดกับผู้คนรอบตัวที่นิสัยไม่ดี แล้วคุณพยายามยุติความหงุดหงิดนั้นด้วยการพยายามหาคำอธิบายหรือแก้ไขต้นเหตุของความหงุดหงิด คือผู้คนที่นิสัยไม่ดีเหล่านั้น ประเด็นของผมคือคุณกำลังเกาไม่ถูกที่คัน ความเครียด เกิดจากมีสิ่งกระตุ้น (stimuli) จากภายนอกมากระตุ้นใจเราก็จริง แต่การแก้ไขไม่ใช่ไปแก้ไขที่สิ่งกระตุ้นที่อยู่นอกตัวเรา หากต้องแก้ไขตรงที่ใจของเราสนองตอบ (response) ต่อสิ่งกระตุ้นนั้นอย่างไร คนอื่นมีพฤติกรรมจัญไรนั่นเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราหงุดหงิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องแรกคุณไม่มีอำนาจอะไรไปจัดการควบคุมบังคับได้หรอก แต่เรื่องที่สองอยู่ในเขตอำนาจที่คุณจัดการได้ ผมแนะนำให้คุณหัดย้อนดู (recall) ความคิดของตัวเอง ความหงุดหงิดก็เป็นความคิดหรือ thought formation อย่างหนึ่ง คุณต้องหัดดูมัน ดูเฉยๆ ดูแบบไม่พิพากษาตัดสินหรือสอนสั่งอะไร ดูให้เห็นให้รู้จัก ดูจนมันฝ่อหายไปเอง นอกจากการหัดย้อนดูความคิดแล้ว คุณต้องหัดดูสภาวะของจิตใจตัวเอง (state of mind) ว่าใจคุณขณะนี้ มันเป็นใจที่ปลอดโปร่งโล่งสบายแหลมคม หรือเป็นใจที่มืดทึบหนักตื้อขุ่นมัว ดูให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปพยายามเปลี่ยนสถานะของจิตใจ เพราะมันเปลี่ยนตัวของมันเองตลอดเวลา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง แต่ในการเกิดมาเป็นคนนี้ หากจะมีเรื่องหนึ่งที่คุณจะต้องทำให้ได้ ผมแนะนำว่าคุณควรจะทำเรื่องนี้แหละ เพราะตรงนี้คือหนทางที่คุณจะหลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากความเครียด ไม่ต้องไปเสาะหาว่าจะไปอยู่ในเมืองดีหรือชนบทดี เพราะอิสรภาพทางใจนั้นไม่อาจถึงด้วยการ “ไป” คุณเดินทางเสาะหาหรือย้ายถิ่นฐานไปกี่ครั้ง คุณก็ไม่มีวันไปถึง คุณต้องฝึกทักษะการย้อนดูความคิดและการดูสถานะจิตใจตัวเอง คุณจึงจะถึงความเป็นอิสระของจิตใจได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. John Crawfurd, Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China (1828; repr.,Kuala Lumpur: Oxford University, 1967), 589-590.
2. Monthly Review, review of The Mission to Siam and Hué, by George Finlayson, January 1826, 40-41
3. Philosophical Magazine (London), ―Some Account of the Trade of Siam,‖ February 1805, 25-26
4. Henry Mouhot. Travels in the central parts of indo-china (siam) Cambodia, and laos,during the year 1858 – 1860. Elebron Calssics Series. 2005. Adamant Media Corporation. ISBN 1-4021-8172-8.
5. Herbert Warington Smyth. Five years in Siam from 1891 to 1896.Reprint from the collection of the University of Michigan Library. Lexington KY, 2012.
ผมเป็นแฟนคุณหมอแบบแอบอ่านมาหลายปี ตั้งแต่ปีแรกที่คุณหมอเริ่มเขียนบล็อก ตั้งแต่ยังอยู่อเมริกา ผมอยู่ที่นั่น 15 ปี กลับมาอยู่บ้านเราได้ 2 ปีแล้ว คุณหมอเป็นความบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมอยากกลับเมืองไทย ตอนนี้ผมอายุ 48 ครับ พอมีเงินเก็บบ้าง ประกอบกับไม่ชอบกรุงเทพ ก็เลยไปตั้งหลักอยู่บ้านนอก ที่ตำบล.. อำเภอ.. จังหวัด... ไปอยู่แบบชาวบ้านทำไร่ทำสวน แนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่หวังรวย แต่หวังชีวิตที่เป็นสุขแบบพอเพียง แต่พออยู่ชนบทได้ไม่ถึงปี ผมก็สรุปได้ด้วยความประหลาดใจว่าทำไม คนไทยเราในชนบทจึงเป็นคนขี้โลภ เห็นแก่ได้ มีความคดในข้องอในกระดูก โกงได้เป็นโกง หลอกได้เป็นหลอก แบบว่าหน้าไหว้หลังหลอก ขี้เกียจ ตัวเองไม่ทำ พอคนอื่นเขาทำ ก็ไปขโมยเขา เอาประโยชน์เข้าตัวเข้าว่า นิดเดียวก็เอา ส่วนรวมจะฉิบหายไม่เป็นไร สังคมก็ตกต่ำ เอาแต่แข่งขันอวดร่ำอวดรวยและเอาหน้ากันอย่างไร้สาระ ผมเสียเงินไปมากมายกับคนไม่ดี ผมไม่เสียดายเงินหรอกครับเพราะอย่างที่บอกแล้วผมพอมีเงินเก็บ แบ่งปันให้ทานไปบ้างผมไม่เดือดร้อน แต่มันเสียความรู้สึกว่าคนไทยเราเป็นมนุษย์พันธุ์อย่างนี้เองหรือ ที่ผมพูดนี่คุณหมอสันต์เชื่อไหมครับ ผมนึกปลงคิดๆอยู่ว่าหรือผมจะกลับไปอยู่กรุงเทพ อยู่หมู่บ้านจัดสรรแบบต่างคนต่างอยู่ ผมเพิ่งเข้าใจว่าทำไมคนกรุงเทพเขาจึงอยู่กันอย่างนั้น ก็เพราะคนไทยเราถ้าไม่รู้จักกันท่าทางมันจะดีกว่า เพราะรู้จักกันแล้วมันมีแต่เสียกับเสียอย่างนี้นี่เอง
เมื่อเข้าพรรษาที่ผ่านมาผมไปอยู่วัด ... จังหวัด... ตลอดสามเดือน ไม่ถึงกับบวชหรอกครับ เพราะยังไม่แน่ใจ แต่ไปอยู่แบบผ้าขาว เพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม ก็เอาอีกแล้ว คุณหมอสันต์ครับ ผมคิดไม่ถึงจริงๆว่าคนที่มาเป็นนักปฏิบัติธรรมกัน ผมเพิ่งมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนหาเรื่อง เรื่องมาก อยู่ไม่สุข แบบว่ายุแยงตะแคงรั่ว เอาชนะคะคาน มีแต่ความยึดถือรุนแรง แค่วิจารณ์พระที่เขาเคารพนิดเดียวก็ทะเลาะไม่มองหน้ากันแล้ว แล้วก็แน่นอน ขี้ขโมย หรือจะเรียกให้เบาหน่อยก็คือมักง่ายไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น ผมผิดหวัง แต่ก็ไม่มาก แต่ว่าเป็นงงมากกว่า นึกว่าเข้าวัดจะพบกัลยาณมิตรที่ช่วยพากันไปสู่ความหลุดพ้น และพบความสงบของจิตใจ ที่ไหนได้ พอออกพรรษากลับมาอยู่คนเดียวที่ไร่ได้ ผมกลับโล่งใจกว่าอยู่ในวัดเสียอีก แต่คราวนี้ผมทำรั้วรอบไร่ เลี้ยงหมาอัลเซเซี่ยน ไม่ต้อนรับใครง่ายๆอีกแล้ว ผมรู้ว่าอยู่บ้านนอกตัวคนเดียวโดดๆไม่สื่อสัมพันธ์กับใครแบบนี้ก็ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเองครับ
ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าคนไทยเรามีพันธุกรรมเป็นแบบนี้หรือเปล่าครับ มันเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของเราใช่ไหม ถ้าใช่เราจะแก้ไขมันอย่างไร แล้วแนวคิดของผมที่จะหาที่อยู่บ้านจัดสรรชานเมืองกรุงเทพอยู่แบบว่าตัวคนเดียวไม่ยุ่งกับใครเหมือนชาวบ้านจัดสรรคนอื่นๆ คุณหมอสันต์ว่าเข้าท่าดีไหมครับ
................................................................
ตอบครับ
พูดภาษาแบบบ้านๆก็คือว่า คุณเนี่ยใกล้บ้าแล้วนะเนี่ย แต่ผมเข้าใจคุณนะ จดหมายของคุณทำให้ผมนึกถึงเพลงที่แต่งให้กับจิตรกรบ้าคนหนึ่งซึ่งจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายว่า
“...Shadows on the hills.
Sketch the trees and the daffodils.
Catch the breeze and the winter chills.
In colors on the snowy linen land.
Now I understand,
What you tried to say to me.
And how you suffered for your sanity.
And how you tried to set them free
But they would not listen..”
ซึ่งขอแปลแบบลุ่นๆว่า
“..เห็นเงาทาบลงที่ไหล่เขา
เอาดินสอร่างเป็นภาพต้นไม้และดอกแดฟโฟดิลขึ้นมาก่อน
จับเอาสายลมเอื่อยและความหนาวเหน็บของหน้าหนาวมาเป็นอารมณ์ของภาพ
แล้วใช้สีสันแสดงมันลงไปบนพื้นที่ขาวดุจปุยหิมะของผ้าใบ
ตอนนี้ผมเข้าใจละ
ว่า..คุณพยายามบอกอะไรแก่ผม
และว่า..คุณทุกข์ทนหม่นไหม้กับความคิดที่คุณคุมมันไม่ได้อย่างไร
และว่า..คุณพยายามปลดแอกใจของคุณจากการกลุ้มรุมของความคิดเหล่านั้นอย่างไร..
แต่ว่า..มันไม่ฟังคุณ..”
นั่นเป็นแค่เพลงที่ผมคิดถึงแค่นั้นเอง ไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากมาย มาตอบคำถามของคุณกันดีกว่า
1.. ถามว่าความขี้โกงและขี้เกียจเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของคนไทยใช่ไหม ตอบว่า “ไม่ใช่หรอกครับ” เพราะลักษณะประจำพันธ์จะพบได้ก็แต่ในพันธุ์แท้ (pure breed) เท่านั้น อย่างหมาอัลเซเชียนที่คุณเลี้ยงเนี่ยเป็นพันธุ์แท้ มันจะฉลาดประมาณนี้เสมอ มีจิตประสาทที่คมและนิ่งประมาณนี้เสมอ เมื่อบอกให้มันนั่งมันก็นั่งอยู่นิ่งๆแม้จะได้ยินเสียงปืนปึงปังมันก็ยังนั่งนิ่งๆ นี่เป็นลักษณะประจำพันธ์ คือเป็นเหมือนกันทุกตัว ขณะที่หมาบางแก้วที่หน่วยตำรวจ K-9 พยายามปรับปรุงพันธ์ขึ้นมาก็เป็นพันธ์แท้ แต่ลักษณะประจำพันธ์ของมันก็คือมันไม่ฉลาด และจิตประสาทมันไม่นิ่ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ได้ยินเสียงปืนปังบางตัวเฉยได้แต่บางตัววิ่งหนีหางจุกตูด บางแก้วจึงไม่มีวันเป็นหมาตำรวจได้เว้นเสียแต่ต้องลงทุนผสมปรับปรุงพันธ์ต่อไปอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยชั่วอายุ แต่มนุษย์หรือคนเนี่ยไม่มีพันธุ์แท้ คือทุกคนเป็น “พันธ์ทาง” คือผสมปนเปกันมามั่ว ไม่มีการคัดหรือปรับปรุงบำรุงพันธุ์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองพวกนาซีพยายามเพาะพันธ์มนุษย์พันธุ์แท้ขึ้นมา แต่ก็ไปไม่รอด เพราะคนเพาะโดนเก็บเสียก่อน ดังนั้นมนุษย์จึงไม่มีลักษณะประจำพันธุ์ เพราะไม่มีมนุษย์พันธุ์แท้ครับ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาจึงล้วนมีชั่วดีถี่ห่างปะปนกันไป บางสังคมอาจมีวัตรปฏิบัติบางอย่างที่ทำตามกันมาจนกลายเป็นสิ่งพบเห็นได้บ่อยๆ แต่ไม่ใช่ลักษณะประจำพันธุ์ครับ
2.. ถามว่าที่คุณเล่าว่าอยู่ชนบทมันแย่มากอย่างโน้นอย่างนี้ ผมเชื่อคุณไหม ตอบว่า “เชื่อสิครับ” เพราะโคตรเหง้าศักราชของผมก็มาจากชนบททำไมผมจะไม่ทราบ ผมยอมรับว่าในด้านหนึ่ง ชนบทมันอยู่ยาก โดยเฉพาะผู้หญิงเขาจะไม่อยากอยู่กันเลย ในฝรั่งเศสและญี่ปุ่นซึ่งรัฐบาลออกเงินอุ้มชูชาวนาชาวไร่ มีคนยังยึดอาชีพทำนาทำไร่กันอยู่มากพอควร แต่ปัญหาก็คือเขาหาเมียไม่ได้ครับ ต้องประกาศหาเมียทางหนังสือพิมพ์กันทุกวัน บางคนได้เมียมาดีใจ แต่เมียอยู่ได้สามวันก็เผ่นแน่บ
เขียนถึงตอนนี้ขอเล่าโจ๊กเรื่องจริงให้ฟังเรื่องหนึ่งนะ หลายปีมาแล้วคุณแม่ของเพื่อนผมท่านอายุตอนนั้นประมาณ 65 ปี ท่านเกษียณจากการเป็นนักวิชาชีพเนี่ยแหละ ท่านก็ไปซื้อที่ทำไร่ทำสวนยี่สิบกว่าไร่อยู่ที่เพชรบูรณ์ ซื้อแทรกเตอร์ จ้างคนเฝ้าสวน ตัวท่านเองไปอบรมที่มหาลัยเกษตร เรียนวิชาเลี้ยงห่าน แล้วท่านก็ซื้อลูกห่านจำนวนมากไปสอนให้คนเฝ้าไร่เลี้ยง ซื้ออาหารไว้ให้ ตัวเองก็วิ่งรอก อยู่กรุงเทพบ้าน ไปเยี่ยมหลานที่เมืองนอกบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านไปเยี่ยมไร่ ก่อนถึงไร่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ป่านฉะนี้พวกลูกห่านคงจะโตกันเต็มที่แล้วและคงจะร้องกันระงม แต่พอขับรถเข้าไปในไร่ก็แปลกใจที่เงียบเชียบ ไม่มีเสียงหรือวี่แววการเคลื่อนไหวใดๆ บ้านคนเฝ้าก็ปิดเงียบ เห็นรถแทรกเตอร์จอดอยู่กลางลาน แต่แปลกใจอยู่ครามครันว่าทำไมคราวนี้รถแทรกเตอร์มันดูเตี้ยกว่าปกติเหมือนจมอยู่ในกอหญ้า จึงเปิดประตูรถลงไปดู จึงพบว่า ไอ้หยา.. ล้อทั้งสี่ของแทรกเตอร์ถูกถอดออกไปเกลี้ยงเสียแล้ว เหลือแต่ตัวรถและบ้านร้างไว้ให้เจ้าของดูต่างหน้า
(แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนมีสองด้าน ชนบทมีด้านที่ไม่น่าอยู่ แต่ก็มีด้านที่น่าอยู่ ซึ่งผมจะไม่พูดถึงวันนี้นะ เพราะไม่อยากทะเลาะกับคุณ
3. การที่คุณไปวัด ไปเจอญาติธรรมที่ทำตัวเป็นญาติสนิทมากไปหน่อยจนคุณรับไม่ได้ อันนี้คุณต้องเข้าใจชีวิตให้ถูกต้องนะครับ เวลาคุณไปโรงพยาบาลคุณคงไม่คาดหมายว่าจะได้เห็นนางงามหรือชายงามเดินกันขวักไขว่โรงพยาบาลนะครับ เพราะจะมีก็แต่คนแก่ไอโขลกๆหรือคนป่วยเท่านั้นที่เขาไปโรงพยาบาลกัน คนสุขภาพดีๆใครเขาจะไปโรงพยาบาลกันละครับ ฉันใดก็ฉันเพล คนไปวัดก็เพราะเขาไม่มีความสุขทางใจ เขาไปหาวิธีทำใจให้สงบ หรือพูดง่ายๆว่าเขาไปวัดก็เพราะเขายังไม่บรรลุธรรม แต่คุณมาโวยวายว่าทำไมในวัดมีแต่คนไม่บรรลุธรรมวะ โธ่.. ถ้าเขาบรรลุธรรมแล้วเขาจะมาวัดกันทำไม ถูกแมะ
4. ถามว่าวิธีแก้ปัญหาคนไทยขี้ฉ้อทำอย่างไร แหะ แหะ แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย ผมรู้แต่วิธีรักษาโรค ความขี้ฉ้อไม่ใช่โรค ดังนั้นผมไม่รู้วิธีรักษาครับ ผมรู้แต่ว่านิสัยที่คล้ายๆกันของผู้คนในสังคมใด เป็นสิ่งที่ผู้คนเขาปฏิบัติแบบนั้นกันมานานจนกลายเป็นประเพณีไป เวลาเราอยู่ในสังคมนั้นเราอาจไม่เห็น แต่คนที่มาจากสังคมอื่นมาสัมผัสเข้าเขาจะมองเห็นโดยทันที พูดถึงพฤติกรรมขี้ฉ้อของคนไทยนี้ ในอดีตอันไกลโพ้นก็มีบันทึกไว้แล้วนะครับ ยกตัวอย่างเช่น.
คู่มือค้าขายที่ตีพิมพ์ใน Phylosophical Magazine ในอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1805 ได้ออกคำแนะนำวิธีเดินเรือค้าขายในทะเลจีนและคาบสมุทรอินเดีย และมีอยู่บทหนึ่งบอกวิธีติดสินบนเจ้าหน้าที่สยามเพื่อให้ได้ใบอนุญาตค้าขายด้วย แสดงว่าการรับสินบนของเจ้าหน้าที่สยามนี้ เป็นเรื่องโดดเด่นมากใช่ไหมครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในบันทึกของจอร์จ ฟินเลย์สัน (George Finlayson) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดตามจอหน์ ครอว์ฟอร์ดเข้ามาทำสัญญาค้าขายไทยอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1822 (สมัยร.2) ได้บันทึกบอกเหตุความล้มเหลวที่ไม่สามารถเจรจาทำสัญญากันได้ไว้สองอย่าง คือ
(1) ความล้าหลังไม่ศิวิไลซ์ของสยาม
(2) ความงก (cupidity) ของเจ้าหน้าที่สยาม
ซึ่งเขาได้พรรณนาไว้ว่า
“..อีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากความไม่ศิวิไลซ์ของสยามก็คือความงก หรือความตะกละ (greed) เจ้าหน้าที่สยามนั้นจดจ่อเฝ้ารอเหลือเกินกับของกำนัลมีค่าจากอินเดียและคอยจ้องเอาของกำนัลจากคณะครอว์ฟอร์ดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในวังเองก็เรียกร้องเอาแต่ของขวัญมีค่าบ่อยๆและไม่หยุดหย่อน ความตะกละทำให้รัฐบาลสยามตาบอดมองไม่เห็นว่าการค้าเสรีจะนำรายได้มาสู่รัฐบาลอย่างไร....”
พูดถึงสิ่งที่เตะตาฝรั่งยุคโบราณเมื่อแรกเห็นสังคมไทย ยังมีอีกสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง คือนิสัยสอดรู้สอดเห็น อังรี มูโอต์ (Henry Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาสำรวจป่าเมืองไทยและลาวเมื่อปี ค.ศ. 1858 (สมัยร.4) ได้เขียนบันทึกเล่าไว้เมื่อเขาไปขึ้นฝั่งที่เมืองจันทรบุรีว่า
“... คนไทยเป็นคนชอบสอดรู้สอดเห็น เพียงผมออกเดินไปตามถนนเพื่อไปบ้านผู้ใหญ่บ้านได้ไม่นาน ข่าวฝรั่งตัวขาวๆใหญ่ๆกับหมาตัวเล็กก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว มีผู้คนมาเดินสองข้างทางบ้าง เตินตามบ้างจนคับคั่งถนนเหมือนมีขบวนแห่ บ้างก็มาจ้องหน้าพลางวิ่งถอยพลาง เมื่อไปถึงบ้านผู้ใหญ่ เขาชวนให้ขึ้นไปนั่งบนบ้าน พวกคนไทยอยากรู้เหล่านั้นก็ตามมามุงโผล่หน้าดูทางหน้าต่างสลอนไปหมด บ้างก็ปีนขึ้นไปบนหลังคา แหวกหญ้าคาที่ใช้มุงหลังคาดูผมคุยกับผู้ใหญ่บ้าน มีคนขึ้นไปบนหลังคามากหลายคน จนขื่อไม้ไผ่ทานน้ำหนักไม่ได้พังครืนลงมาขณะที่เรานั่งคุยกัน มีคนร่วงลงมาจากหลังคาราวยี่สิบคน ในจำนวนนั้นเป็นพระสงฆ์เสียสามรูป..”
เรื่องที่สอง คือนิสัยหัวหมอ วาริงตัน สมิธ (Herbert Warington Smyth) ซึงเดินทางสำรวจทั่วเมืองไทยช่วงปีค.ศ. 1891-1896 (สมัยร.5) ได้เล่าถึงการเดินทางผ่านป่าดงพญาเย็น แวะพักที่หัวงานก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพโคราชช่วงผ่านป่าดงพญาเย็น และการสนทนากับ รอบ รอย วิศวกรใหญ่ชาวสก๊อตผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เขาบันทึกคำบอกเล่าของรอบ รอย ว่า
“คนงานที่นี่มีสามกลุ่มใหญ่คือคนไทย คนลาว (หมายถึงคนที่อยู่ตั้งแต่แก่งคอยขึ้นไปทางอิสาน) และกุลีจีน ในบรรดาทั้งสามกลุ่มนี้ ผมชอบคนลาวมากที่สุด คนจีนนั้นทำงานแบบบ่าวสองนาย คือต้องรออั้งยี่ที่กรุงเทพคอยวินิจฉัยสั่งการซ้ำอีกครั้งหนึ่งจึงจะลงมือทำงานได้ ส่วนคนไทยชอบถือว่าวิธีที่ตัวเองรู้จักเท่านั้นจึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง จะสอนจะสั่งวิธีการใหม่ๆอย่างไรก็ไม่เชื่อ หรือเต็มไปด้วยข้อวิจารณ์เชิงเคลือบแคลงสงสัย ต่างจากคนลาวที่รับรู้และรับคำสั่งอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ความขยันขันแข็งในการทำงานนั้น ไม่ได้แตกต่างกัน..”
5.. ทั้งหลายทั้งปวงที่เราคุยกันไปแล้วข้างต้นนั้น ตอบคำถามของคุณได้แล้วก็จริง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่อง สาระสำคัญคือคุณหงุดหงิดกับผู้คนรอบตัวที่นิสัยไม่ดี แล้วคุณพยายามยุติความหงุดหงิดนั้นด้วยการพยายามหาคำอธิบายหรือแก้ไขต้นเหตุของความหงุดหงิด คือผู้คนที่นิสัยไม่ดีเหล่านั้น ประเด็นของผมคือคุณกำลังเกาไม่ถูกที่คัน ความเครียด เกิดจากมีสิ่งกระตุ้น (stimuli) จากภายนอกมากระตุ้นใจเราก็จริง แต่การแก้ไขไม่ใช่ไปแก้ไขที่สิ่งกระตุ้นที่อยู่นอกตัวเรา หากต้องแก้ไขตรงที่ใจของเราสนองตอบ (response) ต่อสิ่งกระตุ้นนั้นอย่างไร คนอื่นมีพฤติกรรมจัญไรนั่นเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราหงุดหงิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องแรกคุณไม่มีอำนาจอะไรไปจัดการควบคุมบังคับได้หรอก แต่เรื่องที่สองอยู่ในเขตอำนาจที่คุณจัดการได้ ผมแนะนำให้คุณหัดย้อนดู (recall) ความคิดของตัวเอง ความหงุดหงิดก็เป็นความคิดหรือ thought formation อย่างหนึ่ง คุณต้องหัดดูมัน ดูเฉยๆ ดูแบบไม่พิพากษาตัดสินหรือสอนสั่งอะไร ดูให้เห็นให้รู้จัก ดูจนมันฝ่อหายไปเอง นอกจากการหัดย้อนดูความคิดแล้ว คุณต้องหัดดูสภาวะของจิตใจตัวเอง (state of mind) ว่าใจคุณขณะนี้ มันเป็นใจที่ปลอดโปร่งโล่งสบายแหลมคม หรือเป็นใจที่มืดทึบหนักตื้อขุ่นมัว ดูให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปพยายามเปลี่ยนสถานะของจิตใจ เพราะมันเปลี่ยนตัวของมันเองตลอดเวลา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง แต่ในการเกิดมาเป็นคนนี้ หากจะมีเรื่องหนึ่งที่คุณจะต้องทำให้ได้ ผมแนะนำว่าคุณควรจะทำเรื่องนี้แหละ เพราะตรงนี้คือหนทางที่คุณจะหลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากความเครียด ไม่ต้องไปเสาะหาว่าจะไปอยู่ในเมืองดีหรือชนบทดี เพราะอิสรภาพทางใจนั้นไม่อาจถึงด้วยการ “ไป” คุณเดินทางเสาะหาหรือย้ายถิ่นฐานไปกี่ครั้ง คุณก็ไม่มีวันไปถึง คุณต้องฝึกทักษะการย้อนดูความคิดและการดูสถานะจิตใจตัวเอง คุณจึงจะถึงความเป็นอิสระของจิตใจได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. John Crawfurd, Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China (1828; repr.,Kuala Lumpur: Oxford University, 1967), 589-590.
2. Monthly Review, review of The Mission to Siam and Hué, by George Finlayson, January 1826, 40-41
3. Philosophical Magazine (London), ―Some Account of the Trade of Siam,‖ February 1805, 25-26
4. Henry Mouhot. Travels in the central parts of indo-china (siam) Cambodia, and laos,during the year 1858 – 1860. Elebron Calssics Series. 2005. Adamant Media Corporation. ISBN 1-4021-8172-8.
5. Herbert Warington Smyth. Five years in Siam from 1891 to 1896.Reprint from the collection of the University of Michigan Library. Lexington KY, 2012.