โรงเรียนเป็นระบบที่ไร้สาระ การบ้านเป็นเรื่องงี่เง่า

คุณลุงหมอสันต์ที่เคารพ
ผมอายุ 17 ปี ผมป่วยเป็นโรค bipolar คุณพ่อคุณแม่พาไปรักษาที่รพ.... มาหลายปี ตอนนี้ผมกินยามาหลายอย่างโดยมีคนเฝ้าตอนผมกินยา ตอนนี้ผมกิน  Valproic acid (Depakin) ผมกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. ...ที่โรงเรียน..... ผมมีความรู้สึกว่า ชีวิตในภาพรวมแล้วเป็นอะไรที่ไร้ค่า ผมได้เรียนรู้ที่จะแยกตัวเองออกมาเป็นอีกคนหนึ่งมาเฝ้ามองดูอารมณ์ของตัวเองเวลาที่ผมอารมณ์เดือดขึ้น ซึ่งใช้ได้ผลบ่อยครั้ง แต่บางครั้งที่มีเหตุกระตุ้นแรง เช่นกำลังเถียงกับคุณพ่อ วิธีนี้ก็ไม่ได้ผล เข้าใจว่าการที่ผมเป็น bipolar ทำให้ผมแยกตัวเองออกมานั่งมองตัวเองได้  ผมได้เรียนรู้ที่จะใช้ความคิดซ้ำซากมาย้ำหลอกตัวเองว่าให้ทำสิ่งนี้ไปเถอะ เพราะมันเป็นสิ่งที่ดี เช่นว่าให้เรียนภาษาอังกฤษ เพราะมันพัฒนาวินัยตนเองของตัวเองได้  บางครั้งผมก็มีอาการคิดอะไรแล้วขาดหายกลางคัน ผมเข้าใจว่าเพราะโรคไบโพล่าร์ทำให้ผมเป็นอย่างนี้ ผมมีความคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเกิดมามีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่น มีโอกาสที่จะทำอะไรได้สำเร็จมากกว่าคนอื่ืน เพราะคุณพ่อคุณแม่มีฐานะดี มีการศึกษาดี ให้อะไรผมได้มากโดยที่คนอีกจำนวนมากไม่มีโอกาสนี้  ผมยอมรับว่าระยะหลังที่โรงเรียนผมทำได้ไม่ดีนัก เพราะเนื้อหาวิชาสมัยประถมมันเป็นอะไรที่ท้าท้าย sense มาก สนุกในการคิดแก้ปัญหา ผมทำได้ดี และเพื่อนๆก็ให้การยกย่อง แต่ในชั้นมัธยม โจทก์การบ้านกลับกลายเป็นแค่การจดจำขั้นตอนวิธีแกะสูตร การบ้านเป็นเรื่องงี่เง่า  ทุกวันนี้ผมนั่งอยู่ในชั้นเรียนโดยไม่ได้สนใจฟังว่าครูพูดอะไร ผมมีความเห็นว่าระบบโรงเรียนเป็นระบบที่ไร้สาระ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ คนที่สำเร็จจากระบบโรงเรียน เป็นที่ยอมรับของผู้จ้างงานหรือสังคมว่ามีทักษะชีวิตที่จำเป็น เช่นการมีวินัยต่อตนเอง การสื่อสารพูดคุยกับผู้คนได้ดีระดับหนึ่ง  และการไปโรงเรียนทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ  สำหรับผม เพื่อนๆเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ช่วงที่ถูกเพื่อนปฏิเสธ ตนเองจะรู้สึกซึมเศร้า และกลับไปย้ัำคิดตรงที่ว่าชีวิตเป็นอะไรที่ไร้ค่า และชักนำไปสู่ความคิดว่าตายเสียก็ดีนะ  ผมเข้าใจว่าการสร้างทักษะชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น และเชื่อว่าผมจะทำได้ดีกว่าหากไปทำนอกระบบโรงเรียน เช่นการเรียนรู้ทักษะชีวิตจากการทำงานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของผมเองมีธุรกิจรองรับ ผมจึงอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากคนอื่นโดยทั่วไปตรงที่มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างทักษะชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งระบบโรงเรียน  ผมมีความเห็นว่าการเรียนให้จบม.6 มีความสำคัญ เพราะทำให้สามารถเรียนรด.ครบ จะได้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร อีกอย่างหนึ่งการจบม.6 เป็นพื้ันฐานที่เอาไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้มากกว่าจบ ม.3 อยู่มาก หากทำได้ ผมจึงมีความตั้งใจจะเรียนให้จบม.6 ก่อน หลังจากนั้น ผมอยากจะเลิกเรียน ไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่จะไปสร้างทักษะชีวิตจากการทำงาน เอาจากภายนอกระบบการศึกษา ผมรู้ว่าคนรอบข้างจะมีปัญหาเยอะ คุณพ่อคุณแม่ล้วนมีปริญญาเมืองนอก ..... และคาดหวังว่าผมจะเหมือนกับพี่สาวที่ตั้งใจเรียน เข้าเรียน .... ได้ ผมอยากถามความเห็นของลุงหมอสันต์ว่าผมคิดผิดมากไหม ถ้าคิดผิดสังคมไปมาก ผมควรจะทำอย่างไร

………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนที่จะตอบคำถามของสมาชิกผู้เยาว์รายนี้ ผมขอปูพื้นให้ท่านผู้อ่านทั่วไปรู้จักเรื่องโรคจิตสองขั้ว หรือ bipolar disorder ซึ่งจะเป็นโรคยอดนิยมในอนาคตสักหน่อย มันคือประมาณว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์แบบซึมเศร้าสลับกับร่าเริง มีเอกลักษณ์คือมีช่วง โลว์คือซึมเศร้ายาวนานสลับกับช่วง ไฮคืออารมณ์ขึ้น หงุดหงิดโมโหง่าย หรือโอ่อ่าร่าเริงผิดสังเกต นอนไม่หลับ พูดน้ำไหลไฟดับเป็นเรื่องบ้างไม่เป็นเรื่องบ้าง ตัดสินใจอะไรแบบใจเร็วด่วนได้หุนหันพลันแล่นไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย ความคิดแปรปรวนสับสน จับประเด็นไม่ได้ ในระหว่างช่วงไฮกับโลว์นี้ก็มีช่วงปกติที่ทำงานทำการได้ดีไม่มีที่ติอยู่ด้วย โรคนี้อาจเป็นมากถึงขั้นบ้า (psychosis) หมายถึงหลุดโลกไปเลย ถึงขั้นเห็นภาพ  เสียง ที่คนธรรมดาไม่เห็น หรือเชื่อหรือคิดเรื่องราวเป็นตุเป็นตะที่คนธรรมดาเขาไม่คิดไม่เชื่อกัน ถ้าเป็นหนักหนาขนาดนี้ก็เรียกว่าไบโพลาหนึ่ง (BP-I) แต่ถ้าเป็นแบบแอบๆ ไม่ถึงกับบ้าชัดๆ คือเป็นแค่บัดเดี๋ยวขึ้นบัดเดี๋ยวลงแต่ไม่ถึงกับหลุดโลก ยังเห็น ได้ยิน และคิดเหมือนคนอื่นทั่วไป ก็เรียกว่าไบโพล่าสอง (BPII) ตามเกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV-TR) คนไข้จะต้องมีช่วงซึมเศร้าที่หนักถึงระดับมีผลต่อการงานหรือสังคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ และจะต้องมีช่วงไฮ หรือช่วงมาเนีย (mania) นานหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไปโดยที่ช่วงไฮนี้อย่างน้อยต้องมีอาการสามอย่างในเจ็ดอย่างต่อไปนี้คือ (1) ทำตัวใหญ่โตโอ่อ่า (grandiosity) (2) นอนน้อยลง (3) พูดมากขึ้น (4)  ความคิดกระเจิง (flight of idea) (5) สมาธิสั้น (6) มุ่งมั่นอะไรสักอย่างผิดสังเกต เช่นเรื่องงาน เรื่องบ้าน เรื่องเซ็กซ์ (7) ทำอะไรเพื่อความบันเทิงผิดสังเกตโดยไม่กลัวผลเสียที่จะตามมา
          การรักษาโรคนี้มุ่งให้ผู้ป่วยอยู่ในสังคมได้ โดยการใช้ยา การทำจิตบำบัด และการปรับผู้คนแวดล้อมให้ปรับตัวรองรับผู้ป่วยได้

เอาละ ทีนี้มาตอบคำถามของพ่อหนุ่มรายนี้กัน

1.. อย่าไปซีเรียสกับการเป็น bipolar ว่าเป็นเรื่องใหญ่ ความจริงทุกคนก็มีแคแรคเตอร์แบบไบโพลาร์อยู่ในตัวกันทุกคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย จุดตัดว่าใครป่วยใครไม่ป่วยอยู่ที่เมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตปกติอยู่ในสังคมได้ก็ถือว่าป่วย ดังนั้นไฮไลท์ของเรื่องก็คือปรับตัวเราให้พออยู่ในสังคมได้ ก็เท่านั้น

          2. การมีความคิดว่าชีวิตเป็นอะไรที่ไร้ค่า มันเป็นธรรมดาที่เมื่อเราโตพอจะรู้จักคิด เราจะคิดขึ้นมาได้ว่าอย่างนี้ ว่า เฮ้ย อะไรกันวะ ชีวิตมีแค่นี้เองเหรอ เกิดมา แล้ว กิน ถ่าย สืบพันธ์ แล้วก็นอน แล้วก็ตาย แค่เนี้ยะ ไม่เข้าใจ ผมไม่รู้ว่าจิ้งจกตุ๊กแกมันมีความคิดเซ็งชีวิตแบบนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะชีวิตมันก็เหมือนพวกเราคือมีชีวิตที่ไร้ค่าไร้ความหมายจริงๆเสียด้วย มนุษย์เราจึงพยายามสร้างคุณค่าต่อการมีชีวิตอยู่ขึ้นมา จึงได้เกิดการเรื่องความดี ความงาม ศาสนา ศาสดา พระ เจ้า และทฤษฎีฝีเสื้อขยับปีกขึ้นมา ทฤษฏีผีเสื้อขยับปีกมีอยู่ว่าโลกนี้จักรวาลนี้ยึดโยงเกี่ยวพันกันไปหมด แม้ผีเสื้อตัวเล็กๆขยับปีกยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระเพื่อมไหวเป็นระลอกต่อๆกันไปในระบบได้ระดับหนึ่ง คนเราเมื่อมีชีวิตอยู่ก็มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรที่มีคุณค่าให้โลกคุ้มกับที่เกิดมาได้ตั้งแยะ สรุปว่าการคิดว่าชีวิตไร้ค่าไม่ได้บ้า แต่หากในเวลาอันสมควรเรายังไม่สามารถหาอะไรมาบอกตัวเองได้ว่าใช้ชีวิตแบบนี้สิแล้วชีวิตเราจะได้มีคุณค่า เมื่อนั้นเราก็มักไปจบชีวิตด้วยโรคซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตาย

          3. การถอดจิตออกมาเป็นอีกคนหนึ่ง สามารถนั่งดูตัวเอง หรือดูอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเป็นไบโพล่าร์หรือคนเป็นโรคจิตเท่านั้นที่จะทำได้ แต่เป็นความสามารถของมนุษย์ทุกคนที่จิตมีความละเอียดพอก็จะทำได้ เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นที่มีประโยชน์ ผมขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งดังนี้
          คือจิตหรือการรับรู้ทางใจ (consciousness) ของเรานี้ มันเป็นพฤติกรรมของสมองที่จะสนองตอบ (response) ต่อสิ่งเร้า (stimuli) ที่ประดังรายงานเข้ามาในสมองผ่านอายตนะ (sense organ) ต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง สิ่งเร้าเหล่านี้มาสู่สมองในรูปของกระแสไฟฟ้าไหลมาตามเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างสมองกับอายาตนะนั้นๆ แต่มีสิ่งเร้าอีกอันหนึ่งไม่ผ่านอายาตนะภายนอก คือความคิดที่อยู่ๆก็โผล่ “ป๊อก” ขึ้นมาเองในใจของเรา สิ่งเร้าอันหลังนี้วงการแพทย์เชื่อโดยที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดนักว่ามันก็มาในรูปกระแสไฟฟ้าในเซลประสาทภายเช่นกัน
          สิ่งเร้าเหล่านี้ประดังกันเข้ามาไม่ขาดสาย แต่สมองเปิดรับรู้ได้ทีละอันเท่านั้น วงการแพทย์ตั้งทฤษฎีว่าสมองตั้งประตูคุมให้สิ่งเร้าต้องต่อคิวผ่านประตูได้ทีละตัว เรียกว่าทฤษฏีประตูคุม หรือ gate control theory แบบว่าเอ้า...
แอ๊คชั่น..  
เปิดประตู คนที่หนึ่งโผล่เข้ามาแล้ว เอ้าปิดประตูไว้ก่อน ถามคนที่หนึ่งซิว่า มาจากไหน มาจากหู เป็นเสียงด่าของภรรยา (พูดเล่น) สมองก็สั่งวิธีสนองตอบไป ว่าให้แผ่เมตตาให้เธอ จบเคส
เอ้าเปิดประตูอีก คนที่สองโผล่เข้ามา เอ้า ปิดประตู ถามคนที่สองซิว่าเป็นใครมาจากไหน มาจากผิวหนัง รายงานว่าปวดจากถูกไม้กวาดฟาดกะบาล (แหะ แหะ พูดเล่น)

     คือสมองทำงานรับทราบสิ่งเร้าและสนองตอบต่อสิ่งเร้าประมาณนี้แหละ เพียงแต่ว่าเวลาในการเปิดปิดประตูแต่ละครั้งมันเร็วมาก เร็วเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าเร็วจนเราดูเหมือนจะมองเห็น ได้ยิน คิด พูด ไปพร้อมๆกัน ทั้งที่ความจริงทุกอย่างเกิดขึ้นแบบเรียงคิว ในบรรดาสิ่งเร้าที่ผลัดกันโผล่ประตูเข้ามาหา จิตสำนึกหรือ consciousness นี้ มีอยู่ตัวหนึ่งเรียกว่าความรู้ตัว (self awareness) มันก็ต้องไปต่อคิวกับคนอื่นเหมือนกัน เจ้าความรู้ตัวนี้มันเป็นสิ่งเร้าที่ทำหน้าที่ผิดแผกจากคนอื่น คือมันเข้ามาเพื่อฟ้องให้จิตตระหนักว่าไอ้คนที่เข้ามาก่อนหน้ามันเมื่อตะกี้เนี้ยะจริงๆแล้วเป็นใคร แบบว่า

“..เจ้านาย ไอ้คนเมื่อตะกี้มันเป็นตัวยั้วะนะ ตอนนี้เจ้านายกำลังยั้วะนะ รู้เป่า”

ที่นี้การให้คิวเปิดประตูรับใครเนี่ยจิตไม่ได้ใช้หลักยุติธรรมนะ แต่ใช้หลักสิทธิแต่เกิดและหลักความเคยชิน  หลักสิทธิแต่เกิดก็อย่างเช่นความรู้สึกถูกบีบๆคลำๆ  (touch) จะได้สิทธิเข้ามาก่อนความรู้สึกเจ็บปวด  (pain) ดังนั้นยาหม่องจึงขายดี เพราะนวดๆคลำๆแล้วหายปวดได้ ส่วนหลักความเคยชินก็อย่างเช่นเจ้าความรู้ตัวหรือ “สติ” เนี่ยขึ้นอยู่กับว่านายจะคุ้นหน้ามันหรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้มาบ่อย นายไม่ได้คุ้นหน้า กว่ามันจะได้เข้าอีกทีก็โน่น.. ตอนเคลิ้มๆใกล้จะหลับ
 คนที่ถอดจิตเป็นอีกคนหนึ่งมานั่งมองดูจิตของตัวเองได้ เห็นตัวเองกำลังโมโห กำลังโศกรันทด แสดงว่าคนนั้นเจ้าความรู้ตัวหรือสติเป็นที่คุ้นหน้าเจ้านาย มันจึงได้เข้ามาบ่อย มันมาเมื่อไรนายก็ให้เปิดประตูรับทุกที หากมันมาถี่ถึงระดับหนึ่ง ก็จะเหมือนกับนายมีเลขาคอยแย่งเปิดประตูกับอายาตนะอื่นให้เกิดความรู้ตัวถี่มากจนเสมือนว่าจิตแยกออกเป็นจิตที่สองคอยเฝ้ามองจิตที่หนึ่งได้
การฝึกจิตใจของตัวเองให้เกิดความรู้ตัวบ่อยจนตามดูจิตหรือพฤติกรรมทางจิตของตัวเองได้นี้ เป็นสิ่งที่ดี และเป็นยอดปรารถนามนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย บ้างที่ไปนั่งหลับตานับลูกประคำงึมงัมๆก็เพื่อจะฝึกความรู้ตัวนี่แหละ ดังนั้นเมื่อคุณพัฒนามันมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ขอให้พัฒนามันต่อไป ให้มันทำงานได้แม้กระทั้งตอนปะทะคารมกับคุณพ่อ ถ้าทำได้จริง คุณก็จะบรรลุธรรม

4. การคิดอะไรแล้วขาดหายไปกลางคันเกิดได้จากสองสาเหตุ หนึ่งคือการขาดความรู้ตัว ความคิดที่ป๊อกขึ้นมานั้นมาแบบลอยมาแล้วก็ลอยไปจนสมองไม่ได้จับสาระไว้เพราะเจ้าความรู้ตัวไม่ได้โผล่มาร้องเตือน สองคือเกิดจากยา เพราะยารักษาอาการทางจิตประสาทเกือบทุกตัวจะทำให้ความรู้ตัวของจิตลดลง จะว่ายารักษาโรคจิตประสาททุกตัวเป็นยาเมาก็ไม่ผิด

5. ความเห็นที่ว่าระบบโรงเรียนเป็นระบบที่ไร้สาระเนี่ย.. แม่เฮย เน็ดขนาด ถูกใจลุงจริงๆ ที่ว่าการบ้านเป็นอะไรที่งี่เง่าก็ถูกใจลุงอีก สมัยลุงยังเรียนเตรียมแพทย์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์เคยประท้วงด้วยการเอาการบ้านของเพื่อนมาถ่ายเอกสารแล้วเอาไปส่งครู ว่า

“..นี่ไงครับ การบ้านที่คุณครูอยากได้ ผมทำมาแล้ว ด้วยวิธีลอกเขามาเหมือนที่เพื่อนคนอื่นๆเขาลอกกันนั่นแหละ แต่ของผมลอกแบบไฮเทค คือซีรอกซ์มาเลย ครูจะได้อ่านง่ายๆ”

ผลเป็นไงหรือครับ ก็สอบตกนะสิ..ได้เกรด F (ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

แล้วลุงทำไงรู้ไหม ก็ไม่ทำไงหรอก ได้ทำอะไรสะใจโก๋แล้ว ก็กลับไปก้มหน้าก้มตายอมรับการกดขี่เหยียบย่ำใหม่ คือยอมเรียนซ้ำใหม่อีกหนึ่งเทอม เพื่อนเขาได้ปิดเทอมไปเที่ยว แต่เราอดไป..โสน้าหน้าไหมละ

คุณเองก็บอกเองแล้วว่าระบบโรงเรียนมันก็มีข้อดี และคุณก็จะพยายามเรียนให้จบม. 6 ซึ่งผมเห็นด้วย

6. ถามว่าถ้าไม่ยอมไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่จะไปเรียนรู้ทักษะชีวิตเอาจากการทำงานดีไหม ตอบว่าเป็นความคิดที่ประเสริฐมากเลยครับ แต่ลุงแนะนำให้ทำอย่างหนึ่งก่อนคือ แสดงให้คุณพ่อคุณแม่เห็นก่อนว่าเรามีทักษะชีวิตพื้นฐานพอที่จะไปทำงานเป็นกุลีกับคนอื่นเขาได้ ถ้าพ่อแม่ยังเห็นอยู่ชัดๆโต้งๆว่านิสัยพูดไม่เข้าหูคนแบบเรานี้ออกไปทำงานกับชาวบ้านวันเดียวมีหวังได้ถูกต่อยปากเจ่อกลับมาแน่ หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรท่านก็คงไม่ยอมตามใจเรา คือพ่อกับแม่เลี้ยงเรามาแบบ over protect ท่านย่อมมีความรู้สึกผิดที่จะปล่อยให้เราไปเรียนรู้นอกระบบแบบ learn the hard way เป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่ต้องแสดงให้ท่านเกิดความสบายใจว่าเราดูแลตัวเองของเราได้ระดับหนึ่งแล้ว มิฉะนั้นพ่อแม่ลูกจะทะเลาะกันหนักด้วยเรื่องนี้ ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว             

                7. การที่พ่อแม่เปรียบเทียบเรากับพี่น้องคนอื่นก็ดี กับตัวท่านเองก็ดี ว่าทำไมเราไม่ทำให้ได้อย่างท่านหรืออย่างพี่น้องคนอื่นบ้าง ตรงนั้นอย่าไปใส่ใจเลย เป็นเพียงความพยายามของพ่อแม่ที่จะ motivate เราให้เดินหน้าไปกับชีวิตตามกระแสปกติเท่านั้น อย่าไปตีความว่าเป็นการไม่ยอมรับเรา หรือเป็นการรักเราน้อยกว่ารักพี่น้องคนอื่น คิดแบบนั้นมันเป็นความคิดงี่เง่าไม่สร้างสรรค์ มีมันสมองขนาดนี้แล้วควรมองเจตนาของท่านให้ทะลุ ถ้าจำเป็นก็ให้ข้อมูลท่านกลับไปบ้าง อย่างเช่นโจ๊กของฝรั่งเล่าเรื่องพ่อเคี่ยวเข็ญลูกที่ขี้เกียจอ่านหนังสือว่า

“..สมัยที่ลิงคอลน์อายุเท่าเอ็งเนี่ยนะ ท่านต้องเดินไปไกลถึงยี่สิบไมล์เพื่อจะได้ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดนะ”

ลูกชายแสนรู้ตอบว่า

“..สมัยที่ลินคอล์นอายุเท่าคุณพ่อเนี่ยนะ ท่านเป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ”

ฮะ..ฮะ..ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น



นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67