คุณหมอหน่ายคนไข้ จะทำไงกับชีวิตดี

เรียนคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์

ผมมีเรื่องขอคำปรึกษาเกี่ยวกับน้องชายซึ่งเป็นหมอทั่วไปในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จ.ปัตตานี แกบ่นถึงปัญหาซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่อะไรแต่อาจเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่แกจะเลิกเป็นหมอก็ได้ ผมเข้าใจได้ว่าแกเก็บสะสมอะไรไว้ในใจและอดทนเพื่ออะไรสักอย่างตั้งแต่เรียนหมอแล้ว ซึ่งแน่นอนอาชีพนี้ช่วยเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ทางบ้านผมโดยเฉพาะพ่อกับแม่ ถึงแม้นว่าพี่อย่างผมอาจถูกมองข้ามจากญาติๆไปบ้าง แต่ผมยังจะไม่ขอคำปรึกษาเรื่องของผม เอาเป็นว่าขอปรึกษาเรื่องของน้องชายก่อน เรื่องก็คือว่า (ขอโพสเป็นข้อความจากน้องชายนะครับ)

"
ขณะนี้รู้สึกว่าชีวิตการทำงานถึงทางตันแล้วครับ เริ่มไม่มีความสุขกับการตรวจคนไข้แล้วครับ วันนี้มีเหตุการณ์เหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผมหมดอาลัยในชีวิตความเป็นหมอแล้วครับ แม่พาลูกมาตรวจบอกว่าหอบจะเอายาพ่น ผมตรวจแล้วลูกไม่ได้หอบก็เลยไม่ให้ ประวัติหอบก็ไม่มี แต่แม่จะเอาให้ได้ ก็เลยอธิบายถึงตัวโรคว่าเด็กเป็นไข้หวัด กินยา พักผ่อน เดี๋ยวก็หาย แล้วแม่เด็กก็พูดขึ้นขณะเดินออกนอกห้องตรวจด้วยเสียงอันดัง เหมือนจะให้ทุกคนได้ยิน "เสียเวลาจริงๆ หมอคนนี้อีกแล้ว ไม่น่ามาโรงพยาบาลเลย"
เพราะเวลาผมตรวจถ้ายาที่ไม่จำเป็นผมจะไม่ให้ ผมผิดด้วยหรือ

และคนไข้โดยส่วนใหญ่ก็เป็นลักษณะนี้ครับ เห็นเราเป็นร้านสะดวกซื้อ สั่งอะไรต้องได้ ไม่ว่าจะอธิบายยังไง ก็ไม่ฟัง

ผมเหนื่อยแล้วครับ

ทำไงกับชีวิตดีครับ"

ผมตระหนักดีว่าคุณหมอผ่านประสบการณ์เรื่องแบบนี้มาเยอะอาจกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยถ้าเทียบกัน แต่จะมีประโยชน์มากถ้าหมอรุ่นพี่ได้แชร์ประสบการณ์และทางออกบางอย่างซึ่งลำพังผมก็คงไม่สามารถแนะนำอะไรได้มากนัก! (ต้องให้เทพแนะนำเทพด้วยกันถึงจะยอมฟังครับ)

ด้วยความนับถือ

.........................

ตอบครับ

คำพูดที่ว่า “ต้องให้เทพแนะนำเทพ” เนี่ย ถามจริง.. ประชดหรือเปล่าครับ ผมไม่ได้ว่าคุณหรอกนะถ้าคุณจะประชดพวกหมอ เพราะหมอเองก็ประชดกันเองบ่อยๆเหมือนกัน ผมจำได้ว่าประมาณสิบห้าปีมาแล้ว ตอนนั้นผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่รพ.ราชวิถี วันหนึ่งมีคนไข้หัวใจคนหนึ่งตะเกียกตะกายมาหาผม ผ่านโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นดีหลายแห่งมาแล้วก็ไม่ยอมอยู่รักษาที่นั่น ผมถามเขาว่าทำไมต้องบากบั่นมาถึงที่นี่ ทำไมไม่รักษาที่รพ. ...... ซึ่งเขาใหญ่กว่าที่นี่เสียอีก เขาตอบว่า

     “มีซินแสบอกว่าให้ผมมาที่ตึกนี้ แล้วจะมีเทพช่วยชีวิตผมไว้”

     ผมอมยิ้มแล้วตอบอาแปะไปว่า

     “อาแปะครับ.. ที่ตึกนี้เทพไม่มีหรอก แต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเทพเนี่ย มี..เพียบ

     หึ..หึ นอกเรื่องละ กลับมาตอบคำถามของคุณหมอน้องของคุณดีกว่า

ถามว่าคนไข้มาหาหมอ มารบจะเอายานั่นยานี่ หมอเพียรอธิบายว่าไม่จำเป็นก็ไม่ฟังแถมด่าหมอเสียอีก จนหมอเกิดความรู้สึกว่าทำอาชีพนี้ชีวิตมันช่างไร้ค่าเสียจริง จะทำไงกับชีวิตดี ขอตอบแยกเป็นประเด็นย่อยหลายประเด็น คุณหมอใจเย็นๆอ่านนะครับ

     1.. ในการทำอาชีพของเรานี้ ปลายทางคือเราอยากใช้วันเวลาในชีวิตและความรู้ความสามารถของเรา ช่วยเหลือคนไข้ ถ้าเราช่วยคนไข้ได้ เราก็มีความสุขใจ แต่ถ้าเราช่วยไม่ได้ ก็แล้วไป ความเป็นจริงก็คือในสิบคนที่มาหาเรา น่าจะมีอยู่เจ็ดแปดคนที่เราช่วยได้มากบ้างน้อยบ้าง แค่นี้ก็โอ.แล้วสำหรับการทำกิจอะไรสักอย่าง คือประสบความสำเร็จสัก 70-80% นี่ถือว่าเจ๋งแล้วนะ  

     2.. เนื่องจากฟอร์แมทหรือรูปแบบที่เราใช้ตรวจคนไข้เป็นรูปแบบตายตัวมาแต่โบราณ คือเรานั่งโต๊ะที่โอพีดี. คนไข้นั่งรอคิวอยู่หน้าห้องนานหนึ่งอสงไขเวลา แล้วจึงถูกเรียกเข้ามาหาเรา เข้ามาถึง นั่งจ่อมก้น แล้วก็คุยกันภายในกรอบเวลาคนละประมาณ 5 นาที (ถ้าเป็นรพ.ของรัฐ) ฟอร์แมทนี้มันเป็นมิชชั่นอิมพอลสิเบิ้ล ให้ลิง..เอ๊ย ไม่ใช่ ให้เทวดามาทำเองก็ทำไม่ได้ เพราะเวลามันน้อยเกินไป
ฟอร์แมทจำกัดเวลานี้เอาไปจัดงานไหว้ศพยังไม่เวอร์คเลย ไม่กี่ปีมานี้คุณยายคนไข้คนหนึ่งระบายความคับข้องใจให้ผมฟัง ว่าเธอไปถวายบังคมพระศพของสมเด็จพระศรีฯ พระบรมราชชนนี ซึ่งตั้งให้ประชาชนเข้ากราบ เธอเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต่อคิวเข้าไปถึงปะรำพิธี เขาให้เข้าไปกราบพระศพเป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งคราวละประมาณ 30 คน มีพิธีกรคอยบอกบทว่า

“นั่งคุกเข้าพร้อมกัน เอ้ากราบหนึ่ง เอ้าลุกขึ้น..”

คุณยายเธอพร่ำบ่นว่า          

“อิฉันกราบ ก้นยังไม่ทันกระดกกลับลงพื้นเลย เขาไล่อิฉันให้ลุกออกให้คนอื่นเข้าแล้ว”

ฟอร์แมทการตรวจโรคในเวลาอันสั้นนี้แม้จะรู้กันทั่วว่ามันไม่เวิร์ค แต่ก็ไม่มีใครมีปัญญาเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ จึงต้องทำกันมาตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ คือสามสิบกว่าปีมาแล้ว และต้องทำกันต่อไปอีกกี่สิบปีไม่รู้ในอนาคต กลายเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจของแพทย์คนไหนๆจะดลบันดาลหรือแก้ไขได้   สิ่งที่แพทย์พึงทำได้ก็คือจะทำยังไงดีกับห้านาทีที่ได้มานี้ ทำได้แค่นั้นแหละ

     3.. ถ้าเวลามีจำกัด หัวใจของเรื่องคืออะไรเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทำก่อน เราถูกสอนเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ว่าเราจะต้องรีบค้นหาข้อมูลที่เป็นภววิสัย (objective data) เพื่อวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าคนไข้เป็นโรคอะไร จะจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการทำแล็บก็แล้วแต่ แล้วสั่งการรักษา และอธิบายให้ความรู้เท่าที่จำเป็น ก่อนที่จะหมดเวลา

            แต่ผมบอกคุณได้อย่างหนึ่งหลังจากทำอาชีพนี้มาสามสิบกว่าปี ว่า การรีบค้นหาข้อมูลที่เป็นภววิสัยหรือ objective data ไม่ใช่เรื่องสำคัญสูงสุดในการพบกันระหว่างหมอกับคนไข้ในเวลาอันสั้นจุ๊ดจู๋ที่มีอยู่ สิ่งที่สำคัญสูงสุดกลับกลายเป็นการค้นหาข้อมูลที่เป็นอัตวิสัย (subjective data) อันได้แก่ ความกังวล (concern) ความเชื่อ (believe) และความคาดหวัง (expectation) ของเขาในการมาหาเราครั้งนี้ เพราะถ้าเรามีข้อมูลอัตวิสัยเหล่านี้แล้ว การวางแผนช่วยเหลือเขานั้นจะกลับเป็นเรื่องง่ายราวกับพลิกฝ่ามือ แน่นอนว่าในเวลาอันสั้นเช่นนั้นเราอาจจะยังไม่ทันวินิจฉัยหรือรักษาโรคของเขาได้ทันด้วยซ้ำ แต่ข้อมูลอัตวิสัยเหล่านั้นทำให้เราวางแผนช่วยเขาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้แบบเกาถูกที่คันเลยทีเดียว ทั้งนี้อย่าไปโลภมากว่าเราจะต้องประกาศสัจจะธรรมตั้งแต่ต้นจนจบให้เสร็จทันทีแล้วคนไข้จะได้ “เก็ท” หรือบรรลุนิพพานบัดเดี๋ยวนั้นเลย.. แต่อย่าลืมว่าเรามีแค่ห้านาทีนะ ความในข้อนี้เป็นความท้าทายในงานอาชีพที่สำคัญ คุณหมอลองเอาไปตีความและทดลองทำดู

     4.. การ work around ความเชื่อของคนไข้เพื่อให้เขา “เห็น” สัจจะธรรมทางด้านสุขภาพ เป็นศิลปะของการทำอาชีพนี้ มันเป็นทักษะ ซึ่งคุณหมอต้องฝึกหัด ต้องทดลองทำ วิธีที่ผมชอบใช้วิธีหนึ่งคือการให้ข้อมูลความเสี่ยงและประโยชน์อย่างครบถ้วน ถ้าเป็นคนไข้ความรู้น้อยผมอาจจะแถมคำแนะนำของผมเข้าไปด้วยนิดๆ แต่ถ้าเป็นคนไข้มีการศึกษาดีผมจะไม่แถมคำแนะนำของผมเลย แล้วเปิดให้คนไข้ตัดสินใจเลือกเอง แล้วทำตามที่เขาตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เข้าท่าหรือไม่ ทำแบบนี้เข้าสองสามครั้งคนไข้จะค่อยๆคิดเป็นและการตัดสินใจของเขาจะค่อยๆดีขึ้นๆ และความที่มันเป็นการตัดสินใจของเขาเอง มันจะเป็น motivation ที่ส่งผลไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของเขาหลังจากนั้นได้อย่างดีอีกด้วย

     5.. เมื่อคนไข้เห็นเราเป็นร้านสะดวกซื้อ สั่งอะไรต้องได้ ไม่ว่าจะอธิบายยังไงก็ไม่ฟัง คุณหมอเริ่มเกิดความท้อถอยเบื่อหน่ายอาชีพนี้ ผมเข้าใจครับ แต่คุณหมอลองถอยออกมา เพื่อให้มุมมองของเรากว้างขึ้น แล้วมองเข้ามายังภาพเดิมใหม่ ว่าเรามาประกอบอาชีพนี้เพราะเรามีความรักคนอื่น มีเมตตาธรรม มิชชั่นในชีวิตของเราคือช่วยให้คนที่เป็นทุกข์เพราะโรคภัยได้บรรเทาจากความทุกข์เหล่านั้น เมื่อตั้งต้นด้วยความรักหรือเมตตาธรรมเป็นภาพใหญ่ ภาพทั้งหลายที่คุณหมอเล่ามาจะกลายเป็นเพียงภาพเล็กที่เป็นส่วนประกอบเล็กๆของภาพใหญ่ ยกตัวอย่างนะ ตอนนี้ผมกำลังทำงานกับคนอ้วน คือพูดง่ายๆว่ากำลังทำงานลดความอ้วน ทั้งคนอ้วนที่ป่วยมาหา คนอ้วนที่มาเข้าแค้มป์ลดน้ำหนัก และคนอ้วนในรายการเต้นเปลี่ยนชีวิต (Dance Your Fat Off) ของช่อง 3 คือคนอ้วนเนี่ยส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ “รู้..แต่ไม่ทำ”  (ขอโทษนะครับสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นคนอ้วนที่ไม่ได้เป็นแบบนี้) พูดง่ายๆว่าการที่เขาเป็นคนแบบรู้แต่ไม่ทำเนี่ย มันเป็นอะไรที่น่าอิดหนาระอาใจน่าหมั่นไส้เสียจริง แต่ผมกลับเพียรพยามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีการไปหลากหลายมากมาย เพื่อหาทางให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาทำได้และลดน้ำหนักได้สำเร็จ ผมไม่ได้มองเขาอย่างอิดหนาระอาใจหรือหมั่นไส้ แต่ผมทำงานไปบนกรอบความคิดของความรักและความเมตตา ผมทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ด้วยมุมมองต่องานอย่างนี้ ผมมีความสุขที่ได้ทำงานเสมอ

     ผมแนะนำให้คุณหมอพักร้อนสักสองสัปดาห์ ไปตะเร็ดเตร็ดเตร่ที่ไหนก็ได้ ไปเดินเขาที่หิมาลัยก็ได้ ตอนนี้อากาศกำลังดี เดินฝ่าความหนาวขึ้นไปที่เบสแค้มป์ใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ หรือไปทำอะไรอย่างอื่นที่คล้ายๆกัน คือให้ตัวเองได้อยู่กับความเงียบในใจและอยู่กับธรรมชาติ พอใจมันเริ่มสงบลงก็ค่อยๆมองกลับเข้ามายังอาชีพตัวเองใหม่ ถ้าคิดว่านี่ยังเป็นเส้นทางอาชีพที่เราเคยฝันถึงว่าจะมาเดินอยู่ ก็กลับมาเดินใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ถ้าแม้ไตร่ตรองด้วยใจที่สงบแล้วก็ยังเห็นแต่สิ่งที่เลวร้ายจนมองไม่ออกว่าเราจะมีความสุขกับอาชีพนี้อย่างไร ก็เปลี่ยนอาชีพไปลองอาชีพอื่นสักหลายๆปีเพื่อเปรียบเทียบดูได้ครับ ทั้งสองทางเลือกนี้เป็นทางเลือกปกติทั้งคู่ ไม่มีใครตำหนิคุณหมอแน่นอนว่าเลือกทางนั้นทำไม ทำไมไม่เลือกทางนี้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี