หมอจบใหม่ จะไปทางไหนดี
ผมเป็น นศพ ชั้นปีที่หก ซึ่งกำลังจะจบในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า ช่วงนี้มีการรับสมัครเรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ใช้ทุน
แพทย์ประจำบ้าน แพทย์พี่เลี้ยง ใน รพ.ต่างๆ เช่น รพ.ที่เป็น รร แพทย์
รพ.ศูนย์ เป็นต้น
อยากเรียนถามอาจารย์ครับ อาจารย์คิดว่าในปัจจุบัน การเรียนต่อเลย
หรือ การออกไปใช้ทุนก่อน แล้วค่อยมาเรียนต่อ มีข้อดี ข้อเสีย
ต่างกันอย่างไรโดยเฉพาะกับบริบท ในสภาวะปัจจุบัน อาจารย์คิดว่าแบบไหน
น่าจะเหมาะสมมากกว่า
และสาขาวิชาที่น่าจะเป็นที่นิยมในอนาคต
อาจารย์คิดว่าน่าจะมีสาขาวิชาใดบ้างครับ
และหากไม่เรียนต่อ การเลือกออกไปใช้ทุนก่อน แล้วขอทุนจาก รพช
มาเรียนต่อ โอกาสที่จะได้เข้ามาเรียนใน รพ.ที่เป็น รร.แพทย์เช่นใน กทม หรือ
จังหวัดใหญ่ๆ มีโอกาสมากน้อยเพียงไร
ท้ายนี้ อยากเรียนถามอาจาย์เกี่ยวกับสาขาวิชา เวชศาสตร์การบิน
ผมเคยได้ยิน แต่ไม่ทราบรายละเอียด อาจารย์พอจะทราบรายละเอียดบ้างหรือไม่ครับ
และมีสถาบันใดที่เปิดสอนบ้าง
ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ
นศพ.......
มหาวิทยาลัย.........
..........................................
ตอบครับ
1.. ข้อดีของการออกไปใช้ทุนก่อน คือ
1.1 ทำให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มี maturity เพราะนักเรียนแพทย์สมัยนี้จบแพทย์แล้วส่วนใหญ่ยังเป็นคุณหนูอยู่เลย
บางคนแม่ยังป้อนข้าวอยู่เลย การต้องไปอยู่บ้านนอก เป็นคุณหมอใหญ่
รับผิดชอบชีวิตผู้คน เป็นโอกาสดีที่จะได้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเสียที
1.2
ได้มีโอกาสได้ใช้ความรู้ทุกแขนงที่เรียนมาเพื่อให้ความรู้มันสานกันให้แน่นเสียก่อน
ก่อนที่จะไปฝึกอบรมเจาะลึกในแขนงใดแขนงหนึ่งเพียงเรื่องเดียว
แม้การออกไปใช้ทุนในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัดก็ยังจะได้รับข้อดีข้อนี้
เพราะอาชีพหลักของแพทย์ใช้ทุนคือการรับจ้างรุ่นพี่อยู่เวรอีอาร์.
ที่ตรงนั้นเป็นที่ให้โอกาสผสมผสานความรู้ในวิชาชีพได้มากที่สุด
และเป็นแหล่งรายได้ของหมอจบใหม่ เพราะเป็นที่ต้องการของลูกค้า
ซึ่งก็คือรุ่นพี่ที่ขี้เกียจแต่มีเงิน
จะถูกรุ่นพี่เขากดขี่ขูดรีดแรงงานบ้างก็ช่างเถอะ ให้ตั้งใจทำไป
เพราะงานนี้มีแต่ได้กับได้ โอกาสได้ทำความรู้ให้แน่นขึ้นนี้ มีประโยชน์แม้แต่กับแพทย์ที่ตั้งใจจะไปฝึกอบรมต่อในต่างประเทศ
ผมเห็นหลายคนไปซุ่มอ่านหนังสืออยู่บ้านนอกขณะติดต่อหาที่เทรนในอเมริกา พอทุกอย่างลงตัวแล้วก็ค่อยลาออกไปเมืองนอก
1.3 ได้หาเงินเป็นกอบเป็นกำ
เพราะแพทย์ใช้ทุนสมัยนี้มีรายได้ดีกว่าสมัยผมราวกับเอาเศรษฐีไปเทียบกับยาจก แต่สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ประเด็นนี้อาจไม่มีความหมายนัก
เพราะแพทย์รุ่นใหม่สมัยนี้ใช้เงินกันอย่างไร้สาระ
ได้เงินมาก็หาประโยชน์สร้างสรรอะไรไม่ค่อยได้
พูดง่ายๆว่ามีเงินแต่ก็ไม่มีปัญญาทำให้ชีวิตตัวเองมีความหมายหรือมีคุณภาพขึ้น
แล้วจะมีเงินไปทำพรื้อละครับ
1.4 ได้รับใช้ชาติ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ดีกรีความรักชาติของแต่ละคน
อย่างตัวผมถ้าส่งผมไปอยู่สามจังหวัดภาคใต้ผมก็เผ่นแน่บเหมือนกัน
2..ข้อเสียของการออกไปใช้ทุนก่อนเรียนต่อก็คือ
2.1 ถ้าเป็นคนขี้เกียจ ไปอยู่บ้านนอกแบบหายใจทิ้งไปวันๆหรือแบบโตวัวโตควาย
เอาแต่นอนดูทีวี.น้ำเน่าหนังสือหนังหาไม่อ่าน ความรู้ก็จะหดหาย เข้าหม้อ
พอกลับมาเรียนก็จะกลายเป็นเด้นท์โข่ง มีแต่ความดื้อด้านถือดี แต่ไม่มีความรู้
เป็นที่อิดหนาระอาใจของพวกครูเขา
ครูบางคนถึงกับตั้งธงว่าถ้ามีเด็กจบใหม่ซิงๆให้เลือกจะเลือกเด็กจบใหม่ก่อน
ส่วนพวกเด้นท์โข่งหากแม้นเลือกได้จะไม่เอา.. เพราะกลัว
2.2 ปัญหาเรื่องความปลอดภัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหมอผู้หญิง เพราะบ้านนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับรพช.
มันเป็นชีวิตรากหญ้า มีระดับชั้นของความปลอดภัยต่ำ ไม่มีการประกันใดๆ
บ้านพักแพทย์โจรจะขึ้นเมื่อไรก็ได้ พ่อแม่หลายคนต้องไปนอนเฝ้าลูกสาว อันนี้ก็น่าเห็นใจ
อยู่เมืองไทยต้องทำใจลูกเดียว สมัยผมอยู่บ้านนอกต้องพกปืนติดตัว
เพราะไปยื้อเอาที่ดินของโรงพยาบาลคืนมาจากผู้มีอิทธิพล ปืนนั้นก็ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน
แพทย์ใหญ่ (สสจ.) ลูกพี่ของผมนั่นแหละมอบให้ พร้อมให้โอวาทว่า
“.. ไอ้น้องเอ๊ย อยู่บ้านนอกมันก็งี้แหละ
เอ็งเอาไอ้นี่ไปพกติดตัวไว้ก็แล้วกัน
จะได้ไม่ถูกมันทำอยู่ข้างเดียว..”
แต่สมัยนี้น้องๆคงไม่ต้องเสี่ยงถึงขนาดนั้นแล้ว
เพียงแต่ต้องยอมรับว่าระดับความปลอดภัยยังไงมันก็ไม่เหมือนในกรุงเทพ
2.3 สำหรับคนที่วางแผนชีวิตว่าจะไปฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่อเมริกา
การไปอยู่บ้านนอกสามปีอาจจะเสียเวลา เพราะเส้นทางไปฝึกอบรมในอเมริกานั้นยาวนานมาก
ถ้าไม่ลัดเสียบ้างกว่าจะฝึกอบรมจบก็แก่พอดี แต่ปัญหานี้ปัจจุบันนี้คงจะมีน้อย
เพราะผมสังเกตว่าหมอรุ่นหลังที่จะอดหลับอดนอนอ่านหนังสือสอบ USMILE ไปเป็นเด้นท์ที่อเมริกานั้นมีน้อยจนนับตัวได้ เรียกว่ารุ่นหนึ่งทั้งประเทศจบมาสองพันคน
ไปเทรนเรสิเด้นท์เมืองนอกไม่ถึง 5 คน
ส่วนใหญ่อาศัยไปดูงานแบบดมๆเอาหลังจากจบเฟลโลว์เมืองไทยแล้ว
วิธีนี้ด้านหนึ่งก็ดีที่ชีวิตไม่ต้องเสียเวลาเรียนไม่รู้จบรู้สิ้น
แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าเป็นห่วงวงการแพทย์ไทยในอนาคตที่แพทย์ของเราไม่เคยได้เรียนรู้วินัยในการทำงานแบบฝรั่ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และหาเรียนที่บ้านเราไม่ได้
3.. ถามว่าผมเชียร์แบบไหนมากกว่า
ตอบว่าผมเชียร์ให้ออกไปใช้ทุนก่อนครับ ยกเว้นจับฉลากได้สามจังหวัดภาคใต้
อันนั้นตัวใครตัวมันแล้วครับ
4.. ถามว่าสาขาวิชาใดที่น่าจะเป็นที่นิยมในอนาคต
อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับคำว่า “น่านิยม”
ของคุณหมอหมายถึงใครนิยม ซึ่งแยกได้เป็น
4.1 ถ้าจะเอาความนิยมของชาติ หรือความต้องการของชาติเป็นตัวตั้ง
ก็ตอบได้โดยแทบไม่ต้องคิดว่าสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจะเป็นที่ต้องการของชาติมากที่สุด
งานวิจัยของทั้งอเมริกาและยุโรปให้ผลอย่างเดียวกัน
แต่ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะนิยมมาเทรนสาขานี้มากขึ้นนะครับ เพราะแม้แต่ในอเมริกาซึ่งมีการย้ำเรื่องนี้กันมาตั้งสามสิบกว่าปีแล้วแต่จนเดี๋ยวนี้แม้แต่โอบามาก็ยังไม่มีปัญญาแก้ปัญหาแพทย์เข้าฝึกอบรม
Fam
Med น้อยลงๆทุกปี
4.2 ถ้าจะเอาความนิยมส่วนบุคคล
มันก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือการเรียนรู้ในอดีตของแต่ละคนว่ารักชอบอะไรแบบไหนเป็นพิเศษ
ผมมีรุ่นน้องคนหนึ่ง สมัยเมื่อกองทัพนักศึกษาแตกในเดือนตุลา ปีพ.ศ. 2519
เขาเป็นนักเรียนเตรียมแพทย์ปีสองซึ่งหนีเข้าป่าไป ตอนอยู่ในป่ามีประสบการณ์เจอหญิงท้องและตัวเองต้องทำคลอดทั้งๆที่เป็นแค่นักเรียนเตรียมแพทย์ปีสอนเนี่ยแหละ
เขาคงไม่รู้มั้งว่าการออกลูกเป็นกระบวนการของธรรมชาติที่แม้ไม่มีใครไปยุ่งผู้หญิงส่วนใหญ่เขาก็ออกลูกของเขาได้เองอยู่แล้ว
แต่การที่เขาเข้าไปยุ่งจนผู้หญิงคลอดลูกออกมาได้ทำให้เขาฝังใจว่า
“..ฮ้อย ข้าน้อยทำคลอดได้สำเร็จโว้ย
ช่างเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เสียนี่กระไร”
แล้วก็ปักใจว่าชาตินี้เป็นตายร้ายดีอย่างไรจะต้องเป็นหมอประสูติให้ได้
เมื่อออกจากป่ามาเรียนต่อจนจบเขาก็ไปเป็นหมอสูติจริงๆ ไม่รู้ว่าป่านนี้รุ่งเรืองหรือรุ่งริ่งอย่างไรเพราะเราสองพี่น้องไม่ได้เจอกันมาสามสิบปีแล้ว
4.3 ถ้าจะเอา “ทุนนิยม”
หรือเอาเงินเป็นตัวตั้ง สามสาขาที่ทำเงินมากที่สุดในอเมริกาคือ ศัลยกรรมกระดูก อายุรกรรมหัวใจ และรังสีวินิจฉัย สำหรับเมืองไทยไม่มีใครสำรวจไว้เพราะคงไม่มีใครสามารถล้วงลูกข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของแพทย์ไทยออกมาได้ เนื่องจากแพทย์ไทยนี้ไม่ใช่นักบันทึกหรือนักบัญชี
แบบว่าโดนเมียน้อยเลี้ยะเอาเงินไปเป็นหลายสิบล้านยังให้การกับศาลด้วยใจสัตย์ซื่อว่า ศาลที่เคารพ ข้าน้อยไม่เคยมีเงินมากขนาดนั้นดอก.. หิ หิ ครั้นจะไปดูที่อัตราการเสียภาษีของแพทย์ก็จะเป็นข้อมูลเก๊แบบกลับตาละปัตร เพราะแพทย์ที่เสียภาษีมากในความเป็นจริงเป็นแพทย์ที่มีรายได้น้อย
ขณะที่แพทย์ที่มีรายได้มากเสียภาษีน้อย ผมไม่ได้หมายความว่าแพทย์ที่มีรายได้น้อยมีคุณธรรมสูงไม่หลบเลี่ยงภาษีหรอกนะ
แต่เป็นเพราะแพทย์ที่มีรายได้น้อยล้วนเป็นมนุษย์เงินเดือน
ถูกนาบภาษีไปก่อนจะได้กำเงินของตัวเองด้วยซ้ำ..มันหลบไม่พ้นอะ ฮือ..ฮือ..ฮือ
ถามว่าส่วนตัวของผมจะแนะนำให้เลือกเรียนสาขาอะไร
ผมแนะนำว่าให้เลือกเรียนสาขาอะไรก็ได้ที่เราคิดว่าเรารักชอบมันและจะมีความสุขที่ได้ทำมันไปตลอดชีวิตครับ
5. ถามว่าหากเลือกออกไปใช้ทุนก่อน แล้วขอทุนจาก รพช มาเรียนต่อ
โอกาสที่จะได้เข้ามาเรียนใน รพ.ที่เป็น รร.แพทย์เช่นใน กทม หรือ จังหวัดใหญ่ๆ ยากไหม
ตอบว่ายากครับ เพราะทุกวันนี้คนจบแพทย์มีมากเนื่องจากนโยบายตะบันปั๊มแพทย์ออกมาแบบไม่ยั้งมือ
แต่ที่เรียนต่อมีน้อย จึงจะต้องแย่งกันแน่นอน แต่ในประเด็นนี้ไม่ต้องห่วงหรอก
เราก็แย่งกันมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว กว่าจะมาเรียนแพทย์ได้นี่ก็แย่งเขามาแทบตาย
จะไปกลัวอะไรอีกละ
6. ถามว่าเวชศาสตร์การบินเป็นอย่างไร
อันนี้ต้องเข้าใจว่ามันมีสองอย่างนะครับ คือ
6.1 หลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบิน ของสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ
เป็นหลักสูตรสามเดือน แพทย์ที่ไหนก็เข้าเรียนได้ จบแล้วเป็นความรู้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่ใช่วุฒิบัตรชนิดขึ้นเงินเดือนได้
6.2 หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การบิน (Preventive Medicine, Aviation Medicine) เป็นของสถาบันเวชศาสตร์การบินเช่นกัน
อันนี้เป็นวุฒิบัตรของแพทยสภา แต่เป็นเขตทหารห้ามเข้า หมายความว่าต้องเป็นหมอทหาร เอาทุนทหารมา
จึงจะเข้าฝึกอบรมได้ ถ้าอยากเรียนทางนี้ก็ต้องเลือกไปใช้ทุนในกระทรวงกลาโหมก่อน
สุดท้ายนี้สำหรับน้องๆที่กำลังจะจบไปเป็นหมอใหม่ ผมฝากว่าอย่าลืมทำตัวเป็นคนไข้ที่ดีให้ได้ก่อนนะครับ
ก่อนที่จะไปสอนคนไข้ว่าการเป็นคนไข้ที่ดีควรเป็นอย่างไร ผมใช้เวลาถึง 30
ปีในการเรียนรู้สิ่งนี้ และในโอกาสที่น้องใหม่จะจบนี้
ผมขออนุญาตคัดลอกจดหมายของสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 4 กพ. 2471 ซึ่งที่มีไปถึงสมาชิกสโมสรแพทย์จุฬาฯ
ดังนี้
“...ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร
แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์
ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี
“...ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร
แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์
ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี
ในขณะที่ท่านประกอบกิจแพทย์ อย่านึกว่าท่านตัวคนเดียว
จงนึกว่าท่านเป็นสมาชิกของ “สงฆ์” คณะหนึ่ง คือคณะแพทย์ ท่านทำดีหรือร้าย
ได้ความเชื่อถือหรือความดูถูก เพื่อนแพทย์อื่นๆจะพลอยยินดีเจ็บร้อนอับอายด้วย...”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Geyman JP. Family Practice in Evolution — Progress, Problems and Projections. N Engl J Med 1978; 298:593-601DOI: 10.1056/NEJM197803162981104
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Geyman JP. Family Practice in Evolution — Progress, Problems and Projections. N Engl J Med 1978; 298:593-601DOI: 10.1056/NEJM197803162981104
2.
คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล. ประมวลลายพระหัตถ์ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จัดพิมพ์เนื่องในวันมหิดล 24 กันยายน
2508.