เล่าเรื่องเดินไพรที่เขาหินปูนโดโลไมท์ อิตาลี

แค้มป์สนาม อิสปรา (Ispra Camp)
     การเดินทางเที่ยวนี้ไปกันแปดคน หากไม่นับหมอพอผู้บุตรซึ่งผมหนีบไปเผื่อช่วยแก้ปัญหาเวลาผู้สูงวัยเกิดอาร์ทแอทแทคแล้ว คนอื่นๆล้วนเป็นเพื่อนผมวัยระดับหกสิบขึ้นทั้งสิ้น เรียนหนังสือด้วยกันมาบ้าง ทำงานใกล้ชิดกันมาสามสิบสี่สิบปีแล้วบ้าง การท่องเที่ยวกับคนที่รู้จักกันมานานมันสบายใจตรงที่ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจหรือกระมิดกระเมี้ยนมาก ทำให้สนุกสนานได้เต็มที่

6 กค. 60

     เราตื่นเช้าขึ้นมาที่แค้มป์สนามอิสปรา (Ispra Camp) ริมทะเลสาปมะโจริ (Lake Magiore) ประเทศอิตาลี การมานอนค้างอ้างแรมในแค้มป์สนามซึ่งเป็นที่เขาเอา "บ้านรถ" มาจอดกันบ้าง กางเต้นท์นอนกันบ้าง มีข้อดีที่หากไม่จู้จี้เรื่องชนิดของที่พัก สนนราคาก็จะถูกกว่าโรงแรมมาก แต่ถ้าจู้จี้มากอย่างพวกเรานี้ เช่นเต้นท์ก็นอนไม่ได้เพราะปวดหลังและลุกจากพื้นไม่ขึ้น ต้องนอนรถบ้านเป็นอย่างต่ำ ต้องมีห้องน้ำส่วนตัวหนึ่งต่อหนึ่งด้วย เมื่อบวกค่าผ้าปูที่นอนปลอกหมอน โหลงโจ้งแล้วราคาก็ไม่หนีโรงแรมนัก แต่ก็ยังดีที่มีความโล่ง มีต้นไม้สีเขียว และมีกิจกรรมยามเช้าให้เลือกทำเช่นขี่จักรยาน เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ แล้วแต่ถนัด ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือผู้คนที่ชอบมานอนแค้มป์สนามมักเป็นคนแบบง่ายๆ คุยสนุกๆ ไม่ใช่พวกผู้ลากมากดี ทำให้การท่องเที่ยวมีชีวิตชีวาและสีสันแปลกออกไปได้บ้าง

     เสร็จจากอาหารเช้าแบบทำกินเองในแค้มป์แล้ว วันนี้เราจะขับรถตียาว ตั้งใจว่าจะขับเลียบฝั่งตะวันออกของทะเลสาปโคโม (Lake Como) แล้วขึ้นไปถึงชายแดนด้านเหนือสุดของอิตาลีเพื่อไปผ่านถนนซิกแซกแบบขับรถขึ้นบันไดชื่อ พาสโซ สะเตวิโอ (passo stevio) ซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าขับยากซิกแซกปราบเซียน แล้วจะวกลงมาแวะเมืองบอลซาโนโบเซ็น (Bolzano Bozen) เพื่อชมมนุษย์หิมะออทซี ซึ่งเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองนี้ นายออทซีคนนี้เป็นมนุษย์ห้าพันปีซึ่งมีคนไปพบฝังอยู่ในหิมะ ร่างกายจึงไม่เน่าเปื่อย เมื่อตอนนักท่องเที่ยวเดินไพรไปสะดุดค้นพบใหม่ๆนั้นเหตุเกิดที่นอกตำบลในแคว้นทีโรลของออสเตรีย ช่วงนั้นผมขับรถไปเที่ยวออสเตรียก็เตรียมจะแวะไปดูเพราะตัวเองเป็นหมอผ่าตัดก็ย่อมจะต้องสนใจอวัยวะร่างกายของคนโบราณเป็นธรรมดา แต่ปรากฎว่าเขาเถียงกันเรื่องเขตแดนแล้วได้ข้อสรุปใหม่ว่าจุดค้นพบอยู่ในเขตของอิตาลี นายออทซี่จึงถูกย้ายมาไว้ที่อิตาลีแทน ผมก็เลยอดดูในตอนนั้น

     วางแผนดิบดีแล้วก็ออกเดินทาง ขับไปตามแผน ระหว่างกำลังขับวกวนลงเขาเพื่อเข้าไปดูตัวเมืองวาเรนนา (Varenna) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวริมทะเลสาปโคโมอยู่นั้น ความที่ขับลงเขามาเร็วบนถนนแคบ และวกวน เมื่อรถบรรทุกโผล่พรวดสวนขึ้นมาก็ต้องหักหลบออกข้างทาง ชนอะไรไม่รู้ดักกึง..ง  แล้วก็ตามมาด้วยเสียง กึก กึก กึก.. เป็นจังหวะตามล้อหมุน

     "เฮ้ย.. ยางแตก"

     เป็นครั้งแรกในชีวิตที่พากันขับรถกันอยู่ตามเมืองนอกเมืองนาแล้วยางแตก เราค่อยๆพารถออกนอกผิวถนน แล้วกระบวนการเปลี่ยนยางก็ดำเนินไปแทบจะเป็นอัตโนมัติ เอาเสื้อสีสะท้อนแสงที่หลังรถมาสวมก่อน แล้วเอาสามเหลี่ยมส่งสัญญาณออกไปวางที่ต้นทางห่างออกไป 150 เมตร ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่กฎหมายบังคับ จากนั้นก็เอายางที่แตกออกได้ในห้านาที แต่พอถึงขั้นตอนจะเอายางอะไหล่ลงมาใช้ก็มีปัญหา หมอแขกร้องถามเสียงดังว่า

     "รถเบ้ล.ล์ ส้นตีนนี้ทางเปิดเอายางอะไหล่มันอยู่ตรงไหนวะ"

     เมื่อผมเดินไปดูก็เห็นจริงว่าที่พื้นห้องเก็บของหลังรถซึ่งปกติเมื่อเลิกผ้ายางปูพื้นออกก็จะเห็นฝาปิดยางอะไหล่นั้น มันกลับเป็นพื้นที่เปิดออกไม่ได้ ลองโทรศัพท์ไปหาบริษัทรถเช่าก็พูดกันไม่รู้เรื่องเพราะอยู่ในป่าเสียงขาดๆหายๆ ยังไม่นับว่าต้องพูดภาษาใบ้กันทางโทรศัพท์อีกต่างหาก ลูกชายไปเอาคู่มือซึ่งเป็นภาษาอิตาลี่มากางอ่านแล้วใช้กูเกิ้ลแปล จนได้ความว่ามีรูอยู่ที่ขอบกันชนหลังสีดำ ให้เอาด้ามแม่แรงยัดรูนั้นแล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกายางอะไหล่ก็จะหย่อนลงมาจากใต้ท้องรถ คลำหากันตั้งนานจึงจะเจอรูซึ่งมีจุกยางสีดำขอบบางเจี๊ยบปิดเนียนๆอยู่บนพื้นผิวซึ่งสีดำเหมือนกันมองยังไงก็ไม่เห็น จะรู้ได้ก็โดยการลูบคลำอย่างละเอียดเท่านั้น เมื่อเปิดจุกอันแนบเนียนนั้นออกก็เสียบด้ามแม่แรงเข้าไปในรูและไขเอายางอะไหล่ออกมาได้

     เปลี่ยนยางเสร็จ ขึ้นรถ เดินทางต่อ รถเบ้ลล์เจ้ากรรมก็รายงานปัญหาขึ้นมาเป็นรูปที่แผงหน้าปัทม์คนขับว่ามันตรวจสอบลมยางในล้อที่เปลี่ยนใหม่ไม่ได้ แล้วแสดงรูปล้อรถพร้อมความดันลมแค่สามล้อ อีกล้อหนึ่งแหว่งและแสดงแสงไฟวาบๆไว้ ผมบอกว่าช่างมันเถอะ ผมใช้รถญี่ปุ่นไม่เห็นจะต้องแสดงความดันลมยงลมยางอะไรให้ยุ่งยากเลย ก็ไม่เห็นมีปัญหา แต่สมาชิกฝ่ายหญิงซึ่งได้เห็นได้รูปรถสามล้อนั้นแล้วเกิดจิตตกไม่ยอมท่าเดียว ตั้งท่าเสียงแข็งว่าจะต้องติดต่อบริษัทเอายางจริงมาแทนจนรถมันบอกว่าทุกอย่างปกติให้ได้ก่อนจึงจะไปขับถนนซิกแซกได้ นี่เรียกว่าหญิงเป็นใหญ่ ก็เลยต้องเสียเวลาโทรศัพท์พูดภาษาใบ้กันอีก จับความได้ว่าต้องขับรถไปอีกเมืองหนึ่งไปที่อู่ชื่อนี้ๆ แล้วไปเปลี่ยนยางที่นั่น เราก็ทำตาม พอขับไปถึงอู่ นายช่างรับฟังปัญหา เอาใบเช่ารถไปดู แล้วพูดภาษาอิตาลีเสียงดังลั่นและลิ้นรัวว่า

    "..กะรันตาชิโนปิโนเช่ต์ เมอเซเด้มาการอง" เพื่อนผู้หญิงถามผมว่าเขาว่ายังไง ผมตอบว่า

   "เขาบอกว่าเขาเกิดมายังไม่เคยเห็นรถเบ้ลล์ จึงซ่อมให้เราไม่ได้" เธอถามว่าจริงหรือ ผมตอบว่า

    "ผมรู้ภาษาอิตาเลี่ยนซะที่ไหนละครับ"
เส้นทางขับรถสาย Passo Stevio มองจากบนเขาลงไป


     ในที่สุดเมื่อให้เขาคุยกันเองทางโทรศัพท์ก็สรุปความได้ว่ายางรถรุ่นนี้ต้องมีเซ็นเซอร์รายงานความดันซึ่งร้านของเขาไม่มี บริษัทรถเช่าให้ขับไปที่อีกเมืองหนึ่ง บอกชื่อที่อยู่ของอีกอู่หนึ่งมา เราก็ขับตามไป คราวนี้ไปเจออู่ใหญ่มีห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโปรดปรานของฝ่ายหญิงด้วย ผู้ชายไปเจรจาเรื่องเปลี่ยนยาง ส่วนผู้หญิงเฮโลกันไปเข้าห้องน้ำ

     คนแรกเข้าห้องน้ำไปได้สักครู่ก็มีเสียงกริ่งฉุกเฉินดังลั่นอู่ ออด..ด..ด พอเธอออกมา สมาชิกอีกคนก็สอบสวนว่า

     "เธอไปดึงเชือกเรียกฉุกเฉินหรือเปล่า" ก็ได้รับคำตอบว่า

    "ใช่ ก็ชั้นหาชักโครกไม่เจอ ชั้นก็เลยดึงมันไปทั่ว เห็นเหมือนกันว่าเขาเขียนป้ายอะไรตัวแดงๆไว้แต่ฉันอ่านออกเสียเมื่อไหร่"

     พูดกันยังไม่ทันขาดคำ เสี่ยงกริ่งฉุกเฉินก็ดังทั่วอู่อีกแล้ว ออด..ด..ด คราวนี้คนที่สองออกมายังไม่ทันถูกสอบสวนเจ้าตัวก็บ่นเสียงดังลั่น
ขาขึ้น มองย้อนลงมา วิวสวย

     "ที่ชักโครกของส้วมอิตาลี่นี่มันโคตรประหลาดเลยวุ้ย มันเอาไปไว้ที่ตีน" 

    เสียเวลาไปสองออด ได้ความว่ายางแบบพิศดารนั้นที่อู่นี้ก็ไม่มี เขาโทรศัพท์หาอู่ที่เมืองข้างเคียงให้อีกสองอู่ก็ไม่มี ผมกับหมอแขกจึงตัดสินใจว่าลืมเรื่องยางรถเสียเถอะ โอกาสที่มาเที่ยวหนึ่งครั้งยางแตกสองหนคงมีไม่มาก เราเดินหน้าท่องเที่ยวกันต่อไปดีกว่า
ผู้ที่ขับผ่านถนนซิกแซกมาแล้วแสดงความลิงโลด

   เมื่อปล่อยวางเรื่องยางอะไหล่ได้ ชีวิตก็มีความสุขขึ้นทันที เราขับรถมุ่งหน้าขึ้นเขาไปถนนซิกแซก ขาขึ้นมองย้อนลงมาวิวสวยมาก พอขับไปถึงยอด แวะถ่ายรูปกับป้ายซึ่งพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์บ้าง จักรยานบ้าง รถยนต์บ้าง พากันเอาสติกเกอร์ที่ระลึกของตัวเองมาแปะไว้เต็มไปหมด แล้วขับลงเขาอีกด้านหนึ่งมุ่งไปยังเมืองบอลซาโนโบเซ็น แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าพิพิธภัณฑ์ปิดไปเสียแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังเมืองออร์เทเซ่ (Ortisei) ไปถึงก็มืดแล้ว เข้าพักแรมในบ้านเช่าของหมอตาชาวอิตาลี่คนหนึ่งชื่ออะไรก็จำไม่ได้ เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆที่สวยงาม มีมุมเล็กๆน่ารักอยู่ทั่วไป

7 กค. 60
ทุ่งดอกไม้ที่ใช้เดินไพรบนเขาซีซีดา

     รุ่งเช้าเราเตรียมใส่รองเท้าเดินไพร เตรียมไม้เท้าเดินไพรแบบสกีโพล เตรียมน้ำ และสะพายเป้ พากันไปขึ้นรถกระเช้าซีซีดา ( Funivie Seceda) ซึ่งเป็นกระเช้าสองท่อน จบท่อนแรกแล้วไปต่อท่อนที่สองขึ้นไปบนยอดเขาซีซีดาซึ่งอยู่ค่อนข้างสูง อากาศหน้าร้อนแม้จะร้อนแต่ก็พอทน แลกกับดอกไม้หน้าร้อนที่เกลื่อนทุ่งหญ้าไปหมดก็ถือว่าคุ้ม บางส่วนของทางเดินมีเชือกฟางเส้นเล็กๆขึงกั้นทางเดินกับทุ่งหญ้าไว้ ผมซึ่งเคยเลี้ยงวัวมาก่อนบอกเพื่อนร่วมทางว่า

     "เชือกนี้อย่าไปจับเข้านะ มันเป็นรั้วกันวัว ถ้าจับจะถูกไฟดูดเอา"

      บางคนกังขาว่าเชือกฟางเล็กแค่นี้นะหรือจะกันวัวได้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าลองของ จนเดินกันไปสักหนึ่งชั่วโมงก็ได้ยินเสียงร้องลั่น

     "ว้าย..ย ไฟดูด" ผมบอกว่า

     "ก็บอกแล้วไงว่าอย่าไปจับ" ก็ได้รับคำตอบว่า

     "ฉันไม่ได้จับ แค่นิ้วก้อยเผลอไปโดนนิดเดียว" อีกคนว่า

     "จริงหรือเปล่า่ ลองอีกทีซิ เมื่อกี้ถ่ายรูปไม่ทัน"
ทุ่งเดินไพรด้านภูเขาแอลป์

     เราเดินไปแวะถ่ายรูปไป ผู้ที่หมดแรงก็ใช้วิธีเดินวงเล็กแล้วไปนั่งรอเพื่อน แบบทางใครทางมัน เพราะมีให้เลือกหลายเส้นทาง ใช้เวลาเดินทั้งหมดราวสองชั่วโมงกว่าก็ลงรถกระเช้ามาทานอาหารกลางวันที่สถานีข้างล่าง

     ตกบ่ายก็ขับรถไปจอดที่สถานีขึ้นกระเช้าด้านภูเขาแอลป์ (Ortisei-Alpe di Siuse) แล้วขึ้นกระเช้าเพื่อไปเดินไฮกิ้งบนที่ราบสูงที่กว้างใหญ่ของเทือกเขาแอลป์ ทางด้านนี้ดอกไม่ไม่สวยเท่าด้านแรก แต่พื้นที่กว้างใหญ่และทางเดินมีความลาดชั้นมากกว่า ตอนออกเดินเป็นทางเดินลง พวกเราจึงเผลอเดินลงไปเสียไกล แต่พอจะเดินกลับก็ต้องแหงนคอมองด้วยความละห้อยและหมดอาลัยตายอยาก เพราะเหนื่อยขาลากหมดแรงกันหมดแล้วทั้งๆที่เพิ่งเริ่มเดินได้วันเดียว ผมนึกขึ้นได้ว่าตอนจะลงมาได้เดินผ่านสถานีเก้าอี้สกีซึ่งยังเปิดทำงานอยู่ ผมเดาเอาว่าเก้าอี้น่าจะต้องขึ้นไปจากที่ใดที่หนึ่งในตีนเขานี้ จึงเดินไปสำรวจกระต๊อบหลังหนึ่งที่อยู่ไกลและต่ำลงไปตรงชายป่าโน้น เผื่อมันจะเป็นฐานสำหรับขึ้นนั่งเก้าอี้สกี และโชคดีที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ จึงร้องบอกต่อๆกันไปว่ามีเก้าอี้ขึ้นไปไม่ต้องเดินขึ้นเขา

     เก้าอี้สกีแบบนี้มันเป็นรุ่นโบราณโล่งโจ้งนั่งได้ทีละสองคนขึ้นนั่งแล้วก็มีแค่เก้าอี้ลอยโทงเทง ไม่มีอะไรกันนอกจากราวที่ตัวเองจับดึงขึ้นลงได้ ก่อนจะขึ้นจึงต้องสั่งเสียกันให้ดี ผมบอกเพื่อนซึ่งไม่เคยเล่นสกีว่า

     "เวลาจะนั่งพี่ยืนตรงสีเหลืองนี้ พอเก้าอี้มันหมุนมาชนก้นแล้วพี่ต้องรีบนั่งลง นั่งได้แล้วให้ดึงราวเหนือศีรษะลงมาจับไว้ตรงหน้า เวลาเกิดหน้ามืดหรือเมาที่สูงเป็นลมจะได้ไม่หล่นตุ๊บลงไปข้างล่าง แล้วถึงเวลาจะลงจากเก้าอี้ ให้พี่ยกราวนี้ขึ้นเหนือหัวแล้วรีบออกเดินหนีไปทางขวามือ ไม่งั้นเก้าอี้มันจะตีก้นเอา"
โบสถ์จริง แต่วิวไม่ใช่

     สั่งเสียกันแล้วพวกเราก็ขึ้นนั่งเก้าอี้สกีทีละสองคน ขาขึ้นไม่มีปัญหา แต่ขาลงบางคนมีปัญหาเพราะความที่มีราวกันอยู่ตรงหน้าตักตัวเองและลืมไปเสียแล้วว่ามันยกขึ้้นได้ จึงไม่รู้จะลงอย่างไร ต้องมีคนตะโกนบอกให้ยกราวขึ้นเหนือหัว พอลงเท้าแตะดินได้แล้วบางคู่ต่างก็พากันวิ่งจู๊ดหนีกันไปคนละทิศละทางแล้วหัวเราะกันเป็นที่สนุกสนาน

     เดินกันอยู่จนค่ำแล้วก็ลงกระเช้ามาขับรถต่อไปยังตำบลตำบลฟูเนซ (Funes) เพื่อไปถ่ายรูปโบสถ์ Chiesetta di San Giovanni ตอนที่ตะวันตกดิน ฟังว่าถ้ามาโดโลไมท์แล้วไม่ได้ถ่ายรูปโบสถ์นี้แล้วตายไปจะเสียชาติเกิดเลยทีเดียว ไปถึงตะวันตกลับโบสถ์ไปหน่อยแล้วแต่ยังเห็นภูเขาข้างหลังจึงรีบถ่ายรูป แต่สมาชิกบางคนที่ทำการบ้านมาก็แย้งว่าไม่ใช่ถ่ายกันตรงนี้ มันต้องขึ้นไปสูงแล้วถ่ายลงมา มันต้องไปอีกที่หนึ่ง อยู่ตามพิกัดนี้..
เฮ้ย ไม่ใช่โบสถ์นี้ แต่วิวมันก็สวยดี

   เอ๋า..า เอ้า ไปก็ไป จึงพากันลนลานรีบขึ้นรถขับต่อขึ้นเขาไปตามพิกัดใหม่แบบร้อนรน มืดก็มืดแล้ว ถนนก็แคบแบบวิ่งได้คันเดียว วกวนขึ้นเขา โชคดีที่ไม่มีรถคันอื่นมาแย่งใช้ ไปถึงที่หมายปรากฎว่าเป็นแค่เก้าอี้นั่งชมวิวอยู่ข้างทางตัวเดียว มองลงไปเห็นเป็นโบสถ์อยู่กลางหมู่บ้านมีภูเขาหินโดนแสงแดดเป็นฉากหลัง สวยงามดี แต่เจ้าของความคิดให้ค้นหาจุดถ่ายรูปก็แย้งอีกว่า

     "เฮ้ย ไม่ใช่ นี่มันคนละโบสถ์แล้ว หน้าตามันเหมือนกันที่ไหน"

      ทุกคนมองแล้วก็เห็นจริง แต่มันก็สวยดี ถ่ายรูปกันไว้เป็นหลักฐานเสียหน่อย
โบสถ์แท้ วิวจริง ไม่มีแดด
แล้วก็ลนลานขึ้นนั่งรถเพื่อหาทางกันใหม่ คราวนี้ไม่มีพิกัดนำแล้ว ต้องขับวนเวียนหาแบบมั่ว คนโน้นว่าต้องไปทางโน้น คนนี้ว่าต้องไปทางนี้ มืดก็มืด รีบก็รีบ มืดจนมองลายมือตัวเองไม่เห็นแล้ว แต่ในที่สุดก็หาจุดถ่ายรูปจนเจอ คราวนี้แหละ โบสถ์แท้ วิวจริง มีภูเขาหินอยู่ข้างหลัง แต่ว่ามาพบจุดถ่ายเอาเมื่อแสงแดดที่จะส่องภูเขาหินนั้นลับไปเสียแล้ว

     นี่เป็นเวลาสามทุ่มกว่า กำลังขับรถจะกลับ เพิ่งออกรถมาได้นิดเดียว คนหนึ่งก็ร้องขึ้นว่า

     "ว้าย..ย พระจันทร์"

     หมายความว่าพระจันทร์ขึ้นมายัดง่ามภูเขาเหมือนภาพที่พวกเราชอบวาดตอนเป็นเด็กนักเรียน จึงจอดรถกันอีกเพื่อถ่ายรูปพระจันทร์ บางคนบอกว่ารออีกนิดให้มันขึ้นสูงพ้นง่ามชัดๆแล้วค่อยถ่าย แต่พระจันทร์บ้านนี้มันไม่เหมือนบ้านเรา เวลาขึ้นมันไม่ได้ขึ้นตรงๆ มันขึ้นเฉียงสี่สิบห้าองศา พวกเราต้องคอยเดินไล่ตามไม่ให้มันลับหายไปหลังเขา กว่าจะถ่ายรูปพระจันทร์ได้ก็ต้องเดินตามกันหลายร้อยเมตร
ตั้งใจจะมาถ่ายพระอาทิตย์ ได้พระจันทร์

     คราวนี้กลับที่พักได้แล้ว เฮ้อ ตั้งใจจะมาถ่ายรูปโบสถ์เดียว ได้สองโบสถ์ ตั้งใจจะมาถ่ายอาทิตย์ตกแต่ได้พระจันทร์ขี้นแทน หนุกดีเหมือนกัน

8 กค. 60

     รุ่งเช้าเราเช็คเอ้าท์ออกจากบ้านเช่าของหมอตาผู้อัธยาศัยดีแล้วเดินทางต่อไปเพื่อขับไปตามถนนท่องเที่ยวชื่อ The Great Dolomite Road โดยไปตั้งต้นแวะดูทะเลสาปคาเรซซา (Lake Carezza) ไปถึงก็พบว่ามันเป็นทะเลสาปขนาดเล็กประเภทดูแต่ตา มืออย่าต้อง เท้าอย่าจุ่ม เพราะมีรั้วกันคนที่บึกบึกแข็งแรงระดับยิ่งกว่ารั้วกันวัวอยู่โดยรอบไม่ให้คนเข้าไปไกล้ตัวทะเลสาป ดูจากจำนวนคนที่มาก็เข้าใจว่าทำไมต้องทำรั้วกันคนแน่นหนาอย่างนี้ เราเดินรอบทะเลสาปหนึ่งรอบ ใช้เวลาไปหนึ่งชั่วโมง แล้วออกเดินทางกันต่อไป
ทะเลสาปคาเรซซา เมื่อหลบกล้องพ้นรั้วกันวัว

     คราวนี้ก็เริ่มเข้าสู่ถนนท่องเที่ยวโดโลไมท์ ขับวกไปวนมาดูวิวสวย ผ่านตำบลและเมืองสวยๆงามๆสองสามแห่ง โดยเฉพาะเมืองคานาซี (Canazei) นั้นสวยมาก  แล้วขับแยกออกไปขึ้นถนนเกลียวสว่าน ไปสู่ยอดเขาชื่อพาสโซ พอดอย (Passo Pordoi) จากจุดนี้เราขึ้นกระเช้าต่อไปยังยอดเขาชื่อซาสโซ พอดอย (Sasso Pordoi) ตั้งใจจะเดินไฮกิ้งบนที่สูงต่อไปยังกระท่อมบนเขาซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดในอิตาลี คือสูงกว่าสามพันเมตร กระท่อมนั้นอยู่ห่างออกไปราวสองกม. แต่ขึ้นมาถึงแล้วไม่มีใครยอมเดินต่อเพราะเมื่อยขา ผมจึงต้องเดินคนเดียวและไปได้แค่กระท่อมพักครึ่งทางเพราะหมดเวลา ต้องกลับมาขึ้นกระเช้าลงเขาเที่ยวสุดท้ายตอนห้าโมงเย็น
ไฮกิ้งบนซาสโซ พอดอย เห็นกระท่อมพักกลางทางอยู่ข้างล่าง

     กลับลงมาที่สถานีกระเช้าแล้วยังเพิ่งห้าโมงกว่า ผมจึงชวนพรรคพวกไปเดินต่อเพื่อขึ้นไปถ่ายรูปที่โบสถ์เล็กๆอยู่ไม่ไกล มีผู้ยอมเดินสามสี่คน ที่เหลือสมัครใจถ่ายรูปเล่นอยู่รอบๆสถานีกระเช้า พวกเราที่สมัครใจพากันเดินขึ้นไปถ่ายรูปโบสถเล็กๆหลังคามุงด้วยสังกะสี ตั้งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางภูเขาสูง สวยงามไปอีกแบบ แล้วเดินกลับลงมา เช็คอินเข้าโรงแรมที่พักคลาสสิกบนยอดเขาชื่อ Hotel Col di Lana กินข้าวเย็นอาหารอิตาลีอร่อยที่โรงแรมนี้

9  กค. 60
โบสถ์เล็กมุงสังกะสี ที่ยอดเขาพาสโซ พอดอย

     ตื่นเช้าที่โรงแรมบนยอดเขาพอดอย มองเห็นภูเขาสูงซาสโซ พอดอย จากหน้าต่างโรงแรม และเห็นนักไต่เขากำลังพากันเดินขึ้นเขาไปจากข้างล่างโดยไม่ง้อกระเช้าสกี น่าจะต้องใช้เวลาเดินบ้างปีนบ้างทั้งวันกว่าจะไปถึงข้างบน


     เราเช็คเอ้าท์แต่เช้า แล้วขับต่อไปตามถนน SS48 ผ่านตำบล Arabba แวะจอดรถที่หน้าโรงแรมบนเขาชื่อ Rifugio Col Gallina แล้วออกเดินไฮกิ้งไปหาทะเลสาบลิมิเดซ (Limides Lake) ทางเดินเรียบง่าย ดอกไม้สีสันสวยงาม แต่พลพรรคต่างพากันก็ออกอาการสะด่องสะแด่งแต่เช้า บางคนหยุดเดินกลางคันแล้วนั่งรอเพื่อนกลับมา ผมถามนักท่องเที่ยวฝรั่งว่าทะเลสาปอยู่ไกลไหม ก็ได้รับคำตอบว่า
ทะเลสาปปลักควาย Lake Limides

     "ทะเว็นตี้มินุท, เลคสมุล..ล"

    แปลว่า twenty minutes, lake small ได้ฟังอย่างนี้แล้วมีคนยอมเดินต่ออีกแค่สามสี่คน พอไปถึงที่หมายเพื่อนร่วมเดินทางก็อุทานเสียงดังลั่น

     "อะไรกันวะ นี่มันปลักควายชัดๆ"

     แต่ว่าแม้จะมีขนานแค่ปลักควาย หากเลือกมุมมอง สื่อให้เห็นความนิ่งของน้ำ และเงาภูเขาข้างหลัง ความรู้สึกต่อสิ่งที่เห็นก็จะเปลี่ยนไป ผมถ่ายรูปมาให้ดูสองมุมมองต่อสิ่งเดียวกันนี้ด้วย
สองมุมมอง ในสิ่งเดียวกัน

เมื่อเราเดินกลับมาเล่าให้เพื่อนที่นั่งรออยู่กลางทางฟัง พวกเธอรับฟังด้วยความดีใจที่ไม่ได้หลงเชื่อเดินไปจนถึง แถมยังบอกพวกฝรั่งที่กำลังจะเดินไปว่าทะเลสาปมันเล็กนิดเดียวอย่าไปเลย พวกฝรั่งฟังแล้วขอบคุณ แต่ก็ยังเดินหน้าไปต่อ โถ ก็เขามาที่นี่เพื่อจะมาเดิน ไม่ใช่มาดูทะเลสาป จะเล็กหรือใหญ่เขาก็ต้องเดินของเขาจนได้แหละ

     เดินกลับมายังที่จอดรถ แล้วขับต่อไป ออกนอกเส้นทางท่องเที่ยวปกติ เข้าสู่ถนน Passo Falzarego สวยงามแต่คดเคี้ยว มุดเข้าซอยลูกรังที่พวกคุณผู้หญิงร้องวีดว้ายด้วยความหวาดเสียวและสั่งให้ถอย แต่สารถีดื้อดึงขับมุ่งหน้า จนไปถึงโรงแรมกระท่อมอันสวยงามบนเขาชื่อ Rifugio Dibona เราจอดรถที่นี่เพื่อไปทดลองเดิน “ผาไข่เย็น” อันเป็นเส้นทางเดินมหาวิบากแบบเดินเกาะไปตามเชือกเหล็กชื่อ Sentiero Geologico Astaldi อยู่ที่บนเขาธรณีวิทยา Tofana เป็นเส้นทางแขวนอยู่บนหน้าผาหินหลากสี มีเชือกเหล็กให้จับเดิน พวกสุภาพสตรีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ยอมไปคนเดียว ที่เหลือขอนั่งดื่มและชมบรรยากาศที่กระท่อม และให้เวลาพวกผู้ชายกับการนี้ไม่เกินสองชั่วโมง เราสี่คนออกเดินขั้นต้นเพื่อดูลาดเลาก่อน
คนตัวเท่ามดที่เห็นลิบๆโน่น กำลังจะเข้าจุดตั้งต้นปีนเขา

     ไปได้สักพัก หนึ่งในสี่ก็ตัดสินใจหลบไปซุกตัวรออยู่ใต้พุ่มไม้เพราะทนแดดร้อนไม่ไหว ที่เหลือเดินสำรวจต่อไป แหงนคอตั้งบ่าไปด้วย ถามทางฝรั่งไปด้วย จนจับความได้ว่าการจะไปถึงจุดตั้งต้นที่จะเดินจับเชือกเหล็กนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปก่อนหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ทางเดินจะพาวนรอบเขาหินซึ่งคงใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง ฝรั่งชี้ให้เราดูคนตัวเท่ามดที่กำลังเดินอยู่ข้างบนโน้นว่ากำลังจะเข้าจุดตั้งต้น ผมกับหมอแขกมองหน้ากันพลาง คิดถึงการต้องไปพบหน้าเหล่าผู้มีอำนาจที่นั่งจิบโค้กรออยู่พลาง แล้วจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า.. "ถอย"

หลบฝนที่กระท่อมริมทาง
     เดินทางด้วยรถยนต์กันต่อไปตามถนน SR48 แล้วเลี้ยวขวาลงถนน SP638 ถึงจุดตั้งต้นทางเดินเท้าหมายเลข Hiking track 473 นี่เป็นทางเดินไฮกิ้งไปทะเลสาปเฟเดรา (Federa lake) ไม่มีป้ายบอกใดๆทั้งสิ้น ตาดีได้ ตาร้ายเสีย การเดินครั้งนี้เป็นไฮไลท์ของวันนี้ เรามาตั้งต้นเอาตอนบ่ายเพราะฝรั่งที่เคยมาบอกว่าใช้เวลาเดินไปกลับแค่สองชั่วโมง ทุกคนดูจะกระตือรือล้นเพราะฟังว่าทะเลสาปแห่งนี้มันสวยมาก แต่เมื่อออกเดินมาได้หนึ่งชั่วโมง สมาชิกก็เริ่มล้มหายตายจากไปทีละคน  ฝนฟ้าเริ่มจะตั้งเค้าเสียแล้ว เดินมาได้ชั่วโมงกว่ามาถึงทางสี่แยก เราตัดสินตรงไปตามป้ายเล็กๆที่เขียนว่า Rifugio Croda da Lago อันเป็นชื่อของกระท่อมที่พักริมทะเลสาป เดินมาได้ราวสองชั่วโมงฝนก็ตก ต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าไปหลบฝนที่กระท่อมริมทาง มีฝรั่งชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งราวเจ็ดคนมาหลบฝนด้วย ชายคากระท่อมเล็กๆจึงแน่นขนัด การคุยกันทำให้ได้ข้อมูลว่าเยอรมันพวกนี้จะไปพักค้างคืนที่กระท่อมริมทะเลสาป และว่าเราเพิ่งเดินมาได้ครึ่งทาง เส้นทางต่อไปจะเริ่มขึ้นเขาสูงชัน เมื่อทราบเช่นนี้แล้วพลพรรคอีก 3 ก็ตัดสินใจกลับหลังหัน เหลือที่จะดั้นด้นเดินหน้าต่อไปเพียงสี่คน บนข้อจำกัดของเวลาซึ่งเป็นเวลาห้าโมงเย็นแล้ว และฝนฟ้าซึ่งคะนองครืนๆ

     การเดินต่อทำให้ทราบว่าคำฝรั่งที่ว่าสูงชันนั้นแปลว่าชันจริงๆ ชนิดที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนแก่อย่างเราจะก้าวขาขึ้นไปโดยไม่มีไม้ค้ำยันช่วย เดินกันบนเส้นทางที่มีแต่ขึ้น ขึ้น ขึ้น และขึ้น นานชั่วโมงกว่า จนสมาชิกคนหนึ่งเริ่มออกอาการทางสมองเพ้อคลั่ง

ทะเลสาปเฟเดรา (Federa Lake)
     "ทำไม้.. ทำไม ลองคิดถึงความจริงซิ คิดถึงการลงทุน อุปกรณ์ เวลา และเงินที่ใช้ไปทั้งหมด ทำไมเราต้องมาลำบากอย่างนี้ด้วย เพื่ออะไร และทำไม วาย หว่าย ว่าย.."

     แล้วก็มีผู้หวังดีตอบพร้อมกับเสียงหัวเราะหึ หึ ว่า

     "ก็เพราะมันอยู่ที่นี่นะสิ "

     ในที่สุดเราก็มาถึง พวกฝรั่งเยอรมันซึ่งมาถึงก่อนหน้าเรานั่งจิบเบียร์ดื่มด่ำกับบรรยากาศอยู่เงียบๆที่ชานกระท่อมริมทะเลสาป เพราะเป็นธรรมเนียมของพวกฝรั่งว่าถ้าอินกับบรรยากาศจะนิ่งเงียบไม่พูดจารบกวนกัน พวกเรามาถึงก็เงียบเหมือนกัน แต่เงียบเพราะหมดแรงจะพูด นั่งดื่มอะไรเย็นๆชื่นใจได้ครู่เดียวฝนก็ทำท่าจะครืนๆมาอีกแล้ว เราจึงตัดสินใจออกเดินกลับ โดยที่ยังนึกไม่ออกว่าขามาแรงดีๆยังใช้เวลาตั้งสามชั่วโมงกว่า ขากลับแรงหมดแล้ว มืดแล้วด้วย ฝนก็เริ่มจะไล่ด้วย ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีใครรู้ไหม ลูกชายส่งข่าวสารไปให้พรรคพวกซึ่งคาดว่าตอนนี้คงรออยู่ที่รถ เขาตั้งแอ็พโทรศัพท์ให้คนอื่นค้นหาเราได้หากเราพลัดหลงหรือต้องนอนค้างอ้างแรมอยู่ในป่า แล้วก็ออกเดินเท้าท่ามกลางเสียงเชียร์ของฝรั่งเยอรมันที่ได้เปรียบพวกเราเพราะพวกเขานอนกันที่นี่

     ผมบอกพรรคพวกว่าเราต้องรีบไปให้ถึงกระท่อมกลางทาง เผื่อฝนตกหนักจะได้นอนค้างคืนในกระท่อมได้ จ้ำอ้าวกันมาท่ามกลางฝนปรอยบ้าง หยุดบ้าง แต่ไม่หนัก เพื่อนผู้หญิงซึ่งเป็นนักปั่นจักรยานเดินนำหน้าตัวปลิว เดินกันเกือบสองชั่วโมงก็ออกจากป่ามาถึงรถได้เอาตอนสามทุ่ม ท่ามกลางความโล่งอกของเพื่อนๆในรถซึ่งกำลังซุ่มวางแผนกันว่าถ้าพวกเราไม่โผล่มาจะเอายังไงกันดี เมื่อเช็คยอดครบแล้วเราก็ตีรถยาวเข้าไปนอนในโรงแรมที่พักในตัวเมืองคอร์ตินา (Cortina)

10 กค. 60
เมื่อใดที่หมอกจาง เห็นภูเขารางๆ ก็ต้องรีบถ่ายรูปไว้

     เราตื่นเช้าออกรถขึ้นเขา เพราะภาระกิจของวันนี้จะเป็นวันทำการใหญ่ คือการเดินเส้นทางรอบเขาไตรซีมี (Tre Cime di Lavaredo) ซึ่งจะใช้เวลาถึง หกชั่วโมง เราขับขึ้นเขาไปตามถนน SS48bis เลี้ยวขวาขึ้นเขาไปจอดรถที่หน้าโรงแรมบนเขาชื่อ Rifugio Auronso ซึ่งนักเดินไพรมาจอดรถกันที่นี่เพื่อเริ่มต้นเส้นทางไฮกิ้งนี้ แต่ว่าตอนที่เรามาถึงนั้น อากาศเปลี่ยนกระทันหัน จากร้อนๆแดดๆกลายเป็นหมอกลงและหนาวลงอย่างเฉียบพลัน พวกฝรั่งซึ่งเดิมแต่งตัวกันสั้นๆโป๊ๆเผลอแป๊บเดียวก็เอาชุดสกีกันหนาวมาใส่กันหมด แต่พวกกะเหรี่ยงยังพากันเจ่าอยู่ในรถทำตัวไม่ถูกเพราะมองออกจากรถไปแค่วาเดียวก็ไม่เห็นอะไรแล้วจึงไม่รู้จะทำตัวอย่างไร รออยู่เป็นชั่วโมงหมอกจางลงบ้างพอเห็นอะไรลางๆห่างออกไปสักสิบเมตร พวกฝรั่งเริ่มออกเดินไฮกิ้งกันแล้ว นั่นแหละเราจึงค่อยๆสั่นงั่กๆออกมาจากดักแด้แล้วไปเดินกับเขาบ้าง เดินไปในม่านหมอก นานๆหมอกจากลงก็พอจะเห็นภูเขารางๆก็ต้องรีบถ่ายรูปไว้ ไม่งั้นก็จะมีแต่รูปถ่ายหมอกทั้งวัน เพื่อนบางคนเดินต่อไม่ไหวเราก็ทิ้งไว้กลางสายหมอก แต่ไม่เปลี่ยวเพราะฝรั่งเดินกันครืด
ทะเลสาปมิซูรีนา

     เดินกันมาได้ชั่วโมงกว่าก็มาถึงกระท่อมร้านอาหารกลางทางชื่อกระท่อมลาวาเรโด (Lavaredo) หาอะไรอุ่นๆกินไปพลางหารือกันไปพลาง ว่าหากไม่เปลี่ยนแผนอะไรชีวิตวันนี้คงจะต้องงมโข่งกันอยู่ในหมอกทั้งวันเป็นแน่แท้ ยังไม่นับเพื่อนบางคนที่ถูกทิ้งไว้กลางสายหมอกอีกละ แล้วจึงตกลงกันว่าจบภาระกิจเดินรอบเขาไตรซีมีไว้เพียงแค่นี้ ลงไปเที่ยวข้างล่างที่มองเห็นอะไรบ้างดีกว่า
    เราจึงขับรถลงจากเขาลงมาแวะเดินเล่นรอบทะเลสาปมิซูรินา (lake Misurina) ซึ่งแม้จะอุดมด้วยนักท่องเที่ยวมากไปหน่อยแต่ก็มีอากาศปลอดโปร่งดี มีบ้านพักเด็กสีเหลืองๆเป็นฉากด้านหนึ่ง มีภูเขาไตรซิมีเป็นฉากอีกด้านหนึ่ง เดินเล่นอยู่จนบ่ายคล้อยจึงเดินทางต่อไป
เมืองริมทะเลสาปสีหยก Auronzo di Cadore

     ผมบอกพรรคพวกว่าเมื่อตอนที่เราอยู่บนเขา ผมมองฝ่าม่านหมอกลงมา เห็นทะเลสาปสีหยกและมีเมืองเล็กๆตั้งอยู่ที่ริบขอบ ผมอยากจะไปดูเมืองนั้น เปิดแผนที่ดูแล้วน่าจะเป็นเมืองออรอนโซ ได คาดัวร์ จึงพากันขับรถไปดู ขับไปบนถนน SS48 แวะกินข้าวเย็นที่ตำบลเล็กๆข้างทาง แล้วขับต่อไปจนถึงเมืองริมบึงสีหยก ลงเดินเล่นและถ่ายรูปกันอยู่จนพอใจแล้วจึงออกเดินทางต่่อไป

     คราวนี้เราเดินหน้าไปตามถนนเดิม แล้วเลี้ยวซ้ายหักศอกลงถนน SP619 ซึ่งคดเคี้ยวดุจเกลียวสว่าน ตรงนี้เป็นถนนอันตรายของอิตาลี เราเข้าสู่หมู่บ้านคลาสสิกชื่อ Sauris di sopra
นอนเล่นที่ระเบียงบ้านไม้โบราณที่เซารีส์ อ้า..ช่างสุขสงบดีจริง
เป็นหมู่บ้านที่สงวนบ้านไม้ไว้ในสภาพดีที่สุด เป็นเมืองลับแล ยากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะบากบั่นมา คนที่มาเที่ยวที่หมู่บ้านนี้จึงมีแต่คนอิตาลีที่ประสงค์จะมารื้อฟื้นกำพืดของตัวเอง เป็นหมู่บ้านที่เงียบเชียบ แค่เราส่งเสียงโบกรถพยายามเอารถเลี้ยวขึ้นไปลงกระเป๋าหน้าโรงแรม ผู้คนก็แทบจะออกจากบ้านมาดูเรากันทั้งหมู่บ้าน

      เราเข้าพักในบ้านพักซึ่งเป็นโรงเตี๊ยมดัดแปลงมาจากบ้านไม้เก่าแก่ที่สุดของประเทศอิตาลีชื่อ  Albergo Diffuso Sauris กะจะนอนฟื้นตัวอยู่ที่นี่สองคืน วันนี้เราเข้าที่พักได้เร็ว มีเวลากางเตียงผ้าใบนอกระเบียงไม้ นอนเอ้เตจิบกาแฟดูชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ปลูกผักเก็บผักที่หน้าบ้านบ้าง ผู้ชายก็ทำงานไม้ทำงานฝีมือบ้าง หลายคนมองเห็นผมแล้วโบกมือร้องทักเป็นภาษาซึ่งผมฟังไม่เข้าใจ แต่ก็โต้ตอบกันได้โดยใช้ภาษาใบ้ประกอบ นอนเล่นเพลินจนเผลอหลับไป มาสะดุ้งตื่นด้วยเสียงรถอีแต๋นขนส่งฟืนของชาวไร่เสียงดังลั่นคับหมู่บ้าน ซึ่งก็พอดีเป็นเวลาตกค่ำ พลพรรคช่วยกันทำอาหารเย็นแบบง่ายๆมากินด้วยกันที่ระเบียง

บ้านเรือนแบบคลาสสิกของเซารีส์ ต้องมีราวรอบไว้ตากพืชผ
     บ้านเรือนในหมู่บ้านเซารีส์นี้เกือบทั้งหมดเป็นบ้านไม้เก่ารูปทรงคล้ายยุ้งข้าวที่ถูกสงวนไว้อย่างดี เป็นสถาปัตยกรรมแบบตามความจำเป็นของท้องถิ่น (Vernacular architecture) มีเอกลักษณ์คือชั้นบนมีระเบียงไม้โดยรอบ โดยที่ราวของระเบียงนี้จะตีเป็นระแนงห่างๆสูงจากพื้นจรดเพดานเพื่อเอาไว้ตากพืชผลทางเกษตร เข้าใจว่าฝนที่นี่คงจะตกบ่อยเสียจนการตากในไร่ทำได้ยาก

11 กค. 60

     วันนี้นอนตื่นสายเพื่อพักฟื้นจากการไฮกิ้งหลายวันติดๆกัน พอสายได้ที่แล้วก็พากันขึ้นรถเพื่อไปเดินไฮกิ้งที่ตำบลคาซีรา รอสโซ (Casera Rosso) ต้องขับรถผ่านถนนอันตรายแบบขดเป็นเกลียวขึ้นไป แล้วไปเดินไฮกิ้งบนทุ่งหญ้าซึ่งมองเห็นภูเขาสวยกว้างไกล แวะถ่ายรูปที่กระท่อมร้างโกโรโกโสไว้เป็นที่ระลึกด้วย
กระท่อมร้างที่ทุ่งหญ้าคาซีนารอสโซ

     กลับจากเดินไฮกิ้งเราแวะที่ตำบล La Maina เพือเยี่ยมชมและซื้อของในไร่สตรอเบอรี่ชื่อ Azienda Agricola Domini Albert  ซื้อสตรอเบอรี่หวานฉ่ำมาตุนไว้ แวะซื้อขาหมูดังยี่ห้อวูลฟ์ (Prosciuttificio Wolf) ตามความต้องการของเพื่อนผู้นิยมขาหมู แล้วกลับมาหมู่บ้านเซารีส์ที่เราพักอยู่ เดินเล่นลงเขาไปดูโบสถ์ของหมู่บ้าน ดูพิพิธภัณฑ์ความเป็นมาของชีวิตผู้คนที่นี่ในอดีตซึ่งทั้งชีวิตดูจะวุ่นวายอยู่กับการทำไร่ ปลูกบ้าน และทอผ้า เราจบวันนี้ด้วยการดื่มกินอาหารเย็นบนระเบียงบ้านไม้ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก

12 กค. 60
ฺBasilica of St Anthony ถ่ายจากด้านหลัง

     เช้าวันนี้เราหารือกันว่าจะเดินทางไปทัสคานีด้วยการย้อนกลับไปทางเมืองคอร์ตินาหรือเดินหน้าขึ้นเขาลงห้วยไปทางเมืองแอมเปโซดี หมอแขกผู้ชอบลุยยุให้เดินหน้าต่อไป ทุกคนตกลง เป้าหมายวันนี้ทั้งวันเป็นการขับทางไกลโดยจะไปให้ถึงฟาร์มกลางทางก่อนค่ำ แต่เมื่อขับมาจริงๆแล้วก็อดแวะนั่นแวะนี่ไม่ได้ คือแวะเดินดูป้อมโรมันโบราณที่ตำบลโอซอปโป (Osoppo) แล้วแวะเข้าไปในเมืองปาดัว (Padau) เพื่อดูวิหารดัง Basilica of St Anthony และชมสวนพฤษศาสตร์โบราณมีชื่อของเมืองนี้ ก่อนจะเข้าพักที่ฟาร์มกลางทางที่ตำบล Grumolo delle Abbadesse ชื่อฟาร์ม Agriturismo La Risarona

     บ้านพักในฟาร์มแห่งนี้เป็นบ้านไม้หลังใหญ่มีสามชั้น เพื่อนที่ถูกแยกไปนอนชั้นสองเพียงห้องเดียวเล่าว่าตอนดึกตีหนึ่งตีสองมีเสียงคนเดินๆลากๆอะไรอยู่ข้างบนไม่หยุดหย่อน เธอกลัวผีจนนอนไม่หลับ ต้องชวนเพื่อนอีกคนกินยานอนหลับกันคนละเม็ด ผมบอกเธอว่าบ้านไม้ในเมืองหนาวมันมักจะมีเสียงแบบนี้แหละเพราะไม้มันหดตัวขยายตัวเวลาอากาศเปลี่ยน สมัยผมทำงานอยู่เมืองนอกเพื่อนที่มานอนค้างที่บ้านผมตกใจกลัวว่าเพราะเข้าใจผิดแบบเดียวกันว่ามีคนอยู่ข้างบนเพดานบ้านทั้งๆที่เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว

13 กค. 60
ตำบลอัศวิน Montefioralle 

     วันนี้เราขับมุ่งลงใต้ไปทัสคานี่ เริ่มต้นการเที่ยวชมเมืองในทุ่งทัสคานี โดยการแวะกินข้าวกลางวันที่เมือง Greve in Chianti กินข้าว แล้วขับต่อไปเพื่อชมตำบลของอัศวินชื่อ Montefioralle อันเป็นตำบลเล็กสมัยกลาง ที่มีถนนแคบขดเป็นก้นหอย
San Gimignano เมืองที่เศรษฐีสมัยกลางแข่งกันสร้างบ้านสูง

     แล้วขับไปชมเมือง San Gimignano อันเป็นเมืองสมัยกลางที่มีเอกลักษณ์ตรงที่มีหอคอยมากที่สุดเหมือนกับกรุงเทพมีตึกสูง แต่ว่าหอคอยในสมัยกลางนี้ความจริงเป็นบ้านสำหรับคนอยู่ ความที่พวกเศรษฐีมีเงินเขาแข่งกันเรื่องการสร้างบ้านให้สูง จึงกลายเป็นหอคอยไป ทั้งเมืองมีหลายสิบหอคอย ที่เหลือดีๆอยู่ก็นับได้เป็นสิบ

     แต่คนไทยรู้จักเมืองนี้ในฐานะที่มีไอติมอร่อย พอจอดรถได้ เดินเข้าประตูเมือง เข้าตรอก ขึ้นเขาไปได้พอเหนื่อย ก็เห็นมีคนยืนคิวที่ร้านไอติมเล็กๆร้านหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งถลาไปเข้าคิว อีกคนก็ร้องทักท้วงว่า

     "ร้านอร่อยอยู่ที่จตุรัสกลางเมือง ชื่อร้าน Gelateria dondori ไม่ใช่ร้านนี้"

    แต่อีกคนซึ่งเหนื่อยจากการเดินขึ้นเนินได้ที่แล้วตอบว่า

     "ฉันจะกินตรงนี้แหละ ฉันว่าร้านนี้ทำเลดีกว่า"

      เดินเล่นชมเมืองอยู่จนค่ำ แล้วเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยังเมืองเซซินา (Cecina) เพื่อเข้าพักในโรงแรมซึ่งเคยเป็นโรงบ่มใบยาสูบเก่าชายทุ่งชื่อ Casone Ugolino เราจะปักหลักพักที่นี่สองคืนเพื่อขับรถเที่ยวให้ทั่วทุ่งทัสคานี
โรงแรมที่เป็นโรงบ่มเก่าชายทุ่ง

     แม่บ้านที่โรงแรมนี้เป็นคนรัสเซีย ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย เวลาเธอจะสอนผมให้ปรับสวิสต์แอร์ ถ้าเธอจะบอกว่ากรณีอุณหภูมิต่ำเกินไป เธอใช้วิธีทำตั่วหนาวสั่นเป็นลูกนก พอเห็นผมพยักหน้าเธอก็แสดงวิธีปรับเพิ่มอุณหภูมิ กรณีอุณหภูมิสูงเกินไป เธอทำท่าปลดกระดุมเสื้อแล้วเอามือพัดตัวเองและเป่าปาก เธอเห็นผมอึ้งไม่พยักหน้าคงคิดว่าผมไม่เข้าใจจึงปลดกระดูมเสื้อจริงๆออกไปเม็ดหนึ่งแล้วเขย่าเสื้อไล่ลม ผมรีบพยักหน้าเข้าใจและกลั้นหัวเราะขำตัวเองไว้ ท่านผู้อ่านจะเข้าใจผมมากขึ้น หากผมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธออายุราว 70 ปีแล้ว

14 กค. 60
โบสถ์คลาสสิกกลางทุ่งทัสคานี

     วันนี้เราขับรถออกแต่เพื่อเช้าขับรถเที่ยวไปตามย่านทัสคานี ขับวกวนไปตามทุ่งและเนินเขา เพื่อไปตั้งต้นเที่ยวที่โบสถ์คลาสสิกขนาดเล็กกลางทุ่งชื่อ Abbazia di Sant’s Antimo ที่ตำบล Montalcino โบสถ์นี่มีความขลังตรงความเรียบง่ายและทำเลที่เป็นชนบท คนมาขับรถเที่ยวทัสคานีไม่มีใครไม่แวะถ่ายรูปโบสถ์นี้
    แล้วขับไปดูบรรหารบุรี หมายถึงเมืองเปียนซา (Pienza) ผมเรียกว่าบรรหารบุรีก็เพราะเมืองนี้เกิดจากชาวเมืองคนหนึ่งชื่อเพียซ ไปได้ดิบได้ดีเป็นโป๊บ จึงอัดฉีดงบมาสร้างบ้านเกิดของตัวเองจนกลายเป็นเมืองสมัยกลายต่อยุคเรอนาซองที่เล็กๆและน่ารัก เป็นจุดแวะของแทบทุกคนที่มาเที่ยวทัสคานี

     เราขับรถหลงทางบ้าง ตั้งใจบ้าง ไปตามเนินเขาและชายทุ่ง บางคราวก็มุดลงถนนฝุ่นของชาวไร่ ทั่วทั้งท้องทุ่งเป็นสีเหลืองทองของกอฟางหลังการเก็บเกี่ยว ชาวไร่อัดหญ้าแห้งม้วนทิ้งไว้กลางทุ่งอยู่ทั่วไป อากาศหน้าร้อนที่นี่ร้อนจริงๆ ผมพยายามหาถนนซิกแซกที่มีต้นสนไซเปรสปลูกอยู่สองข้างแบบที่เห็นตามโปสเตอร์ พากันขับหาอยู่นานจึงพบ หน้าร้อนอย่างนี้มันไม่ได้สวยอย่างในโปสเตอร์ แต่ก็ให้ความรู้สึกจริงจังไปอีกแบบ ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย

   เราขับรถเที่ยวทุ่งที่ร้อนกันจนอ่อนล้า ก็ได้เวลาจะขับไปเล่นน้ำตกร้อน หมายถึงว่าเป็นน้ำร้อนจากใต้ดิน พุขึ้นมาแล้วไหลตามโขดหินลงมาเป็นน้ำตก ผมถามลูกทัวร์ว่า

     "เอาชุดอาบน้ำมาด้วยหรือเปล่า" ก็ได้รับคำตอบว่า

     "เปล่า ทิ้งไว้ที่โรงแรม"

     "ทำไมละ ก็เขียนไว้ในโปรแกรมแล้วไงว่าจะใช้วันนี้" ก็ได้รับคำตอบว่า
น้ำตกร้อน cascate del mulino

     "ฉันลืม แล้วตัวเองละ เอามาหรือเปล่า" ผมตอบว่า

     "เปล่า ลืมเหมือนกัน หิ หิ"

    จบข่าวทัวร์ท่องเที่ยวของคนรุ่นหกสิบอัพ

     เราขับลงมาทางตอนใต้ของทุ่งทัสคานี ผ่านเมืองเก่าสมัยกลางชื่อ Sovana และอีกเมืองหนึ่งซึ่งน่ารักพอกันชื่อ Saturnia แล้วจึงเข้าที่จอดรถของน้ำตกร้อน cascate del mulino ผู้คนมาอาบน้ำตกกันแยะมาก ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น เพราะนักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะรู้ว่าทัสคานีมีน้ำตกร้อนด้วย ขึ้นชื่อว่าเป็นคนท้องถิ่นก็ย่อมจะต้องหลบหลีกการเสียค่าบริการที่ตั้งไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จึงผลัดผ้ากันในลานจอดรถนี่แหละ ประหยัดค่าใช้ห้องล็อกเกอร์ของเทศบาล บรรยากาศเป็นอย่างไรพิจารณาเอาได้จากเสียงร้องของหมอแขกว่า..

     "เฮ้ย.. สันต์ หันหลังกลับไปดูหน่อย มองทะลุกระจกรถดำไป โอ้โฮ นี่มันของจริงๆแท้ๆเลยนะเนี่ย ไทย-เดนมารค์ ของแท้"

     ผมหันไปมองตามแล้วก็อมยิ้ม นึกอนุมัติในใจว่าคำพูดของหมอแขกถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ แล้วก็มีเสียงแม่บ้านสมองช้าคนหนึ่งถามว่า

     "อะไรกันวะ ไทย-เดนมาร์ค" แล้วก็มีเสียงแม่บ้านสมองไวอีกคนหนึ่งตอบให้ทันทีว่า

     "ก็นมจากเต้าไง้" พวกเราหัวเราะกันพักใหญ่ ผมจึงร้องเพลงโฆษณาไทย-เดนมาร์ค ฉบับจริงให้ฟังว้่า
ไร่องุ่นบนหน้าผาริมทะเลทัสแคน

     "อย่า.. อย่าทำนมหกซิจะ เสียดาย
     เพราะเป็นนมจากไทย-เดนมาร์ค
     นมดีจากฟาร์มกว้าง อุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง..

     (แล้วทำเสียงเข้มว่า)

     ไทย-เดนมาร์ค นมจากเต้า เรามีฟาร์ม

      ตะแล้นแต๊นแต้น..น.."

     เสร็จจากเที่ยวชมวิวและเอาเท้าแช่น้ำตกร้อนแล้ว เราก็พากับขับรถกลับโรงบ่มใบยาสูบเก่าอันเป็นที่พัก

15 กค. 60

     วันนี้เราอำลาทัสคานี ขับรถเลียบชายทะเลขึ้นเหนือ แวะเที่ยวเมืองเก่าอีกเมืองหนึ่งชื่อเมือง Lucca ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่มีชื่อเสียงแต่ว่าเราก็ชมเมืองเก่ากันเสียจนเบื่อแล้ว จากนั้นพากันขับต่อไปยังที่พักริมทะเล
ตะวันตกที่บ้านพักในไร่องุ่นริมทะเล
ซึ่งในความเป็นจริงคือการขับรถขึ้นเขา ถนนแคบเลาะปากเหว สไตล์อิตาลีแท้ ขึ้นมาถึงระดับหนึ่งก็กลายเป็นถนนลูกรังที่ทั้งมุดป่าทั้งแคบ และทั้งหักศอกวกวน ผู้โดยสารผู้หญิงเริ่มส่งเสียงประท้วงการจัดการที่พักว่าทำไมต้องมาพักในที่ลำบากลำบนอย่างนี้ด้วย เมื่อไปถึงที่หมายก็พบว่ามันเป็นบ้านสีเหลืองตั้งโด่อยู่ในไร่องุ่นบนหน้าผาสูงริมทะเลทัสแคนซึ่งมีน้ำสีน้ำเงินเข้ม เมื่อเข้าที่พักแล้วผมไปเดินเล่นอย่างเพลิดเพลินในไร่องุ่น ตัวไร่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาดีนัก แต่วิวโดยรอบสวยมาก

     แต่ว่าเรามาถึงเอาเกือบสามทุ่มโดยที่ยังไม่ได้กินอะไรกันมาเลย ทุกคนลงมติเป็นเอกฉันว่าจะไม่ขับรถออกไปหาอะไรกินเพราะยังขนลุกและเหนื่อยจากการเดินทางขึ้นเขาไม่หาย
ที่นอนเล่นดูวิวหน้าบ้าน

     "คุณไม่ได้เป็นคนขับสักหน่อยคุณจะเหนื่อยอะไร"

     "ฉันก็เหนื่อยจากการเหยียบเบรคนี่แหละ รถจะพุ่งลงเหวที่ฉันก็เผลอเหยียบเบรคตัวโก่งที"
เมืองเวอร์นาซซา มองลงไปขณะไฮกิ้งบนหน้าผาตอนเช้าตรู่

     สรุปว่าคืนนี้กินอะไรกันไปตามมีตามเกิด ซึ่งก็อิ่มได้เหมือนกัน รุ่งเช้าผมชวนคนอื่นไปเดินไฮกิ้ง มีคนยอมไปด้วยสองคน เราเดินเลียบหน้าผาริมทะเลลงไป มองลงไปข้างล่างเห็นเมืองเวอร์นาซซา (Vernazza) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆริมทะเลสวยงามมาก

     การเดินทางยังต้องมีต่อไปอีกหลายวัน แต่ผมเขียนบันทึกนี้มานานพอควรแล้ว เห็นจะต้องจบการเล่าเรื่องเที่ยวครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี