จริงหรือที่เขาว่ากะทะเทฟล่อนทำให้เป็นมะเร็ง
เรียนคุณหมอสันต์
ทราบมาว่าโรงงานต่างๆที่ผลิตกะทะเทฟลอนกำลังจะหยุดผลิตแล้วเพราะปัจจุบันนี้พบว่าเทฟลอนเป็นสารก่อมะเร็ง ที่บ้านดิฉันใช้กะทะเทฟลอนเยอะมากทุกวัน อยากให้คุณหมอสันต์ช่วยอธิบายว่าเทฟลอนเป็นสารก่อมะเร็งจริงไหม แล้วอย่างนี้ดิฉันต้องทิ้งกะทะเทฟลอนทั้งหมดและเปลี่ยนกลับไปใช้กะทะสะแตนเลสหรือไม่ แล้วตัวดิฉันซึ่งกินเข้าไปมากแล้วต้องไปเจาะเลือดตรวจหรือเปล่า
................................
ตอบครับ
ความจริงคำว่าเทฟลอน (Teflon® ) นี้เป็นชื่อการค้านะครับ หมายความว่าหากไปว่าเขาให้เสียหายโดยที่มันไม่เป็นความจริงเขาอาจมาฟ้องร้องเอาความได้ แต่เอาเหอะ ผมจะตอบคุณไปตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีนะ ถ้าเขาจับผมเข้าคุก คุณส่งข้าวให้ผมหน่อยก็แล้วกัน
1.. ถามว่าจริงไหมที่ว่าเทฟลอนเป็นสารก่อมะเร็ง ตอบว่าไม่จริงครับ ไม่มีหลักฐานใดๆแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าเทฟลอนนี้จะเป็นสารก่อมะเร็งไม่ว่าในคนหรือในสัตว์ ไม่มีเลย บ๋อแบ๋
ชื่อจริงของเทฟลอนคือพีทีเอฟอี. (polytetrafluoroethylene - PTFE) เป็นสารที่เสถียรและทนความร้อนความเย็นดีมาก นอกจากจะใช้เคลือบกะทะแล้วยังใช้เคลือบเสื้อผ้าและสิ่งทออีกหลายอย่างที่เราสวมใส่อยู่
2.. ถามว่าจริงไหมที่ว่าการผลิตเทฟลอนกำลังจะหยุดผลิต ตอบว่าจริงในสหรัฐอเมริกา เพราะในกระบวนการผลิตเทฟลอนได้ใช้สารอีกตัวหนึ่งชื่อพีเอฟโอเอ. (Perfluorooctanoic acid - PFOA) มาเผาในขั้นตอนการผลิตเทฟลอน สารพีเอฟโอเอ.นี้ไม่มีในกะทะเทฟลอนดอกนะเพราะตอนจบมันถูกเผาไปหมดแล้ว แต่ไปตกค้างในสภาพแวดล้อมรอบๆโรงงานรวมไปถึงห้วยหนองคลองบึงและเข้าไปอยู่ในเลือดของคนโดยไม่ยอมสลายหายไปไหนไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่ปี อีพีเอ. (องค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ - EPA) จึงกลัวผลเสียระยะยาว จึงทำความตกลงกับโรงงานที่ใช้พีเอฟโอเอ.ว่าให้ค่อยๆหยุดใช้เสีย ข้อตกลงนี้ทำกันมาสิบปีได้แล้วกระมัง ทำให้การใช้พีเอฟโอเอ.ลดน้อยลงเป็นลำดับจนเกือบจะหมดแล้วในปัจจุบัน
3.. ถามว่าสารพีเอฟโอเอ.จากโรงงานเทฟลอนนี้เป็นสารก่อมะเร็งในคนไหม ตอบว่าอีพีเอ.ไม่ได้จัดสารพีเอฟโอเอ.เป็นสารก่อมะเร็ง แต่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2B แปลว่ามีหลักฐานว่าเมื่อจับกรอกปากสัตว์ในปริมาณมากๆแล้วทำให้สัตว์เป็นมะเร็งได้แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในคน คือต่ำชั้นกว่าไส้กรอก เบคอน แฮม เสียอีกซึ่งได้ชั้น 2A ที่แปลว่ามีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในคนเรียบร้อยแล้ว งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาคนรอบๆโรงงานพบว่ามีคนเป็นมะเร็งบางชนิด แต่อุบัติการเป็นมะเร็งก็ต่ำมากจนอาจเกิดจากโอกาสทั่วๆไป (by chance) ก็ได้ สรุปว่าไม่มีหลักฐานว่าพีเอฟโอเอ.ก่อมะเร็งในคน อย่างไรก็ตามย้ำว่าสารพีเอฟโอเอ.ไม่ได้อยู่ในกะทะนะครับ แต่อยู่รอบๆโรงงาน งานวิจัยขูดก้นกะทะดูพบว่าไม่มีสารพีเอฟโอเอ. บางตัวอย่างที่พบมีสารพีเอฟโอเอ.ก็พบว่ามีน้อยมากจนตัดทิ้งได้ เพราะน้อยกว่าในสารตัวอย่างอื่นๆจากสิ่งแวดล้อมทั่วๆไปเช่นฝุ่นละอองในอากาศ น้ำ และอาหาร เสียอีก
4. ถามว่าเมื่อกินกะทะ เอ๊ย ไม่ใช่ กินเทฟล่อน เอ๊ย..ไม่ใช่ กินอาหารที่ใช้กะทะเทฟล่อนทอดไปมากแล้ว ต้องไปเจาะเลือดดูหน่อยไหม ตอบว่าแหม..ชอบกันจังเลยนะ เจาะเลือดดูแล้วไม่ทำอะไรเนี่ย การไปเจาะเลือดดูระดับพีเอฟโอเอ.ถ้าอยากเจาะดูก็เจาะได้แต่ต้องส่งเลือดไปตรวจแล็บเมืองนอกนะ แล้วได้ผลมาแล้วก็แปลความไม่ได้ว่าสูงต่ำดีชั่วเป็นประการใด เพราะวงการแพทย์ไม่ได้นิยามค่าปกติของระดับพีเอฟโอเอ.ในเลือดไว้ เนื่องจากมันไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน ดังนั้นเจาะไปก็ไลฟ์บอย เพราะรู้ระดับแล้วก็แปลความหมายไม่ได้ เพราะคนปกติธรรมดาทั่วไปเกือบทุกคน (ในสหรัฐ) มีสารพีเอฟโอเอ.อยู่ในเลือดเกือบทุกคน ไม่รู้ว่าพวกเขาไปเอามาจากไหนกัน แต่ที่แน่ๆไม่ได้เอามาจากกะทะ เพราะเลือดคนไม่กินกะทะ เอ๊ย ไม่ใช่ เลือดของคนไม่ใช้กะทะเทฟล่อนก็มีสารพีเอฟโอเอ.สูงเหมือนกัน มีก็แต่เฉพาะคนที่อยู่ใกล้โรงงานหรือริมแม่น้ำที่ไหลผ่านโรงงานนั้นที่ชัวร์ป้าด..มีสูงมากกว่าชาวบ้านเขาหมด
5. ถามว่าต้องโละกะทะในครัวทิ้งหมดไปซื้อใหม่ไหม ตอบว่าถ้าคุณเป็นคนแบบพยาบาลลูกน้องเก่าของผมคนหนึ่ง คุณจะทำอย่างนั้นก็ได้นะ คือสมัยผมทำงานชนบทอยู่ที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2523) มีพยาบาลคู่ใจอยู่หนึ่งคน ที่ให้ตำแหน่งคู่ใจก็เพราะทั้งโรงพยาบาลมีพยาบาลอยู่คนเดียว เธอเป็นคนที่ชอบซื้อหม้อ ชาม ราม ไห และเครื่องครัวทุกชนิดจนไม่มีตู้จะใส่ สามีของเธอทำงานอยู่อีกกรมหนึ่งในละแวกใกล้เคียงกันและเป็นคนขี้เล่นและขี้เกรงใจภรรยา จะทำอะไรประชดประชันแต่ละทีก็ต้องอ้อมค้อมไกลมาก วันหนึ่งมีคนเอาเครื่องครัวหม้อชามรามไหมาตระเวณเร่ขายแบบเงินผ่อน สามีของเธอเห็นได้ทีจะรีบเข้าไปบอกคนขายว่า
“คุณไปขายให้เมียผมสิ รับรองว่าคุณต้องได้ขายแน่นอน”
ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
.
1. Barry V, Winquist A, Steenland K. Perfluorooctanoic acid (PFOA) exposures and incident cancers among adults living near a chemical plant. Environ Health Perspect. 2013;121:1313−1318.
2. Benbrahim-Tallaa L, Lauby-Secretan B, Loomis D, et al on behalf of the International Agency for Research on Cancer Monograph Working Group. Carcinogenicity of perfluorooctanoic acid, tetrafluoroethylene, dichloromethane, 1,2-dichloropropane, and 1,3-propane sultone. Lancet Oncol. 2014:15:924-925.
3. Post GB, Cohn PD, Cooper KR. Perfluorooctanoic acid (PFOA), an emerging drinking water contaminant: A critical review of recent literature. Environ Res. 2012;116:93−117.
4. Steenland K, Fletcher T, Savitz DA. Epidemiologic evidence on the health effects of perfluorooctanoic acid (PFOA).Environ Health Perspect. 2010;118:1100−1108.
5. Steenland K, Woskie S. Cohort mortality study of workers exposed to perfluorooctanoic acid. Am J Epidemiol. 2012;176:909–917.
6. Vieira VM, Hoffman K, Shin HM, et al. Perfluorooctanoic acid exposure and cancer outcomes in a contaminated community: A geographic analysis. Environ Health Perspect. 2013;121:318–323.