ผลต่อสุขภาพของผักออร์แกนิกเทียบกับผักธรรมดา
คุณหมอสันต์ครับ
ผมชื่อ... อายุ 42
ปี เป็นวิศวกรทำงานวิเคราะห์ระบบ ทำมาสิบกว่าปีแล้ว
มีความเบื่อสิ่งที่ทำ เพราะคิดว่าทำมานานเกินไป ผมมีความคิดอยากจะเลิกทำงานอาชีพเพื่อไปทำอย่างอื่นที่ผมน่าจะมีความสุขกับมันมากกว่า
เพราะว่าผมไม่มีลูก ไม่มีความจำเป็นต้องทำมาหาเงินมากมาย แม้ว่าจะเกิดในกรุงเทพ
แต่ก็เคยไปทำงานระยองอยู่หลายปี จึงมีความชอบชีวิตต่างจังหวัดอยู่ ผมกำลังคิดจะซื้อที่ดินในต่างจังหวัดที่ไหนสักแห่ง
อาจจะเป็นแถวมวกเหล็กหรือเขาใหญ่ที่คุณหมอพูดถึงบ่อย สิ่งที่ผมเขียนมาหาคุณหมอก็คือผมมีความคิดมานานแล้วที่อยากจะไปปลูกผักแบบ
organic farming แต่เขียนมาหาคุณหมอเพราะไม่เคยเห็นคุณหมอเชียร์พืชผักที่ปลูกแบบออร์แกนิกให้คนหันมาบริโภคเลย
ทั้งๆที่ผมทราบว่าคุณหมอก็ปลูกผักออร์แกนิกมาก่อน ทำไมละครับ ผักออกแกนิกน่าจะดีที่สุดต่อสุขภาพไม่ใช่หรือ
หรือว่ามีเหตุผลอื่นที่ไม่ดีทำให้คุณหมอไม่แนะนำ
คุณหมอมีอะไรอย่างอื่นจะแนะนำผมด้วยก็ยินดีนะครับ
จะด่าผมก็ได้
......................................................
ตอบครับ
มาอีกละ พวกดิ้นรนทำให้กระเป๋าเงินของตัวเองเล็กลง
พูดถึงวิศวกรไปทำไร่
สมัยผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ว่าจ้างนายช่างใหญ่คนหนึ่งเข้ามาให้คำแนะนำในเรื่องการปรับปรุงอาคารของโรงพยาบาล
ต้องทำงานด้วยกันบ่อย จึงมีความสนิทสนมกันพอควร เขาอายุมากกว่าผม
ผมจึงเรียกเขาว่าพี่ พอหมดสัญญากับโรงพยาบาล เขาก็ไปทำไร่มันสำปะหลัง ได้ติดต่อกันอีกครั้งจึงทราบว่าเขากำลังหาซื้อรถสิบล้อไปขนน้ำรดมันสำปะหลัง
ผมแหย่ว่า
“..โอ้โฮ
เอาขนาดนั้นเลยหรือพี่ อย่าถึงขั้นซื้อรถแบ้คโคด้วยก็แล้วกัน”
เขารีบตอบว่า
“แบ้คโคผมมีแล้ว
แต่หน้าจอบมันเล็กไปขุดร่องยาก ผมว่าจะขายซื้อคันใหญ่ขึ้น”
คือพวกนายช่าง
ไปทำอะไรนิสัยก็ยังเป็นนายช่าง คิดดูสิคนทำไร่ธรรมดาๆใครเขาจะมีทั้งสิบล้อขนน้ำและรถแบ้คโคขุดร่อง
ผมไม่ทราบว่าพี่ท่านทำไร่มันแล้วได้กำไรหรือขาดทุน แต่ก็ขอให้พี่ท่านโชคดีมีสุขก็แล้วกัน
มาตอบคำถามคุณดีกว่า
ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ
ผมขอนิยามคำว่าผักออร์กานิกให้ผู้อ่านทั่วไปได้เข้าใจกันจริงๆจังๆก่อนนะครับ เพราะตัวผมน่าจะมีคุณวุฒิพอที่จะอธิบายนิยามนี้ได้ เนื่องจากสมัยที่ผมทำไร่ปลูกผักขายอยู่นั้น
ไร่ของผมได้รับการรับรองจากองค์การ IFOAM ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติที่เป็นผู้ให้การรับรองฟาร์มออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานสากล
โดยคำนิยาม
พืชที่ปลูกด้วยวิธีออร์แกนิกนั้น จะต้องไม่ใช้เมล็ดพันธ์ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรม
ต้องไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใดๆ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี
ไม่มีการใช้อุจจาระคนมาทำเป็นปุ๋ย ไม่มีการใช้ขยะมูลฝอยของเมือง (garbage) เป็นปุ๋ย ไม่มีการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นปุ๋ย ไม่มีการใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย
เว้นเสียแต่จะผ่านกระบวนการหมักจนย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว
สิ่งที่ใช้เป็นปุ๋ยได้นั้นมีเพียงพืชและผลิตผลจากพืชด้วยกัน
หรือพูดง่ายว่าอินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการหมักย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์แล้วเท่านั้น
ดังนั้นผักไฮโดรโปนิก (ที่ปลูกในน้ำ) จึงไม่ใช่ผักออร์แกนิก
เพราะใช้ปุ๋ยเคมีใส่ลงไปในน้ำ ผักปลอดสารพิษก็ไม่ใช่ผักออร์แกนิก
เพราะเป็นเพียงผักที่ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเท่านั้น
แต่ยังใช้ปุ๋ยเคมีใส่ลงไปในดินอยู่ ผักปลอดภัยจากสารพิษ ก็ยิ่งไม่ใช่ผักออร์แกนิกใหญ่
เพราะใช้ทั้งยาฆ่าแมลง (ในอัตราบันยะบันยัง) และใช้ทั้งปุ๋ยเคมี
1.. ถามว่าผักออร์กานิก
(organic vegetable) มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรเป็นพิเศษหรือไม่
คุ้มค่าเงินสำหรับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายมากขึ้นหรือเปล่า ตอบว่าหลักฐานเรื่องนี้ของไทยไม่มีใครเคยทำวิจัยตีพิมพ์ไว้เลย
สำหรับของฝรั่ง ก่อนหน้านี้หลักฐานทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ออกมา ก็ไม่พบว่าผักออร์กานิกมีผลดีต่อสุขภาพแตกต่างจากผักธรรมดาแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม
เมื่อเร็วๆนี้ วารสารโภชนาการอังกฤษ (BJN)
ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่นำงานวิจัยเปรียบเทียบผักออร์แกนิกกับผักธรรมดา
เฉพาะงานวิจัยที่เป็นหลักฐานระดับสูงจำนวน 343 งาน มาวิเคราะห์แบบเมตาอานาไลสิส
ซึ่งสรุปผลได้ว่าผักออร์แกนิกมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผักธรรมดา 17% ตัวสำคัญบางตัวเช่น flavanones, flavonols, anthocyanins มีมากยิ่งกว่านั้นเสียอีก ขณะเดียวกันผักออร์แกนิกมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนน้อยกว่าผักธรรมดาสี่เท่า
และมีสารแคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักอันตรายน้อยกว่าผักธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นเดียวที่สนับสนุนว่าผักออร์แกนิกดีกว่าผักธรรมดา
แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลในห้องแล็บ ไม่ใช่ข้อมูลที่แสดงผลของผักออร์แกนิกต่อร่างกายคนจริงๆ
พูดง่ายๆว่าเป็นเพียงหลักฐานระดับต่ำ ไม่ใช่หลักฐานระดับสูง
ดังนั้นแปลไทยให้เป็นไทยก็คือผักออร์กานิกมีสารอาหารที่มีคุณประโยชน์มากกว่าผักธรรมดา
มีสารเคมีปนเปื้อนน้อยกว่าผักธรรมดา ขณะที่ข้อมูลผลต่อร่างกายคนว่าแตกต่างจากผักธรรมดาหรือไม่..ยังไม่มี
ความแตกต่างของคุณสมบัติที่ตรวจวัดได้ในห้องแล็บนี้จะคุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบเท่าตัวหรือไม่
อันนี้ผมไม่แน่ใจ ขอทิ้งไว้ให้เป็นดุลพินิจของผู้บริโภคเองก็แล้วกัน
2.. ที่ว่าจะไปหาซื้อที่ดินแถวมวกเหล็ก-เขาใหญ่เพื่อปลูกผักนั้น ผมแนะนำให้เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนจังหวัดเสียดีกว่าครับ
เช้าวันนี้ผมเข้าไปธุระที่ตลาดมวกเหล็ก
จึงถือโอกาสเลยเข้าไปดูที่ดินที่เขาประกาศขายโครงการหนึ่งใกล้คลองมวกเหล็ก
ไม่ไกลจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เผื่อเป็นทางเลือกให้สมาชิกที่จะมาอยู่แบบ coho จึงพบว่าเขาขายกันตารางวาละ 29,000 บาท มีอยู่แปลงหนึ่ง
ขนาดพอปลูกผักแจกเพื่อนๆได้ คือสองไร่เศษๆ ที่ดินเปล่านะ มีแต่หญ้าคลุมและตัดหญ้าเรียบร้อย
ราคาตก 30 ล้านบาท คุณต้องปลูกผักขายกี่ชาติละครับ
จึงจะถึงจุดคุ้มทุนค่าที่ดิน ถ้าจะคิดว่าปลูกผักเอาความโรแมนติกเอาวิวแพงหน่อยก็จะยอม
ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ เมื่อต้นปีนี้ คนรู้จักของเพื่อนผมอีกคนหนึ่งเขาไปตระเวนหาซื้อที่ปลูกบ้านพักที่เขาใหญ่
ที่ตำบลหมูสี เขาขายที่กันตารางวาละ 25,000 บาท วิวดี
จึงซื้อ ลงมือปลูกบ้าน เพิ่งขุดดินทำฐานรากยังไม่ได้ขึ้นตัวบ้านเลย ก็พบว่าวิวตรงหน้าที่ว่าดีๆนั้นมีคอนโดยาวเหยียดแบบรังผึ้งโผล่ขึ้นมาขวางวิวดื้อๆ..เจ็บไหมละครับ
วาละ 25,000 บาท ก็คือไร่ละสิบล้านบาท
3.. ถามว่าผมมีอะไรจะแนะนำอีกไหม
ตอบว่าเรื่องปลูกผักไม่มีแล้วครับ เรื่องคนดิ้นรนอยากเสียเงินนี้ตัวใครตัวมันเลยดีกว่าครับ
แต่เรื่องสุขภาพจิต
ผมพอจะมีคำแนะนำอยู่บ้าง อาการของคุณเขาเรียกว่าคนประสบกับวิกฤติครึ่งชีวิต (midlife
crisis) พูดง่ายๆว่ามาไม่มีความสุขเอาเมื่ออยู่ในวัยกลางคน
สิ่งที่ผมจะแนะนำคุณได้ก็คือผลวิจัยทางการแพทย์ที่ว่าอะไรสัมพันธ์กับการมีความสุข
อะไรที่ไม่สัมพันธ์กับการมีความสุข
สิ่งที่สัมพันธ์กับการทีความสุข ได้แก่
(1) “การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อในศาสนาของตน”
ข้อมูลแยกไม่ออกว่าเป็นเพราะพระเจ้าหรือธรรมะดีจริง
หรือเป็นเพราะการได้ไปสมาคมกับคนพันธุ์เดียวกัน
แต่ก็สรุปได้แน่ชัดว่าพวกธัมมะธัมโมถือศีล ไม่ว่าจะถือสากด้วยหรือไม่ก็ตาม
ล้วนมีความสุขมากกว่าพวกไม่เอาศาสนา
(2) “การมีเพื่อนซี้” หรือญาติสนิท หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย บางงานวิจัยพบว่าเพื่อนซี้ในที่ทำงานมีผลต่อความสุขมากกว่าคู่สมรส ในประเด็นการแต่งงาน พบว่าคนได้แต่งงานมีความสุขมากว่าคนไม่แต่งงาน
(2) “การมีเพื่อนซี้” หรือญาติสนิท หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย บางงานวิจัยพบว่าเพื่อนซี้ในที่ทำงานมีผลต่อความสุขมากกว่าคู่สมรส ในประเด็นการแต่งงาน พบว่าคนได้แต่งงานมีความสุขมากว่าคนไม่แต่งงาน
(3) ก็คือการได้ง่วนทำอะไร
ยิ่งเป็นอะไรที่ใด้ใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเต็มที่ด้วยยิ่งสุขมาก
ในประเด็นต้องได้ทำอะไรถึงจะมีความสุขนี้ นายชิคเซนท์เมฮี (Mihaly
Csikszentmihalyi) ได้ทำวิจัยไว้อย่างพิสดาร
คือสุ่มเพจเข้าไปหาคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยไม่เลือกเวลาแล้วถามว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่เอ่ย
แล้วคุณกำลังรู้สึกยังไง ก็ได้ผลสรุปออกมาชัดเจนว่าถ้ากำลังง่วนทำอะไรอยู่
จะรู้สึกดีมีความสุขมากกว่าถ้าอยู่ว่างๆเฉยๆ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ
หลายงานวิจัยสรุปได้ว่าการได้ง่วนกับอะไรที่ง่ายๆราคาถูกๆ
มีความสุขมากกว่าการเล่นของยากๆราคาแพงๆ
คนทำสวนเป็นงานอดิเรกมีความสุขมากว่าคนเล่นเรือยอชต์ เป็นต้น
(4) การฝึกสติ ให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย
(relaxation response) จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น
นั่งสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก รำมวยจีน โยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
(5) การออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ
30 นาที
การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารก่อความสุขโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด
(6) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย
(7)
การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี
และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้
ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง
(8) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก
สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก
ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง
หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันคือ
(1) การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย
(2) การมีความรู้สูง
(3) การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง
(4) วัย อันทีจริงผลวิจัยบางรายการพบว่าวัยสูงอายุมีความสุขมากกว่าวัยหนุ่มสาวเสียอีก
(5) เพศ
(7) การมีลูกหรือไม่มี
ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันคือ
(1) การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย
(2) การมีความรู้สูง
(3) การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง
(4) วัย อันทีจริงผลวิจัยบางรายการพบว่าวัยสูงอายุมีความสุขมากกว่าวัยหนุ่มสาวเสียอีก
(5) เพศ
(7) การมีลูกหรือไม่มี
ทั้ง 7 ข้อนี้ล้วนไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนมีความสุขหรือไม่มี
ผมแนะนำคุณได้แค่นี้แหละครับ ที่เหลือคุณเอาไปประยุกต์ใช้เอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ผมแนะนำคุณได้แค่นี้แหละครับ ที่เหลือคุณเอาไปประยุกต์ใช้เอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Baranski, M. et al. Higher antioxidant concentrations and
less cadmium and pesticide residues in organically-grown crops: a systematic
literature review and meta-analyses.” British Journal of Nutrition (2014), 112,
794–811