Assisted living สิ่งที่เมืองไทยไม่มี
กราบเรียนอาจารย์สันต์
หนูเป็นเภสัชกร แต่กำลังอยู่ต่างประเทศ
ไม่มีญาติเป็นหมอ อ่านบทความของอาจารย์มากเสียจนคิดว่าอาจารย์เป็นญาติผู้ใหญ่
ตอนนี้หนูมีปัญหา คือคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ซึ่งอายุ 74
ปีต้องอยู่บ้านคนเดียว เด็กคนใช้เปลี่ยนบ่อยและคนสุดท้ายลาออกไปหนึ่งเดือนแล้ว
หนูก็มาอยู่เสียต่างประเทศ คุณแม่มีลูกสองคน พี่ชายของหนูเขามีอาชีพเป็น... ซึ่งตอนแรกหนูก็หวังว่าพี่จะรับแม่ไปอยู่ด้วย
แต่ก็ผิดหวัง เพราะว่าพี่สะใภ้ของหนูเธอเน้นแต่ว่าบ้านของเธอแคบและอึดอัด
เธอเลิกจ้างคนใช้ที่บ้านของเธอทันทีที่คุณแม่เสียชีวิตด้วยเหตุผลว่าบ้านของเธอแคบ
อึดอัด ส่วนพี่ชายก็เงียบ หนูประสานงานกับโรงพยาบาล... ซึ่งเขาเป็นเนอร์สซิ่งโฮมรับดูแลคนสูงอายุ
เขาคิดเดือนละ 29,500 บาท บวกโน่นนี่นั่นอีกก็ตกเดือนละ 34,000
บาท หนูชวนพี่สะใภ้ให้หารครึ่ง เธอเฉย ส่วนพี่ชายนั้นหนูหมดหวังและเลิกคุยกันไปแล้ว
พี่สะใภ้ยังแถมบอกว่าแม่มีบ้านของตัวเองอยู่แล้วจะไปเสียเงินให้โรงพยาบาลอีกทำไม
คุณแม่ป่วยเป็นหลายโรค เบาหวาน ความดัน ไขมัน และผอม หนูตัดสินใจจะจ่ายค่าโรงพยาบาลให้คุณแม่เอง
แลกกับความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ดูแลแม่ แต่ก่อนตัดสินใจหนูอยากจะคอนเฟิร์มกับอาจารย์ก่อนว่าหนูคิดถูกหรือเปล่าที่จะให้แม่ไปอยู่แบบเนอร์สซิ่งโฮม
หนูมีทางเลือกอื่นไหม ถ้าอาจารย์เป็นหนูจะทำอย่างไร ผู้สูงอายุชอบเนอร์สซิ่งโฮมหรือเปล่า
หนูถามคุณแม่ก็พูดอยู่คำเดียวว่าไม่อยากให้ลูกเสียเงิน แต่ไม่พูดว่าชอบหรือไม่ชอบ คุณแม่ไม่มีเพื่อน
ญาติรุ่นเดียวกันก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหน
อยู่กับคุณพ่อสองคนมาตลอด ทุกวันนี้คุณแม่นิ่ง ไม่พูด ขี้ลืม มักลืมกินยา ค่อนข้างสกปรก
ทิ้งบ้านรกรุงรังไม่เป็นระเบียบ หนูสังหรณ์ใจว่าถ้าคุณแม่อยู่คนเดียวโดยไม่มีคุณพ่อก็คงจะอยู่ได้อีกไม่นาน
หนูเคารพและรักอาจารย์ค่ะ
.............................................................
ตอบครับ
เรื่องที่พี่สะใภ้ของคุณเลิกจ้างคนใช้โดยป่าวประกาศเหตุผลว่าเพราะบ้านคับแคบซึ่งเป็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะกับที่คุณพ่อตายคุณแม่ของคุณต้องอยู่คนเดียวนั้น
เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบหวังผลข้างเคียง แพทย์ก็นิยมแก้ปัญหาในการรักษาโรคด้วยวิธีนี้เหมือนกัน
เรียกว่าเป็นการรักษาแบบ off label ผมเคยได้ยินว่าผู้ช่วยของพวกคุณที่เป็นเภสัชอยู่ตามร้านขายยาก็ใช้วิธีนี้
คุณเคยได้ยินเรื่องนี้หรือเปล่าละ มันเป็นโจ๊กนะ เผื่อว่าคุณไม่เคยได้ยิน
ผมจะเล่าให้ฟัง
เรื่องมีอยู่ว่าเภสัชคนหนึ่งเปิดร้านขายยา
มีลูกค้าอุดหนุนมาก ไม่มีเวลาแม้แต่จะหยุดไปทำธุระหลังบ้าน
แต่บางครั้งอั้นไม่ไหวก็ต้องวานให้เด็กถูพื้นบ้าง สามีของเด็กถูพื้นบ้าง
อยู่โยงรับลูกค้าให้
ครั้งหนึ่งเธอไปทำธุระหลังบ้านแล้วฝากสามีของเด็กถูพื้นซึ่งเป็นคนขับรถรักษาการแทน
พอกลับออกมาก็เห็นว่ามีการซื้อขายกัน และลูกค้าก็เพิ่งเดินกระมิดกระเมี้ยนออกไป เธอถามว่า
“เขาเป็นอะไรมาหรือ”
คนขับรถปฏิบัติราชการแทนเภสัชตอบว่า
“เขาไอมานานไม่หายสักทีครับ”
เภสัชถามต่อว่า
“แล้วเธอขายยาอะไรให้เขา”
คนขับตอบว่า
“ผมหยิบยาถ่ายดีเกลือให้ครับ”
เภสัชตาค้าง ว้ากเพ้ยว่า
“จะบ้าเหรอ..
ยาถ่ายฤทธิ์แรงแบบนั้นจะไปแก้ไอได้อย่างไร”
คนขับตอบว่า
“ได้สิครับ
พอกินยาแล้วเขายืนนิ่ง ไม่ยอมไอเลย”
ฮะ ฮะ ฮ่า..
แคว่ก แคว่ก แคว่ก.. ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
ขอโทษ
ผมรู้ว่าคุณกำลังเครียด ไม่น่าตลกผิดเวลาเลย เอาละ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
ถามว่าผู้สูงอายุชอบใช้ชีวิตบั้นปลายในเนอร์สซิ่งโฮมหรือไม่
ตอบว่าสำหรับผู้สูงอายุไทย ไม่มีใครทราบ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัยเรื่องนี้ไว้ แต่สำหรับผู้สูงอายุฝรั่ง
เคยมีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าผู้สูงอายุหญิง “ไม่ชอบ” อยู่ในสถานที่แบบเนอร์สซิ่งโฮม
งานวิจัยเหล่านั้นยังสรุปผลไปในทางว่าผู้สูงอายุหญิงต้องการอยู่บ้านแบบธรรมชาติ ทั้งนี้คำว่าบ้านแบบธรรมชาติของเธอ
มีนิยามว่า
(1) เธอต้องได้เป็นใหญ่ หรือเป็น in charge ต้องสั่งได้ว่าฉันจะเอาแจกันวางทางนี้
เอาโต๊ะวางทางโน้น ถ้าการเป็นใหญ่นั้นทั้งบ้านไม่มีลูกน้องเลย มีแต่เธอคนเดียว
เธอก็ยอม ขอให้ได้เป็นใหญ่
(2) เธอต้องได้เป็นคนแก่ธรรมดา ไม่ใช่คนไข้
แม้ว่าเธอจะต้องการความช่วยเหลือบ้างก็ตาม เธอไม่ยอมเป็นคนไข้ อย่ามาปฏิบัติต่อเธอแบบคนไข้
ถึงเวลาเอาปรอทมาเสียบก้น เอายามาให้กิน แล้วยืนเฝ้ามองเธอว่า..กินซะ กินซะ แบบนั้นเธอไม่เอา
(3) เธอยอมรับว่าเธออาจจะทำอะไรเองไม่ได้แล้วบางเรื่องหรือหลายเรื่อง
แต่ยามใดที่เธออยากจะให้ใครมาช่วย เธอจะบอกเอง ไม่ต้องมาส. ใส่เกือก เอ๊ย..ขอโทษ
ไม่ต้องมาหวังดีกำหนดว่าตื่นเช้ามาเธอต้องทำนั่นทำนี่อย่างนั้นอย่างนี้
นั่นเป็นงานวิจัยคนแก่ฝรั่งนะครับ
ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะเอามาประยุกต์ใช้กับคุณแม่ของคุณได้หรือเปล่า
ผมมอบให้เป็นดุลพินิจของคุณก็แล้วกัน
ถามว่ามีทางเลือกอื่นไหม
ตอบว่าสำหรับผู้สูงอายุที่เริ่มจะพึ่งตัวเองไม่ได้แล้วในบางเรื่องอย่างคุณแม่ของคุณนี้
ในเมืองไทยนอกจากการไปอยู่กับลูกหลาน และการไปอยู่โรงเลี้ยงคนแก่แบบเนอร์สซิ่งโฮมเดือนละสองสามหมื่นบาทแล้ว
ทางเลือกอื่นเท่าที่ผมมองเห็นตอนนี้ยังไม่มี
ของฝรั่งเขาจะมีบ้านพักคนแก่อีกแบบหนึ่งที่โหดน้อยกว่าเนอร์สซิ่งโฮม เรียกว่า Assisted
Living คือเป็นบ้านที่อยู่อาศัยได้อิสรเสรีแต่มีคนมาช่วยในบางเรื่องบางเวลา
เช่นพาอาบน้ำ พาเข้านอน พาไปตลาด เมืองไทยยังไม่มี assisted living มีแต่บ้านพักคนชราแบบที่เรียกว่า independent living เท่าที่ผมเห็นมีอยู่สามที่คือคอนโดเช่าเซ้งตลอดชีพของกาชาดที่สวางคนิวาสที่หนึ่ง
หมู่บ้านแบบซื้อขาดชื่อฮอสปิเฮ้าส์ของเอกชนที่อยุธยาที่หนึ่ง (ถูกน้ำท่วมใหญ่ไปเมื่อหลายปีก่อน
ไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า) และหมู่บ้านเช่าเซ้งตลอดชีพของกรมประชาสงเคราะห์ที่เชียงใหม่อีกที่หนึ่ง
ทั้งสามที่นี้คือ independent living นะ
หมายความว่าต้องช่วยตัวเองได้ 100% ไม่มีใครมาหยอดน้ำหยอดข้าวให้
หรือแม้แต่คนจะไปจ่ายตลาดซื้อของให้ก็ไม่มี ต้องทำเองหมดให้ได้ ถ้าทำเองไม่ได้ก็อยู่ในที่แบบนี้ไม่ได้
ถ้าป่วยก็ต้องไปหาหมอเอาเอง
หมู่บ้าน senior
co-housing ที่ผมกำลังทำที่มวกเหล็กนั้นจะมีคอนเซ็พท์ที่ต่างออกไปนิดหน่อย
คือจะเป็น independent living ผสมกับ assisted living
โดยในส่วนของ assisted living นั้นจะค่อยๆทะยอยเกิดตามความแก่ของผู้อยู่อาศัย
และการ assist นั้นไม่ได้เกิดโดยการจ้างผู้ดูแลหรือพนักงานอย่างในเนอร์สซิ่งโฮมเป็นหลัก
แต่เกิดจากระบบการช่วยเหลือกันและกันของเพื่อนบ้านและระบบเฝ้าระวังและสนับสนุนของชุมชนเป็นหลัก
ถามว่าถ้าผมเป็นคุณ
ผมจะทำอย่างไร ตอบว่าเนื่องจากหลักฐานสำหรับคนแก่เมืองไทยไม่มี
ผมก็จะเชื่อหลักฐานที่วิจัยกับคนแก่ฝรั่ง
คือผมจะเชื่อว่าคุณแม่จะไม่ชอบเนอร์สซิ่งโฮม แต่ผมจะปล่อยให้ท่านอยู่บ้านเองก็ไม่ได้เพราะท่านต้องการความช่วยเหลือในบางเรื่อง
พูดง่ายๆว่าท่านต้องการ assisted home ซึ่งเมืองไทยไม่มี
ผมก็จะทำอะไรที่คล้ายๆ assisted home ให้ท่าน คือผมจะลงทุนกลับมาจากเมืองนอกชั่วคราว
มาประเมินว่าท่านจำเป็นต้องมีความช่วยเหลืออะไรบ้าง
แล้วผมก็จะบริหารจัดการให้มีความช่วยเหลือนั้นเพิ่มเข้าไปในบ้านที่ท่านอยู่นั่นแหละ
เช่นอาจจะต้องจ้างร้านซักผ้าที่ปากซอยให้ไปรับไปส่งผ้าอาทิตย์ละครั้ง
อาจจะต้องจ้างคนแวะมาทำความสะอาดสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง
ตัวผมเองก็จะติดตั้งระบบติดต่อสื่อสารกับแม่และให้เวลาสื่อสารกับท่านผ่านสื่อที่ท่านรับได้
อาจจะเป็นโทรศัพท์หาท่านบ่อยๆเท่าที่เวลาของผมเอื้อให้ทำได้ เพื่อเป็นกำลังใจและเฝ้าระวังปัญหา
เมื่อมีปัญหา ผมก็จะแก้ไขแบบแก้จากทางไกลได้ทัน แน่นอนว่าผมจะไม่ทิ้งแหล่งสนับสนุนทุกแหล่งที่จะช่วยคุณแม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีๆกันอยู่ (ถ้ามี)
เพื่อนของผมเองที่เคยเป็นหนี้บุญคุณผม พยาบาลเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(รพ.สต.) หรือของกทม.ถ้าคุณแม่อยู่ในกทม. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมจะไม่งอนพี่ชาย
ผมจะสื่อสารกับพี่ชายอย่างต่อเนื่อง เพราะจุดหนึ่งหากเกิดความจำเป็นที่ตัวผมเองมาจากต่างประเทศไม่ได้
ผมจะต้องอาศัยพี่ชายมาช่วยแม่ ดังนั้นผมจะไม่งอนพี่ชายแบบสะบัดก้นหนีจากกันอย่างที่คุณทำเป็นเด็ดขาด
นพ.สันต์
ใจยอดศิลป์