กลัวลูกที่อยากเป็นหมอเด็กจะตกงาน

ท่านผู้อ่านครับ

หลังจากตอบจดหมายฉบับนี้แล้ว ผมจะของดตอบจดหมายหรือปัญหาการเจ็บป่วยเป็นการชั่วคราวนานประมาณ 3 เดือน เพื่อจะใช้เวลาเข้าถ้ำ “กบดาน” เขียนหนังสือที่รับปากกับเขาไว้ให้เสร็จ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปีที่แล้ว อมรินทร์พริ้นติ้งมาหา และชวนทำหนังสือคู่มือสุขภาพประจำบ้านแบบเป็นหนังสือตำราเล่มใหญ่ประจำครอบครัวที่ทุกคนเปิดอ่านได้โดยจะใช้เงินลงทุนหลายล้าน และมีแผนว่าจะมีการพิมพ์ซ้ำเพื่อ update ข้อมูลทุกๆสี่ห้าปี เพื่อให้หนังสือนี้เป็นคู่มือในการดูแลสุขภาพของทุกๆคนทั่วประเทศ ตัวผมเองตอนนั้นเห็นว่าการที่ผู้คนฝากสุขภาพไว้กับหมออย่างทุกวันนี้มันก็เวอร์คดีถ้าคนคนนั้นป่วยมากจนงอมได้ที่ หรือป่วยฉุกเฉินหัวร้างข้างแตก แต่สำหรับคนที่ยังไม่ป่วยแต่กำลังหลงพาตัวเองไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังต่างๆโดยไม่รู้ตัว หรือพูดง่ายๆว่าในเชิงส่งเสริมสุขภาพ หมอจะช่วยอะไรไม่ค่อยได้เลย แหล่งข้อมูลทางสื่ออื่นๆเช่นวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ท ก็ให้ข้อมูลชนิดที่ต้องกลั่นกรองเก่งมากจึงจะใช้ประโยชน์ได้ การมีหนังสือคู่บ้านไว้เป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพที่เชื่อถือได้จึงน่าจะดี ผมจึงรับปากกับเขาไปว่าจะเขียนให้ โดยรับปากว่าจะเสร็จก่อนสิ้นปี (2556) แต่ป่านนี้แล้วยังเขียนให้เขาได้แค่สาระบัญ นึกว่าเขาจะลืมและเลิกแล้วกันไปแล้ว เขาก็ยังไม่ลึม และเพิ่งทวงมาอีกแหม็บๆ จะหลบอย่างไรก็ไม่พ้น เหมือนกับคนไปยืมเงินเขามา เป็นหนี้เขาแล้วอย่างไรก็ต้องหาเงินใช้เขา ทางเดียวที่จะทำได้สำเร็จก็คือต้องเลิกทำอะไรหนุกๆทุกอย่างในชีวิตเสียชั่วคราวเพื่อมานั่งเขียนหนังสือให้เขาจนจบจะได้หมดเวรหมดกรรมกันไปซะหนึ่งเรื่องก่อน

เอาละ คราวนี้มาตอบจดหมายฉบับสุดท้ายก่อนเข้าถ้ำกัน

.........................................................................

เรียน คุณหมอที่เคารพยิ่ง
ดิฉันติดตามบทความคุณหมอมาโดยตลอด ขอรบกวนรับฟังคำแนะนำจากท่าน คือ ลูกสาวกำลังเรียนหมอ ม.ขอนแก่น ปี 6 เกรด 3.86 ขณะนี้กำลังจะสมัครเรียนแพทย์ใช้ทุนกุมารเวช ม.ขอนแก่น เขาชอบหมอเด็กมาก แต่ดิฉันอ่านพบว่า ประมาณปี 2562 หมอเด็กจะเกิน จึงกังวลใจว่า ปี 2561 ลูกจบมาจะสมัครเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐได้หรือไม่คะ เขาเป็นคนมีอุดมการณ์ อยากทำงานให้รัฐเท่านั้น
ลูกบอกมี 3 ทางเลือก คือ 1) สมัครเรียนแพทย์ใช้ทุน 2)สมัครแพทย์พี่เลี้ยงโรงพยาบาลศูนย์ 3) ไปใช้ทุน 3 ปี แล้วมาสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน จึงใคร่ขอคำแนะนำว่า แต่ละทางเลือกมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
หวังว่าคงจะได้รับความกรุณาจากท่าน
ขอบพระคุณค่ะ

....................................

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถามของผู้อ่านท่านนี้ ต้องขอซักซ้อมความเข้าใจกับผู้อ่านทั่วไปก่อนนะ บล็อกนี้ตั้งใจจะเขียนให้คนไข้อ่านก็จริง แต่ทำไปทำมา พยาบาลก็อ่าน หมอก็อ่าน พอตอบเรื่องของหมอก็อาจจะทำให้คนไข้หงุดหงิดว่าเขาอ่านไม่รู้เรื่อง ดังนั้น เพื่อให้คนไข้อ่านเรื่องของหมอรู้เรื่อง ผมจึงขอทำกติกาว่าจะนิยามศัพท์ที่จำเป็นก่อนตอบเสียก่อนทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน

การสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน หมายถึงการที่แพทย์ที่เรียนจบแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานกันมาบ้างแล้วคนละสองสามปี สมัครเข้าฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ ในระหว่างที่กำลังฝึกอบรมอยู่นั้นจะเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้าน (resident) แพทย์ประจำบ้านนี้จะมีเงินเดือนกินด้วย เพราะการฝึกอบรมก็คือการทำงานเป็นขี้ข้าเขานั่นเอง เงินเดือนนี้ถ้าไม่จ่ายโดยสถาบันที่เป็นต้นสังกัดส่งเข้าฝึกอบรม (คือรพ.ต่างจังหวัด) ก็ต้องจ่ายโดยสถาบันที่ให้การฝึกอบรมนั้น (คือโรงเรียนแพทย์ต่างๆ)

การเป็นแพทย์ใช้ทุน 3 ปี  หมายถึงในการเรียนแพทย์บ้านเรานี้ แม้จะเอาเงินพ่อแม่ตัวเองมาเรียน แต่รัฐบาลก็มัดมือชกว่าต้องทำสัญญาชดใช้ทุน (ที่พ่อแม่คุณออก) โดยต้องไปทำงานแบบมีเงินเดือนกินแต่ต้องทำงานให้ราชการอยู่ในหน่วยงานของรัฐบาล เป็นเวลา 3 ปี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเนรเทศไปอยู่โรงพยาบาลระดับเหมืองห้วยในเขาในชนบท ตอนนี้ยังได้สถานะเป็นข้าราชการ แต่ในอนาคตเมื่อตำแหน่งหมด อาจมีสถานะเป็นลูกจ้างก็ได้ เพราะในสัญญาไม่ได้บังคับให้รัฐมอบสถานะข้าราชการให้ระหว่างใช้ทุน เมื่อทำงานใช้ทุนครบแล้ว ส่วนใหญ่โรงพยาบาลซึ่งเป็นต้นสังกัดก็จะให้ลาศึกษาต่อเฉพาะสาขา คือไปเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ในโรงเรียนแพทย์ระยะหนึ่ง โดยที่รพ.ต้นสังกัดจ่ายเงินเดือนให้อยู่ในฐานะข้าราชการในสังกัดของเขา จบแล้วก็ต้องกลับมาทำงานให้กับรพ.ต้นสังกัด

การเรียนต่อแบบแพทย์ใช้ทุน หมายถึงการที่โรงเรียนแพทย์ต่างๆพากันเสียนิสัยมีแรงงานแพทย์ฟรีใช้ในรูปแบบของแพทย์ประจำบ้านเสียเคยตัว แต่ระยะหลังนี้ไม่มีคนฟรีให้ใช้ เพราะปัจจุบันนี้โรงเรียนแพทย์มีมาก แต่รพ.ต้นสังกัดที่จะส่งแพทย์มาเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านมีน้อยกว่า ทำให้โรงเรียนแพทย์หลายแห่งขาดแรงงานฟรีนี้ จะรับคนเพิ่มเข้ามาเป็นอาจารย์ก็ไม่อยากรับ เพราะโรงเรียนแพทย์สมัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาลัย ซึ่งเป็นสถาบันในกำกับของรัฐ ไม่ใช่หน่วยราชการ จึงต้องบันยะบันยังในการรับคนเข้ามากินเงินเดือนแบบที่ต้องเลี้ยงดูกันไปจนแก่เฒ่า เพราะโรงเรียนแพทย์เองก็ไม่มีเงิน จึงใช้วิธีรับเอาแพทย์ใช้ทุนเข้ามาทำงานในสาขาใดสาขาดหนึ่งเฉพาะด้านคล้ายแพทย์ประจำบ้าน แต่กินเงินเดือนแบบลูกจ้างชั่วคราวราคาถูกๆ เพราะเงินเดือนแพทย์ใช้ทุนเดือนละไม่กี่บาท พอใช้ทุนเสร็จแล้วก็เชิญเสด็จออกไปใช้ชีวิตของคุณพี่เองตามยถากรรม ประโยชน์ที่แพทย์ใช้ทุนแบบนี้จะได้ก็คือการได้ทำงานอยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่งเพียงสาขาเดียวนั้นสามารถนับเวลาเป็นคุณวุฒิที่จะเอาไปสอบเอาวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นได้ในภายหลัง ประเด็นสำคัญคือ ใช้ทุนเสร็จแล้ว หรือจบแล้ว เอ็งต้องไป จะไปไหนก็เรื่องของเอ็ง จะอยู่ที่นี่ต่อไม่ได้

การเป็นแพทย์พี่เลี้ยงโรงพยาบาลศูนย์ หมายถึงการที่โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นรพ.ขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด อยากจะได้เล่าเบ๊ไว้ใช้งานแต่ไม่มีตำแหน่งราชการรองรับ จึงเอาอย่างโรงเรียนแพทย์บ้าง โดยรับเอาแพทย์ใช้ทุนเข้ามาทำงานอยู่เฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่ง นัยว่าเอาไว้เป็นพี่เลี้ยงนักศึกษาแพทย์ซึ่งหมุนเวียนมาฝึกงานตามรพ.ศูนย์ต่างๆตลอดปี พอครบกำหนดใช้ทุนแล้วก็เชิญเสด็จไปตามทางของท่าน และเช่นเดียวกัน การที่ได้ทำงานในสาขาเดียวในรพ.ศูนย์ก็นับเป็นคุณวุฒิที่จะเอาไปสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นได้

โอเค. เมื่อได้นิยามศัพท์แสงที่จำเป็นแล้ว คราวนี้ก็ตอบคำถามได้แล้วนะ อ้อ..เดี๋ยวก่อน ก่อนตอบขอวิจารณ์นิดหนึ่งนะ ว่าคุณเป็นคุณแม่ประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า “helicopter parent” คือทำตัวเป็นเฮลิคอปเตอร์กันชิพคอยบินต่ำลาดตระเวณคุ้มกันลูกขณะเขาใช้ชีวิตของเขาอยู่ทุกฝีก้าวแม้ว่าเขาจะโตจนเป็นพ่อแม่คนได้แล้วก็ตาม ผมไม่รู้ว่าการทำอย่างนี้มันดีหรือเปล่า แต่ผมก็เห็นคนสมัยนี้ทำกันทั่วไปทั้งไทยทั้งฝรั่ง เอาเถอะ มาตอบคำถามดีกว่า

1.. ประเด็นความกังวลว่าลูกจะตกงาน ผมแยกเป็นสองประเด็นย่อยนะ คือกลัวจะตกงานเพราะจำนวนแพทย์ล้น และกลัวจะตกงานเพราะไปเลือกสาขาที่ความต้องการในอนาคตจะหดหาย

1.1 ประเด็นกลัวจะตกงานเพราะจำนวนแพทย์ในอนาคตจะล้น อันนี้มีสองมุมมองนะ คือ

มุมมองที่ 1. เป็นมุมมองสถิติ มันชัดแน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่าเรากำลังตะบันปั๊มแพทย์ออกมามากเกินความต้องการใช้ ทุกวันนี้เรามีสถาบันผลิตแพทย์เท่าที่ผมนับนิ้วได้อย่างน้อยก็มี 22 แห่งแล้วคือ วชิรพยาบาล, ขอนแก่น, จุฬา, เชียงใหม่, ธรรมศาสตร์, นราธิวาสราชนครินทร์, นเรศวร, บูรพา, บรมราชชนก, พะเยา, พระมงกุฎ, มหาสารคาม, แม่ฟ้าหลวง, รามา, ศิริราช, วลัยลักษณ์, ศรีนครินทร์วิโรฒ, สงขลานครินทร์, เทคโนโลยีสุรนารี, วิทยาลัยแพทย์และสาธารณสุขอุบลราชธานี, สยาม และ รังสิต ทุกวันนี้ขนาดสถาบันเปิดใหม่ประมาณเก้าแห่งยังเรียนกันไม่จบผลผลิตรวมก็ได้ปีละประมาณ 2,600 คนเข้าไปแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหากผลิตกันได้เต็มสตีม ตามที่นายกแพทยสภาบอกเราจะผลิตได้ถึงปีละ 8,700 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งรับได้ (หากมีคนลาออกเกือบยกเล้าทุกปีอย่างที่เคยเป็นมา) ปีละ 1,700 คนเท่านั้น หรือหากจะนับเฉพาะหมอที่จะจบใหม่นี้ก็จะครอบคลุมประชากรที่เพิ่มใหม่ได้ปีละราว 8 ล้านคน ขณะที่อัตราการเพิ่มประชากรของไทยจริงๆแล้วเพิ่มปีละ 0.35% หรือปีละราวสามแสนคนเท่านั้นเอง ดังนั้นเด็กมัธยมก็คาดการณ์ปัญหาได้ว่าต่อไปเราจะเอาแพทย์ไปรักษาลิงที่ไหนกันดี    
          มุมมองที่ 2. เป็นมุมมองชีวิตจริง หมายความว่าชีวิตจริงมันไม่ใช่จะบอกล่วงหน้าได้จากสถิติ แต่มันเป็นผลจากการประชุมแห่งเหตุ ยกตัวอย่างเช่นสมัยที่ผมใช้ทุนเสร็จกลับจากบ้านนอกมาเรียนแพทย์ประจำบ้านใหม่ๆ คือสามสิบปีมาแล้ว ไปอยู่บ้านนอกขยันทำคลินิกก็ทำให้มีเงินมาซื้อรถเก๋งขับไปทำงานได้หนึ่งคันราคาสองแสนบาท ตอนนั้นไปอาศัยแม่ยายอยู่ที่ถนนพัฒนาการ ขับแวะส่งภรรยาที่จุฬาแล้วตัวเองมารพ.ราชวิถี ทุกเช้าใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง ขณะนั่งรถติดๆอยู่นั้นผมใช้สมองที่ฟุ้งสร้านคำนวณแล้วบอกภรรยาว่าเราจะใช้รถยนต์กันได้อีกไม่เกิน 10 ปี เพราะอัตราการเพิ่มรถยนต์ในกรุงเทพปีละหนึ่งแสนคัน อีกสิบปีก็จะมีรถยนต์ล้านคัน แค่พื้นที่ใต้ท้องรถยนต์ก็มากกว่าพื้นที่ถนนในกรุงเทพหลายเท่าแล้ว ถึงตอนนั้นเราเดินไปจะเร็วกว่าขับรถไป นั่นเป็นการคาดการณ์จากสถิติ แล้วตอนนี้เป็นไงครับ กรุงเทพมีรถยนต์มากกว่าหนึ่งล้านคันก็จริง แต่จากถนนพัฒนาการมารพ.ราชวิถีก็ยังสองชั่วโมงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ช้าถึงขนาดเดินไปก็ได้อย่างที่ผมคำนวณไว้ เพราะชีวิตจริงมันมีตัวแปรอื่นๆที่สถิติครอบคลุมไม่ได้อยู่มาก
ปัญหาแพทย์จะล้นนี้ก็เช่นกัน ผมไม่หลักฐานอะไรมาประกอบหรอก แต่ gut feeling บอกผมว่ายังไงแพทย์ก็ยังจะไม่ล้นในยี่สิบปีข้างหน้า ไม่เชื่อคุณจดใส่สมุดไว้แล้วคอยดู เพราะมันมีตัวแปรที่เราไม่รู้อีกมาก ตัวแปรอันหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามันจะกระทบอย่างไรก็คือการที่ประชากรแพทย์ได้เปลี่ยนจากชายมาเป็นหญิงมากขึ้น น้องๆที่เป็นครูสอนในโรงเรียนแพทย์ตอนนี้บอกผมว่าลูกศิษย์ของเขาเป็นหญิงแท้ 80% เป็นชายทั้งแบบจริงบ้างไม่จริงบ้างรวม 20% ในมุมมองของผม เพศหญิงแม้จะมีวันหมดอายุ (expire date) ยาวกว่าเพศชาย แต่ก็มีช่วงที่ใช้การได้ (shelf life) สั้นกว่าผู้ชาย แค่ผลกระทบจากเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ไม่มีใครคำนวณได้แล้วว่าแพทย์ไทยในอนาคตจะขาดหรือจะเกินแค่ไหนเมื่อใด
1.2.. ประเด็นกลัวจะตกงานเพราะไปเลือกสาขาที่ความต้องการในอนาคตจะลดลง อันนี้มองเผินๆเชิงสถิติ ที่ว่าในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้าจำนวนประชากรเด็กจะลดจำนวนลงเหลือต่ำกว่า 4 ล้านคน ขณะที่กำลังผลิตหมอเด็กมีต่อเนื่องปีละประมาณ 210 คน เรียกว่าหมอเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ลดลง ก็รู้สึกว่าในอนาคตหมอเด็กน่าจะตกงาน นี่เป็นมุมมองเชิงสถิติ แต่ก็อีกหงะ มันมีตัวแปรอีกมากที่จะทำให้ไม่เป็นไปดังคาด การคาดการณ์แบบมั่วๆของผมก็คือตัวแปรเหล่านั้นจะทำให้หมอเด็กยังมีอะไรทำเต็มไม้เต็มมือต่อไปอีกอย่างน้อยก็ยี่สิบปีข้างหน้า

ผมยกตัวอย่างตัวแปรบางตัวให้ฟังนะครับ เช่น การแพทย์ของเราเป็นระบบอเมริกัน คือคนไข้ไม่ผ่านมือหมอประจำครอบครัว (family physician) แต่พากันมุ่งตรงไปหาแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องเลย ดังนั้นในชนบทบ้านนอกคอกนาในอนาคตต่อไปคนไข้เด็กก็จะมุ่งตรงไปหาหมอเด็กโดยไม่ผ่านมือหมอทั่วไป ความต้องการหมอเด็กก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่สัดส่วนประชากรเด็กต่อหมอเด็กลดลง

หรือตัวแปรอีกตัวอย่างหนึ่ง โรคที่เด็กจะเป็นในอนาคต ผมเดาว่าต่อไปคนไข้เด็กหนึ่งคนจะมีหมอเด็กรุมดูแลหลายคน ซึ่งผมนั่งเทียนเดาว่าจะมีหมอเด็กรุมกันดูเฉลี่ยประมาณสี่ห้าคน คือ
หมอคนที่ 1. เป็นหมอพัฒนาการเด็ก (child development)
หมอคนที่ 2. เป็นหมอโรคภูมิแพ้ของเด็ก เพราะเด็กในยุคสมัยต่อไปจะแพ้มันทุกอย่างตั้งแต่ แพ้นม แพ้แป้ง แพ้ข้าว และ..แพ้น้ำ (หมายถึงน้ำประปานะครับ)
หมอคนที่ 3. เป็นหมอโภชนาการเด็ก ซึ่งต้องรับมือกับโรคเด็กอ้วน เด็กเตี้ย และเด็กเบาหวาน
หมอคนที่ 4. เป็นหมอโรคสมาธิสั้น
หมอคนที่ 5. เป็นหมอจิตแพทย์เด็กทั่วไป ซึ่งจะรับมือกับโรคทางจิตอื่นๆทุกโรครวมทั้งโรคกินแล้วอ๊วก (anorexia nervosa) และโรคโตไม่พ้นอก (failure to launch) ซึ่งจะเป็นโรคยอดนิยมของเด็กในอนาคต

จะเห็นว่าในการคาดเดาของผมนี้ เอาแค่หมอรักษาโรคทางจิตก็ยังต้องมีมากเกินหนึ่งคนแล้ว เพราะเด็กในอนาคตจะมีปัญหาโรคจิตมากกว่าเด็กในปัจจุบัน ซึ่งพูดแล้วชวนขนหัวลุกสำหรับคนที่คิดจะเป็นพ่อแม่คนในยุคต่อไป
          กล่าวโดยสรุป ถ้าคิดจะเป็นหมอเด็ก ผมเดาว่าจะไม่ตกงานในยี่สิบปีข้างหน้านี้ครับ ทั้งนี้ต้องอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าประชาชนยังไม่หมดความอดทนกับความไร้สาระของระบบการแพทย์แผนปัจจุบันไปเสียก่อนนะครับ แต่หากถ้าประชาชนทนเซ็งไม่ได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการดูแลสุขภาพของตัวเองและชุมชนเสียใหม่ ก็ถือว่าคำทำนายของผมเป็นโมฆะไป

2.. ถามว่าหากคิดจะเป็นหมอเด็ก ระหว่างทางเลือกทั้งสามทางคือ (1) สมัครเรียนแพทย์ใช้ทุน (2) สมัครแพทย์พี่เลี้ยงโรงพยาบาลศูนย์ (3) ไปใช้ทุน 3 ปี แล้วมาสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน ลูกสาวควรเลือกทางไหนมากที่สุด ตอบว่าควรเลือกทางที่ (3) คือไปใช้ทุน 3 ปีแล้วมาสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ..เพราะ

เหตุผลที่ 1. คุณบอกว่าลูกสาวคุณเป็นนักอุดมการณ์ การออกไปชนบท ไปใช้ทุน เป็นเส้นทางของแพทย์นักอุดมการณ์แน่นอน

เหตุผลที่ 2. คุณบอกว่าลูกสาวอยากทำราชการ การเข้าราชการสำหรับแพทย์จบใหม่ ผมเดาว่าจะเริ่มมีปัญหาในเวลาราว 3-5 ปีข้างหน้า คือตำแหน่งหมด งบประมาณไม่มี ถึงตอนนั้นแพทย์อาจจะต้องไปเป็นลูกจ้าง อบต. ดังนั้นถ้าอยากเป็นข้าราชการควรรีบมุดเข้าไปเสียแต่ตอนนี้ เพราะระบบราชการเป็นระบบรูเล็ก คือรูเข้าก็เล็ก รูออกก็ยิ่งเล็ก มุดเข้าไปได้แล้วมีโอกาสจะได้อยู่จนตาย ก็จะได้ทำราชการนานสมใจ   

เหตุผลที่ 3. การไปใช้ทุนในชนบท จะได้มีโอกาสเป็นหมอจริงๆเต็มตัว คือรักษาคนไข้ผู้ใหญ่ก็ได้ด้วย แต่หากรีบเรียนหมอเด็กเสียตั้งแต่ทันทีที่จบมา จะรักษาเป็นแต่เด็ก รักษาผู้ใหญ่ไม่เป็นเลย ประเด็นก็คือการเป็นหมอเด็กในชีวิตจริงนั้นต้องรักษาเด็กครึ่งหนึ่ง รักษาผู้ใหญ่คือพ่อแม่เด็กอีกครึ่งหนึ่ง หรือรักษาพ่อแม่เด็กมากกว่าครึ่ง เพราะบ่อยครั้งในชีวิตจริงเราพบว่าคนป่วยที่แท้จริงคือคนที่อุ้มเด็กมานั่นแหละ ดังนั้นควรไปใช้ทุนเป็นหมอทั่วไปสักสามปีก่อน แล้วค่อยมาเรียนหมอเด็ก จะได้เป็นหมอเด็กที่ครบเครื่องไงครับ

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี