โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

คุณหมอสันต์ที่นับถือ
ติดตามอ่านคุณหมอมานาน รอดูว่าเมื่อไหร่คุณหมอจะตอบคำถามที่ตรงกับโรคที่ฉันเป็น คือโรคข้อเข่าเสื่อม แต่อ่านย้อนหลังไปหลายปีก็ไม่เห็นมีการตอบคำถามโรคนี้แม้แต่เพียงครั้งเดียว ฉันอายุ 62 ปี น้ำหนัก 66 กก. เป็นข้อเข่าเสื่อมมาหลายปี กินยาแก้ปวดแก้อักเสบติดต่อกันมาหลายปีเปลี่ยนยาไปหลายชนิด ฉีดยา steroid เข้าข้อไปแล้ว 6 ครั้ง ฉีดน้ำเลี้ยงข้อไปแล้ว 2 ครั้ง ตอนนี้หมอแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ไม่ต้องเสียเงินเพราะฉันเบิกราชการได้ แต่เพื่อนที่เคยทำงานด้วยกันคนหนึ่งไปผ่าตัดเปลี่ยนเข่าแล้วเขาบอกฉันว่าอย่าผ่าตัดเชียวนะเพราะเขาผ่าตัดแล้วยังปวดจนไปตีกอล์ฟไม่ได้ ฉันพยายามหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทเพื่อหาวิธีรักษาอย่างอื่นนอกเหนือจากการเปลี่ยนเข่า แต่ก็หาไม่พบ ฉันอยากรู้หลายประเด็น อยากรู้ว่ากลูโคสามีนดีจริงไหม น้ำเลี้ยงข้อเข่าดีไหม ผ่าตัดดีไหม แล้วห้องนอนฉันอยู่ชั้นสองของบ้าน ลูกๆจะต่อเติมห้องให้ที่ชั้นล่าง มันจำเป็นไหม หมายความว่าการเดินขึ้นลงบันได้จะทำให้ฉันเป็นโรคมากขึ้นไหม ฉันรอหมอสันต์ก็ไม่เห็นตอบเรื่องปวดเข่าสักที คราวนี้รบกวนหมอสันต์ช่วยตอบด้วย
ขอให้คุณหมอสวัสดีมีโชคตลอดปีใหม่ค่ะ

..................................................

ตอบครับ
          จริงเหรอครับที่ว่าผมไม่เคยตอบเรื่องโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังเลย ผมจำไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าจริงก็ต้องขออำไพ เอาเป็นว่าตอบวันนี้ก็แล้วกัน
          
     คุณยังดีนะมาเป็นข้อเข่าเสื่อมเอาตอนหกสิบกว่า ผมเป็นตั้งแต่อายุ 54 ปีแล้ว     จะเล่าให้ฟังนะ ตอนนั้นผมมีอาการปวดข้อเข่ามาก และวินิจฉัยตัวเองว่าเป็นโรคข้อเข้าเสื่อมแบบไม่ต้องสงสัย อาการปวดที่ว่ามันมากจนขึ้นลงบันไดเพียงชั้นเดียวก็เป็นเรื่องเหลือทน ตอนนั้นผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้วย ผมเองออกกฎบังคับพนักงานว่าขึ้นลงชั้นเดียวห้ามใช้ลิฟท์ สมัยนั้นเป็นด้วยเหตุผลทางธุรกิจ คือประหยัดไฟ แต่ตัวผมเองเวลาจะขึ้นลงชั้นเดียวต้องเหลียวหน้าแลหลังว่ามีลูกน้องมองอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มีใครเห็นก็แว้บเข้าลิฟท์ไปเลย เพราะมันปวดมากเดินไม่ไหว แต่ก็ไม่อยากให้ลูกน้องเห็นเพราะจะเก็บไปนินทาว่าเป็นเจ้านายภาษาอะไรวะสั่งคนอื่นแล้วตัวเองไม่ทำ

          ต่อมาผมหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองและศึกษางานวิจัยทุกเรื่องเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตัวเอง ผมทบทวนงานวิจัยทั้งหมดเกี่ยวกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จึงได้ทราบว่าวิธีป้องกันและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่เป็นมาตรฐานคือการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขา (quadriceps) และหลังขา (hamstrings) และเมื่อผมไปลองฝึกที่แผนกกายภาพบำบัด อุปกรณ์ที่เขาให้ผมใช้ก็คือบันได ผมจึงถึงบางอ้อเลยว่าปั๊ดโธ่ โง่อยู่ตั้งนาน คือมีบันไดแต่ไม่รู้จักใช้ คือบันไดนี้หากเราเดินลงแบบกั๊ก..กั๊ก..กั๊ก จังหวะที่ส้นรองเท้ากระแทกพื้นเสียงดังกั๊กนั่นแหละเป็นจังหวะที่มีแรงกระแทกย้อนขึ้นไปให้หน้าสัมผัสของหัวกระดูกทั้งสองหัวที่ข้อเข่ากระแทกกันทำให้เจ็บชะมัดญาติ การป่วยคราวนั้นทำให้ผมได้พัฒนาวิธีใช้บันได้รักษาข้อเข่าเสื่อมขึ้นมา หมายความว่าผมใช้บันได้เป็นที่ฝึกกล้ามเนื้อหน้าขาและหลังขา คือผมเดินลงบันไดแบบยืนตัวตรง แขม่วพุง ขณะที่เหยียดเท้าซ้ายออกไปเตรียมก้าวลงเหยียบขั้นล่าง ขาขวาก็เกร็งให้น้ำหนักตัวอยู่บนขาขวาขาเดียว พักหนึ่งก่อน แล้วค่อยๆย่อเข่าขวาลง ตอนนี้น้ำหนักตัวจะอยู่บนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาและหลังขาขาขวาข้างเดียว ค่อยๆย่อลงจนฝ่าเท้าซ้ายสัมผัสพื้นบันไดชั้นถัดไปแบบเงียบเชียบไม่มีเสียง แล้วจึงค่อยๆโยกน้ำหนักจากขาขวาไปขาซ้าย เพื่อเตรียมพร้อมจะก้าวขาขวาลงบันไดขั้นต่อไป คือผมเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินลงบันได้แบบสโลว์โมชั่นเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เดี๋ยวนี้ผมเดินขึ้นลงบันไดวันละหลายชั้นทุกวัน หน้าขาผมที่เคยอ่อนยอบแยบตอนนี้แข็งปั๊กเฟิร์มมาก และอาการปวดเข่าหายไปเป็นปลิดทิ้งเลย ท่านไม่เชื่อลองดู  

          ขอโทษ เผลอโม้อีกหละ กลับมาตอบคำถามเรื่องข้อเข่าเสื่อมของคุณให้เป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า ความที่ไม่เคยเขียนถึงโรคนี้มาก่อน ผมจึงขอเขียนแบบเล่าถึงโรคทั้งโรคนะ ไม่เอาแบบเจาะเฉพาะประเด็น

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

          เริ่มต้นขอทำความเข้าใจเรื่องชื่อโรคก่อนนะครับ ความเชื่อเดิมที่ว่าโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังเป็นผลจากการเสื่อมสภาพตามอายุ (degenerative disease) นั้น ปัจจุบันนี้หลักฐานต่างๆบ่งชี้ไปในทางว่าท่ามันจะไม่จริงเสียแล้ว การเรียกชื่อว่าโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง (knee osteoarthritis) จะเหมาะกว่า เพราะสถิติปัจจุบันนี้พบว่าความแก่เป็นเพียงปัจจัยตัวหนึ่งเท่านั้น ผมจะเขียนเรียงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้เท่าที่วงการแพทย์ทราบให้ดูนะครับ ได้แก่
(1)    ยิ่งมีอายุมาก ยิ่งเป็นโรคนี้มาก
(2)    ยิ่งอ้วนมาก ยิ่งเป็นเข่าอักเสบเรื้อรังมาก
(3)    ถ้าเคยมีการบาดเจ็บที่หัวเข่า หรือเคยผ่าตัด จะมีโอกาสเป็นเข่าอักเสบเรื้อรังมาก
(4)    พันธุกรรมก็มีส่วน พ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็น ลูกหลานก็มีแนวโน้มจะเป็นด้วย
(5)     ยิ่งฮอร์โมนเพศลดลงมาก ยิ่งเป็นเข่าอักเสบเรื้อรังมาก
(6)    ยิ่งกล้ามเนื้ออ่อนแอ เข่ายิ่งอักเสบเรื้อรังมาก
(7)    ยิ่งใช้งานข้อเข่ามาก เช่นวิ่งจ๊อกกิ้งตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ก็ยิ่งเป็นเข่าอักเสบเรื้อรังมาก
(8)    การติดเชื้อที่ข้อเข่าก็ทำให้เข่าอักเสบเรื้อรังเกิดได้มาก
(9)    ถ้ามีผลึกเกิดขึ้นในข้อ เช่น เก้าท์ ก็ทำให้ข้ออักเสบเรื้อรังได้มาก
(10)                        ถ้าเคยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์มาก่อน ก็ทำให้เข่าอักเสบเรื้อรังง่าย
(11)                        ถ้าเป็นโรคเม็ดเลือด เช่นทาลาสซีเมีย ก็ทำให้ข้อเข่าอักเสบเรื้อรังง่าย
(12)                        ถ้าเป็นโรคของปลายประสาท รวมทั้งโรคเบาหวาน ก็ทำให้เข่าอักเสบเรื้อรังง่าย
โดยสรุปก็คือสาเหตุมีได้เยอะแยะแป๊ะตราไก่ วงการแพทย์จึงยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ ชื่อที่เรียกกันว่าโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจึงไม่ค่อยตรงนัก

กลไกการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คราวนี้เรามาพิเคราะห์ดูกลไกการเกิดโรค (pathophysiology) นะ กลไกการเกิดโรคนี้มันเป็นอย่างนี้ครับ คือข้อเข่าของเรานี้มันมีหัวกระดูกสองท่อนมาชิดกัน ผมเอารูปมาลงให้ดูด้วย รูปนี้ต้องดูแยกซีกซ้ายกับซีกขวา ซีก
ซ้ายเป็นข้อเข่าที่ปกติ ซีกขวาเป็นข้อเข่าที่เป็นโรคเข่าอักเสบเรื้อรัง  ที่หัวกระดูกแต่ละท่อนมีแผ่นกระดูกอ่อนกั้นเคลือบไว้เพื่อเป็นตัวกันชน ทำให้หัวกระดูกทั้งสองท่อนเคลื่อนไปมาคนละทิศได้โดยไม่บดสีกันเอง แม้แต่แผ่นกระดูกอ่อนที่เคลือบผิวข้อทั้งสองแผ่นนั้นก็ไม่ได้บดสีกันเองโดยตรง เพราะมันอยู่ห่างกันโดยมีช่องกลางข้อ (joint space) ขวางกั้นอยู่ ช่องกลางข้อนี้มีน้ำเลี้ยงข้อหนืดๆอัดอยู่เต็มช่องทำหน้าที่เป็นเสมือนน้ำมันเครื่องหล่อลื่นช่วยรับแรงเวลามีการขยับข้ออีกชั้นหนึ่ง

     กลไกการเกิดโรคนี้เริ่มต้นด้วยการอักเสบของแผ่นกระดูกอ่อนกันชนที่คลุมผิวข้อ เมื่ออักเสบตัวกันชนนี้เริ่มบวมตุ่ยขึ้น แรกๆมีการผลิตน้ำเลี้ยงข้อมากขึ้น แต่ระยะหลังก็ค่อยๆแห้งลง การอักเสบลามออกไปทั่วเนื้ออ่อนรอบๆข้อ แคปซูลข้อบวมหนาขึ้น ทำให้แผ่นกระดูกอ่อนซึ่งปกติจะเด้งดึ๋งกลายเป็นอ่อนยวบแล้วก็หลุดลุ่ยสลาย ทำให้ผิวหัวกระดูกทั้งสองหัวซึ่งเดิมอยู่ห่างกันต้องมาชิดกันสัมผัสกันและบดอัดกันตรงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงที่ต้องรับน้ำหนักมาก กระดูกบางส่วนเกิดติ่งงอกออกมา หัวกระดูกซึ่งไม่เคยต้องมาบดอัดกระดูกด้วยกันเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางหนาขึ้น แข็งขึ้น มีหลอดเลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทึบแสงมากขึ้น บางส่วนของกระดูกใต้ผิวข้อก็ยุบตัวลงไปเป็นโพรงหรือเป็นซิสต์ ทั้งหมดนี้จะสะท้อนให้เห็นในภาพเอ็กซเรย์หัวเข่า

ดูจากกลไกการเกิดโรคแล้วมันเป็นเรื่องของการอักเสบของเนื้อเยื่อ ไม่ใช่การเสื่อมสภาพตามอายุเพียงอย่างเดียว การอักเสบในร่างกายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ซึ่งความรู้แพทย์ยังเข้าไม่ถึงทั้งหมด การอักเสบในร่างกายมีความสัมพันธ์โยงใยไปถึงองค์ประกอบในอาหารที่กินเช่นสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ และสัมพันธ์โยงใยไปถึงความเครียด ซึ่งปัจจุบันนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์นั้นชี้ชัดเจนแล้วว่าสมองสามารถสื่อสารโดยใช้โมเลกุลชื่อไซโตไคน์แจ้งตรงไปยังเม็ดเลือดขาวและเซลมาโครฟาจ (macrophage) ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในกระบวนการอักเสบ พูดง่ายๆว่าความเครียดซึ่งเป็นปฏิกริยาสนองตอบของสมองต่อสิ่งเร้าภายนอก มีผลกระทบโดยตรงต่อการอักเสบในเนื้อเยื่อที่ไหนก็ได้ในร่างกาย ผ่านโมเลกุลข่าวสารที่ส่งตรงไปยังเม็ดเลือดขาวและมาโครฟาจ

กลไกที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่า
 
แล้วการอักเสบนี้มันทำให้ปวดได้อย่างไร ทุกวันนี้วงการแพทย์ยังไม่ทราบชัด ได้แต่เดาเอาว่าอาการปวดเกิดจากการผสมโรงของหลายสิ่งหลายอย่างต่อไปนี้ ได้แก่

(1)    เพราะมีเงี่ยงกระดูกงอกขึ้นมาตุงเยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) ทำให้ปวด เพราะวงการแพทย์รู้ดีว่าเยื่อหุ้มกระดูกนี้มีตัวส่งสัญญาณปวดไปสมองที่ไวอย่างยิ่ง
(2)    เพราะเกิดการบวมเป่งของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงผิวข้อเป็นการเพิ่มความดันในกระดูก (intraosseous pressure) ทำให้ปวด
(3)    เพราะเยื่อหุ้มข้ออักเสบ (synovitis) ทำให้ปวด
(4)    เพราะข้อโดยรวมเกิดการหดตัว (contracture) ทำให้ปวด
(5)    เพราะบางระยะของโรคมีน้ำในข้อมาก ทำให้ตุงแคปซูลข้อจนเป่ง ทำให้ปวด
(6)    เพราะแผ่นกระดูกอ่อนที่เป็นเบาะกันชนผิวข้อ เกิดฉีกขาด ทำให้ปวด
(7)    เพราะมีการอักเสบของถุงน้ำรอบนอกข้อ (bursa) ทำให้ปวด
(8)    เพราะกล้ามเนื้อรอบๆข้อเกิดเกร็งตัว (spasm) ทำให้ปวด
(9)    เพราะคิดมาก (ปัจจัยทางจิตวิทยา) ทำให้ปวด
(10)                        เพราะกระดูกสีกันมีเสียงดังกุบกับทำให้ปวด

ดังนั้นจะเห็นว่าอาการปวดในแต่ละคนเกิดขึ้นด้วยเหตุคนละอย่าง การจัดการจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

ในเชิงอาการวิทยา โรคนี้แบ่งเป็นห้าระยะ คือ

ระยะที่ 0 เป็นระยะที่ปกติ ข้อไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีอาการ

ระยะที่ 1. ก็ยังไม่มีอาการอะไร แต่โรคเริ่มเกิดแล้ว มีกระดูกงอก (spur) แล้วซึ่งเห็นได้จากภาพเอ็กซเรย์ 

ระยะที่ 2. มีอาการปวดโดยเฉพาะเวลาที่ใช้งานเข่ามากๆ หรือนั่งพับเพียบหรือคุกเข่า ระยะนี้แผ่นกระดูกอ่อนยังไม่สลาย ช่องกลางข้อยังไม่แคบ การรักษาระยะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่มุ่งลดน้ำหนักและออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงข้อ จะช่วยชลอการดำเนินของโรคออกไปได้อย่างมาก

ระยะที่ 3. ระยะข้อเสื่อมปานกลาง ปวดมากขึ้นเมื่อเดิน เมื่อวิ่ง เมื่อโก้งโค้ง หรือเมื่อคุกเข่า และอาจมีอาการข้อตึงแข็งตอนเช้า ถ้าใช้ข้อมากก็อาจมีอาการข้อบวม ในระยะนี้มีการสลายตัวของแผ่นกระดูกอ่อน เมื่อมาถึงขั้นนี้ย่อมจะหลีกเลี่ยงการใช้ยามากๆได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นบางรายยาคุมอาการปวดไม่ได้ ต้องใช้วิธีฉีดสะเตียรอยด์เข้าไปในข้อซึ่งจะบรรเทาอาการไปได้คราวละประมาณ 2 เดือน หรือไม่ก็ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข้าไปในข้อซึ่งจะบรรเทาอาการปวดไปได้ครั้งหนึ่งราว 6 เดือน

ระยะที่ 4. เป็นการอักเสบระยะรุนแรง มีอาการปวดมาก เดินลำบาก ช่องว่างกลางข้อแคบลง แผ่นกระดูกอ่อนสลายไปเกือบหมด ทำให้ข้อตึงแข็ง ขยับแทบไม่ได้ น้ำเลี้ยงข้อแห้ง ทำให้ไม่มีอะไรมาหล่อลื่นการขยับของข้อ ระยะนี้มักจบลงด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

อะไรเป็นสาเหตุก็ยังไม่ทราบ อาการปวดเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ยังไม่ทราบ แล้วจะไปทราบวิธีรักษาได้อย่างไรละครับ จริงแมะ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นแพทย์ รู้ไม่รู้ก็ต้องรักษาไว้ก่อน ไม่งั้นเสียฟอร์มแพทย์หมด การรักษาที่แพทย์ใช้ทำให้แพทย์มีฟอร์มดีอยู่ได้ก็จริง แต่ความเป็นจริงก็คือ มันไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินของโรคเลย.. อามิตตาพุทธ

วิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) ได้ออกแนวทางเป็นมาตรฐานในการรักษาข้อเข่าอักเสบเรื้อรังว่าให้เริ่มต้นด้วยการไม่ใช้ยาก่อน อันได้แก่การประคบร้อน ประคบเย็น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย กายภาพบำบัด และอาชีวะบำบัด การออกกำลังกายที่ได้รับการสนับสนุนจาก ACR มากเป็นพิเศษในการรักษาข้อเข่าอักเสบเรื้อรังจนถึงกับระบุเป็นวิธีรักษามาตรฐานในคำแนะนำ (ACR guideline) นั่นก็คือการออกกำลลังกายแบบรำมวยจีน (Tai-Chi)
          
     การเริ่มใช้ยาทำเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น และใช้แบบบรรเทาอาการ อาการดีขึ้นแล้วรีบหยุด ไม่ใช้ต่อเนื่อง โดยเริ่มจากยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลธรรมดาๆ ถ้าเอาไม่อยู่จึงค่อยขยับขึ้นไปใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID) ซึ่งเป็นยาอันตรายต่อหัวใจ ต่อไต และต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ้ายังเอาไม่อยู่ก็ขยับไปหายาแก้ปวดอย่างแรง Tramadol ถ้ายังเอาไม่อยู่อีกก็ขยับขึ้นไปใช้วิธีฉีดยาเข้าไปในข้อ ซึ่งมีตัวเลือกสองตัวคือสะเตียรอยด์ซึ่งบรรเทาอาการได้ประมาณ 2 เดือน หรือฉีดน้ำเลี้ยงข้อ (hyaluronan) เข้าไปในข้อซึ่งบรรเทาอาการได้ราวหกเดือน ถ้ายังเอาไม่อยู่อีกก็ขยับไปใช้วิธีทางศัลยกรรม นั่นก็คือผ่าตัด ซึ่งมีวิธีผ่าตัดหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึงขั้นต้องผ่าตัดแล้วก็มักจะไปจบที่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ (arthroplasty) ข้อเทียมที่เปลี่ยนใส่นี้ก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน คือใช้ไปก็สึกหรอไป สึกหรอถึงจุดหนึ่งก็ต้องมาเปลี่ยนใหม่ การผ่าตัดเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย เพราะเป็นมาตรการที่รุกล้ำ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่หากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเช่นติดเชื้อในกระแสเลือด (เกิด 0.5%) ก็อาจจบลงด้วยการเสียชีวิตได้
     
     จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงการกินกลูโคซามีน (glucosamine) เพราะวิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) ได้สรุปงานวิจัยเปรียบเทียบใหม่ๆซึ่งพบว่ากินกลูโคซามีนกับกินยาหลอกให้ผลไม่ต่างกัน ACR จึงแนะนำว่าไม่ควรกินกลูโคซามีน

การรักษาข้ออักเสบเรื้อรังด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

งานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกควบกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่พยุงข้อเข่า เป็นวิธีรักษาอาการปวดเข่าที่ปลอดภัยที่สุด และได้ผลบรรเทาอาการดีรองลงมาจากการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบ

แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรักษาข้ออักเสบเรื้อรังที่ดีที่สุด ไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างเดียว งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบพบว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำทั้งการปรับโภชนาการไปทานอาหารแคลอรี่ต่ำและมีผักผลไม้มาก ควบกับการออกกำลังกาย จะให้ผลรักษาข้ออักเสบเรื้อรังดีกว่าการออกกำลังกายอย่างเดียว กลไกที่การปรับโภชนาการควบการออกกำลังกายสามารถรักษาโรคข้อได้ดีนั้นวงการแพทย์ยังไม่ทราบชัดเจนนัก ได้แต่คาดหมายว่าด้านหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่น้ำหนักตัวลดลง อีกด้านหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ปฏิกริยาการอักเสบในร่างกายลดลงจากการกินอาหารผักและผลไม้ให้มากขึ้น

การจัดการความเครียดที่ดีมีผลลดอาการปวดข้อเข่า ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากความเครียดเพิ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ อีกส่วนหนึ่งคาดเดาว่าความเครียดเพิ่มปฏิกริยาการอักเสบผ่านกลไกการสื่อสารระหว่างสมองกับระบบเซลเม็ดเลือดขาวและมาโครฟาจซึ่งมีบทบาทในปฏิกริยาอักเสบ

การรำมวยจีน (Tai Chi) ซึ่งเป็นทั้งการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และเป็นทั้งวิธีการจัดการความเครียด ช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าในโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังได้ดี มีงานวิจัยเปรียบเทียบระดับเชื่อถือได้จำนวนมากยืนยันข้อสรุปนี้ จนวิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) แนะนำให้การรำมวยจีนเป็นวิธีออกกำลังกายมาตรฐานในการรักษาโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังแบบไม่ใช้ยา

          การออกกำลังกายเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมในภาพรวมคือการมุ่งฝึกกล้ามเนื้อทุกมัดที่ทำงานเกี่ยวกับข้อเข่าให้แข็งแรง และการมุ่งฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อรักษาพิสัยการเคลื่อนไหว (range of motion) ของข้อเข่าให้คงพิสัยปกติไว้ได้มากที่สุด
 
การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (weight bearing exercise) กับแบบไม่ลงน้ำหนัก

การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (weight bearing exercise) หมายถึงการออกกำลังกายใดๆที่ร่างกายเคลื่อนไหวต้านแรงโน้มถ่วงหรือต้านแรงดึง เช่นการรำมวยจีน ขยับแข้งขยับขาบนพื้น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง ปีนเขา เล่นกีฬาต่างๆ เล่นกล้าม ยกน้ำหนัก ดึงสายยืด เป็นต้น

ส่วนการออกกำลังกายแบบไม่ลงน้ำหนัก (non weight bearing) ก็เช่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

ความเชื่อเดิมของวงการแพทย์เชื่อว่าการออกกำลังกายแบบไม่ลงน้ำหนักเช่นว่ายน้ำ จักรยาน เป็นวิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ดีกว่าการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก แต่งานวิจัยที่ควบคุมอย่างดีได้พิสูจน์แล้วว่าความเชื่อนั้นไม่เป็นความจริง ความเป็นจริงคือการออกกำลังกายทั้งสองแบบให้ผลรักษาข้อเข่าเสื่อมได้ดีเท่าๆกัน

การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ กับการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว

ความเชื่อเดิมอีกเหมือนกันเชื่อว่าการอกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเช่นการเล่นการบริหารท่านั่งยอง (squat) และท่ายืนย่อเข่าขึ้นลง (lunges) มีผลรักษาข้อเสื่อมมากกว่าการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวธรรมดาๆ (balance exercise) เช่นการเต้นรำ แต่ความเชื่อนี้ได้ถูกลบล้างไปด้วยผลงานวิจัยของแพทย์ไทยที่ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ ที่นครนายก ซึ่งได้ทำการวิจัยเปรียบเทียบจนพิสูจน์ได้ว่าการออกกำลังกายทั้งแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและแบบเสริมการทรงตัว ล้วนมีผลรักษาข้อเข่าเสื่อมได้ดีพอๆกัน บรรทัดนี้ผมขอสดุดีแพทย์ไทยที่ได้ทำวิจัยเรื่องนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

สรุปว่าในแง่ของการออกกำลังกายเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม แบบไหนก็ได้ แต่ขอให้ออกจริงๆเสียทีเถอะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
 
1.     Wandel S, Jüni P, Tendal B, Nüesch E, Villiger PM, Welton NJ, Reichenbach S, Trelle S (2010). "Effects of glucosamine, chondroitin, or placebo in patients with osteoarthritis of hip or knee: network meta-analysis". BMJ 341: c4675.doi:10.1136/bmj.c4675. PMC 2941572.PMID 20847017.
2.     Wu D, Huang Y, Gu Y, Fan W (June 2013). "Efficacies of different preparations of glucosamine for the treatment of osteoarthritis: a meta-analysis of randomised, double-blind, placebo-controlled trials". Int. J. Clin. Pract. 67 (6): 585–94.doi:10.1111/ijcp.12115. PMID 23679910.
3.     Stephen P. Messier, PhD; Shannon L. Mihalko, PhD; Claudine Legault, PhD; Gary D. Miller, PhD; Barbara J. Nicklas, PhD; Paul DeVita, PhD; Daniel P. Beavers, PhD; David J. Hunter, MBBS; Mary F. Lyles, MD; Felix Eckstein, MD; Jeff D. Williamson, MD; J. Jeffery Carr, MD; Ali Guermazi, MD; Richard F. Loeser, MD. Effects of Intensive Diet and Exercise on Knee Joint Loads, Inflammation, and Clinical Outcomes Among Overweight and Obese Adults With Knee Osteoarthritis: The IDEA Randomized Clinical Trial PDF. Jama, September 2013 DOI:10.l001/jama.2013.277669
4.     Roddy E, Doherty M. Changing life-styles and osteoarthritis: what is the evidence?. Best Pract Res Clin Rheumatol. Feb 2006;20(1):81-97. [Medline].
5.     Jan MH, Lin CH, Lin YF, Lin JJ, Lin DH. Effects of weight-bearing versus nonweight-bearing exercise on function, walking speed, and position sense in participants with knee osteoarthritis: a randomized controlled trial. Arch Phys Med Rehabil. Jun 2009;90(6):897-904. [Medline].
6.     Chaipinyo K, Karoonsupcharoen O. No difference between home-based strength training and home-based balance training on pain in patients with knee osteoarthritis: a randomised trial. Aust J Physiother. 2009;55(1):25-30. [Medline].
7.     Marks R, Allegrante JP. Chronic osteoarthritis and adherence to exercise: a review of the literature. J Aging Phys Act. Oct 2005;13(4):434-60. [Medline].
8.     Wang C, Schmid CH, Hibberd PL, Kalish R, Roubenoff R, Rones R, et al. Tai Chi is effective in treating knee osteoarthritis: a randomized controlled trial. Arthritis Rheum. Nov 15 2009;61(11):1545-53. [Medline].

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67