สวนกระท่อมแบบอังกฤษ และ โรคเกร็ดเลือดต่ำ (ITP)

สัปดาห์นี้ผมไปซุ่มทำสวนมา สวนดอกไม้นะครับ ไม่ใช่สวนผักหรือสวนผลไม้ เพราะเคยตั้งใจว่าแก่แล้วถ้ามีเวลาก็จะทะยอยทำอะไรเล่นๆที่ผมเคยคิดอยากจะทำแต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำ คราวนี้ผมทำสวนดอกไม้ในเนื้อที่เล็กๆประมาณไม่เกิน 3 x 5 ตารางเมตร โดยเลียนแบบสวนมั่ว หรือสวนคนจน หรือสวนกระท่อม ที่ปลูกกันตามชนบทบ้านนอกประเทศอังกฤษ (cottage garden) คือมีอะไรก็ปลูกมั่วๆกันเข้าไป แม้ตัั้งใจจะเน้นดอกไม้ แต่บางทีก็ยัดของกินได้อย่างพริก มะเขือ เข้าไปในนั้นด้วย ส่วนดอกไม้ก็อะไรก็ได้มีที่ว่างตรงไหนก็เสียบเข้าไป หลักการคืออย่าปล่อยให้มีที่ว่างให้หญ้าแห้วหมูโผล่ขึ้นมาอาละวาดได้ก็แล้วกัน  เนื่องจากหน้านี้เป็นหน้าฝน ดอกไม้เมืองหนาวสวยๆยังปลูกไม่ได้ ผมก็ต้องอาศัยดอกไม้เมืองร้อน เช่นพังพวย ดาวเรือง คำปู้จู้ (ไม่รู้ภาษากลางเรียกอะไร)  ดอกกระเจียว เป็นต้น แม้จะเป็นหน้าฝน แต่สีสันก็พอได้นะ ผมถ่ายรูปมาให้ท่านดูด้วย หน้าหนาวผมกะว่าจะเอาให้จ๊าบกว่านี้ ตอนนี้ดูรูปสวนคนจนหน้าฝนไปก่อน โปรดสังเกตว่าสวนของผมเนี่ยอยู่ระดับพอๆกับภูเขาสีน้ำเงินลิบๆโน่นเลยเชียวนะ เพราะบ้านผมที่มวกเหล็กนี้ปลูกอยู่บนที่สูง เนื่องจากว่าตัวผมนี้กำพืดเป็นเด็กดอยจึงไม่ชอบอยู่บ้านลุ่ม

กลับมาถึงบ้านกทม.เห็นมีจดหมายถามเรื่องเกร็ดเลือดต่ำค้างอยู่สามสี่ฉบับ ผมเลือกมาตอบหนึ่งฉบับ ท่านที่ผมไม่ได้หยิบจดหมายมาตอบก็ขอให้อ่านฉบับนี้เอาก็แล้วกันนะครับ

.....................................................


ดิฉันวัย 70 ปี พบเกร็ดเลือดต่ำเมื่อ 2 เมย 56 เนื่งจากไปตรวจด้วยไปขูดหินปูนเลือดออกมาหยุดช้า มีพรายย้ำที่แขนขึ้นมาหลายปื้น 2 เดือนถึงจะหาย เดิน 3 - 400 เมตรจะเหนื่อย จึงไปโรงพยาบาล พบ เกร็ดเลือดต่ำ 12,000 หมอให้นอน รพ พอตอนเย็น เหลือ 2,000 ต้องให้เกร็ดเลือด ประมาณ 20 ถุงได้แล้วค่ะ ขณะนี้รับประทานยาลดกรดยูริค xandase tablet cavumox tablet และฉีด arpex injection  และหมอได้ขออนุมัติใช้ยาชื่ออะไรยังไม่ทราบประมาณ 2-3 อาทิตย์ข้างหน้า เข็มละ 22,000 กว่าบาท ต้องฉีด 7 เข็ม ฉีด 1 เข็มเว้นไป สามอาทิตย์ แล้วจึงฉีดเข็มต่อไป และยังรอผลการตรวจชิ้นเนื้อของไขกระดูกปลายเดือนนี้ด้วยค่ะ จากการเจาะไขกระดูกครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือน ที่แล้ว ให้เลือดเมื่อวันจันทร์ ที่ 6 มิย 1 ถุง ประมาณ 300 ซีซี โดยเจาะเลือดผลเหลือ 6,000 ถึงวันที่ 9 มิย. รู้สึกว่าซีดเหลืองและมีจุดแดงเล็กใต้ผิวหนังที่ขาเพิ่มมากขึ้น แลดูเหมือนจะลามขึ้นมาเหนือเข่า แต่พรายย้ำมี 2-3 ที่  อยากจะเรียนถามคุณหมอ
1. เป็นอะไรก็ไม่ทราบ โรคนี้มีทางรักษาหายไหมคะ     
2. ยาที่ฉีด 7 เข็มจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง                                      
ขอบคุณค่ะ
…………………………………

ตอบครับ

     1.. คุณพี่ถามว่าอิฉันเป็นโรคอะไร โห.. แล้วผมจะรู้มั้ยเนี่ย ผมต้องอาศัยเดาเอาจากข้อมูลกระท่อนกระแทนที่คุณพี่ให้มาว่ามีโอกาสเป็นโรคต่อไปนี้ได้ คือ

     1.1 ถ้าเดาเอาจากการที่คุณพี่เพิ่งเป็นมาไม่นาน และเห็นหมอเขาให้ยาฆ่าเชื้อ (Cavumox)  ด้วย คุณพี่อาจจะเป็นโรคเกร็ดเลือดต่ำแบบไม่ทราบเหตุ (idiopathic thrombocytopenic purpura หริอ ITP) ซึ่งหมายถึงภาวะที่เกร็ดเลือดต่ำลงโดยที่การทำงานอื่นๆของไขกระดูก (เช่นผลิตเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง) ยังเป็นปกติดี ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันตามหลังการติดเชื้อเช่นไข้เลือดออก หรือ HIV หรือไวรัสอื่นๆ หรืออาจเป็นแบบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกันของตัวเราเองทำลายเกร็ดเลือดของเราซะเอง

     1.2 ถ้าเดาเอาจากการที่หมอเจาะไขกระดูกไปแล้วสองรอบ แล้วหมอก็ถ่ายเลือด และให้ยากระตุ้นไขกระดูกให้ผลิตเม็ดเลือด (Eprex ไม่ใช่ Arpex) คุณพี่อาจจะเป็นโรคไขกระดูกไม่ทำงาน (Myeloproliferative disease) ซึ่งหมายถึงภาวะที่ไขกระดูกไม่ผลิตเซลต่างๆที่ควรผลิตเช่นเม็ดเลือดขาว เกร็ดเลือด เป็นต้น แล้วมีพังผืดเข้าไปแทรกในเนื้อไขกระดูกแทน

     1.3 ถ้าเดาเอาจากการที่หมอให้กินยาลดกรดยูริกด้วย หมอเขาอาจวินิจฉัยได้แล้วจากการเจาะไขกระดูกครั้งแรกว่าคุณพี่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จึงต้องให้ยาลดกรดยูริกที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก และกำลังวางแผนให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจหมายถึงยาฉีดเจ็ดเข็มที่พี่ว่านั้นแหละ

      ทั้งหมดนี่เป็นเพียงการเดานะครับ แต่คุณพี่จะมาเสียเวลาให้ผมเดาให้ทางไปรษณีย์ทำไมละครับ ถามหมอที่เขารักษาคุณพี่เสี่ยก็หมดเรื่อง ว่าในสามโรคข้างต้นนี้ คุณพี่เป็นโรคอะไร

     2.. ถามว่ายาที่หมอจะฉีดให้เจ็ดเข็มนั้นจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง แหม นี่ถ้าผมตอบปัญหาข้อนี้ให้คุณพี่ได้ผมไปเอาดีทางนั่งเทียนได้แล้วนะเนี่ย คุณพี่ไม่ได้บอกชื่อยาผมมาเลยแล้วให้ผมบอกผลข้างเคียงของยาผมจะไปตอบได้ยังไงละครับ เพราะผมไม่รู้ว่าหมอเขาจะฉีดอะไร มันอาจจะเป็นยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโรคไขกระดูกไม่ทำงานก็ได้ หรือมันอาจจะเป็นอิมมูโนโกลบูลินหรือโมเลกุลภูมิคุ้มกัน (IVIg) สำหรับโรค ITP ก็ได้  

     ขอนอกเรื่องหน่อยนะ คำถามของคุณพี่ทำให้ผมคิดถึงครั้งหนึ่งสมัยราวยี่สิบปีมาแล้ว ผมเป็นหมอหัวใจไปออกหน่วยตรวจคนไข้ที่แม่ฮ่องสอนกับเพื่อนหมอในสมาคมแพทย์โรคหัวใจด้วยกัน โดยยกกองขนเครื่องเอ็คโค่ไปตั้งตรวจกันที่รพ.จังหวัด มีคนไข้เป็นร้อย มุงโต๊ะตรวจแพทย์ราวกับมุงดูปาหี่ คนไข้ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงข้ามแดนมาจากทางพม่า พูดไทยไม่ได้ ต้องมีล่ามแปล มิซาบิบิ ซาบิบิ อะไรทำนองนี้ แล้วคนพม่าก็มีเอกลักษณ์ว่ามีแต่ชื่อ ไม่มีนามสกุล ถ้านามสกุลซ้ำกันก็ต้องอาศัยชื่อผู้ใหญ่บ้านประกบ เพราะในหมู่บ้านเดียวกันชื่อมักไม่ซ้ำกัน ผมตรวจคนไข้คนหนึ่งชื่อนางสาวโหม่ และพบว่าเป็นลิ้นหัวใจตีบ จึงให้ไปทำเอ็คโค่ซึ่งอยู่เต้นท์ข้างๆ พอเอาผลเอ็คโค่กลับมารายงานว่าเป็นผนังกั้นหัวใจรั่ว ผมบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะผมฟังได้เป็นลิ้นหัวใจไมทรัลตีบชัวร์ป๊าด จึงให้ล่ามตรวจสอบดูว่าผิดคนไหม ปรากฏว่าคนไข้ที่เข้ามาหาคนแรกเป็นนางสาวโหม่ง-ผู้ใหญ่เหล่เด๊ะ แต่คนที่ถือผลเอคโค่มานี้เป็นนางสาวโหม่ง-ผู้ใหญ่โข่ง ผมจึงบอกล่ามว่าให้ไปเอาตัวนางสาวโหม่ง-ผู้ใหญ่เหล่เด๊ะมา ย้ำว่าไม่ใช่ผู้ใหญ่โข่ง ล่ามก็ไปส่งเสียงมิซาบิบิกับผู้ประสานงานฝ่ายกระเหรี่ยง แล้วในที่สุดก็มีคนพาผู้หญิงอีกคนหนึ่งมา ไม่ใช่นางสาวโหม่ง แต่เป็นหญิงอายุราวสี่สิบปี ผิวคล้ำ ผอมเกร็ง มาถึงเธอก็แกะกระดุมเสื้อเปิดหน้าอกออกให้ผมตรวจหัวใจ พูดว่า

     “..มิซซาบิบิ บิบิซะ”

     ผมบอกล่ามว่าเฮ้ย.. นี่ผิดคนแล้ว ล่ามหันไปคุยกับผู้ประสานงาน มิซซาบิบิ บิบิซะ อีก แล้วก็สรุปว่านี่เป็นเมียผู้ใหญ่โข่ง แต่ไหนๆก็มาผิดตัวแล้วเธอก็ขอตรวจหัวใจด้วย ผมก็เลยตกกระไดพลอยโจน เอาหูฟังจ่อหน้าอกตรวจเธอไป พอตรวจแล้วก็พบว่าเธอเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว จึงได้อธิบายว่าเป็นมากถึงขั้นต้องไปผ่าตัดที่กรุงเทพฯ ล่ามก็แปลให้ฟัง พวกกระเหรี่ยงมุงได้ยินคำแปลก็ฮือฮาวิพากย์วิจารณ์กันเซ็งแซ่เหมือนจะเกิดเรื่องใหญ่อะไรขึ้น ผมถามว่านี่มันเรื่องอะไรกันอีกละ ล่ามตอบว่า พวกคนกระเหรี่ยงเขาพูดกันว่า

     “..หมอจากกรุงเทพเนี่ยเก่งจริงๆ ขนาดตรวจแค่ลูกบ้าน ยังรู้เลยว่าเมียผู้ใหญ่บ้านเป็นโรคหัวใจด้วย”

     จบละ.. ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     3.. ในกรณีที่เป็น โรคเกร็ดเลือดต่ำแบบไม่ทราบเหตุ (idiopathic thrombocytopenic purpura หริอ ITP) หากเป็นแบบเฉียบพลันที่เกิดจากยา หรือจากการติดเชื้อ มันจะหายไปเองในเวลาประมาณหกเดือนหลังจากเราหยุดยา หรือการติดเชื้อนั้นหายแล้ว ยาที่ทำให้เกร็ดเลือดต่ำได้ก็เช่นยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล ยาลดไขมัน (simvastatin) ยาแก้ปวดแก้อักเสบ เช่น Ibuprofen ยาวัณโรค ยากันชัก ยามาเลเรีย ยากระเพาะ (ranitidine) ยาซัลฟา ยาปฏิชีวนะ ส่วนการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของเกร็ดเลือดต่ำได้ก็เช่น ไข้เลือดออก ติดเชื้อ HIV เป็นต้น

     แต่หากเป็นแบบเรื้อรัง สาเหตุมักเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเกร็ดเลือดตัวอง การรักษาหลักคือการใช้ยาสะเตียรอยด์เพื่อกดภูมิคุ้มกัน โดยอาจควบกับการฉีดโมเลกุลต้านภูมิคุ้มกัน (IVIg) และการถ่ายเกร็ดเลือดให้เป็นครั้งคราวหากเกร็ดเลือดต่ำมาก

     4.. ในกรณีที่เป็นโรคเกร็ดเลือดต่ำที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจแนะนำให้ทำผ่าตัดเอาม้ามออกเสีย บางคนแพทย์ก็ตัดม้ามแถมให้ในโอกาสที่ผ่าตัดอย่างอื่นอยู่แล้วเช่นผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้อง เพราะวงการแพทย์เชื่อว่าม้ามเป็นทั้งอวัยวะผลิตภูมิคุ้มกันไปทำลายเกร็ดเลือดและเป็นที่จับตัวเกร็ดเลือดทำลายด้วย  การตัดม้ามจะทำให้คุมโรคได้มากถึง 90% แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ยังมีโอกาสกลับเป็นเกร็ดเลือดต่ำหลังตัดม้ามได้

     5.. การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเกร็ดเลือดต่ำ ควรทำดังนี้

     5.1 มุ่งเน้นไปที่การป้องกันเลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกในทางเดินอาหารจากยาที่มีฤทธิ์กัดกร่อนผนังทางเดินอาหาร เช่นยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAID) ดังนั้นจึงต้องงดยาแก้ปวดแก้อักเสบ เด็ดขาด

     5.2 โภชนาการที่มีอาหารที่จำเป็นต้องการสร้างเม็ดเลือดและเกร็ดเลือดพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีน โฟเลท วิตามินบี. 12 และธาตุเหล็ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

     5.2.1 โปรตีนมีมากในเนื้อ นม ไข่และถั่วต่างๆ  โปรตีนจากสัตว์จะพร้อมใช้มากกว่าจากพืช คืออาหารโปรตีนทุกชนิดเมื่อทานเข้าไปแล้วร่างกายจะย่อยลงไปเป็นกรดอามิโนก่อน แล้วค่อยเอาไปสร้างเม็ดเลือดหรือสร้างเป็นเนื้อหนังมังสาขึ้นมาภายหลัง ในบรรดากรดอามิโนทั้งหลายนี้ บางส่วนร่างกายก็สร้างขึ้นเองได้ แต่มีอยู่ 8 ตัวที่ร่างกายสร้างขึ้นไม่ได้ คือ ทริปโตแฟน, เฟนิลอะลานีน, ไลซีน, ทริโอนีน, วาลีน, เมไทโอนีน, ลิวซีน, ไอโซลิวซีน ประเด็นมันอยู่ที่ว่าพืชทุกชนิดไม่มีชนิดไหนมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทั้ง 8 ตัว เช่นถั่วเหลืองที่ว่ามีกรดอะมิโนจำเป็นมากที่สุดก็มีแค่ 7 ตัว ยังขาดเมไทโอนีน งามีเมไทโอนีนแยะแต่ขาดตัวอื่นหลายตัว ข้าวกล้องมีเมไทโอนีนแต่ขาดไลซีน เป็นต้น ดังนั้นการทานมังสวิรัติต้องทานพืชอาหารโปรตีนหลายอย่างคละกันเพื่อให้ได้กรดอะมิโนจำเป็นครบทุกตัว เช่นทานถั่วเหลืองผสมกับงา (สูตรยอดนิยม) หุงข้าวกล้องกับถั่วดำ เป็นต้น ส่วนโปรตีนจากสัตว์เช่นนมวัวและไข่นั้นจะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทั้ง 8 ตัวในตัวของมันเอง
     ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือทานโปรตีนเท่าไรถึงจะพอ สูตรง่ายๆคือขอให้ได้โปรตีนอย่างน้อยวันละ 50 กรัม 50 กรัมนี้ หมายถึง 50 กรัมของโปรตีน ไม่ใช่กรัมของเนื้อนมไข่ ยกตัวอย่างคุณทานเนื้อหมู 100 กรัม (สะเต๊กชิ้นโตหนึ่งชิ้น) คุณจะได้โปรตีน20% คือ 20 กรัมเท่านั้นเอง หรือถ้าคุณทานไข่ใบโตหนึ่งฟอง (70 กรัม) คุณจะได้โปรตีน 10% คือ 7 กรัมเท่านั้นเอง คุณดื่มนม 1 แก้ว (250 ซีซี.) คุณจะได้โปรตีนประมาณ 3.3% คือ 8.2 กรัมเท่านั้นเอง ดังนั้นวันหนึ่งถ้าคุณอยากได้โปรตีน 50กรัมคุณต้องทานสเต๊กชิ้นโตหนึ่งชิ้น ไข่สองฟอง นม 2 แก้ว ประมาณนี้ แหล่งอาหารโปรตีนที่ดีมากคือถั่วต่างๆ ผลเปลือกแข็ง (nut) และเมล็ด (seed) ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 20-30% แถมยังมีวิตามินและเกลือแร่มาก ถั่วต่างๆคุณคงรู้จักดีอยู่แล้ว ตัวอย่างของผลเปลือกแข็งก็เช่น มะม่วงหิมพานต์ เกาลัด แป๊ะก๊วย อัลมอนด์ มะคาเดเมียเป็นต้น ตัวอย่างของเมล็ดก็เช่น งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเก๋ากี้ เป็นต้น คุณหาผลเปลือกแข็งและเมล็ดเหล่านี้มาทานเป็นของว่างแทนขนมหวานหรือเค้กคุ้กกี้ซึ่งมีให้แต่พลังงานก็จะมีประโยชน์ดีกว่า 
     ถ้าไม่ชอบเคี้ยวอาจหาโปรตีนผง (Whey protein) ละลายน้ำดี่มทานแทนก็ได้เหมือนกัน การใช้โปรตีนผงก็ต้องดูข้างขวดให้ดี ว่าเป็นผงแบบ whey concentrate ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่สูงมาก (30-80%) หรือเป็นผงแบบ hydrolysate ซึ่งมีโปรตีนสูงถึงระดับใกล้เคียง 100% 

     5.2.2 โฟเลทหรือโฟลิกแอซิดมีมากในผักสดผลไม้สดและธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งจะได้เต็มที่จากการรับประทานสด เพราะมันเป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ (water soluble vitamin) การปรุงอาหารโดยการต้มผักอย่างต้มจับฉ่ายจึงสูญเสียโฟเลทไป งานวิจัยอาหารไทยพบว่าผักไทยที่มีโฟเลตมากได้แก่ถั่วต่างๆ ผักคะน้า กะหล่ำ ผักโขม ผักกาด และผลไม้เช่นส้ม สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ

     5.2.3 ธาตุเหล็ก มีมากในเนื้อสัตว์เลือด ตับ เนื้อ ธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ดีที่สุด ธาตุเหล็กที่ได้จากอาหารที่เป็นพืชไม่ได้อยู่ในรูปของโมเลกุลฮีม (nonheme iron) ทำให้ร่างกายนำมาใช้ยากเพราะต้องอาศัยกรดสกัดเอาตัวเหล็กออกมาก่อนจึงจะดูดซึมไปใช้ได้ พืชที่มีธาตุเหล็กมากเช่น ถั่วต่างๆ ผักต่างๆ เช่น ผักกูด ผักแว่น ใบแมงลัก เห็ดฟาง พริกหวาน กะเพราแดง ขึ้นฉ่าย และธัญพืช อย่างไรก็ตามคนทานมังสวิรัติจึงต้องทานอาหารที่ให้ธาตุเหล็กมาก ร่วมกับอาหารที่ให้วิตามินซีมากเพราะวิตามินซีช่วยการดูดซึมธาตุเหล็ก งานวิจัยผู้ทานอาหารมังสวิรัติพบว่าการทานอาหารประเภทข้าวและผักที่เราทานอยู่เป็นประจำโดยไม่มีเนื้อสัตว์เลย การดูดซึมธาตุเหล็กที่มีอยู่ในอาหารไปใช้จะเกิดขึ้นเพียง 3-10%เท่านั้น แต่ถ้าได้วิตามินซีจากผลไม้อีก 25-75 มก. (ฝรั่งประมาณครึ่งลูก) การดูดซึมของธาตุเหล็กที่มีอยู่ในข้าวและผักนั้นจะเพิ่มขึ้น จึงควรทานอาหารที่มีวิตามินซี.สูงร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงไปด้วยเสมอ ถ้าเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงก็ เช่น ส้ม ผรั่ง มะม่วง มะละกอ แคนตาลูป มะเฟือง สตรอเบอรี่ กีวี สับปะรด ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูงก็เช่น พริกหวาน ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง พริก มะเขือเทศ บรอกโคลี นอกจากอุปสรรค์เรื่องร่างกายใช้ nonheme ironได้ยากแล้ว ยังมีประเด็น สารแทนนิน ที่พบในน้ำชา กาแฟ จะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กให้ร่างกายได้รับเหล็กน้อยลงไปอีก แคลเซียมที่ได้จากนมหรือจากยาเม็ดแคลเซียมก็ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กเช่นกัน


     5.2.4 วิตามินบี.12 ได้จากการหมักอาหารของบักเตรี (fermentation) ดังนั้นอาหารหมักๆเหม็นๆเช่นกะปิ น้ำปลา ปลาร้า จึงมีวิตามินบี. 12 มาก ในผักสดที่เราทานก็มีวิตามินบี.12 อยู่บ้าง นอกจากนี้เรายังมีทางได้วิตามินบี.12 มาจากการที่บักเตรีพวก Bifidobacteria และ lactobacilli ในลำไส้ของเราซึ่งมันเอาสารคาร์โบไฮเดรตในกลุ่มโอลิโกแซคคาไรด์จา-กอาหารเช่นจากถั่วต่างๆไปย่อยด้วยวิธีหมักจนได้แก้สและวิตามินบี.12 ออกมาเป็นผลพลอยได้ สำหรับคนสูงอายุ ข้อมูลการศึกษาในผู้สูงอายุอเมริกันว่าคนเราเมื่ออายุมากขึ้นลำไส้จะดูดซึมวิตามินบี.12 ไปใช้ได้น้อยลง ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้น การทานวิตามินบี.12 เสริมด้วยก็น่าจะดี

     5.3.
 ผู้ป่วยด้วยโรคที่พึ่งพาการทำงานของไขกระดูกทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดเลือดต่ำ หรือโลหิตจาง ต้องออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน ยังไม่แข็งแรงก็ออกเบาๆก่อน แล้วค่อยๆให้หนักขึ้นๆ จนได้ถึงระดับมาตรฐานคือออกกกำลังกายแบบต่อเนื่องจนถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับการฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้มีการปล่อยสารช่วยการทำงานของไขกระดูก (erythropoietin)

     5.4 หลีกเลี่ยงการทานสมุนไพร ผู้ป่วยเกร็ดเลือดต่ำบางรายกลัวสะเตียรอยด์จึงแอบหยุดสะเตียรอยด์ที่แพทย์ให้ ไปทานยาสมุนไพร ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ดี เพราะสมุนไพรมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่แอบใส่สะเตียรอยด์เข้าไป พูดง่ายๆว่าเป็นสมุนไพรปลอม สะเตียรอยด์ในสมุนไพรนี้มีข้อเสียที่ไม่ทราบขนาดและควบคุมขนาดลำบาก ทำให้หยุดยายาก  


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.     Reese JA, Li X, Hauben M, Aster RH, Bougie DW, Curtis BR, et al. Identifying drugs that cause acute thrombocytopenia: an analysis using 3 distinct methods. Blood. Sep 23 2010;116(12):2127-33. [Medline].[Full Text].
2.     Arnold DM, Kelton JG. Current options for the treatment of idiopathic thrombocytopenic purpura. Semin Hematol. Oct 2007;44(4 Suppl 5):S12-23. [Medline].
3.     George JN, Woolf SH, Raskob GE, et al. Idiopathic thrombocytopenic purpura: a practice guideline developed by explicit methods for the American Society of Hematology. Blood. Jul 1 1996;88(1):3-40.[Medline].
4.     Gottlieb P, Axelsson O, Bakos O, et al. Splenectomy during pregnancy: an option in the treatment of autoimmune thrombocytopenic purpura. Br J Obstet Gynaecol. Apr 1999;106(4):373-5. [Medline].

5.     Rodeghiero F. First-line therapies for immune thrombocytopenic purpura: re-evaluating the need to treat.Eur J Haematol Suppl. Feb 2008;19-26. [Medline].

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี