เป็นต้อกระจกจากถูกหนามตำตา (Traumatic cataract)

เรียนคุณหมอที่เคารพ    

คนงานของผมคนหนึ่งอายุราวห้าสิบปี วันหนึ่งเอาเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายตัดแต่งพุ่มเฟื่องฟ้าแล้วหนามเฟื่องฟ้ากระเด็นเข้าตา เขาเล่าว่าเขาเอามือดึงหนามออก แล้วไปซื้อยาหยอดที่ร้านขายยา หลังจากนั้นสองวันตาก็หายแสบและกลับเป็นปกติ แต่ต่อมีอีกราวหนึ่งเดือนต่อมาเขารู้สึกตาข้างนั้นมัวมองเห็นราวสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อลองปิดตาดูทีละข้างจึงรู้ว่าตาข้างที่ถูกหนามตำมองเห็นไม่ชัด จึงไปที่รพ.... ซึ่งหมอบอกว่าเป็นต้อกระจกและนัดให้ไปผ่าตัดลอกเอาต้อกระจกออก แต่เขาไม่ยอมผ่าเพราะกลัวว่าจะต้องหยุดงานนาน ผมเป็นห่วงจึงอยากถามคุณหมอว่า 1. กรณีนี้จำเป็นต้องรีบผ่าตัดไหม การรอจะมีความเสียหายอะไรไหม 2. ถ้าไม่ผ่าตัดเลยจะได้ไหม เพราะผมทราบว่าการเป็นต้อกระจกในกรณีทั่วไปจะไม่ผ่าตัดก็ได้

............................................................

ตอบครับ

ผมจะตอบคำถามแบบจับประเด็นขึ้นมาคุยกันไปเรื่อยเปื่อยนะ เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่น โดยเฉพาะท่านผู้สูงอายุชายที่ชอบทำนั่นทำนี่ด้วยตัวเองจะได้เอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ด้วยได้

ประเด็นที่1. แพทย์ไม่อาจเสกให้การบาดเจ็บใดๆกลับคืนเป็นไม่บาดเจ็บได้ ดังนั้นการรักษาการบาดเจ็บที่ดีที่สุดก็คือการป้องกัน ซึ่งเป็นจริงอย่างยิ่งเป็นพิเศษสำหรับบางอวัยวะ เช่นลูกตา

ประเด็นที่ 2. การป้องกันลูกตาขณะทำงานกับเครื่องจักรที่หมุนหรือมีแรงเหวี่ยงทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องกรอ เครื่องกลึง เครื่องเลื่อย สว่านเจาะ ลูกหมู เป็นต้น วิธีมาตรฐานคือการสวมแว่นนิรภัย หรืออย่างน้อยก็สวมแว่นสายตาที่มีแผ่นกันข้าง (side shield) เสียบที่ขาแว่นทั้งสองข้าง ความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนี้ทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้วไม่ต้องพูดกันให้มากความ แต่ที่ต้องพูดกันมากหน่อยก็คือความจำเป็นที่จะต้องหัดหาความสุขจากการแก้ไขนิสัย "มักง่าย" ของตัวเองให้เป็น เพราะคนไทยนี้เป็นชาติที่มีพันธุกรรมมักง่าย ตัวหมอสันต์เองก็ไม่เว้นเพราะเป็นคนไทยกับเขาเหมือนกัน บางครั้งก็เผลอตัดหญ้าโดยใส่แต่แว่นสายตาโดยไม่ติดแผ่นกันข้างก็มีบ่อย ขอบคุณที่คุณเล่าเรื่องคนงานลูกน้องให้ฟังครั้งนี้ เพราะช่วยทำให้ตัวผมเองขนลุกจนตั้งใจจะจริงจังกับนิสัยมักง่ายของตัวเองมากขึ้น

ประเด็นที่ 3. เมื่อรู้สึกว่ามีอะไรกระเด็นเข้าตาหรือทิ่มคาอยู่ในลูกตา อย่าพยายามดึงออกด้วยตัวเอง เพราะการทำเช่นนั้นมักส่งผลสองประการคือ
(1) ความไม่คุ้นเคยกับกายวิภาคของลูกตาประกอบกับความไม่คุ้นกับการกลับข้างของภาพในกระจก จะทำให้มือเคลื่อนไหวเปะปะจนทำให้ตาได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
(2) เมื่อดึงสิ่งแปลกปลอมออกมาได้สำเร็จ อาจเป็นการดึงแบบแถมเอาอวัยวะในลูกตาเช่นเลนส์ตา น้ำวุ้นตา และม่านตา ปลิ้นแลบออกมาด้วย ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

ประเด็นที่ 4. หากเพียงแค่สงสัยว่าจะมีอะไรกระเด็นเข้าตา อย่าไปมัวหาซื้อยามาหยอดแล้วรอดูเชิง แต่จะต้องไปโรงพยาบาลทันที เพราะการมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา สิ่งที่ล่อแหลมว่าจะเกิดตามมาในเวลารวดเร็วน้องๆสายฟ้าแล่บที่ต้องนับกันเป็นนาทีก็คือการติดเชื้อที่แก้วตาแล้วลุกลามเข้าไปในลูกตา อย่างเบาๆก็คือทำให้ตาบอด จากบอดน้อยถึงบอดสนิทเพราะแก้วตา (cornea) ที่เคยใสๆเกิดขุ่นขึ้นมา  แต่อย่างหนักๆก็คือติดเชื้อทั้งเบ้าตา (panopthalmitis) จนต้องควักลูกตาออกอย่างเดียวจึงจะรักษาชีวิตไว้ได้

สำหรับท่านผู้อ่านบล็อกหมอสันต์จำนวนมากที่ทำร้านขายยา เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าเล่าประวัติชวนสงสัยว่าจะมีอะไรกระเด็นเข้าตามาขอซื้อยา ให้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางตา (eye emergency) จะต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาลอย่างแข็งขันทันที เพราะลูกค้ามักประเมินความรุนแรงของการติดเชื้อในลูกตาต่ำเกินไป และประเมินขีดความสามารถของยาหยอดตาในการทำลายเชื้อสูงเกินไป ตัวท่านซึ่งทำร้านขายยาจึงต้องช่วยพูดเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าถูกควักลูกตาด้วยจึงจะเป็นผู้ขายยาที่ดี

ประเด็นที่ 5. ในกรณีที่รอดพ้นจากการติดเชื้อเฉียบพลันไปได้แล้วอย่างลูกน้องของคุณนี้ ก็จะมาเจอด่านที่สองคือการเป็นต้อกระจกตามหลังการบาดเจ็บ (traumatic cataract) เกิดได้ทั้งจากการบาดเจ็บแบบกระแทกหรือแบบทิ่มแทง ซึ่งอาจซุ่มเงียบอยู่หลายสัปดาห์หลายเดือนแล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นๆ หรืออาจจะเป็นแบบรวดเร็วทันอกทันใจก็ได้เหมือนกัน กรณีนี้จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของการบาดเจ็บระดับเบา เพราะยังแก้ไขไม่ให้บอดสนิทได้ วิธีแก้ไขให้การมองเห็นกลับมาก็คือผ่าตัดลอกเลนส์ลูกเดียว

ส่วนที่ถามว่าจะต้องผ่าตัดช้าหรือผ่าตัดเร็วนั้น ต้องให้จักษุแพทย์ที่รักษาอยู่เป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำ เนื่องจากปัจจัยที่จำเป็นต้องผ่าตัดและต้องผ่าตัดเร็วด้วย คือ (1) ถ้ายังมีการติดเชื้อค้างอยู่ข้างในแม้จะใช้ยาเต็มที่แล้ว ก็ต้องผ่าตัดเร็ว (2) ถ้าสงสัยว่ายังมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในลูกตา ก็ต้องผ่าตัดเร็ว (3) ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนเป็นต้อหินเฉียบพลันแบบที่ใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องผ่าตัดเร็ว

ทั้งสามปัจจัยนี้ต้องประเมินโดยจักษุแพทย์ผู้รักษา ถ้าหมอเขาประเมินว่าไม่มีเหตุด่วนทั้งสามอย่างนี้ จะรอไปก่อนยังไม่รีบร้อนผ่าตัดก็ได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าต้อกระจกจากการบาดเจ็บบางรายอาการจะค่อยๆแย่ลงๆเมื่อเวลายิ่งผ่านไปเนินนาน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Tasman W, Jaeger EA. Traumatic cataract. Duane's Clinical Ophthalmology. 1997. 1: 13-4.
2. Shah MA, Shah SM, Shah SB, Patel CG, Patel UA. Morphology of traumatic cataract: does it play a role in final visual outcome?. BMJ Open. 2011 Jan 1. 1(1):e000060.


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี