ทุ่มเทเลี้ยงลูก แต่ทำไมสิ่งที่ได้มาจึงเป็นอย่างนี้

คุณหมอสันต์คะ
เมื่อเราเลี้ยงลูกขึ้นมาคนหนึ่ง เราอยากให้เขาเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิต และมีคุณค่าต่อสังคม  เราจะตายไปด้วยความภาคภูมิใจที่ลูกจะเป็นตัวแทนของเรา ทำสิ่งที่เราควรจะทำแต่ยังทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำต่อไป บนโลกใบนี้
แต่มาถึงวันนี้ หลังจากความพยายามทุ่มเทให้เวลาและพลังทั้งหมดที่เรามีให้กับการเลี้ยงลูก สิ่งที่เราได้มาคืออะไรหรือ ลูกที่ขี้เกียจ นอนดึก ตื่นสายเที่ยงวัน ไร้ระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ อย่าว่าแต่ต่อสังคมหรือต่อครอบครัวเลย แม้กระทั่งต่อตัวเองนับตั้งแต่สุขภาพและความเป็นอยู่ของตัวเองก็ไม่สนใจ ไม่เห็นหัวจิตหัวใจของคนอื่น โดยเฉพาะของพ่อแม่ตัวเอง มีแต่ take ไม่เคย give  พ่อแม่จะไหว้วานให้ทำอะไรนิดหน่อยเช่นแก้ปัญหาแม่เข้าไลน์กับเพื่อนไม่ได้ทั้งที่หากเขาจะช่วยสำหรับเขามันก็ง่ายนิดเดียว แต่แม่รอไปเถอะชาติหนึ่ง ไม่สนหรอก กว่าจะเรียนหนังสือจบต้องกราบกรานอ้อนวอนกันแทบตาย เรียนจบแล้วงานการก็ไม่ยอมทำ เพื่อนของพ่อเสนองานที่บริษัทของเขาให้ก็ไม่เอา เอาแต่กิน นอน เล่นคอม แม้จะช่วยงานเล็กๆน้อยเช่นเอาขยะไปทิ้งถังหน้าบ้านก็ไม่ทำ ทิ้งให้แม่ทำเองหมด ตัวเองมีเวลาให้กับเฟสบุค อินสตาแกรม เกมส์ วิดิโอ และเพื่อน แต่ไม่มีเวลาให้กับการช่วยงานบ้านและการรับผิดชอบตัวเองเลย
ไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร เพื่อนบางคนเขามีปัญหาเดียวกันแต่ครอบครัวของเขาแตกแยก ก็ยังพออธิบายได้ว่าของเขาเป็น broken family เด็กจึงมีปัญหา แต่ของดิฉันไม่ใช่ เราเป็นครอบครัวที่เพอร์เฟค มีการศึกษา มีฐานะ ทำทุกอย่างที่จะให้ลูกได้พบได้เห็นได้ทดลองสัมผัสสิ่งดีๆ ให้เขาได้เรียนรู้ในหลายๆด้านทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา เผื่อว่าเขาจะชอบอะไรแล้วมีความสุขกับสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต แต่ไม่เห็นเขามีความสุขกับอะไรสักอย่าง วันๆเอาแต่จิ้มคอม ชอบอารมณ์เสียฮึดฮัด พูดด้วยก็ไม่พูด ถ้าจะพูดก็พูดกระโชกโฮกฮากไม่สุภาพ ไม่เห็นใจพ่อแม่ กินแต่จั๊งฟู้ด อ้วนเผละ พอชี้ให้เห็นผลเสียต่อสุขภาพก็ว่าตายเร็วก็ไม่เห็นเป็นไร ดีเสียอีก ทำไมลูกเราถึงออกมาเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาถึงกลายเป็นคนที่มีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่าโดยที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย ตัวดิฉันเองก็รู้สึกไม่ดี เราผิดตรงไหนนะ ทำไมเราเลี้ยงลูกออกมาแล้วทำให้เขาเป็นคนที่มีความสุขหรือมีคุณค่าไม่ได้

.................................................

     ตอบครับ

     อามิตตาพุทธ!

     จดหมายของคุณทำให้นึกถึงจดหมายเก่าโบราณของตุลาการศาลคดีเยาวชนคนหนึ่งที่เมืองเดนเวอร์ (สหรัฐ) ชื่อฟิลิป กิลเลียม (Philip Gilliam) ผู้อุทิศชีวิตตนเองทั้งชีวิตให้กับความพยายามจะช่วยเหลือวัยรุ่นมีปัญหาผ่านกระบวนการศาลคดีเยาวชน ซึ่งจดหมายนี้เขาเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ South Bend Tribune ที่เดนเวอร์เมื่อปีค.ศ. 1959 หรือเกือบหกสิบปีมาแล้ว เก่ามาก เขาตั้งชื่อว่าจดหมายเปิดผนึกถึงวัยรุ่น (Open Letter to Teen-ager) ผมขออนุญาตแปลจดหมายฉบับนั้นมาให้อ่านกันนะ

“... เราได้ยินอยู่เรื่อยที่วัยรุ่นเขาเรียกร้องกัน เช่นว่า จะให้เราทำอะไร? จะให้เราไปไหน?
คำตอบก็คือ “กลับบ้าน!”
ซ่อมหน้าต่าง ทาสีฝาหรือโต๊ะตั่งม้านั่ง กวาดใบไม้ ตัดหญ้า กวาดหิมะบนทางเดิน ล้างรถ หัดทำอาหาร ถูพื้น ซ่อมอ่างล้างมือ ต่อเรือ หางานทำ ช่วยงานบาทหลวง ทำงานให้กาชาด เข้าร่วมหน่วยบรรเทาทุกข์ เยี่ยมคนป่วย ช่วยคนจน เรียนหนังสือ เมื่อทำจนหมดแล้วและยังไม่เหนื่อยก็..อ่านหนังสือ
พ่อแม่ของคุณไม่ได้ติดค้างหนี้ความบันเทิงในชีวิตต่อคุณอยู่นะ ชุมชนหมู่บ้านหรือตำบลของคุณไม่ได้ติดค้างหนี้กิจกรรมพักผ่อนต่อคุณดอก โลกนี้ไม่ได้เป็นหนี้อะไรคุณ แต่คุณนั่นแหละที่เป็นหนี้โลกบางอย่าง
คุณติดค้างเวลาและพละกำลังของคุณต่อโลก เพื่อที่โลกนี้จะได้เป็นโลกที่ไม่ต้องมาตกอยู่ในภาวะสงคราม ความยากจน การเจ็บป่วย และการทอดทิ้งกันซ้ำๆซากๆอีก
หยุดเป็นเด็กทารกร้องแหกปากแล้วรู้จักโตเสียที ออกมาจากฝันอันละเมอเพ้อพกมาลงมือสร้างกระดูกสันหลังตัวเองให้แข็งและลงมือทำตัวเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชายหรือสุภาพสตรีที่แท้จริงซะ
วัยของคุณมันโตเกินพอที่จะเป็นผู้ใหญ่และรู้จักรับผิดชอบสิ่งต่างๆที่พ่อแม่ทำให้คุณมานานหลายปีเสียเองแล้ว พ่อแม่สู้ฟูมฟักโอบอุ้ม คุ้มครอง ดูแล ช่วยเหลือ ร้องขอ อ้อนวอน ขอโทษ หรือทนอดที่จะไม่ทำอะไรให้ตัวเอง เพื่อจะให้คุณได้ประโยชน์ทุกอย่าง พ่อแม่ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความรักสุดหัวใจเพราะคุณเป็นยอดดวงใจของพวกเขา
แต่มาถึงวันนี้แล้วคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคาดหมายให้พ่อแม่มอบกายถวายชีวิตให้คุณอีกต่อไปเพียงเพราะอีโก้แห่งความเห็นแก่ตัวที่ครอบงำสามัญสำนึกของคุณไปเสียหมดสิ้น 

ในนามของสวรรค์ โตซะทีเถอะ แล้วกลับบ้านซะ!..”

     จดหมายของคุณและของฟิลิปกิลเลียมเหมือนกันตรงที่คร่ำครวญด้วยความเจ็บปวดว่าทำไมวัยรุ่นที่เรารักนักหนาจึงเป็นอย่างนี้ แต่ว่าไม่มีมุขใหม่ๆใดๆในการแก้ปัญหานอกเหนือไปจากการดุด่าข่มขู่บังคับร้องขออ้อนวอน ซึ่งคุณเองก็ใช้ไปจนหมดแม็กแล้วแต่มันไม่เวอร์ค

     เอาเถอะ เราเลิกพูดถึงจดหมาย มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1. ถามว่าวิชาแพทย์มีวิธีแก้ปัญหาวัยรุ่นขี้เกียจไหม ตอบว่า “ไม่มีครับ” แม้ว่าผมจะเห็นแพทย์หลายท่านใช้ยาหลายอย่างรวมทั้งยากล่อมประสาท ยาต้านซึมเศร้า และยากันชัก รักษาวัยรุ่นขี้เกียจ แต่นั่นเป็นการรักษาไปตามดุลพินิจส่วนตัวของแพทย์แต่ละท่าน ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์ที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนครับ

     2. ถามว่าทำไมคุณตั้งใจเลี้ยงลูกดีแทบตาย แต่สุดท้ายเป็นอย่างนี้ได้ ตอบว่า คำตอบที่แท้จริงอยู่ในสายลม เพราะไม่มีใครรู้จริงๆ แต่คำตอบที่หมอสันต์จะตอบให้คุณนี้เป็นความคิดทึกทักเอาของหมอสันต์คนเดียว ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์ แม้จะคิดขึ้นโดยอาศัยความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ก็ตาม มันเป็นเพียงเรื่องเล่าจากปากหมอแก่ขี้บ่นคนหนึ่งเท่านั้น

     คือหมอสันต์ตอบว่าสาเหตุที่การเลี้ยงลูกของคุณหรือของพ่อแม่คนอื่นอีกมากในสมัยนี้ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่แต่ท้ายที่สุดไหงกลายเป็นบ้องกัญชาไปเสียได้ ก็เพราะการยำรวมกันของสาเหตุต่างๆต่อไปนี้

     2.1 การทำให้เด็กบรรลุความเป็นอิสระชน (autonomy) อย่างผิดวิธี ทำให้เขากลายเป็นคนเฉยชาต่อชีวิต ฝรั่งเรียกว่าคนขาดความบันดาลใจ นี่เป็นคอนเซ็พท์ของผมเองนะ ซึ่งมันยาวและเข้าใจยาก คุณต้องใจเย็นๆอ่านหน่อยนะ คือในวิชาจิตวิทยาเราเรียกวัยรุ่นแบบลูกของคุณนี้ว่าเป็นวัยรุ่นที่ขาดความบันดาลใจ (unmotivated) แบบว่าไร้ความใฝ่ฝันถึงวิมานฉิมพลีเมืองแก้วหรือโอกาสจะได้ขี่ช้างขี่ม้าอะไรทั้งนั้น ทีนี้มองจากมุมจิตวิทยา คนเรานี้ล้วนแสวงหาสุดยอดของกิเลสอย่างหนึ่งเรียกว่า autonomy ซึ่งผมขอแปลว่าความเป็นอิสระชน แล้วความเป็นอิสระชนนี้มันพัวพันเกี่ยวข้องกับความบันดาลใจ กล่าวคือเพราะอยากจะบรรลุความเป็นอิสระชน คนจึงมีความบันดาลใจจะทำโน่นทำนี่สารพัดเพื่อให้บรรลุความเป็นอิสระชน เมื่อได้บรรลุแล้วความบันดาลใจจะทำโน่นทำนี่ก็หมด เพราะกิเลสสูงสุดได้รับการสนองตอบแล้ว จะไปตอแยกับกิเลสกระจอกๆอย่างอื่นอีกทำไม

     ประเด็นก็คือความเป็นอิสระชนนี้มันมีสองแบบ

     แบบที่ 1. คืออิสระชนตัวจริง หมายถึงการที่คนเราได้มีโอกาสคิดอ่านทำอะไรทุกอย่างตามที่ตนเองอยากทำ และมีความพร้อมและความสามารถที่จะรับมือกับผลลัพธ์ที่ตนเองทำไปนั้นได้ด้วยตนเองไม่ว่าผลลัพธ์มันจะล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะอย่างไรเขาก็รับมือได้หมด ฝรั่งเรียกอิสระชนแบบนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นคนที่มี accountability ซึ่งน่าเสียดายที่คำนี้ไม่มีคำแปลในภาษาไทย ผมขออนุญาตแปลด้วยคำของผมเองว่า “ผู้ที่เชื่อฝีมือได้”  หมายความว่าอิสระชนตัวจริง ก็คือคนชอบลุยแล้วเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง ซึ่งการจะเป็นคนอย่างนี้ได้จะต้องอาศัยเวลาและประสบประการณ์สั่งสมทักษะการเอาตัวรอด (coping skill) ไว้มากพอจนเกิดความมั่นใจที่จะลุยเรื่องใหม่ๆด้วยตัวเอง

     แบบที่ 2. คืออิสระชนตัวปลอม หมายถึงคนที่เกิดมาแล้วอยากคิดอ่านทำอะไรก็ได้อย่างใจไปเสียหมด แต่ไม่มีความพร้อมหรือความสามารถที่จะรับมือกับผลลัพธ์ที่ตนเองทำไปนั้นได้ด้วยตนเอง คือไม่มี accountability ต้องอาศัยคนอื่น อย่างเช่นลูกของคุณนี้เกิดมาอยากทำอะไรก็ได้ทำหมด เพราะพ่อแม่จัดให้ แต่ทำแล้วจะล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะอย่างไรเขาไม่สามารถตามไปเช็ดไปล้างด้วยตัวเองได้นะ เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเขาไม่ได้โอกาสที่จะฝึก coping skill ในการรับมือกับผลเสียจากการกระทำของเขาเลย เนื่องจากพ่อแม่รับมือแทนหมด เช่นครูสั่งให้ทำการบ้าน เขาไม่ทำ พ่อแม่ก็ทำให้ เขาทำผิดครูลงโทษ เขาก็ไม่ต้องรับหน้าเอง เพราะพ่อแม่ตามไปแก้ต่างให้ เขาได้เป็นอิสระชน แต่เป็นตัวปลอม เมื่อได้เป็นอิสระชนอยากได้อะไรก็ได้แล้ว เขาจึงไม่มีความบันดาลใจที่จะไปเสาะหาวิมานเวียงแก้วที่ไหนอีก เพราะที่บ้านนี่เขาได้บรรลุสุดยอดสิ่งที่มนุษย์อยากได้แล้ว ได้เป็นจักรพรรดิ อยากได้อะไรมีขี้ข้า มีนางสนอง แล้วจะมีอะไรควรค่าแก่การเสาะหาอีกหรือ นี่เป็นคำอธิบายของหมอสันต์ว่าทำไมเขาจึงเป็นวัยรุ่นชนิดไม่มีแรงบันดาลใจหรือทำไมเป็นคนชาด้านต่อชีวิต นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง

     2.2 การที่เด็กได้รับรางวัลและการยกย่องมากเกินไป ทำให้เขากลายเป็นคนกลัวความล้มเหลว ทุกวันนี้หากเราเดินเข้าบ้านไหนที่มีลูกเรียนระดับประถมจะเห็นโล่ห์และเหรียญรางวัลที่พรรณาความสามารถของเด็กเต็มตู้ไปหมด ราวกับบ้านของนักรบผู้กล้าที่ผ่านสงครามโลกมาแล้วสองครั้ง..ปานนั้น คือการเลี้ยงเด็กสมัยนี้ ใช้วิธีแบบว่า หากจะเปรียบเป็นการสร้างนักกีฬาโอลิมปิกก็คือพร่ำเชิดชูเกียรติและให้เหรียญทองเขาก่อน แล้วค่อยให้เขาไปลงสนามแข่งขัน ด้วยความเชื่อว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้เด็กตระหนักถึงศักยภาพที่ตนเองมีและใช้ศักยภาพของตนเองได้เต็มๆ แต่ความเป็นจริงก็คือถ้านักกีฬาโอลิมปิกได้เหรียญทองแล้ว เรื่องอะไรเขาจะลงสนามแข่งขันละครับ เพราะลงแข่งอย่างดีที่สุดก็เสมอตัวคือชนะได้เหรียญทอง ซึ่งเขาก็ได้มาแล้ว แต่ซวยขึ้นมาเกิดเขาแพ้ในสนามไม่ได้สักเหรียญแล้วเขาจะเอาหน้าไปไว้ไหนละครับ เพราะเหรียญทองและเสียงปรบมือก็รับเอามาแล้ว ดังนั้นการเลี้ยงเด็กให้เติบโตมาด้วยความเข้าใจว่าเขาเก่ง เขาเป็นคนพิเศษ จะเป็นการบ่มเพาะความกลัวการล้มเหลว ซึ่งความกลัวนั้นจะแสดงออกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ด้วยการไม่ยอมทำอะไรที่มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวเลย แม้กระทั้งการจะไปสมัครงานก็ไม่ยอม เพราะกลัวถูกคัดทิ้ง มีเส้นให้ได้เข้าไปทำโดยไม่ต้องสมัครหรือไม่ต้องสอบก็ไม่เอา เพราะกลัวทำไม่ได้แล้วถูกไล่ออกหรือถูกเย้ยหยัน นี่คือเหตุผลที่หมอสันต์ใช้อธิบายว่าทำไมลูกคุณจึงไม่ยอมทำอะไร เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

     2.3 การเลี้ยงเด็กโดยวิธีสร้างบรรยากาศในบ้านให้แตกต่างจากความเป็นจริงนอกบ้าน ทำให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมถอยเข้ากบดานอยู่ในมุม และก้าวร้าวต่อพ่อแม่

     เขียนมาถึงตรงนี้ ผมขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของจีนให้ฟังนะ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กษัตริย์องค์สุดท้ายของจีนชื่อผู่อี๋หรือปูยี ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยอายุไม่เต็มสามปีด้วยซ้ำ และเป็นกษัตริย์อยู่ถึงอายุราวหกปีก็เกิดการปฏิวัติโดยผู้นำซึ่งเป็นสามัญชนชื่อนายแพทย์ซุนยัดเซ็น แต่การใช้ชีวิตในฐานะจักรพรรดิของผู่อี๋ในวังต้องห้ามก็ยังเป็นไปอย่างปกติ ในวังเขาเรียนรู้จากครูของเขาว่าเขาเป็นจักรพรรดิ์ มีอำนาจ อยากทำอะไรก็ได้ มีอยู่วันหนึ่งผู่อี๋หนีเรียนแล้วแอบเตร็ดเตร่ไปตามซอกหลืบของวัง ครั้นได้ยินเสียงอึกทึกนอกกำแพงก็แอบปีนกำแพงขึ้นไปดู จึงเห็นขบวนแห่ที่เกรียงไกรมาก ซึ่งอันที่จริงเป็นขบวนอารักขานายแพทย์ซุนยัตเซ็นตามปกติ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเหลือบเห็นเด็กโผล่หน้าพ้นกำแพงก็ชี้หน้าตวาด เขากลัวมากต้องรีบมุดหัวหลบ เขาช็อกกับสิ่งที่เห็นนอกกำแพง แม้จะเป็นเด็กแต่เขาก็รู้โดยทันทีว่าซุนยัตเซ็นซึ่งนั่งรถยนต์มาในขบวนนั้นเป็นคนมีอำนาจและเป็นที่เกรงกลัวของผู้คนอย่างแท้จริง เขาเข้าใจว่ารถยนต์เป็นที่มาของอำนาจ  เมื่อกลับมาเข้าห้องเรียนแล้ว เขายังช็อก และกลัว เขาบอกครูว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะต้องมีรถยนต์ และพยายามทดสอบเพื่อยืนยันว่าเขาเป็นจักรพรรดิจริงๆหรือ เขาถามครูว่าเขามีอำนาจสั่งทุกคนทำได้ทุกอย่างจริงหรือ ครูตอบว่าจริง เขาจึงสั่งให้ครูกินน้ำหมึกเขียนหนังสือ ครูซึ่งภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และรักเขาเหมือนลูกและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเขาให้มีชีวิตที่ราบรื่นในอาณาจักรเสมือนแห่งนี้ก็กินน้ำหมึกนั้นให้เขาดูโดยไม่ลังเล เขาทดสอบอำนาจของเขาด้วยการสั่งทุบตีขันทีจนบาดเจ็บอีกหลายครั้ง

     ผู่อี๋มีเวลาเรียนรู้ว่าเขาเป็นจักรพรรดิเพียงสามปีเท่านั้น เมื่อความเชื่อที่ว่าเขาเป้นจักรพรรดิ์ถูกสั่นคลอนเขายังช็อกมากและมีพฤติกรรมทำร้ายคนที่รักเขาได้มากถึงขนาดนี้ ลูกของคุณมีเวลาเรียนรู้ว่าเขาเป็นจักรพรรดิในบ้านโดยมีข้าทาสบริวารรับใช้คือพ่อแม่นานตั้งแต่เกิดจนอายุยี่สิบ เขาถูกยกย่องว่าเป็นคนพิเศษ มีสิทธิพิเศษ ไม่ต้องทำงานกระจอกอย่างกวาดบ้านถูพื้นซักผ้าเอาขยะไปทิ้ง ข้าทาสบริวารคือพ่อแม่ทำให้หมด การเลี้ยงเขาแบบนี้เป็นการสอนเขาว่าเขาอยู่เหนืองานกระจอกน่าเบื่อหน่ายทั้งหลาย ซึ่งเป็นการบ่มเพาะแคแรคเตอร์ของคนที่จะล้มเหลว เพราะคนที่จะสำเร็จ ตามประสบการณ์ชีวิตของผมเอง ต้องเป็นคนที่พร้อมและสามารถที่จะทำในสิ่งที่จริงๆแล้วเขาก็ไม่อยากทำเท่าไหร่ได้ด้วย การที่ลูกได้รับการเลี้ยงดูในบรรยากาศเสมือนหรือในวังจำลองนานตั้งยี่สิบปี คุณลองประเมินสิว่าเขาจะช็อกขนาดไหนเมื่อได้เรียนรู้ว่านอกรั้วบ้านนั้นเขาไม่ใช่จักรพรรดิและมีโอกาสจะถูกบ้องหูโดยพลันถ้าเขาทำอะไรไม่เข้าท่ากับคนอื่นเข้า แถมเมื่อเขาไปสมัครงานเขาคาดหวังว่าจะได้รับความสำคัญแต่กลับจะถูกคัดทิ้งอย่างเศษขยะแบบไม่มีใครเยื่อใย แน่นอน เขาช็อก เขากลัว และมีใจไม่อยากยอมรับความจริงที่รับได้ยาก เพราะเขาติดความเป็นจักรพรรดิ ติดความเป็นอิสระชน แม้จะเป็นแค่อิสระชนตัวปลอมก็ตาม ด้านหนึ่งเขาจึงต้องหดหนีจากข้างนอกเข้ามาอยู่ข้างใน อีกด้านหนึ่งเขาต้องคอยทดสอบว่าเขามีอำนาจเหนือข้าทาสบริพารในบ้านอยู่จริงหรือเปล่า การทรมานพ่อแม่ด้วยพฤติกรรมต่างๆจึงเกิดตามมา ส่วนใหญ่ก็ด้วยวิธีทดสอบว่าตัวเองยังมีอำนาจที่จะทำให้พ่อแม่โกรธหรือหัวเสียได้หรือเปล่า แต่บ่อยครั้งก็ไปไกลกว่านั้น คนไข้รายหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าลูกชายซึ่งตัวใหญ่มีกำลังมากฉวยผมแม่แล้วดึงเพื่อกึ่งบีบบังคับแม่ก็มี รายที่แย่ที่สุดเล่าว่าลูกของเธอเอามีดปลายแหลมคมกริบออกมาให้แม่ดูแล้วบอกว่า วันไหนที่ผมเบื่อชีวิตมากและจะไป ผมจะพาแม่ไปด้วยนะ เล่นเอาคุณแม่ต้องหลบหนีไปอยู่บ้านอื่นโดยไม่ยอมให้ลูกรู้ว่าไปอยู่ที่ไหน ทั้งหมดนี้ผมอธิบายด้วยการเดาของผมเองว่าเป็นผลจากการเลี้ยงดูแบบทำให้บรรยากาศในบ้านแตกต่างจากนอกบ้านมากเกินไป

     2.4 การเลี้ยงเด็กโดยตั้งความหวังว่าเขาจะเป็นฉัพพรรณรังสีที่จะทำให้คุณเปล่งประกายก็ดี หรือไม่ก็เลี้ยงเด็กโดยจงใจเสี้ยมเพื่อให้เขาไปทำการใหญ่ที่คุณเคยคิดจะทำแต่ไม่มีปัญญาทำหรือไม่มีโอกาสได้ทำก็ดี เป็นการจับคอเด็กเตี้ยยืดขึ้นเพื่อให้เขาสูงเท่าคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความสูงที่แท้จริงของเขา ฝรั่งเรียกว่าเป็นการสร้าง high expectation วิธีการเช่นนี้ก็เป็นการอุ่นเครื่องให้เด็กเติบโตไปพบกับความล้มเหลว เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนเราถูกคาดหวังสูงก็จะเกิดความเครียด เมื่อใดที่ความเครียดมา เมื่อนั้นความล้มเหลวและความเพี้ยนก็จะตามมา ความเพี้ยนนี้บ่อยครั้งก็จะเร่งเครื่องโดยพ่อแม่เอง เช่นแทนที่จะเอาลูกเข้าโรงเรียนที่กระจอกๆแต่เหมาะกับความสามารถและพื้นฐานที่ลูกมี กลับวิ่งเต้นเอาไปเข้าโรงเรียนหรูเริ่ดสะแมนแตนที่ไม่เหมาะกับลูกเลยเพียงเพราะคุณพ่อคุณแม่จะอาศัยระดับชั้นของโรงเรียนทำให้พ่อแม่ดูดีขึ้น แบบนี้ก็เป็นเหตุผลประการที่สี่ที่ผมเดาว่าจะทำให้เกิดเด็กอย่างลูกคุณนี้ขึ้น

  3.. ถามว่าแล้วจากตรงนี้ จะไปต่ออย่างไรดี ผมขอแยกการตอบคำถามนี้ออกเป็นสองส่วนก็แล้วกันนะ

     ส่วนที่ 1. เป็นคำตอบสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่มีลูก หรือเพิ่งมีแต่ยังแบเบาะอยู่ ผมแนะนำว่า

     3.1.1 ในการเลี้ยงลูก อย่าพร่ำบอกว่าเขาเป็นเด็กฉลาด เป็นเด็กเก่ง อย่าให้รางวัลเขาพร่ำเพรื่อโดยที่เขาไม่ได้ใช้ความพยายามทำอะไรอย่างจริงจัง อย่าให้เงินซี้ซั้วโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ให้เขาเข้าใจอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนธรรมดา ถ้าพยายามก็สำเร็จ ถ้าไม่พยายามก็ล้มเหลว

     3.1.2 อย่ายกย่องความสำเร็จจนสุดโต่งและปฏิเสธความล้มเหลวแบบเอาหัวมุดทราย แต่สอนให้ได้พบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เปิดโอกาสให้เขาได้ cope กับความล้มเหลวจนเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต โดยคุณต้องอดทนดูลูกปลุกปล้ำกับความล้มเหลวของเขา อย่าไปปักธงอย่างโง่ๆว่าลูกของเราจะต้องสำเร็จลูกเดียวล้มเหลวไม่ได้

     3.1.3 อย่าล้างจาน ซักผ้า ถูพื้น เทขยะแทนเขา หากคุณไม่มอบหมายให้ทำงานบ้าน เขาจะกลายเป็นเด็กที่ “ยุ่งอยู่แต่กับการบ้านหรือเรื่องของตัวเองเหลือเกิน” นั่นเป็นการบอกเขาว่าเขาเป็นนักกีฬาทีมชาติประจำบ้านที่มีหน้าที่ไปเอาเหรียญทองกลับมาให้ครอบครัว เป็นการส่งข่าวสารที่ผิด ข่าวสารที่ว่าเขาเป็นคนพิเศษ การเห็นคุณแม่อุ้มถังขยะออกไปเทเองไม่ได้ทำให้เขาเกิดตื้นตันด้วยความขอบคุณจนต้องรีบเข้าห้องขยันอ่านหนังสือและทำการบ้านมากขึ้นดอก แต่นั่นเป็นการสอนเขาว่าเขาอยู่เหนืองานกระจอกน่าเบื่อหน่ายเหล่านี้ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เขาเป็นคน "ขี้ล้มเหลว" ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน เพราะจับอะไรก็จะเป็นงานกระจอก ไม่ใช่ ไม่ชอบ ไปเสียหมด

     3.1.4 อย่าทำบ้านให้เป็นวังที่แตกต่างจากโลกภายนอก ในการเป็นพ่อแม่คนนี้ เรื่องจะป้อนข้าวป้อนน้ำหาเสื้อผ้าให้ใส่หาเงินให้ใช้นั้นมันเป็นเรื่องง่ายที่ไม่สำคัญ คุณจะทำบ้างไม่ทำบ้างก็ยังได้ และยิ่งสมัยนี้แล้วคุณทำให้ขาดดูจะดีกว่าทำให้เกิน แต่การขีดเส้นให้ลูกได้เรียนรู้ว่าข้อจำกัดของการเกิดมาเป็นคนในสังคมมันอยู่ที่ตรงไหนนี่สิเป็นเรื่องยากที่สำคัญและต้องทำ หากคุณไม่สามารถทำตรงนี้ได้ คุณก็ยังไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นพ่อแม่คนได้ ภาษาหมอเรียกว่าไม่ qualified กฎสากลของสังคมนอกบ้านต้องบังคับใช้กับลูกในบ้านอย่างไม่ยกเว้น การพูดจากับผู้คนต้องสุภาพ ต้องรู้จักแสดงความเห็นใจผู้อื่น มิฉะนั้นจะต้องถูกโต้กลับหรือลงโทษด้วยการถูกทอดทิ้ง ทุกคนในบ้านต้องทำงาน ไม่งั้นก็ต้องได้รับผลลัพธ์ของการไม่ทำงานเหมือนสังคมนอกบ้าน สมัยผมเรียนอยู่แม้โจ้ ครูสอนว่า “ควายมันยังอยู่ในสังคมด้วยการทำงานเล้ย” หากพ่อแม่ไม่ทำอย่างนี้ ก็จะเป็นการบอกเขาว่าเขาเป็นคนพิเศษ มีสิทธิพิเศษ กฎของโลกข้างนอกไม่ได้บังคับใช้กับเขา กว่าเขาจะเรียนรู้ความจริงก็คือตอนที่เขาออกไปเจอของแข็งนอกบ้านแล้วแจ้นกลับมา ถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ออกจากบ้านไปไหนอีกเลยนาน..น มาก

     3.1.5 เมื่อปักธงว่าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีความสุขในชีวิตและมีคุณค่าต่อสังคม ตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ต้องชัดเจนก่อนว่าอะไรนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ซึ่งแน่นอนก็คือการมีสุขภาพกายดี-สุขภาพจิตดี หรือพูดอีกอย่างว่าความสุขเกิดเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะกำลังผ่อนคลาย จิตใจกำลังปลอดโปร่งไม่ถูกครอบด้วยความคิดไร้สาระ พิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าความสุขในชีวิตเป็นเรื่องของที่นี่เดี๋ยวนี้ (here and now) ดังนั้นตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับปัจจุบันให้ได้ก่อน คุณจึงจะสอนลูกให้เป็นคนที่มีความสุขในชีวิตได้ ถ้าคุณเองยังเอาตัวเองไม่รอด ผมแนะนำว่าอย่าเพิ่งมีลูกดีกว่าเพราะจะไปเข้าสูตร “ความเกิดเป็นทุกข์” ทันที
 
     ส่วนที่ 2. เป็นคำตอบสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเสียคนไปแล้ว หมายความว่าลูกอายุระดับใกล้ยี่สิบขึ้นไปแล้วและขี้เกียจขนขึ้นจนพูดภาษาคนไม่รู้เรื่องไปเรียบร้อยแล้ว ผมแนะนำว่า ปลงเสียเถอะแม่จำเนียร เอ๊ย..ไม่ใช่ ผมขอพูดกับคุณว่า

     3.2.1 ผมปลอบใจคุณได้อย่างหนึ่งว่าข้อมูลทางการแพทย์บอกว่าการบรรลุวุฒิภาวะของเนื้อสมองแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากันและแตกต่างกันได้หลายปี ผู้หญิงจะเร็วและแน่นอนกว่าผู้ชาย ข้อมูลอันนี้ปลอบคุณได้ว่าขณะที่ลูกคนอื่นเป็นดอกโสนบานเช้า ลูกของคุณอาจเป็นดอกคัดเค้าบานเย็น หรือเป็น late bloomer ก็ได้ ดังนั้น..เย็นไว้โยม

     3.2.2 ผมปลอบใจคุณได้อีกหนึ่งอย่างว่าความรักที่คุณทุ่มเทให้กับลูกไปนั้น มันจะไม่สูญเปล่าหรอก มันจะไม่หายไปไหน มันจะไปบ่มอยู่ในตัวลูกคุณแล้วท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นความรักหรือเมตตาธรรมที่เขาจะถ่ายทอดไปให้คนอื่นเมื่อเวลามาถึง คือมันเป็นธรรมชาติของคนที่เคยมีความสุขจากการได้รับความรักมาอย่างล้นเหลือที่จะเติบโตไปเป็นคนมองโลกแง่ดีและมีความสุขกับการให้ความรักความเมตตาแก่คนอื่น มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คุณจะทันได้เห็นก่อนตายหรือเปล่า ผมไม่รับประกัน แต่ผมรับประกันว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ นี่ผมดูจากตัวผมเองนะ ตัวผมเองเติบโตมาด้วย “ใบบุญ” จากคนอื่น โน่นบ้างนี่บ้างตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันเรียนแพทย์จบ ผมเป็นแต่ผู้รับๆๆๆ ผมมีความสุขกับการ "รับ" แล้วต่อมาถึงจุดหนึ่งผมก็เกิดอยาก "ให้" บ้าง มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันเกิดขึ้นเพราะผมเคยมีความสุขกับการได้รับ ผมจึงอยากจะให้ เพราะผมรู้ว่าคนได้รับจะมีความสุข และการรู้ความจริงอันนี้ก็ทำให้ผมมีความสุขเมื่อผมได้ให้ กลไกมันประหลาดๆแบบนี้แหละ

     3.2.3 คำแนะนำทั้งห้าข้อสำหรับคนที่ยังไม่มีลูกข้างบนนั้น แม้ว่ามันจะสายไปบ้างสำหรับคุณ แต่ก็ไม่สายเกินไป คุณก็ควรพยายามเอามาประยุกต์ใช้ในขอบเขตที่มันยังเป็นไปได้ หมายความว่าให้คุณพยายามฝึกพยายามฝืนพาเขาออกไปสู่โลกของความเป็นจริงนอกบ้านทีละนิดๆ

     3.2.4 ให้คุณสร้างเจตคติ “ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น” ขึ้นมาในใจตัวเอง เมื่อถือม็อตโต้ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นก็หมายความว่าต้องเลิกความคาดหวังใดๆที่เคยมีต่อตัวลูกไปให้หมด เพราะตราบใดที่พ่อแม่ยังแสดงความคาดหวังในตัวลูก ตราบนั้นปัจจัยที่จะทำให้ลูกล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นก็จะยังอยู่ ต่อเมื่อพ่อแม่เลิกคาดหวังในตัวเขาหมดเกลี้ยงเหลือซีโร่โน่นแหละ ความเครียดที่เป็นตัวถ่วงเขาจึงจะหมดไป แล้วเขาจึงจะมีโอกาสโผล่หัวได้

     ในการสร้างเจตคติใหม่นี้ ให้คุณมองสิ่งต่างๆในชีวิตรอบตัวคุณว่ามันอยู่ในวงใดวงหนึ่งในสองวง

     วงใน  เป็นวงที่อยู่ในอำนาจที่คุณจะดลบันดาลได้ ก็คือใจของคุณเอง คุณจะคิดอะไรให้ตัวคุณเองเป็นสุขหรือเป็นทุกข์คุณทำได้

     วงนอก  เป็นวงที่มีผลกระทบต่อคุณก็จริง แต่เป็นพื้นที่ที่คุณไม่มีอำนาจไปดลบันดาลอะไรได้ ลูกของคุณอยู่ในวงนี้ กับอะไรที่อยู่ในวงนี้ คุณต้องปลงลูกเดียว แบบว่ารับรู้ เข้าใจ แล้วเฉยเสีย อย่าไปพยายามทำมากกว่านั้น เพราะคุณไม่มีอำนาจ

     3.2.6 ให้คุณเริ่มปฏิบัติการตัดสายสะดือ โดยทำเป็นขั้นเป็นตอน
   
     ขั้นที่ 1. ประเมินคุณลูกก่อน ว่าเขาอยู่ที่ตรงไหน มีใจอยากเป็นอิสระแต่ไม่กล้า หรือเป็นคนเสมือนเป็นอัมพาต คือติดการสิงพ่อแม่จนเป็นง่อยถาวร ไม่คิดไม่อ่านอะไรต่อไปทั้งสิ้น
   
     ขั้นที่ 2. ประเมินตัวคุณ (คุณพ่อคุณแม่) เอง ว่าอะไรเป็นจุดตายของคุณ พ่อแม่บางคนจุดตายอยู่ตื้นมาก เช่นลูกเม้มปากไม่ยอมกินข้าวแค่เนี้ยะพ่อแม่ก็บ้ารับประทานแล้ว ลูกจะเอาอะไรก็ทูนหัวให้หมดขอให้กินข้าวซักคำเถอะลูก ในขั้นนี้คุณต้องมองย้อนไปดูจุดตายของคุณด้วยใจยุติธรรม ว่าอะไรเป็นเหตุให้คุณพาลูกเข้ารกเข้าพงมาจนถึงตรงนี้ได้ เพราะความรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งเขาไปช่วงหนึ่งหรือเปล่า เพราะความรู้สึกกลัวความล้มเหลวของตัวเองว่าเลี้ยงลูกให้เป็นผู้เป็นคนแบบชาวบ้านเขาไม่ได้หรือเปล่า เพราะความรู้สึกคับแค้นที่ตัวเองไม่เคยได้รับในบางอย่างที่อยากได้ตอนเป็นเด็กหรือเปล่า ฯลฯ คุณประเมินจุดตายของตัวเองทั้งหมด เขียนใส่กระดาษไว้ แล้ววางกลยุทธ์เพื่อปิดจุดตายเหล่านี้ไปทีละจุดๆ ก่อนที่จะทำสงครามปลดแอกกับลูกบังเกิดเกล้า นี่เป็นหลักการทางการทหารธรรมดาๆ ซึ่งทหารจีนชื่อซุนวูสอนไว้

     “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
   
       ขั้นที่ 3. ตีเส้น ในขั้นนี้คือคุณต้อง “ตีเส้น” ว่าในการจะถอยบทบาทจากการเป็นขี้ข้าเปลี่ยนมาเป็นครูนี้ ต่อแต่นี้ไป อะไรคือได้ อะไรคือไม่ได้ เมื่อตั้งใจกำหนดขอบเขตได้ไม่ได้มั่นเหมาะแล้ว ต่อไปก็ต้องเปิดโต๊ะเจรจากับคุณลูก หาจังหวะสบายๆง่ายๆ เอาทีละนิด ว่ากันทีละเรื่อง ว่าต่อแต่นี้ไป พ่อกับแม่มีมิชชั่นใหม่ว่าจะช่วยให้ลูกเป็นผู้เป็นคนเสียทีพ่อกับแม่จะได้ตายตาหลับ บนมิชชั่นนี้ พ่อกับแม่กำหนดว่าต่อแต่นี้ไป พ่อแม่จะให้อะไร ไม่ให้อะไร ถ้าอยากได้มากกว่านี้ลูกต้องทำอะไรแลกเปลี่ยน จึงจะได้
   
     ขั้นที่ 4. ตัดสายสะดือ หมายถึงตัดความช่วยเหลือทางการเงินที่ลูกโข่งสิงกินจากพ่อแม่โดยค่อยๆเล็มให้งวดเข้าๆ ขั้นนี้ยากนิดหน่อย แต่คุณต้องเลิกเล่นบทง่ายคือ “ขี้ข้า” มาเล่นบทยากคือ “ครู” ไม่ต้องกลัวว่าลูกชายจะตายเพราะไม่มีเงิน ในโลกความจริง ถ้าเขาไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน แม้จะไม่มีเงิน เขาก็อยู่ได้ ไม่ตายหรอก เสื้อผ้าไม่มีไปหาขอบริจาคเสื้อผ้าเก่าเอาได้ จะไปไหนมาไหนก็ขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี อาหารก็กินของถูกๆ ไม่มีเงินตัดผมก็ไม่ต้องตัด ปล่อยมันยาวไปอย่างนั้นแหละ ถ้าเขาอยากจะทำอย่างนั้นก็ให้เขาทำไป อย่าลืมว่าคุณเป็นครูนะ ตัดสายสะดือแล้ว ครูที่ดีก็ต้องหาจังหวะให้ลูกได้เรียนรู้ด้วย คอยให้ feed back ในทางบวกถ้าศิษย์ทำดี หรือทางลบถ้าทำไม่ดี

     ขั้นที่ 5. หนีลูก ช่าย..ย หนีไปเลย หนีเป็นพักๆ เมื่อขี้ข้าลาพักร้อน เจ้านายก็ต้องหุงข้าวต้มแกงเอง นี่เป็นเรื่องธรรมดา คุณต้องวางแผนไปไหนไกลๆ บ่อยเข้าๆ เช่นไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน ถ้าลูกรบจะไปด้วยก็มาเลยลูก กรณีคุณไปไหนนานไม่ได้เพราะติดงานก็ส่งลูกออกไปอยู่นอกบ้าน เช่นลงทุนส่งเขาไปเข้าแค้มป์ดัดสันดานระหว่างปิดเทอม แค้มป์แบบนี้ในยุโรปและอเมริกามีแยะ ในเมืองไทยก็น่าจะมีแต่ผมไม่รู้จัก ส่งไปแล้วคุณตัดขาดเลยนะ ปิดโทรศัพท์ อย่าตามไปโอ๋ไปร้บใช้ คนไข้ของผมรายหนึ่งเล่าว่าส่งลูกชายขี้เกียจไปเข้าแค้มป์ฝึกนักเรียนเพื่อสอบเข้าเตรียมทหาร ลูกชายโทรศัพท์มาอ้อนร้องไห้กับแม่ทุกคืนๆจนแม่ทนไม่ไหวต้องไปรับกลับบ้าน สรุปว่าเหลวเป๋วเหมือนเดิมเพราะหนีไม่จริง

     ขั้นที่ 6. ปลง คราวนี้ปลงก็คือปลง คุณต้องปลงจริงๆ คนเราเกิดมาพบกันได้ไม่นานแล้วก็ตายจากกันไป เหมือนขอนไม้ท่อนหนึ่งลอยมาพบกับอีกท่อนหนึ่งกลางทะเลแล้วแยกจากกันไป จะเอาอะไรกันนักหนา แม้ร่างกายของเรานี้ยังไม่ใช่สมบัติของเรา จึงอย่าว่าแต่ลูกซึ่งเป็นอีกร่างอีกจิตใจหนึ่งเลย เขาก็เป็นเขา เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หน้าที่ของเราหมดแล้ว เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรหรือแม้แต่จะเอาหัวเดินต่างตีนก็ไม่ใช่กงการอะไรของเรา มีเรื่องอะไรเป็นข่าวคราวดีร้ายมาจากเขาเราฟังแล้วก็รับรู้ เข้าใจ และเฉยเสีย...สาธุ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

..............................................................

จดหมายจากผู้อ่าน (1)

     คำตอบของคุณหมอให้ความคิดเรื่องลูกกับครอบครัวหนูได้มากเลย ตอนนี้ลูกเล็ก 7 ขวบกับ 3 ขวบ คนโตมีแววเก่งทำอะไรได้ดีหมด หนูเองกำลังมาถึงจุดเสี่ยง คือตั้งตาจะทุ่มทุนกับลูก ยังคลุมเครือมาตลอด ตอนนี้รู้สึกตัวชัดขึ้น 
     หนูส่งจดหมายฉบับนี้ถึงคุณหมอ และสำเนาให้สามีอ่านด้วย หลายครั้งที่ตัวหนูเองหมกมุ่นมากไป ตอนนี้มีสติเพิ่มขึ้น อยากคิดดีๆให้ถี่ถ้วน หนูมีความฟุ้งซ่านที่อยากเล่ารบกวนคุณหมอในเรื่องลูก คือ คนโตมีแววคณิตศาสตร์ (ครูสอนคณิตที่รู้จักกันช่วยดูให้)  แต่หนูเองไม่อยากให้เขาเรียนพิเศษแบบทั่วไป หรือเรียนเสริมเกรด (ผลการเรียนที่รร.ดีอยู่แล้ว) หรือทุ่มเงินให้เขาลงสนามไปเอาเหรียญ อยากให้เขาเป็นนักคิด จุดแข็งของเขาคืออ่านหนังสือเองโดยไม่ต้องขอหรือสั่ง และเป็นเด็กที่เห็นอกเห็นใจพ่อแม่ (นี่คงเป็นกิเลสล่อให้ตัวแม่เพ้อ ทั้งเพ้อและฟุ้งค่ะ) ตัวหนูเองเป็นครูสอนพิเศษภาษา แต่สอนคิดเลขไม่ได้ โดยเฉพาะเขามีแววในเชาวนคณิต (แม่คิดช้ากว่าลูกค่ะ) เขาชอบเข้าค่ายลูกเสือ ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ มีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ อยากมีหนทางให้เขาที่พอดีและถูกต้องค่ะ  (ตรงกับข้อ 3.1.2 น่ะค่ะ)

     ขอขอพระคุณความคิดคมๆของคุณหมอที่แบ่งปัน 
     ตั้งแต่งานเขียนของ Dr. Heim Ginott ทั้งสามเล่ม ก็ยังไม่รู้สึกว่างานเขียนเกี่ยวกับเด็กชิ้นไหนจะโดนใจ ต้องอ่านซ้ำ ต้องเอามาขบคิด ให้พลังความตื่นตัวของพ่อแม่เลยค่ะ 

...........................................................

ตอบครับ (ครั้งที่ 2)

     ลูกอายุเจ็ดขวบ แต่คุณก็ปลื้มเหลือเกินที่ลูกเก่งคณิตศาสตร์ คิดโน่นคิดนี่ไปสารพัดแล้ว นี่คุณกำลังตั้งต้นจะบ้าแล้วนะ..เห็นแมะ

     พูดถึงการศึกษา สิ่งที่คุณจะต้องแคร์ว่าลูกจะได้รับครบถ้วนหรือเปล่าก่อนอายุสิบขวบ ผมซึ่งเป็นคนดิบๆไม่ใช่นักการศึกษาขอเสนอว่ามีอยู่สามเรื่องเท่านั้น

     1. การเรียนให้รู้ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไรจึงจะเป็นสุข ณ ที่นี่เดี๋ยวนี้และปฏิบัติจริงได้ด้วย หรือพูดอีกอย่างว่าการเรียนรู้เพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระจากความทุกข์ บางคนอ้อมๆแอ้มๆเรียกมันว่าเป็น intrapersonal intelligence แต่ผมขอเรียกตรงๆโต้งๆเลยว่าเป็น spiritual intelligence อันได้แก่โลกทัศน์และทักษะที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงรอบตัวอย่างเข้าใจและไม่ยึดมั่นถือมั่น และที่จะมีสติตามดูความคิดงี่เง่าของตัวเองให้ทัน

     2. การเรียนรู้ทักษะการสื่อสารสัมพันธ์และเข้าใจคนอื่น (interpersonal skill) พูดง่ายๆว่าวิชา “คนพูดกับคน” ลองปล่อยลูกอายุ 7 ขวบของคุณที่ปากซอยที่มีคนพลุกพล่านขวักไขว่แล้วดูซิว่าเขาจะสื่อสารกับชาวบ้านจนกลับบ้านได้โดยปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเขาทำได้ ลูกคุณก็เก่งวิชานี้กว่าเด็กจบมหาลัยทุกวันนี้แล้ว

     3. ในทางการแพทย์ ทุกครั้งที่เราวัดการทำงานของสมอง เช่นการติดตามผู้ป่วยสมองเสื่อม เราวัดความสามารถในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ ขนาด ตำแหน่ง ความลึก และการมองเห็น หรือมิติ ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า spatial intelligence ผมมองเห็นว่าวิชานี้คือความฉลาดเชิงวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์จำเป็นต้องมีจึงจะเข้าใจธรรมชาติได้ มันเป็นพื้นฐานของวิชาวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ และเป็นพื้นฐานของจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ คุณมองตรงนี้ให้ออกและให้โอกาสลูกคุณได้เรียนรู้และพัฒนาเรื่องนี้ก็ไม่เสียหลาย

     ส่วนเรื่องอื่นๆไม่ว่าวิชานั้นในโรงเรียนเขาจะเรียกว่าวิชาอะไร ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่อง “เยอะ” เกินความจำเป็นและทำให้มนุษย์เราสูญเสียโฟกัส มัวไปจดจ่อยึดถืออยู่กับเรื่องที่รังแต่จะทำให้เป็นทุกข์ จนมีชีวิตอยู่แบบตัวตลกที่สัตว์อื่นๆเช่นหมาแมวหัวเราะเยาะเอา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67