หมอสันต์เล่าเรื่องไปเข้าโรงเรียนธรรมะ
สิบสองวัน จะคุ้มไหมเนี่ย
เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว
จากการที่หลานชายคนหนึ่งซึ่งกลับจากเรียนธรรมะหลักสูตรนี้มาแล้วมาคะยั้นคะยอผมว่าอาต้องไปเรียนให้ได้นะ
ไม่เพียงแค่พูดเท่านั้น เขายังพยายามจะติดต่อวันเวลาและคอยกระทุ้งว่าเมื่อไหร่อาจะว่าง
จนผมเกรงใจ จึงบอกไปว่าอารับปากว่าจะไปแน่นอน แต่ขอให้จัดเวลาได้ก่อน
ซึ่งก็มาจัดเวลาได้เมื่อผ่านไปแล้วสี่ปี โดยเกณฑ์ลูกเมียไปด้วยกันทั้งหมดสามคนพ่อแม่ลูก
“ตั้งสิบสองวัน
จะคุ้มไหมเนี่ย”
นั่นคือการตั้งข้อสังเกตของภรรยา
เพราะการจะไปเรียนครั้งนี้เราสามคนพ่อแม่ลูกต้องสละเวลารวมถึง 12
วัน ผมเข้าใจประเด็นของเธอ เรื่องคุ้มค่าเงินนั้นไม่มีปัญหา
เพราะโรงเรียนนี้เขาสอนให้ฟรี กินฟรี อยู่ฟรี แต่เธอหมายถึงเรื่องเวลา เพราะในอดีตแผนเดินทางไปเที่ยวเมืองนอกของครอบครัวเราต้องถูกล้มกะทันหันครั้งแล้วครั้งเล่าเนื่องจากต้องให้เวลากับเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า
การที่เราสามคนทิ้งเรื่องอื่นหมดเกลี้ยงเพื่อมาที่นี่ 12 วัน
มันจะคุ้มค่าไหมจึงเป็นคำถามที่ผมเองก็กริ่งเกรงอยู่เหมือนกัน
แต่นึกปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก อย่างน้อยก็ได้พาลูกชายเข้าหาธรรมะ
ซึ่งถึงตอนนี้น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ผมควรจะให้เขาแต่ยังไม่ได้ให้ อย่างอื่นที่พ่อพึงให้แก่ลูก
ผมให้ไปครบหมดแล้ว หากได้ให้สิ่งเดียวที่ยังไม่ได้ให้แก่เขาครั้งนี้ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว
ถ้าอยากจะให้คุ้มกว่านั้นตัวผมก็เอาจริงเอาจังหน่อยซะก็แล้วกัน
โอเค้.
เอาจริงเอาจัง เพื่อประกันความล้มเหลว ผมจ้างคนมาช่วยผมสองคน
คนหนึ่งเป็นคนงานก่อสร้าง เพื่อนๆคนงานเรียกเขาว่า “ไอ้ติ” ชื่อจริงเขาคือ “สติ”
เขาไม่ได้เป็นคนจริงๆหรอกนะครับ แต่เป็นตัวช่วยในใจที่ผมอุปโลกน์ขึ้นเอง
ผมบอกเจ้าติว่า
“เอ็งมีหน้าที่ร้องเตือนข้าเมื่อใดก็ตามที่ข้าเผลอคิดใจลอยหรือเผลอง่วงนอน”
อีกคนมีอดีตเป็นโฟร์แมนก่อสร้างอายุหกสิบกว่าแล้ว
ผมเรียกเขาว่าพี่ยะ ชื่อจริงเขาคือ “วิริยะ” เขาก็ไม่ได้เป็นตัวคนจริงๆเช่นกัน ผมมอบหมายหน้าที่ให้เขาว่า
“พี่ช่วยหน่อยนะ
หน้าที่พี่คือคอยกระทุ้งผมเวลาที่ผมหมดทางสู้หรือทำท่าจะถอย”
มอบหมายหน้าที่แล้วก็เบาใจอยู่แป๊บเดียว
ความลังเลก็เกิดขึ้นอีก นึกถึงคำบอกเล่าของหลานชายที่ว่าหลักสูตรนี้สอนโดยอาจารย์ซึ่งเป็นคนแขกอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู
เขาไปเรียนวิชานี้ซึ่งเป็นวิชาพุทธมาจากคนพม่าคนหนึ่ง ผมนึกในใจว่า
“
คนแขก ซึ่งนับถือฮินดู จะมาสอนวิชาพุทธ ที่เรียนมาจากคนพม่า ให้กับคนไทยอย่างผม ซึ่งเคยเข้ารีตนับถือคริสต์มาแล้ว
แล้วมันจะได้เรื่องหรือวะเนี่ย”
คิดยังไม่ทันจบก็ได้ยินเสียงเจ้าติสอดเข้ามาว่า
“มันก็ต้องดูเขาไปก่อน
คนพม่า ถ้าไม่แน่จริงก็คงไม่ตีกรุงเราแตกถึงสองครั้งหรอก อีกอย่าง
พระพุทธเจ้าที่เราไหว้ปะหลกปะหลกอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นคนแขกนะ”
“หุบปาก..
ข้าจ้างเอ็งมาร้องเตือนข้าเวลาข้าใจลอยหรือง่วงนอน ไม่ใช่มาบอกหนังสือสังฆราช”
คุณยะซึ่งอยู่ใกล้ๆเปรยติงเบาๆว่า
“ไม่แรงไปหน่อยเหรอครับท่าน”
ผมตอบว่า
“ไม่แรงหรอกพี่ยะ
มันเป็นคนงาน มันต้องสนใจหน้าที่ของตัวเองเป็นหลักจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่มาเสนอความเห็น
ตัวพี่ยะก็ไปพักก่อนก็แล้วกัน ถ้ามีอะไรต้องพึ่งผมจะเรียก”
ทั้งสองคนเงียบไม่พูดไม่จาตั้งแต่นั้น
ปล่อยให้ผมขับรถอยู่คนเดียว นานหลายชั่วโมงจากกรุงเทพจนเข้าเขตอำเภอสังขละบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี
กฎ กติกา ของโรงเรียน
เรามาถึงโรงเรียนซึ่งอยู่ในป่าเอาตอนค่ำ เราต้องแยกทางกัน ชายไปทาง
หญิงไปทาง มีอาสาสมัครมาแนะนำตัวเองว่าเป็น “ธรรมะบริกร” เขาดูโล่งใจที่เราไม่ได้หลงป่าหายเข้าไปในความมืดเสียก่อน
เขาน่ารักมาก มาช่วยเหลือโน่นนี่นั่น ผมมีความรู้สึกว่าตำแหน่งธรรมะบริกรนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติไม่เบา
เขาบอกกฎของที่นี่ว่า เขาขอริบเงินทองของมีค่าเข้าตู้ไว้หมด กุญแจรถ
โทรศัพท์มือถือ ไอแพดไอพอดก็ไม่ได้ ริบหมด ปากกาเขียนบันทึกก็ริบ ไม่ให้เขียนอะไร
ให้อยู่แต่กับจิตและกายของตัวเอง แล้วตั้งแต่หกโมงเย็นวันนี้ ซึ่งนับเป็นวันที่ 0
จนถึงบ่ายของวันที่ 10 ห้ามพูดกับใครทั้งสิ้น
นอกจากการพูดแล้ว การสื่อสารกันทุกรูปแบบก็ไม่ได้ ห้ามมองหน้า ยักคิ้วหลิ่วตา
ให้ถือว่าแต่ละคนมาอยู่ที่นี่แบบตัวเดียวอันเดียว เอ๊ย..ไม่ใช่ ตัวเดียวคนเดียว คนอื่นเป็นผีซอมบี้ที่ไม่มีชีวิต
(ประโยคหลังนี้ผมพูดเอง ธรรมบริกรเขาไม่ได้พูดหรอก) หากมีปัญหาการเรียนให้เขียนจดหมายน้อยขอเข้าพบอาจารย์
ซึ่งอาจารย์จะจัดเวลาให้พบคนละไม่เกินห้านาที ดังนั้นถ้านักเรียนเป็นคนติดอ่างก็ไม่ต้องขอเข้าพบ
เพราะจะพูดไม่ทันจบก็หมดเวลาก่อน (ผมพูดเล่น แหะ แหะ) ตารางเรียนประกอบด้วยการนั่งขัดสมาธินิ่งๆอยู่ในห้องโถงเป็นพื้น
เอากันตั้งแต่ตีสี่ ลากยาวไปถึงสามทุ่มครึ่ง ครบแต่ละชั่วโมงมีพักสลับสิบห้านาที
ทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์ มีเวลาว่างให้ก็แต่ตอนกินข้าว อาบน้ำ และนอน เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีกฎห้ามไปเพ่นพ่านนอกห้องของตัวเอง ห้ามทำเสียงดัง
ให้ถือว่าความเงียบเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ (noble silence)
ห้ามเอาวิชาที่แต่ละคนมีดีติดตัวมาออกมาปฏิบัติแข่งกับวิชาที่อาจารย์จะสอน
ไม่ว่าจะเป็นวิธีทำสมาธิ เดินลมปราณ รำมวยจีน โยคะ แม่แต่การออกกำลังกายอย่างวิ่งจ๊อกกิ้งก็ห้ามหมด
ผมนึกในใจว่าเข้าใจตั้งกฎจริงนะ
แค่ริบเงิน ริบกุญแจรถ ริบโทรศัพท์และไอแพดไว้หมดเนี่ย
แถมอยู่กลางป่าปิดประตูรั้วเสียอย่างนี้ ก็ไม่มีใครไปไหนรอดแล้ว
แล้วธรรมะบริกรก็เอาอาหารมื้อสุดท้ายมาให้กิน
ผมหมายถึงอาหารเย็นมื้อสุดท้าย เพราะต่อแต่นี้ไปจะไม่มีอาหารเย็นกิน นอกจากน้ำปานะ
แปลว่าน้ำเปล่าๆที่มีอะไรไม่รู้สีน้ำตาลจางๆเจือ และมีรสหวานอมเปรี้ยวปะแล่มปะแล่ม
แต่มีข้อยกเว้นว่าคนที่ป่วยขอกินอาหารเย็นทุกวันได้หากแจ้งขอใช้สิทธิ์นั้นไว้ก่อนตั้งแต่ตอนยังพูดได้
ผมเป็นคนเดียวที่ยกมือขอใช้สิทธิ์คนป่วยนี้ คนอื่นเขาคงกะจะบรรลุธรรมกันหมด
แต่ผมไม่หวังบรรลุธรรม หวังแค่ดับเวทนาเก่าคือความหิว โดยไม่ก่อเวทนาใหม่
คือความแน่นจนอึดอัด..ได้แค่นั้นก็พอ
แล้วผมก็เริ่มอาหารมื้อแรก
คุณพอผู้บุตรสมัครใจไปทางบรรลุธรรม คือไม่กินข้าวเย็น
สหธรรมิกคนอื่นเขามาถึงกันตั้งแต่ยังไม่ทันมืดและกินกันไปหมดแล้ว เป็นข้าวต้มอะไรสักอย่าง มีกระปุกงาบด
และถั่วลิสงทอด แยกต่างหากให้ด้วย ผมเปิดจะตักถั่วลิสงกิน อื้อฮือ มันหืนนะ
จะไหวไหมเนี่ย
“กินๆเข้าไปเหอะ
เขาให้กินฟรีแล้วอย่าเรื่องมากเลย”
เปล่า
ไม่ใช่เสียงธรรมะบริกรหรอกครับ เป็นเสียงของภรรยาของผมแว่วมาเข้าหู โอ้โฮ..
ขนาดถูกกักกันอยู่ไกลถึงคนละตึกยังส่งเสียงมากำกับได้เลยเหรอเนี่ย
ผมเหลียวไปมองเจ้าติเพื่อขอความเห็นใจ เห็นมันรีบเบือนหน้าหลบไปทางอื่น
แต่ก็ทันเห็นว่ามันแอบยิ้มอยู่
อาณาปานัสสติ
มาถึงเอาตอนค่ำก้นยังไม่ทันหายเมื่อยจากขับรถก็ต้องเข้าห้องเรียนฝึกสมาธิแล้ว
เวลา 18.00
น.ตรง เสียงระฆังดัง ผมล้มต้วลงนอนเอาแรง กะเริ่มยกที่หนึ่งตีสี่ของวันรุ่งขึ้น
กำลังจะเคลิ้มก็ได้ยินเสียงธรรมะบริกรเคาะประตูเรียก
“คุณหมอครับ
ถึงชั่วโมงปฏิบัติรวมกันที่ห้องรวมแล้วครับ”
ทุกคนต้องไปนั่งสมาธิที่ห้องรวม
มีอาจารย์อายุเจ็ดสิบกว่านั่งตัวตรงเด่นเป็นสง่าอยู่บนแท่นข้างหน้า
เห็นหลังท่านที่ตรงเพะ และท้องของท่านที่ไม่มีพุงเลย ผมก็เลื่อมใสท่านแล้ว
หากผมมีชีวิตอยู่ได้ถึงเจ็ดสิบกว่าและมีหลังที่ตรงมีท้องที่แฟบแม้จะได้น้อยกว่านี้หน่อยผมก็พอใจละ
แต่พอเริ่มเรียนไปผมจึงรู้ว่าอาจารย์ตัวเป็นๆท่านนี้ไม่ได้เป็นคนสอน
ท่านเป็นติวเตอร์ให้กับศิษย์ที่มีปัญหาเท่านั้น ผู้สอนคือเสียงจากเทปของอาจารย์แขกซึ่งพูดเป็นภาษาอังกฤษและมีเสียงแปลเป็นไทยตบท้ายให้
ผมนึกในใจว่า อื้อ..ฮือ โรงเรียนนี้มันยิ่งกว่าโรงเรียนเคมีครูอุ๊ซะอีกนะเนี่ย
เพราะโรงเรียนเคมีครูอุ๊นักเรียนนอกจากจะได้ฟังเสียงแล้วยังได้เห็นภาพวิดิโอ.เห็นครูอุ๊พูดจาจ๊ะจ๋าออกท่าทางเขียนกระดาน
แต่นี่นักเรียนฟังแต่เสียงลูกเดียว ใครเก็ท ก็เก็ท ใครไม่เก็ท ก็สุดแต่บุญกรรม
เนื้อหาคำสอนชั่วโมงแรกเป็นวิธีทำสมาธิตามดูลมหายใจที่เรียกว่าอาณาปานะสติ
อาจารย์สอนให้นั่งตัวตรง หลับตา ตั้งสติให้มั่น ตามดูลมหายใจที่วิ่งเข้าออกของมันตามธรรมชาติ
ตามดูเฉยๆ
ดูไปจนได้ที่แล้วก็ให้สังเกตผิวหนังรอบรูจมูกและตรงหน้ารู้จมูกแถวร่องกลางริมฝีปากบน
สังเกตว่าบนผิวหนังมีความรู้สึกอะไรหรือไม่ ซึ่งท่านเรียกความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังนี้ว่า
“เวทนา” ผมฟังแล้วต้องเอามาแปลอีกทีว่าเวทนาคือ “อาการของร่างกาย (body
symptom)” สมองของผมจึงจะเข้าใจ และนี่นับเป็นโรงเรียนแรกที่ตีความหมายของ "เวทนา" ว่าเป็นความรู้สึกบนร่างกาย เพราะในหนังสือธรรมะภาษาไทยทั้งหลายที่ผมเคยอ่านมาบ้างล้วนแปลว่าเวทนาเป็นความรู้สึกบนจิตใจ (feeling) อันไหนถูกอันไหนผิดผมไม่รุ และระดับภูมิธรรมอย่างผมก็ไม่ต้องไปรู้มันหรอก
ขณะฝึกอยู่นี้ ถ้าใจลอยก็ไม่ซีเรียส อาจารย์สอนว่า หากคิดขึ้นได้เมื่อไหร่ว่าใจลอยก็จับใจมันกลับมาเฝ้าดูเวทนาบนผิวหนังหน้ารูจมูกใหม่ นั่งทำอย่างนี้อยู่หนึ่งชั่วโมงจนก้นระบบได้ที่แล้วก็มีเสียงย่ำระฆัง อาจารย์ก็ให้ไปพักได้ หมดเวลาพักสิบห้านาทีก็เข้าชั่วโมงปฏิบัติอีกหนึ่งชั่วโมง หรือไม่ก็ไปนั่งฟังคำสอน สลับกันอยู่อย่างนี้จนสามทุ่ม ผมก็กลับห้องล้มตัวลงนอน กำลังเคลิ้มก็ได้ยินเสียงธรรมะบริกรเคาะประตูอีก
ขณะฝึกอยู่นี้ ถ้าใจลอยก็ไม่ซีเรียส อาจารย์สอนว่า หากคิดขึ้นได้เมื่อไหร่ว่าใจลอยก็จับใจมันกลับมาเฝ้าดูเวทนาบนผิวหนังหน้ารูจมูกใหม่ นั่งทำอย่างนี้อยู่หนึ่งชั่วโมงจนก้นระบบได้ที่แล้วก็มีเสียงย่ำระฆัง อาจารย์ก็ให้ไปพักได้ หมดเวลาพักสิบห้านาทีก็เข้าชั่วโมงปฏิบัติอีกหนึ่งชั่วโมง หรือไม่ก็ไปนั่งฟังคำสอน สลับกันอยู่อย่างนี้จนสามทุ่ม ผมก็กลับห้องล้มตัวลงนอน กำลังเคลิ้มก็ได้ยินเสียงธรรมะบริกรเคาะประตูอีก
“คุณหมอครับ
ได้เวลาปฏิบัติรวมที่ห้องรวมครับ”
อ้าว ยังมีอีกหรือ ขออภัย หนูไม่รู้ แต่ก็นึกในใจว่าโหดแฮะ ใช้สมอแดงตามคาดถึงห้องนอนเลยเหรอเนี่ย
บ่นในใจพลางก็รีบถอดชุดนอนเปลี่ยนเป็นชุดนั่งตรงดิ่งไปห้องปฏิบัติรวม
นั่งส่งท้ายกันอีกจนสามทุ่มครึ่งจึงจบการรับน้องใหม่ในวันแรก หรือวันที่ 0
รุ่งขึ้น
เป็นวันที่ 1. ของหลักสูตร ตีสี่ ระฆังปลุก
ทำไมระฆังมันดังนักวะ แถมไม่ได้มีความหง่างเหง่งไพเราะมาแต่ไกลเยี่ยงระฆังที่ดีทั้งหลายเลย
ปั๊ดโธ่ ที่แท้มันเป็นแค่ลำโพงเสียงที่จ่ออยู่ที่หัวนอนเรานี่เอง
ผมกระวีกระวาดตื่นมา ล้างหน้าอาบน้ำแล้วนั่งฝึกในห้องของตัวเองโดยไม่เปิดไฟ
ประมาณตีห้าก็มีคนเอาระฆังเล็กมาตีที่นอกหน้าต่างห้องผมแก๊ง แก๊ง แก๊ง
อีกสักพักก็มาตีอีกแล้ว แก๊ง แก๊ง แก๊ง
เขาคงนึกว่าผมยังไม่ตื่นจึงตั้งใจจะปลุกให้ตื่น ผมจึงลุกไปเปิดไฟ
จึงได้นั่งสมาธิผสมกับการสับประหงกโดยไม่สีเสียงแก๊ง แก๊ง รบกวน
จนได้เวลาระฆังใหญ่ย่ำให้ไปกินข้าวเช้าเมื่อ 6.30 น.
กินเสร็จให้เวลาอาบน้ำพักผ่อนในที่ตั้งจน 8.00 น. แล้วก็ย่ำระฆังให้ไปฝึกสมาธิรวมกันที่ห้องโถง
ครบหนึ่งชั่วโมงก็ย่ำระฆังให้พัก 15 นาที
แล้วก็ย่ำระฆังให้กลับมานั่งใหม่อีกหนึ่งชั่วโมง
ต่อๆกันไปเป็นเช่นนี้จนสามทุ่มครึ่ง จึงจะได้กลับห้องนอน วันที่ 2. ก็เหมือนวันที่ 1. วันที่ 3. ก็เหมือนวันที่
2 เพียงแต่เมื่อมาถึงวันที่ 3 อาจารย์เรียกไปถามทีละคนว่า
“มีความรู้สึกไหม”
ท่านหมายถึงความรู้สึกอะไรก็ได้ที่บริเวณผิวหนังบริเวณรอบรูจมูกและร่องริมฝีปากบนเมื่อเวลาลมหายใจวิ่งผ่านเข้าออก
อาจจะเป็นความรู้สึกเจ็บๆคันๆยุบยิบยับหรือร้อน หรือเย็น ก็ได้
ลูกศิษย์คนไหนตายด้านไม่มีความรู้สึกท่านจะเรียกว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิได้ที่
ซึ่งท่านก็จะแนะนำให้หายใจออกยาวๆแล้วยิ้มให้กับความไม่ก้าวหน้าของตัวเองแล้วก้มหน้าก้มตาหายใจฟืดฟาดพยายามต่อไป
คนที่มีความรู้สึกแล้วก็ถือว่าผ่านขั้นที่หนึ่ง
หมายความว่าจิตมีสมาธิมากพอที่จะเอาไปทำการอะไรต่อไปข้างหน้าได้
หลังจากที่นั่งหายใจฟืดฟาดไม่ว่อกแว่กนับเวลาต่อกันมาได้สามวันเต็มๆ
สิ่งใหม่ที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ สิ่งที่เขาเรียกว่าจิตที่ดี หรือ “กุศลจิต”
ที่ว่ามันมีความเบา ความนุ่ม ความคล่องแคล่ว มีความพร้อมใช้งาน
มีความสามารถจะรับรู้อะไรได้อย่างตรงไปตรงมานั้นมันเป็นอย่างไร
ผมไม่เคยมีสภาวะจิตที่เป็นอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต นี่นับเป็นครั้งแรก
นึกย้อนไปในอดีตแล้วหากผมมีสภาวะจิตที่เป็นอย่างนี้
ผมคงจะทำงานสร้างสรรค์อะไรได้ดีกว่าที่ผ่านมามากมาย
ที่ผมประหลาดใจก็คือสภาวะนี้เข้ามาถึงได้ไม่ยากเย็นอะไร แค่นั่งหลับตาหายใจฟืดฟาดตัดความว่อกแว่กออกไปให้ได้แค่สามวันก็มาถึงตรงนี้ได้แล้ว..
อะเมซซิ่งจริงๆ ผมรู้สึกแฮปปี้กับการเรียนรู้ในวันที่สามนี้มาก
วิปัสสนา
เช้าวันนี้เป็นวันที่
4.
อาจารย์บอกว่าจะสอนวิปัสสนา ซึ่งท่านย้ำว่าสำคัญ
ท่านให้พวกศิษย์นั่งตามดูลมหายใจดูเวทนาที่ใต้รูจมูกไป ส่วนตัวท่านนั้นจะสวดมนต์สร้างบรรยากาศไปพลางก่อน
แล้วท่านก็สวดเป็นภาษาแขกสุ้มเสียงกระหึ่มเซ็นเซอราวด์ให้บรรยากาศจริงๆ
ผมรู้ว่าเป็นภาษาแขกเพราะผมเคยเป็นเด็กวัดมาก่อนจึงคุ้นเคยกับบทสวดภาษาบาลีทั้งหลายที่พระสวดกันเป็นประจำทุกวัน
แต่ของท่านอาจารย์นี้ไม่ใช่ มันเป็นบทสวดที่ต้องอาศัยเสียงใหญ่ใส่โวลุ่มแยะๆเน้นให้สั่นสะเทือนสะใจกว่ากัน
แบบว่า..
“อะหนั่น..น...น
จะ ปุญญามิ
อะหนั่น..น...น อะหนั่น..น...น....น”
ประมาณนั้น
ผมนึกในใจว่ายังไม่ทันได้วิปัสสนาจริง อาจารย์ก็สร้างบรรยากาศได้ศักดิ์สิทธิ์เสียแล้วแฮะ
พอจบเสียงสวดแล้ว อาจารย์บอกว่าการนั่งฝึกต่อไปนี้เป็นการนั่งแบบอธิษฐาน คือนั่งหลับตา ห้ามลืมตา ห้ามกระดิกกระเดี้ย ห้ามเปลี่ยนท่าร่างเลย จนกว่าจะครบหนึ่งชั่วโมงและได้ยินเสียงระฆัง เพราะถ้าลืมตากำลังจิตจะตกและวิปัสสนาจะล่ม แล้วอาจารย์ก็สอนว่าวิปัสสนาคือการตามรู้ เทคนิคของอาจารย์นี้คือเวทนานุสติปัฐฐาน คือตามรู้อาการของร่างกาย แต่อาจารย์ก็ย้ำว่าไม่ว่าจะเริ่มด้วยการตามรู้ท่าทางของร่างกาย (กายานุสติปัฏฐาน) หรือตามรู้อาการของร่างกาย (เวทนานุสติปัฏฐาน) หรือตามรู้สภาวะของจิต (จิตตานุสติปัฏฐาน) หรือตามรู้การเปลี่ยนแปลงของจิตหรือความคิด (ธรรมมานุสติปัฏฐาน) ทั้งสี่วิธีนี้ ทุกวิธีมีความสำคัญอยู่ที่
“..อาตาปี
สัมปชาโน สติมา”
หมายความว่าต้องมีความพยายาม ที่จะให้เกิดมีสัมปชัญญะ และสติ คำว่าสัมปชัญญะนี้อาจารย์ใช้ภาษาอังกฤษหลายคำ เช่นคำว่า awareness แต่ถ้าไปแปลเอาจากภาษาอังกฤษจะไม่รู้เรื่องเลย สู้แปลไทยเป็นไทยจะได้เรื่องกว่า คือแปลได้ว่า “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” แหะ แหะ แปลออกมาแล้ว
ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันคืออะไร ส่วนสติที่แปลว่า "ระลึกได้" นั้น
ผมเข้าใจแล้วว่าคือความสามารถที่จะย้อนคิดขึ้นได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้นี้จิตรับรู้อะไร
ตอนแรกผมเข้าใจว่าสัมปชัญญะหมายถึงการที่ใจของเรารู้ว่าเราอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ (awareness of here and now) แต่ท้ายที่สุดปรากฏว่าผมเข้าใจไม่ตรงประเด็น
แล้วอาจารย์ก็เริ่มให้ทำวิปัสสนา
โดยใช้วิธีตามดูลมหายใจจนจิตเป็นสมาธิ
จนจับความรู้สึกหรือเวทนา (symptom) ที่เกิดบนผิวหนังรอบๆหรือใต้รูจมูกได้
แล้วก็ตีวงความรู้สึกนั้นให้แคบเข้ามาประมาณเท่าเหรียญห้าบาท (คำพูดของผมเอง)
ไม่ให้กว้างกว่านั้น จนเวทนา (body symptom) นั้น ไม่ว่าจะเป็น เจ็บ คัน ร้อน เย็น
มันชัดเจนแน่นอนดีแล้ว จึงย้ายเอาความสนใจที่จดจ่อบนพื้นที่เท่าเหรียญห้าบาทนี้ไปวางไว้บนยอดศีรษะ
ให้เพ่งความสนใจเป็นแว่นอยู่ตรงกลางหนังศีรษะนั้น
แล้วคอยรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากท้องถิ่นตรงนั้น จะเป็นความรู้สึกมดไต่ไรตอม
คัน ยุกๆยิกๆ หรือร้อนวูบวาบ ก็ได้ ขอให้เป็นความรู้สึกจริงที่ผิวหนังท้องถิ่นเขารับรู้ได้และรายงานเข้ามาเป็นใช้ได้
อย่าให้เป็นความรู้สึกที่จินตนาการเอา ผมทำตามโดยจินตนาการว่าจิตของผมกำลังถือไฟฉายส่องลงมาบนหัวของตัวเอง
จ่อส่องอยู่ตรงนั้นจนหนังหัวร้อนวูบวาบ
แล้วก็เกิดความรู้สึกมีมดไต่ขึ้นตรงบริเวณเป็นแว่นเท่าเหรียญห้าบาทที่อุ่นจนร้อนขึ้นมานั้นจริงๆ
แล้วอาจารย์ก็พูดนำทางไป
ให้เราค่อยขยับเลื่อนพื้นที่รับรู้ความรู้สึกบนผิวหนังออกไปให้กินพื้นที่กว้างขึ้นๆ
ผมก็จิตนาการว่าผมแกว่งไฟฉายของผมที่ส่องหนังหัวนั้นขยายวงออกไปทีละนิดๆ อัศจรรย์มากที่อาการมดไต่ก็จะขยายพื้นที่ไปตามไฟฉายที่แกว่งไปจนมีมดไต่เต็มศีรษะไปหมด
แล้วก็ขยายไปส่องที่หน้า แขน ลำตัว หลัง ขา
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไปกว่าครึ่งชั่วโมงจึงจะเคลื่อนไฟฉายของจิตไปส่องทั่วตัวได้หมดขณะเดียวกันก็ให้จิตตามรับรู้อาการของผิวหนังบริเวณนั้นๆไปด้วย
ถ้าไม่มีอาการอะไรให้จิตรับรู้ก็หยุดส่องอยู่ตรงนั้นก่อนอย่าเพิ่งเคลื่อนที่ไปไหน
พอมีอาการให้รับรู้แล้วก็ส่องผ่านไปที่อื่นต่อ
อาจารย์เรียกไฟฉายของจิตที่ผมสาดส่องไปนี้ว่า “ความรู้ตัว”
ซึ่งผมมีความเห็นว่าเป็นคำเรียกที่ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่นัก
แล้วอาจารย์ก็ให้เร่งความเร็วของการสาด “ความรู้ตัว” ให้รวบรัดยิ่งขึ้น
แบบว่าพรวดเดียวไปได้เกือบทั้งตัวเหมือนคนเทน้ำราดตัวเราจากหัวลงมา
โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องยังรับรู้ความรู้สึกยุบยิบหรือร้อนเย็นบนผิวหนังของทุกจุดที่สาดหรือราดเจ้า
“ความรู้ตัว” นี้ให้ได้ด้วย
มาถึงตอนนี้ผมเข้าใจละ
ว่า “สัมปชัญญะ” คืออะไร และทำไมจึงต้องแปลว่า “ความรู้ตัวทั่วพร้อม”
ผมเข้าใจแล้วว่าความเข้าใจเดิมที่ผมเข้าใจว่าสัมปชัญญะคือการที่ใจเรารู้ว่าเรากำลังอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้นั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงเป้าเจ๋งเป้ง ความเข้าใจใหม่ของผมคือสัมปชัญญะคือการที่จิตเรารับรู้รายงานอาการ (symptom) ของร่างกายจากปลายประสาทรับรู้ต่างๆ (อายตนะ) ที่มีเป็นแสนเป็นล้านจุดทั่วร่างกายได้ในเวลาเกือบจะพร้อมๆกัน
จึงต้องแปลกันว่า "รู้ตัวทั่วพร้อม" ไง แหม นี่ถ้าผมเปลี่ยนคำแปลนี้เป็น "รู้กายทั่วพร้อม" ได้ละก็จะยิ่งสะใจโก๋ แต่ว่าแน่ละในการรับรู้อาการทางร่างกายนี้มันก็ต้องใช้ใจ (consciousness) นะแหละเป็นผู้รับรู้ เออ.. งงไหมเนี่ย บัดเดี๋ยวเอ็งว่าสัมปะชัญญะไม่ใช่การรู้ใจ แต่เป็นการรู้กาย แต่อีกบัดเดี๋ยวเอ็งว่าการรู้กายก็ต้องอาศัยใจเป็นตัวรับรู้ เออ แหะ แหะ ผมว่าอย่าไปแก่บาลีกันมากเลยนะ เอาแค่พอให้ท่านผู้อ่านเดาความเชื่อของผมได้เลาๆก็พอละกันนะ เพราะนี่เป็นแค่การเล่าประสบการณ์เมื่อเด็กนักเรียนมาเข้าโรงเรียน
แล้วสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้มันไม่ได้เกิดจากการที่ใจเราส่งจดหมายถามไปยังอยาตนะที่ท้องถิ่นว่าเฮ้ย..เอ็งมีความรู้สึกอะไรจะรายงานข้าบ้าง เพราะถ้าถามอย่างนั้นก็เก้าในสิบก็จะได้คำตอบเหมือนกันว่า
“หนูไม่มีความรู้สึกอะไรเลยค่ะ”
ผมเพิ่งได้เรียนรู้ว่าการจะเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือสัมปชัญญะนี้ มันจะต้องอาศัยพลังงานซึ่งเป็นอะไรคล้ายๆกับไอร้อนหรือควันร้อนเป่าพรวดลงไปบนผิวหนังหรือบนร่างกายส่วนนั้น เมื่อโดนพลังงานนี้ปลายประสาทรับรู้ความรู้สึกสาระพัดไม่ว่าจะเป็น เจ็บ คัน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็จะเกิด “ไว” หรือ sensitive จนจับความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมันได้แล้วรายงานขึ้นมาให้สมองทราบ เมื่อต่างจุดต่างก็รายงานเข้ามา จึงเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมเช่นความรู้สึกว่ามีเข็มจิ้มผิวหนังอยู่เป็นร้อยเป็นพันจุดทั่วตัว หรือมีความสั่นสะเทือนเล็กๆเกิดทั่วตัวเกือบจะในเวลาเดียวกัน
แล้วสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้มันไม่ได้เกิดจากการที่ใจเราส่งจดหมายถามไปยังอยาตนะที่ท้องถิ่นว่าเฮ้ย..เอ็งมีความรู้สึกอะไรจะรายงานข้าบ้าง เพราะถ้าถามอย่างนั้นก็เก้าในสิบก็จะได้คำตอบเหมือนกันว่า
“หนูไม่มีความรู้สึกอะไรเลยค่ะ”
ผมเพิ่งได้เรียนรู้ว่าการจะเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือสัมปชัญญะนี้ มันจะต้องอาศัยพลังงานซึ่งเป็นอะไรคล้ายๆกับไอร้อนหรือควันร้อนเป่าพรวดลงไปบนผิวหนังหรือบนร่างกายส่วนนั้น เมื่อโดนพลังงานนี้ปลายประสาทรับรู้ความรู้สึกสาระพัดไม่ว่าจะเป็น เจ็บ คัน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็จะเกิด “ไว” หรือ sensitive จนจับความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมันได้แล้วรายงานขึ้นมาให้สมองทราบ เมื่อต่างจุดต่างก็รายงานเข้ามา จึงเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมเช่นความรู้สึกว่ามีเข็มจิ้มผิวหนังอยู่เป็นร้อยเป็นพันจุดทั่วตัว หรือมีความสั่นสะเทือนเล็กๆเกิดทั่วตัวเกือบจะในเวลาเดียวกัน
แล้วพลังงานที่เอาไปเป่าหรือเอาไปราดนี้มันมาจากไหนละ
ก็คือพลังงานที่ได้จากการที่จิตจดจ่อกับอะไรสักอย่างเช่นลมหายใจอย่างไม่วอกแว่กจนมีสมาธิขึ้นนี่ไง
ซึ่งผมขอเรียกว่า “พลังสมาธิ” หรือ “พลังจิต” ก็แล้วกัน แต่อาจารย์ท่านเรียกว่า
“ความรู้สึก” ซึ่งความเห็นส่วนตัวของผมมันเป็นคำเรียกที่ไม่ตรงเท่าไหร่
ผมเข้าใจว่าอาจารย์คงกลัวคนเข้าใจผิดว่าการฝึกสัมปชัญญะเป็นการฝึกพลังจิตสไตล์ทรงเจ้าเข้าผีมั้ง
จึงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าพลังสมาธิหรือพลังจิตไปใช้คำว่าความรู้สึกแทน
แต่ข้อสรุปที่ผมสรุปให้ตัวเองได้ในวันนี้คือการฝึกสัมปชัญญะต้องอาศัยพลังสมาธิหรือพลังจิตเป็นตัวตั้งต้นจึงจะสำเร็จ
ดังนั้นการฝึกสัมปะชัญญะด้วยวิธีเวทนานุสติปัฐฐานตามแบบอาจารย์แขกนี้ต้องมีสองก๊อก คือ
ก๊อกที่
1.
ต้องฝึกพลังสมาธิหรือพลังจิตให้ถึงระดับมีจิตที่นิ่งจนมีพลังปลุกความรู้สึกหรือ
sensation ที่ละเอียดอ่อนเช่นอาการคันยุบยิบหรือความร้อนเย็นบนผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายให้ได้ก่อน
ก๊อกที่
2.
คือการเอาพลังสมาธิหรือพลังจิตนี้ไปราด หรืออาบ หรืออบ พื้นที่ของร่างกายเพื่อปลุกให้อยาตนะหรือปลายประสาทรับความรู้สึกทั้งหลายที่มีอยู่เป็นแสนเป็นล้านให้มีความไวขึ้นจนจับความเปลี่ยนแปลงต่างๆในสิ่งแวดล้อมแล้วรายงานให้จิตทราบได้ในเวลาใกล้เคียงกัน
เกิดเป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
เดอะตุ๊กแก-สหธรรมิก ออร์เคสตร้า
ณ ค่ำคืนวันนั้น
ผมเข้าโรงเรียนผ่านมาได้ถึงคืนของการฝึกวันที่ 4. แล้ว สามวันแรกซึ่งเน้นการฝึกสมาธิผมกลับที่พักแล้วหลับปุ๋ยยันตีสี่ทุกวัน
แต่วันนี้หลังเรียนวิปัสสนาแล้วปรากฏว่าผมนอนไม่หลับ อาจารย์ได้บอกดักไว้ตั้งแต่ตอนกลางวันแล้วว่าเมื่อฝึกวิปัสสนาแล้วจะนอนน้อยลง
หากนอนไม่หลับทั้งคืนก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้จิตอยู่กับความเป็นจริง
คืออยู่กับแต่ลมหายใจหรือความรู้สึกอื่นใดบนร่างกายซึ่งเป็นของจริงได้ก็โอเค.แล้ว
แต่อย่าให้จิดไปอยู่กับ “สังขาร” หรือความคิดปรุงแต่งวิตกกังวล เช่น
อะไรกันนี่เที่ยงคืนแล้วยังนอนไม่หลับอีกหรือ แล้วพรุ่งนี้จะเรียนได้ยังไง
การอยู่กับความคิดปรุงแต่งและมีความ “อยาก”
แบบนี้จิตตื่นเช้าขึ้นจะมีอาการอ่อนระโหยโรยแรง ผมก็เชื่อตามอาจารย์ว่า
คือตามดูลมหายใจไปแบบสบายๆ
จนกระทั่งได้ยินเสียงของเพื่อนสหธรรมิกจากห้องข้างๆที่ลอดหน้าต่างบานเกล็ดแบบไม่ติดแอร์เข้ามา
“ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก”
“ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก”
“ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก”
เสร็จละสิเอ็ง
ผมนึกในใจ
สงสัยจะต้องนอนฟังซิมโฟนี่ชนิดเซ็นเซอราวด์ระดับบานเกล็ดกระจกสั่นนี้ไปจนถึงเช้าแน่
คงไม่มีเสียงอะไรจะดังจนกลบเสียงกรนบันลือโลกแบบนี้ได้อีกแล้ว แต่แล้วผมก็ได้พบว่า
เหนือฟ้ายังมีฟ้า
“
ตก..ตก..ตก...ตก...ตก”
เป็นเสียงอุ่นเครื่องของตุ๊กแกรุ่นเดอะ
น่าจะอยู่บนต้นไม้นอกหน้าต่างนี่เอง ซึ่งดังยิ่งกว่าเสียงกรนของสหธรรมมิก
และที่ดีกว่านั้นคือเสียงเพราะกว่า แล้วก็มาอีกตัว
“
ต้ก..ต้ก..ต้ก...ต้ก...ต้ก”
ตัวแรกเล่นในคีย์ซี
แต่ตัวที่สองนี้เล่นในคีย์อี.ไมเนอร์ แต่ยังมีอีกตัว เล่นในแบบสตริง
ซึ่งอะเมซซิ่งมาก แบบว่า
“เคล้ง..เคล้ง..เคล้ง..เคล้ง..เคล้ง”
นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินเสียงตุ๊กแกเล่นแบบสตริง
ต่อจากนั้นทั้งสามตัวก็เริ่มออร์เคสตร้า
“..ตกแก่...ต๊กแก้...เคล้งแก๊”
แล้วก็มีแบคกราวด์ซิมโฟนี่เข้ามาคลอในรูปแบบคอนแชร์โต้
แบบว่า
“..ตกแก่...ต๊กแก้...เคล้งแก๊”
ตกแก่...ต๊กแก้...เคล้กแก๊
ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก
ตกแก่...ต๊กแก้...เคล้งแก๊..”
ช่วยกล่อมนิทราให้ผมหลับไปได้
(ขอบคุณ เดอะตุ๊กแก-สหธรรมมิก ออร์เคสตร้า)
ปวด ป๊วด ปวด
วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่
5.
มิชชั่นหลักก็คือฝึกวิปัสสนามหาโหดห้ามลืมตา ห้ามดุกดิก
เช้ายันกลางคืน ผมเริ่มต้นได้สวย ฉายไฟพลังจิตบนกระหม่อมก่อน
ขยายวงออกไปจนได้ความรู้สึกมดไต่กว้างเท่าหมวกครอบหัว แล้วใช้พลังจิตจดจ่อลากลงไปยังส่วนร่างของร่างกายเพื่อให้เกิดความรู้สึกยุบยิบยับหรืออย่างน้อยก็ความรู้สึกอุ่นๆของพลังจิตตามไล่หลังไปจากหัวถึงเท้า
รอบแรกไปได้ดี แต่รอบสองไปติดที่ขาขวา เพราะมันปวดขา
อาจารย์สอนว่าเมื่อเจอที่ปวดให้หยุดแล้วเอาความรู้สึกค่อยๆวนไปรอบๆแล้วค่อยๆเข้าไปรับรู้ความเจ็บปวดนั้น
ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่หนี ไม่จ่าย เอ๊ย..ไม่ใช่ ไม่หนี ไม่สู้ ไม่ต่อต้าน
อาจารย์ใช้คำว่าด้วยจิตที่เป็น “อุเบกขา” คือรับรู้ความเจ็บปวดนั้นแบบเฉยๆ
เป็นกลางๆ
ขณะเดียวกันก็ให้จิตตระหนักว่าเวทนาหรือความเจ็บปวดนี้ก็เหมือนกับอะไรทั้งหลายในชีวิต
คือไม่เที่ยง มีปวดแล้วก็มีหายปวด อาจารย์ใช้คำว่า อนิจเจีย..ย อนิจเจีย..ย...
โอ้อนิจจา
ชายแก่อายุหกสิบกว่าที่แทบไม่มีโอกาสได้นั่งขัดสมาธิเลยในชีวิตช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา
ต้องมานั่งขัดสมาธิอยู่กลางโถงท่ามกลางเพื่อนคนอื่นซึ่งทุกคนเป็นซอมบี้นั่งนิ่งราวกับพระพุทธรูปไม่มีชีวิตนานอย่างน้อยรอบละ
1
ชั่วโมง
ผมพยายามเอาความรู้สึกเข้าไปแหยมรับรู้ความเจ็บปวดอย่างที่อาจารย์สอนแต่ก็เข้าไม่ถึงเพราะความเจ็บปวดมันร้อนแรงเกิน
ผมก้มมองขาตัวเองทั้งๆที่ยังหลับตาอยู่ พบว่าบริเวณที่ปวดนั้นตรงกลางเป็นสีม่วงขาว
ตรงขอบๆเป็นสีส้ม ท่าทางคงจะร้อนระดับหลายร้อยองศาขึ้นไป อาการปวดทำให้ผมเบลอ
ความคิดเหม่อไปไหนต่อไหน จนได้ยินเสียเจ้าติร้องขึ้น
“เฮ้ย..เจ้านาย
ใจลอยแล้ว”
ผมตั้งสติได้ก็ลากตัวเองมารับรู้ความเจ็บปวดอีก
พยายามเอาจิตเข้าไปลูบ ขาเอ๋ย เจ้ามันตกอยู่ใต้ความเป็นอนิจจัง ตอนนี้เอ็งปวด
เดี๋ยวเอ็งก็จะหายปวดนะ ทนเอาหน่อยเถอะ แต่มันก็สุดจะทน อนิจจา วะตะ สังขารา
ทำไมขาข้ามันจึงปวดอย่างนี้วะ กำลังที่จะสลบไสลไปเพราะความเจ็บปวดอยู่นั้น
ผมก็บอกเจ้าติด้วยเสียงแผ่วเบาว่าเอ็งไปเรียกพี่ยะมาซิ คุณยะก็มาอยู่ข้างๆโดยพลัน
“อูย..ย..
ผมไม่ไหวแล้วพี่ยะ มันต้องทนทรมานกันถึงขนาดนี้เลยหรือ?”
พี่ยะตอบว่า
“ก็เราตั้งใจจะลองแล้วนี่ครับท่าน
ผมว่าเราก็ต้องลองสู้ดูสักตั้งนะครับ”
เอาวะ
สู้ก็สู้ แต่อาจารย์ให้ถืออุเบกขา ไม่ให้ขับไล่ไสส่งความเจ็บปวด
ถ้าอย่างนั้นเราถอยไปตั้งหลักที่ลมหายใจดีกว่า หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้ายาว
รู้ตัวว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว รู้ตัวว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้นรู้ตัวว่าหายใจเข้าสั้น สั้นเข้า เข้าสั้น สั้นเข้า ฟืดฟาด ฟืดฟาด
ฟืดฟาด เหงื่อออกชุ่มโชกตัวไปหมด โอ๊ย..ย ปวด ป๊วด ปวด อาจารย์ ช่วยศิษย์ด้วย..ย..
“หง่าง...เหง่ง....หง่าง”
แม้จะเป็นเสียงระฆังปลอมจากเทป
แต่มันก็ไพเราะเพราะพริ้งเหลือเกิน ระฆังบอกว่าครบหนึ่งชั่วโมง หมดยก
ช่วยผมได้ทันพอดี ผมรอดชีวิตมาได้
พอออกจากสมาธิพบว่าจิตใจมันปลอดโปร่งเบาสบายดีแฮะ สมาธิดีมาก
แต่จิตกลับผูกติดอยู่กับลมหายใจจนแกะไม่ออก อาจารย์ให้ไปพัก 15
นาที ปกติผมจะกลับห้องนอนเล่น
แต่นี่ผมต้องไปเดินรอบระเบียงเพื่อแกะจิตออกจากลมหายใจ แต่ก็แกะไม่ออก
มันยังฟืดฟาด ฟืดฟาด อยู่อย่างนั้น ตั้งนานจนหมดเวลาพัก
จึงผ่อนคลายลงมาเป็นปกติได้ เหตุการณ์เป็นแบบนี้ยกแล้วยกเล่า
โดยไม่รู้อนาคตว่าชีวิตนี้จะไปจบที่ไหน
ควบคู่กับความปวดก็คือความง่วง
แม้ว่าเจ้าติจะทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม
แต่บางครั้งใจผมก็จะดูเหมือนเข้าข้างไปทางความง่วงเสียฉิบ
เพราะถ้าไปทางยอมง่วงมากๆหน่อย มันจะเจ็บจะปวดน้อยลง
แต่บางครั้งก็รู้สึกผิดที่เพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของเจ้าติ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมปล่อยตัวเองไปกับความง่วงจนสุดที่จะโงหัวขึ้นแล้ว
ได้ยินเสียงเจ้าติตะโกนอยู่ไกลๆว่า
“เฮ้ย เจ้านาย
ง่วงสาหัสแล้ว จะให้ตามคุณยะไหม”
ผมพยักหน้าเบาๆ
คุณยะมาถึงก็ปึงปัง เอาไม้เท้าของเขากระทุ้งเพดาน
“ตื่นๆๆๆ
ยืดหน้าอกขึ้น แขม่วพุงด้วย หายใจเข้าแรงๆ แรงขึ้นอีก แรงขึ้นอีก ยังไม่ไหวอีก ลืมตาขึ้นดีกว่า
ลืมตา มองไปโน่นไปนี่ ลืมตาไว้..”
เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ซ้ำซาก
บางยกตลอดชั่วโมงไม่ได้ปฏิบัติอะไรให้ก้าวหน้าเลย
พอคล้อยหลังคุณยะหนังตาก็ตกลงมาอีก ก็ตามคุณยะกลับมาอีก
เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดชั่วโมง
พอมายกปลายๆประมาณบ่ายๆ
ความง่วงมีฤทธิ์น้อยลง แต่ความปวดกลับค่อยๆทยอยกันมาเพิ่มขึ้น
มันไปเอากำลังบำรุงมาจากไหนนะ ผมหนีไปกอดลมหายใจฟืดฟาด ฟืดฟาด
เพื่อเอาตัวรอดต่อไปให้ได้อีกหนึ่งยก แต่ยกนี้ความปวดมันดูจะได้กำลังเสริมมากขึ้น
ทำให้ผมต้องหายใจแรงขึ้นแรงขึ้น และท่องอุเบกขา ปลอบตัวเองว่า
“ปวดก็ช่างมันเถอะ
มันไม่ใช่ขาของเรา มันขาของหมอสันต์เค้า”
คิดอย่างนี้แล้วผมก็เกิดขำตัวเองขึ้นมา
ขำจนกลั้นหัวเราะไม่อยู่แต่ก็ต้องกลั้นเพราะเกรงใจคนอื่นเขา
จึงได้แต่หัวเราะแบบกลั้นๆเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้
“อึก..อึก..อึก...อึก..อึก...อึก..”
ผมพบว่าการหัวเราะทำให้อาการปวดของผมลดลงแฮะ
ผมก็จึงปล่อยให้ตัวเองหัวเราะไปจนระฆังหมดยก คราวนี้สบายมาก
ผมลุกได้ปร๋อโดยไม่ต้องโอดโอยเอามือลากขาออกมาจากขัดสมาธิที่ละข้างเลย
จิตใจปรอดโปร่งดี และยังขำไม่หาย ออกไปเดินพักก็หัวเราะคนเดียว หึ หึ หึ หึ ไปตลอด
คิดในใจว่าเป็นคนเส้นตื้นนี้ดีแฮะ บรรเทาปวดได้ด้วย
นี่มันเป็นกลไกของระบบประสาทอัตโตมัตินี่นา เมื่อรัฐบาลหรือจิตสำนึกไม่ทำอะไรกับปัญหาที่ซีเรียส
กองทัพ เอ๊ยไม่ใช่ ระบบประสาทอัตโนมัติก็เลยเข้ามาเทคโอเวอร์เสียเอง
การหัวเราะทำให้เกิดการสั่นสะเทือน
ซึ่งด้วยความรู้ทางแพทย์ผมทราบดีว่าระหว่างการสั่นสะเทือนกับการปวด สมองจะเลือกรับรู้การสั่นสะเทือนโดยไม่รับรู้อาการปวด
ทำให้สั่นแล้วสบายขึ้น มิน่า ผมนึกถึงครั้งหนึ่งผมมีคนไข้ผู้หญิงซึ่งปวดมาก
เธอร้องไห้สะอื้นฮัก ฮัก ฮัก พวกพยาบาลต่างก็เข้ามาปลอบเธอใหญ่ว่าอย่าเสียใจเลย
เธอบอกว่าเธอไม่ได้เสียใจ แต่มันร้องไห้สะอึกสะอื้นเอง กลไกมันเป็นอย่างนี้นี่เอง
“หง่าง..เหง่ง..หง่าง”
ยกต่อไป
มาอีหรอบเดิมอีกแล้ว ปวดฉิบ..ห. เอ๊ย ขอโทษ ปวดหนอ ปวดหนอ มีปวดแล้วมีหายหนอ
แต่ว่ายิ่งโอ๋มัน มันก็ยิ่งแรงขึ้นๆๆๆๆ ผมหันไปกอดลมหายใจอีก ลมหายใจของผมแรงขึ้น
เร็วขึ้น หายใจลึกและยาวขึ้นๆๆๆ จนผมเริ่มสั่นไปทั้งตัว
อาจารย์เคยบอกว่าเมื่อรับรู้เวทนาทั่วร่างกายได้ดีแล้วจะมีอาการสั่นสะเทือนเล็กหรือ
vibration
ไปทั่วร่างกาย เอาละ ได้การละ
ท่าทางเราจะได้บรรลุธรรมกันละวะคราวนี้ แต่ว่าอาการสั่นมันไม่เล็กเสียแล้ว
มันมากขึ้นๆจนผมสั่นเทิ้มไปทั่วตัว ผมรู้สึกว่ามือมันสั่นอยู่ไม่นิ่ง
ผมแอบลืมตาขึ้นเพื่อมองดูมือตัวเองนิดหนึ่ง เห็นว่ามันกระตุกเป็นช่วงตั้งแต่หน้าตักขึ้นมาจนถึงปลายคางเหมือนคนกำลังชัก
แต่ผมมีสติดีอยู่ จึงวินิจฉัยตัวเองได้ว่าไม่ได้เป็นลมบ้าหมู แถมสั่นแล้วผมหายปวด
ผมก็เลยปล่อยให้มันสั่นไป
ครั้นเห็นว่ามันสั่นจนตัวเองจะลอยขึ้นจากพื้นผมก็พยายามบังคับตัวเองลง
บอกตัวเองว่า เฮ่ย.. เบาๆหน่อย เอาแต่พอหายปวด เดี๋ยวคนเขาเข้าใจผิดว่าเอ็งเหาะเหินเดินอากาศได้แล้วจะยุ่งกันใหญ่นะโว้ย
“หง่าง..เหง่ง..หง่าง”
ระฆังหมดยก
แต่หมดยกช้าหรือเร็วผมไม่เดือนร้อนแล้วคราวนี้
เพราะผมมีบริการระบบประสาทอัตโนมัติคอยช่วยให้พ้นภัยปวด ทว่า
ยังไม่ทันจะขยับขาลุกไปยืดเส้น ธรรมะบริกรผู้น่ารักก็คลานเข้ามากระซิบที่ข้างหูผม
“คุณหมอสันต์ครับ
อาจารย์เรียกพบ”
อาจารย์ถามผมว่าเกิดอะไรขึ้น
ผมก็เล่าไปทั้งหมด และว่า
“ผมหนีไปเฝ้าดูลมหายใจ”
อาจารย์บอกว่า
“ในขั้นนี้เราไม่ได้สอนให้อยู่ที่ลมหายใจแล้วนะ
เราให้เอาความรู้สึกตามดูเวทนาของร่างกาย”
“ผมทราบครับ
แต่ว่าผมเอาความรู้สึกเจาะเข้าไปไม่ได้ มันปวดมาก ผมจึงต้องไปเกาะอยู่ที่ลมหายใจ
แล้วมันก็ค่อยๆสั่น แล้วก็แรงเป็นกระตุกขึ้นมาเอง”
“คุณทำอย่างนั้นไม่ได้
คุณเป็นศิษย์ใหม่เพิ่งหัดมาสามสี่วัน จิตคุณไม่แข็งพอที่จะทำอย่างนั้น”
“อ้าว
แล้วอาจารย์จะให้ผมทำอย่างไรละครับ”
“หากมันปวดมากขนาดนั้นคุณต้องขยับขาเปลี่ยนท่าทันที
ผมให้คุณขยับขาเปลี่ยนท่าได้ชั่วโมงละห้าหกครั้ง”
ผมดีใจ
นึกในใจว่าโอ้โฮ อาจารย์ลดแลกแจกแถมให้ผมเร็วดีจัง จากห้ามกระดิกกระเดี้ยเด็ดขาด
พอผมโชว์ฟอร์มสามเณรใจเพชรเท่านั้นแหละ อาจารย์ลดราคาเหลือขยับได้ชั่วโมงละห้าครั้งทันที
หิ..หิ ถ้าอาจารย์บอกผมงี้เสียแต่แรก ป่านนี้ผมบรรลุธรรมไปแล้วมัง แต่ว่าท่านอาจารย์ยังไม่หายซีเรียส
“แล้วอีกอย่างหนึ่ง
คุณต้องรับปากกับผม พอเริ่มมีอาการสั่นหรือกระตุก คุณต้องลืมตาทันที
ลืมตามองดูโน่นนี่นั่น อย่าไปเกาะอยู่กับลมหายใจ” ผมถามว่า
“แล้วถ้าไม่ให้เกาะกับลมหายใจ
ถ้ามันปวด ผมควรจะจัดการมันอย่างไรละครับ
เพราะผมมองไปเห็นมันเป็นสีส้มสีม่วงแบบว่า..ร้อนมาก”
“สีไม่ใช่ของจริง
คุณอย่าไปสนใจสิ่งที่ไม่ใช่ของจริง คุณอย่าไปมอง ตั้งกายตรง หลับตา เงยหน้าขึ้น
ใช้แต่ความรู้สึกค้นหาความเจ็บปวด เข้าไปรู้สึกรอบๆความเจ็บปวด
และพยายามให้ความรู้สึกเข้าไปอยู่ตรงกลางความเจ็บปวด
แล้วนิ่งเฝ้ารู้สึกมันอยู่อย่างนั้น
ในที่สุดมันจะเกิดความสั่นสะเทือนขนาดละเอียดที่จะสลายความเจ็บปวดลงไปได้เอง”
การพบกับอาจารย์ครั้งแรกก็ทำให้ผมก้าวหน้าล้ำเพื่อนๆสหธรรมิกไปแล้ว
อย่างน้อยผมได้วีซ่าจากอาจารย์ให้เหยียดขาได้ชั่วโมงละห้าครั้ง
ขณะที่เพื่อนๆคนอื่นยังถูกตราสังอยู่กับการนั่งอธิษฐานห้ามกระดิกกระเดี้ยตลอดชั่วโมงอยู่เลย
จะไม่ให้เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าได้อย่างไร
นิวรณ์
กลับมาถึงห้องคืนนั้นผมตั้งใจว่าจะไม่บุกหนักแล้ว
จึงรีบเข้านอนโดยทำสมาธิตามดูลมหายใจและกึ่งๆปล่อยจิตไป แต่แล้วก็นอนไม่หลับ
จนเที่ยงคืนแล้วก็ยังนอนไม่หลับ
หลับตาอยู่มองเห็นห้องนอนของตัวเองจากแสงเรืองๆสีเขียวอ่อนที่กระจายอยู่ทั่วไป
ผมลุกขึ้นมาจะเข้าห้องน้ำ โดยใช้วิธีใช้มือคลำทางนำหน้าไป แต่แล้วก็..
“โพล้ะ”
ผมเอาหัวไปโขกกับเหลี่ยมวงกบประตูเข้า
เพราะความที่มือซึ่งคลำนำหน้านั้นคลำเข้าไปในช่องว่างของประตู
แต่หัวอยู่ขอบวงกบพอดี ผมรีบเปิดไฟ
ก็ประหลาดใจว่าห้องจริงมันเล็กกว่าห้องที่ผมเห็นด้วยแสงเรืองๆเวลาหลับตาตั้งแยะ
และพบว่าตัวเองหัวคิ้วแตกเลือดไหล ต้องปฐมพยาบาลตัวเองอยู่เกือบชั่วโมงเลือดจึงหยุดไหล
แล้วจึงกลับเข้านอนใหม่ ทำสมาธิด้วยวิธีตามดูลมหายใจไป
กำลังจะเคลิ้มก็รู้สึกว่ามีแสงสว่างส่องขึ้นมาจากหลืบใต้หมอนขณะที่ผมนอนตะแคงเอาหัวคิ้วข้างบาดเจ็บลง
ผมตกใจนึกว่าตัวเองเกิดจอประสาทตาหลุดลอกเข้าแล้ว
ถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องฉุกเฉินต้องไปรพ.กันกลางดึก ซึ่งคงจะฉุกละหุกน่าดู
จึงรีบลุกขึ้นมานั่ง แล้วตรวจจอการมองเห็น (visual field) ของตัวเองด้วยวิธีกางสองมือกระดิกนิ้วตามมุมต่างๆดู ก็พบว่าปกติดี
จึงเปลี่ยนนอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง
พอม่อยจะหลับก็เห็นแสงสว่างส่องขึ้นมาจากหลืบหมอนอีก จึงใจชื้นว่าคราวนี้เป็นกับตาคนละข้าง
ไม่ใช่จอประสาทตาหลุดลอกแน่นอน เปลี่ยนมาเป็นนอนหงาย
หลับตามองไปทั่วห้องซึ่งกลับเป็นห้องใหญ่สีเขียวเรืองๆอีกแล้ว
เห็นอะไรก็ไม่รู้คล้ายผีกองกอยสีน้ำตาลแดงท่าทางคุ้นๆนั่งอยู่ปลายเตียง
ผมเป็นห่วงเรื่องจะเสียเวลานอนหลับจึงตัดสินใจไปเปิดไฟในห้องน้ำให้สว่างเข้ามาให้ห้องนอนเพื่อกลบแสงเขียวเรืองๆนั้น
แล้วก็ทำสมาธิตามดูลมหายใจเพื่อจะนอนอีก แล้วแสงที่ลอดออกมาจากหลืบหมอนก็มาอีก
คราวนี้มาจากหลายหลืบ ตามหลืบบัวเชิงผนังห้องบ้าง ค่อยสว่างขึ้นๆ
หนักเข้ามาเป็นสปอตไลท์สว่างจ้าจนต้องหยีตาเลย ตัวสปอตไลท์ที่อยู่หลืบบนเพดานก็แพนไปเรื่อยเหมือนกล้องถ่ายโทรทัศน์กำลังถ่ายทำพระเอกท่านอนคิดถึงนางเอก
มีลมพัดผ่านบานเกล็ดกระจกเข้ามา
ผมเอื้อมมือออกไปจะดึงม่านให้ปิดแต่แล้วก็ต้องเอะใจ
“เฮ้ย
นั่นมันมือของผมเองนี่หว่า”
คือขณะที่หลับตาอยู่ในห้องที่มีสปอตไลท์ส่องสว่างโร่นั้น
ผมมองเห็นแขนและมือของตัวเองเป็นสีแดงคล้ำ เมื่อผมขยับมือ กำมือ สลับกับกางนิ้ว
ก็คอนเฟิร์มว่านั้นเป็นมือของผมแน่นอน เพียงแต่หากผมกำและกางมือเร็ว
นิ้วมือที่มองเห็นมันจะกางช้ากว่ามือจริงเล็กน้อย คล้ายๆกับว่ามือสีแดงนี้เป็นอดีตของมือจริง
ถึงตอนนี้ผมถึงบางอ้อแล้วว่าเจ้าผีกองกอยที่นั่งอยู่ปลายเตียงนั้นคือตัวผมนั่นเอง
เพราะเมื่อตอนกลางวันผมนั่งอยู่ตรงนั้นในท่านั้น ตากพัดลมทำสมาธิอยู่นาน
พอผมลุกออกจากตรงนั้นผมเข้าใจว่าไอความร้อนหรืออะไรสักอย่างของผมมันยังอยู่
เวลามีแสงสีตองอ่อนฉายอยู่ในห้อง ผมจึงมองเห็นผ่านหนังตาที่ปิดไว้ แต่พอลืมตาขึ้น
แสงสีตองอ่อนหายไป กลายเป็นแสงนีออนปกติ ก็มองไม่เห็นอะไร
มาถึงตอนนี้ผมตื่นตัวเสียจนนอนไม่หลับแน่นอนแล้ว
จึงลุกขึ้นมานั่งทำสมาธิ โดยวางม้านั่งไว้ใกล้ผนัง
แล้วนั่งห้อยขาเอาหลังพิงผนังกันเมื่อย เนื่องจากจิตคงอ่อนเปลี้ยมาทั้งวัน
ผมจึงทำได้แค่อาณาปาณะสติ ไม่มีแรงที่จะทำเวทนาวิปัสสนา
นั่งตามดูลมหายใจไปประมาณหนึ่งชั่วโมง
อยู่ๆก็มีอาหารขึ้นมาวางตรงหน้าเต็มพื้นเตียงที่อยู่ตรงหน้า เป็นการจัดอาหารแบบไทยคลาสสิก
ปูเสื่อที่มองเห็นเส้นกกที่ทอสีแดงเข้มสลับกับเขียวชัดเจนมาก
ตัวถ้วยอาหารเป็นถ้วยเคลือบขาวลายน้ำเงิน อาหารบางรายการเปิดให้เห็นลักษณะคล้ายแกงเผ็ด
บางรายการปิดครอบฝาถ้วยไว้ด้วยใบกล้วยซึ่งบรรจงตัดแต่งเป็นรูปเจดีย์อย่างสวยงาม ตอนแรกที่เห็นอาหารเหล่านี้
ผมคิดว่าผมคงจะหิวมากไป แต่พอมองอาหารไปภาพกลับชัดขึ้นๆ
ชัดยิ่งกว่าอาหารจริงๆที่เห็นในแต่ละวันเสียอีก
ชัดระดับการจัดแสงวางรีเฟล็กซ์ในห้องส่งทีวีเลยทีเดียว ผมจ้องมองอาหารเหล่านั้น
และพูดกับตัวเอง
“นี่เป็นความคิดนี่นา
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะดับ วิธีที่จะทำให้มันดับ คือเฝ้ามองมันไปเฉยๆ”
ว่าแล้วผมก็นั่งจ้องมองถาดอาหารเหล่านั้นไปด้วยความเฉยนิ่ง
นานประมาณหนึ่งนาทีถาดอาหารก็เริ่มค่อยๆทะยอยละลายออกเป็นเม็ดเล็กๆ
แล้วแผ่วหายไปหมด เหลือแต่พื้นเตียงดังเดิม นานอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง
ประมาณตีหนึ่งน่าจะได้ ผมยังไม่ง่วง จึงนั่งทำสมาธิอยู่
แล้วไม่รู้มาตั้งแต่เมือไหร่
แต่เมื่อผมรับรู้อีกทีท่านก็นั่งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเตียงตรงหน้าผมแล้ว
เขาเป็นผู้ชายวัยราวเจ็ดสิบปี
รูปร่างสูงใหญ่ผิวขาว
แต่งตัวแบบขุนท้าวเจ้าพระยาหรือไม่ก็ทหารระดับนายกองในสมัยก่อน
เสื้อคล้ายๆที่ทหารเรือใส่พายเรือในงานพิธีพยุหยาตรา สีพื้นของเสื้อเป็นสีเขียว
มีรายตัดสีเหลืองและแดงเข้ม ภาพชัดเจนมาก ราวกับผมนั่งอยู่กับคุณดู๋ในห้องส่ง
ตัวอาคันตุกะนั้นเป็นคนสมาร์ทโดยแท้จริง หน้าอกแน่นเต็มจนเสื้อไม่มีรอยย่น
กล้ามแขนปริเสื้อที่ใส่ ใบหน้าดูมีความมาดมั่นแต่แฝงแววมาดีอยู่ในที พอตั้งหลักได้
ผมก็พูดกับตัวเองอีก
“นี่ก็เป็นความคิด
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะดับ วิธีที่จะทำให้ความคิดดับ คือเฝ้ามองเฉยๆ”
เราสองคนนั่งห่างกันประมาณหนึ่งเมตร
ท่ามกลางบรรยากาศสว่างไสวเทียบเท่าห้องส่งโทรทัศน์ นั่งจ้องหน้ากันอยู่อย่างนั้นนานประมาณสิบนาที
แม้จะเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่ผมไม่รู้สึกว่าอึดอัดแต่อย่างใด
เพราะมิชชั่นของผมคือมองจนความคิดนั้นหายไป
จนในที่สุดท่านเจ้าคุณก็ค่อยๆแตกเป็นชิ้นย่อยๆเหมือนภาพจิ๊กซอเด็กเวลาถูกรื้อออก
จากชิ้นเล็กเป็นชิ้นเล็กมาก จากชิ้นเล็กมากเป็นฝุ่นสีน้ำตาลแดง
แล้วก็ค่อยๆเลือนหายไปเหลือแต่พื้นเตียง
ผมนั่งทำสมาธิต่อไปราวครึ่งชั่วโมงจึงกลับขึ้นเตียงนอน
พอรุ่งเช้าซึ่งเป็นวันที่
6.
ของการเรียน ผมเขียนจดหมายน้อยให้ธรรมะบริกร
แจ้งความประสงค์ว่าผมขอพบอาจารย์ ซึ่งท่านให้ผมเข้าพบสองต่อสองหลังอาหารเที่ยง
ผมเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง แล้วถามว่าสิ่งที่ผมพบเห็นในเชิงการฝึกวิปัสสนามันคืออะไร
จะมีผลเสียต่อการฝึกอย่างไร และผมควรแก้ไขอย่างไร
“ห้องหัวมุมใช่ไหม”
อาจารย์เปิดฉากปุ๊บเข้าเรื่องไปทางผีสางนางไม้เลย
ผมอมยิ้มแล้วพยักหน้า ท่านถามผมว่า
“คุณเชื่อเรื่องผีไหม”
ผมตอบว่าไม่เชื่อ
ท่านพูดต่อว่า
“ทั้งหมดนี้มันเป็นสิ่งที่เรียกรวมๆว่านิวรณ์
รายละเอียดปลีกย่อยไม่ต้องไปพูดถึง
นิวรณ์ก็คืออะไรก็ตามที่มาเป็นอุปสรรคขวางกันไม่ให้เราทำวิปัสสนาสำเร็จ
วิธีแก้ไขคือคุณอย่าไปสนใจ ให้เกาะติดแต่สิ่งที่เป็นความจริง
ลมหายใจของคุณเป็นความจริง เวทนาบนร่างกายของคุณเป็นความจริง
ให้คุณเกาะติดอยู่ตรงนั้น แล้วคุณก็จะหลับได้ แต่...”
แล้วอาจารย์ก็หักมุมว่า
“ห้องนั้นมันมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมากและเป็นเช่นนี้มาช้านาน
ผมแนะนำให้คุณเปลี่ยนห้องนอน โดยจะบอกให้ธรรมะบริกรเขาจัดห้องใหม่ให้”
ผมตอบว่า
“ผมขอไม่เปลี่ยนดีกว่าครับ
ขออยู่ห้องเดิม” อาจารย์ยิ้มนิดหนึ่งแล้วพยักหน้า
ผมนึกเล่นๆในใจว่า หรืออาจารย์จะพูดในใจว่า...
“เอาวะ
สุดแต่บุญกรรม ข้าบอกเอ็งแล้วนะ”
การจัดการความเจ็บปวด
ตลอดเวลาที่ทำอาชีพหมอ
ผมอยากจะช่วยคนไข้ที่เจ็บปวดให้หายปวด แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากใช้ยามอร์ฟีน
มีคนไข้มะเร็งปอดคนหนึ่งบอกผมว่าเธอไม่กลัวความตายดอก แต่เธอกลัวความเจ็บปวด
ผมเองก็ไม่รู้จะช่วยบรรเทาความกลัวนี้อย่างไร เพราะตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้ว่าคนเราเมื่อมีความเจ็บปวด
แล้วเราควรจะรับมือกับมันอย่างไร
มาวันนี้ผมมีความพร้อมที่จะทดลองเพื่อให้เกิดความรู้นั้นแล้ว
ผมเริ่มนั่งในท่าขัดสมาธิ แล้วเริ่มทำเวทนาวิปัสสนา
ผมชำนาญแล้วในการสาดหรือราดรดพลังสมาธิไปตามจุดต่างๆของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้อินทรีย์ทั้งหลายเกิดความไวจนรับรู้ความรู้สึกละเอียดต่างๆได้
แล้วใช้จิตสำนึกตามรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้น
ผมทำอย่างนี้ไปทั่วร่างกายรอบแล้วรอบเล่าโดยไม่ติดขัดอะไร
จนอาการปวดที่ขาเริ่มกำเริบขึ้น คราวนี้ผมหยุดการสาดพลังสมาธิไปทั่วตัว
หันมาค่อยๆบรรจงเอาพลังสมาธิเข้าไปลูบไล้รับรู้ขอบเขตของบริเวณที่ปวดตามที่อาจารย์แนะนำ
ใช้ความรู้สึกล้วนๆ โดยไม่ยอมก้มหน้ามอง
แล้วค่อยๆเลื่อนพลังสมาธิให้เข้าไปอยู่ที่ศูนย์กลางของความเจ็บปวด
แล้วเฝ้ารับรู้อยู่ตรงนั้น แรกอาการเจ็บปวดจะเป็นฝ่ายชนะ ผมสู้ไม่ไหว ผมก็ถอย
ด้วยการค่อยๆลืมตา ขยับเหยียดขาสักพัก
แล้วคู้บัลลังก์นั่งขัดสมาธิแล้วเริ่มต้นใหม่
ทำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนผมมีพลังสมาธิที่แก่กล้าทนรับรู้ความเจ็บปวดไปได้นานจนบริเวณนั้นของขาร้อนฉ่า
แล้วอาการปวดก็ค่อยๆเป็นฝ่ายแพ้ฝ่อหายไปเอง
โดยไม่ทันได้มีความสั่นสะเทือนอะไรอย่างที่อาจารย์ว่าเกิดขึ้นเลย ในที่สุดผมก็นั่งขัดสมาธิได้นานครบชั่วโมงโดยไม่ขยับขาได้โดยไม่ปวดด้วย
แต่ความเจ็บปวดมันแพ้ตรงที่ขานี้แล้ว มันก็ย้ายไปปวดที่อื่น เช่นไปที่หลังบ้าง
ผมก็ใช้วิธีจัดการแบบเดียวกัน ซึ่งก็ได้ผลทุกที
โป๊ะเชะ
ยูเรก้า พบแล้ว วิธีจัดการความเจ็บปวด ทำอย่างนี้นี่เอง ผมรู้วิธีแล้วแหละ ผมไม่กลัวแล้ว
ความเจ็บปวด พลอยทำให้ไม่กลัวความตายไปด้วย
เพราะส่วนที่น่ากลัวของความตายก็คือความเจ็บปวด
ผมพร้อมที่จะตายแล้ว..ไชโย้
แต่ผมจะสอนคนไข้ให้ทำตามได้หรือเปล่า
เออ อันนี้ผมไม่แน่ใจ ต้องค่อยๆลองดู อย่างน้อยผมก็มีแนวทางหลักอันหนึ่งแล้ว
คือต้องรีบให้คนไข้ฝึกพลังสมาธิให้สำเร็จซะก่อนที่ความเจ็บปวดขนาดใหญ่จะมาถึง
หรือสำหรับคนทั่วไปก็ต้องฝึกสมาธิให้แข็งก่อนที่จะถึงวันตาย ถ้าฝึกไม่ทัน
เช่นเป็นมะเร็งแล้วปวดโอดโอยแล้วก็ต้องฉีดยาแก้ปวดช่วยไปก่อน
แล้วค่อยๆฝึกพลังสมาธิให้แข็งขึ้นๆควบคู่กันไป จนสามารถเข้าไปรับรู้ใจกลางของความเจ็บปวดแล้วเฝ้ารับรู้จนความเจ็บปวดหายไปเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา
แล้วผมยังมองเห็นประโยชน์ของการประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่นี้อีกอย่างหนึ่ง
คือการใช้พลังสมาธิปลุกอินทรีย์ให้ว่องไวจนรายงานสมองให้รับรู้เวทนาที่ละเอียดอ่อนได้นี้
จะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการฟื้นฟูคนไข้หลังเป็นอัมพาต ที่สมองขาดการติดต่อกับอยาตนะหรืออินทรีย์ของข้างที่เป็นอัมพาตนั้นไป
ทั้งหมดนี้นับเป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติและประสบพบด้วยตัวเองในวันนี้
นี่มันของจริง หรือของหลอก?
ค่ำคืนวันนี้ผมมีความปลอดโปร่งโล่งใจดีมาก
การฝึกปฏิบัติก้าวหน้าเกิดความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์เกินความคาดหมาย
ผมตัดสินใจว่าจะลองทำในสิ่งที่คนเขาเรียกกันว่า “แผ่เมตตา” ดู ผมไม่เคยทำหรอก
ไม่รู้ด้วยว่าทำอย่างไร
แต่ผมเดาๆเอาว่าเป็นการแบ่งปันความสุขความสงบในใจที่เรามีให้คนอื่น
ซึ่งจริงๆในชีวิตจริงผมก็ทำอยู่แล้ว แต่เป็นการทำกับคนตัวเป็นๆ
แต่คราวนี้ผมจะลองทำกับใครก็ไม่รู้ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่าผมก็ยังไม่รู้
พอจบการเรียนสามทุ่มครึ่งแล้ว
ผมนั่งบนเก้าอี้ในห้องนอนตัวเดิม พิงผนัง แล้วหลับตาลงทำสมาธิตามดูลมหายใจ
นานจนผมรู้สีกว่าจิตสงบดีและมีพลังพอสมควร
สังเกตจากการที่ผมสามารถรับรู้อาการของผิวหนังใต้รูจมูกเช่นคันร้อนปวดได้ชัดเจน
แล้วจึงมองออกไปผ่านหนังตาที่ปิดอยู่ ขณะที่ใจก็ยังจ่ออยู่กับลมหายใจ
เรียกว่าไปทางลมหายใจทีหนึ่ง ไปทางหนังตาทีหนึ่ง สลับกันไป
ทำอย่างนี้จนลมหายใจละเอียดขึ้นๆและแผ่วเบาลงๆ จึงเริ่มเห็นภาพ
สิ่งแรกที่ผมเห็นคือท่อนเหล็ก
ตอนแรกผมนึกว่าเป็นขาเตียงของผม แต่ไม่ใช่
เพราะขาเตียงของผมเป็นเหล็กเหลี่ยมขนาดเล็ก แต่นี่เป็นเหล็กกลมขนาดแขนเด็ก
แล้วเหล็กพวกนี้ตั้งระเกะระกะเต็มห้องนอน เมื่อภาพค่อยๆชัดขึ้น
ผมจึงเห็นว่าแท้ที่จริงมันเป็นจักรยาน แบบว่าฮัมเบิ้ลบ้าง ลาเล่ย์บ้าง
จอดอยู่ระเกะระกะนับได้แปดคัน บางคันมีกระดิ่ง
ผมพยายามมองยี่ห้อตัวอักษรบนฝากระดิ่งแต่มองไม่เห็น
บางคันล้อหน้าเสียบเข้ามาในหว่างขาของผม เพราะผมนั่งกางขาอยู่บนเก้าอี้
แต่ภาพวันนี้ ไม่ใช่สีอีสต์แมนสี่สีชัดแจ๋วอย่างคืนก่อน ภาพวันนี้เป็นภาพสีเทคนิคคัลเลอร์
เหมือนหนังที่เพิ่งพัฒนาพ้นยุคขาวดำแล้วเติมสีเข้าไปได้สีเดียว
ซึ่งภาพที่ผมเห็นนี้เติมสีโทนน้ำตาลเก่าๆแบบภาพถ่ายเก่าที่เก็บไว้นานแล้วยังไงยังงั้น
เมื่อเฝ้าดูต่อไปก็มีคนทยอยเดินเข้ามา กลุ่มแรกมาราวสี่ห้าคน ชายบ้างหญิงบ้าง
แต่งตัวใส่ผ้าถุงบ้าง โพกหัวด้วยผ้าขาวบ้าง พวกนี้ตั้งใจมายืนมุงรอบตัวผม
บางคนอยู่ใกล้ตัวผมมาก แต่ผมไม่ได้เหลียวไปมองจึงเก็บรายละเอียดไม่ได้
อีกกลุ่มหนึ่งใส่ชุดขาวเจือเทา มากันสามสี่คน
นั่งอยู่บนระเบียงห่างออกไปทางซ้ายมือ
ผมทำสมาธิรอไปสักพักจนเห็นว่าไม่มีคนมาสมทบแล้วจึงเริ่มธุรกิจที่ตั้งใจไว้
โดยพูดออกมาเป็นเสียงว่า
“ข้า...ขอแบ่งปันเผื่อแผ่ความเมตตาปรารถนาดี
มาให้ผีสางเทวดาและสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในละแวกนี้ ขอให้จงเป็นสุข
และขอให้พ้นทุกข์เถิด”
ขณะที่พูดแขนทั้งสองของผมกางออกโดยไม่ได้ตังใจ
เสียงของผมสั่นเครือจนจำเสียงตัวเองไม่ได้ อย่างว่า
มันเป็นบทที่ไม่เคยเล่นมาก่อนจึงเล่นได้ไม่สันทัดนัก
แต่ที่แน่ๆผมรู้สึกว่ามีคลื่นความเย็นแผ่ออกไปจากตัวผมเป็นระลอกๆเหมือนน้ำกระเพื่อมเวลาเราโยนก้อนหินใส่
ผมขนลุกซู่ แล้วผมก็ค่อยๆหุบแขนลง นั่งทำสมาธิเฝ้าดูต่อไป
แล้วพวกเขาก็ทยอยเดินออกไปทางซ้ายมือ
ผมแอบมองตามไป พวกคนชุดขาวมีกันนับได้ห้าคน พวกเขาเดินขึ้นบันไดเหมือนบันไดคอนกรีตสักห้าหกขั้นแล้วหายไปในความมืด
ผมนั่งสมาธิตามดูลมหายใจต่อไปอีก
เพราะยังไม่ง่วง นานประมาณสิบนาทีก็มีคนเดินเข้ามาอีกราวสามสี่คน เป็นชายล้วน
คนหนึ่ง โพกหัวด้วยผ้าขาว มาถึงแล้วก็พากันมาก้มดูอะไรสักอย่างที่ข้างซ้ายมือของผม
แล้วก็เดินจากไป
พอพวกเขาไปแล้วผมจึงค่อยๆเห็นว่าของบนโต๊ะนั้นเป็นอะไรที่คล้ายๆพระเครื่อง
เหมือนกับว่าที่นี่เป็นตลาดพระเครื่องงั้นแหละ
ผมกำลังจะออกจากสมาธิเพื่อเข้านอนอยู่แล้วก็รู้สึกว่ามีคนกำลังมาอีก
จึงนั่งดูต่อไป คราวนี้เป็นการเดินมาเป็นกลุ่มแต่ห่างตัวผมออกไปราวสิบเมตร
คือเดินจากซ้ายไปขวา ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาตรงลานจักรยานนี้
เดินอัดกันอยู่ในทางแคบๆราวเมตรกว่า เป็นชายเป็นหญิง เป็นเด็กก็มี บ้างหอบหิ้วของ
พวกเขาค่อยๆเดินกันไปข้างหน้าไม่มีใครพูดกับใคร
ผมแอบนับความยาวจากหัวแถวถึงท้ายแถวได้ยาวประมาณ 100 เมตร จึงคะเนว่าน่าจะมีคนเดินสักสองสามร้อยคน
พอพวกเขาไปแล้วสถานที่แห่งนี้ก็กลับเข้าสู่ความเงียบ ผมจึงออกจากสมาธิ แล้วเข้านอน
อาจารย์ไม่ยอมหลงกล
รุ่งขึ้นเป็นวันที่ 7.
ของการเรียน ผมขอเข้าพบอาจารย์อีก ก่อนถึงเวลาพบอาจารย์ผมก็เข้านั่งวิปัสสนากับเพื่อนสหธรรมิกตามปกติ
แต่ว่าวันนี้ผมสังเกตว่าจิตใจผมค่อนข้างโปร่งใสเพราะเมื่อคืนได้นอนเต็มตา
ในห้องนั่งวิปัสสนารวมนี้
ธรรมเนียมปฏิบัติคือขณะพวกศิษย์เดินเข้าไปอาจารย์จะปิดไฟมืดก่อน
จนเมื่อเข้าไปนั่งครบทุกคนแล้ว อาจารย์ถึงจะเปิดไฟเรื่อๆขึ้น
และก็เป็นปกติที่สหธรรมมิกทั้งหลายจะเดินเข้ามาแบบซอมบี้ คือมาช้าๆ มาเงียบๆ
มาแบบไม่พูดไม่จา ค่อยไหลเข้ามากันทีละคนสองคน ทั้งชั้นเรียนมีประมาณ 50 คน
แต่วันนี้มีความพิเศษอยู่ที่เมื่อผมนั่งแล้วและเริ่มหลับตาทำสมาธิอุ่นเครื่องไปก่อนตามปกตินั้น
ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง ผมเรียกง่ายๆว่า “นางสาวผี” ก็แล้วกันนะ
ตัวจริงหรือตัวปลอมที่เกิดจากจิตของผมเองก็ไม่รู้
ที่ผมเรียกว่าเธอว่าผีก็เพราะเธอมีร่างกายที่ไม่คมชัด สามารถมองทะลุได้บางส่วน
เธอมวยผมเกล้าไว้ข้างบน อายุราว 30 ปี แต่ดูเป็นคนสมัยใหม่
เธอมานั่งข้างๆผม แบบว่าหัวเข่าเกยกับเข่าขวาของผมเลย แต่ผมไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาชนหัวเขานะ
เพียงแต่มองเห็น (ขณะที่ตาหลับอยู่) เธอนั่งขัดสมาธิแล้วเริ่มทำสมาธิบ้าง แล้วก็มี
“นางผี” ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเดินผ่านหน้าไปแบบไม่เกรงใจกันเลย
แล้วก็มาทำอะไรจนเกิดเสียงดังข็อกแข็กข็อกแข็กอยู่ที่ข้างซ้ายผม
แล้วก็มีใครไม่รู้ก่อไฟขึ้น ตรงใกล้กับหัวเข่าซ้ายของผม
ควันโขมงผ่านหน้าผมไปจนมองอะไรไม่เห็น แต่ผมไม่ได้กลิ่นควัน
และไม่มีความรู้สึกว่าร้อน ผมนึกในใจว่าทำวิปัสสนาวันนี้คึกคักดีแฮะ
แต่พออาจารย์เปิดไฟเรื่อๆขึ้น ทุกอย่างก็จางหายไป
ตกหลังอาหารเที่ยง
ถึงเวลาได้เข้าพบอาจารย์ ผมถามอาจารย์ถึงปัญหาในการปฏิบัติเป็นข้อๆ เช่น
ข้อหนึ่ง
ในพื้นที่ห่างไกลที่การลากการรับรู้ผ่านไปไม่ค่อยถึงเช่นที่ก้น
ผมจะใช้การเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกได้ง่ายขึ้น
เช่นขมิบก้นช่วยได้ไหม อาจารย์ตอบว่าไม่ได้ ต้องใช้จิตเป็นตัวรับรู้อย่างเดียว
(แต่ในการปฏิบัติจริงผมยังแอบขมิบก้นช่วยอยู่.. เพราะชอบอะ)
ข้อสอง
การมีสัมปชัญญะในชีวิตจริงจะทำได้อย่างไร
เพราะเวลาลากการรับรู้ผ่านไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วขณะนั่งสมาธิอยู่ทำได้ไม่ยากก็จริง
แต่ในชีวิตจริงที่ต้องพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลาจะทำได้หรือ อาจารย์ตอบว่าทำได้
ยกตัวอย่างเช่นก้น ท่านพูดแล้วทำมือเป็นกระเปาะขึ้นมาสองเต้า
แล้วพูดว่าเวลาเราลากความรู้สึกผ่านไปเร็วๆเราให้เกิดความรู้สึกแค่ข้างละจุดเดียวก็พอแล้ว
คือมันมีการรู้ทั่วพร้อมแบบหยาบๆกับแบบละเอียดขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
แต่เราต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ข้อสาม
คนป่วยที่จะลดความเจ็บปวดให้ตัวเอง จำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนไหม อาจารย์ตอบว่า จำเป็น
เพราะเส้นทางอื่นที่จะเข้าไปรับรู้เวทนาด้วยจิตอุเบกขาโดยไม่อาศัยสมาธินั้น..ไม่มี
แล้วผมก็วกเข้าเรื่องที่ติดใจ
โดยเล่าเรื่องเมื่อคืนนี้ให้อาจารย์ฟัง งดไว้ไม่ได้เล่าเฉพาะเรื่องในห้องนั่งวิปัสสนา
แล้วถามอาจารย์ว่า
“อาจารย์ครับ
ผีมีจริงไหม” อาจารย์ตอบว่า
“ผมไม่เคยเห็นนะ
แต่ในบทสวดที่อาจารย์ให้มา อย่างเช่นในบทแผ่เมตตาก็มีพูดว่าขอแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
ใหญ่หรือเล็ก อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เป็นมนุษย์ หรือไม่ใช่มนุษย์
แสดงว่าภพภูมิที่ไม่ใช่มนุษย์มันก็น่าจะมีอยู่มั้ง”
ผมรู้สึกว่าไม่ได้คำตอบ จึงถามเจาะใจแบบคุณดู๋ไปเลยว่า
“อาจารย์เชื่อว่าผีมีจริงไหม”
อาจารย์ตอบแบบไว้เชิงว่า
“ผมไม่รู้
แต่ผมไม่กลัวนะ
แต่ผมก็ไม่ท้าทาย
ไม่ไปท้าว่าตรงนั้นตรงนี้นัดมาว่ากัน
เอาเป็นว่าคำถามนี้ผมไม่ตอบดีกว่า”
อาจารย์ไม่หลงกลแฮะ... แป่ว..ว
อะเมซซิ่งวิปัสสนา
การฝึกในวันที่
8
และวันที่ 9 ของผมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
สามารถราดพลังสมาธิลงบนผิวหนังเพื่อปลุกให้อินทรีย์ทั้งหลายมีความไวจนรับรู้ความรู้สึกเล็กๆน้อยๆได้พร้อมกันทั่วตัวได้
บางครั้งบางช่วงมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตุ๊กตาผ้าที่มีเข็มหมุดปักจิ้มจิ๊ดจ๊าดอยู่ทั่วตัว
บางครั้งก็มีอาการแบบที่คนเหนือเรียกว่า “เหน็ด” คือชาแบบวาบๆขึ้นทั่วตัว
บางครั้งความเหน็ดเหล่านั้นมารวมกันกลายเป็นการสั่นแบบแผ่วเบาให้รับรู้ได้บางส่วนหรือหลายส่วนของร่างกาย
ถึงวันท้ายๆนี้อาจารย์ย้ำมากว่ามันไม่สำคัญที่มีเวทนาชนิดไหนเกิดขึ้น
หยาบหรือละเอียด
แต่มันสำคัญที่จะธำรงรักษาจิตที่เป็นอุเบกขาไว้ได้ต่อเนื่องหรือไม่
นั่นหมายความว่าปลายทางของเวทนาวิปัสสนาไม่ใช่การรู้สึกมีเข็มจิ้มจิ๊ดจ๊าดทั่วร่างกาย
แต่คือการมีจิตที่รับรู้สิ่งรอบตัวตามที่มันเป็นจริงโดยไม่เผลอใส่สีตีไข่ปล่อยให้เกิดสังขาร(ความคิดปรุงแต่ง)ให้ต้องตามล้างตามเช็ดกันต่อไปอีก
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่อาจารย์สอนมานี้ ผมเก็ทเป็นอันดี
และที่น่าประหลาดใจก็คือตั้งแต่ฝึกสัมปชัญญะเป็นแล้วนี้
เจ้าพวกความใจลอยไม่รู้มันหายไปไหน หรือว่ามันจะรอออกมาอาละวาดหลังจากผมออกจากโรงเรียนกลับสู่ชีวิตปกติแล้ว
นั่นต้องคอยดูกันต่อไป
พอตกกลางคืนตอนนี้ผมชักร้อนวิชา
จึงไม่ยอมหลับยอมนอน ได้แต่นั่งวิปัสสนา ดูความรู้สึกภายนอกจนเบื่อแล้วผมเข้าไปเที่ยวเล่นดูภายในตัวบ้าง
ความที่เป็นหมอผ่าตัดจึงช่ำชองว่าอวัยวะอะไรอยู่ที่ไหน ผมเอาพลังสมาธิเข้าไปจ่อแล้วตามเข้าไปดูความรู้สึกหมดจนถ้วนทั่วทุกอวัยวะ
ปรากฏว่าทุกอวัยวะภายในมีความรู้สึกเดียวเท่านั้นคือ “ร้อน”
ผมเข้าใจว่าคงร้อนจากพลังสมาธิที่จ่อเข้าใส่เหมือนแสงเลเซอร์ ไม่มีความรู้สึกเจ็บคันหรือจิ๊ดจ๊าดใดๆเหมือนที่บนผิวหนังเลย
แต่มีอยู่สองอวัยวะที่ควรพูดถึงคือลิ้นและตา คือเมื่อทดลองสำรวจไปถึงลิ้น
ผมบอกตัวเองว่าไหนอ้าปากซิ แล้วเอาจิตเป็นไฟฉายส่องเข้าไป ความที่ผมลืมเนื้อหาวิชาสรีรวิทยาของลิ้นไปเสียแล้วว่าตรงส่วนไหนมีหน้าที่รับรู้รสอะไร
จึงส่องมั่วไป โดยส่องด้านบนของลิ้นก่อน พอร้อนได้ที่ก็มีความรู้สึกแปล๊บๆๆเล็กๆเกิดขึ้นบนลิ้นเหมือนไฟฟ้าช็อต
แล้วก็เกิดรสเผ็ดขึ้น เฮ้..หนุกดีวุ้ย ผมบอกตัวเองว่าไหนกระดกลิ้นขึ้นซิ
แล้วเอาไฟฉายส่องไปด้านข้างสักครู่ก็มีรสขมออกมา ฮ้า..ยิ่งสนุกใหญ่
ผมพยายามจะส่องหารสเค็มแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีน้ำลายซึ่งเค็มปะแล่มอยู่แล้วออกมาท่วมเต็มไปหมด
จึงเปลี่ยนใจลองไปสำรวจที่ตาดีกว่า
คือดวงตาของคนเรานี้มันมีจอรับภาพเรียกว่าเรตินาซึ่งดาดไปด้วยเซลที่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อรายงานไปให้สมองตีความออกมาเป็นภาพ
ผมแยกพลังสมาธิเป็นไฟฉายสองกระบอก ส่องเข้าไปในลูกตาสองข้างพร้อมกัน
ส่องอยู่จนเบ้าตาทั้งเบ้าร้อนฉ่าก็มองไม่เห็นอะไรนอกจากสีชมพูจางๆที่สื่อถึงความร้อน
คงเป็นความร้อนจากพลังของจิต เมื่อผิดหวังกับการสำรวจตาผมจึงคิดว่าเลิกได้แล้ว
นอนดีกว่า แล้วก็ไปปิดไฟล้มตัวลงนอน
แต่พอหลับตาลงเท่านั้นแหละ
ทั่วลานสายตาทั้งสองข้างก็มีจุดแสงสว่างเล็กๆเรียงเป็นตับเป็นระเบียบเรียบร้อยว็อบๆแวมๆเหมือนนั่งดูถ่ายทอดสดงานจุดเทียนชัยถวายพระพรที่สนามหลวงสวยงามมากเต็มไปทุกจุดของจอภาพ
นี่ไม่ใช่อะไรอื่น
ต้องเป็นผลจากการที่ผมส่องพลังจิตเข้าไปกระตุ้นเซลรับแสงพวกนี้แล้วเซลพวกนี้รายงานความรู้สึกออกมาเป็นภาพนั่นเอง
ผมอดอยากรู้ไม่ได้จึงลุกจากที่นอนขึ้นมาแล้วเปิดไฟดูตัวอักษรบนป้ายเตือนให้ปิดไฟก่อนออกจากห้อง
ก็พบว่ามันเป็นภาพที่คมชัดแจ๋วแหววสมดังที่คาดไว้
รุ่งขึ้นเป็นช้าวันที่
10.
ผมรีบไปสำรวจมองนั่นมองนี่ภาพทุกภาพมันคมชัดและสีสันสวยงามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
วันนี้เขาคืนโทรศัพท์มือถือให้ด้วย ผมดูภาพและตัวหนังสือในโทรศัพท์ของผมมันก็ช่างคมชัดแจ๋วแหววอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน..
อะเมซซิ่งจริงๆ ผมหันไปทางเจ้าติและพูดว่า
“ติ..เอ็งพูดถูกว่ะ
คนพม่าเขาก็แน่
แล้วที่เราไหว้ประลกประลกอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแขก..”
เจ้าติเห็นนายอารมณ์ดีจึงเสนอความเห็นขวางตามแบบของมันขึ้นมาบ้างว่า
“แล้วที่ภาษิตไทยโบราณเขาว่าเจองูกับเจอแขกให้ตีแขกก่อนละครับนาย”
ผมยิ้มแล้วตอบว่า
“ข้าว่าภาษิตนั้นพูดโดยคนไทยที่เป็นหนี้แขกปล่อยเงินกู้ว่ะ
เอ็งรู้แมะ พวกแขกปล่อยเงินกู้เขาพูดถึงคนไทยว่าไง เขาบอกว่า
อีนี่
คนทายนี่ แขกกลัวนะ..นายจ๋า
หนึ่งร้อยบาทไป
หนึ่งร้อยยี่ฉิบบาทมา
หนึ่งพันบาทไป
หนึ่งพันสองร้อยบาทมา
หนึ่งหมื่นบาทไป
หนึ่งหมื่นบาท....หาย”
คืนอำลา
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของการเรียน
ผมจบหลักสูตรที่ไม่มีใบประกาศนียบัตรนี้แล้ว ได้ความรู้มามากเกินความคาดหมาย ต้องขอบคุณครูผู้ประสาทวิชาทุกท่านและธรรมะบริกรผู้เอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างยิ่ง
แต่ผมก็ยังนั่งวิปัสสนาสำรวจโน่นนี่นั่นไม่ยอมนอนจนถึงตีหนึ่ง เจ้าติเตือนว่าพรุ่งนี้จะต้องขับรถพาลูกเมียเที่ยวทั้งวัน
จึงตัดใจออกจากสมาธิเข้านอน
แต่พอหลับตาลง
สหธรรมิกห้องข้างก็เริ่มบรรเลงซิมโฟนี่พอดี
“ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก
ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก
ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก”
และฉับพลันทันใดนั้น ณ
ตรงกึ่งกลางห้องของเสียงดนตรีซึ่งมีอยู่ห้องละห้าเคาะ ก็เกิดเสียงแทรกขึ้น
“ฟี..ฝี่...ฟี้..ฟิ้ว..ว..คร่อก..ก
ป๊าด..ด
.......................................”
ผมไม่บอกหรอกว่าเสียงสุดท้ายนั้นเป็นเสียงอะไร ส่งออกไปจากไหน แต่มันมีผลให้เสียงกรนของสหธรรมิกสะดุดหยุดกึก.. แล้วเงียบจ๋อยไปเลย
ฮ่า..ฮ่า..
ฮ่า.. แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
............................................................................
จดหมายจากผู้อ่าน
20 กย. 57
สวัสดีค่ะ
............................................................................
จดหมายจากผู้อ่าน
20 กย. 57
สวัสดีค่ะ
เมื่อทราบว่าอาจารย์จะไปปฏิบัติ ธรรม ได้แต่อนุโมทนาสาธุกับอาจารย์ด้ วย เพราะจะได้นำมาเป็นข้อมูลเขี ยนหนังสือเผยแพร่เสริม MBSR ให้เราได้อ่านกัน บทความของอาจารย์จะเข้มข้นขึ้ นมีทั้งวิทยาศาสตร์และพุ ทธศาสตร์ ได้อานิสงส์เยอะดี ส่วนแฟนคลับได้ความรู้
ทีแรกเห็นจะลา 3 สัปดาห์ ก็งงว่ามือใหม่หัดวิปัสสนา จะไหวเร้อ 21 วัน แล้วที่ไหนสอนแบบนี้หว่า ที่ไปเอง 7 วันก็แทบตาย ถ้าไม่ถูกบังคับวันที่ 3 แทบหิ้วกระเป๋ากลับบ้าน
พอเห็นว่าเป็น 12 วัน แถมเป็นศิษย์อาจารย์โกเอนก้าอี กตะหาก ยิ่งดีใจเพราะเหมาะกับอาจารย์ มากค่ะ
ครั้งแรกที่ไปฝึกของ อ. โกเอนก้า แทบตายค่ะ กินอาหารไม่ลง แถมอ้วกซะหมดพุง ข้าวที่กินตอนเพลไปอ้วกตอน 3 ทุ่ม อาหารไม่ย่อย เหมือนตอนเมารถไม่มีผิด ดิฉันเรียกมันเองว่าเมาวิปัสสนา กว่าจะหาย ก็ครั้งที่ 3 โน่น เป็นเพราะวางอุเบกขาไม่ถูก ทางสายกลางยังไม่ได้น่ะค่ะ ไม่เพ่งก็เผลอ
ครั้งที่ 4 จึงกล้าไปเป็นธรรมบริ กรเพราะหายเมาแล้ว จนคอยๆเก็บแต้มสามารถไป 20 วันได้แล้ว ยกเว้นยังไม่ปฏิบัติต่อเนื่องทุ กวัน 1 ปี 10 วันยังเกือบตาย 20 วันคงเผาได้เลย
ตอนนั้นยังไม่ได้อ่านเรื่องเวี ยนศีรษะที่อาจารย์เขียน ไม่งั้นคงได้พกพริกไปด้วย เพราะเท่าที่ลองใช้ได้ผลดีมาก โรคเวียนศีรษะที่รบกวนบ่อยๆ แทบไม่เป็นอีกเลย เมื่อไหร่ที่หาวหวอดๆติดต่อกั นบ่งบอกว่าอาการเมา (เรียกอย่างนี้เพราะเหมื อนเมารถน่ะค่ะ) มาอีกแล้ว ต้องรีบไปตลาดซื้อพริก (เห็นคนแพ้ท้องก็ใช้ได้ผล)
อีกทั้งนอนไม่หลับทั้งคืนเริ่ มเป็นวันที่ 2-3 หลับแค่ 2 ชม.ตื่นมาไม่ง่วงอีกตะหาก อาจารย์บอกว่าจิตตื่น แถมฝันเป็นตุเป็นตะอย่างที่ไม่ เคยเป็นมาก่อน วิปัสสนานี่น่าพิศวงจริงๆค่ะ
อ่านที่อาจารย์เขียน อ่านไปก็ขำไป ขำศิษย์ร่วมสำนักที่เจออะไรต่ อมิอะไรเยอะมาก ดูเหมือนอาจารย์จะสนุกกับการเล่ นกับนิมิตนะคะ หวังว่าอาจารย์จะต่อยอดก้าวหน้ าไปไกล ที่ฝึกเองเห็นนิมิตน้อยมาก
..............................................................