การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว (Balance Exercise)
อาจารย์สันต์ที่เคารพ
คุณพ่อเป็นปาร์กินสัน กินยารักษาอยู่ที่รพ.... พยายามขับรถแต่ก็ไปเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องให้อยู่แต่ในบ้านแต่ก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยถลอกปอกเปิกและแตกเลือดไหลเป็นประจำ ครอบครัวเราไม่มีใคร แม่เสียไปแล้ว พี่สาวอยู่กับคุณพ่อแต่ประคองท่านไม่ไหว ผมก็ต้องทำมาหากิน ได้แต่ส่งเงินช่วย แต่เห็นสภาพพ่อแล้วก็ไปต่อไม่ถูก ผมตั้งใจว่าจะไปดูแลพ่อสักสัปดาห์ละครั้ง แต่ก็ไม่อยากไปดูแค่ดูเฉยๆ อยากจะจับท่านฝึกกายภาพบำบัด แต่ถามนักกายภาพบำบัดถึงวิธีทำก็ไม่ได้ข้อมูลมาก อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ
.........................................
ตอบครับ
แม้จะมีงานวิจัยศึกษาการออกกำลังกายสารพัดแบบในคนเป็นโรคพาร์คินสัน รวมไปถึงการรำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นชะชะช่า หรือเต้นแทงโก้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลพอสรุปได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคนไข้โรคนี้
ที่ผมจะแนะนำวิธีออกกำลังกายให้คุณไปฝึกคุณพ่อนี้ ผมแยกเป็นสามส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1. การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว (balance exercise)
ใช้ได้กับผู้สูงอายุทั่วไปที่มีปัญหาการทรงตัว ซึ่งผมใช้สอนผู้ป่วยสูงอายุของผมอยู่เป็นประจำ การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว มีเป้าหมายสุดท้ายที่การลดอุบัติการณ์ลื่นตกหกล้มของผู้สูงอายุ เอากันตั้งแต่หลักพื้นฐานเลยนะ
ผู้สูงอายุมีปัจจัยที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย เจ็ดอย่าง ได้แก่
(1) สายตา
(2) กล้ามเนื้อตะโพกและขาไม่แข็งแรง
(3) ท่าร่างไม่ตั้งตรง
(4) เท้าระพื้ต (ยกเท้าไม่ขึ้น)
(5) ปฏิกิริยาสนองตอบช้าต่อสิ่งเร้าช้า
(6) กินยาที่ทำให้หกล้มง่าย
(7) ความดันเลือดตก
องค์ประกอบของการทรงตัวของคนเรามีห้าอย่าง คือ
(1) สมอง หรือสติ
(2) กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท่อนล่าง
(3) กระดูกและข้อ โดยเฉพาะข้อเท้า เข่า และสะโพก
(4) สายตา
(5) อวัยวะคุมการทรงตัว ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน
เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะจำกัดท่าร่างและการเคลื่อนไหวของตนมาอยู่ในท่าที่ตนเองมั่นใจในความปลอดภัยมากที่สุด คือท่าเตรียมรับลูกเทนนิส ย่อเข่า โกงหลัง สองมือระวังตัวอยู่ระดับเข็มขัด เวลาเดินก็ค่อยๆก้าวขาข้างละทีละครึ่งก้าว การใช้ท่าร่างแบบนี้ทำให้สมองเสียโอกาสได้ฝึกทำเรื่องที่ท่าทาย จึงมีผลให้การทรงตัวถดถอย การออกกำลังกายแบบฝึกหัดการทรงตัว (balance exercise) เป็นการใช้ท่าร่างและการเคลื่อนไหวที่บังคับและท้าทายสมองให้ใช้องค์ประกอบทั้งห้าสวนพร้อมกัน ทั้งสติ หูชั้นใน สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
โดยมีหลักสำคัญสามประการคือ
(1) ต้องพยายามใช้ท่าและการเคลื่อนไหวที่ท้าทายสมองมากๆ
(2) ต้องฝึกบ่อยๆ ฝึกทุกวัน วันละหลายชั่วโมง
(3) ต้องฝึกทุกที่ทุกเวลา ท่าต่างๆที่ผมให้ไว้นี้เป็นเพียงท่าตัวอย่าง ท่านผู้อ่านสามารถนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะกับตัวเองได้ ในการฝึกถ้ามีรองเท้าเต้นรำพื้นหนังจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่มีก็ใช้รองเท้าอะไรก็ได้
ท่าออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว
ท่าที่ 1. One leg stand ยืนขาเดียว วิธีทำก็คือยืนสองขาชิดกันก่อน แล้วงอเข่ายกขาขึ้นยืนขาเดียว ทำทีละข้าง
ท่าที่ 2. Eye tracking กลอกตาตามหัวแม่มือ วิธีทำคือยืนตั้งศีรษะตรงนิ่ง ยื่นมือออกไปให้ไกลสุดตัว ยกหัวแม่มือขึ้น แล้วเคลื่อนมือไปทางซ้ายจนสุด ขณะเคลื่อนมือไปให้กลอกตามองตามหัวแม่มือไป โดยศีรษะยังหันหน้าตรงไปข้างหน้าไม่หันไปตามหัวแม่มือ แล้วก็เคลื่อนมือไปทางขวาจนสุดและกลอกตาตาม ทำซ้ำหลายๆครั้ง
ท่าที่ 3. Clock reach เข็มนาฬิกา วิธีทำคือยืนตรงเสมือนยืนอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาขนาดใหญ่ แล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นเป็นยืนขาเดียว แล้วกางแขนสองข้างเหยียดเสมอไหล่ออกไปให้สุดทั้งทางซ้ายและขวา ตามองตรง แล้วค่อยๆหมุนตัวและแขนแต่ไม่ศีรษะและคออยู่นิ่ง ให้แขนซ้ายชี้ไปที่ 12.00 น. แขนขวาชี้ไปที่ 6.00 น. แล้วหมุนใหม่ให้แขนขวาชี้ไปที่ 12.00 น. แขนซ้ายชี้ไปที่ 6.00 น. บ้าง แล้วหมุนโดยชี้แขนไปที่ตำแหน่งต่างๆบนหน้าปัดตามเวลาที่สมมุติขึ้น แล้วสลับขา
ท่าที่ 4. Staggered stance ยืนต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือยืนตรงอยู่บนเส้นตรงสมมุติเส้นเดียวที่ลากจากหน้าไปหลัง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว ให้หัวแม่เท้าซ้ายไปต่ออยู่หลังส้นเท้าขวา แล้วสลับขา
ท่าที่ 5. Heal to toe เดินต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือทำท่ายืนต่อเท้าบนเส้นตรง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว กางมือออก มองไปข้างหน้า แล้วเดินแบบเอาส้นเท้าซ้ายย้ายไปต่อหน้าหัวแม่เท้าขวา ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป จนเดินไปสุดขอนไม้หรือแผ่นไม้กระดาน แล้วเดินถอยหลังกลับจนสุดขอนไม้
ท่าที่ 6. Just walk เดินธรรมดา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ตัวตรง เอาถ้วยกาแฟทูนไว้บนหัว มองไปข้างหน้า แล้วเดินไปบนขอนไม้แบบเดินแกว่งแขนธรรมดา
ท่าที่ 7. Knee marching เดินแถวทหาร วิธีทำคือ เดินสวนสนามบนขอนไม้ เวลาเดินยกเข่าสูงเสมอข้อตะโพก แกว่งแขนสูงเสมอไหล่ เดินไปจนสุดขอนไม้
ท่าที่ 8. Single limb with arm เดินแถวแบบทหารใหม่ วิธีทำคือขึ้นไปยืนบนขอนไม้แบบยืนต่อเท้าบนเส้นตรง ยืนบนเท้าซ้ายก่อน ยืดตัวตรง ตามองไปข้างหน้า แล้วยกมือขวาและเข่าขวาขึ้นแบบทหารจะเดินแถวสวนสนามแต่ยกมือผิดข้าง เดินแบบนี้ไปบนของไม้สลับเท้าซ้ายขวาจนสิ้นสุดขอนไม้
ท่าที่ 9. Grapevine เดินไขว้ขาไปทางข้าง วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ยืนตรงยืดหน้าอก ยืดศีรษะขึ้น หันข้างให้กับแนวขอน แล้วเดินไปทางซ้ายโดยเอาเท้าขวาไขว้ไปทางด้านหลังของเท้าซ้าย เดินแบบนี้ไปจนสุดขอนไม้ แล้วเดินกลับ
ท่าที่ 10. Body circle ท่าขี้เมา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้หรือบนพื้น กางขา แล้วโยกตัววนเป็นวงกลม โยกวนไปแล้ววนมาแบบคนเมาเหล้า ลองพยายามแกล้งจะล้มแล้วพยายามประคองตัวเองไม่ให้ล้ม
ท่าที่ 11. Dynamic walking เดินและเหลียว วิธีทำคือเดินบนขอนไม้ ตั้งศีรษะตรง มองไปข้างหน้า แล้วกวาดสายตามองจากหัวไหล่ซ้ายไปจนถึงหัวไหล่ขวา แล้วกวาดสายตากลับ โดยขณะกวาดสายตาให้เดินไปด้วยโดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน หรืออาจจะถือหนังสืออ่านขณะเดินไปด้วย
ท่าที่ 12. Stepping ก้าวข้าม วิธีทำคือเดินแบบยกเข่าสูงเพื่อก้าวข้ามตอไม้ที่วางไว้เป็นช่วงๆ โดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน
ท่าที่ 13. Balancing wand เลี้ยงกระบองไว้บนมือ วิธีทำคือ ยืนบนขอนไม้หรือบนพื้นราบ เอาไม้กระบองตั้งไว้บนฝ่ามือ ย่อเข่าลง ตามองที่กระบอง ปล่อยมือที่ประคองกระบอง แล้วเลี้ยงกระบองให้ตั้งอยู่บนมือ ขณะเดียวกันก็ซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วออกเดินไปบนขอนไม้ เดินหน้า ถอยหล้ง แล้วเดินไขว้ขาไปข้างแบบ grape vine โดยไม่ให้กระบองหล่นจากฝ่ามือ
ส่วนที่ 2 การออกกำลังกายเพื่อแก้ไขภาวะแข็งตรึงของโรคพาร์คินสัน 16 ประการ
เป็นหลักที่ใช้กันอยู่ในศูนย์กายภาพบำบัดดังๆในอเมริกา แต่น่าแปลกใจว่าไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบว่าดีกว่าการออกกำลังกายพื้นๆแค่ไหน เอาเป็นว่าผมแนะนำให้คุณใช้เพราะเห็นฝรั่งเขาใช้กันทั่ว แต่ไม่มีหลักฐานตีพิมพ์ว่าดีกว่าแบบอื่นเพียงใด เอางั้นก็แล้วกัน
หลักการฝึก 16 ประการสำหรับคนป่วยพาร์คินสัน มีดังนี้
1. ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวันวันละหลายชั่วโมง น้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะไม่แข็งตรึงฉันนั้น
2. ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนกางขาห่างกันสิบนิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย
3. ฝึกการออกตัว (initiation movement) เชิดหน้าขึ้น ยกหัวแม่ตีนขึ้น หัวแม่ตีนไม่ยก เท่ากับไม่ได้ก้าว เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า ยกหัวแม่ตีนขึ้น โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน
4. ฝึกทรงตัวบนขาเดียว ยืนขาเดียวจับราว เอาเท้าอีกข้างเคลื่อนไหวไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น
5. ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางแมกกาซีนไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามแมกกาซีน เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์ไว้สองมือเพื่อช่วยการแกว่งแขน มองไกล อย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน
6. ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา
7. ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวอร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆสั้นๆไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพง เพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม
8. ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้าๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจเดินผ่านมันไป แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)
9. ฝึกลุกจากเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม ลุกพรวด ลุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะคนเป็นโรคนี้ลุกช้าๆจะลุกไม่ขึ้น ทำเก้าอี้ประจำตัวแบบเสริมขาหลังสี่นิ้วทำให้ลุกง่าย อย่าให้คนช่วยดึงแขน แต่ให้ดันหลังแทน
10. ฝึกลุกจากเตียง หนุนขาหัวเตียงให้ยกขึ้นเพื่อให้ลุกง่าย ผูกผ้าเป็นปมไว้กับปลายเตียงไว้ดึงตัว ลุกนั่งบนเตียง แล้วหมุนตัวด้วยแรงเหวี่ยงอย่างแรงมานั่งห้องขาข้างเตียง
11. ฝึกถ่วงดุล ถ้าลำตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ให้หิ้วของอีกข้างหนึ่งถ่วง
12. ฝึกมือ หางานให้มือทำทั้งวัน ฝึกกลัดและปลดกระดุม หั่นอาหาร เขียนหนังสือ เขียนภาพ บีบลูกบอล ฉีกกระดาษ นับแบงค์ นับเหรียญ เอาเหรียญเข้าออกกระเป๋า เล่นเครื่องดนตรี แต่งตัวให้ตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำซ้ำแยะๆ ใช้หลักซ้อม 20 ครั้ง ทำจริงครั้งที่ 21
13. ฝึกแขน โดยติดตั้งรอกไว้เหนือเก้าอี้ นั่งลงดึงเชือกผ่านรอกไปทางโน้นทีทางนี้ที กางแขนและไหล่ไปทุกทาง (working pulley when seated)
14. ฝึกการออกเสียง ในรายที่มีปัญหาการพูด มีหลักว่าให้กระตุ้นการพูด คิดดังๆ ตะโกนความคิดออกมา อ่านออกเสียง นับเลขดังๆ
15. ฝึกแสดงสีหน้า ทำหน้าใส่กระจก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ยิ้ม หัวเราะ นวดหน้า เคี้ยวอาหารให้หนักๆ ย้ายอาหารในปากไปมา ข้างซ้ายที ข้างขวาที จนละเอียดก่อนกลืน
16. ฝึกป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง โดย
16.1ยืนหน้าชนผนัง ห่างสัก 8 นิ้ว แล้วยกแขนทาบผนังให้สูงสุดแขน โถมน้ำหนักลงบนผนังแล้วยืดแขนให้ทุกส่วนของร่างกายแนบกับผนัง
16.2ยืนหลังพิงชิดผนัง ยกขาซอยเท้าให้สูงที่สุดแบบทหารเดินแถว
16.3จับราวอะไรสักอย่าง แล้วนั่งยองให้ต่ำสุดเท่าที่ทำได้แล้วค่อยๆลุกขึ้น
16.4นั่งเก้าอี้พนักตรง เอามือไขว้พนัก แอ่นอก เชิดหน้ามองเพดาน
16.5นั่งเก้าอี้ สองมือยกกระบองขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด
16.6นั่งเก้าอี้ ซอยเท้าบนพื้น ยกเข่าให้สูงสุดๆ
16.7นอนหงายกดทุกส่วนของร่างกายลงกับพื้นให้ราบ
16.8นอนคว่ำมือไขว้หลังตามองเพดานยกอกจากพื้น
16.9นอนคว่ำเตะเท้าสลับแบบว่ายน้ำ
16.10 หันศีรษะไปซ้ายทีขวาที
16.11 ยืนเท้าสะเอวซอยเท้า
16.12 ยืนถ่างขาโน้มตัวไปหน้า โน้มไปด้านข้าง โน้มไปข้างหลัง โยกตัวเป็นวงกลม
จะเห็นว่าเยอะแยะมากมายเลยใช่ไหมครับ รับประกันว่าไม่มีศูนย์กายภาพบำบัดที่ไหนในเมืองไทยมีเวลาทำให้ได้หรอกครับ ต้องทำเอง หรือไม่อาศัยลูกกตัญญูอย่างคุณเท่านั้นแหละจึงจะทำได้สำเร็จ ผมขอให้กำลังใจคุณว่าการลงทุนฝึกการออกกำลังกายให้คนป่วยพาร์คินสันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายที่ดี อันเป็นยอดปรารถนาของผู้ป่วยพาร์คินสันทุกคน ดังนั้น ถ้าคุณจะทดแทนบุญคุณท่านละก็ ตรงนี้แหละครับ ใช่เลย
ส่วนที่ 3. ความรู้เรื่องโรคพาร์คินสันสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป
โรคพาร์คินสัน (Parkinson Disease) มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra)
มีสาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% ไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ
(1) มือสั่น
(2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง
(3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ
(4) ทรงตัวลำบาก
(5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน การนอนผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆ ถ้าคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body
การรักษาโรคนี้มีสองส่วน
ส่วนที่หนึ่ง คือการป้องกันเซลประสาทเสื่อม (neuroprotective therapy)
ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดรักษาในส่วนนี้ได้ แต่มีข้อมูลเชิงระบาดวิทยาว่าสิ่งต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กับการอุบัติการเป็นโรคนี้น้อยลง หรือเมื่อเป็นแล้วก็ทำให้การดำเนินของโรคช้าลง ได้แก่
1. อาหารพืชในกลุ่มใบยาสูบ (solanaceae) ซี่งมีสารนิโคติน เช่น มะเขือ พริกหยวก (capsicum) มันเทศ มันฝรั่ง มะแว้ง สัมพันธ์กับการเป็นโรคนี้น้อยลง (ความรู้อันนี้มาจากความจริงที่ว่าคนสูบบุหรี่มักไม่เป็นพาร์คินสัน)
2. กาแฟ และ ชา สัมพันธ์กับการเป็นโรคนี้น้อยลง
3. การกินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ลดอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง นอกจากจะป้องกันหลอดเลือดฝอยในสมองตีบอันเป็นโรคร่วมสำคัญแล้ว การกินพืชเป็นหลักยังทำให้การทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดดี หลอดเลือดขยายตัวง่าย เลือดเข้าไปถึงเนื้อสมองส่วนเสียหายได้ง่าย และช่วยแก้ปัญหาท้องผูกซึ่งเป็นวิบากอีกอันหนึ่งของโรคนี้ด้วย
4. การออกกำลังกาย เป็นวิธีที่มาแรงมาก มีอนาคตว่าอาจถึงขั้นป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทได้ เพราะอย่างน้อยตอนนี้ข้อมูลในสัตว์ทดลองพบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทในสัตว์ที่สมองเสียหายแบบพาร์คินสันได้
ส่วนที่สอง คือการบรรเทาอาการ
แม้จะไม่ทำให้หายแต่มีอาการก็ต้องรีบบรรเทา มิฉะนั้นจะคุณภาพชีวิตจะเสื่อมอย่างรวดเร็ว ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa (Sinemet) ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopa ส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ levodopa นานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจะได้ผลดีในระยะ 5-6 ปีแรก ในรายที่ยาคุมอาการไม่ได้ผล ยังมีทางเลือกก๊อกสอง คือการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation - DBS) โดยที่ผลที่ได้ก็เป็นเพียงแค่การบรรเทาอาการเท่านั้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Wirdefeldt K, Adami HO, Cole P, Trichopoulos D, Mandel J. Epidemiology and etiology of Parkinson's disease: a review of the evidence. Eur J Epidemiol. Jun 2011;26 Suppl 1:S1-58.
2. National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson's disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.
3. Grosset D, Taurah L, Burn DJ, MacMahon D, Forbes A, Turner K, et al. A multicentre longitudinal observational study of changes in self reported health status in people with Parkinson's disease left untreated at diagnosis. J Neurol Neurosurg Psychiatry. May 2007;78(5):465-9
4. Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288
5. Smith AD, Zigmond MJ. Can the brain be protected through exercise? Lessons from an animal model of parkinsonism. Exp Neurol 2003;184:31-39.
6. Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.
7. Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.
คุณพ่อเป็นปาร์กินสัน กินยารักษาอยู่ที่รพ.... พยายามขับรถแต่ก็ไปเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องให้อยู่แต่ในบ้านแต่ก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยถลอกปอกเปิกและแตกเลือดไหลเป็นประจำ ครอบครัวเราไม่มีใคร แม่เสียไปแล้ว พี่สาวอยู่กับคุณพ่อแต่ประคองท่านไม่ไหว ผมก็ต้องทำมาหากิน ได้แต่ส่งเงินช่วย แต่เห็นสภาพพ่อแล้วก็ไปต่อไม่ถูก ผมตั้งใจว่าจะไปดูแลพ่อสักสัปดาห์ละครั้ง แต่ก็ไม่อยากไปดูแค่ดูเฉยๆ อยากจะจับท่านฝึกกายภาพบำบัด แต่ถามนักกายภาพบำบัดถึงวิธีทำก็ไม่ได้ข้อมูลมาก อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ
.........................................
ตอบครับ
แม้จะมีงานวิจัยศึกษาการออกกำลังกายสารพัดแบบในคนเป็นโรคพาร์คินสัน รวมไปถึงการรำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นชะชะช่า หรือเต้นแทงโก้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลพอสรุปได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคนไข้โรคนี้
ที่ผมจะแนะนำวิธีออกกำลังกายให้คุณไปฝึกคุณพ่อนี้ ผมแยกเป็นสามส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1. การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว (balance exercise)
ใช้ได้กับผู้สูงอายุทั่วไปที่มีปัญหาการทรงตัว ซึ่งผมใช้สอนผู้ป่วยสูงอายุของผมอยู่เป็นประจำ การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว มีเป้าหมายสุดท้ายที่การลดอุบัติการณ์ลื่นตกหกล้มของผู้สูงอายุ เอากันตั้งแต่หลักพื้นฐานเลยนะ
ผู้สูงอายุมีปัจจัยที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย เจ็ดอย่าง ได้แก่
(1) สายตา
(2) กล้ามเนื้อตะโพกและขาไม่แข็งแรง
(3) ท่าร่างไม่ตั้งตรง
(4) เท้าระพื้ต (ยกเท้าไม่ขึ้น)
(5) ปฏิกิริยาสนองตอบช้าต่อสิ่งเร้าช้า
(6) กินยาที่ทำให้หกล้มง่าย
(7) ความดันเลือดตก
องค์ประกอบของการทรงตัวของคนเรามีห้าอย่าง คือ
(1) สมอง หรือสติ
(2) กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท่อนล่าง
(3) กระดูกและข้อ โดยเฉพาะข้อเท้า เข่า และสะโพก
(4) สายตา
(5) อวัยวะคุมการทรงตัว ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน
เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะจำกัดท่าร่างและการเคลื่อนไหวของตนมาอยู่ในท่าที่ตนเองมั่นใจในความปลอดภัยมากที่สุด คือท่าเตรียมรับลูกเทนนิส ย่อเข่า โกงหลัง สองมือระวังตัวอยู่ระดับเข็มขัด เวลาเดินก็ค่อยๆก้าวขาข้างละทีละครึ่งก้าว การใช้ท่าร่างแบบนี้ทำให้สมองเสียโอกาสได้ฝึกทำเรื่องที่ท่าทาย จึงมีผลให้การทรงตัวถดถอย การออกกำลังกายแบบฝึกหัดการทรงตัว (balance exercise) เป็นการใช้ท่าร่างและการเคลื่อนไหวที่บังคับและท้าทายสมองให้ใช้องค์ประกอบทั้งห้าสวนพร้อมกัน ทั้งสติ หูชั้นใน สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
โดยมีหลักสำคัญสามประการคือ
(1) ต้องพยายามใช้ท่าและการเคลื่อนไหวที่ท้าทายสมองมากๆ
(2) ต้องฝึกบ่อยๆ ฝึกทุกวัน วันละหลายชั่วโมง
(3) ต้องฝึกทุกที่ทุกเวลา ท่าต่างๆที่ผมให้ไว้นี้เป็นเพียงท่าตัวอย่าง ท่านผู้อ่านสามารถนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะกับตัวเองได้ ในการฝึกถ้ามีรองเท้าเต้นรำพื้นหนังจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่มีก็ใช้รองเท้าอะไรก็ได้
ท่าออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว
ท่าที่ 1. One leg stand ยืนขาเดียว วิธีทำก็คือยืนสองขาชิดกันก่อน แล้วงอเข่ายกขาขึ้นยืนขาเดียว ทำทีละข้าง
ท่าที่ 2. Eye tracking กลอกตาตามหัวแม่มือ วิธีทำคือยืนตั้งศีรษะตรงนิ่ง ยื่นมือออกไปให้ไกลสุดตัว ยกหัวแม่มือขึ้น แล้วเคลื่อนมือไปทางซ้ายจนสุด ขณะเคลื่อนมือไปให้กลอกตามองตามหัวแม่มือไป โดยศีรษะยังหันหน้าตรงไปข้างหน้าไม่หันไปตามหัวแม่มือ แล้วก็เคลื่อนมือไปทางขวาจนสุดและกลอกตาตาม ทำซ้ำหลายๆครั้ง
ท่าที่ 3. Clock reach เข็มนาฬิกา วิธีทำคือยืนตรงเสมือนยืนอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาขนาดใหญ่ แล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นเป็นยืนขาเดียว แล้วกางแขนสองข้างเหยียดเสมอไหล่ออกไปให้สุดทั้งทางซ้ายและขวา ตามองตรง แล้วค่อยๆหมุนตัวและแขนแต่ไม่ศีรษะและคออยู่นิ่ง ให้แขนซ้ายชี้ไปที่ 12.00 น. แขนขวาชี้ไปที่ 6.00 น. แล้วหมุนใหม่ให้แขนขวาชี้ไปที่ 12.00 น. แขนซ้ายชี้ไปที่ 6.00 น. บ้าง แล้วหมุนโดยชี้แขนไปที่ตำแหน่งต่างๆบนหน้าปัดตามเวลาที่สมมุติขึ้น แล้วสลับขา
ท่าที่ 4. Staggered stance ยืนต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือยืนตรงอยู่บนเส้นตรงสมมุติเส้นเดียวที่ลากจากหน้าไปหลัง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว ให้หัวแม่เท้าซ้ายไปต่ออยู่หลังส้นเท้าขวา แล้วสลับขา
ท่าที่ 5. Heal to toe เดินต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือทำท่ายืนต่อเท้าบนเส้นตรง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว กางมือออก มองไปข้างหน้า แล้วเดินแบบเอาส้นเท้าซ้ายย้ายไปต่อหน้าหัวแม่เท้าขวา ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป จนเดินไปสุดขอนไม้หรือแผ่นไม้กระดาน แล้วเดินถอยหลังกลับจนสุดขอนไม้
ท่าที่ 6. Just walk เดินธรรมดา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ตัวตรง เอาถ้วยกาแฟทูนไว้บนหัว มองไปข้างหน้า แล้วเดินไปบนขอนไม้แบบเดินแกว่งแขนธรรมดา
ท่าที่ 7. Knee marching เดินแถวทหาร วิธีทำคือ เดินสวนสนามบนขอนไม้ เวลาเดินยกเข่าสูงเสมอข้อตะโพก แกว่งแขนสูงเสมอไหล่ เดินไปจนสุดขอนไม้
ท่าที่ 8. Single limb with arm เดินแถวแบบทหารใหม่ วิธีทำคือขึ้นไปยืนบนขอนไม้แบบยืนต่อเท้าบนเส้นตรง ยืนบนเท้าซ้ายก่อน ยืดตัวตรง ตามองไปข้างหน้า แล้วยกมือขวาและเข่าขวาขึ้นแบบทหารจะเดินแถวสวนสนามแต่ยกมือผิดข้าง เดินแบบนี้ไปบนของไม้สลับเท้าซ้ายขวาจนสิ้นสุดขอนไม้
ท่าที่ 9. Grapevine เดินไขว้ขาไปทางข้าง วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ยืนตรงยืดหน้าอก ยืดศีรษะขึ้น หันข้างให้กับแนวขอน แล้วเดินไปทางซ้ายโดยเอาเท้าขวาไขว้ไปทางด้านหลังของเท้าซ้าย เดินแบบนี้ไปจนสุดขอนไม้ แล้วเดินกลับ
ท่าที่ 10. Body circle ท่าขี้เมา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้หรือบนพื้น กางขา แล้วโยกตัววนเป็นวงกลม โยกวนไปแล้ววนมาแบบคนเมาเหล้า ลองพยายามแกล้งจะล้มแล้วพยายามประคองตัวเองไม่ให้ล้ม
ท่าที่ 11. Dynamic walking เดินและเหลียว วิธีทำคือเดินบนขอนไม้ ตั้งศีรษะตรง มองไปข้างหน้า แล้วกวาดสายตามองจากหัวไหล่ซ้ายไปจนถึงหัวไหล่ขวา แล้วกวาดสายตากลับ โดยขณะกวาดสายตาให้เดินไปด้วยโดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน หรืออาจจะถือหนังสืออ่านขณะเดินไปด้วย
ท่าที่ 12. Stepping ก้าวข้าม วิธีทำคือเดินแบบยกเข่าสูงเพื่อก้าวข้ามตอไม้ที่วางไว้เป็นช่วงๆ โดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน
ท่าที่ 13. Balancing wand เลี้ยงกระบองไว้บนมือ วิธีทำคือ ยืนบนขอนไม้หรือบนพื้นราบ เอาไม้กระบองตั้งไว้บนฝ่ามือ ย่อเข่าลง ตามองที่กระบอง ปล่อยมือที่ประคองกระบอง แล้วเลี้ยงกระบองให้ตั้งอยู่บนมือ ขณะเดียวกันก็ซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วออกเดินไปบนขอนไม้ เดินหน้า ถอยหล้ง แล้วเดินไขว้ขาไปข้างแบบ grape vine โดยไม่ให้กระบองหล่นจากฝ่ามือ
เป็นหลักที่ใช้กันอยู่ในศูนย์กายภาพบำบัดดังๆในอเมริกา แต่น่าแปลกใจว่าไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบว่าดีกว่าการออกกำลังกายพื้นๆแค่ไหน เอาเป็นว่าผมแนะนำให้คุณใช้เพราะเห็นฝรั่งเขาใช้กันทั่ว แต่ไม่มีหลักฐานตีพิมพ์ว่าดีกว่าแบบอื่นเพียงใด เอางั้นก็แล้วกัน
หลักการฝึก 16 ประการสำหรับคนป่วยพาร์คินสัน มีดังนี้
1. ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวันวันละหลายชั่วโมง น้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะไม่แข็งตรึงฉันนั้น
2. ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนกางขาห่างกันสิบนิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย
3. ฝึกการออกตัว (initiation movement) เชิดหน้าขึ้น ยกหัวแม่ตีนขึ้น หัวแม่ตีนไม่ยก เท่ากับไม่ได้ก้าว เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า ยกหัวแม่ตีนขึ้น โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน
4. ฝึกทรงตัวบนขาเดียว ยืนขาเดียวจับราว เอาเท้าอีกข้างเคลื่อนไหวไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น
5. ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางแมกกาซีนไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามแมกกาซีน เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์ไว้สองมือเพื่อช่วยการแกว่งแขน มองไกล อย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน
6. ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา
7. ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวอร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆสั้นๆไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพง เพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม
8. ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้าๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจเดินผ่านมันไป แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)
9. ฝึกลุกจากเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม ลุกพรวด ลุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะคนเป็นโรคนี้ลุกช้าๆจะลุกไม่ขึ้น ทำเก้าอี้ประจำตัวแบบเสริมขาหลังสี่นิ้วทำให้ลุกง่าย อย่าให้คนช่วยดึงแขน แต่ให้ดันหลังแทน
10. ฝึกลุกจากเตียง หนุนขาหัวเตียงให้ยกขึ้นเพื่อให้ลุกง่าย ผูกผ้าเป็นปมไว้กับปลายเตียงไว้ดึงตัว ลุกนั่งบนเตียง แล้วหมุนตัวด้วยแรงเหวี่ยงอย่างแรงมานั่งห้องขาข้างเตียง
11. ฝึกถ่วงดุล ถ้าลำตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ให้หิ้วของอีกข้างหนึ่งถ่วง
12. ฝึกมือ หางานให้มือทำทั้งวัน ฝึกกลัดและปลดกระดุม หั่นอาหาร เขียนหนังสือ เขียนภาพ บีบลูกบอล ฉีกกระดาษ นับแบงค์ นับเหรียญ เอาเหรียญเข้าออกกระเป๋า เล่นเครื่องดนตรี แต่งตัวให้ตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำซ้ำแยะๆ ใช้หลักซ้อม 20 ครั้ง ทำจริงครั้งที่ 21
13. ฝึกแขน โดยติดตั้งรอกไว้เหนือเก้าอี้ นั่งลงดึงเชือกผ่านรอกไปทางโน้นทีทางนี้ที กางแขนและไหล่ไปทุกทาง (working pulley when seated)
14. ฝึกการออกเสียง ในรายที่มีปัญหาการพูด มีหลักว่าให้กระตุ้นการพูด คิดดังๆ ตะโกนความคิดออกมา อ่านออกเสียง นับเลขดังๆ
15. ฝึกแสดงสีหน้า ทำหน้าใส่กระจก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ยิ้ม หัวเราะ นวดหน้า เคี้ยวอาหารให้หนักๆ ย้ายอาหารในปากไปมา ข้างซ้ายที ข้างขวาที จนละเอียดก่อนกลืน
16. ฝึกป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง โดย
16.1ยืนหน้าชนผนัง ห่างสัก 8 นิ้ว แล้วยกแขนทาบผนังให้สูงสุดแขน โถมน้ำหนักลงบนผนังแล้วยืดแขนให้ทุกส่วนของร่างกายแนบกับผนัง
16.2ยืนหลังพิงชิดผนัง ยกขาซอยเท้าให้สูงที่สุดแบบทหารเดินแถว
16.3จับราวอะไรสักอย่าง แล้วนั่งยองให้ต่ำสุดเท่าที่ทำได้แล้วค่อยๆลุกขึ้น
16.4นั่งเก้าอี้พนักตรง เอามือไขว้พนัก แอ่นอก เชิดหน้ามองเพดาน
16.5นั่งเก้าอี้ สองมือยกกระบองขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด
16.6นั่งเก้าอี้ ซอยเท้าบนพื้น ยกเข่าให้สูงสุดๆ
16.7นอนหงายกดทุกส่วนของร่างกายลงกับพื้นให้ราบ
16.8นอนคว่ำมือไขว้หลังตามองเพดานยกอกจากพื้น
16.9นอนคว่ำเตะเท้าสลับแบบว่ายน้ำ
16.10 หันศีรษะไปซ้ายทีขวาที
16.11 ยืนเท้าสะเอวซอยเท้า
16.12 ยืนถ่างขาโน้มตัวไปหน้า โน้มไปด้านข้าง โน้มไปข้างหลัง โยกตัวเป็นวงกลม
จะเห็นว่าเยอะแยะมากมายเลยใช่ไหมครับ รับประกันว่าไม่มีศูนย์กายภาพบำบัดที่ไหนในเมืองไทยมีเวลาทำให้ได้หรอกครับ ต้องทำเอง หรือไม่อาศัยลูกกตัญญูอย่างคุณเท่านั้นแหละจึงจะทำได้สำเร็จ ผมขอให้กำลังใจคุณว่าการลงทุนฝึกการออกกำลังกายให้คนป่วยพาร์คินสันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายที่ดี อันเป็นยอดปรารถนาของผู้ป่วยพาร์คินสันทุกคน ดังนั้น ถ้าคุณจะทดแทนบุญคุณท่านละก็ ตรงนี้แหละครับ ใช่เลย
ส่วนที่ 3. ความรู้เรื่องโรคพาร์คินสันสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป
โรคพาร์คินสัน (Parkinson Disease) มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra)
มีสาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% ไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ
(1) มือสั่น
(2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง
(3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ
(4) ทรงตัวลำบาก
(5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน การนอนผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆ ถ้าคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body
การรักษาโรคนี้มีสองส่วน
ส่วนที่หนึ่ง คือการป้องกันเซลประสาทเสื่อม (neuroprotective therapy)
ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดรักษาในส่วนนี้ได้ แต่มีข้อมูลเชิงระบาดวิทยาว่าสิ่งต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กับการอุบัติการเป็นโรคนี้น้อยลง หรือเมื่อเป็นแล้วก็ทำให้การดำเนินของโรคช้าลง ได้แก่
1. อาหารพืชในกลุ่มใบยาสูบ (solanaceae) ซี่งมีสารนิโคติน เช่น มะเขือ พริกหยวก (capsicum) มันเทศ มันฝรั่ง มะแว้ง สัมพันธ์กับการเป็นโรคนี้น้อยลง (ความรู้อันนี้มาจากความจริงที่ว่าคนสูบบุหรี่มักไม่เป็นพาร์คินสัน)
2. กาแฟ และ ชา สัมพันธ์กับการเป็นโรคนี้น้อยลง
3. การกินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ลดอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง นอกจากจะป้องกันหลอดเลือดฝอยในสมองตีบอันเป็นโรคร่วมสำคัญแล้ว การกินพืชเป็นหลักยังทำให้การทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดดี หลอดเลือดขยายตัวง่าย เลือดเข้าไปถึงเนื้อสมองส่วนเสียหายได้ง่าย และช่วยแก้ปัญหาท้องผูกซึ่งเป็นวิบากอีกอันหนึ่งของโรคนี้ด้วย
4. การออกกำลังกาย เป็นวิธีที่มาแรงมาก มีอนาคตว่าอาจถึงขั้นป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทได้ เพราะอย่างน้อยตอนนี้ข้อมูลในสัตว์ทดลองพบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทในสัตว์ที่สมองเสียหายแบบพาร์คินสันได้
ส่วนที่สอง คือการบรรเทาอาการ
แม้จะไม่ทำให้หายแต่มีอาการก็ต้องรีบบรรเทา มิฉะนั้นจะคุณภาพชีวิตจะเสื่อมอย่างรวดเร็ว ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa (Sinemet) ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopa ส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ levodopa นานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจะได้ผลดีในระยะ 5-6 ปีแรก ในรายที่ยาคุมอาการไม่ได้ผล ยังมีทางเลือกก๊อกสอง คือการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation - DBS) โดยที่ผลที่ได้ก็เป็นเพียงแค่การบรรเทาอาการเท่านั้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Wirdefeldt K, Adami HO, Cole P, Trichopoulos D, Mandel J. Epidemiology and etiology of Parkinson's disease: a review of the evidence. Eur J Epidemiol. Jun 2011;26 Suppl 1:S1-58.
2. National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson's disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.
3. Grosset D, Taurah L, Burn DJ, MacMahon D, Forbes A, Turner K, et al. A multicentre longitudinal observational study of changes in self reported health status in people with Parkinson's disease left untreated at diagnosis. J Neurol Neurosurg Psychiatry. May 2007;78(5):465-9
4. Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288
5. Smith AD, Zigmond MJ. Can the brain be protected through exercise? Lessons from an animal model of parkinsonism. Exp Neurol 2003;184:31-39.
6. Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.
7. Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.