คุณฝึกปฏิบัติวางความคิดได้ก้าวหน้าถึงระดับนี้แล้ว ให้ลองการเชื่อมต่อ (Connecting)

ยักษ์แคระ ที่ฐานของสถูปเขาคลังใน เมืองโบราณศรีเทพ

 

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

 

ดิฉันติดตามเพจของคุณหมอมานาน พยายามอ่านและทำความเข้าใจรวมทั้งปฏิบัติตามในเรื่องการวางความคิด และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน รู้สึกว่าจากที่เมื่อก่อนเวลามีปัญหาเข้ามาจะคิดมาก นอนไม่หลับไปหลายวัน ปัจจุบันมีปัญหาเข้ามา จะคิดหาวิธีแก้ไขให้จบ เรื่องไหนที่หาวิธีแล้วแก้ไม่ได้แน่ๆ ก็ยอมรับและวางมันไป อาจวางไม่ได้ทันทีในทุกครั้ง แต่รู้สึกว่าใช้เวลาหรือมีความทุกข์กับเรื่องนั้นๆ สั้นลงกว่าเมื่อก่อนค่ะ ดิฉันมีข้อสงสัยที่อยากรบกวนถามค่ะ

ที่คุณหมอบอกว่าในแต่ละวันให้แบ่งเวลานั่งสมาธิบ้าง ดิฉันนั่งสมาธิโดยการพยายามรู้สึกตัว และรู้ลมหายใจ ไม่ได้กำหนด เช่น พุทโธ หรืออื่นๆ แค่รู้ว่าหายใจ โดยรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของหน้าอกหรือไหล่ที่เคลื่อนขึ้น-ลง เมื่อมีความคิดเข้ามาก็รู้ความคิด บางครั้งก็เข้าไปเป็นความคิดซะเอง เมื่อรู้ตัวก็กลับมาที่รู้ลมอีกครั้ง มีอะไรเด่นๆให้รู้สึกก็รับรู้ความรู้สึกนั้น เช่นแอร์เป่าเย็นๆ ก็รู้ นั่งนานๆเจ็บขาก็รู้ เมื่อนั่งไปสักพัก ความคิดน้อยลง เป็นความว่างๆ แต่ว่างสักพักเดี๋ยวความคิดก็มา ก็จะกลับไปรู้ลมหายใจเพื่อเรียกความรู้สึกตัวกลับมา วนเวียนไปแบบนี้ อยากถามคุณหมอว่าควรใช้วิธีนี้ไหมคะ และในการทำสมาธิแต่ละครั้งดิฉันจะพยายามประคองความรู้สึกให้รู้ตัวต่อเนื่องถูกต้องไหมคะ ที่พยายามประคองความรู้สึกตัวแบบนี้ และอยากทราบว่าที่สุดแล้วเป้าหมายของการนั่งสมาธิคืออะไรคะ หรือเราได้อะไรจากการนั่งสมาธิ

สุดท้ายนี้ ขอให้คุณหมอมีความสุขมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ


.................................................................


ตอบครับ


    1. ถามว่านั่งสมาธิโดยให้รู้ตัวรู้ลมหายใจ จนใจว่าง แล้วความคิดก็มาบ้าง แล้วก็กลับไปรู้ลมหายใจและรู้ตัวอีกโดยพยายามประคองให้รู้ตัวต่อเนื่อง ทำอย่างนี้ถูกไหม ตอบว่าถูกต้องสิครับ เรื่องการนั่งสมาธิวางความคิดนี้คุณทำแบบไหนก็ทำไปเถอะสักอย่างหนึ่ง มันถูกทั้งนั้น ภาพใหญ่คือแค่แค่คุณรู้ตัวและสังเกตรับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจโดยไม่เผลอล่องลอยไปกับความคิดก็ล้วนเป็นวิธีที่โอเคทั้งนั้นแหละครับ

    2. ถามว่าเราได้อะไรจากการนั่งสมาธิ ตอบว่าเราก็ได้ทักษะการวางความคิดไง ทำให้ใจของเราที่ปกติถูกครอบงำด้วยความคิดตลอดเวลาได้มีโอกาสดำรงอยู่แบบว่างๆใสๆปลอดความคิดโดยที่ยังรู้ตัวดีๆอยู่บ้าง ซึ่งใจที่ว่างๆ ใสๆ ปลอดความคิดโดยที่ยังรู้ตัวดีอยู่นี่แหละ ที่เป็นส่วนลึกที่สุดของใจเราซึ่งมีธรรมชาติเป็นความเบิกบาน (joy)
 
    คนเรานี้มีชีวิตอยู่เพื่อเสาะหาความสุข (happiness) วิธีที่คนเราเสาะหาความสุขโดยทั่วไปก็คือการไปเสาะหาข้างนอกด้วยการเพิ่มการบริโภคสิ่งต่างๆทั้งการกิน การซื้อ การได้ครอบครองหวงแหน การได้มีเซ็กซ์ การได้รับรู้อะไรที่ตื่นเต้นเล็กๆที่ไม่ถึงกับตัวเองบาดเจ็บหรือล้มตาย รวมทั้งการปล่อยใจให้คิดอะไรเรื่อยเปื่อยล่องลอยไปด้วย ทั้งหมดนั้นสิ่งที่ได้มาคือความเพลิดเพลิน (pleasure) ซึ่งเป็นความสุขพื้นฐานขั้นต้นที่เราต้องกว่าจะได้มาต้องดั้นด้นไปเสาะหาเอาที่ข้างนอก เอาเงินไปซื้อ อีกอย่างหนึ่ง ความสุขแบบความเพลิดเพลินนี้เราต้องแลกกับการปล่อยให้ความคิดเข้ามาครอบใจเราระดับหนึ่งก่อนเราจึงจะสัมผัสความเพลิดเพลินได้ หมายความว่าสติต้องเบลอๆหน่อยจึงจะเพลิดเพลินถนัด

    แต่ว่ามันยังมีความสุขอีกแบบหนึ่งซึ่งผมเรียกมันว่า ความเบิกบาน (joy) ซึ่งเป็นความสุขที่ลึกซึ้งกว่าความเพลิดเพลิน ความสุขแบบนี้เราไปหาข้างนอกไม่เจอดอก เพราะมันอยู่ที่ข้างในใจเรา เราต้องวางความคิดลงไปให้หมดก่อน ให้ใจมันตื่นอยู่แบบมีสติเต็มร้อย ใสปิ๊ง ไม่มีความคิดเลย ความเบิกบานมันจึงจะเอ่อขึ้นมาให้เราสัมผัสได้เอง การนั่งสมาธิมีข้อดีที่มันเป็นการฝึกให้เราวางความคิดเพื่อเปิดโอกาสให้เราได้มาพบและสัมผัสกับความเบิกบานนี้

    3. ถามว่าเป้าหมายสุดท้ายของการนั่งสมาธิคืออะไร ตอบว่าก็ในเมื่อเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คือการมีความสุข เป้าหมายสุดท้ายของการนั่งสมาธิคือการทำให้การใช้ชีวิตได้พบกับความเบิกบานซึ่งเป็นสุดยอดของความสุข ทุกวัน ทุกเวลา 24/7 หมายความว่าวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน จะทำกิจอะไร ไม่ทำกิจอะไรก็มีแต่ความเบิกบาน ไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรทั้งสิ้น นั่นแหละ คือเป้าหมายสุดท้ายของการนั่งสมาธิ

    ถามว่าแล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะเรานั่งสมาธิวันละแค่สิบยี่สิบนาทีเท่านั้น ตอบว่า มันเป็นไปได้สิหากเรารู้จักเอาทักษะการวางความคิดที่พัฒนาขึ้นมาขณะนั่งสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวันทุกเวลา ทุกนาที ทั้งวัน 

    อนึ่ง นอกจากจะเอาลมหายใจและเอาความรู้สึกบนร่างกายเป็นเป้าล่อเพื่อดึงสติออกมาจากความคิดแล้ว เครื่องมืออื่นๆก็ช่วยให้วางความคิดได้ดีเช่นกัน เช่น การผ่อนคลายร่างกาย การเฝ้าสังเกตดูความคิดตรงๆเมื่อมันโผล่ขึ้นมา และการจดจ่อความสนใจไว้ที่กิจกรรมอะไรสักอย่างเช่นงานอดิเรกหรืองานอาชีพอย่างต่อเนื่องทุกวินาที ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นวิธีช่วยวางความคิดในชีวิตประจำวันที่ดีเช่นกัน คุณจะเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปลองผสมกันใช้ดูบ้างก็ได้นะ

    4. เนื่องจากการฝึกปฏิบัติของคุณได้มีความก้าวหน้ามาถึงระดับหนึ่งแล้ว ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักเครื่องมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมเรียกง่ายๆว่า "การเชื่อมต่อ (connecting)" 

    อุปมาคุณไปเดินเล่นในป่าจนเเหนื่อย พบธารน้ำใส ไหลริน คุณแวะนั่งที่โขดหินริมธารน้ำ เหลียวดูธรรมชาติสวยงามโดยรอบ ต้นไม้ ใบหญ้า นกร้อง ปลาว่ายน้ำในธาร คุณเปิดใจของคุณออกจนรู้สึกได้ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในป่านี้ และคุณก็เกิดความรู้สึกเบิกบานเพิ่มขึ้นในใจอย่างน่าพิศวง นี่เรียกว่าคุณเชื่อมโยงตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร อุปมาประหนึ่งว่าธรรมชาตินี้เป็นแม่ผู้ยิ่งใหญ่แล้วคุณเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ผู้ยิ่งใหญ่นั้นได้ ทำให้คุณยิ่งเบิกบานกว่าอยู่คนเดียวไม่เปิดตัวออกไปเชื่อมกับใคร

    ก่อนที่คุณจะนั่งสมาธิ ใจคุณเต็มไปด้วยความคิด ความคิดเหล่านั้นเกิดขึ้นจากบทบาทหน้าที่ (identity) หรือหัวโขนที่คุณสวมใส่หลายๆหน้าที่พร้อมๆกัน เช่นเป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นลูกสาว เป็นผู้จัดการ เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นจิตอาสา เรียกโดยรวมว่าคุณเป็น somebody มีตัวมีตน ก็แล้วกัน แต่พอคุณนั่งสมาธิ เมื่อค่อยๆวางความคิดได้ จนความคิดเริ่มงวดลงไปและใจสงบนิ่งไม่ซัดส่ายแล้ว คุณยามนี้ไม่ได้สวมหัวโขนเป็นอะไรเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว คุณเป็นแค่ผู้ที่นั่งอยู่นิ่งๆสังเกตสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาในใจอย่างไม่มีส่วนได้เสียใดๆ เรียกได้ว่าตอนนี้คุณเป็น no body ไปชั่วคราว 

    ตอนนั้นที่ผมสมมุติว่าคุณนั่งอยู่ริมธารในป่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวคุณอย่างน้อยก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่คุณรู้จัก (known) ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ธารน้ำ ปลา นก ต้นไม้ แต่ตอนที่นั่งสมาธิมาถึงจุดที่ไม่มีความคิดแล้วนี้นอกจากความลึกลับดำมืดแล้ว รอบตัวคุณไม่มีอะไรที่คุณรู้จักเลย (unknown) ถ้าจะมีอะไรโผล่ขึ้นมาตอนนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ภาษาอธิบายไม่ได้ เพราะภาษาคือคำบอกเล่าของตัวตนหรือ somebody ถึงสิ่งเร้าที่จะเป็นคุณเป็นโทษต่อมัน แต่ตอนนี้คุณเป็น no body มันจึงไม่มีใครจะถูกให้คุณหรือให้โทษ ณ ตรงที่ไม่มีภาษาอธิบายไปถึงได้นี้แหละที่ผมจะให้คุณเปิดการเชื่อมต่อ (connecting) กับความลึกลับดำมืดรอบตัวนี้ เฉกเช่นเดียวกันกับเมื่อคุณเปิดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติขณะนั่งอยู่ริมธารในป่า วิธีเชื่อมต่อก็คือคุณเปิดยอมรับ (acceptance) หรือยอมแพ้แบบมอบกายถวายชีวิต (surrender) ต่อสิ่งใหม่ใดๆก็ตามที่คุณไม่เคยรู้จัก ที่จะผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของคุณ มีความรู้สีกอะไรเกิดขึ้นก็ให้เปิดรับรู้และยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มีปัญญาญาณใดๆเกิดขึ้นรวมทั้งความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นแบบที่เขาเรียกกันว่าเมตตาธรรมด้วย เมื่อเกิดกับคุณก็ให้คุณเปิดใจรับ แล้วคุณจะได้เรียนรู้ชีวิตในมิติใหม่ๆ ดีๆ ที่คุณไม่มีโอกาสได้รู้จักเลยเมื่อครั้งยังเป็น some body หรือเมื่อครั้งยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิด 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

แจ้งข่าวด่วน หมอสันต์ตัวปลอมกำลังระบาดหนัก

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

เลิกเสียทีได้ไหม ชีวิตที่ต้องมีอะไรมาจ่อคิวต่อรอให้ทำอยู่ตลอดเวลา

ไปเที่ยวเมืองจีนขึ้นที่สูงแล้วกลับมาป่วยยาว (โรค HAPE)

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"