หมอสันต์สรุปธรรมะ แต่ทั้งหมดนี้มันก็เป็นแค่ "นกแก้ว"



กราบเรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นคนสนใจอยากปฏิบัติธรรม แต่ผมเป็นนักวิชาชีพ ต้องนั่งทำงานอาชีพตั้งแต่เช้าจรดเย็นแทบทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ได้หยุดจริงน้อยมาก ไม่มีเวลาที่จะเที่ยวไปเข้าปฏิบัติกับสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ชอบฟังคลิปวิดิโอธรรมะต่างๆแต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ค่อยเข้าถึง จึงฟังแบบช่วยให้นอนหลับมากกว่า ผมติดตามอ่านคำแนะนำสุขภาพของอาจารย์มานานแล้วเข้าใจง่าย และเอาไปใช้ประโยชน์ได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่ผมอยากจะขอให้อาจารย์สรุปธรรมะหรือคำสอนพระพุทธเจ้าในแบบที่ผมซึ่งเป็นคนมีเวลาน้อยจะเอาไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องย่อยสักหนึ่งครั้ง เพื่อช่วยคนที่ไม่มีเวลาอย่างผม ซึ่งคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ขอบพระคุณครับ

...............................................................

ตอบครับ  

    คำสอนของพระพุทธเจ้า เอาแค่เท่าที่ผมจับความจากพระไตรปิฎกได้ มีประมาณนี้

     1. ภาพใหญ่ของคำสอน 

        ภาพรวมขั้นตอนของการแก้ปัญหา(ทุกข์) มีสี่ขั้นตอน คือ (1) อะไรคือปัญหา (2) เหตุมันเกิดจากอะไร (3) ถ้าดับเหตุแล้วผลมันจะเป็นอย่างไร (4) วิธีดับเหตุทำอย่างไร

        แก่นกลางของการดับทุกข์คือ “การยอมรับ (acceptance)หมายถึงยอมรับทุกอย่างตามที่มันมีอยู่หรือเป็นอยู่ การยอมรับนี้อุปมาเหมือนการ "อยู่นิ่งๆตรงกลาง" (ที่นี่ เดี๋ยวนี้) ไม่แกว่งเข้าไปกอดรัดสิ่งที่"ชอบ"หรืออยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่"ชัง"หรือไม่อยากได้ อยู่นิ่งๆตรงกลาง ปล่อยให้ทุกอย่างที่จะเข้ามาให้เข้ามาหา และปล่อยให้ทุกอย่างที่จะจากไปให้จากไป

        วิธีปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่จะไม่แกว่งไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลางก็คือ ไม่ว่าจะ (1) ตั้งใจเรื่องอะไร (2) จะคิดอะไร (3) จะพูดอะไร (4) จะทำอะไร (5) จะประกอบอาชีพอะไร (6) จะพยายามแค่ไหน (7) จะตั้งสติอย่างไร (8) จะจดจ่ออย่างไร ก็ขอให้ดำเนินไปในกรอบของการจะไม่แกว่งไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลาง หรือไม่แกว่งไปจากคำสำคัญคือ “การยอมรับ”

    (ทั้งหมดข้างต้นคือสาระสำคัญของคำที่สอนครั้งแรกซึ่งชื่อว่า - ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร)

     2. การปล่อยวางความยึดถือในตัวตน 

        ชีวิตคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งมีองค์ประกอบแยกย่อยได้ห้าอย่างเท่านั้น ได้แก่ 

        (2.1) สิ่งเร้า (stimuli หรือ ภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัส) 

        (2.2) พลังชีวิตซึ่งรับรู้ได้ในรูปของความรู้สึก (feeling หรือ เวทนา) 

        (2.3) ตวามจำเก่าๆ (memory) 

        (2.4) ความคิด (thought) 

        (2.5) ความรู้ตัว หรือการรับรู้ (consciousness)

กลไกการเกิดประสบการณ์ก็คือ สิ่งเร้าที่เข้ามาจะถูกใจรับรู้ โดยอาศัยความจำเก่าช่วยจำแนกบอกชื่อบอกรูปร่างให้แบบเป็นอัตโนมัติและแบบทันที แล้วจึงเกิดการสนองตอบเชิงพลังงานในรูปของการเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ แล้วจึงเกิดความคิดขึ้นต่อยอด ทั้งหมดนี้ถูกรับรู้โดยความรู้ตัว 

กลไกการสนองตอบนี้มีได้สองแบบ คือแบบเป็นอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัวซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา กับแบบมีสติกำกับและรู้ตัวซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อตั้งใจ 

ทุกประสบการณ์เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไป แล้วประสบการณ์ใหม่ก็เกิดตามมาอีก แบบแยกส่วนกันไม่มีความต่อเนื่อง ชีวิตจึงเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ไม่มีความคงทนถาวร ไม่มีอะไรให้ยึดถือว่าเป็น “ตัวตน” ได้เลย หากไปหลงผิดคิดว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของชีวิตในห้าส่วนย่อยนี้มีความถาวรหรือยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ก็จะกลายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

(ส่วนนี้คือสาระสำคัญของคำที่สอนให้สาวกอีกสี่คนที่ยังไม่เข้าใจคำสอนครั้งแรก ส่วนนี้ชื่อว่า - อนัตตลักขณสูตร)

3. ขั้นตอนในทางปฏิบัติ 

        วิธีปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความคิดของตัวเอง พึงทำไปทีละขั้นตอน ดังนี้ 

    3.1 ฝึกเป็นคนนิ่ง (ขันติ) ยั้งการสนองตอบแบบอัตโนมัติไว้ก่อนเสมอ

    3.2 มีวินัย

    3.3 สำรวมอินทรีย์ หมายถึงเฝ้าระวังตาหูจมูกลิ้นผิวหนัง และใจ(ที่เป็นที่โผล่ของความคิด)

    3.4 ประมาณในโภชนา หมายถึงไม่กินมากเกินไป กินแค่ให้ร่างกายตั้งอยู่ได้ ไม่กินเอาอร่อย

    3.5 มีสติ รู้ตัว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน นอน เหลียว ดู คู้ เหยียด

    3.6 หาโอกาสและสถานที่เหมาะ นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ฝึกวางความคิด จนเกิดสมาธิ ซึ่งจะก่อเกิดปัญญาญาณ จนเข้าใจชีวิตลึกซึ้งและทิ้งความยึดถือในอัตตา หลุดพ้นจากอิทธิพลของความคิดตัวเอง เข้าสู่ภาวะใจสงบเย็นได้

(ส่วนนี้คือสาระสำคัญของคำสอนในวันมาฆะบูชา ชื่อ -โอวาทะปาฏิโมกข์)

    4. การคบเพื่อนที่ดี 

    การจะดำเนินชีวิตไปให้พบกับความสงบเย็นโดยไม่หลงทางนั้น นอกจากจะต้องรู้จักใช้ตรรกะความเป็นเหตุเป็นผลคิดวิเคราะห์เรื่องที่ได้ฟังมาด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ)แล้ว ยังมีตัวช่วยสำคัญมากอีกตัวหนึ่งคือการมีเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) หมายถึงเพื่อนที่อธิบายด้วยคำพูดได้ลึกซึ้ง อดทนต่อคำถาม อยากช่วยเหลือ และไม่ชักนำไปทางไม่ดี คนอย่างนี้ควรพาตัวเช้าไปอยู่ใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็อย่าท้อที่จะเข้าใกล้เขา

               (ส่วนนี้สอนไว้กระจัดกระจาย รวมทั้งในสูตรชื่อ กัลยาณมิตตาสังยุตต์) 

     ทั้งสี่ข้อใหญ่ข้างต้นนั้น น่าจะครอบคลุมสาระที่จำเป็นพอแล้ว แต่ถึงจะสรุปมาได้ดีได้กระชับเพียงใดมันก็เป็นเพียง "นกแก้ว" ผมหมายถึงว่ามันเป็นเพียงคำพูดที่เล่าสืบเนื่องต่อๆกันมา ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้ การรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามแม้จะไม่เสียหายอะไรแต่ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากไม่ได้นำมาทดลองปฏิบัติในชีวิตของตนเอง ดังนั้นจดหมายฉบับนี้คงจะเป็นฉบับแรกและฉบับสุดท้ายที่ผมจะตอบคำถามแนว "รู้ไว้ใช่ว่า.." แต่ผมจะไม่ระอาเลยที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นจากการทดลองปฏิบัติแล้วเกิดพบปัญหาขึ้นจากการปฏิบัติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

            ..............................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

แจ้งข่าวด่วน หมอสันต์ตัวปลอมกำลังระบาดหนัก

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

เลิกเสียทีได้ไหม ชีวิตที่ต้องมีอะไรมาจ่อคิวต่อรอให้ทำอยู่ตลอดเวลา

ไปเที่ยวเมืองจีนขึ้นที่สูงแล้วกลับมาป่วยยาว (โรค HAPE)

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"